หอพระอาทิตย์และอนุสาวรีย์เส้นทรอปิกเหนือเจียอี้
เขียนเมื่อ 2017/07/30 11:18
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
# เสาร์ 8 ก.ค. 2017 หลังจากที่สิ้นสุดงานประชุมดาราศาสตร์ APRIM แล้วก็เดินทางมาถึงเมืองเจียอี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20170728 เราตื่นขึ้นมาตอนเช้าเพื่อไปเที่ยว สถานที่แรกที่ตั้งเป้าไปกันก็คือ อนุสาวรีย์เส้นทรอปิกเหนือเจียอี้ (嘉義北回歸線標誌, 嘉义北回归线标志, เจียอี้เป่ย์หุยกุยเซี่ยนเปียวจื้อ) เส้นทรอปิก (回歸線, 回归线) คือบริเวณแถบที่มีค่าละติจูดเท่ากับมุมเอียงของโลก ก็คือประมาณ 23.5 องศา แบ่งออกเป็นเส้นทรอปิกเหนือและใต้ ไต้หวันเป็นเกาะที่มีเส้นทรอปิกลากผ่านพอดี และบริเวณที่ลากผ่านนั้น ทางตะวันตกคือจังหวัดเจียอี้ และตะวันออกคือจังหวัดฮวาเหลียน (花蓮, 花莲) เส้นทรอปิกมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นแบ่งเขตภูมิอากาศระหว่างเขตร้อน (熱帶, 热带) กับเขตอบอุ่น (溫帶, 溫带) นั่นหมายความว่าเมืองที่อยู่เหนือเจียอี้ขึ้นไปอย่างไถจง ซินจู๋ ไทเป ทั้งหมดอยู่ในเขตอบอุ่น และเมืองที่อยู่ใต้ลงไปเช่น ไถหนาน เกาสยง ผิงตง เหล่านี้อยู่ในเขตร้อน เขตอากาศในที่นี้เป็นแค่การแบ่งคร่าวๆเท่านั้น ไม่ใช่ว่าใต้เส้นทรอปิกลงไปจะร้อนกว่าเสมอไป แต่สิ่งที่เขตร้อนและเขตอบอุ่นนั้นมีความแตกต่างกันมาก คือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะเจอ ในเขตอบอุ่นดวงอาทิตย์จะไม่มีทางขึ้นไปสูงเหนือหัวได้ ในขณะที่ในเขตร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นไปอยู่เหนือหัวพอดีปีละ ๒ ครั้ง ส่วนบริเวณเส้นทรอปิกนั้นจะพิเศษที่สุด คือดวงอาทิตย์จะขึ้นไปอยู่เหนือหัวปีละครั้งเดียว สำหรับเส้นทรอปิกเหนือจะเป็นวันคริษมายัน (夏至, summer solstice) วันที่ 20-22 มิถุนายน ส่วนเส้นทรอปิกใต้จะเป็น 21-23 ธันวาคม การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงสุดหรือไม่นั้นมีความสำคัญในทางดาราศาสตร์มาก เพราะมีผลต่อการสร้างและใช้อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ อนุสาวรีย์เส้นทรอปิกของของเจียอี้ถือเป็นสิ่งก่อสร้างแรกที่สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์บนเส้นทรอปิก โดยเริ่มต้นสร้างตั้งแต่ปี 1908 แต่ว่าอันดั้งเดิมที่สร้างแรกสุดไม่อยู่แล้ว มีการรื้อแล้วสร้างใหม่ซ้ำไปมาหลายครั้งโดยแต่ละครั้งก็ย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ อันปัจจุบันถูกสร้างใหม่เมื่อปี 1942 นอกจากจะมีแค่อนุสาวรีย์แล้ว ในปี 1995 ยังได้เริ่มมีการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ขึ้นด้วย ชื่อว่าหอพระอาทิตย์ (太陽館) ภายในจัดแสดงความรู้ที่เกี่ยวข้องไว้มากมาย ทั้งอนุสาวรีย์และหอพระอาทิตย์ต่างก็ตั้งอยู่บนแนวเส้นทรอปิกเหนือทั้งคู่ เป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน ตัวสถานที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองเจียอี้ แต่ค่อนลงไปทางใต้เลยจากเขตเมืองไปเล็กน้อย การเดินทางไปนั้นถ้าจากสถานีรถไฟเจียอี้ก็มีรถเมล์ไปถึงได้ไม่ยาก เพียงแต่รอบรถมีจำนวนน้อย หากไปไม่ตรงจังหวะก็ต้องรอนาน ตอนที่ไปที่ป้ายรถเมล์ ถามคนแถวนั้นแล้วก็พบว่ารถรอบต่อไปที่จะออกต้องรอนาน แต่เรากะจะไปให้ถึงที่นั่นประมาณ 9 โมงซึ่งเป็นเวลาเปิดพอดี ก็เลยตัดสินใจนั่งรถแท็กซีไป ค่าแท็กซี ๑๖๐ บาท พามาส่งถึงที่ บริเวณรอบๆหอพระอาทิตย์เป็นลานที่มีจัดแสดงอะไรอยู่ แต่เราเดินผ่านเข้าไปยังหอพระอาทิตย์ก่อน เสร็จแล้วค่อยมาดูบริเวณลานรอบๆ หอพระอาทิตย์ ด้านในมีส่วนจัดแสดงสองส่วน ส่วนแรกคือบริเวณส่วนฐาน และอีกส่วนอยู่ในตัวหอคอย นี่คือส่วนจัดแสดงตรงส่วนฐานรอบๆหอคอย เราเริ่มดูจากตรงนี้ก่อน ส่วนตรงนี้เป็นห้องดูหนังสามมิติซึ่งเปิดให้ดูฟรี โดยเปิดเป็นรอบๆ ส่วนด้านบนอธิบายเกี่ยวกับอนุสาวรีย์เส้นทรอปิกในแต่ละรุ่น ซึ่งเดี๋ยวจะเขียนถึงอีกทีภายหลัง เข้ามาดูรอบเก้าโมงครึ่ง แว่นที่ใช้ดู รอบที่เราไปดูนั้นเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ เดินดูรอบๆ ส่วนจัดแสดงที่ฐาน ตรงนี้มีพวกแบบจำลองยานอวกาศวางอยู่ให้ดูได้ ภายในนี้ก็จัดแสดงพวกแบบจำลองยาน ยานสปุตนิก 1 ถังเชื้อเพลิงของจรวดโซเวียต กระสวยอวกาศ รถวิ่งบนดวงจันทร์ที่ใช้ในภารกิจยานอพอลโล 15,16,17 ดาวเทียมเวลา (Vela) ถูกส่งขึ้นไปในปี 1963 เอาไว้สังเกตการณ์ว่ามีประเทศไหนละเมิดสนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์ ต่อมาดูในส่วนของแผ่นป้ายที่เขียนอธิบายให้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากมายอยู่ตามทางเดิน โดยหลักแล้วเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระอาทิตย์และเส้นทรอปิก แนะนำนาฬิกาแดดแบบต่างๆที่มีบนโลกนี้ นี่เป็นนาฬิกาแดดตามที่ต่างๆในไต้หวัน มีอยู่หลายที่ นาฬิกาแดดสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปจะใช้เสาเพื่อเป็นตัวสร้างเงา แต่ว่าก็มีแบบที่ใช้เงาของตัวคนที่จะใช้งานเองเลย แบบนี้เรียกว่านาฬิกาแดดเงาคน (人影日晷) นี่คือธงชาติต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ มีไม่น้อยเลย ส่วนตรงนี้แสดงประเทศต่างๆที่ลากผ่านเส้นทรอปิกเหนือ มีทั้งหมด ๑๖ ประเทศ เม็กซิโก > บาฮามาส > สะฮาราตะวันตก > โมริตาเนีย > มาลี > อัลเจเรีย > นีเฌ > ลิเบีย > ชาด > อียิปต์ > ซาอุดิอาราเบีย > สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ > โอมาน > อินเดีย > บังคลาเทศ > พม่า > จีน > ไต้หวัน นี่เป็นอนุสาวรีย์เส้นทรอปิกแห่งต่างๆภายในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แผนที่แสดงเส้นทรอปิกเหนือลากผ่านไต้หวัน สำหรับของไต้หวันนั้นที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นที่ฮวาเหลียน เพราะเป็นแผ่นดินที่อยู่ตะวันออกสุดที่เส้นทรอปิกเหนือลากผ่าน ถ้าลากเส้นต่อไปจะเจอแต่ผืนทะเลมหาสมุทร นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่าจังหวัดหนานโถวและเกาสยงถูกแบ่งเขตที่เส้นทรอปิกพอดี และเกาะเผิงหู (澎湖) ทางตะวันตก แม้จะเป็นเกาะเล็กๆแต่ก็บังเอิญตั้งอยู่ตรงเส้นนี้พอดี ส่วนจัดแสดงด้านล่างหมดเท่านี้ ต่อไปเข้าไปในหอคอยที่อยู่ตรงกลาง หอคอยมี ๕ ชั้น จะขึ้นลิฟต์ก็ได้แต่ระหว่างชั้นมีอะไรให้ดูไปด้วยจึงค่อยๆเดินขึ้นไปดีกว่า หน้าบันไดมีจรวด ที่จรวดมีตราสัญลักษณ์ของ NSPO ซึ่งเป็นองค์การอวกาศแห่งชาติของไต้หวัน ขึ้นมาชั้น ๒ เป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับดาวเทียมของไต้หวัน ไต้หวันเริ่มสร้างจรวดขึ้นเองได้สำเร็จเมื่อปี 1997 และปล่อยจรวดสำเร็จในปี 1998 และดาวเทียมดวงแรกของไต้หวันก็ถูกส่งขึ้นไปในปี 1999 ชื่อว่า FORMOSAT-1 (福爾摩沙衛星一號, 福尔摩砂卫星一号) หลังจากนั้นก็ตามด้วย FORMOSAT-2 ในปี 2004 และ FORMOSAT-2 ในปี 2006 ไต้หวันไม่มีศูนย์ปล่อยจรวดเป็นของตัวเอง ดังนั้นจรวดทั้งหมดต้องอาศัยประเทศอื่น เช่นสหรัฐอเมริกา ในการปล่อย ตรงทางเดินจากชั้นหนึ่งขึ้นมาก็มีเขียนเล่าไปตามลำดับ เข้ามาด้านใน ตรงนี้แนะนำส่วนประกอบของจรวด ตรงนี้เขียนถึง FORMOSAT-5 ดาวเทียมของไต้หวันที่มีแผนจะส่งไปในปี 2017 และจะเป็นดาวเทียมลำดับที่ ๔ ที่จริงเมื่อปี 2008 มีแผนสำหรับ FORMOSAT-4 แต่เป็นแค่แผนการโดยทำร่วมกับเยอรมนี แต่ถูกยกเลิกไปจึงข้ามไปเป็นหมายเลข 5 ทางนี้มีแบบจำลองของ FORMOSAT-1 อยู่ ขึ้นมาถึงชั้น ๕ เป็นส่วนที่แสดงอุปกรณ์ต่างๆสำหรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากมาย ในที่นี้ขอยกบางส่วนมาให้ดูเป็นตัวอย่าง เริ่มจากอันนี้ เป็นอุปกรณ์สำหรับอธิบายว่าทำไมหน้าร้อนกับหน้าหนาวอุณหภูมิถึงได้ต่างกันนัก โดยมีแผ่นป้ายที่มีรูปเกาะไต้หวัน ซึ่งติดแผงวัดอุณหภูมิแสง แล้วมีแสงส่องมายังป้าย หากเปลี่ยนมุมที่หันหรือเปลี่ยนระยะทางค่าอุณหภูมิที่วัดได้ก็จะเปลี่ยนไป ในนี้มีบอกว่าเลื่อนไประยะเท่าไหร่คือระยะของดาวอะไร ส่วนมุมที่หันก็บอกถึงตำแหน่งบนโลกและฤดูกาล ปกติแล้วหน้าหนาวดวงอาทิตย์ขึ้นไม่สูงบนฟ้าทำให้อุณหภูมิต่ำ ส่วนตรงนี้เป็นแผ่นแสดงกลางวันกลางคืน โดยสามารถปรับเวลาและวันที่เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าแต่ละฤดูจะไม่เหมือนกันเพราะดวงอาทิตย์ทำมุมไม่เท่ากัน อันนี้สาธิตการนำไฟฟ้าผ่านอากาศ โดยเมื่อกดสวิทช์จะทำให้ปลายโลหะสองข้างมีความต่างศักย์มาก พอนำเข้ามาใกล้ๆกันก็จะเกิดการกระโดดข้ามของประจุไฟฟ้าโดยมีอากาศเป็นตัวนำ ทำให้เกิดประกายไฟขึ้น นี่เป็นการอธิบายว่าฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ฟ้าผ่าจะเกิดขึ้นเมื่อความต่างศักย์บนเมฆกับบนดินต่างกันมาก นอกจากนี้ยังจะเห็นได้ว่าหากใช้แท่งอันที่เป็นปลายแหลมจะเว้นระยะห่างได้มากกว่า ดังนั้นสายล่อฟ้าจึงใช้ปลายแหลม อันนี้จำลองปรากฏการณ์ที่ตาคนเราเห็นภาพ โดยให้เลื่อนแสงไฟที่มีตัวอักษร F กับ P ไปมา ความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งและขนาดที่ปรากฏบนเรตินา จึงสามารถแยกแยะระยะทางได้ กระจกนูนและกระจกเว้า ส่วนตรงนี้อธิบายการตรวจหาฤดูกาลได้โดยดูจากความยาวของเงาเวลาเที่ยงตรง โดยจะมีแสงไฟส่องมาจากด้านบน จากนั้นให้หาแท่งอะไรมาวางไว้ตรงละติจูดที่เราอยู่ จากนั้นหมุนมุมเอียงของลูกโลกให้ตรงกับเดือนขณะนั้น จะเห็นว่าในแต่ละเดือนเงาที่ปรากฏจะต่างกัน มีเกมถือแท่งเหล็กไปตามรางให้เล่นด้วย เกมนี้ใช้หลักการเรื่องวงจรไฟฟ้า วิธีการเล่นคือเลื่อนแท่งโลหะผ่านรางไปเรื่อยๆโดยไม่ให้ชน ถ้าแท่งโลหะที่เราถือไปชนรางโลหะเมื่อไหร่ไฟฟ้าจะครบวงจร จึงเกิดเสียงดังขึ้น เตือนว่าเราพลาดไปชนเข้าแล้ว อันนี้เป็นการแสดงแผนที่โลก โดยที่ด้านในมีลูกโลกใสที่เป็นทึบเฉพาะส่วนผืนแผ่นดิน มีแสงไฟที่ใจกลางลูกโลก แสงไฟส่องผ่านลูกโลกออกมาบนทรงกระบอกที่อยู่ด้านนอก ฉายให้เห็นแผนที่โลก นี่คือหลักการในการสร้างแผนที่โลก ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ายิ่งใกล้ขั้วโลกก็ยิ่งบานออกขนาดดูใหญ่กว่าความเป็นจริงมาก ส่วนนี่คือลูกโลกที่มีการใส่แม่เหล็กไว้ข้างใน พอเอาผงตะไบเหล็กมาวางก็เห็นเส้นแรงแม่เหล็ก ถ้าเอาเข็มทิศมาใกล้ก็จะชี้ทิศตามด้วย อุปกรณ์สาธิตเส้นสเป็กตรัม โดยให้ดูสเป็กตรัมปลดปล่อยของก๊าซชนิดต่างๆ อันนี้แผ่นสำหรับสาธิตเรื่องการทำงานของโพลารอยด์ โดยมีเครื่องที่ฉายแสงที่ผ่านการโพลาไรซ์มา เมื่อหมุนมุมของแผ่นโพลารอยด์อันนี้จะพบว่าความเข้มแสงเปลี่ยนไป ส่วนตรงนี้สาธิตการทำงานของนาฬิกาแดด โดยสามารถปรับเวลาแล้วดูความเปลี่ยนแปลงของเงาได้ อันนี้จำลองปรากฏการณ์ทางแสง โดยใส่หลอดไฟไว้ระหว่างแผ่นสองแผ่นที่ให้แสงผ่านได้บางส่วนและสะท้อนบางส่วน แสงจะสะท้อนไปมาทำให้ดูเหมือนว่าเป็นท่อที่ลึกไม่มีที่สิ้นสุด แต่ยิ่งลึกลงไปก็ยิ่งเป็นส่วนที่แสงสะท้อนมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นยิ่งลึกยิ่งมืด จากนั้นออกมาดูส่วนด้านนอกของชั้น ๕ ตรงนี้มีแผ่นป้ายที่ให้ความรู้ต่างๆ มองลงไปเห็นทิวทัศน์แถวๆนั้นได้ดี ที่เห็นทางนี้คืออนุสาวรีย์เส้นทรอปิกเหนือรุ่นที่ ๕ ส่วนทางนี้เป็นลานที่เราเดินผ่านมาตอนก่อนที่จะขึ้นมาที่หอนี้ ตอนนี้เราเดินในส่วนด้านในหอเสร็จหมดแล้ว ต่อมาจึงไปเดินดูบริเวณลานตรงนั้น แบบจำลองจรวดไททัน II (Titan II) ของสหรัฐอเมริกา ส่วนตรงกลางรอยต่อของจรวดมีเขียนอธิบายเกี่ยวกับตัวจรวดไว้ ถัดมามีรูปจำลองดาวเคราะห์ต่างๆ ทำออกมาดูสวยดี ลูกโลกนี่วาดไต้หวันใหญ่เป็นพิเศษ นี่คือนาฬิกาแดดแบบเงาคน ส่วนแถบที่เห็นเป็นรูปเลข 8 นี้แสดงตำแหน่งที่ต้องไปยืน โดยดูตามวันที่ขณะนั้น ที่ตำแหน่งยืนเป็นรูปเลข 8 แบบนี้ก็เพราะโลกโคจรเป็นวงรี ทำให้กลางวันกับกลางคืนในทางปฏิบัติแล้วต้องไม่เท่ากันในแต่ละวัน แต่เวลาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเวลาที่เฉลี่ยให้ทุกวันยาวเท่ากัน ดังนั้นเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงสุดจริงๆจึงเปลี่ยนไปในแต่ละวัน สุดท้ายมาที่ตรงอนุสาวรีย์เส้นทรอปิกเหนือรุ่นที่ ๕ ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ทางตะวันตกของหอพระอาทิตย์ ลองถ่ายทั้งหอทั้งอนุสาวรีย์คู่กันดู และข้างๆก็เรียงรายไปด้วยแบบจำลองของรุ่นก่อนๆทั้ง ๔ ไล่จากซ้ายมาขวา รุ่นแรกสร้างในปี 1908 แต่ในปี 1917 ถูกไต้ฝุ่นเข้าจนพัง รุ่นที่ ๒ ถูกสร้างขึ้นมาแทนในปี 1921 โดยใช้วัสดุเป็นไม้ แต่ในปี 1923 จักรพรรดิโชววะ (ตอนนั้นยังไม่ขึ้นครองราชย์) ได้แวะมาชมที่นี่ พอเห็นว่าโครงสร้างเป็นไม้ก็เลยสั่งให้สร้างใหม่ด้วยหิน แล้วก็สร้างเสร็จในปี 1926 ต่อมารุ่นที่ ๓ ก็เสื่อมไปตามเวลา จึงสร้างใหม่เป็นรุ่นที่ ๔ ในปี 1935 และต่อมาเจอแผ่นดินไหวในปี 1941 จนรุ่นที่ ๔ มีรอยร้าว จึงสร้างรุ่นที่ ๕ อันปัจจุบันขึ้นในปี 1942 เดินดูเสร็จก็มารอรถเมล์เพื่อจะกลับเมือง ข้างๆป้ายรถเมล์เจอรูปปั้นคล้ายกับที่เจอที่สถานีรถไฟความเร็วสูงของเจียอี้ ตัวละครตรงนี้มีคำอธิบายด้วย บอกว่าผู้ชายชื่อ อาหย่งปั๋ว (阿勇伯) ผู้หญิงชื่อ ยาเหาเสิ่น (丫好嬸) แล้วเราก็ขึ้นรถเมล์กลับ สรุปโดยรวมแล้วที่นี่เป็นสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบดาราศาสตร์ ใครมาเที่ยวแถวเจียอี้ไม่ควรพลาด น่าแวะมาชมเป็นอย่างมาก เป้าหมายต่อไปยังคงเป็นที่เที่ยวทางดาราศาสตร์ นั่นคือท้องฟ้าจำลองที่ไถหนาน ตามอ่านต่อได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20170801
{{s.chue}}
〇
✖
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ