φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พระราชวังดร็อตนิงโฮล์ม สวนบารอก และเรือนจีน
เขียนเมื่อ 2014/06/19 02:23
แก้ไขล่าสุด 2024/02/04 06:11
#พฤหัส 8 พ.ค. 2014

หลังจากที่เมื่อวานเดินทางมาถึงสตอกโฮล์มแล้วแต่ว่าไปเที่ยวเมืองข้างๆมาก่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20140617

วันนี้จะเป็นการเที่ยวในสตอกโฮล์มบ้าง

สตอกโฮล์ม (Stockholm) เป็นเมืองหลวงของสวีเดน และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเหนือ ลักษณะตัวเมืองตั้งอยู่บนหมู่เกาะมากมายที่เกิดจากแม่น้ำที่แตกเป็นหลายสายบริเวณใกล้ปากแม่น้ำที่ออกสู่ทะเลบอลติก

ด้วยการที่มีแม่น้ำลากผ่านเต็มไปหมดจนเป็นเกาะแก่งมากมายทำให้เป็นเมืองที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก สถานที่ท่องเที่ยวภายในสตอกโฮล์มมีอยู่มากมายจนไม่อาจเที่ยวหมดได้ภายในไม่กี่วัน

ครั้งนี้เรามีเวลาอยู่ที่นี่เพียง ๓ วัน แถมยังต้องแบ่งเวลาไปเที่ยวเมืองข้างเคียงด้วย จึงมีเวลาเที่ยวในนี้เองค่อนข้างจำกัดมาก มีสถานที่น่าสนใจที่พลาดที่จะไปอยู่หลายแห่งเลย ได้เก็บแต่สถานที่หลักๆที่อยากไปมากจริงๆ



สำหรับวันนี้เนื่องจากจะเที่ยวอยู่แต่ในสตอกโฮล์มและไปไหนมาไหนหลายที่ จึงตัดสินใจซื้อบัตรสำหรับจ่ายค่าโดยสารแบบคิดราคาเป็นรายวัน คือภายในระยะเวลาที่กำหนดให้สามารถโดยสารรถเมล์, รถไฟ หรือรถรางภายในสตอกโฮล์มได้ไม่จำกัด

ซึ่งก็มีอยู่สองทางเลือกคือบัตร stockholm card กับ day card ธรรมดา สองชนิดนี้เหมือนกันตรงที่ว่าใช้บริการขนส่งมวลชนในสตอกโฮล์มภายในเวลาที่กำหนดได้หมด แต่ว่าบัตร stockholm card จะทำให้สามารถเข้าสถานที่เที่ยวหลายแห่งได้ฟรีด้วย แล้วก็ยังแถมบริการพิเศษอีกหลายอย่างเลย แต่ว่าราคาก็จะแพงกว่ามากด้วย

เทียบราคาดูถ้าหากซื้อบัตรสำหรับ ๑ วัน (๒๔ ชั่วโมง) day card ธรรมดาราคา ๑๐๐ โครน แต่ stockholm card ราคา ๕๒๕ โครน แพงกว่ามากเลย แต่ว่าค่าเข้าชมสถานที่เที่ยวต่างๆในสตอกโฮล์มก็แพงมากเป็นร้อยโครนอยู่แล้ว ดังนั้นหากในหนึ่งวันเข้าชมสัก ๔-๕ แห่ง stockholm card ก็จะคุ้มกว่า

สถานที่ที่ต้องจ่ายค่าเข้าส่วนใหญ่ก็คือพวกพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งตามแผนในวันนี้ก็ไม่ได้กะจะเข้าเยอะขนาดนั้น ดังนั้นเลยตัดสินใจซื้อแค่ day card ธรรมดาราคา ๑๐๐ โครนก็พอแล้ว บัตรนี้หากใช้นั่งรถไฟฟ้าแค่ ๔ ครั้งในวันหนึ่งก็ถือว่าคุ้มแล้วเพราะบัตรเติมเงินธรรมดาขึ้นรถไฟฟ้าครั้งละ ๒๕ โครนตลอดสาย

พูดถึงราคารถไฟฟ้าแล้ว ในสตอกโฮล์มนี่คล้ายกับในปักกิ่งเลยคือจ่ายราคาเดียวตลอดสายไม่ว่าจะไปลงที่ไหน แต่ที่ต่างกันก็คือราคา ที่ปักกิ่งขึ้นรถไฟฟ้าครั้งละ ๒ หยวน (≈ ๑๐ บาท) แต่ที่สตอกโฮล์มครั้งละ ๒๕ โครน (≈ ๑๒๕ บาท) ต่างกันสิบกว่าเท่าเลยทีเดียว ค่าครองชีพในประเทศแถบนี้ยังไงก็โหดกว่ามาก

วันนี้เนื่องจากแค่เที่ยวในเมืองไม่ได้ไปไหนไกลก็เลยไม่ค่อยรีบเท่าไหร่ กว่าจะออกก็ค่อนข้างสายพอสมควรเลย ประมาณเก้าโมงกว่า

บัตร SL รายวันจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่ที่ใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งเราเริ่มใช้บัตรแบบ ๒๔ ชั่วโมงเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าตอนประมาณเก้าโมงครึ่ง นั่นหมายความว่ามันจะมีผลจากตอนนี้ไปจนถึงเก้าโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น ดังนั้นพรุ่งนี้เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากบัตรนี้ได้อยู่ ถือว่าซื้อบัตรแค่วันเดียวใช้จนคุ้มเลย



สถานที่แรกที่จะไปนั้นก็คือพระราชวังดร็อตนิงโฮล์ม (Drottningholms slott) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะโลเวิน (Lovön) ในอำเภอเอเกเรอ (Ekerö) ซึ่งอยู่ในปริมณฑลของสตอกโฮล์ม อยู่ไม่ไกลจากใจกลางสตอกโฮล๋ม สามารถเดินทางไปได้ง่าย

พระราชวังนี้ถูกสร้างครั้งแรกเมื่อปี 1580 โดยจักรพรรดิโยฮันที่ ๓ (Johan III) กษัตริย์สวีเดนช่วงปี 1568 - 1592 โดยสร้างให้กับราชินีคาตารีนา ยอเกลโลนิซา (Katarina Jagellonica) ซึ่งคำว่าดร็อตนิง (drottning) แปลว่าราชินี และโฮล์ม (holm) แปลว่าเกาะ ดังนั้นชื่อดร็อตนิงโฮล์มจึงหมายความว่าเกาะของราชินี

แต่หลังจากนั้นก็ได้ถูกเพลิงไหม้ในปี 1661 แล้วก็ถูกสร้างใหม่ขึ้นมาอีกโดยเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกแบบฝรั่งเศสและฮอลันดา

ตั้งแต่ปี 1981 พระราชวังดร็อตนิงโฮล์มกลายเป็นหนึ่งในที่พักส่วนตัวของเชื้อพระวงศ์สวีเดน ที่นี่ได้รับการตั้งให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโกตั้งแต่ปี 1991



การเดินทางไปพระราชวังดร็อตนิงโฮล์มนั้นสามารถไปได้โดยนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีบรอมมาพลอน (Brommaplan) จากนั้นก็นั่งรถเมล์จากที่นั่นต่อ



รถเมล์จะพาไปใกล้กับปราสาทจากนั้นก็เดินต่อไปหน่อย วันนี้ฝนตกตลอดตั้งแต่เช้าเลย ทำให้เดินทางลำบากอยู่เหมือนกัน ต้องกางร่มตลอดขณะเที่ยว



ตัวปราสาทเมื่อมองจากด้านหน้า



ทางเข้าปราสาท สามารถเข้าชมด้านในได้



ค่าชมปราสาทนี้คือ ๑๒๐ โครน ซึ่งก็ถือว่าแพง ตอนแรกก็ลังเลอยู่ว่าควรจะเข้าไปชมดีหรือไม่ แต่พอเห็นเขาติดป้ายบอกว่าด้านในห้ามถ่ายรูปก็เลยคิดว่าไม่เข้าดีกว่า

แม้สำหรับบางคนอาจถือว่าการถ่ายรูปไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าสำคัญมากอยู่ เพราะมันเป็นสิ่งช่วยบันทึกให้เราจำสถานที่ที่เคยไปมาได้ดียิ่งขึ้น ลำพังเพียงเห็นด้วยตาแล้วจำแค่นั้นสักวันก็ลืม

อย่างไรก็ตามถ้าไปเที่ยวแล้วเอาแต่ถ่ายรูปโดยไม่สนใจมองด้วยตาอย่างเต็มที่ละก็แบบนั้นก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดสำคัญของการเที่ยวก็คือมาเพื่อดูได้เห็นของจริง ไม่เช่นนั้นดูภาพที่คนอื่นถ่ายเอาก็ได้

ทั้งการชมด้วยตาสัมผัสด้วยกายและดื่มด่ำกับบรรยากาศ ทั้งการถ่ายรูปเก็บบันทึกความทรงจำ ต้องให้ความสำคัญกับทั้งคู่ไปด้วยกัน แบบนี้จึงรู้สึกว่าเที่ยวได้คุ้มที่สุด

ถึงแม้จะไม่ได้จ่ายเงินเข้าไปด้านใน แต่ภายในตัวปราสาทก่อนที่จะถึงตรงที่ตรวจตั๋วก็ได้เห็นอะไรพอสมควร แค่นี้ก็ได้เห็นถึงความงดงามของการตกแต่งภายในปราสาทนี้แล้ว ด้านในคงจะยิ่งกว่านี้





ออกมาเดินเล่นแถวด้านหน้าปราสาทต่อสักหน่อย



ยามที่ยืนเฝ้าอยู่หน้าปราสาทเป็นผู้หญิง แต่ดูแล้วกำยำพอสมควรถ้าไม่มองใกล้ๆก็ไม่รู้เลย



มีแมวเดินเล่นอยู่หน้าปราสาทก็เลยถ่ายไว้สักหน่อย แมวที่นี่ก็ไม่ได้ต่างกับในไทยเท่าไหร่เลยนะ แต่เหมือนจะดูสมบูรณ์กว่า



จังหวะนั้นเห็นเรือผ่านมาเข้าท่าที่นี่ด้วย เข้าท่าดีนะ ที่นี่สามารถนั่งเรือมาเที่ยวได้เช่นกัน แต่ใช้เวลามากกว่านั่งรถไฟฟ้าต่อรถเมล์พอสมควร แต่ถ้าใครชอบนั่งเรือชมทิวทัศน์เล่นสบายๆก็น่าสนใจอยู่



ปืนใหญ่แถวบริเวณหน้าปราสาท



รูปปั้นตั้งอยู่มากมายบริเวณริมน้ำ



ร้านอาหารเล็กๆ สามารถเข้าไปนั่งเล่นได้ฟรี



ตอนแรกที่คิดว่าจะไม่เข้าไปชมด้านในปราสาทเดินเล่นแถวด้านหน้าปราสาทก็คิดว่าการเที่ยวที่นี่คงจะจบแค่นี้แล้ว แต่พอดูแล้วนึกขึ้นได้ว่ายังมีบริเวณด้านหลังปราสาทให้เดินได้อยู่ จากตรงนี้เดินอ้อมไปด้านขวาของปราสาท



จะพบว่าด้านหลังเป็นสวนสวยๆขนาดใหญ่ นี่เป็นสวนแบบบารอก ข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้



พื้นที่บางส่วนของสวนกำลังปรับปรุงอยู่จึงไม่สามารถเข้าไปเดินได้ แต่ก็ยังสามารถเดินในบริเวณส่วนใหญ๋ได้อยู่




ด้านหลังตัวปราสาท มองจากบริเวณสวน




สวนนี้กว้างใหญ่พอสมควรทีเดียว




เลี้ยวซ้ายไปตรงป่าด้านข้างจะเจอกับเต็นต์ยาม (Vakttältet) เป็นอีกสิ่งก่อสร้างที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1782



เมื่อเข้าไปลึกด้านในอีกก็จะเจอกับพระราชวังจีน (Kina slott)



ที่นี่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1753 โดยจักรพรรดิอดอล์ฟ เฟรดริก (Adolf Fredrik) กษัตริย์สวีเดนช่วงปี 1751 - 1771 โดยเป็นของขวัญแต่งงานที่มอบให้กับราชินีโลวิซา อุลริกา (Lovisa Ulrika) โดยเริ่มแรกเป็นอาคารไม้

แล้วหลังจากนั้นจึงถูกสร้างใหม่ในปี 1769 ให้กลายเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโรโกโกแบบฝรั่งเศสซึ่งผสมกับศิลปะแบบจีนที่มีสีสัดเฉิดฉายดูแปลกตาดังที่เห็นในปัจจุบัน

แม้จะเรียกชื่อว่าปราสาทจีนก็ตาม แต่ลักษณะศิลปะที่เห็นนี้ดูจะเป็นแนวผสมผสานมากกว่า ไม่ใช่จีนแท้ๆ ต่างจากวังจริงๆในจีนอยู่พอสมควร

ตั้งแต่ปี 1991 ที่นี่ยังได้รับการตั้งให้เป็นมรดกโลกร่วมกันกับพระราชวังดร็อตนิงโฮล์มด้วย

ภายในสามารถเข้าชมได้ โดยค่าเข้าชม ๑๐๐ โครน แต่ถ้าซื้อเป็นตั๋วเข้าทั้งพระราชวังดร็อตนิงโฮล์มพร้อมกับปราสาทจีนก็จะเป็นราคา ๑๘๐ โครน ประหยัดลงไป ๔๐ โครน อย่างไรก็ตามในเมื่อตัดสินใจไม่เข้าพระราชวังแล้วที่นี่ก็จึงไม่เข้าด้วยเช่นกัน



มองจากอีกด้าน



อาคารอื่นๆที่สร้างตามแบบจีนในภายในบริเวณ




และข้างๆมีสวนอยู่




เดินชมตรงนี้เสร็จก็ไม่มีอะไรแล้วที่เหลือก็เป็นทางเดินในป่า จากตรงนี้สามารถเดินกลับไปยังทางที่จากมาได้



หลังจากเที่ยวตรงนี้เสร็จก็ประมาณเที่ยงแล้ว เรานั่งรถเมล์เพื่อกลับไปยังสถานีบรอมมาพลอนแล้วก็นั่งรถไฟฟ้าเพื่อไปที่สถานีรถไฟกลางสตอกโฮล์ม

ใกล้ๆสถานีมีถนนคนเดินย่านร้านค้า เรามาที่นี่เพื่อหาอะไรทานกันเป็นมื้อเที่ยง แต่ว่าแถวนี้ไม่ค่อยมีร้านอาหารมากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ขายของมากกว่า กว่าจะเจอที่กินก็เลยใช้เวลานาน



สุดท้ายก็เจอศูนย์อาหารที่น่าสนใจมีอาหารหลากหลาย เห็นพิซซาน่าทานก็เลยลองสั่งมาทาน พิซซานี้เรียกว่าเชาเชา (ciaociao) ราคา ๑๐๐ โครน อร่อยทีเดียว แต่ว่าเยอะเกินคาดไปหน่อย เลยทานได้นิดเดียวแล้วต้องห่อกลับ เอาไว้ไปทานเป็นมื้อเช้าของวันถัดไปได้



หลังทานเสร็จก็ได้เวลาไปเที่ยวสถานที่ต่อไป วันนี้เราเรื่อยเปื่อยมากจริงๆ นี่บ่ายสองกว่าแล้วเพิ่งจะไปเที่ยวมาได้สถานที่เดียวเอง การเที่ยวพร้อมกันหลายคนก็ดูอบอุ่นดี แต่ก็ต้องแลกกับการที่ต้องรอกันไปมาจึงทำให้ช้าลงไป

สถานที่เที่ยวเป้าหมายต่อไปที่เราจะไปก็เป็นที่เที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งที่มาสตอกโฮล์มแล้วไม่ควรพลาดไปชม นั่นก็คือพิพิธภัณฑ์วอซา (Vasamuseet)
https://phyblas.hinaboshi.com/20140621


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ต่างแดน >> ยุโรป >> สวีเดน
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทยุโรป
-- ท่องเที่ยว >> มรดกโลก
-- ท่องเที่ยว >> แมว

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文