φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ศาลเจ้าเหวินเทียนเสียง วีรบุรุษแห่งราชวงศ์ซ่งใต้
เขียนเมื่อ 2015/06/20 17:35
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#จันทร์ 8 มิ.ย. 2015

ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของจีนมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์มาแล้วหลายครั้ง ถึงอย่างนั้นอาณาจักรของจีนก็ยังคงอยู่มาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนผู้ครอบครองไปเรื่อยๆเท่านั้น

เวลาที่เกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินขึ้นมาวิถีชีวิตของผู้คนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับข้าราชการหรือขุนศึกต่างๆแล้วถ้าหากปรับตัวเพื่อเข้ากับผู้ปกครองใหม่ได้ก็สามารถใช้ชีวิตตามเดิมต่อไป

แต่ก็บ่อยครั้งที่มีบุคคลผู้ภักดีต่อราชวงศ์เก่ามากจนยอมตายตาม ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแผ่นดิน ยอมตายดีกว่าที่จะต้องมารับใช้ราชวงศ์ผู้ปกครองใหม่ จนผู้คนชื่นชมยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์แห่งราชวงศ์นั้น

ครั้งนี้ขอพูดถึงวีรบุรุษคนหนึ่งซึ่งเป็นคนของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับราชวงศ์หยวนจนถึงที่สุดก่อนที่จะพ่ายแพ้แล้วตายตามราชวงศ์ไป เขาคือเหวินเทียนเสียง (文天祥)

เหวินเทียนเสียงมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1236 - 1283 ซึ่งเป็นปลายยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋, ปี 1127 - 1279) จนถึงต้นราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) เป็นข้าราชการและกวีที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง เขามีบทบาทอย่างมากในการประคับประคองราชวงศ์ซ่งที่ต้องรับศึกหนักจากการโจมตีของราชวงศ์หยวนที่นำโดยกุบไลข่าน ก่อนที่จะพ่ายแพ้และถูกจับเป็นเชลยแล้วก็ถูกประหารในที่สุด

เขามักถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษปลายราชวงศ์ซ่ง (宋末三杰, ซ่งมั่วซานเจี๋ย) ร่วมกับลู่ซิ่วฟู (陆秀夫) และจางซื่อเจี๋ย (张世杰) ซึ่งต่างก็ช่วยกันต่อสู้เพื่อราชวงศ์ซ่งใต้จนตัวตายเช่นเดียวกัน

เหวินเทียนเสียงเกิดในปี 1236  บ้านเกิดอยู่ที่มณฑลเจียงซี เขาสอบได้จอหงวนในปี 1256 และเข้ารับราชการเขามาทำงานที่เมืองหางโจว (杭州) ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อว่าเมืองหลินอาน (临安) มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งใต้

ในช่วงนั้นราชวงศ์ซ่งได้ปกครองแผ่นดินจีนทางตอนใต้อยู่ ในขณะที่ชนเผ่ามองโกลซึ่งนำโดยเจงกิสข่านและผู้นำรุ่นต่อๆมาก็เริ่มเข้าตียึดแผ่นดินทางตอนเหนือของจีน ในปี 1234 ได้โค่นล้มราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวหนวี่เจิน (女真族) ซึ่งปกครองแผ่นดินจีนทางตอนเหนือในตอนนั้น แล้วยึดแผ่นดินมาได้ทั้งหมด จากนั้นก็ตั้งปักกิ่งเป็นเมืองหลวงโดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่าหยวนต้าตู (元大都) หลังจากนั้นในปี 1271 กุบไลข่านซึ่งเป็นผู้นำมองโกลในขณะนั้นก็ได้ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิปกครองแผ่นดินจีน ชื่อว่าราชวงศ์หยวน

ในปี 1274 กองทัพของราชวงศ์หยวนได้เริ่มบุกโดยมุ่งหมายที่จะตีราชวงศ์ซ่งให้แตกเพื่อรวบรวมแผ่นดินจีนให้มาอยู่ในมือทั้งหมด ทำให้ทางราชวงศ์ซ่งต้องรับศึกหนัก แม่ทัพที่สำคัญๆที่มีบทบาทมากในการรับศึกในตอนนั้นก็คือเหวินเทียนเสียง ลู่ซิ่วฟู และจางซื่อเจี๋ย วีรบุรุษทั้ง ๓

ผลของสงครามนั้นค่อนข้างจะขาดลอย กองทัพของราชวงศ์ซ่งไม่มีทางที่จะต้านทางกองทัพของราชวงศ์หยวนอันทรงพลังได้เลย กองทัพของราชวงศ์หยวนบุกตียึดเมืองต่างๆไปเรื่อยๆ

ปี 1276 เมื่อเห็นว่ายังไงก็สู้ไม่ได้ทางราชวงศ์ซ่งจึงพยายามเจรจาสงบศึก แต่ก็ไม่เป็นผล จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งในขณะนั้นคือจักรพรรดิซ่งกงตี้ (宋恭帝) ซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์เมื่อยังเด็กได้ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและบังคับให้ไปบวช เมืองหลวงหลินอาน (หางโจว) โดนราชวงศ์หยวนยึดไป แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้รักชาติที่ไม่ยอมแพ้แล้วตั้งพี่ชายของจักรพรรดิซ่งกงตี้ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นชื่อจักรพรรดิซ่งตวานจง (宋端宗) แล้วย้ายเมืองหลวงหนีลงใต้มาอยู่ที่เมืองฝูโจว (福州) มณฑลฝูเจี้ยน

ทัพราชวงศ์หยวนยังตามมาบุกต่อที่ฝูเจี้ยน ทางราชวงศ์ซ่งซึ่งไม่มีทางสู้ได้ก็แพ้แล้วต้องถอยลงใต้ไปอีก สุดท้ายถอยไปจนถึงมณฑลกวางตุ้ง

การต่อสู้ไปสิ้นสุดลงที่หยาซาน (厓山) ซึ่งเป็นบริเวณที่ปัจจุบันตั้งอยูในเขตเมืองเจียงเหมิน (江门) มณฑลกวางตุ้ง ในปี 1279 การต่อสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่าศึกทะเลที่หยาซาน (厓山海战) โดยทัพของราชวงศ์ซ่งถูกไล่ต้นจนมุมทำให้ลู่ซิ่วฟูพาจักรพรรดิโดดน้ำตายไปเพื่อหนีทัพราชวงศ์หยวน ส่วนจางซื่อเจี๋ยก็ต้องเผชิญกับพายุที่โหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้เขาจมน้ำตาย

วีรบุรุษทั้ง ๒ คนได้ตายลงแล้วพร้อมกับจุดจบของราชวงศ์ซ่ง ส่วนเหวินเทียนเสียงนั้นได้ถูกจับไปเป็นเชลยพาตัวกลับไปหยวนต้าตู (ปักกิ่ง) เมืองหลวงของราชวงศ์หยวน จักรพรรดิกุบไลข่านต้องการให้เหวินเทียนเสียงมาช่วยทำงาน จะมอบตำแหน่งการงานดีๆให้ แต่เขาก็ปฏิเสธมาโดยตลอดเพราะถือว่าตัวเองเป็นข้ารับใช้ของราชวงศ์ซ่ง ไม่ต้องการทำงานให้พวกมองโกล ในที่สุดกุบไลข่านก็ได้แต่ตัดใจ เวลาผ่านไปจนถึงปี 1283 ในที่สุดเหวินเทียนเสียงก็ถูกสั่งประหาร จบชีวิตลงด้วยวัย ๔๗ ปี

ช่วงที่เหวินเทียนเสียงถูกจองจำอยู่ที่ปักกิ่งนั้นเขาได้เขียนบทกวีต่างๆซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักขึ้นมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทประพันธ์ที่ชื่อว่า กั้วหลิงติงหยาง (过零丁洋) ซึ่งท่อนสุดท้ายนั้นโด่งดังมาก เขียนว่า 人生自古谁无死, 留取丹心照汗青 "ชีวิตคนตั้งแต่โบราณมามีใครไม่ตายบ้าง เหลือไว้แค่เพียงหัวใจอันภักดีที่เจิดจรัสอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์"



เวลาผ่านไปจนถึงคราวที่ราชวงศ์หยวนของพวกมองโกลล่มสลายลงในปี 1368 แผ่นดินตกเป็นของราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) พอถึงปี 1376 ได้มีการสั่งให้สร้างศาลเจ้าเหวินเทียนเสียง (文天祥祠) ไว้ในที่ที่เหวินเทียนเสียงเคยถูกจองจำอยู่

ศาลเจ้านั้นยังคงตั้งอยู่ตรงนั้นมาถึงปัจจุบัน พอถึงปี 1979 ได้ขึ้นทะเบียนโดยหน่วยงานปกป้องสมบัติทางวัฒนธรรมของปักกิ่ง และในปี 1983 ก็ได้มีการปรับปรุงและเริ่มเปิดเป็นสถานที่เที่ยวให้คนทั่วไปได้เข้าชมตั้งแต่ปี 1984



การเดินทางมาที่นี่สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีจางจื้อจงลู่ (张自忠路站) แล้วเดินต่อมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ว่าครั้งนี้เราแวะมาเที่ยวหลังจากที่เที่ยวหอระฆังและหอกลอง (钟鼓楼) ซึ่งอยู่ใกล้สถานีสือช่าไห่ (什刹海站) https://phyblas.hinaboshi.com/20150618

ก็เลยเดินมาจากตรงนั้นซึ่งอยู่ไกลออกไปมากกว่า ใช้เวลาเดินพอสมควรแต่ก็สามารถมาได้เหมือนกัน

นี่คือหน้าทางเข้าฝู่เสวียหูท่ง (府学胡同) ซึ่งเป็นซอยที่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเหวินเทียนเสียง ที่นี่เป็นย่านเมืองเก่าแห่งหนึ่งที่มีสิ่งก่อสร้างหลายหลังที่ได้ขึ้นทะเบียนสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของปักกิ่ง



เดินเข้ามาไม่นานก็เจอซุ่นเทียนฝู่เสวีย (顺天府学) ซึ่งเป็นอาคารเก่าเคยใช้เป็นสถาบันการศึกษามาตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง เดิมทีตัวอาคารสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์หยวนเป็นวัดชื่อวัดเป้าเอิน (报恩寺) หลังจากนั้นพอเข้ายุคราชวงศ์หมิงแล้วจักรพรรดหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ปักกิ่งก็ได้ปรับปรุงที่นี่ใหม่แล้วก็ขยายเพิ่มเติมออกไป




ปัจจุบันอาคารเก่านี้ถูกใช้เป็นโรงเรียนประถมชื่อโรงเรียนประถมฝู่เสวีย (府学小学) ไม่ใช่สถานที่เที่ยวที่สามารถเข้าชมได้


มองเข้าไปภายใน



จากนั้นเดินถัดมาติดกันก็คือศาลเจ้าเหวินเทียนเสียงที่เราตั้งใจจะมา



เข้าไปข้างในค่าเข้าชม ๕ หยวน นักเรียนสามารถลดเหลือ ๒ หยวนได้ แต่ไม่นับนักศึกษามหาวิทยาลัยเราจึงยังต้องจ่ายเต็มราคา อาคารที่เห็นตรงหน้านี้คืออาคารหลักที่ชื่อว่ากั้วทิง (过厅)



บัตรเข้าชม



ที่ผนังนี้คือบทกวี เจิ้งชี่เกอ (正气歌) ที่เหวินเทียนเสียงเขียนขึ้นเมื่อถูกจองจำในช่วงสุดท้ายก่อนตาย



เข้าไปภายในตัวอาคารกั้วทิง ภายในนี้จัดแสดงประวัติของเหวินเทียนเสียงตั้งแต่เกิดจนเริ่มรับราชการแล้วก็ตาย







นี่เป็นเส้นทางที่เหวินเทียนเสียงเดินทางเพื่อหนีทัพราชวงศ์หยวน



ทางซ้ายคือข้อความที่เหวินเทียนเสียงเหลือทิ้งไว้ก่อนตาย ส่วนทางขวาคือภาพวาดเหวินเทียนเสียงภายในคุก



บริเวณที่เหวินเทียนเสียงถูกประหาร เป็นย่านที่เรียกว่าไฉซื่อ (柴市) ปัจจุบันคือไช่ซื่อโข่ว (菜市口)



ข้อความที่เหวินเทียนเสียงเขียน



ภาพวาดเหวินเทียนเสียงที่ถูกวาดในช่วงยุคราชวงศ์หมิง



ข้อความเขียนถึงเกี่ยวกับเหวินเทียนเสียงซึ่งเขียนโดยเหมาเจ๋อตง



หนังสือต่างๆที่เขียนเกี่ยวกับเหวินเทียนเสียง



ตารางไล่เรียงเหตุการณ์ในชีวิตของเหวินเทียนเสียงตั้งแต่เกิดจนตายโดยย่อ



จากนั้นเดินทะลุผ่านอาคารนี้ออกมาก็จะเจอลานด้านหลังซึ่งมองเข้าไปด้านในสุดจะเห็นอาคารเสี่ยงถาง (享堂) มีขนาดเท่ากับอาคารกั้วทิง



ด้านหน้ามีต้นไม้อยู่ ต้นไม้นี้เชื่อกันว่าปลูกโดยเหวินเทียนเสียงเอง มันงอกหันไปทางทิศใต้โดยบังเอิญ ทำให้ดูเหมือนเป็นสิ่งแสดงถึงจิตวิญญาณของเหวินเทียนเสียงที่เคารพรักแผ่นดินเกิดซึ่งอยู่ทางใต้



ภายในอาคารเสี่ยงถางมีรูปปั้นของเหวินเทียนเสียง



สำหรับศาลเจ้าเหวินเทียนเสียงก็มีอยู่แค่นี้ ถือว่าเล็กมากจริงๆ แต่ก็ไม่ผิดหวังที่ได้มา ถือว่ามารู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง ในปักกิ่งยังมีสถานที่สำคัญเกี่ยวกับบุคคลสำคัญอยู่อีกหลายคนซึ่งตั้งใจว่าจะไปแวะเวียนแล้วนำมาพูดถึง



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文