φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาชานเมืองตะวันออก
เขียนเมื่อ 2015/04/03 12:11
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 29 มี.ค. 2015

วันก่อนไป
พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาเจิ้งหยางเหมิน (中国铁道博物馆正阳门管) มาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20150330

ครั้งนี้ก็มาต่อกันที่
พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาชานเมืองตะวันออก (中国铁道博物馆东郊馆) ที่นี่เน้นจัดแสดงรถไฟของจริงที่เคยใช้งานจริงแต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้วจึงนำมาตั้งแสดงให้คนทั่วไปชมได้

ที่นี่อยู่ค่อนข้างไกล ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองปักกิ่ง ไม่มีรถไฟฟ้าไปถึง สามารถนั่งรถเมล์ไปได้แต่ว่าต้องเดินไกลสักหน่อย

สถานที่นี้ตั้งอยู่ติดกับทางรถไฟที่วนเป็นวงกลม ทางรถไฟส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ทดลองทางรถไฟแห่งชาติ (国家铁道试验中心) โดยวงรอบรางรถไฟมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ กม.

พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนตั้งอยู่ด้านนอกของวงรอบรางรถไฟ ส่วนภายในวงรอบรางรถไฟนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อีกสองแห่งที่น่าสนใจ เช่นพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน (中国电影博物馆) และพิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินและยานอวกาศปักกิ่ง (北京航空航天模型博物馆)

รถเมล์มีอยู่สองป้ายที่สามารถไปได้คือป้ายหนานเกาซี (南皋西) กับป้ายหวนสิงเถี่ยเต้า (环行铁道) ทั้งสองป้ายนี้อยู่คนละทิศกันเลย



เรานั่งรถเมล์ไปลงที่ป้ายหวนสิงเถี่ยเต้าเพราะว่าสะดวกมากกว่าในการนั่งรถมาจากทางมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะเดินไกลสักหน่อยก็ตาม

ตำแหน่งที่ลงนั้นมีลักษณะเป็นย่านชุมชนเล็กๆ



เมื่อเดินไปตามทางสักพักก็เห็นป้ายชี้บอกทางไปพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน ซึ่งต้องไปทางเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนอยู่แล้ว แต่ไม่ยักจะมีป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์รถไฟจีน



ระหว่างทางผ่านศูนย์ทดลองทางรถไฟแห่งชาติ



ถนนระหว่างทางมีคนวางขายมะพร้าวอยู่เต็มเลย



เดินไปสักพักก็เริ่มเคว้ง แถวนี้เป็นชานเมืองจริงๆ ดูว่างเปล่าไม่ค่อยมีอะไร



ถึงถนนด้านหน้าที่จะเลี้ยวเข้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ตรงนี้เหมือนจะเป็นดงแท็กซี มีรถแท็กซีเต็มไปหมดเลย เหมือนกับว่าจะมาส่งคนลงมาเที่ยวที่นี่แล้วจอดรอ



ป้ายหน้าทางเข้า ถึงแล้วนะ



ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์เป็นสีฟ้าสลับขาว ดูไม่ค่อยเหมือนพิพิธภัณฑ์เท่าไหร่เลย ลักษณะอาคารเป็นแบบโกดัง



ทางเข้า ซื้อตั๋วแล้วเข้าไปได้เลย ราคา ๒๐ หยวนเช่นเดียวกับสาขาเจิ้งหยางเหมิน แต่เรามีบัตรนักเรียนเลยลดครึ่งราคาเหลือ ๑๐ หยวนอีกเช่นเคย



ข้างในมีรถไฟตั้งเรียงกันอยู่เป็นแถวๆ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ๘ ส่วน ไล่ตั้งแต่ A เรียงตามอักษรไปถึง H แต่ละส่วนมีป้ายบอกว่ามีรถไฟอะไรบ้าง เริ่มจากส่วน A มีรถไฟ ๑๓ ชนิด เรียงตัวกันอยู่ซ้ายขวา



ในนี้มีรถไฟอยู่หลากหลายชนิดมาก คงยกมาพูดถึงไม่หมด จะยกเฉพาะอันที่เด่นๆมาบางส่วน

ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าขบวนแรกสุดคือรถไฟรุ่น NY6 หมายเลข 0007 เป็นรถไฟพลังดีเซล สร้างโดยโรงงานผลิตของเยอรมันตะวันตก สร้างเมื่อปี 1972 ความเร็ว ๑๐๘ กม./ชม.



ข้างๆรถไฟขบวนนี้มีตั้งโทรทัศน์และที่นั่ง เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับรถไฟ มีคนมานั่งดู ส่วนใหญ่เป็นเด็ก




แล้วก็มีเกมให้เล่นอีกด้วย



รถไฟขบวนนี้รุ่น ND3 หมายเลข 0001 สร้างโดยโรงงานผลิตของประเทศรูมาเนีย ในปี 1984



ตรงตัวรถไฟมีชื่อประเทศแล้วก็ชื่อโรงงานผลิตอยู่ด้วย



รถไฟขบวนนี้มีชื่อรุ่นว่าตงฟางหง 1 (东方红1) เป็นรถไฟพลังดีเซล เริ่มสร้างขึ้นใช้เมื่อปี 1964 ส่วนขบวนนี้เป็นหมายเลข 4290 สร้างในปี 1971 ความเร็ว ๑๒๐ กม./ชม.



ชื่อตงฟางหงนี้เหมือนกับดาวเทียมดวงแรกของจีนที่ถูกส่งออกไปโคจรรอบโลกเมื่อปี 1970

ถัดมาดูต่อที่ส่วน B บ้าง ขบวนนี้เป็นรุ่นตงเฟิง 4C (东风4C) ก็เป็นรถไฟพลังดีเซลเหมือนกัน สร้างตั้งแต่ปี 1991 ความเร็ว ๑๐๐ กม./ชม.



สามารถเข้าไปดูด้านในตรงส่วนที่นั่งคนขับได้ด้วย ผู้ชายหน้าดุๆคนที่อยู่ในรูปนี้ดูเหมือนจะพาลูกมาเที่ยว



ข้างๆกันมีรถไฟหัวจรวด จงหัวจือซิง (中华之星) แปลว่าดาวแห่งจีน เป็นรถไฟกลุ่มแรกที่จีนออกแบบสร้างเอง เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2002 และเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2005 ออกแบบมาให้มีความเร็ว ๒๗๐ กม./ชม. ความเร็วสูงสุด ๓๒๑.๕ กม./ชม.



ตราสัญลักษณ์



ข้างๆกันนี้มีทางให้ขึ้นไปด้านบนเหมือนเป็นสะพานลอย ขึ้นจากตรงนี้



เมื่อขึ้นไปด้านบนก็จะมองเห็นทิวทัศน์ของที่นี่ทั้งหมด



อีกซีกนึงที่ยังไม่ได้ไปเดิน ทางโน้นจะเป็นรถไฟพวกรุ่นเก่ากว่า หน้าตาดูแตกต่างกันออกไปเลย



สะพานนี้พาดข้ามมายังส่วน C มาดูกันต่อ ขบวนนี้คือรุ่นเสาซาน1 (韶山1) เป็นรถไฟพลังไฟฟ้า ความเร็ว ๙๐ กม./ชม.



คันนี้ก็สามารถเข้าไปดูด้านในตรงที่นั่งคนขับได้



เดินเข้าไปลึกๆในส่วนนี้มีรถไฟตู้นอนรุ่น YW22 อักษร YW ย่อมาจาก ying wo พินอินของคำว่าอิ้งว่อ (硬卧) แปลว่าที่นอนแบบแข็ง



ต่อมาที่ส่วน D นี่คือรถไฟรุ่น ND4 หมายเลข 15 เป็นรถไฟพลังดีเซล ความเร็ว ๑๐๐ กม./ชม.



ส่วนนี้ยังจัดแสดงพวกป้ายบนรถไฟที่แสดงชื่อสถานที่ต้นทางและปลายทาง



นี่เป็นเส้นที่เชื่อมถึงต่างประเทศ อันที่เชื่อมไปถึงรัสเซียหรือมองโกเลียมีภาษารัสเซียกับมองโกเลียซึ่งเขียนเป็นอักษรซิริลลิกกำกับด้วย ส่วนอันล่างสุดเชื่อมกับเปียงยางเมืองหลวงเกาหลีเหนือ มีภาษาเกาหลีด้วย



จากนั้นข้ามมาอีกฟากแล้ว เดินถัดมาตรงส่วน E ทางนี้จะเป็นรถไฟที่ค่อนข้างเก่าลงมาหน่อยแล้ว นี่คือรถไฟรุ่น BTS สร้างโดยเยอรมัน ใช้ในพม่าตั้งแต่ปี 1966 จนถึงปี 2006 หลังเลิกใช้ทางการพม่าได้มอบเป็นของขวัญให้กับการรถไฟจีน ก็เลยนำมาแสดงที่นี่



รถไฟรุ่น SN หมายเลข 23 สร้างในปี 1929 เป็นรถไฟพลังไอน้ำที่ใช้วิ่งบนรางแคบ



สามารถขึ้นมาชมด้านบนได้



ส่วนนี่คือรุ่นเซิ่งลี่ 3 (胜利3) หมายเลข 152 รถไฟพลังไอน้ำ สร้างโดยบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นปี 1939 ความเร็ว ๑๐๐ กม./ชม.



สามารถขึ้นไปชมด้านบนได้



ตรงนี้คือรุ่น KD3 หมายเลข 373 สร้างโดยญี่ปุ่นในปี 1921 ความเร็ว ๕๐ กม./ชม.



ตรงนี้จัดแสดงป้ายชื่อบริษัทที่ติดบนรถไฟ



เทียบยุคต่างๆ



มีของญี่ปุ่นด้วย ป้ายเป็นภาษาญี่ปุ่น อันนี้มีเขียนปีเอาไว้ปีโชววะที่ 18 หรือก็คือปี 1943



ขบวนนี้คือรุ่น PL9 หมายเลข 146 เป็นรถไฟพลังไอน้ำ สร้างโดยโรงงานของเบลเยียมเมื่อปี 1922 ความเร็ว ๘๐ กม./ชม. ใช้ในเส้นทางรถไฟระหว่างปักกิ่งกับอู่ฮั่น



ตรงนี้อยู่มุมด้านในสุดของอาคาร มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นดอกไม้บานเต็มสวน



จากนั้นไปต่อส่วน F นี่คือรถไฟรุ่น เจี่ยฟ่าง (解放) หมายเลข 2101 หรือมีอีกชื่อว่ารุ่นกั๋วชิ่ง (国庆) ซึ่งหมายถึงวันชาติ เพราะถูกสร้างขึ้นเพื่อต้อนรับวันครบรอบก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนปีแรก คือปี 1950 เป็นรถไฟพลังไอน้ำ ความเร็ว ๗๐ กม./ชม.



ขบวนนี้ก็เป็นรุ่นเจี่ยฟ่างเหมือนกัน หมายเลข 1191 ขบวนนี้ได้ชื่อว่ารุ่นจูเต๋อ (朱德) สร้างขึ้นโดยญี่ปุ่นเมื่อปี 1942



ต่อมาไปที่ส่วน G ตรงนี้มีรุ่นเจี่ยฟ่างอีกขบวน หมายเลข 304 ขบวนนี้ได้ชื่อว่าเหมาเจ๋อตง สร้างขึ้นในปี 1941 โดยญี่ปุ่น โดดเด่นตรงที่มีรูปเหมาเจ๋อตงติดอยู่ด้านหน้าด้วย



ขบวนนี้มีการนำหุ่นมาวางไว้ด้วย ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่าหุ่นตัวนี้ที่อยู่บนรถไฟหน้าคล้ายใคร...




ถัดมาส่วนสุดท้าย ส่วน H ตรงนี้มีรถบริการราชการ (公务车) เป็นรถไฟขบวนที่ถูกใช้โดยคนสำคัญของรัฐบาล ในนี้มีทั้งหมด ๔ คันจัดเรียงวางต่อเนื่องกัน



ด้านในเปิดให้เข้าชมได้ ภายในมีจัดวางของตั้งแสดงอยู่ แต่จะเข้าไปต้องต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก ๑๐ หยวน ตรงนี้เราไม่ได้เข้าไป



ถึงจะไม่ได้เข้าไปแต่ก็สามารถมองส่องภายในจากด้านนอกได้บางส่วน นี่ส่วนหัวขบวน



รุ่น YW หมายเลข 60959 นี้เป็นขบวนที่เหมาเจ๋อตงใช้ มีหุ่นจำลองตั้งไว้ข้างๆด้วย



ด้านในมีหุ่นเหมาเจ๋อตงอยู่ด้วย



ทางออก ถ้าเดินภายในรถไฟโดยเริ่มจากตรงทางเข้าก็จะมาสิ้นสุดตรงนี้



ดูจบหมดแล้ว เดินกลับมาที่หน้าทางเข้า ตรงนี้เป็นร้านขายของที่ระลึก



ก็มีพวกแบบจำลองรถไฟมากมาย แพงๆทั้งนั้น



ที่ถูกๆหน่อยก็เป็นพวกของเล่น อย่างอันนี้เลโก้





จบแล้วออกมาเข้าห้องน้ำ มีเรื่องที่ต้องระวังอย่างหนึ่งก็คือภายในส่วนจัดแสดงไม่มีห้องน้ำ ถ้าจะเข้าก็ต้องออกมาด้านนอกเท่านั้น ดังนั้นก่อนเข้าควรจะเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อน



หน้าอาคารจัดแสดงดอกยวี่หลานบานส่วนก็กำลังบานสวย



เดินออกมาห่างจากอาคารจัดแสดงก็จะเห็นทางรถไฟซึ่งมีรถไฟวางเฉยๆอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่ตรงนี้ไม่ได้มีป้ายติดบอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถไฟไว้



นี่คือรถไฟโบกี้อาหาร ซึ่งจอดเฉยๆอยู่ตรงนี้ทำเป็นภัตตาคารให้คนเข้าไปกินได้



ดูเหมือนว่าจะเอามาจากขบวนที่วิ่งระหว่างเมืองจิ่วเจียง (九江) มณฑลเจียงซี กับกว่างโจวหรือเซี่ยงไฮ้



เข้ามาด้านใน ตรงนี้เป็นส่วนขายของเล็กๆน้อยๆ



ส่วนตรงนี้คือส่วนที่เป็นร้านอาหาร มีคนมานั่งทานอยู่เยอะเลยเพราะใกล้เที่ยง



เราเองก็หิวพอดีเช่นกัน ก็จัดไปสักหน่อย ไม่งั้นก็ไม่รู้จะไปกินที่ไหน ที่นี่ก็ไม่น่าหาร้านอาหารง่ายๆด้วย อาหารที่นี่มีให้เลือกแค่ไม่กี่อย่างราคา ๒๘ หยวนหมดทุกอย่าง ถือว่าแพงแต่ก็เป็นปกติสำหรับสถานที่เที่ยว อันนี้ที่เราสั่งคือข้าวเป็ดราดซอสไต้หวัน (台湾酱鸭饭)



โบกี้อาหารของขบวนรถไฟนี้เท่าที่เห็นก็ไม่ได้ต่างอะไรจากรถไฟที่เคยนั่งมานัก เพียงแต่อันนี้เขาเอามาจอดอยู่เฉยๆเท่านั้นเอง


กินเสร็จแล้วท้องอิ่มก็ได้เวลาออกจากที่นี่ ที่หน้าอาคารจัดแสดงเห็นเด็กกำลังเล่นว่าวอยู่



มองขึ้นไปดูว่าวที่เด็กกำลังชักอยู่ ว่าวหน้าตาคุ้นๆล่ะ



จากตรงนี้มองไปเห็นพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีนอยู่ฟากโน้นด้วย แม้จะเห็นอยู่กับตาแบบนี้แต่จริงๆแล้วการจะเดินไปถึงทีนั่นไม่ใช่ใกล้ๆเลยเพราะต้องอ้อมไกล ที่นั่นอยู่ส่วนด้านในวงรอบรางรถไฟ



แต่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะไปเที่ยวที่นั่นต่อ เพราะปกติแล้วก็ไม่ค่อยได้ดูหนังจีนเท่าไหร่ด้วยสิ ถึงไปก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจอะไร ถ้าเป็นหนังหรืออนิเมะญี่ปุ่นก็ละก็คงจะไปแน่นอน เป้าหมายที่เราจะไปต่อคือพิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินยานอวกาศซึ่งอยู่ด้านในวงรอบรางรถไฟเหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินยานอวกาศเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงแบบจำลองพวกเครื่องบินแล้วก็ยานอวกาศต่างๆ ซึ่งก็ดูแล้วก็น่าสนใจมากเหมือนกัน แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีคนรู้จักนักหากเทียบกับพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน



เราออกไปนอกประตูเพื่อลองหารถแท็กซีที่จะพาไปปรากฏว่าที่เห็นจอดกันเยอะๆตั้งแต่แรกนั้นไม่มีคนขับเลย มีอยู่คันนึงมีคนขับแต่เขาก็กลับไม่รู้จักสถานที่ก็เลยไปไม่ได้

สุดท้ายจึงตัดสินใจเดินไปซะเลย มันค่อนข้างไกลอยู่แต่ไม่เป็นไร ได้นั่งพักกินข้าวแล้วมีแรงน่าจะเดินไปไหวอยู่

เริ่มจากเดินไปทางเหนือไกลพอสมควรจนมาถึงป้ายรถเมล์หนานเกาซีซึ่งเป็นอีกป้ายรถเมล์ที่สามารถมาลงเพื่อมาพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนได้ จากตรงนี้ถัดไปอีก ๑ ป้ายรถเมล์ก็จะไปถึงพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน



ระยะทางไม่ได้ไกลมากสามารถเดินไปได้ เดินมาสักระยะก็เห็นป้ายชี้บอก



ในที่สุดก็มาถึงพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน



จุดขายตั๋วและทางเข้า



แต่เป้าหมายเราไม่ใช่ที่นี่ ต้องเดินผ่านตรงนี้ออกไปไกลออกไปอีก



ระหว่างทางมันดูโล่งและเคว้งจนสงสัยว่าทำไมเขาต้องมาสร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ในที่แบบนี้ แต่ก็คงเป็นเพราะต้องใช้พื้นที่มากจึงต้องมาตั้งไกลตัวเมือง



เดินสักพักก็มาถึงหมู่บ้านเล็กๆชื่อหมู่บ้านเฮย์เฉียว (黑桥村)



เป็นย่านชุมชนเล็กๆที่ไม่ได้มีอะไรมาก



เดินผ่านตรงนี้ในที่สุดก็มาถึงพิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินยานอวกาศซึ่งเป็นเป้าหมาย



แต่แล้วพอมาที่ประตูทางเข้าก็ต้องมาพบกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งเขียนบอกความจริงอันโหดร้ายที่ทำให้หัวใจแตกสลายได้ นั่นคือที่นี่ปิดปรับปรุงอยู่ เท่ากับที่อุตส่าห์เดินมาตั้งไกลนี่เสียเที่ยวเสียแล้ว



ครั้งก่อนที่ไปวัดเจินเจวี๋ย (真觉寺) ก็เหมือนกัน ไปถึงแล้วปิดปรับปรุงเลยต้องเสียเที่ยว https://phyblas.hinaboshi.com/20141224

ไปโดยไม่ได้รู้เลยว่าที่เที่ยวมันปิดอยู่ ก็เป็นบทเรียนว่าควรจะหาข้อมูลให้ดีว่าสถานที่ที่จะไปนั้นปิดหรือเปล่า โดยเฉพาะที่ที่ไปลำบาก แต่ว่าต้องยอมรับว่าบางทีก็หาลำบาก โดยเฉพาะสถานที่ที่ไม่ค่อยมีคนไปมากต่อให้ปิดไปก็ไม่มีใครมาพูดถึงในเว็บ ถ้าเป็นที่ที่มีเว็บเป็นของตัวเองก็คงไม่มีปัญหา แต่ที่นี่ไม่มีเว็บ ต้องไปดูตามเว็บท่องเที่ยวซึ่งบางเว็บก็ไม่ได้แก้ข้อมูลว่าปิดไปหรือยัง ต้องตั้งใจค้นอย่างละเอียดดูเอง ซึ่งปกติแล้วก็คงจะไม่มีใครจะมาค้นโดยละเอียดขนาดนั้นเพราะที่เที่ยวก็ไม่ได้ปิดกันบ่อยๆ อย่างไรก็ตามครั้งนี้เราก็ไม่ถึงกับเสียดายมากนักเพราะยังไงก็อยู่ปักกิ่งอยู่แล้ว ไม่ได้มาลำบากเกินไป แต่ถ้าไปเที่ยวต่างเมืองมีเวลาจำกัดแล้วเจอแบบนี้ก็คงหดหู่อยู่เหมือนกัน

เมื่อเป้าหมายที่เล็งไว้พลาดไปเสียแล้วก็ไม่เป็นไร ยังมีสถานที่อื่นที่ตั้งเป้าอยากจะไป นั่นคือย่านศิลปะ 798 (798艺术区) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ระหว่างที่เรากำลังพยายามหาว่าขึ้นรถที่ไหนดีก็เห็นรถเมล์คันหนึ่งวิ่งผ่านมา เราจึงสังเกตว่าป้ายรถเมล์อยู่ไม่ไลกจากตรงนี้จึงรีบวิ่งไปยังป้ายทันก่อนที่รถเมล์จะมาถึง รถเมล์คันนั้นเป็นสาย 851 ซึ่งสามารถนั่งไปถึงที่หมายที่ต้องการได้โดยตรงพอดี เท่ากับว่าโชคดีไป

พลาดที่เที่ยวที่นึงไปไม่เป็นไรสถานที่ต่อไปรออยู่ https://phyblas.hinaboshi.com/20150405



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文