ในบทแรกสุดได้มีการอธิบายถึงคำสั่ง import ไป ว่าทุกครั้งที่เริ่มโปรแกรมมายาขึ้นมาจะต้องพิมพ์ import maya.cmds as mc ตลอดทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถทำอย่างอื่นต่อได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา มีวิธีที่ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องคอยมาพิมพ์ใหม่ทุกครั้งอยู่ ซึ่งวิธีการก็ไม่ยาก นั่นคือการทำให้มีการรันโค้ดนี้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติทุกครั้่งที่มีการเปิดโปรแกรม
ให้ไปที่โฟลเดอร์ scripts ซึ่งอยู่ภายในเครื่อง โดยตำแหน่งของโฟลเดอร์นี้จะแตกต่างกันออกไปตามรุ่นของโปรแกรมมายา และระบบปฏิบัติการที่ใช้
สำหรับ windows ภาษาอังกฤษ
<ไดรฟ์>:\Documents and Settings\<ชื่อผู้ใช้>\My Documents\maya\<เวอร์ชัน>\scripts
สำหรับ windows ภาษาญี่ปุ่น
<ไดรฟ์>:\Documents and Settings\<ชื่อผู้ใช้>\My Documents\maya\<เวอร์ชัน>\ja_JP\scripts
สำหรับ mac ภาษาอังกฤษ
~/Library/Preferences/Autodesk/maya/<เวอร์ชัน>/scripts
สำหรับ mac ภาษาญี่ปุ่น
~/Library/Preferences/Autodesk/maya/<เวอร์ชัน>/ja_JP/scripts
สำหรับ linux
~/maya/<เวอร์ชัน>/scripts
อาจต้องระวังว่าในโฟลเดอร์ maya ก็มีโฟลเดอร์ที่ชื่อ scripts อยู่ ไม่ใช่โฟลเดอร์นั้น ต้องเข้าไปในโฟลเดอร์ที่เป็นชื่อเวอร์ชันก่อน
เมื่อเข้าไปในโฟลเดอร์ข้างต้นนั้นแล้วให้ดูว่ามีไฟล์ที่ชื่อ
userSetup.py อยู่แล้วหรือเปล่า (โดยทั่วไปแล้วถ้าเพิ่งลงโปรแกรมมาใหม่จะไม่มีอยู่)
หากยังไม่มีก็ให้ทำการสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้ notepad หรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่คล้ายๆกัน พิมพ์
import maya.cmds as mc
ลงไปแล้วก็เซฟไฟล์
หลังจากนั้นก็เปิดโปรแกรมมายาขึ้นมาใหม่ โค้ดนี้ก็จะถูกรันขึ้นมาทันทีโดยที่ไม่ต้องพิมพ์ใหม่อีกแล้ว ลองทดสอบโดยการใช้ดูได้
นอกจากจะ import maya.cmds แล้ว ยังอาจจะ import มอดูลอื่นๆที่จำเป็นอีกด้วย เช่น
import math
import random
import time
import os
import sys
ซึ่งก็เป็นมอดูลสำคัญที่อาจมีโอกาสได้ใช้ ซึ่งจะมีการกล่าวถึงในบทถัดๆไป
นอกจากนี้ก็อาจลองใส่
import pymel.core as pm
import maya.mel as mm
ซึ่งเป็นชุดคำสั่งของโปรแกรมมายาซึ่งอาจได้ใช้ แม้ว่าจะไม่บ่อยเท่า cmds ที่จะใช้เป็นหลัก
โฟลเดอร์ scripts นี้ยังถูกใช้งานอีกหลายอย่าง ไม่เพียงแค่เก็บ userSetup.py เท่านั้น ถ้าใครเขียนมอดูลขึ้นมาใหม่ก็ต้องนำมาเก็บไว้ในโฟลเดอร์นี้ หรือถ้าโหลดชุดคำสั่งอื่นๆเพิ่มเติมมาจากเว็บก็ต้องนำมาลงในนี้เช่นกัน
อ้างอิง