φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



แนะนำประสบการณ์สมัครทุนรัฐบาลจีน
เขียนเมื่อ 2011/11/24 00:46
แก้ไขล่าสุด 2023/02/25 22:35
 ช่วงนี้ทุนรัฐบาลจีนของหลายๆมหาวิทยาลัยก็ได้เริ่มประกาศรับสมัครออกมาแล้ว ได้เวลาสำหรับผู้ที่สนใจเรียนต่อในประเทศจีนจะได้มาเริ่มเตรียมตัว

เนื่องจากของปีที่แล้วเราเองก็สมัครทุนนี้และสุดท้ายก็ได้มาก็เลยอยากมาแบ่งประสบการณ์ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครๆที่ตั้งใจจะสมัครปีนี้ หรือคนที่ยังไม่รู้จักทุนนี้และเปิดเข้ามาอ่านเจอพอดีก็อาจจะสนใจลองสมัครขึ้นมา

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับทุนนี้ถ้าไปอ่านตามเว็บหลักจะเข้าใจได้ยากอยู่ดี ต้องพยายามรวบรวมข้อมูลจากหลายๆที่จึงจะพอเข้าใจ ดังนั้นจึงรู้สึกว่าการที่มีใครสักคนเขียนสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นพอสมควร แต่อ่านจากแหล่งเดียวหรือคนเดียวนั้นก็อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นหลังจากที่อ่านหน้านี้เสร็จแล้วก็ยังแนะนำให้ไปหาข้อมูลจากที่อื่นต่อด้วย เพราะคงไม่อาจเขียนให้ครอบคลุมทุกสิ่งที่จำเป็นได้ แต่จะพยายามใส่ข้อมูลและประสบการณ์เท่าที่รู้

ตอนที่สมัคร ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้จากการอ่านตามเว็บบอร์ด ถามรุ่นพี่ที่เคยได้มาก่อน โดยเฉพาะที่มีส่วนช่วยอย่างมากก็คือได้อ่านบทความที่คุณ tomimoto เขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเองในปี 2009 เอาไว้ยาวเหยียด จนรู้สึกได้ว่าที่ตัวเองได้ทุนมานี่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขา

เนื่องจากมันเก่ามากแล้ว ไฟล์บทความในที่ที่เคยโหลดมาตอนนี้ได้หายไปแล้ว โชคดีที่เรามีโหลดมาเก็บเอาไว้ จึงขออัปใหม่เองเลย แนะนำอย่างยิ่งว่าใครที่จะสมัครทุนรัฐบาลจีนต้องอ่านบทความของเขา

link>> http://www.mediafire.com/?abbnksiyh31wss2



รายละเอียดคร่าวๆของทุน

ก่อนอื่นคงต้องแนะนำให้ข้อมูลให้เข้าใจง่ายๆก่อนว่าทุนนี้เป็นทุนสำหรับอะไร มีเงื่อนไขยังไง

- ทุนนี้เป็นทุนยังไง?

ทุนรัฐบาลจีนเป็นทุนที่รัฐบาลจีนมอบให้กับนักศึกษาต่างชาติไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆในจีน โดยจะมีการแจกอยู่เป็นประจำทุกปี ปีละจำนวนมาก รายละเอียดดูได้ที่เว็บหลัก http://en.csc.edu.cn/

- ทุนแบ่งเป็นกี่ประเภทมีอะไรบ้าง?
มีหลากหลายมากทั้งทุนไปเรียนปริญญาและไปเรียนภาษา ส่วนถ้าแบ่งตามวิธีสมัครก็มีอยู่สองประเภทก็คือทุนที่สมัครกับมหาวิทยาลัยโดยตรง กับสมัครกับรัฐบาลจีนโดยตรงผ่านทางโครงการต่างๆ เช่น AUN เป็นต้น

สำหรับที่จะแนะนำในนี้จะพูดถึงแต่เฉพาะทุนสำหรับไปเรียนปริญญาโทและเอกเป็นหลัก ทุนประเภทอื่นนั้นเรามีข้อมูลน้อย และต่อให้เล่าไปมันก็ไม่ใช่ประสบการณ์ตรงอาจให้ข้อมูลได้ไม่ดีเท่าคนที่มีประสบการณ์สมัครทุนนั้นโดยตรง

สำหรับการสมัครทุนไปเรียนปริญญาโทหรือเอก สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครแบบไหนระหว่างสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงกับสมัครกับรัฐบาลจีนโดยตรงผ่านทางโครงการต่างๆ แต่ไม่สามารถสมัครทั้งสองทางพร้อมกันได้เพราะมีกฎห้ามไว้ ถ้าทำอาจโดนตัดสิทธิ์ทันที

เท่าที่รู้ คนส่วนใหญ่ที่ได้นี่ก็คือจะสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงมากกว่า เพราะมีจำนวนรับเยอะกว่า และมีความแน่นอนมากกว่าเพราะยื่นมหาวิทยาลัยโดยตรง

ข้อมูลข้างล่างจากตรงนี้ไปจะพูดถึงเฉพาะทุนที่สมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง

- การคัดเลือกทำยังไง?
แต่ละมหาวิทยาลัยอาจไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือทุกแห่งจะคัดเลือกโดยดูเอกสารเป็นหลัก ซึ่งเราต้องส่งไปทางไปรษณีย์ สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมกันนั้นก็ต่างกันออกไปตามแต่มหาวิทยาลัยด้วย อย่างไรก็ตามเอกสารโดยหลักๆจะเหมือนกัน

บางแห่งต้องมีติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาก่อนถึงจะสมัครได้ ในขณะที่บางแห่งไม่ต้อง บางแห่งต้องจ่ายค่าสมัครด้วย ในขณะที่บางแห่งฟรีไม่คิดตัง ม. ที่เก็บตังค่าสมัครแพงที่สุดเท่าที่รู้ก็คือ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (复旦大学, Fudan University) ที่เซี่ยงไฮ้ ต้องเสียค่าสมัคร ๘๐๐ หยวน แพงมาก

นอกจากนี้บางมหาวิทยาลัยมีการสอบสัมภาษณ์ด้วย แต่ส่วนใหญ่จะไม่มี แค่ส่งเอกสารไปก็จบเลย ส่วนการสอบข้อเขียนเท่าที่รู้ยังไม่เห็นมีมหาวิทยาลัยแห่งไหนที่ต้องสอบ

ทั้งหมดนี้ต้องดูประกาศในเว็บเอาถึงจะรู้ว่าแต่ละแห่งต้องการอะไรบ้าง

สรุปแล้วสิ่งที่ต้องทำโดยหลักๆก็คือตั้งใจเตรียมเอกสารให้ดีที่สุด ส่วนเอกสารต้องเตรียมอะไรบ้างนั้นจะเขียนเอาไว้ข้างล่าง

- หลักสูตรที่สมัครได้มีอะไรบ้าง?
มีให้เลือกได้หลากหลายมากเลย ส่วนใหญ่เกือบทุกคณะที่มีอยู่ก็เปิดให้ชาวต่างชาติเรียนได้ รวมทั้งยังมีหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษด้วย แต่ก็ไม่มาก ยกเว้นบางมหาวิทยาลัยที่เน้นหลักสูตรอินเตอร์

- ต้องรู้ภาษาจีนหรือเปล่า?
ยกเว้นคนที่จะไปเรียนสายภาษา นอกนั้นไม่ต้องมีพื้นฐานภาษาจีนแม้แต่นิดเดียวก็สามารถสมัครได้  แม้ว่าจะสมัครไปเรียนหลักสูตรธรรมดาที่สอนเป็นภาษาจีน เพราะเขาจะมีให้ทุนเรียนภาษาจีนก่อนหนึ่งปีถึงจะเข้าเรียนจริงๆ สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานหรือพื้นฐานไม่พอ

อย่างไรก็ตามมีพื้นฐานไว้สักหน่อยน่าจะได้เปรียบกว่า เพราะเรียนแค่หนึ่งปีอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เข้าไปนั่งเรียนฟังได้อย่างเข้าใจ แค่พอใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายเท่านั้นเอง

อีกอย่างคือถ้าใครมีใบผลสอบวัดระดับภาษาจีนแล้วยื่นไปพร้อมเอกสารด้วย โอกาสได้ทุนก็ย่อมจะเพิ่มขึ้น เพียงแต่ไม่รู้ว่ามีส่วนแค่ไหน เพราะคนที่ได้ทุนโดยไม่มีพื้นฐานภาษาจีนเลยก็มีเยอะ มันมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นอาจไม่สำคัญมาก

ส่วนคนที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์จะสามารถเรียนได้ทันทีเลย ไม่มีให้เรียนภาษาจีนก่อน เพราะยังไงก็ไม่ได้ใช้ตอนเรียนอยู่แล้ว แต่จะลำบากตอนใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร ดังนั้นก็ต้องพยายามฝึกภาษาจีนให้ได้จนได้อยู่ดี

- มหาวิทยาลัยอะไรบ้างที่มีทุนให้ และจำนวนทุนมีมากแค่ไหน?
ต้องเข้าไปดูในเว็บของแต่ละมหาวิทยาลัยเองถึงจะรู้ว่ามีทุนให้หรือเปล่า แต่โดยทั่วไปก็แทบจะทุกแห่งที่ดังๆในจีนจะมีหมด บางที่ก็อาจจะมีแต่ไม่ได้ประกาสในเว็บต้องเมลไปถามเองก็มี

จำนวนทุนที่ให้ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ไม่เท่ากัน บางที่ให้แค่ ๕ คน บางทีให้มากกว่า ๓๐ คน อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ว่านี้คือแข่งกันทั้งโลก ไม่ใช่นับแค่เฉพาะคนไทยหรือประเทศในภูมิภาค


บางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้บอกจำนวนที่รับในเว็บ ต้องดูจากผลประกาศของปีที่แล้วเอา หรือเมลไปถามเอง

สำหรับมหาวิทยาลัยในจีนที่ว่านี้ไม่นับที่อยู่ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สำหรับของไต้หวันนั้นก็มีทุนรัฐบาลไต้หวัน http://www.taiwanembassy.org/th/ct.asp?xItem=219690&ctNode=1796&mp=232

สำหรับการค้นมหาวิทยาลัยให้ดูได้ในวิกิพีเดีย เข้าไปไล่ดูรายละเอียดทีละมหาวิทยาลัยเลยว่าแห่งไหนมีสาขาวิชาที่เราต้องการหรือเปล่า สำหรับหน้านี้เป็นการจัดอันดับ  http://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_university_ranking


- สมัครพร้อมกันมากกว่าหนึ่งมหาวิทยาลัยได้มั้ย?
เท่าที่รู้คือสมัครหลายที่พร้อมกันได้ หลายคนที่รู้จักเขาก็สมัครกันทีเดียวหลายมหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่าเราจะติดได้แค่ที่เดียวเท่านั้น ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะติดที่ไหน ไม่มีการเลือกอันดับว่าอยากเข้าอันไหนมากที่สุด ทางคณะกรรมการทุนจะเป็นคนเลือกให้เราตามความเหมาะสม ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเขาตัดสินยังไงเหมือนกัน

การสมัครไปหลายที่เผื่อไว้จะทำให้เพิ่มโอกาสได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่อยากเข้า ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูให้ดี ถ้าจะสมัครหลายที่ต้องแน่ใจว่าแต่ละที่อยากเข้าทั้งหมดจริงๆ ไม่ว่าได้ที่ไหนก็ไม่เสียดาย

- ทุนได้เท่าไหร่ ครอบคลุมอะไรบ้าง และต้องตอบแทนคืนหรือเปล่า?
ทุนนี้เป็นทุนฟรี ไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องใช้ทุนคืน

สำหรับทุนที่จะได้รับก็คือจะได้ฟรีค่าเล่าเรียนและค่าที่พัก และยังได้เงินค่าใช้จ่ายรายเดือนมาใช้ด้วย โดยระดับปริญญาโทได้เดือน ๑๗๐๐ หยวน ปริญญาเอก ๒๐๐๐

แต่ว่าสำหรับบางมหาวิทยาลัยหอพักที่เตีรยมไว้ให้สำหรับเด็กทุนอาจจะไม่ดีนัก เช่นไม่มีห้องน้ำส่วนตัว กรณีนี้อาจขอเปลี่ยนได้โดยอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย

ค่าเดินทางเพื่อมายังจีนทั้งหมดต้องออกเอง เขาจะออกให้แต่ค่ารถสำหรับเดินทางจากเมืองที่มีสนามบินไปยังเมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่

นอกจากนี้เมื่อเดินทางมาถึงก็จะได้เงินก้อนแรกทันที (ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินที่จะได้รับในแต่ละเดือน) ซึ่งได้ ๑๕๐๐ หยวน สำหรับคนที่มาเรียนมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป ส่วนคนที่มาเรียนแค่ปีเดียวก็ได้ ๑๐๐๐ หยวน

นอกจากนี้ยังมีออกค่าประกันสุขภาพให้ฟรีด้วย แต่ค่าทำวีซ่าไม่ฟรีและก็ยังแพงด้วย

โดยรวมแล้วถือว่าได้เยอะทีเดียว แม้ว่าอาจจะไม่เท่าทุนประเทศอื่นเพราะค่าครองชีพในจีนมันต่ำติดดิน เงินที่ได้มาเท่านี้เพียงพอเหลือเฟือ (ถ้าไม่เอาแต่เที่ยวหรือช็อปจนหมดตัวนะ)

- ช่วงที่เปิดรับสมัครคือช่วงไหน และประกาศผลเมื่อไหร่?
แล้วแต่มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงเวลาต่างกันออกไปมาก มหาวิทยาลัยที่เปิดเร็วอาจเปิดตั้งแต่ตุลาคม และปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่บางแห่งที่ช้าก็อาจปิดรับสมัครประมาณเมษายนก็มี แนวโน้มโดยทั่วไปคือ ม. ยิ่งดังยิ่งเปิดรับเร็วและปิดเร็ว เท่าที่รู้มา ม. ที่เปิดและปิดรับสมัครเร็วที่สุดคือ มหาวิทยาลัยหนานจิง (南京大学, Nanjing University) ปิดวันที่ ๑๕ ธันวาคม ดังนั้นใครจะสมัครต้องรีบเต็มที่

ที่สำคัญ วันหมดเขตนับตามวันที่เอกสารส่งไปถึงมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัคร ไม่ใช่วันที่ประทับตราไปรษณีย์

ส่วนวันประกาศผล โดยทั่วไปก็จะอยู่ที่ราวๆต้นเดือนมิถุนายน

- หากสมัครแล้วไม่ได้ จะมีทุนอื่นรองรับหรือเปล่า หรือถ้ายังอยากเรียนด้วยทุนตัวเองจะได้หรือเปล่า?
อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละมหาวิทยาลัย เท่าที่รู้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เวลาสมัครทุนนี้ก็คือเป็นการสมัครเข้าศึกษาไปในตัวด้วยพร้อมกัน นั่นคือต่อให้ไม่ได้ทุนก็ยังอาจจะได้เข้าศึกษาเป็นนักเรียนที่เรียนด้วยทุนส่วนตัวก็ได้

หรือไม่ บางมหาวิทยาลัยก็จะมีทุนอื่นให้สมัครไปพร้อมๆกัน เช่นทุนรัฐบาลท้องถิ่น และทุนของมหาวิทยาลัยเอง สามารถยื่นสมัครสองทุนไปพร้อมๆกันได้ เพียงแต่ทุนเหล่านี้ให้เงินน้อยมาก บางทีก็เป็นทุนไม่เต็มส่วน บางทีก็ให้แต่ค่าเล่าเรียนแล้วต้องจ่ายค่าที่พักกับค่ากินอยู่เอาเอง ไม่อาจเทียบกับทุนรัฐบาลจีนได้เลย

มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจยื่นขอเสนอมอบทุนที่ว่านี่มาให้เองเมื่อเราไม่ผ่านการคัดเลือกของทุนรัฐบาลจีน เราไม่ต้องส่งเอกสารสมัครเพิ่มให้เหนื่อย


เอกสารที่ต้องเตรียม

ในส่วนของเอกสารนี้ เนื่องจากของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่ค่อยจะเหมือนกัน ดังนั้นที่เขียนไปนี้จะเขียนให้ครอบคลุมทั้งหมดไว้ก่อน แต่บางมหาวิทยาลัยอาจต้องการอะไรที่มากกว่านี้ หรือบางมหาวิทยาลัยอาจต้องการแค่ไม่กี่อย่างจากในนี้ก็ได้


1. แบบฟอร์มสมัครทุนรัฐบาลจีน
ต้องเข้าเว็บ http://laihua.csc.edu.cn ไปสมัครและกรอกข้อมุลให้เรียบร้อยแล้วปรินต์ออกมา

2. แบบฟอร์มสมัครมหาวิทยาลัย
ในเว็บของแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีระบบให้เข้าไปลงทะเบียนออนไลน์ พอกรอกข้อมูลเสร็จก็ปรินต์ออกมา

3. ใบรับรองผลการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ (พร้อมสำเนาตามจำนวนที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด)
ขอที่ฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัย

4. ปริญญาบัตรฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ (พร้อมสำเนาตามจำนวนที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด)
ปกติใบปริญญาบัตรที่เรารับในพิธีจะเป็นภาษาไทยอยู่แล้ว และมีเพียงใบเดียว แต่สำหรับฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเราสามารถไปขอจากฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยกี่ใบก็ได้ (ของจุฬาฯจ่าย ๒๐๐ บาท รอรับใน ๓ วันทำการ)

สำหรับคนที่ยังไม่จบ แต่กำลังจะจบก็ไม่จำเป็นต้องเตรียม เพราะว่ายังไม่มี

5. ใบรับรองว่าจบการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ (พร้อมสำเนาตามจำนวนที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด)
ขอที่ฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัย อันนี้บางมหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็น เพราะยังไงก็ต้องส่งใบปริญญาบัตรอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะใช้ได้กว้างกว่า แต่บางมหาวิทยาลัยก็ต้องการทั้งสองอย่างเลย

6. study plan หรือ personal statement
เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในจำนวนเอกสารทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นส่วนที่เราจะต้องใช้ความสามารถอย่างแท้จริงเพื่อเขียนขึ้นมา

study plan หรือ personal statement นี้แม้จะเรียกชื่อต่างกันแต่สิ่งที่เขียนนั้นไม่ได้ต่างกันนัก คือเป็นการเขียนข้อมูลเกี่ยวว่าเรามีประวัติการศึกษายังไง สนใจอะไร ตั้งใจจะเรียนอะไร ทำไมถึงอยากเรียนสาขานี้ มีแผนในอนาคตยังไง จบแล้วจะไปทำอะไร เขียนสรุปในพื้นที่ความยาวประมาณไม่เกินสองหน้ากระดาษ A4 ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะกำหนดไว้ว่าต้องเขียนยาวแค่ไหน

การเขียนนั้นต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ก็ภาษาจีน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องยากทีเดียวยิ่งถ้าไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หลายคนจะขี้เกียจสมัครทุนก็เพราะว่าต้องเขียนไอ้นี่ขึ้นนี่ล่ะ แต่ไม่ว่าจะขอทุนไหนส่วนใหญ่ก็ต้องเขียนทั้งนั้น ครั้งนี้หากเขียนขึ้นแล้วยังสามารถนำไปใช้ตอนทุนอื่นๆ เช่นทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือแม้แต่การสมัครมหาวิทยาลัยธรรมดาไม่ใช่การขอทุนก็ยังต้องเขียน ซึ่งอาจเขียนคล้ายๆกันแค่เปลี่ยนแปลงในรายละเอียด

สำหรับวิธีการเขียนนั้นเราอาจแนะนำไม่ได้มาก เพราะต่างกันออกไปตามสาขาวิชาที่แต่ละคนต้องการสมัคร ที่พอแนะนำได้อย่างหนึ่งคือ เราต้องแน่ใจว่าเรามีความสนใจด้านไหน อยากทำงานวิจัยอะไร แล้วก็เขียนไปตามนั้น พยายามเขียนให้ดูดีที่สุดแต่ข้อมูลทั้งหมดต้องเป็นความจริงเท่านั้นห้ามโกหก

เรื่องคำแนะนำในการเขียนนั้นสามารถหาอ่านได้จากหลายแห่งในอินเทอร์เน็ต สามารถลองค้นหาดูได้ ส่วนหนึ่งที่แนะนำคือให้ไปอ่านบทความของคุณ tomimoto ซึ่งเขียนเอาไว้ละเอียดมากทีเดียว

7. ใบ recommendation จากอาจารย์ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไปจากมหาวิทยาลัยที่เราจบมา
สำหรับการได้สิ่งนี้มาต้องไปหาอาจารย์ที่เรารู้จักให้ช่วยเขียนให้ บอกอาจารย์ว่าให้ช่วยเขียน recommendation อาจารย์ส่วนใหญ่จะรู้อยู่แล้วว่าควรจะเขียนยังไง ใบนี้จะเป็นตัวบอกว่าเรามีคุณสมบัติยังไงโดยดูผ่านมุมมองของอาจารย์ ซึ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้เราเพื่อเขาจะได้รับพิจารณาว่าเราควรจะได้ทุนหรือเปล่า

แน่นอนว่าควรให้อาจารย์ที่รู้แง่ดีของเราเยอะๆเป็นคนเขียน เพราะเขาจะเขียนแนะนำถึงตัวเราได้ง่าย ถ้าให้อาจารย์ที่ไม่ค่อยประทับใจเราเป็นคนเขียนให้เขาอาจเขียนให้ไม่ดี ซึ่งเราก็ไม่มีสิทธิ์อ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนด้วย ตามธรรมเนียมการเขียน recommendation เมื่อเขียนเสร็จอาจารย์จะปิดผนึกซองและเซ็นชื่อทับรอยที่ปิดผนึกซอง แล้วเราก็ต้องเอาซองที่ปิดผนึกอยู่นี่ส่งไปทั้งอย่างนั้นเลย แต่ถ้าอาจารย์ที่เคร่งน้อยหน่อยก็อาจให้เราดูก่อนที่จะปิดผนึกก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่
(ได้ยินว่ามีอาจารย์บางคนที่ง่ายกว่านั้นคือให้เราเป็นคนเขียนเอง บรรยายสรรพคุณให้ตัวเองชมตัวเองเต็มที่ เสร็จแล้วอาจารย์ก็แค่มาเซ็นชื่อให้แค่นั้น แต่แบบนั้นเราคิดว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่)

นี่น่าจะเป็นเอกสารที่เตรียมได้ยากที่สุดแล้วก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถเตรียมได้เอง ต้องเข้าหาอาจารย์ที่เรารู้จัก แถมยังต้องเป็นอาจารย์ระดับ รศ. หรือ ศ. เท่านั้นด้วย ซึ่งโดยปกติอาจารย์ระดับนี้ก็หายากอยู่แล้ว ต่อให้มีเวลาว่างเขาก็คงน้อย แถมเราจะไปเร่งเขาก็ไม่เหมาะเพราะเขาเป็นอาจารย์ ดังนั้นสิ่งนี้ขอให้เตรียมล่วงหน้าเป็นเวลานานเลย

ปัญหาก็คือตำแหน่งทางวิชาการในมหาวิทยาลัยในจีนนั้นได้มาง่ายกว่าในไทยมาก คือมีศาสตราจารย์และรอ'ศาสตราจารย์อยู่เกลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งต่างจากในไทยที่บางแห่งอาจไม่มีศาสตราจารย์อยู่เลย และรองศาสตราจารย์เองก็ยังน้อยแค่ไม่กี่คน ดังนั้นจึงเป็นปัญหาสำหรับคนไทยที่จะสมัครแต่ก็ช่วยไม่ได้เนื่องจากเขากำหนดมาอย่างนี้

แต่หากหาไม่ได้จริงๆก็อาจต้องลองส่งเมลไปหากรรมการที่รับสมัครของมหาวิทยาลัยนั้นๆว่าพอจะยอมให้ใช้อาจารย์ที่ไม่มีตำแหน่งได้หรือเปล่า โดยอธิบายเหตุผลไปว่าในไทยหาอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงได้ยาก ถ้าเขายอมก็ดีไป


8. ใบตรวจสุขภาพ (สำเนา)
ใบนี้โหลดจาก http://en.csc.edu.cn/uploads/foreinphy.pdf

แต่ถ้าวันไหนที่ลิงค์เสียไปแล้วก็เข้าหน้าเว็บหลักของทุน csc ไปหาโหลดได้ http://en.csc.edu.cn หรือไม่ก็ไปขอที่สถานที่ทำวีซ่าจีน


ปรินต์มาแล้วก็เอาไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ อย่าลืมเอาพาสปอร์ตไปด้วยเวลาไปตรวจ พอเสร็จได้เสร็จแล้วก็เอาไปถ่ายเอกสารเพื่อใช้ส่ง ส่วนใบจริงไม่ต้องส่งไปด้วย ให้เก็บไว้กับตัวให้ดี

หลังจากที่ได้ทุนมาแล้วเราก็ยังจะต้องไปตรวจสุขภาพใหม่อีกรอบด้วย เพราะใบตรวจสุขภาพนี้มีอายุใช้งานได้แค่ ๖ เดือน

9. สำเนาพาสปอร์ตที่ยังไม่หมดอายุการใช้งาน
บางแห่งอาจไม่ต้องใช้ แต่ยังไงการจะสมัครก็ต้องมีพาสปอร์ตแน่นอนอยู่แล้ว เพราะต้องกรอกหมายเลขพาสปอร์ตในใบแบบฟอร์ม ถ้ายังไม่มีก็รีบไปทำ พาสปอร์ตนี้จะเป็นเสมือนบัตรประจำตัวประชาชนเราตลอดเวลาที่เรียนอยู่ที่นั่น

10. ใบสอบวัดระดับภาษาจีน (HSK) ถ้ามี
ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ยกเว้นคนที่จะเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาษา

11. เอกสารอื่นๆเพิ่มเติมตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ
เนื่องจากแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ต้องดูในรายละเอียดการสมัคร

12. เอกสารอื่นๆที่อยากเพิ่มเข้าไปเองตามความเหมาะสม
นอกจากเอกสารที่ทางมหาวิทยาลัยขอแล้ว ใครอยากใส่อะไรเพิ่มเติมไปเพื่อเป็นการยืนยันถึงความสามารถและความพร้อมของตัวเองก็ทำได้ด้วย และเป็นเรื่องที่ควรจะทำ

ตรงส่วนนี้เราได้รับคำแนะนำมาจากบทความของคุณ tomimoto ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้คิดจะเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเช่นกัน เอกสารเหล่านี้ได้แก่เช่น
- จดหมายแปะหน้า
- สารบัญรายชื่อเอกสาร
- CV
- ใบสำเนาของประกาศนียบัตรหรือผลงานต่างๆว่าเรามีความสามารถอะไรหรือผลงานอะไรให้ใส่ไปให้หมด เช่นใบเรียนดี เกียรตินิยม ความประพฤติเรียบร้อย ร่วมกิจกรรมอะไรที่มีความสำคัญ ความสามารถพิเศษ เช่นภาษา ใบผลสอบ TOFLE, IELT, JLPT ฯลฯ ประมาณว่ามีอะไรดีก็อวดไปให้หมดไม่มีอะไรเสีย

สำหรับส่วนนี้ขอไม่พูดถึงรายละเอียดเพราะอ่านที่คุณ tomimoto เขียนคงจะได้รายละเอียดดีกว่า

ก็จบเท่านี้ในส่วนของเอกสาร ถือว่าเยอะและยุ่งยากในการเตรียมการมากพอสมควรทีเดียว ควรเผื่อเวลาไว้เป็นเดือนในการเตรียมการ



ลิงค์รายละเอียดรับสมัครของมหาวิทยาลัยต่างๆบางแห่งในปี 2012
- 大连理工大学 (Dalian University of Technology) http://dutsice.dlut.edu.cn/e/ShowNews.aspx?n_id=1126
- 北京师范大学 (Beijing Normal University) http://www.bnulxsh.com/jieshao/2011CSC_Postgraduate_en.html
- 北京航天航空大学 (Beihang University) http://is.buaa.edu.cn/HTML/Scholarship/CSC%20Scholarship2012.html
- 北京理工大学 (Beijing Institute of Technology) http://isc.bit.edu.cn/show.aspx?id=329&cid=75
- 南京大学 (Nanjing University) http://hwxy.nju.edu.cn/English/NoticeDetail.aspx?ID=2b0fe8a1-2551-44f5-91f5-06b5ba7345c9
-中国药科大学 (China Pharmaceutical University) http://wb.cpu.edu.cn/enDetail.aspx?id=175
- 华中科技大学 (Huazhong University of Science & Technology) http://english.hust.edu.cn/Full_Scholarship.html
- 复旦大学 (Fudan University) http://iso.fudan.edu.cn/downloads/zxjxj20111215.swf
- 上海理工大学 (Shanghai Univeresity for Science and technology) http://isoe.usst.edu.cn/s/17/t/69/66/07/info26119.htm
- 浙江大学 (Zhejiang University) http://iczu.zju.edu.cn/english/type1/01032501.html 
- 重庆大学 (Chongqing University)  http://international.cqu.edu.cn/ArticleView/2011-12-26/Article_View_416.Htm
- 兰州交通大学 (Lanzhou Jiaotong University) http://wsc.lzjtu.edu.cn/news.asp?id=370

ข้อมูลทั้งหมดที่ให้มานี้เป็นประสบการณ์สอบของปี 2011 ซึ่งไม่รู้ว่าในปีถัดๆมาจะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดตรงไหน แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก
และประสบการณ์ทั้งหมดนี้ได้มาจากของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเคยสมัคร หรือเคยคิดจะสมัคร หรือจากเพื่อนที่รู้จักเท่านั้น สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่เคยหาข้อมูลอาจจะมีรายละเอียดการสมัครที่ไม่ตรงหรือเพิ่มเติมไปจากตรงนี้ได้


สำหรับเรื่องที่ว่าพอประกาศผลว่าได้ทุนแล้วจะเป็นยังไงต้องเตรียมตัวยังไงต่อนั้นก็เป็นสิ่งที่อยากจะเขียนต่อไปเหมือนกัน แต่คิดว่าคงไปเขียนเอาตอนช่วงพฤษภาคมที่เริ่มประกาศผลแล้วจะดีกว่า ตอนนี้อยากให้ทุกคนมุ่งเป้าไปที่การสมัครให้ผ่านก่อน
 

 
ก็หวังว่าที่เขียนมานี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่สนใจไปเรียนต่อจีน  สุดท้ายนี้ขอให้คนที่สมัครโชคดีได้ทุนกันทุกคน



ลิงค์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

- รายละเอียดและขั้นตอนการขอทุนรัฐบาลจีน >> http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beauhlinglings&month=07-2012&date=04&group=3&gblog=2
- ขั้นตอนการขอ X-visa เข้าประเทศจีนสำหรับศึกษาต่อ >> http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beauhlinglings&month=07-2012&date=17&group=3&gblog=3
- ทำไมถึงอยากมาเรียนต่อนอก >> https://phyblas.hinaboshi.com/20120622
 

 


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文