φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



การขอวีซาสวีเดนที่จีน และการยื่นอุทธรณ์
เขียนเมื่อ 2014/04/17 23:45
แก้ไขล่าสุด 2023/02/25 22:33
พฤษภาคมนี้มีแผนจะไปเที่ยวสวีเดน เพราะว่ามีคนรู้จักอยู่ที่นั่น จะไปพักกับเขาแล้วก็เที่ยวที่นั่น

แต่เนื่องจากตอนนี้ไม่ได้อยู่ไทยก็เลยต้องทำเรื่องทำวีซาที่จีน พอทำเสร็จก็เลยเอามาเล่าเป็นประสบการณ์สักหน่อย

และเนื่องจากครั้งนี้ประมาทไปหน่อยจนทำให้ยื่นเรื่องทำวีซาครั้งแรกไม่ผ่าน ครั้งนี้นอกจากจะมีประสบการณ์ในการยื่นเรื่องทำวีซาแล้ว ก็ยังได้ประสบการณ์ในการยื่นอุทธรณ์ในกรณีที่วีซาไม่ผ่านด้วย



สำหรับการยื่นขอวีซาสวีเดนจากภายในจีนนั้นจะต้องไปทำที่ศูนย์วีซาสวีเดน (瑞典签证中心) ซึ่งมีอยู่สองแห่งในจีน คือที่ปักกิ่งและที่เซี่ยงไฮ้ การทำวีซาจำเป็นจะต้องมายื่นด้วยตัวเองถึงที่

ศูนย์นี้จะรับทำเฉพาะวีซาระยะสั้น ส่วนวีซาระยะยาวต้องไปทำที่สถานทูตในปักกิ่ง หรือสถานกงศุลในเซี่ยงไฮ้เท่านั้น

ในที่นี่จะพูดถึงการทำวีซาระยะสั้นเท่านั้น และจะเน้นข้อมูลที่ศูนย์ปักกิ่งเป็นหลัก แต่ของศูนย์เซี่ยงไฮ้รายละเอียดก็ไม่ต่างกันมาก

รายละเอียดอ่านได้จากเว็บของศูนย์วีซาสวีเดน http://www.swedenvisa-china.com/Chinese

และเว็บของสถานทูตสวีเดน http://www.swedenabroad.com/zh-CN/Embassies/Beijing

วีซาที่ทำนั้นไม่ใช่วีซาสวีเดนโดยเฉพาะ แต่เรียกว่าเป็นเชงเกนวีซา (Schengen visa) วีซานี้ใช้เข้าได้เกือบทุกประเทศภายในยุโรป อย่างไรก็ตามหากขอจากทางสวีเดนนั่นหมายความว่าเราจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในสวีเดน

การขอเชงเกนวีซาจากแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดคล้ายๆกัน แม้จะต่างกันไปบ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะเล่าถึงภายในหน้านี้หวังว่าน่าจะสามารถนำไปใช้กับการขอวีซาประเทศอื่นได้ไม่มากก็น้อย

ข้อมูลทั้งหมดที่เขียนในนี้อาจเปลี่ยนไปตามเวลา ทางที่ดีควรตรวจสอบในเว็บเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามเวลานั้นที่สุด



เอกสารที่ต้องเตรียม

เอกสารหลัก
- แบบฟอร์มสำหรับยื่นวีซา โหลดได้จากในเว็บของสถานทูต กรอกให้เรียบร้อย
- หนังสือเดินทาง ซึ่งต้องเหลืออายุมากกว่า ๓ เดือนในวันที่กลับจากเดินทาง และมีสองหน้าว่าง
- สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้าไม่ได้เตรียมทางโน้นจะช่วยถ่ายให้ แต่ต้องจ่ายเพิ่มซึ่งแพงกว่าถ่ายตามร้าน)
- ถ้าเป็นหนังสือเดินทางที่เพิ่งเปลี่ยนภายในปีที่แล้วจะต้องเตรียมหนังสือเดินทางอันเก่าไปด้วย
- รูปถ่ายที่ไม่เก่าไปกว่า ๖ เดือน
- ใบประกันสุขภาพและการเดินทาง ซึ่งมีระยะเวลาครอบคลุมตลอดช่วงที่ขอเข้าประเทศ วงเงินอย่างน้อย ๓ หมื่นยูโร
- หลักฐานแสดงสถานะทางการเงินซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายเมื่ออยู่ที่นั่น โดยทั่วไปประมาณ ๔๕๐ โครนสวีเดนต่อคนต่อวัน ไม่รวมค่าเดินทาง
- ใบจองตั๋วเครื่องบินไปกลับ (ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแล้ว)

เอกสารเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนและนักศึกษา
- สำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน
- จดหมายแนะนำซึ่งออกโดยโรงเรียน ยืนยันว่าเป็นนักเรียนของที่นั่นและมีเขียนไว้ชัดเจนว่าเข้าเมื่อไหร่จบเมื่อไหร่
- หลักฐานแสดงการขอลาเรียนในช่วงที่ยื่นขอเข้าประเทศ

เอกสารเพิ่มเติมสำหรับวีซาท่องเที่ยว
- แผนการเที่ยว
- สำเนาใบจองโรงแรมซึ่งครอบคลุมเวลาทุกคืนที่ยื่นขอ

เอกสารเพิ่มเติมสำหรับวีซาเยี่ยมเพื่อนหรือญาติ
- หลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้เชิญ ถ้าหากว่าไปเยี่ยมญาติจะต้องเป็นเอกสารที่ออกโดยทางราชการ แต่ถ้าแค่เป็นเพื่อนก็อาจเป็นเอกสารอะไรบางอย่างที่พอจะบอกความสัมพันธ์ได้ เช่นรูปถ่ายที่ถ่ายคู่กัน
- แบบฟอร์มหมายเลข 241011 กรอกโดยผู้เชิญ โหลดได้ในเว็บไซต์
- สำเนาหนังสือเดินทางของผู้เชิญ
- สำเนาทะเบียนราษฏร์ของผู้เชิญ (familjebevis) ซึ่งควรจะเป็นฉบับที่เพิ่งขอภายใน ๓ เดือน
- ถ้าผู้เชิญนั้นอาศัยอยู่ในจีนและจะเดินทางไปพร้อมกันด้วยให้เตรียมเอกสารใบอนุญาตสำหรับพำนักในจีนของผู้เชิญไปด้วย พร้อมทั้งหลักฐานแสดงสถานะทางการเงินของผู้เชิญ

การประกาศผลและรับผล
- สามารถเลือกที่จะให้เขาส่งไปให้ทางไปรษณีย์ หรือจะมารับด้วยตัวเองก็ได้
- ใช้เวลารอ ๗ - ๑๕ วัน ไม่แน่นอน
- สามารถบอกให้เขาส่งข้อความในโทรศัพท์มือถือมาแจ้งเมื่อวีซามาถึงแล้วได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและไม่จำเป็น เพราะเราสามารถโทรถามเอาได้ หรือตรวจสอบเองทางเว็บของศูนย์ทำวีซาได้
- เวลารับผลให้เอาใบเสร็จที่มีติดสำเนาหนังสือเดินทางของเราอยู่ ซึ่งเขาจะให้มาหลังจากที่เรายื่นเรื่องเสร็จ
- ถ้าไม่สามารถไปรับเองสามารถมอบอำนาจให้คนอื่นไปรับแทนได้

ค่าใช้จ่าย
๗๕๓ หยวน (ราคา ณ เดือนเมษายน 2014, อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา) จ่ายเป็นเงินสดเท่านั้น

เวลาทำการ
จันทร์ - ศุกร์ 8:00 - 15:00 น. ยกเว้นวันหยุด

สถานที่ทำ
ศูนย์วีซาสวีเดนในปักกิ่งนั้นอยู่ที่ย่านซานหลี่ถุน (三里屯) ซึ่งเป็นทั้งย่านสถานทูตและย่านเที่ยวกลางคืนที่มีชื่อเสียงของปักกิ่ง การไปนั้นถ้าหากนั่งรถไฟฟ้าไปจะไม่มีสถานที่ไปถึงโดยตรง ต้องเดินไกลหรือไม่ก็ต่อรถเมล์เอา


สถานีใกล้ที่สุดคือสถานีถวานเจี๋ยหู (团结湖站) ซึ่งอยู่บนสาย 10 แต่หากใครมาทางสาย 2 ก็ให้มาลงที่สถานีตงซื่อสือเถียว (东四十条站) แต่ถ้านั่งสาย 6 ก็ให้มาลงที่สถานีตงต้าเฉียว (东大桥站)

ทั้ง ๓ สถานีนี้อยู่ไกลจากศูนย์วีซาพอๆกัน อาจลงที่สถานีใดสถานีหนึ่งก็ได้ตามแต่สะดวกขึ้นกับว่านั่งสายอะไรมา จากนั้นต่อรถเมล์ไป โดยให้ลงที่ป้ายเหรินกงถี่ยวี่ฉ่าง (人工体育场) มีหลายสายผ่าน สังเกตให้ดีว่าไม่ใช่ป้ายเหรินกงถี่ยวี่กว่าน (人工体育馆) ซึ่งเป็นป้ายติดกัน ถ้าลงผิดก็ต้องเดินไกล

ให้เข้าไปในตึกไห่หลงสือโหยว (海隆石油) แล้วขึ้นไปชั้น ๕ ห้อง ๕๐๑ ตึกนี้นอกจากจะมีศูนย์วีซาสวีเดนแล้วก็ยังมีศูนย์วีซาของประเทศนอร์เวย์, เดนมาร์ก, ออสเตรีย, เบลเยียม และมอลตา ซึ่งก็เป็นประเทศในกลุ่มเชงเกนเช่นเดียวกันทั้งนั้น



ตึกนี้อยู่ข้างๆห้างที่ชื่อว่าซื่อเม่ากว๋างฉ่าง (世茂广场)



อธิบายเพิ่มเติม
- ในเว็บจะแนะนำบอกให้ต้องนัดล่วงหน้าด้วย แต่ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องนัดก็ได้ แค่ไปถึงแล้วก็รับบัตรคิวแล้วรอให้ถึงคิว
- วีซาที่ได้จะจำนวนวันเท่ากันพอดีกับที่ขอไป ดังนั้นจึงต้องเขียนไปตามจริงหรือไม่ก็ขอเกินเอาไว้ก็ได้
- ประกันสามารถซื้อได้ผ่านทางเว็บไซต์และจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือธนาคารออนไลน์ได้ ซึ่งมีอยู่หลายบริษัท วิธีการง่ายดาย สามารถกดค้นเอาได้ เมื่อจ่ายเสร็จก็จะได้ใบรับรองในทันทีให้ปรินต์ใบนี้ไปใช้ในการยื่น
- เอกสารที่ไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาสวีเดนจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เรียบร้อย แม้แต่ภาษาจีนก็ต้องแปล เจ้าหน้าที่จะไม่ช่วยเราแปลให้
- ตอนที่ยื่นเอกสารเขาจะมีให้กรอกเอกสารเพิ่มเติมด้วย เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวเช่นว่าเราเคยเข้าประเทศในกลุ่มเชงเกนมาก่อนหรือเปล่า เคยถูกปฏิเสธวิซาหรือเปล่า มีคนรู้จักอยู่ในประเทศในกลุ่มเชงเกนหรือเปล่า และช่องสุดท้ายมีให้กรอกว่ามีอะไรอยากหมายเหตุเพิ่มเติมบ้าง
- เจ้าหน้าที่ที่นี่พูดภาษาอังกฤษเป็นทุกคนแต่ไม่มีใครพูดภาษาสวีเดนเป็นเลย



ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นข้อมูลโดยทั่วไป ต่อไปจะเล่าถึงสถานการณ์ที่เราไปเจอมาจริงๆ

เท้าความก่อนว่าแผนการเที่ยวสวีเดนครั้งนี้ของเราก็คือจะไปเยี่ยมพี่คนรู้จักซึ่งแต่งงานกับคนสวีเดน พร้อมทั้งถือโอกาสเที่ยว เขาอาศัยอยู่ที่เมืองเล็กๆทางตอนใต้ของสวีเดนใกล้กับเดนมาร์ก

แผนการเที่ยวครั้งนี้ก็คือจะนั่งเครื่องบินไปลงที่โคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก แล้วข้ามฝั่งมาสวีเดน มายังบ้านของเขา

ไปกับครอบครัว โดยที่คนที่เหลือนั่งเครื่องบินมาจากกรุงเทพฯ แล้วก็ไปเจอกันที่โคเปนเฮเกนเลย เที่ยวบินที่จองนั้นถึงในเวลาไล่เลี่ยกันตอนเย็นวันที่ 1 พ.ค. โดยขาไปต้องต่อเครื่องที่เฮลซิงกิ

เราจะใช้เวลาครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านเขาแล้วเที่ยวเมืองรอบๆ และครึ่งหลังจึงเดินทางไปสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน และสุดท้ายจึงนั่งเครื่องบินกลับจากที่นั่นในวันที่ 11 พ.ค. โดยต่อเครื่องที่เฮลซิงกิ ต้องค้างที่นั่นคืนหนึ่งและถือโอกาสเที่ยวในวันที่ 12 พ.ค. จากนั้นจึงกลับมาที่สนามบินเพื่อนั่งเครื่องบินกลับตอนเย็น

การขอวีซาครั้งนี้ขอเป็นแบบไปเยี่ยมเพื่อน โดยให้สามีชาวสวีเดนของพี่เขาเป็นผู้เชิญ และให้เขาเตรียมเอกสารให้



เราเตรียมเอกสารทั้งหมดพร้อมไปยื่นในวันที่ 21 ก.พ. พอไปถึงก็พบว่าเอกสารขาดไปบางส่วน

- ไม่มีหลักฐานแสดงการขอลาเรียน
- ไม่มีจดหมายเชิญจากผู้เชิญ
- ไม่ได้จองตั๋วเครื่องบิน เนื่องจากหาเว็บที่จองโดยไม่จ่ายเงินไม่ได้ เลยแค่ปรินต์หน้าตั๋วที่ตั้งใจจองไปให้เท่านั้น
- เงินในบัญชีน้อยเกินไป มีแค่ ๗ พันกว่าหยวนเท่านั้น ซึ่งเพียงพอตามเกณฑ์ที่เขาบอกว่าวันละ ๔๕๐ โครนสวีเดน (โครนสวีเดนกับหยวนค่าใกล้เคียงกัน) แต่ถ้ารวมค่าตั๋วเครื่องบินจะไม่พอ

ซึ่งพนักงานเขาก็มีเตือนบอกเหมือนกันว่าถ้ามีอะไรที่ไม่พร้อม แต่เนื่องจากได้ยินบางคนบอกมาว่าวีซาสวีเดนไม้ได้ทำยากนัก อีกทั้งเมื่อก่อนยังเคยยื่นวีซาญี่ปุ่นผ่านมาก่อนทั้งๆที่เอกสารไม่ได้พร้อมอะไรนัก เลยคิดว่าคงไม่มีปัญหา ก็เลยยื่นไปเลย

หลังจากยื่นไป วันที่ 28 ก.พ. ก็สามารถไปรับผลได้แล้ว ผลก็คือไม่ผ่าน ตอนนั้นก็เครียดมากเลย เขามีใบชี้แจงเหตุผลมาให้ดูด้วย ซึ่งเหตุผลที่เขาเขียนก็คือ ไม่มั่นใจว่าเราจะออกจากประเทศเขาภายในเวลาที่กำหนด

และก็มีใบที่อธิบายโดยละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งบอกว่าเนื่องจากเราเป็นนักเรียน เป็นโสด ยังไม่ได้ทำงาน ไม่มีรากฐานที่มั่นคงทั้งในจีนและในประเทศตัวเอง นอกจากนี้เงินในบัญชีก็น้อยเกินไป อีกทั้งยังไม่ได้ยื่นหลักฐานการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบินไปด้วย จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ยอมกลับ

สำหรับเรื่องที่เขาท้วงมาเรื่องหลักฐานการจองโรงแรมนั้นก็เป็นอะไรที่ชวนสงสัยอยู่ เพราะการขอวีซาเยี่ยมเพื่อนนั้นปกติแล้วไม่น่าจะต้องใช้ ตรงนี้ยังเป็นจุดที่สงสัยอยู่จนถึงตอนนี้



แม้ว่าจะโดนปฏิเสธวีซาไปแต่ความหวังก็ยังมี ซึ่งก็มีอยู่สองทางเลือกก็คือยื่นวีซาใหม่ หรือยื่นอุทธรณ์

สำหรับการยื่นอุทธรณ์นั้นก็คือการเขียนจดหมายร้องเรียนว่าเราไม่เห็นด้วยกับการที่เขาตัดสินว่าเราไม่เหมาะแก่การได้รับวีซา เราต้องเขียนจดหมายด้วยตัวเอง ไม่มีแบบฟอร์มแน่นอนตายตัว สามารถแนบเอกสารเพิ่มเติมไปด้วยเพื่อเป็นหลักฐานที่ช่วยเสริมได้

การยื่นอุทรณ์ต้องทำภายใน ๓ สัปดาห์หลังจากโดนปฏิเสธวีซา และใช้เวลาดำเนินการไม่แน่นอน อาจนานแค่วันเดียวหรืออาจนานถึงหนึ่งเดือน ขึ้นกับความสะดวกของทางสถานทูต

หากเทียบดูแล้วการยื่นอุทธรณ์มีข้อดีมากกว่าการยื่นวีซาใหม่ตรงที่ว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่ต้องเตรียมเอกสารใหม่หมดด้วย แต่ข้อเสียคืออาจใช้เวลานาน

เนื่องจากว่ายังพอมีเวลาเราจึงตัดสินใจลองยื่นอุทธรณ์ดู

เราพยายามถามคนที่ศูนย์ทำวีซาปรึกษาว่าควรทำยังไงดี ควรยื่นอุทธรณ์หรือจะยื่นใหม่ดีแต่ก็ดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยกล้าแนะนำ และไม่ค่อยจะรู้อะไรเท่าไหร่ ได้แต่บอกว่าถ้าจะทำจะมีขั้นตอนยังไงบ้างเท่านั้น แล้วเขาก็แนะนำว่าให้ลองไปถามคนที่สถานทูตดูอาจจะรู้อะไรมากกว่า



การยื่นอุทรณ์นั้นต้องไปยื่นที่สถานทูตสวีเดนโดยตรง ไม่ได้ยื่นที่ศูนย์วีซาเหมือนตอนยื่นวีซา และเวลาที่เปิดให้ไปยื่นได้นั้นคือแค่เก้าโมงถึงสิบเอ็ดโมงเช้าเท่านั้น



สำหรับตำแหน่งของสถานทูตนั้นอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินศูนย์นิทรรศการเกษตรกรรม (农业展览馆, หนงแย่จั๋นหลานกว่าน) ซึ่งเราได้เล่าถึงไปในหน้า https://phyblas.hinaboshi.com/20140311

วันที่ 3 มี.ค. เราได้ไปที่สถานทูตสวีเดนเพื่อสอบถามรายละเอียดเรื่องการยื่นอุทรณ์ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไรที่น่าพอใจเลย เจ้าหน้าที่ที่นั่นไม่สามารถให้คำแนะนำอะไรได้ ไม่ได้บอกว่าควรเขียนอะไรยังไง ดังนั้นจึงต้องค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเอาเอง

ผลการค้นหาก็เจอหน้านี้ ในนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ สามารถใช้อ่านอ้างอิงได้ http://www.euro-dollar-currency.com/sample_visa_appeal.htm

หลังจากนั้นเราจึงเตรียมเอกสารอะไรเพิ่มเติม ซึ่งก็ได้แก่ใบจองตั๋วเครื่องบิน โดยที่เราได้ตัดสินใจซื้อตั๋วไปเลย แบบว่าไปตายเอาดาบหน้า ถ้าไม่ได้วีซาจริงๆก็ยอมเสียเงินฟรีไปเลย ให้มันรู้ไป นอกจากนี้ก็ได้ทำการจองโรงแรมไปด้วย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มจดหมายเชิญจากผู้เชิญไปด้วย พร้อมทั้งหน้าวีซาของผู้เชิญซึ่งมีลงตราประทับเข้าเมืองไทยเพื่อจะยืนยันว่าเขาเคยมาไทยและได้เจอกับเราแล้ว

ส่วนปัญหาเรื่องเงินคราวนี้เราใช้หลักฐานทางการเงินของแม่ โดยแนบสำเนาทะเบียนบ้านไปด้วย (พร้อมคำแปล) เพื่อแสดงความสัมพันธ์ โดยในคำอธิบายเราก็ได้อธิบายเพิ่มเติมไปว่าสาเหตุที่เงินในบัญชีน้อยเกินไปก็เพราะว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ตลอดเที่ยวนี้แม่เป็นคนออกให้ อีกทั้งแม่ยังร่วมเดินทางไปด้วย โดยที่ชื่อของคนที่ไปก็มีใส่อยู่ในจดหมายเชิญที่เขียนโดยผู้เชิญอยู่แล้ว

แต่ในช่วงที่เรากำลังเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเพื่อไปยื่นอุทธรณ์นั้น ได้ข่าวร้ายมาว่าทางบ้านซึ่งยื่นวีซาจากไทยเองก็โดนปฏิเสธเหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่านั่นเป็นลางร้ายเสียแล้ว วีซาสวีเดนดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ได้ยากกว่าที่คิดจริงๆ ทั้งๆที่ทางนั้นเตรียมเอกสารอย่างรัดกุมกว่ามากแต่ก็ยังโดนปฏิเสธ

ทางบ้านเองก็ยื่นอุทธรณ์เช่นกัน โดยแนบแผนการเที่ยวไปด้วย ผลก็คือยื่นอุทธรณ์ผ่านสบาย รู้ผลอย่างรวดเร็วภายในสองวัน

วันที่ 11 มี.ค. เราไปยื่นอุทธรณ์บ้าง ซึ่งก็มั่นใจว่าเตรียมอะไรเพิ่มเติมไปพร้อมมาก น่าจะผ่าน หลังจากยื่นเสร็จก็ได้เข้าไปเดินเที่ยวชมศูนย์นิทรรศการเกษตรกรรมดังที่เล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140314



หลังจากนั้นวันที่ 24 มี.ค. ก็มีอีเมลส่งมาจากทางสวีเดน เป็นใบสแกนเอกสารฉบับหนึ่ง เป็นภาษาสวีเดนล้วนๆ อ่านไม่ออกเลย และเนื่องจากเป็นสแกนทำให้ไม่สามารถลากคลุมข้อความเพื่อไปแปลใน google ได้

ดังนั้นจึงต้องค่อยๆพิมพ์แปลใส่ใน google เองโดยตรง ค่อนข้างเหนื่อยทีเดียว ค่อยๆแปลแล้วก็ลุ้นไปเรื่อยๆทีละบรรทัด พิมพ์ไปอ่านไปแบบตื่นเต้นมาก

ในที่สุดก็อ่านจนได้ใจความว่าที่ยื่นอุทธรณ์ไปนั้น... ล้มเหลว โดนปฏิเสธมาอีก

เหตุผลที่ล้มเหลวนั้นไม่แน่ชัดเพราะใช้ google แปลแล้วก็ยังมีบางส่วนที่อ่านแล้วงงๆ แต่เนื้อความประมาณว่าหลักฐานทางการเงินนั้นไม่สามารถยืนยันฐานะของเราได้แน่นอนพอ อีกทั้งเอกสารจองโรงแรมที่แนบไปด้วยนั้นเป็นชื่อของแม่แถมยังจองแค่วันเดียวด้วย

ที่จริงมีลองเอาเมลที่ได้นี้ไปให้คนที่ศูนย์ทำวีซาอ่าน แต่ไม่มีใครอ่านภาษาสวีเดนเป็นสักคน ก็เป็นอะไรที่ผิดคาด เขาบอกว่าให้ไปถามคนที่สถานทูต คนที่นั่นอ่านได้แน่นอน อย่างไรก็ตามเรารู้สึกว่ายุ่งยากก็เลยไม่ได้ไป

หากลองคิดดูแล้วเรื่องโรงแรมนี่น่าจะเป็นสาเหตุหลักของความผิดพลาดครั้งนี้ เพราะชะล่าใจไปหน่อย ที่จริงก็กังวลเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนยื่นแล้ว แต่คิดว่าเอกสารอื่นพร้อมดีแล้วแค่เอกสารจองโรงแรมบกพร่องไปหน่อยคงไม่เสียหายอะไรมาก



หลังจากโดนปฏิเสธมาอีกแบบนี้ก็เครียดหนักเลย คิดถึงขนาดว่างั้นก็ไม่ต้องไปแล้วดีมั้ยประเทศนี้ มันไม่อยากให้เราไปขนาดนั้นเลย งอนแล้ว ไปหาทางคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินดีกว่า บินไปเยี่ยมเพื่อนที่ปานามาแทนดีกว่าไม่ต้องขอวีซาให้ยิ่งยาก

แต่ก็คิดว่าไหนๆก็ตั้งใจแล้วว่าจะไป และวางแผนไว้อย่างดีแล้ว ถ้าไม่ได้ไปจริงๆเสียความตั้งใจแย่เลย

สุดท้ายจึงตัดสินใจยื่นวีซาใหม่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็ลังเลว่าควรจะเปลี่ยนแผนยังไงดี เปลี่ยนเป็นขอวีซาท่องเที่ยวดีมั้ย แล้วลองเปลี่ยนเป็นไปขอจากทางเดนมาร์กแทนดีมั้ย โดยแต่งแผนโกหกว่าจะไปเดนมาร์กหลายวัน เพราะยังไงตั๋่วเครื่องบินเราก็ไปลงเดนมาร์กอยู่แล้ว

แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่ายื่นไปใหม่แบบเดิมเหมือนเดิมทุกอย่างนั่นแหละ ยื่นวีซาเยี่ยมเพื่อนเหมือนเดิม แต่คราวนี้เอกสารครบถ้วนไม่ให้ขาดเลย

ของที่เตรียมไปเพิ่มจากการขอครั้งแรกมีดังนี้
- หลักฐานการจองตั๋วเครื่องบิน
- จดหมายเชิญจากผู้เชิญ พร้อมตราประทับที่แสดงว่าเขาเคยเข้าเมืองไทยมาแล้ว
- แผนการเที่ยว บอกให้หมดอย่างละเอียดเลยว่าจะไปไหนยังไงบ้าง
- หลักฐานการจองโรงแรมซึ่งครอบคลุมทุกคืนที่ไม่ได้พักอยู่กับผู้เชิญ เอาให้ตรงตามที่เขียนไว้ในแผน
- เอกสารยืนยันที่อยู่ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ขอก็ตาม แต่ในเมื่อเหตุผลที่เขาปฏิเสธคือกลัวว่าเราจะไม่ออกจากประเทศเขา ถ้าเราแสดงหลักฐานที่อยู่น่าจะช่วยได้ (อันนี้คิดเอาเอง ที่จริงอาจไม่มีผลเลยก็ได้)
- หลักฐานแสดงการขอลาเรียน
- หลักฐานทางการเงินของทางบ้าน เช่นเดียวกับที่แนบไปตอนอุทธรณ์
- สมุดเงินฝากธนาคารซึ่งมีเงิน ๒๗,๐๐๐ หยวน เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่มีแค่ ๗,๐๐๐ หยวน โดยให้ทางบ้านโอนเข้ามาให้เพิ่ม ๒๐,๐๐๐ หยวน เพราะตอนอุทธรณ์ยื่นหลักฐานทางการเงินของบ้านไปแล้วยังไม่ได้ผล จึงเหลือวิธีสุดท้ายคือเติมเงินเข้าในบัญชีนี้เองเลย

ที่จริงมีอีกอย่างที่เตรียมไปก็คือวีซาของคนในครอบครัวซึ่งเพิ่งจะขอได้ไปก่อนหน้า ตั้งใจจะแสดงให้เห็นว่าคนที่ไปด้วยเขายังได้วีซาแล้วเลย แต่พอเอาไปยื่นเขาบอกว่าไม่มีประโยชน์ เพราะการตัดสินนั้นขึ้นกับตัวบุคคล ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้ร่วมเดินทาง



เอาล่ะ เมื่อเตรียมเอกสารทั้งหมดนี้ไปแล้ววันที่ 2 เม.ษ. ก็ไปยื่น เขาก็บอกว่าเอกสารครบพร้อมดี ไม่มีปัญหาอะไร

...แต่มันก็ยังไม่จบแค่นั้น

หลังจากยื่นเอกสารเสร็จและกลับไปแล้วเขาก็โทรศัพท์มาหา บอกว่าหลักฐานการจองโรงแรมขาดไปคืนหนึ่ง นั่นคือคืนสุดท้าย ซึ่งตามแผนเราเขียนไว้ว่าจะนอนในสนามบินเฮลซิงกิซึ่งไปเปลี่ยนเครื่อง เขาบอกว่ายังไงก็ต้องจองโรงแรม จะมาอ้างว่านอนในสนามบินแบบนี้ไม่ได้

เขาบอกให้เรารีบจองโรงแรมในเฮลซิงกิโดยเร็วแล้วก็ส่งเมลไปให้เขา ไม่จำเป็นต้องกลับไปยื่นด้วยตัวเอง เราก็เลยรีบหาจองโรงแรมอย่างรวดเร็วแล้วส่งไป กระบวนการทั้งหมดเสร็จภายในไม่กี่นาที

และแล้ววันที่ 10 เม.ษ. ก็สามารถไปรับผลได้แล้ว เรารีบไปรับผลและก็พบว่า... ผ่านแล้ว ในที่สุดก็ผ่าน ปล่อยให้ลุ้นแทบแย่

เล่ามาซะยาวนานเป็นมหากาพย์เลย สุดท้ายแล้วครั้งนี้ก็เป็นประสบการณ์จริงๆเลย ให้บทเรียนว่าการขอวีซาให้เตรียมตัวให้ดี อย่าประมาท

เรื่องที่ว่าเชงเกนวีซานั้นของ่ายหรือยากก็ยังเป็นที่ไม่แน่นอน ถามแต่ละคนให้คำตอบมาไม่เหมือนกัน คงเพราะคนที่เคยขอแล้วได้ก็จะตอบว่าของ่าย ถ้าใครเคยโดนปฏิเสธก็จะตอบว่าขอยาก

ต่อให้เขาบอกว่าเขามีมาตรฐานของเขา แต่เอาเข้าจริงแล้วตราบใดที่คนตัดสินคือมนุษย์ ความไม่แน่นอนมันก็มีอยู่ บางคนเตรียมเอกสารรัดกุมแทบตายก็ยังโดนปฏิเสธ บางคนเตรียมไม่ค่อยพร้อมก็ยังขอสำเร็จ ปัจจัยความไม่นอนที่เราไม่อาจรู้มันเยอะอยู่

แต่อย่างน้อยถ้ายิ่งเราเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ละก็ โอกาสได้มันก็สูงขึ้นแน่นอน สุดท้ายก็แล้วแต่ดวงหรือปัจจัยต่างๆที่เราไม่อาจควบคุมได้ ไม่เป็นไร อะไรที่ทำได้ก็ทำไป ไม่ควรรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้

สุดท้ายนี้ เขียนมาซะยาวเลย หวังว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากไปสวีเดนหรือประเทศอื่นในยุโรป



ที่เหลือก็... รอวันไปเที่ยว หลังจากนั้นก็อาจจะได้เอาประสบการณ์มาเล่าลงบล็อกอีก

ระหว่างนี้ก็เตรียมฝึกภาษาสวีเดนเตรียมไว้ แม้จะไม่อาจถึงขั้นพูดได้แต่ศึกษาไว้บ้างมีประโยชน์แน่



Jag kommer att gå till Sverige!


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่
-- ต่างแดน >> ยุโรป >> สวีเดน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ