φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



วันสุดท้ายในวิทยาเขตมิตากะ
เขียนเมื่อ 2014/02/16 10:50
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#ศุกร์ 15 พ.ย. 2013

หลังจากที่เมื่อวานไปเยี่ยมเพื่อนที่มหาวิทยาลัยโตเกียวมาจนกลับดึกมาก https://phyblas.hinaboshi.com/20140214

วันนี้ก็เลยตื่นช้าหน่อย แล้วก็ลงมาทานอาหารที่โรงอาหารด้านล่างของโรงแรม จากนั้นจึงออกจากโรงแรมตอนประมาณก่อนเก้าโมงเพื่อนั่งรถเมล์ไปยังวิทยาเขตมิตากะ กะว่าจะได้มีเวลาเดินเล่นภายในสบายๆสักพักก่อนที่จะเริ่มเล็กเชอร์ตอนสิบโมง

มาถึงตอนเก้าโมงกว่าก็มีเวลาเดินเล่น ถ่ายรูปรอบๆบริเวณ ช่วงนี้ใบไม้เปลี่ยนสีเลยสวย






แต่ที่จริงยังเปลี่ยนสีไม่เยอะ ถ้ามาช้ากว่านี้ตอนที่เปลี่ยนสีเต็มที่ได้ก็จะสวยกว่า อย่างตอนที่หนุ่มแทจ็อนมาค่ายที่นี่เมื่อปีที่แล้วนั่นกำลังสวยดีมากเลย เห็นแล้วอิจฉาทีเดียว http://daejeonastronomy.wordpress.com/2014/01/24/sokendai-asian-winter-school-2012naoj-tokyo-3/

ใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีมีสีเขียวปนเหลืองแบบนี้ก็ดูสวยมาก



เพื่อนคนไต้หวันก็เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปเช่นกัน



นี่คืออาคารสึบารุซึ่งห้องฟังบรรยายตั้งอยู่



ตรงนี้เป็นอาคารวิจัยพัฒนา ด้านบนมีกล้องโทรทรรศน์อยู่ด้วย



ด้านหลังเป็นป่าไผ่



ทะลุออกไปก็จะเจอพิพิธภัณฑ์อุปกรณ์ดาราศาสตร์ (天文機器資料館) ภายในวิทยาเขตมิตากะยังมีอาคารอีกหลายแห่งที่ให้คนทั่วไปเข้าชม นี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น




แต่เราไม่ได้เข้าไปดูด้านในกันเพราะว่ามันเปิดสิบโมงซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เล็กเชอร์เริ่ม และมันปิดก่อนที่เล็กเชอร์จะเสร็จตอนเย็น ดังนั้นแม้จะอยู่ที่นี่ ๓ วันก็ไม่มีจังหวะให้เข้าชม และในรายการก็ไม่มีพาไปชมเหมือนอย่างส่วนจัดแสดงที่วิทยาเขตซางามิฮาระ https://phyblas.hinaboshi.com/20140131

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มาค่ายเมื่อปีที่แล้วเขามีเวลาว่างให้ไปเดินได้ตามสบาย ตรงส่วนนี้อ่านในบันทึกของหนุ่มแทจ็อนกันได้
http://daejeonastronomy.wordpress.com/2014/01/28/sokendai-asian-winter-school-2012naoj-tokyo-5
http://daejeonastronomy.wordpress.com/2014/01/30/sokendai-asian-winter-school-2012naoj-tokyo-6
http://daejeonastronomy.wordpress.com/2014/02/04/sokendai-asian-winter-school-2012naoj-tokyo-7



เดินเล่นเสร็จก็ได้เวลาเดินกลับมายังอาคารสึบารุเพื่อจะเริ่มฟังบรรยายช่วงเช้า ก่อนเข้าห้องก็ทานขนมที่เขาจัดเตรียมไว้ให้หน้าห้อง ทั้งขนมและน้ำเขามีจัดเตรียมไว้ให้พร้อมทุกครั้งที่เป็นช่วงพักระหว่างเล็กเชอร์แต่ละอัน



เล็กเชอร์แรกของวันนี้บรรยายโดย ดร. ทานากะ มาซาโอมิ (田中 雅臣) ผู้ทำงานอยู่ในแผนกวิจัยดาราศาสตร์ทฤษฎีของหอดูดาวแห่งชาติ

เขามาบรรยายเรื่องดาราศาสตร์ในโดเมนเวลา ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าไปตามเวลา เช่นซูเปอร์โนวา, เบลซาร์, นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์

เล็กเชอร์ต่อมาบรรยายโดย ดร. คุโดว ทากาฮิโระ (工藤 哲洋) ผู้ทำงานอยู่ในแผนกวิจัยดาราศาสตร์ทฤษฎีของหอดูดาวแห่งชาติ

เขามาบรรยายเรื่องอุทกพลศาสตร์แม่เหล็กในก๊าซระหว่างดวงดาว



พอจบเล็กเชอร์ช่วงเช้าก็ได้เวลาไปหาอะไรทาน วันนี้เพื่อนชวนออกไปทานข้างนอก โดยเพื่อนคนญี่ปุ่นเป็นคนนำทางไป

พอออกมานอกอาคารก็พบว่าฝนตกด้วย เราไม่ได้เตรียมร่มมาแต่โชคดีที่สามารถยืมร่มที่วางอยู่หน้าอาคารได้

เดินกางร่มกันไป



ระหว่างทางผ่านวัด



ฝนตกแบบนี้ก็สวยไปอีกแบบ





แถวนี้มีแปลงผักด้วย



มีต้นไม้ออกผลเต็มเลย



ร้านที่เขาพาไปก็คือร้านทาเกะซูชิ (竹寿司)



ชั้นล่างเป็นเคาน์เตอร์ ส่วนด้านบนจะมีห้องอยู่ พวกเรามากันเยอะถึง ๑๐ คนก็เลยขอไปนั่งบนห้องด้านบนเลย



ทุกคนสั่งซูชิเป็นชุดแบบนี้เหมือนกันหมด ทั้งหมดนี้ราคา ๑๐๐๐ เยน ถือว่าไม่แพงเลย



เพื่อนคนจีนเขาดูเหมือนจะไม่ชอบทานข้าว ก็เลยทานเหลืออย่างที่เห็น



ทานเสร็จก็เดินกลับ



กลับมาถึงยังมีเวลาก็ไปเดินดูโปสเตอร์นำเสนอผลงานของผู้ร่วมอบรมที่แปะไว้เมื่อวาน อยู่ตรงทางเดินหน้าห้อง






หลังจากหมดพักเที่ยงก็กลับมาฟังบรรยายต่อ เล็กเชอร์ช่วงบ่ายนี้บรรยายโดย ศ. ซากุไร ทากาชิ (桜井 隆) ผู้ทำงานอยู่ในแผนกสังเกตการณ์ฟิสิกส์ดวงอาทิตย์ของหอดูดาวแห่งชาติ

เขามาบรรยายเกี่ยวกับฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์ ซึ่งเกี่ยวกับงานวิจัยที่ใช้ดาวเทียมฮิโนเดะ (ひので)

ฮิโนเดะเป็นดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ที่ถูกส่งออกไปโดย JAXA เมื่อปี 2006 อุปกรณ์ประกอบไปด้วยกล้องโทรทรรศน์แสดงในช่วงที่ตามองเห็นกับกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ ซึ่งพัฒนาร่วมกันโดยหอดูดาวแห่งชาติและ JAXA มีเป้าหมายเพื่อสังเกตการณ์ศึกษากลไกและไขปริศนาของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์



หลังจากจบเล็กเชอร์นี้เขาก็พาไปชมท้องฟ้าจำลองซึ่งอยู่ภายในบริเวณวิทยาเขตแห่งนี้


รายละเอียดเกี่ยวกับที่นี่อ่านที่หนุ่มแทจ็อนเขียนมาแล้วได้ http://daejeonastronomy.wordpress.com/2014/01/28/sokendai-asian-winter-school-2012naoj-tokyo-5

ระหว่างทางเดินไป ดูเหมือนฝนจะเพิ่งหยุดตก



อาคารที่มีห้องฉายดาว



เมื่อเข้าไปเขาก็จะแจกแว่น ๓ มิติให้



ภายในห้องฉายดาว



เวลาชมต้องสวมแว่น ๓ มิตินี้



จะนั่งชมกับพื้นก็ได้หรือจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้



ท้องฟ้าจำลองที่นี่ดูเผินๆก็คล้ายกับที่ไทย แต่มันก็ต่างไปเยอะ เพราะว่าเป็นสามมิติ แล้วก็มีอะไรให้เลือกฉายได้หลากหลาย

เขาได้ทำการฉายจำลองภาพของโลกเรา แล้วก็ขยายออกไปจนเห็นดาวต่างๆในระบบสุริยะ แล้วก็ขยายออกไปอีกเรื่อยๆจนเห็นดาวข้างเคียงและดาราจักรทางช้างเผือก และจนสุดที่เห็นทั้งจักรวาล ระหว่างที่ฉายเขาก็บรรยายไปเรื่อยๆ

ภาพที่ฉาย อันนี้ใช้กล้องถ่าย ยังไงก็ไม่สามารถถ่ายได้ชัดเนื่องจากเป็นภาพเป็น ๓ มิติ



หลังจากออกจากห้องฉายดาวแล้วเขาก็พาไปชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หอดูดาว (天文台歴史館) ซึ่งความจริงแล้วดูเหมือนจะอยู่นอกรายการแต่เขาเห็นว่าอยู่ใกล้กันก็เลยให้แวะไปดูสักหน่อย แต่ก็ให้เวลาไม่มาก



กล้องดูดาวที่อยู่ด้านใน ตอนนี้ไม่ได้ใช้งานแล้ว



ภายในจัดแสดงอะไรอยู่หลายอย่างเพราะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว แต่ไม่มีเวลาดูเพราะเขาให้เวลานิดเดียวเลยแทบไม่ได้อ่านอะไรเลย




เสร็จแล้วก็กลับมาฟังบรรยายต่อ นี่เป็นเล็กเชอร์สุดท้ายแล้ว บรรยายโดย ศ. แกรนต์ เจ แมธิวส์ (Prof. Grant J. Mathews) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม ซึ่งทำงานอยู่กับแผนกวิจัยดาราศาสตร์ทฤษฎีของหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น

เขามาบรรยายเรื่องความพัวพันเชิงควอนตัมและจักรวาลคู่ขนาน

ความพัวพันเชิงควอนตัมเป็นเรื่องที่ยากเรื่องหนึ่งในสาขาจักรวาลวิทยา ว่าด้วยการเชื่อมโยงกันทางควอนตัมของอนุภาค ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออนุภาคกลุ่มหนึ่งมีความเกี่ยวโยงกันโดยสถานะทางควอนตัม ความเคลื่อนไหวของอนุภาคเหล่านั้นจะสัมพันธ์กัน เมื่อสังเกตการณ์เคลื่อนที่ของอนุภาคหนึ่งจะสามารถทำนายถึงอนุภาคที่เหลือได้ ไม่ว่ามันจะอยู่ห่างไกลกันแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นจึงมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เราจะรับรู้ข้อมูลที่อยู่ในที่ที่ห่างไกลมากได้ด้วยความเร็วที่เร็วกว่าแสง ซึ่งตรงนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงตอนนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังอยู่ระหว่างวิจัย ต้องศึกษากันต่อไปอีก ความรู้เรื่องนี้อาจเป็นพื้นฐานในการสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมขึ้นได้ นอกจากนี้ยังใช้อธิบายเรื่องเอกภพคู่ขนานได้ด้วย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยากพอสมควรและยอมรับว่าไม่ค่อยเข้าใจดังนั้นขอไม่เขียนถึงในรายละเอียดเพราะกลัวจะผิดพลาด







ก็จบไปแล้วสำหรับเล็กเชอร์ทั้งหมดในค่ายครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๗ เล็กเชอร์ ที่วิทยาเขตซางามิฮาระทั้งหมด ๗ และที่วิทยาเขตมิตากะทั้งหมด ๑๐ ขออภัยที่ไม่ได้อธิบายละเอียดเลย เนื่องจากว่ายังไม่ได้สไลด์ที่พวกอาจารย์ใช้บรรยาย แต่ก็ตั้งใจว่าถ้าได้มาแล้วก็จะเอาเนื้อหาของบางเล็กเชอร์ที่สนใจมาเล่าโดยละเอียดอีกที

เมื่อเล็กเชอร์ทั้งหมดจบลงก็ได้เวลากล่าวปิดงานแล้วโดย ศ. วาตานาเบะ จุนอิจิ (渡部 潤一) รองผู้อำนวยการหอดูดาวแห่งชาติ

หลังจากนั้นก็ได้เวลาของกิจกรรมสุดท้ายของค่ายนี้ ก็คืองานเลี้ยงส่งลา ซึ่งก็จัดขึ้นที่โรงอาหารของที่นี่เอง



อาหารที่จัดเลี้ยงก็คือซูชิเป็นหลัก และมีอย่างอื่นอีก เพื่อนที่ไปกินด้วยกันเมื่อเที่ยงก็ตกใจใหญ่ เพราะว่าเพิ่งไปกินกันมาตอนมื้อเที่ยงเอง บางคนมื้อนี้ไม่กินซูชิเลยกินแต่อย่างอื่น แต่เราไม่มีปัญหา ซูชิอร่อยอยู่แล้วจะให้กินทุกมื้อก็ไม่มีปัญหา โอกาสไม่ได้มีมากนัก



ในโรงอาหารเห็นป้ายที่เขียนว่าผักขมที่นี่เป็นผักปลอดสารกำจัดศัตรูพืชที่ผลิตจากประเทศไทย ทานแล้วดีต่อสุขภาพ



ทานไปได้สักพักเขาก็เรียกทุกคนมาฟังอาจารย์แต่ละท่านกล่าวตอนท้าย โดยอาจารย์แต่ละคนที่มาทานด้วยออกมากล่าวทีละคน เริ่มต้นด้วยท่านนี้คือ ศ. วาตานาเบะ จุนอิจิ ผู้ที่ออกมากล่าวปิดงานที่ห้องบรรยายเมื่อครู่ เขากล่าวเป็นภาษาญี่ปุ่นเพราะว่าไม่คล่องภาษาอังกฤษ แล้วก็ให้อาจารย์โซเนะเป็นคนมาแปลให้



ส่วนคนนี้คืออาจารย์โรลันท์ ดีล ชาวเยอรมันที่มาบรรยายในเล็กเชอร์แรกของที่นี่เมื่อวันก่อน



อาจารย์รัฟฟาเอเล ฟลามินิโอ ชาวอิตาลีที่พาเราชมศูนย์วิจัยคลื่นความโน้มถ่วงเมื่อวาน



อาจารย์อาโอกิ



หลังจากนั้นก็กลับไปทานกันต่อ เสร็จพอตอนท้ายเขาก็เรียกทุกคนกลับมาพูดกล่าวตอนท้ายอีกครั้ง โดยให้ผู้ร่วมอบรมแต่ละชาติออกมาพูด

นี่คือกลุ่มผู้ร่วมจากประเทศอินโดนีเซีย มีจำนวนมากสุดเลย ๘ คน มากที่สุดเลย



แล้วก็ไล่ไปเรื่อยๆทีละชาติ สุดท้ายก็ปิดท้ายด้วยชาวญี่ปุ่น ซึ่งมี ๓ คน (ที่จริงมี ๔ แต่ว่ากลับไปก่อนแล้ว ๑ คน)



กล่าวจบอาจารย์โซเนะก็ออกมากล่าวเป็นครั้งสุดท้าย เขาเป็นคนคอยดูแลผู้ร่วมอบรมตอนที่อยู่ที่วิทยาเขตซางามิฮาระ แต่ว่าตอนที่อยู่วิทยาเขตมิตากะเขาไม่ได้ตามมาด้วย เพิ่งกลับมาร่วมงานนี้ตอนท้าย



และปิดท้ายด้วยอาจารย์คาจิโนะ ผู้ที่เป็นคนดูแลผู้ร่วมอบรมขณะที่อยู่วิทยาเขตมิตากะ





งานจบลงเป็นที่เรียบร้อย พวกเราเดินทางกลับไปยังโรงแรมที่สถานีมุซาชิซาไก

วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่จะได้อยู่ด้วยกัน พวกเรานัดกันว่าจะสังสรรค์กันจนดึกสักหน่อย พอถึงโรงแรมทุกคนก็ขึ้นไปพักที่ห้องสักพักแล้วก็ลงมาเจอกันที่ชั้นหนึ่งของโรงแรม

ระหว่างนั้นเรานึกขึ้นได้ว่าเงินที่เตรียมมาแทบไม่เหลือแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายที่นี่มากกว่าที่คิด ก็เลยว่าจะไปหาที่กดเงิน แต่ไม่แน่ใจว่าจะไปหาที่กดเงินที่สามารถกดเงินจากธนาคารต่างชาติได้ที่ไหน

เพื่อนแนะนำว่าให้ไปกดที่ร้านสะดวกซื้อน่าจะมีอยู่ ก็เลยขอตัวไปกดเงินก่อน พอหาร้านสะดวกซื้อเจอแล้วเข้าไปก็เห็นมีเครื่องกดเงินอยู่จริงๆแต่ว่าใช้ไม่เป็นก็เลยถามพนักงาน พอเขาเห็นบัตรธนาคารของเราซึ่งเป็นของธนาคารที่จีนเขาก็ถามมาเป็นภาษาจีนว่าคุณเป็นคนจีนหรือ

ปรากฏว่าคนนี้เขาเป็นคนจีนที่มาอาศัยอยู่ที่นี่ แต่เราไม่ได้ถามว่าเขามาเรียนแล้วมาทำงานพิเศษเฉยๆ หรือว่ามาอยู่ถาวร จากตรงนี้เราเลยคุยกันเป็นภาษาจีน เขาบอกว่าดูเหมือนบัตรนี้จะไม่สามารถกดเครื่องนี้ได้ เพราะเครื่องนี้ใช้ได้กับบัตรธนาคารต่างชาติบางแห่งเท่านั้น

พอถามว่าควรจะไปหาที่ไหนดีเขาก็แนะนำว่าให้ไปกดเงินที่ห้างซึ่งอยู่ที่สถานีคิจิโจวจิ (吉祥寺駅) ดีกว่า มันมีตู้ที่สามารถกดเงินจากธนาคารต่างชาติที่ไหนก็ได้อยู่ แต่ว่าตอนนี้มันดึกน่าจะปิดไปแล้ว และเขาก็ไม่รู้จักที่อื่นที่มี ก็เลยคิดว่าต้องรอถึงพรุ่งนี้เช้าค่อยไปหาดีกว่า

มาอยู่นี่แค่ไม่กี่วันแต่นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่ได้เจอคนจีนโดยบังเอิญ คนจีนนี่อยู่ทั่วทุกหนแห่งจริงๆ ยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาจีน ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนบนโลกนี้รู้ภาษาจีนไว้ถือว่าได้เปรียบ

ตอนที่คุยกับเขานั้น พวกชื่อสถานีเขาพูดเป็นภาษาจีนหมดเลย คืออ่านชื่อตามตัวอักษรด้วยการออกเสียงแบบจีน อย่างสถานีมุซาชิซาไกก็เรียกว่า "อู่จ้างจิ้ง" (武蔵境) สถานีมิตากะก็เรียกว่า "ซานอิง" (三鷹) สถานีคิจิโจวจิเรียกว่า "จี๋เสียงซื่อ" (吉祥寺)

หลังจากนั้นก็เลยกลับมาหาเพื่อนที่โรงแรม เมื่อกลับมาถึงก็พบว่ามีรออยู่แค่คนเดียว เพราะว่าใช้เวลานานเกินไปคนอื่นก็เลยไปเดินหาร้านกันก่อนแล้ว เหลือรออยู่แค่คนเดียวเพื่อให้เราตามไปได้ถูก พอรู้อย่างนี้ก็เลยรู้สึกเกรงใจมากเลย

พอเรากลับมาถึงเพื่อนคนที่รออยู่นี้ก็รีบติดต่อกับเพื่อนที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้วเพื่อถามว่าไปเข้าร้านไหน พอรู้สถานที่ก็รีบตามไป สถานที่นั้นก็คือร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านร้านค้าถนนสกิป (すきっぷ通り商店街) ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่อยู่ใกล้สถานีมุซาชิซาไก ร้านฮานะโนะไม (はなの舞)



ภายในร้าน ตัวร้านอยู่ชั้น ๒-๓ ของอาคาร



ที่ห้องน้ำของร้านนี้พอดีไปเจอแผ่นป้ายน่าสนใจก็เลยถ่ายเก็บมา



健康十訓 สิบแนวทางเพื่อสุขภาพ
一、少肉多菜 ๑. ทานเนื้อน้อยๆ ทานผักมากๆ
二、少塩多酢 ๒. ทานเกลือน้อยๆ ทานน้ำส้มสายชูมากๆ
三、少糖多果 ๓. ทานน้ำตาลน้อยๆ ทานผลไม้มากๆ
四、少食多噛 ๔. รับประทานน้อยๆ เคี้ยวมากๆ
五、少衣多浴 ๕. สวมเสื้อน้อยๆ อาบน้ำมากๆ
六、少言多行 ๖. พูดน้อยๆ เคลื่อนไหวมากๆ
七、少欲多施 ๗. โลภน้อยๆ ทำทานมากๆ
八、少憂多眠 ๘. กลุ้มน้อยๆ นอนมากๆ
九、少車多歩 ๙. นั่งรถน้อยๆ เดินมากๆ
十、少憤多笑 ๑๐. โกรธน้อยๆ ยิ้มมากๆ


ก็เป็นแนวทางสู่สุขภาพที่ดี ถ้าทำได้ดังนี้ก็คงจะดี

จากนั้นเราอยู่กันจนดึกมากประมาณเที่ยงคืนกว่าเลย ระหว่างนั้นเรามีลังเลว่าจะกลับก่อนตั้งหลายครั้งเพราะมันดึกแล้ว แต่เห็นว่ายังสนุกกันอยู่ยังไม่อยากรีบกลับก่อนเลย สุดท้ายก็เลยรอจนกลับพร้อมกันทุกคน

ภายในถนนคนเดินยามเที่ยงคืนก็ยังไม่ได้เงียบเหงานัก ยังมีคนเดินอยู่ และมีร้านเปิดอยู่ไม่น้อย





พอกลับมาถึงโรงแรมก็มีเพื่อนส่วนหนึ่งบอกว่าอยากจะไปต่อกันอีก แต่เราไม่ไหวแล้วเพราะวันรุ่งขึ้นตั้งใจว่าจะออกแต่เช้าเพื่อไปเที่ยวสักหน่อย

ส่วนเรื่องปัญหาที่ว่าไม่สามารถไปกดเงินได้นั้นสุดท้ายก็ตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการยืนเพื่อนคนไทย ที่จริงเขาเสนอจะให้ยืมตั้งแต่ตอนแรกที่บอกว่าจะไปหาที่กดเงินแล้ว แต่ก็เกรงใจ ถ้ากดเงินได้ก็คงจะดีกว่า ไม่อยากรบกวนใคร แต่พอเป็นแบบนี้ก็เลยต้องยืมจนได้ แต่ก็ไม่กล้ายืมมาก ยืมไปแค่พอประมาณให้สามารถเดินทางตามแผนแล้วกลับไปยังสนามบินได้

หลังจากนั้นเราก็แยกจากทุกคนตรงนี้เพื่อไปเข้านอน เรื่องเล่าภายในค่ายอบรมวิชาการโซวเคนไดของเราก็จบลงแต่เพียงเท่านี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องให้เล่าต่ออีก เพราะวันต่อมามีเวลาว่างหนึ่งวันเต็มๆก่อนที่จะไปขึ้นเครื่องบินตอนเย็น จึงเตรียมแผนเอาไว้แล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20140308



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> โตเกียว
-- ท่องเที่ยว >> ท้องฟ้าจำลอง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ