φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



เรือพินป่านโจว (tatala) ของชาวต๋าอู้ในไต้หวัน
เขียนเมื่อ 2017/08/10 22:18
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
เนื่องจากมีโอกาสได้แวะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (國立自然科學博物館) ในเมืองไถจง ดังที่เล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170803

พอเข้าไปชมในส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับชนเผ่าออสโตรนีเซียในไต้หวัน ก็ได้ไปเจอเรือลำหนึ่งซึ่งเป็นของชนเผ่าต๋าอู้ (達悟) ที่เกาะหลานหยวี่ (蘭嶼) เกาะเล็กๆทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน

เรือชนิดนั้นเรียกว่าพินป่านโจว (拼板舟, pīnbǎnzhōu) หรือที่เรียกในชื่อภาษาต๋าอู้ว่า tatala

นี่คือภาพเรือพินป่านโจวในพิพิธภัณฑ์ซึ่งถ่ายโดยหนุ่มแทจ็อนซึ่งไปชมมาด้วยกัน



เห็นเรือนี้แล้วรู้สึกถูกใจ ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะลองสร้างแบบจำลองสามมิติของเรือลำนี้ขึ้นมาดูสักหน่อย การสร้างทำโดยใช้โค้ดภาษาไพธอน

และนี่คือผลงานที่ทำสำเร็จออกมา



โค้ดไพธอนสำหรับสร้างดูได้ใน >> https://github.com/phyblas/yamimayapython/tree/master/tham_khong_tangtang/tatala

ส่วนไฟล์โมเดลที่ทำออกมาเสร็จก็มีแจกในรูปของ .pmx (สำหรับ mmd) โหลดได้ใน >> http://3d.nicovideo.jp/works/td30494



ชาวต๋าอู้และเกาะหลานหยวี่
ก่อนอื่น มาทำความรู้จักเกี่ยวกับเรื่องของเผ่าต๋าอู้กันสักหน่อย

ไต้หวันนั้นแม้ว่าจะเป็นที่รู้กันว่าประกอบขึ้นจากประชากรชาวจีนเป็นหลัก แต่ว่าในความจริงแล้วคนจีนเพิ่งมาอาศัยอยู่เมื่อช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิงเท่านั้น และได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนในยุคราชวงศ์ชิง

ก่อนหน้านั้นมีชนเผ่าที่อยู่ในไต้หวันมากมาย ทั้งในเกาะไต้หวันและเกาะเล็กๆในบริเวณ เผ่าต๋าอู้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แบบจำลองบ้านที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวต๋าอู้ ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ



เดิมทีเกาะหลานหยวี่นั้นไม่ได้ตกเป็นของจีนพร้อมกับเกาะไต้หวัน ชนเผ่าต๋าอู้จึงอยู่โดยอิสระมานานกว่าชนเผ่าอื่นในไต้หวัน เกาะนี้เป็นอิสระอยู่จนกระทั่งในปี 1877 จึงมีการผนวกรวมเกาะนี้เข้ากับจีน สังกัดอยู่มณฑลไต้หวัน

แผนที่แสดงตำแหน่งเกาะหลานหยวี่ ภาพจากวิกิพีเดีย



พอมาถึงปี 1895 จีนแพ้สงครามกับญี่ปุ่นทำให้ต้องยกเกาะไต้หวันให้ญี่ปุ่นทั้งหมด เกาะหลานหยวี่เองก็อยู่ในขอบเขตของไต้หวัน ดังนั้นก็โดนยึดไปด้วย จึงอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นจนถึงปี 1945 จึงคืนให้จีน

ดังนั้นชาวต๋าอู้รุ่นแก่ๆจะใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นแต่ใช้ภาษาจีนไม่เป็น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก

พูดถึงเรื่องภาษาแล้ว ชาวต๋าอู้มีภาษาเป็นของตัวเองอยู่ ภาษาต๋าอู้ (達悟語) เป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซีย เช่นเดียวกับภาษามลายูและฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีแค่ชาวเกาะหลานหยวี่บางส่วนที่ยังคงใช้อยู่ ประชากรบนเกาะมี ๕ พันกว่าคน แต่คนที่พูดเป็นภาษาแม่มีน้อยกว่านั้นเพราะหันไปใช้ภาษาจีนเป็นหลักหมด และมีแต่จะยิ่งค่อยๆหายไป

เผ่าต๋าอู้มีอีกชื่อเรียกว่าเผ่ายามิ (ヤミ族, yamizoku) ชื่อนี้ถูกเรียกโดยคนญี่ปุ่นในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ตั้งโดยโทริอิ ริวโซว (鳥居 龍藏) นักมานุษย์วิทยา ชื่อนี้ถูกแปลงเป็นภาษาจีนว่า เผ่าหยาเหม่ย์ (雅美族)

ก่อนหน้านี้ในใต้หวันเองก็เรียกเผ่านี้ว่าเผ่าหยาเหม่ย์มาตลอด แต่ปัจจุบันเนื่องจากเสียงเรียกร้องของชาวเผ่าเอง ก็เลยสนับสนุนให้เปลี่ยนมาเรียกว่าเผ่าต๋าอู้ ซึ่งเป็นชื่อที่ชนเผ่านี้ใช้เรียกตัวเองจริงๆ

คำว่าต๋าอู้มาจากคำว่า Tao ในภาษาต๋าอู้ ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า タオ族 (taozoku) ส่วนชื่อเกาะหลานหยวี่เองก็เรียกในภาษาต๋าอู้ว่า Ponso no Tao แปลตรงๆว่า "เกาะของคน"

คำว่าหลานหยวี่นั้นแปลตรงๆว่าเกาะกล้วยไม้ โดยคำว่า "หลาน" 蘭 แปลว่ากล้วยไม้ ส่วน "หยวี่" 嶼 แปลว่าเกาะเล็กๆ

ชื่อนี้เพิ่งถูกใช้เมื่อปี 1947 แต่ก่อนหน้านี้ชื่อที่คนจีนใช้เรียกคือ "หงโถวหยวี่" (紅頭嶼) หรือตามภาษาไต้หวัน (ฮกเกี้ยน) ว่า "อั่งเทาซู" ซึ่งแปลว่าเกาะหัวแดง หรือไม่ก็ "หงโต้วหยวี่" (紅豆嶼) ภาษาไต้หวันเรียกว่า "อั่งเต่าซู"

ชื่อหงโถว (紅頭) ยังเป็นชื่อของเขาที่สูงสุดของเกาะนี้ด้วย เขาหงโถวสูง ๕๕๒ เมตร

เกาะหลานหยวี่เป็นเกาะภูเขาไฟ มีขนาด ๔๘ ตร.กม. จัดเป็นเกาะใหญ่อันดับ ๔ ของสาธารณรัฐจีน แต่ประชากรอยู่กันเบาบางโดยกระจายอยู่ทางแถบตะวันตกของเกาะ

ภาพเกาะจาก google map แสดงให้เห็นว่ากลางเกาะมีแต่ป่าเขา อยู่ได้แค่พื้นที่ราบเล็กๆริมชายฝั่ง



ทางตะวันออกซึ่งไม่มีคนอยู่เป็นสถานที่ทิ้งกากกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไต้หวัน โรงเก็บกากสร้างเสร็จเมื่อปี 1982 แต่พอถึงปี 1996 ก็จุเต็ม ปัจจุบันก็ทิ้งไว้เฉยๆรอให้กัมมันตรังสีค่อยๆสลายไป ที่จริงมีแผนจะสร้างที่เก็บกากแห่งที่สอง แต่ชาวบ้านต่อต้านจนต้องล้มเลิก



เรือพินป่านโจว
ชาวต๋าอู้ดำรงชีวิตโดยการประมงเป็นหลัก ดังนั้นเรือจึงมีความสำคัญมากสำหรับพวกเขา

ซึ่งเรือที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานโดยมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองนี้ก็คือพินป่านโจว

เรือนี้มีลักษณะที่คล้ายกับเรือญี่ปุ่นอยู่จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกัน แต่โดยรายละเอียดแล้วก็ไม่มีใครรู้ที่มาแน่ชัด

ภาษาต๋าอู้ตั้งแต่อดีตมาไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง ดังนันจึงไม่มีการบันทึกอะไรเป็นลายลักอักษรไว้เลย ยากจะสืบค้นอะไรต่างๆในอดีต

ลวดลายบนตัวเรือใช้สีขาวดำแดง โดยสีขาวทำจากหินปูนเปลือกหอย (CaCO3) สีแดงทำจาก Fe2O3 ส่วนสีดำทำจากเถ้าถ่าน

ลายที่วาดมีอยู่หลากหลาย แต่ละหมู่บ้านก็มีรูปแบบของตัวเอง แต่โดยรวมๆสิ่งที่มักจะต้องมีอยู่ก็คือ สัญลักษณ์ตาเรือ กับรูปคน และริ้วลายที่ขอบ

ภาพเปรียบเทียบลายบนเรือที่พบในพิพิธภัณฑ์กับในแบบจำลองซึ่งพยายามทำเลียนแบบ




สัญลักษณ์ตาเรือนี้จะติดอยู่ที่หัวและท้ายเรือ ข้างละ ๒ ดังนั้นเรือทุกลำจะมี ๔ ตา

ส่วนรูปคน มีลักษณะที่หลากหลาย ชาวต๋าอู้เองก็ยังไม่ได้รู้แน่ชัดว่าหมายถึงอะไร แต่มีข้อสันนิษฐาน ๓ ข้อ
๑. เป็นสัญลักษณ์แทนนักรบในตำนาน ชื่อว่า Magamaog ซึ่งเป็นคนริเริ่มให้ชาวต๋าอู้สร้างเรือจับปลา
๒. เป็นเครื่องหมายที่มีความหมายแทนอะไรบางอย่างโดยแต่ละภาพที่ต่างกันก็มีความหมายไม่เหมือนกัน
๓. เป็นสัญลักษณ์แทนวีรบุรุษประจำบ้านของแต่ละบ้าน

แม้จะไม่รู้ว่าข้อไหนถูก ไม่รู้ความหมายแน่ชัด แต่ก็เป็นธรรมเนียมมาช้านานว่าจะต้องวาดอยู่บนเรือ แล้วรูปนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวต๋าอู้ไปแล้ว

ส่วนลายที่ขอบนั้นจะเป็นเส้นหยึกหยักที่เป็นสีขาวสลับดำและมีแถบสีแดงคั่น รูปแบบลายมีอยู่หลากหลายไม่แน่นอนแล้วแต่ลำ

แบบจำลองที่ทำขึ้นมานี้สร้างลวดลายขึ้นด้วย matplotlib โดยเฉพาะคำสั่ง fill_between และ tripcolor แล้วยังมีการใช้ scipy เพื่อช่วยในการคำนวณด้วย

หากแบ่งตามขนาดและวัตถุประสงค์การใช้งานแล้วพินป่านโจวอาจแบ่งได้เป็น ๒ ขนาด คือเรือขนาดเล็กประมาณ ๓ เมตรคนนั่ง ๒-๓ คนใช้เพื่อการประโมง และขนาดใหญ่ประมาณ ๗ เมตร คนนั่งได้ ๑๐ คน เอาไว้ใช้ในการประกอบพิธี เรือใหญ่จะเรียกว่า cinedkeran

ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นแบบขนาดใหญ่



ผังเรือที่วาดโดย matplotlib ขณะสร้างแบบจำลองทั้ง ๒ ขนาด



สำหรับลวดลายที่ใช้ในแบบจำลองที่สร้างขึ้นนั้น ลำใหญ่ยึดตามเรือที่ตั้งจำลองอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ส่วนลำเล็กอ้างอิงภาพที่ค้นเจอจากเว็บหลายแห่ง แต่ไม่ได้ยึดอันไหนเป็นหลัก

โครงสร้างภายในของเรือที่ทำไม่ได้อ้างอิงโครงสร้างของจริง ที่ทำออกมาให้เหมือนคือแค่ภายนอกเท่านั้น

นอกจากนี้ที่บนปลายแหลมขอบเรืออาจมีการติดเครื่องประดับรูปขนนกที่เรียกว่า molon ไว้ด้วย ของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้เองก็มี แต่เนื่องจากทำยากจึงไม่ได้ทำ



ลองเอาแบบจำลองที่ทำได้มาลอยกลางทะเลมายาดู



อันนี้เป็นการลองนำมาใช้ในโปรแกรม mmd ฉากในรูปคือนครแห่งน้ำ เนโอเวเนเซีย (บนดาวอังคาร) เอาเรือนี้มาแล่นแทนกอนโดลา



ใบพายในรูปก็ทำโดยอ้างอิงจากทั้งในพิพิธภัณฑ์และในเว็บ ลายบนพายก็มีหลากหลายแต่ส่วนใหญ่จะตกแต่งให้เข้ากับลายบนเรือ สัญลักษณ์รูปตาก็มักจะถูกวาดไว้ด้วย

แล้วที่จริงในธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมผู้หญิงห้ามนั่งหรือแม้แต่สัมผัสพินป่านโจว เพราะงานประมงเป็นงานของผู้ชายเท่านั้น

เพียงแต่ในปัจจุบันมีเรือส่วนหนึ่งที่แบ่งมาใช้เป็นเรือท่องเที่ยว เรือเหล่านั้นให้นักท่องเที่ยวมานั่งพายเล่นได้โดยไม่มีการกีดกันเรื่องเพศ ดังนั้นใครที่มาเที่ยวเกาะหลานหยวี่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้นั่งเรือ



แหล่งอ้างอิง
http://wawa.pts.org.tw/tribe.php?PAGE=WAWA_C_CONTENT&SEARCH_HTENO=8
http://mysweetchiu.pixnet.net/blog/post/28946017
http://www.nhu.edu.tw/~society/e-j/84/84-21.htm
http://www.aboriginal-power.com.tw/index/index.php/lanyu-culture/2012-01-18-04-40-28.html
https://zh.wikipedia.org/wiki/拼板舟
https://zh.wikipedia.org/wiki/蘭嶼
https://zh.wikipedia.org/wiki/蘭嶼貯存場
https://ja.wikipedia.org/wiki/チヌリクラン
https://ja.wikipedia.org/wiki/タオ族

โมเดลอื่นที่ยืมมาใช้
เนโอเวเนเซีย http://www.nicovideo.jp/watch/sm23336072
ยามิจัง https://onedrive.live.com/?id=4C765810BD215040%21264&cid=4C765810BD215040
ฮัตสึเนะ มิกุ https://bowlroll.net/file/74754
ซินหัว http://seiga.nicovideo.jp/seiga/im4988620
เซี่ยหยวี่เหยา https://home.gamer.com.tw/creationDetail.php?sn=2705955


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> mayapython
-- คอมพิวเตอร์ >> 3D >> maya
-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ