φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ท้องฟ้าจำลองไถหนาน
เขียนเมื่อ 2017/08/01 00:43
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
# เสาร์ 8 ก.ค. 2017

หลังจากที่ตอนที่แล้วได้เที่ยวชมอนุสาวรีย์เส้นทรอปิกเหนือและหอพระอาทิตย์ที่เจียอี้ไป https://phyblas.hinaboshi.com/20170730

สถานที่เที่ยวต่อมาที่จะไปก็เป็นอีกแห่งที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ นั่นคือท้องฟ้าจำลองหนานอิ๋ง (南瀛天文館, 南瀛天文馆)  หรืออาจเรียกว่าพื้นที่การศึกษาดาราศาสตร์หนานอิ๋ง (南瀛天文教育園區, 南瀛天文教育园区) อยู่ที่เมืองไถหนาน

คำว่าหนานอิ๋งเป็นชื่อเก่าของเมืองไถหนาน ปัจจุบันชื่อสถานที่ต่างๆในไถหนานก็ยังมีที่ใช้คำว่าหนานอิ๋งอยู่ สำหรับที่นี่นั้นชื่อภาษาอังกฤษเองก็ใช้คำว่าไถหนานโดยตรง ดังนั้นชื่อที่นี่ก็อาจแปลเป็นไทยว่า "พื้นที่การศึกษาดาราศาสตร์ไถหนาน" หรือ "ท้องฟ้าจำลองไถหนาน" ก็ได้ ในที่นี้จะใช้ชื่อนี้เป็นหลัก

ที่นี่เริ่มสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2000 โดยเริ่มแรกมีแค่หอดูดาว ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2007 ต่อมาจึงขยับขยายเพิ่มเติม มีการสร้างอาคารจัดแสดงและอาคารเครื่องฉายดาว อีกทั้งสวนโดยรอบๆ ซึ่งเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์ในการสร้างที่นี่ก็คือเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาดาราศาสตร์ในภาคใต้ของไต้หวัน บริหารจัดการโดยเทศบาลเมืองไถหนานเอง



ตัวท้องฟ้าจำลองไม่ได้ตั้งอยู่ในตัวเมืองไถหนาน แต่อยู่ในเขตต้าเน่ย์ (大內, 大内) ซึ่งห่างจากใจกลางเมืองมาก และแถวนั้นไม่มีรถไฟมาถึงโดยตรงด้วย การเดินทางมาเที่ยวที่นี่จึงค่อนข้างลำบากมาก

ทางที่สะดวกที่สุดก็คือนั่งรถไฟไปลงที่สถานีซ่านฮว่า (善化站) ซึ่งอยู่ในเขตซ่านฮว่า จากนั้นนั่งรถเมล์ต่อไป

สถานีซ่านฮว่านั้นหากออกเดินทางจากเมืองไถหนานจะใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที แต่ถ้าออกจากเจียอี้จะใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที

เพื่อที่จะเดินทางไป เราไปยังสถานีเจียอี้ ข้าวเที่ยงก็ซื้อที่สถานีแล้วไปกินบนรถไฟเอา



รถไฟเที่ยวที่นั่งออกเวลา 12:25 ไปถึงเวลา 13:09 ค่ารถไฟ ๕๖



เดินทางมาถึงสถานีซ่านฮว่า





จากนั้นไปรอรถเมล์ ที่ต้องขึ้นคือสายหลักสีส้ม ซึ่งจะมาราวๆชั่วโมงละคันหรือสองคันเท่านั้น รถจะมาเมื่อไหร่มีเขียนบอกเวลาคาดการณ์เอาไว้ ทำให้เรารู้ว่าจังหวะที่ไปถึงนั้นไม่ค่อยดี ยังต้องรอนานถึงครึ่งชั่วโมง



ระหว่างนี้ก็เดินเล่นดูสภาพบ้านเมืองแถวๆนี้ ดูแล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นชนบท ต่างจากบริเวณตัวเมืองที่เราคุ้นเคย




แล้วก็รอจนรถเมล์มาถึงในที่สุด




ระหว่างเส้นทางที่รถวิ่งผ่านนั้นเป็นพื้นที่ป่าร่มรื่น นี่เป็นครั้งแรกสำหรับการมาไต้หวันเที่ยวนี้เลยที่ได้เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติแบบนี้



ใช้เวลา ๒๐ กว่านาทีบนรถ แล้วก็มาถึงที่




มองไปรอบๆแถวนี้เป็นป่า ไม่มีบ้านเมืองรบกวน ดังนั้นที่นี่จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างแท้จริง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมาสร้างสถานที่ในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้



แผ่นป้ายแนะนำสถานที่ ส่วนตัวเอเลียนสีเขียวนี่เป็นยุรุเคียระ (ตัวการ์ตูนสัญลักษณ์) ของที่นี่



เริ่มจากเดินขึ้นไปเพื่อขึ้นไปยังส่วนอาคารจัดแสดงดาราศาสตร์ (天文展覽館, 天文展览馆, เทียนเหวินจ๋านหลานกว่าน)




เข้ามาตรงนี้ ซื้อตั๋ว



ค่าเข้าชมส่วนจัดแสดงตรงนี้แค่ ๕๐ แต่นอกจากนี้แล้ว ท้องฟ้าจำลองที่นี่มีห้องฉายดาวด้วยเช่นเดียวกับที่ไทเป ตัวห้องฉายดาวอยู่ที่อีกตึกหนึ่ง อาคารฉายดาว (星象館, 星象馆, ซิงเซี่ยงกว่าน)

ที่อาคารฉายดายจะมีการฉายดาวแล้วก็ฉายหนัง ๓ มิติ ครั้งนี้เราตัดสินใจไม่เข้าชมเพราะว่าดูแล้วหนังไม่น่าสนใจ อีกทั้งเรามาถึงค่อนข้างช้าแล้ว ไม่อยากกลับเย็นมากเพราะเดินทางลำบาก

นอกจากตรงนี้ในอาคารฉายดาวยังมีส่วนจัดแสดงพิเศษ ซึ่งจะเปลี่ยนสิ่งที่จัดแสดงไปเรื่อยๆ สำหรับหัวข้อที่จัดแสดงในช่วงนี้คือเวอร์ชวลเรียลิตี (VR) ค่าเข้าชม ๑๕๐

เราทำการซื้อตั๋วตรงนี้ โดยซื้อส่วนจัดแสดงทั่วไป ๕๐ กับส่วนจัดแสดงพิเศษ ๑๕๐ รวมแล้วจ่าย ๒๐๐

จากนั้นก็เดินเข้าไปเริ่มชมด้านใน ที่นี่ประกอบไปด้วย ๓ ชั้น แต่ละชั้นไม่ใหญ่มาก ใช้เวลาเดินไม่นานก็ทั่ว



เริ่มจากชั้นแรก



ชั้นนี้จัดแสดงเกี่ยวกับพวกอุกกาบาต



นี่เป็นเกมเกี่ยวกับอุกกาบาต



ส่วนของอุกกาบาตจากดาวอังคาร ก้อนเล็กๆด้านใน



แบบจำลองดาวเคราะห์น้อยไถหนาน (台南小行星) พบในปี 2006 โดยชาวไต้หวันที่หอดูดาวลู่หลิน ใช้ชื่อเมืองไถหนานมาตั้งชื่อเพราะเห็นว่าเป็นเมืองสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน



ขึ้นไปต่อชั้น ๒ ห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับระบบสุริยะ



ห้องกลมๆนี้จัดแสดงเกี่ยวกับดวงอาทิตย์



ภายในฉายปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ โดยที่ที่พื้นก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย



เดินไปตามทางจะพบแบบจำลองของดาวเคราะห์ต่างๆ



แต่ที่โดดเด่นที่สุดสำหรับที่นี่เห็นจะเป็นส่วนที่เล่าประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ โดยมีผลงานศิลปะแนวล้อเลียนใส่มาด้วย

โดยเริ่มจากศตวรรษที่ 15 ยุคที่มนุษย์ทั่วไปยังเชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของจักรวาล ผลงานอันนี้ทำเป็นรูปสโตนเฮนจ์สองอันโดยตรงกลางใส่ลูกโลกที่มีวงโคจรของดาวต่างๆรายล้อม ซึ่งแสดงถึงแนวคิดความเชื่อที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลาง



ต่อมาศตวรรษที่ 16 นิโคเลาส์ โคเปร์นิคุส (Nicolaus Copernicus, ปี 1473-1543) ได้เสนอว่าจริงๆแล้วดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล



ผลงานศิลปะล้อเลียนนี้เป็นรูปลูกโลกที่มีต้นไม้งอกทะลุ บนลูกโลกนั้นเต็มไปด้วยไม้กางเขน สื่อถึงคริสตจักรในสมัยนั้นที่สอนว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมาตลอด แต่บัดนี้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ได้ทะลวงกำแพงนั้นลง ผู้คนเริ่มสงสัยแล้วว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลาง ดังนั้นต้นไม้จึงงอกยาวออกจากโลกไป



ศตวรรษที่ 17 เข้าสู่ยุคที่มีการใช้คณิตศาสตร์เพื่ออธิบายดาราศาสตร์ ผลงานศิลปะที่เห็นเป็นทรงกลมที่ล้อมรอบด้วยตัวเลขแสดงให้เห็นถึงทฤษฎีต่างๆที่พัฒนาต่อยอดกันมาโดยใช้คณิตศาสตร์ โดยด้านบนสุดคือกฎของนิวตัน ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในศตวรรษนั้น



ศตวรรษที่ 18 การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง มีการค้นพบวัตถุท้องฟ้ามากมาย ผลงานศิลปะเป็นลักษณะเสาหลายต้นที่มีหลอดไฟทรงกลม (แทนดาวฤกษ์) ร้อยอยู่ และที่ด้านบนสุดคือดาราจักรทางช้างเผือกที่มีสีสดใส สื่อถึงว่าความเข้าใจของพวกเราได้ก้าวข้ามดวงดาว กวาดไปทั่วดาราจักร



ศตวรรษที่ 19 การสำรวจค้นพบวัตถุท้องฟ้าใหม่ๆนับวันยิ่งคืบหน้า และมีการใช้เทคนิคทางสเป็กโทรสโกปีทำให้เข้าใจโครงสร้างต่างๆ ผลงานศิลปะเป็นรูปกล้องดูดาวที่วนเวียนไล่ขึ้นไปโดยยาวขึ้นเรื่อยๆ แสดงถึงว่าเรายิ่งมองออกไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆรอบทิศ บอลสีสันสดใสแสดงถึงสเป็กโทรสโกปี



ศตวรรษที่ 20 ถึงยุคปัจจุบัน



ผลงานศิลปะเป็นรูปเส้นโค้งวนรอบซึ่งแสดงถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ว่าแรงโน้มถ่วงคือกาลอวกาศที่โค้งงอ



ตรงสุดปลายทางมีเครื่องทดสอบแรงกอรียอลิส (Coriolis) มีเปิดให้เข้าใช้เป็นรอบๆ ตอนที่ไปนั้นไม่ได้ตรงจังหวะที่เปิดก็เลยไม่ได้ลอง





ต่อมาชั้น ๓ เป็นเรื่องของดาวฤกษ์และอวกาศไกลออกไป



หน้าทางเข้าเขียนเรื่องความโค้งของกาลอวกาศ



หน้าจออธิบายเกี่ยวกับชีวิตของดาวฤกษ์ที่มีมวลต่างกันไป



กาลอวกาศที่โค้งงอตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์



สมการทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์



เครื่องจำลองปรากฏการณ์ด็อพเลอร์ การเลื่อนไปทางแดงของเส้นสเป็กตรัม ซึ่งเกิดกับดาวที่เคลื่อนที่ออกห่างเรา



ส่วนตรงนี้เป็นเครื่องเล่นจำลองการผจญภัยในอวกาศ การจะเล่นต้องซื้อตั๋วมาจากที่ขายตัวหน้าตึกตั้งแต่แรก แต่ว่าค่อนข้างจำกัดคนในแต่ละวัน ตอนที่พวกเรามาถึงมันขายหมดไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้ลอง





เดินเสร็จ ๓​ ชั้นแล้ว ต่อมาลงมาดูชั้นใต้ดิน เป็นชั้นสำหรับเล่นโลโก



พวกเด็กๆกำลังต่อเลโกกันอยู่ตรงนี้




ตรงนี้ต่อเป็นรูปเมืองในจินตนาการที่ถูกออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ



ลองดูอย่างละเอียดสักหน่อย ทำออกมาอย่างละเอียดมาก










ภายในส่วนของอาคารจัดแสดงก็จบลงเท่านี้ เป้าหมายต่อไปคืออาคารฉายดาว ต้องเดินต่อไปอีกหน่อย



ระหว่างทางผ่านลานกว้างเซติ (賽堤廣場, 赛堤广场) ซึ่งเป็นสวนเล็กๆที่จัดแสดงเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว แต่เราไม่ได้แวะเพราะห่วงเรื่องเวลา




เดินต่อมาจนถึงอาคารฉายดาว



ในนี้ชั้นหนึ่งเป็นส่วนจัดแสดงพิเศษ ซึ่งตอนนี้จัดแสดงเรื่อง VR



แต่พอเข้ามาด้านในจริงๆสิ่งที่เจอก่อนยังไม่เกี่ยวกับ VR แต่เป็นส่วนเล็กๆที่จัดแสดงเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในอวกาศ




และบริเวณภายในแถวนี้เป็นส่วนที่จำลองศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ

เครื่องปั่นจักรยานสำหรับนักบินอวกาศที่ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศ เนื่องจากที่นั่นแรงโน้มถ่วงต่ำ หากไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอกล้ามเนื้อจะอ่อนแอลงทำให้ไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตบนโลกได้อีก



อุปกรณ์ฝึกการทรงตัว มีความยากหลายระดับ



การทดลองปลูกพืชบนสถานีอวกาศ จำลองว่าพืชที่งอกในสภาวะไร้น้ำหนักจะเป็นอย่างไร



ด้านในสุดเป็นส่วนที่ให้ลองเล่นเกมเวอร์ชวลเรียลิตีดู คนที่ซื้อตั๋วเข้ามาชมด้านในจะสามารถเล่นได้คนละรอบ ที่จริงแล้วตั๋วแพงถึง ๑๕๐ ก็น่าจะเพราะส่วนนี้มากกว่า เพราะส่วนจัดแสดงมีนิดเดียวเท่านั้น




นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เล่นเกมประเภทนี้ ก็ดูจะสนุกดี แต่รู้สึกว่าเล่นยากอยู่ เทคโนโลยีนี้คงยังต้องพัฒนาไปอีกไกล หวังว่าสักวันจะไปถึงระดับแบบที่เห็นบ่อยในอนิเมะ

ต่อมาขึ้นไปที่ชั้น ๒ เจอร้านขายของที่ระลึก เราว่าจะลองหาของที่เกี่ยวกับไต้หวัน แต่ก็ไม่ได้เจออะไรที่น่าสนใจ



ที่ล่อตาล่อใจมากที่สุดก็เห็นจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเรื่องสองสิงห์อวกาศ (宇宙兄弟, uchuu kyoudai) นี่ล่ะ



ที่ชั้น ๒ ยังมีทางเข้าห้องฉายดาว แต่เราไม่ได้ซื้อตั๋วเข้าชมดังนั้นจึงแค่ดูจากหน้าทางเข้า



แต่ว่าบังเอิญเราได้เดินเข้าไปห้องข้างๆซึ่งเป็นห้องสำหรับจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษา แล้วคนในนั้นเขาถามว่ามาจากไหน พอเพื่อนแนะนำตัวไปว่ามาจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์เขาก็เลยพาไปช่วยแนะนำให้รู้จักกับผู้จัดการที่นี่

แล้วก็ปรากฏว่าเขาเสนอพาพวกเราเข้าชมด้านในหลังรอบฉายจบ

หนังจบตอน 5 โมง แล้วเราก็เข้าไปในห้องฉายหลังจากคนอื่นออกไปหมด



เขาเริ่มใช้เครื่องฉายดาวฉายให้เราดู





จุดเด่นสำหรับที่นี่อย่างหนึ่งที่ไม่เคยเจอในท้องฟ้าจำลองที่อื่นมาเลยก็คือมีการให้ใส่แว่นดูเป็นแบบสามมิติด้วย อย่างภาพดาราจักรนี้พอเป็นสามมิติแล้วให้บรรยากาศเหมือนเรากำลังอยู่ท่ามกลางในนี้จริงๆ



สามารถผจญภัยดูบริเวณวงแหวนของดาวเสาร์ได้ด้วย





จากนั้นหลังชมเสร็จเขาก็ชวนให้เราไปที่อาคารสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ (天文觀測館, 天文观测馆) ซึ่งความจริงแล้วที่นี่ปกติจะเปิดจนถึง 5 โมงเท่านั้น ซึ่งเลยเวลาไปแล้ว แต่เขาช่วยติดต่อคนที่ประจำที่นั่นให้ บอกให้ช่วยพาเข้าเป็นกรณีพิเศษ

เรารีบเดินมาทางอาคารสังเกตการณ์ ระหว่างทางผ่านร้านอาหารของที่นี่ แต่มองขึ้นไปบนฟ้าก็เห็นได้ถึงลางร้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามา ในไม่ช้าสายฝนต้องซัดกระหน่ำลงมาแน่นอนไม่ต้องสงสัย



เดินขึ้นต่อมาก็มาถึงอาคารสังเกตการณ์



ชั้นหนึ่งในนี้มีส่วนจัดแสดงอะไรอยู่เล็กน้อย หลักๆคือเกี่ยวกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดแล้วก็ห้องเรียนด้วย ส่วนกล้องดูดาวจะอยู่ชั้น ๒




กล้องดูดาวที่นี่จะเปิดให้คนเข้าชมได้ตามเวลาเปิดตอนกลางวันทุกวัน แต่ว่าเฉพาะวันเสาร์เท่านั้นที่จะมีเปิดให้ใช้ตอนกลางคืน โดยเปิดตั้งแต่ 19:00-20:30

สาเหตุที่เราจัดแผนให้มาที่นี่วันเสาร์ก็เพราะเผื่อว่าจะอยู่ดูดาวกลางคืนด้วย แต่สุดท้ายเห็นท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งยิ่งดึกยิ่งกลับลำบาก ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่อยู่ต่อ แค่มาดูกล้องตอนนี้เสร็จแล้วก็กลับเลย

ห้องที่มีกล้องดูดาวมีอยู่ ๒ ห้อง ห้องแรกคือห้องที่เป็นโดมทรงกลม ซึ่งมีกล้องดูดาวขนาดใหญ่สุดของที่นี่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗๖ ซม. แต่ว่าตอนที่ไปเขาไม่ได้เปิดให้เข้าชม

ส่วนอีกห้องมีกล้องดูดาวอยู่ ๒ ตัว แต่ขนาดเล็กกว่า

ตัวแรกคือกล้อง MEADE-12 ขนาด ๓๐ ซม.



อีกตัวคือกล้อง BRC250 ขนาด ๒๕ ซม. ทำโดยญี่ปุ่น



เขามีเปิดเพดานให้ดูด้วย เวลาจะส่องกล้องก็ต้องเปิดออก แต่เนื่องจากกังวลว่าฝนกำลังจะมาเขาจึงเปิดให้ดูแค่แป๊บเดียวแล้วก็รีบปิด



ในห้องยังมีแสดงภาพที่ถ่ายจากกล้องนี้ไว้ด้วย



หลังดูเสร็จก็ออกไปดูที่ระเบียง เห็นทิวทัศน์สวยดี แต่ข่าวร้ายก็คือฝนเริ่มลงเม็ดแล้ว



ขณะนั้นเราต้องรอรถซึ่งดูเวลาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมาตอน 18:15 น. ระหว่างนั้นเหลือเวลาเลยดูด้านในต่ออีกสักพัก

ส่วนที่เหลืออยู่ก็คือจุดชมดาวซึ่งอยู่อีกด้านของอาคาร ลงมาชั้นหนึ่ง เดินไปทางนี้



ออกมานอกอาคาร ตรงส่วนนี้เป็นเหมือนระเบียงยาวที่เอาไว้ให้ดูดาวตอนกลางคืน จุดนี้ตั้งอยู่บนสันเขา รอบๆเป็นเป่าเขา เหมาะแก่การดูดาวถ้าอากาศเอื้ออำนวย แต่ว่าสภาพอากาศคืนนี้ไม่มีทางได้ดูแน่นอน



ดูเสร็จเราก็รีบลุยฝนออกมาที่ป้ายรถเมล์ ที่จริงยังเหลือเวลาพอสมควรกว่ารถเมล์จะมาแต่ก็รีบออกมาก่อนเพราะเผื่อมันมาเร็ว ถ้าพลาดคันนี้ไปกว่าคันต่อมาจะมาก็รออีกชั่วโมงนึงเลย



หลบฝนอยู่ตรงป้ายรถเมล์รอไปเรื่อยๆ



แล้วรถเมล์ก็มาถึง พาเรากลับไปยังสถานีซ่านฮว่า



รอบรถที่จะขึ้นกลับคือรอบ 18:46 ไปถึง 19:15 ที่เร็วเพราะเป็นรถไฟแบบจื้อเฉียง สถานีนี้ไม่ถือว่าเป็นสถานีหลักแต่ก็มีความสำคัญในระดับหนึ่งมีจื้อเฉียงไม่กี่เที่ยวเท่านั้นที่จะผ่านสถานีนี้

ตอนที่ไปถึงคือเวลา 18:35 มีเวลาเล็กน้อย แวะร้านสะดวกซื้อในสถานี



ไปเจอเกมขายด้วย ราชอาณาจักรเทวดา (天使帝國, เทียนสื่อตี้กั๋ว) เป็นเกมของไต้หวัน เล่นใน PC ภาพสวยดี




จากนั้นก็มารอที่ชานชลา รอรถไฟมาแล้วก็นั่งกลับไปถึงเจียอี้เราหาซื้อของกินในสถานีเจียอี้เพื่อไปกินที่ห้องเป็นมื้อเย็นโดยไม่แวะไปกินที่ร้านไหนเนื่องจากตัวเปียกจากการลุยฝนมา อยากรีบไปอาบน้ำให้เร็วที่สุด





สุดท้ายก็เลยเป็นเที่ยวที่สาหัสพอดูเหมือนกัน แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี

ท้องฟ้าจำลองไถหนาน แม้จะเดินทางไปลำบาก แต่ก็เป็นที่ที่น่าไป รู้สึกว่ายังไงก็เป็นการเที่ยวที่คุ้มทีเดียว

การเที่ยวแนวดาราศาสตร์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ วันรุ่งขึ้นยังจะไปอีกสถานที่ซึ่งอยู่ที่เมืองไถจง https://phyblas.hinaboshi.com/20170803



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน >> ไถหนาน
-- ท่องเที่ยว >> ท้องฟ้าจำลอง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ