φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมทิเบต
เขียนเมื่อ 2015/06/08 21:06
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 6 มิ.ย.

ก่อนหน้านี้ได้แนะนำสวนชนเผ่าแห่งจีน (中华民族园) ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับชนเผ่าต่างๆในจีนไปแล้ว โดยตอนที่เล่าถึงสวนฝั่งเหนือเราได้แนะนำชนเผ่าหนึ่งที่มีความสำคัญและประวัติศาสตร์น่าสนใจไป นั่นคือชาวทิเบต https://phyblas.hinaboshi.com/20150606

ในปักกิ่งยังมีสถานที่อีกแห่งที่จัดแสดงเรื่องราวของทิเบต อยู่ไม่ไกลกันมาก นั่นคือพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมทิเบต (西藏文化博物馆)

พิพิธภัณฑ์นี้
เปิดทำการตั้งแต่เมื่อปี 2010 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วิจัยทิเบตศึกษาจีน (中国藏学研究中心)

วันเปิดให้เข้าชมของที่นี่ค่อนข้างแปลกสักหน่อยคือเปิดเฉพาะวันอังคาร, พฤหัส และเสาร์ ทำให้ถ้าใครอยากจะมาชมละก็ต้องดูวันเวลาให้ดี

ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโดยใช้ ๓ ภาษาเป็นหลัก คือภาษาจีน, ทิเบต และอังกฤษ แต่ก็มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาจีนอย่างเดียว

เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทิเบตในครั้งนี้เราเลยถือโอกาสเรียนรู้วิธีการอ่านอักษรทิเบตไปด้วย

อักษรทิเบตเป็นอักษรที่สวยมาก เป็นอักษรแทนเสียงที่ดัดแปลงมาจากอักษรทางฝั่งอินเดียเช่นเดียวกับอักษรไทยจึงมีส่วนคล้าย สามารถเทียบเคียงกันได้ แต่มีระบบที่ไม่ได้ซับซ้อนมากเท่าอักษรไทย มีการแยกพยางค์ชัดเจนทำให้อ่านง่าย แต่อักษรไม่มีเครื่องหมายแสดงวรรณยุกต์ชัดเจนเสียงวรรณยุกต์จึงขึ้นอยู่กับพยัญชนะและสระ



ทิเบตเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบต (西藏自治区) และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในมณฑลกานซู่, เสฉวน และยูนนาน เป็นหนึ่งใน ๕๖ ชนชาติในจีนที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน ประชากรทั้งหมดรวมแล้วก็ประมาณ ๕ ล้านกว่าคน

แม้ว่าทิเบตจะเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ว่าบริเวณที่คนทิเบตอาศัยอยู่นั้นมีคนจีนอาศัยอยู่น้อยมาก ในเขตปกครองตนเองทิเบตนั้นมีชาวทิเบตอยู่มากกว่า ๙๐% ในขณะที่มีคนจีนฮั่นไม่ถึง ๑๐% ซึ่งผิดกับเขตการปกครองของชนกลุ่มน้อยเขตอื่นในจีนที่ตามเมืองใหญ่เต็มไปด้วยคนจีนฮั่นหมดแล้ว

ชาวทิเบตมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองที่ค่อนข้างโดดเด่น พวกเขานับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ซึ่งบางทีก็ถูกเรียกว่าเป็นศาสนาพุทธแบบทิเบต วัฒนธรรมตรงนี้มีอิทธิพลต่อจีนอยู่ไม่มากก็น้อย

ในช่วงยุคหลังๆมานี้ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจีนยุคใหม่ทำให้ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในทิเบตมากขึ้น วัฒนธรรมของทิเบตก็ค่อยๆถูกกลืนหายลงไปมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความพยายามที่จะอนุรักษ์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์วัฒนธรรมทิเบต

ประวัติศาสตร์ของทิเบตนั้นแม้ว่าจะไม่เก่าแก่เท่าจีน แต่ก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จีนแล้วก็ถือว่าน่าเรียนรู้เช่นกัน ภายในพิพิธภัณฑ์นี้เล่าประวัติศาสตร์ของทิเบตไว้คร่าวๆ ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวถึงโดยย่อไปพร้อมกับที่เล่าถึงส่วนจัดแสดง



การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์นั้นสามารถขึ้นรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีฮุ่ยซินซีเจียเป๋ย์โข่ว (惠新西街北口站) ซึ่งอยู่สาย 5



เมื่อออกประตูมาแล้วจะมาโผล่ที่ฝั่งตรงข้าม ต้องข้ามสะพานลอยไป



นี่คืออาคารศูนย์วิจัยทิเบตศึกษาจีน อาคารทำเป็นแบบทิเบตดูแล้วเด่น ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ถัดออกไปอีก



ถึงแล้ว อาคารนี้เอง



ชั้นล่างของอาคารมีภาพแกะสลักอยู่ดูสวยดี



ทางเข้าอยู่ชั้น ๒ พอเข้าไปแล้วก็ต้องยื่นพาสปอร์ตเพื่อรับบัตรเข้าชมฟรี ถ้ามีสัมภาระมาต้องฝากไว้ด้วย



ส่วนจัดแสดงมีอยู่ ๒ ชั้น คือชั้น ๒ กับ ๓ โดยชั้น ๒ เป็นส่วนจัดแสดงหลัก ส่วนชั้น ๓ เป็นส่วนจัดแสดงชั่วคราว


เริ่มจากชั้น ๒ ห้องแรกจัดแสดงประวัติศาสตร์ของทิเบต




บริเวณที่เป็นทิเบตนั้นเริ่มมีร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์มาตั้งแต่ช่วงยุคหินเก่าแล้ว สามารถขุดเจอซากอารยธรรมได้



ในปี 629 เริ่มมีปรากฎอาณาจักรของชาวทิเบตขึ้นมาเป็นครั้งแรก มีชื่อราชวงศ์ว่าเผ่อเชนโป (བོད་ཆེན་པོ།, Pöqênbo) ในภาษาทิเบต และเรียกว่าถู่ปัว (吐蕃*) ในภาษาจีน มีการติดต่อกับราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ของจีนด้วย
ในช่วงนี้ได้เริ่มมีการประดิษฐ์อักษรทิเบตขึ้นมา
*อักษร 蕃 ปกติจะอ่านว่า "ฟาน" แต่เฉพาะในคำนี้จะอ่านว่า "ปัว"


ทางซ้ายคือรูปของซงแจนกั่มโป (སྲོང་བཙན་སྒམ་པོ་, Songzän Gambo) หรือซงจ้านกานปู้ (松赞干布) ในภาษาจีน กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ถู่ปัว
ทางขวาคือเจ้าหญิงเหวินเฉิง (文成公主) หลานสาวของจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังซึ่งถูกส่งให้ไปแต่งงานกับซงแจนกัมโปเพื่อกระชับไมตรีระหว่างราชวงศ์ถังกับราชวงศ์ถู่ปัว



อนุสาวรีย์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของราชวงศ์ถังและถู่ปัว



พอถึงช่วงปลาย ศตวรรษที่ 9 อาณาจักรถู่ปัวก็ได้ล่มสลายลง ชาวทิเบตได้กระจัดกระจายแตกเป็นก๊กเหล่าเป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปี จนเวลาได้ล่วงเลยมาสู่ศตวรรษที่ 13 เข้าสู่ยุคที่จักรวรรดิมองโกลเริ่มเรืองอำนาจ


จักรวรรดิมองโกลได้เข้าครอบครองทิเบต ภายใต้การสนับสนุนของจักรวรรดิมองโกลทำให้กลุ่มทางศาสนาของทิเบตนิกายสักยะขึ้นมาเป็นผู้นำในทิเบต

ผู้นำนิกายสักยะขณะนั้นคือซ่าเจียปานจื้อต๋า (萨迦·班智达) หรือ
ภาษาจีน หรือชื่อในภาษาสันสกฤตว่าสักยะบัณฑิต

ทางมองโกลได้เชิญเขาไปเข้าเฝ้า ในปี 1244 ซาสกยาบันดิตาพร้อมกับหลาน ๒ คนได้ไปเข้าพบลูกชายของวอเคอไตข่าน ผู้นำมองโกลขณะนั้น นั่นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าทางทิเบตอยู่ภายใต้อำนาจของทางมองโกลแล้ว

หนึ่งในหลานของซาสกยาบันดีตาที่ไปเข้าเฝ้าด้วยนั้นชื่อพักปา (འཕགས་པ་) หรือในภาษาจีนเรียกว่าปาซือปา (八思巴) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองทิเบตในปี 1260 หลังจากที่กุบไลข่านได้ขึ้นเป็นข่านแห่งมองโกล

ในปี 1270 พักปาได้ประดิษฐ์อักษรขึ้นมาสำหรับเขียนภาษามองโกล อักษรนั้นถูกเรียกว่าอักษรพักปา สร้างขึ้นโดยเลียนแบบจากอักษรทิเบตแต่เขียนแนวตั้ง อักษรนี้ถูกใช้แค่ไม่นานก็เลิกใช้ไป

นี่คือจดหมายราชการของมองโกลที่เขียนโดยอักษรพักปา



ความสัมพันธ์ระหว่างมองโกลกับทิเบตตั้งแต่ช่วงนั้นก็เรียกได้ว่าทางมองโกลจะคอยเป็นผู้ปกครองและคุ้มครองทิเบตให้ ส่วนทิเบตก็มีหน้าที่คอยช่วยเผยแพร่ศาสนาพุทธภายในอาณาจักรให้

ความสัมพันธ์นี้ก็เป็นอยู่ต่อมาจนจักรวรรดิมองโกลตั้งราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ขึ้นมาปกครองแผ่นดินจีน แล้วต่อมาพอราชวงศ์หยวนถูกล้ม ราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) ขึ้นมาปกครองจีนต่อก็ได้สืบทอดอำนาจปกครองทิเบต


นี่เป็นเอกสารที่จักรพรรดิเฉิงฮว่า (成化, ปี 1464 - 1487) ส่งให้ผู้นำทางศาสนาในทิเบต มีเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบต



หลังจากนั้นราชวงศ์หมิงก็เสื่อมอำนาจลง ราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1644 - 1912) ของชาวแมนจูเริ่มขึ้นมามีอำนาจ


ในปี 1642 ซึ่งเป็นช่วงไล่เลี่ยกับที่ราชวงศ์ชิงเริ่มมามีอำนาจ ทิเบตภายใต้การสนับสนุนของทางมองโกลได้เริ่มระบบการปกครองโดยดาไลลามะขึ้น

ดาไลลามะ ในภาษาทิเบตเรียกว่าตาแลลามา (ཏཱ་ལའི་བླ་མ་, Dalä Lama) โดยคำว่าตาแล (
ཏཱ་ལའི་) นั้นมาจากภาษามองโกล แปลว่ามหาสมุทร ส่วนคำว่าลามา (བླ་མ་) เป็นภาษาทิเบตหมายถึงพระครู ส่วนในภาษาจีนเรียกว่าต๋าไล่ล่าหมะ (达赖喇嘛)

ดาไลละมะนั้นคือผู้ที่ถูกเชื่อว่าเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แรกเริ่มเดิมทีดาไลลามะเป็นเพียงผู้นำทางศาสนาพุทธแบบทิเบตนิกายเกลุก แต่ตั้งแต่สมัยของดาไลละมะองค์ที่ ๕ จึงได้กลายมาเป็นผู้นำสูงสุดของดินแดนทิเบตไป

ตำแหน่งดาไลลามะตั้งแตกต่างจากระบบกษัตริย์เพราะไม่ได้สืบทอดทางสายเลือด แต่สืบทอดโดยการแต่งตั้ง โดยเมื่อดาไลละมะองค์เดิมตายจะมีการไปหาเด็กที่ดูแล้วน่าเป็นดาไลลามะองค์ก่อนที่กลับชาติมาเกิด ดาไลลามะจึงเริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่เด็กและในทางปฏิบัติอำนาจจะอยู่กับผู้สำเร็จราชการไปจนกว่าดาไลลามะจะโต

เมื่อราชวงศ์ชิงล้มราชวงศ์หมิงและได้ปกครองแผ่นดินจีนทั้งหมดแทน ไม่นานนักก็ได้สืบทอดอำนาจเหนือแผ่นดินทิเบตต่อไปด้วย

ในปี 1652 ดาไลลามะได้เดินทางไปปักกิ่งตามคำขอของจักรพรรดิซุ่นจื้อ (顺治, ปี 1643 - 1661) เพื่อเข้าเฝ้า จักรพรรดิซุ่นจื้อได้ทำการแต่งตั้งดาไลลามะอย่างเป็นทางการ การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ชิงและทิเบตมีต่อไปเรื่อยๆ

เขตแดนของจีนสมัยราชวงศ์ชิง จะเห็นว่าผนวกรวมทิเบตอยู่ในนี้แล้ว รวมทั้งซินเจียงและมองโกเลียด้วย



หนังสือที่ออกโดยจักรพรรดิคางซี (康熙, ปี 1661 - 1722) คำสั่งมอบตำแหน่งแปนเชนลามา (པན་ཆེན་བླ་མ་, Bänqên Lama) หรือในภาษาจีนเรียกว่าปานฉานล่าหมะ (班禅喇嘛) ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำทางศาสนารองจากดาไลลามะ  



แผ่นป้ายที่จักรพรรดิถงจื้อ (同治, ปี 1862 - 1874) เขียนส่งให้วัดจาซีฮลวินโป (བཀྲ་ཤིས་ལྷུན་པོ, Zhaxilhünbo) หรือในภาษาจีนเรียกว่าวัดจาสือหลุนปู้ (扎什伦布寺) จะเห็นว่ามี ๔ ภาษาคือภาษาแมนจู, มองโกล, จีน และทิเบต



ช่วงศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงเริ่มเสื่อมอำนาจ อังกฤษแข่งกับรัสเซียเข้ามามีอำนาจในเอเชียกลาง ทิเบตเลยกลายเป็นรัฐกันชน ปี 1903 อังกฤษเริ่มบุกทิเบต ในขณะนั้นการเมืองภายในจีนวุ่นวาย ทางราชวงศ์ชิงไม่สามารถมาช่วยเหลือแทรกแซงทางนี้ได้ทิเบตจึงต้องป้องกันตัวเอง ผู้นำทิเบตซึ่งขณะนั้นเป็นดาไลละมะที่ ๑๓ ได้หลบหนีไปมองโกเลีย


แบบจำลองซากป้อมบนเขาในอำเภอกยั่งเจ (རྒྱལ་རྩེ, Gyangzê) หรือเจียงจือ (江孜) ในภาษาจีน ซึ่งมีการสู้เพื่อป้องกันตนเองจากกองทัพอังกฤษในปี 1904 ทิเบตไม่มีทางต่อต้านทัพอังกฤษได้เลย ได้แต่ต้องยอมจำนน ผลคือทิเบตต้องยอมทำสัญญาอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาทำการค้าขายในทิเบตอีกทั้งต้องชดใช้ค่าเสียหายจากสงคราม อย่างไรก็ตามทิเบตในตอนนั้นวุ่นวายและไม่อาจทำตามที่สัญญาเอาไว้ได้



ต่อมาปี 1906 ทางราชวงศ์ชิงได้เข้าไปเจรจากับอังกฤษเพื่อขอทำสัญญาแบบที่ทิเบตเคยทำและรับภาระค่าเสียหายแทน โดยที่อังกฤษยังต้องยอมรับอำนาจของราชวงศ์ชิงเหนือทิเบตอยู่


พอถึงปี 1912 ราชวงศ์ชิงล่มสลายลง เข้าสู่ยุคที่จีนปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ทิเบตได้เกิดความวุ่นวายมีการต่อต้านขึ้นอีก ดาไลลามะองค์ที่ ๑๓ ซึ่งลี้ภัยอยู่ได้กลับมาทิเบตและได้ประกาศอิสรภาพตั้งทิเบตเป็นรัฐอิสระขึ้นมา อย่างไรก็ตามจีนไม่ยอมรับความเป็นอิสระของทิเบตและยังมีอิทธิพลต่อทิเบตอยู่เรื่อยมา

เจียงไคเชกกับภรรยาถ่ายรูปคู่กับคณะตัวแทนจากทิเบตที่หนานจิงปี 1946



จดหมายที่เจียงไคเชกติดต่อกับดาไลลามะ





ส่วนจัดแสดงห้องแรกจบลงเพียงเท่านี้ ห้องถัดไปจะจัดแสดงเกี่ยวกับทิเบตตั้งแต่เริ่มยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงปัจจุบัน

ปี 1949 จีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนได้ประกาศอำนาจปกครองเหนือทิเบตและส่งกำลังเข้าปราบผู้ต่อต้าน ในปี 1951 มีการทำสัญญาลงนามข้อตกลงสันติภาพกันที่ปักกิ่ง โดยถือว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน นี่คือหุ่นจำลองแสดงการลงนามในครั้งนั้น



ตั้งแต่นั้นมาแม้จะยังคงมีการต่อต้านอยู่เรื่อยมาแต่ทิเบตก็อยู่ภายใต้การปกครองของจีนมาโดยตลอดจนปัจจุบัน

ปี 1959 เกิดการลุกฮือขึ้นในทิเบต ผลลงเอยด้วยการที่ดาไลละมะองค์ที่ ๑๔ หลบหนีลี้ภัยไปยังอินเดีย หลังจากนั้นการปฏิรูปภายในทิเบตจึงเริ่มขึ้น ทำการล้มเลิกระบบศักดินา ยึดที่ดินและทรัพย์สินจากพวกชนชั้นเจ้านายมาแจกจ่ายให้ประชาชน

ภายใต้การปกครองของจีน ทิเบตเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ แผนภาพนี้แสดงถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวและอายุขัยเฉลี่ยของทิเบตซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1951



และพัฒนาการด้านอื่นๆอีกหลายอย่าง



งานฝีมือของทิเบต



ยาทิเบต



หนังสือภาษาทิเบต



ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตในทิเบต



ชั้นหนังสือนี้เก็บพระสูตรภาษาทิเบต



ลองเปิดมาดู ภาษาทิเบตหมดเลย



นี่คือแบบจำลองภูมิประเทศและทางรถไฟในทิเบต



หน้าจอแนะนำเส้นทางรถไฟในทิเบต



ชั้น ๒ ส่วนจัดแสดงมีอยู่เท่านี้ ที่เหลือก็คือชั้น ๓



จากชั้น ๓ มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นตึกซีจ้างต้าซ่า (西藏大厦) เป็นตึกที่สร้างแบบทิเบต ดูแล้วสวยดี



ชั้น ๓ ห้องแรกจัดแสดงเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบทิเบต



แผนที่แสดงศาสนสถานของนิกายต่างๆในทิเบต ที่เห็นเยอะสุดสีเหลืองนี้คือนิกายเกลุก



ในนี้มีจัดแสดงพวกพระพุทธรูปและของที่เกี่ยวข้อง




หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบทิเบตและดาไลลามะ



จากนั้นห้องถัดมาจัดแสดงเกี่ยวกับดาไลลามะ








ห้องสุดท้ายจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวทิเบต มีจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของชาวทิเบต



ชุดเสื้อผ้าของชาวทิเบต



จำลองภายในบ้าน



วิถีชีวิตของชาวทิเบตที่อยู่แบบเร่ร่อน



เรือที่ทำจากหนังวัว





ส่วนจัดแสดงในนี้ก็หมดแค่นี้ โดยรวมแล้วมีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ก็พอที่จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับทิเบตขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ