φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ท้องฟ้าจำลองไถหนาน
เขียนเมื่อ 2017/08/01 00:43
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
# เสาร์ 8 ก.ค. 2017

หลังจากที่ตอนที่แล้วได้เที่ยวชมอนุสาวรีย์เส้นทรอปิกเหนือและหอพระอาทิตย์ที่เจียอี้ไป https://phyblas.hinaboshi.com/20170730

สถานที่เที่ยวต่อมาที่จะไปก็เป็นอีกแห่งที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ นั่นคือท้องฟ้าจำลองหนานอิ๋ง (南瀛天文館, 南瀛天文馆)  หรืออาจเรียกว่าพื้นที่การศึกษาดาราศาสตร์หนานอิ๋ง (南瀛天文教育園區, 南瀛天文教育园区) อยู่ที่เมืองไถหนาน

คำว่าหนานอิ๋งเป็นชื่อเก่าของเมืองไถหนาน ปัจจุบันชื่อสถานที่ต่างๆในไถหนานก็ยังมีที่ใช้คำว่าหนานอิ๋งอยู่ สำหรับที่นี่นั้นชื่อภาษาอังกฤษเองก็ใช้คำว่าไถหนานโดยตรง ดังนั้นชื่อที่นี่ก็อาจแปลเป็นไทยว่า "พื้นที่การศึกษาดาราศาสตร์ไถหนาน" หรือ "ท้องฟ้าจำลองไถหนาน" ก็ได้ ในที่นี้จะใช้ชื่อนี้เป็นหลัก

ที่นี่เริ่มสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2000 โดยเริ่มแรกมีแค่หอดูดาว ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2007 ต่อมาจึงขยับขยายเพิ่มเติม มีการสร้างอาคารจัดแสดงและอาคารเครื่องฉายดาว อีกทั้งสวนโดยรอบๆ ซึ่งเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์ในการสร้างที่นี่ก็คือเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาดาราศาสตร์ในภาคใต้ของไต้หวัน บริหารจัดการโดยเทศบาลเมืองไถหนานเอง



ตัวท้องฟ้าจำลองไม่ได้ตั้งอยู่ในตัวเมืองไถหนาน แต่อยู่ในเขตต้าเน่ย์ (大內, 大内) ซึ่งห่างจากใจกลางเมืองมาก และแถวนั้นไม่มีรถไฟมาถึงโดยตรงด้วย การเดินทางมาเที่ยวที่นี่จึงค่อนข้างลำบากมาก

ทางที่สะดวกที่สุดก็คือนั่งรถไฟไปลงที่สถานีซ่านฮว่า (善化站) ซึ่งอยู่ในเขตซ่านฮว่า จากนั้นนั่งรถเมล์ต่อไป

สถานีซ่านฮว่านั้นหากออกเดินทางจากเมืองไถหนานจะใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที แต่ถ้าออกจากเจียอี้จะใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที

เพื่อที่จะเดินทางไป เราไปยังสถานีเจียอี้ ข้าวเที่ยงก็ซื้อที่สถานีแล้วไปกินบนรถไฟเอา



รถไฟเที่ยวที่นั่งออกเวลา 12:25 ไปถึงเวลา 13:09 ค่ารถไฟ ๕๖



เดินทางมาถึงสถานีซ่านฮว่า





จากนั้นไปรอรถเมล์ ที่ต้องขึ้นคือสายหลักสีส้ม ซึ่งจะมาราวๆชั่วโมงละคันหรือสองคันเท่านั้น รถจะมาเมื่อไหร่มีเขียนบอกเวลาคาดการณ์เอาไว้ ทำให้เรารู้ว่าจังหวะที่ไปถึงนั้นไม่ค่อยดี ยังต้องรอนานถึงครึ่งชั่วโมง



ระหว่างนี้ก็เดินเล่นดูสภาพบ้านเมืองแถวๆนี้ ดูแล้วรู้สึกได้ถึงความเป็นชนบท ต่างจากบริเวณตัวเมืองที่เราคุ้นเคย




แล้วก็รอจนรถเมล์มาถึงในที่สุด




ระหว่างเส้นทางที่รถวิ่งผ่านนั้นเป็นพื้นที่ป่าร่มรื่น นี่เป็นครั้งแรกสำหรับการมาไต้หวันเที่ยวนี้เลยที่ได้เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติแบบนี้



ใช้เวลา ๒๐ กว่านาทีบนรถ แล้วก็มาถึงที่




มองไปรอบๆแถวนี้เป็นป่า ไม่มีบ้านเมืองรบกวน ดังนั้นที่นี่จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างแท้จริง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมาสร้างสถานที่ในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้



แผ่นป้ายแนะนำสถานที่ ส่วนตัวเอเลียนสีเขียวนี่เป็นยุรุเคียระ (ตัวการ์ตูนสัญลักษณ์) ของที่นี่



เริ่มจากเดินขึ้นไปเพื่อขึ้นไปยังส่วนอาคารจัดแสดงดาราศาสตร์ (天文展覽館, 天文展览馆, เทียนเหวินจ๋านหลานกว่าน)




เข้ามาตรงนี้ ซื้อตั๋ว



ค่าเข้าชมส่วนจัดแสดงตรงนี้แค่ ๕๐ แต่นอกจากนี้แล้ว ท้องฟ้าจำลองที่นี่มีห้องฉายดาวด้วยเช่นเดียวกับที่ไทเป ตัวห้องฉายดาวอยู่ที่อีกตึกหนึ่ง อาคารฉายดาว (星象館, 星象馆, ซิงเซี่ยงกว่าน)

ที่อาคารฉายดายจะมีการฉายดาวแล้วก็ฉายหนัง ๓ มิติ ครั้งนี้เราตัดสินใจไม่เข้าชมเพราะว่าดูแล้วหนังไม่น่าสนใจ อีกทั้งเรามาถึงค่อนข้างช้าแล้ว ไม่อยากกลับเย็นมากเพราะเดินทางลำบาก

นอกจากตรงนี้ในอาคารฉายดาวยังมีส่วนจัดแสดงพิเศษ ซึ่งจะเปลี่ยนสิ่งที่จัดแสดงไปเรื่อยๆ สำหรับหัวข้อที่จัดแสดงในช่วงนี้คือเวอร์ชวลเรียลิตี (VR) ค่าเข้าชม ๑๕๐

เราทำการซื้อตั๋วตรงนี้ โดยซื้อส่วนจัดแสดงทั่วไป ๕๐ กับส่วนจัดแสดงพิเศษ ๑๕๐ รวมแล้วจ่าย ๒๐๐

จากนั้นก็เดินเข้าไปเริ่มชมด้านใน ที่นี่ประกอบไปด้วย ๓ ชั้น แต่ละชั้นไม่ใหญ่มาก ใช้เวลาเดินไม่นานก็ทั่ว



เริ่มจากชั้นแรก



ชั้นนี้จัดแสดงเกี่ยวกับพวกอุกกาบาต



นี่เป็นเกมเกี่ยวกับอุกกาบาต



ส่วนของอุกกาบาตจากดาวอังคาร ก้อนเล็กๆด้านใน



แบบจำลองดาวเคราะห์น้อยไถหนาน (台南小行星) พบในปี 2006 โดยชาวไต้หวันที่หอดูดาวลู่หลิน ใช้ชื่อเมืองไถหนานมาตั้งชื่อเพราะเห็นว่าเป็นเมืองสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน



ขึ้นไปต่อชั้น ๒ ห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับระบบสุริยะ



ห้องกลมๆนี้จัดแสดงเกี่ยวกับดวงอาทิตย์



ภายในฉายปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ โดยที่ที่พื้นก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย



เดินไปตามทางจะพบแบบจำลองของดาวเคราะห์ต่างๆ



แต่ที่โดดเด่นที่สุดสำหรับที่นี่เห็นจะเป็นส่วนที่เล่าประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ โดยมีผลงานศิลปะแนวล้อเลียนใส่มาด้วย

โดยเริ่มจากศตวรรษที่ 15 ยุคที่มนุษย์ทั่วไปยังเชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของจักรวาล ผลงานอันนี้ทำเป็นรูปสโตนเฮนจ์สองอันโดยตรงกลางใส่ลูกโลกที่มีวงโคจรของดาวต่างๆรายล้อม ซึ่งแสดงถึงแนวคิดความเชื่อที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลาง



ต่อมาศตวรรษที่ 16 นิโคเลาส์ โคเปร์นิคุส (Nicolaus Copernicus, ปี 1473-1543) ได้เสนอว่าจริงๆแล้วดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล



ผลงานศิลปะล้อเลียนนี้เป็นรูปลูกโลกที่มีต้นไม้งอกทะลุ บนลูกโลกนั้นเต็มไปด้วยไม้กางเขน สื่อถึงคริสตจักรในสมัยนั้นที่สอนว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมาตลอด แต่บัดนี้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ได้ทะลวงกำแพงนั้นลง ผู้คนเริ่มสงสัยแล้วว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลาง ดังนั้นต้นไม้จึงงอกยาวออกจากโลกไป



ศตวรรษที่ 17 เข้าสู่ยุคที่มีการใช้คณิตศาสตร์เพื่ออธิบายดาราศาสตร์ ผลงานศิลปะที่เห็นเป็นทรงกลมที่ล้อมรอบด้วยตัวเลขแสดงให้เห็นถึงทฤษฎีต่างๆที่พัฒนาต่อยอดกันมาโดยใช้คณิตศาสตร์ โดยด้านบนสุดคือกฎของนิวตัน ซึ่งมีความสำคัญที่สุดในศตวรรษนั้น



ศตวรรษที่ 18 การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง มีการค้นพบวัตถุท้องฟ้ามากมาย ผลงานศิลปะเป็นลักษณะเสาหลายต้นที่มีหลอดไฟทรงกลม (แทนดาวฤกษ์) ร้อยอยู่ และที่ด้านบนสุดคือดาราจักรทางช้างเผือกที่มีสีสดใส สื่อถึงว่าความเข้าใจของพวกเราได้ก้าวข้ามดวงดาว กวาดไปทั่วดาราจักร



ศตวรรษที่ 19 การสำรวจค้นพบวัตถุท้องฟ้าใหม่ๆนับวันยิ่งคืบหน้า และมีการใช้เทคนิคทางสเป็กโทรสโกปีทำให้เข้าใจโครงสร้างต่างๆ ผลงานศิลปะเป็นรูปกล้องดูดาวที่วนเวียนไล่ขึ้นไปโดยยาวขึ้นเรื่อยๆ แสดงถึงว่าเรายิ่งมองออกไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆรอบทิศ บอลสีสันสดใสแสดงถึงสเป็กโทรสโกปี



ศตวรรษที่ 20 ถึงยุคปัจจุบัน



ผลงานศิลปะเป็นรูปเส้นโค้งวนรอบซึ่งแสดงถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ว่าแรงโน้มถ่วงคือกาลอวกาศที่โค้งงอ



ตรงสุดปลายทางมีเครื่องทดสอบแรงกอรียอลิส (Coriolis) มีเปิดให้เข้าใช้เป็นรอบๆ ตอนที่ไปนั้นไม่ได้ตรงจังหวะที่เปิดก็เลยไม่ได้ลอง





ต่อมาชั้น ๓ เป็นเรื่องของดาวฤกษ์และอวกาศไกลออกไป



หน้าทางเข้าเขียนเรื่องความโค้งของกาลอวกาศ



หน้าจออธิบายเกี่ยวกับชีวิตของดาวฤกษ์ที่มีมวลต่างกันไป



กาลอวกาศที่โค้งงอตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์



สมการทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์



เครื่องจำลองปรากฏการณ์ด็อพเลอร์ การเลื่อนไปทางแดงของเส้นสเป็กตรัม ซึ่งเกิดกับดาวที่เคลื่อนที่ออกห่างเรา



ส่วนตรงนี้เป็นเครื่องเล่นจำลองการผจญภัยในอวกาศ การจะเล่นต้องซื้อตั๋วมาจากที่ขายตัวหน้าตึกตั้งแต่แรก แต่ว่าค่อนข้างจำกัดคนในแต่ละวัน ตอนที่พวกเรามาถึงมันขายหมดไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้ลอง





เดินเสร็จ ๓​ ชั้นแล้ว ต่อมาลงมาดูชั้นใต้ดิน เป็นชั้นสำหรับเล่นโลโก



พวกเด็กๆกำลังต่อเลโกกันอยู่ตรงนี้




ตรงนี้ต่อเป็นรูปเมืองในจินตนาการที่ถูกออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ



ลองดูอย่างละเอียดสักหน่อย ทำออกมาอย่างละเอียดมาก










ภายในส่วนของอาคารจัดแสดงก็จบลงเท่านี้ เป้าหมายต่อไปคืออาคารฉายดาว ต้องเดินต่อไปอีกหน่อย



ระหว่างทางผ่านลานกว้างเซติ (賽堤廣場, 赛堤广场) ซึ่งเป็นสวนเล็กๆที่จัดแสดงเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว แต่เราไม่ได้แวะเพราะห่วงเรื่องเวลา




เดินต่อมาจนถึงอาคารฉายดาว



ในนี้ชั้นหนึ่งเป็นส่วนจัดแสดงพิเศษ ซึ่งตอนนี้จัดแสดงเรื่อง VR



แต่พอเข้ามาด้านในจริงๆสิ่งที่เจอก่อนยังไม่เกี่ยวกับ VR แต่เป็นส่วนเล็กๆที่จัดแสดงเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในอวกาศ




และบริเวณภายในแถวนี้เป็นส่วนที่จำลองศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ

เครื่องปั่นจักรยานสำหรับนักบินอวกาศที่ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศ เนื่องจากที่นั่นแรงโน้มถ่วงต่ำ หากไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอกล้ามเนื้อจะอ่อนแอลงทำให้ไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตบนโลกได้อีก



อุปกรณ์ฝึกการทรงตัว มีความยากหลายระดับ



การทดลองปลูกพืชบนสถานีอวกาศ จำลองว่าพืชที่งอกในสภาวะไร้น้ำหนักจะเป็นอย่างไร



ด้านในสุดเป็นส่วนที่ให้ลองเล่นเกมเวอร์ชวลเรียลิตีดู คนที่ซื้อตั๋วเข้ามาชมด้านในจะสามารถเล่นได้คนละรอบ ที่จริงแล้วตั๋วแพงถึง ๑๕๐ ก็น่าจะเพราะส่วนนี้มากกว่า เพราะส่วนจัดแสดงมีนิดเดียวเท่านั้น




นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เล่นเกมประเภทนี้ ก็ดูจะสนุกดี แต่รู้สึกว่าเล่นยากอยู่ เทคโนโลยีนี้คงยังต้องพัฒนาไปอีกไกล หวังว่าสักวันจะไปถึงระดับแบบที่เห็นบ่อยในอนิเมะ

ต่อมาขึ้นไปที่ชั้น ๒ เจอร้านขายของที่ระลึก เราว่าจะลองหาของที่เกี่ยวกับไต้หวัน แต่ก็ไม่ได้เจออะไรที่น่าสนใจ



ที่ล่อตาล่อใจมากที่สุดก็เห็นจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเรื่องสองสิงห์อวกาศ (宇宙兄弟, uchuu kyoudai) นี่ล่ะ



ที่ชั้น ๒ ยังมีทางเข้าห้องฉายดาว แต่เราไม่ได้ซื้อตั๋วเข้าชมดังนั้นจึงแค่ดูจากหน้าทางเข้า



แต่ว่าบังเอิญเราได้เดินเข้าไปห้องข้างๆซึ่งเป็นห้องสำหรับจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษา แล้วคนในนั้นเขาถามว่ามาจากไหน พอเพื่อนแนะนำตัวไปว่ามาจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์เขาก็เลยพาไปช่วยแนะนำให้รู้จักกับผู้จัดการที่นี่

แล้วก็ปรากฏว่าเขาเสนอพาพวกเราเข้าชมด้านในหลังรอบฉายจบ

หนังจบตอน 5 โมง แล้วเราก็เข้าไปในห้องฉายหลังจากคนอื่นออกไปหมด



เขาเริ่มใช้เครื่องฉายดาวฉายให้เราดู





จุดเด่นสำหรับที่นี่อย่างหนึ่งที่ไม่เคยเจอในท้องฟ้าจำลองที่อื่นมาเลยก็คือมีการให้ใส่แว่นดูเป็นแบบสามมิติด้วย อย่างภาพดาราจักรนี้พอเป็นสามมิติแล้วให้บรรยากาศเหมือนเรากำลังอยู่ท่ามกลางในนี้จริงๆ



สามารถผจญภัยดูบริเวณวงแหวนของดาวเสาร์ได้ด้วย





จากนั้นหลังชมเสร็จเขาก็ชวนให้เราไปที่อาคารสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ (天文觀測館, 天文观测馆) ซึ่งความจริงแล้วที่นี่ปกติจะเปิดจนถึง 5 โมงเท่านั้น ซึ่งเลยเวลาไปแล้ว แต่เขาช่วยติดต่อคนที่ประจำที่นั่นให้ บอกให้ช่วยพาเข้าเป็นกรณีพิเศษ

เรารีบเดินมาทางอาคารสังเกตการณ์ ระหว่างทางผ่านร้านอาหารของที่นี่ แต่มองขึ้นไปบนฟ้าก็เห็นได้ถึงลางร้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามา ในไม่ช้าสายฝนต้องซัดกระหน่ำลงมาแน่นอนไม่ต้องสงสัย



เดินขึ้นต่อมาก็มาถึงอาคารสังเกตการณ์



ชั้นหนึ่งในนี้มีส่วนจัดแสดงอะไรอยู่เล็กน้อย หลักๆคือเกี่ยวกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดแล้วก็ห้องเรียนด้วย ส่วนกล้องดูดาวจะอยู่ชั้น ๒




กล้องดูดาวที่นี่จะเปิดให้คนเข้าชมได้ตามเวลาเปิดตอนกลางวันทุกวัน แต่ว่าเฉพาะวันเสาร์เท่านั้นที่จะมีเปิดให้ใช้ตอนกลางคืน โดยเปิดตั้งแต่ 19:00-20:30

สาเหตุที่เราจัดแผนให้มาที่นี่วันเสาร์ก็เพราะเผื่อว่าจะอยู่ดูดาวกลางคืนด้วย แต่สุดท้ายเห็นท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งยิ่งดึกยิ่งกลับลำบาก ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่อยู่ต่อ แค่มาดูกล้องตอนนี้เสร็จแล้วก็กลับเลย

ห้องที่มีกล้องดูดาวมีอยู่ ๒ ห้อง ห้องแรกคือห้องที่เป็นโดมทรงกลม ซึ่งมีกล้องดูดาวขนาดใหญ่สุดของที่นี่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗๖ ซม. แต่ว่าตอนที่ไปเขาไม่ได้เปิดให้เข้าชม

ส่วนอีกห้องมีกล้องดูดาวอยู่ ๒ ตัว แต่ขนาดเล็กกว่า

ตัวแรกคือกล้อง MEADE-12 ขนาด ๓๐ ซม.



อีกตัวคือกล้อง BRC250 ขนาด ๒๕ ซม. ทำโดยญี่ปุ่น



เขามีเปิดเพดานให้ดูด้วย เวลาจะส่องกล้องก็ต้องเปิดออก แต่เนื่องจากกังวลว่าฝนกำลังจะมาเขาจึงเปิดให้ดูแค่แป๊บเดียวแล้วก็รีบปิด



ในห้องยังมีแสดงภาพที่ถ่ายจากกล้องนี้ไว้ด้วย



หลังดูเสร็จก็ออกไปดูที่ระเบียง เห็นทิวทัศน์สวยดี แต่ข่าวร้ายก็คือฝนเริ่มลงเม็ดแล้ว



ขณะนั้นเราต้องรอรถซึ่งดูเวลาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมาตอน 18:15 น. ระหว่างนั้นเหลือเวลาเลยดูด้านในต่ออีกสักพัก

ส่วนที่เหลืออยู่ก็คือจุดชมดาวซึ่งอยู่อีกด้านของอาคาร ลงมาชั้นหนึ่ง เดินไปทางนี้



ออกมานอกอาคาร ตรงส่วนนี้เป็นเหมือนระเบียงยาวที่เอาไว้ให้ดูดาวตอนกลางคืน จุดนี้ตั้งอยู่บนสันเขา รอบๆเป็นเป่าเขา เหมาะแก่การดูดาวถ้าอากาศเอื้ออำนวย แต่ว่าสภาพอากาศคืนนี้ไม่มีทางได้ดูแน่นอน



ดูเสร็จเราก็รีบลุยฝนออกมาที่ป้ายรถเมล์ ที่จริงยังเหลือเวลาพอสมควรกว่ารถเมล์จะมาแต่ก็รีบออกมาก่อนเพราะเผื่อมันมาเร็ว ถ้าพลาดคันนี้ไปกว่าคันต่อมาจะมาก็รออีกชั่วโมงนึงเลย



หลบฝนอยู่ตรงป้ายรถเมล์รอไปเรื่อยๆ



แล้วรถเมล์ก็มาถึง พาเรากลับไปยังสถานีซ่านฮว่า



รอบรถที่จะขึ้นกลับคือรอบ 18:46 ไปถึง 19:15 ที่เร็วเพราะเป็นรถไฟแบบจื้อเฉียง สถานีนี้ไม่ถือว่าเป็นสถานีหลักแต่ก็มีความสำคัญในระดับหนึ่งมีจื้อเฉียงไม่กี่เที่ยวเท่านั้นที่จะผ่านสถานีนี้

ตอนที่ไปถึงคือเวลา 18:35 มีเวลาเล็กน้อย แวะร้านสะดวกซื้อในสถานี



ไปเจอเกมขายด้วย ราชอาณาจักรเทวดา (天使帝國, เทียนสื่อตี้กั๋ว) เป็นเกมของไต้หวัน เล่นใน PC ภาพสวยดี




จากนั้นก็มารอที่ชานชลา รอรถไฟมาแล้วก็นั่งกลับไปถึงเจียอี้เราหาซื้อของกินในสถานีเจียอี้เพื่อไปกินที่ห้องเป็นมื้อเย็นโดยไม่แวะไปกินที่ร้านไหนเนื่องจากตัวเปียกจากการลุยฝนมา อยากรีบไปอาบน้ำให้เร็วที่สุด





สุดท้ายก็เลยเป็นเที่ยวที่สาหัสพอดูเหมือนกัน แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี

ท้องฟ้าจำลองไถหนาน แม้จะเดินทางไปลำบาก แต่ก็เป็นที่ที่น่าไป รู้สึกว่ายังไงก็เป็นการเที่ยวที่คุ้มทีเดียว

การเที่ยวแนวดาราศาสตร์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ วันรุ่งขึ้นยังจะไปอีกสถานที่ซึ่งอยู่ที่เมืองไถจง https://phyblas.hinaboshi.com/20170803



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน >> ไถหนาน
-- ท่องเที่ยว >> ท้องฟ้าจำลอง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文