φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



เซียนหนงถาน แท่นบูชาเทพแห่งการเกษตร
เขียนเมื่อ 2015/10/24 20:50
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 18 เม.ย. 2015

ในปักกิ่งมีแท่นบูชาสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงอยู่ ๕ แห่ง เทียนถาน (天坛) แท่นบูชาสวรรค์, ตี้ถาน (地坛) แท่นบูชาปฐพี, รื่อถาน (日坛) แท่นบูชาสุริยะ, เยวี่ยถาน (月坛) แท่นบูชาจันทรา และเซียนหนงถาน (先农坛) แท่นบูชาเทพแห่งการเกษตร

หลังจากที่ได้ไปชมแท่นบูชาแห่งอื่นมาหมดแล้วดังที่เคยได้เล่าไป แห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ซึ่งจะไปเยี่ยมชมคราวนี้คือเซียนหนงถาน

เซียนหนงถานตั้งอยู่ติดกับเทียนถาน หากใครมาเที่ยวเทียนถานก็สามารถแวะมาได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามไม่ค่อยมีใครรู้จักที่นี่มากนัก เพราะไม่ได้มีชื่อเสียงหรือความสำคัญมากเท่า แท่นบูชาแห่งอื่นอย่างตี้ถาน รื่อถาน เยวี่ยถานเองก็ไม่ใช่ที่ที่คนทั่วไปจะสนใจไปเช่นกัน คนส่วนใหญ่ก็คงไปกันแต่เทียนถาน

บางทีเซียนหนงถานนี้เองก็ไม่ได้ต่างจากแท่นบูชาอีก ๓ แห่ง ไม่ได้โดดเด่นเท่าเทียนถาน นั่นก็คงใช่ ถ้าหากพูดถึงตัวสถานที่มันเองแล้ว

แต่ว่าปัจจุบันนี้อาคารส่วนหนึ่งของเซียนหนงถานได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง (北京古代建筑博物馆) ซึ่งทำให้มันกลายเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ น่ามาเที่ยวเป็นอย่างมาก เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่ค่อนข้างอยากแนะนำให้มาเที่ยวกันดูเพราะทำออกมาได้ดีมาก

โดยส่วนใหญ่แล้วพวกสิ่งก่อสร้างโบราณต่างๆที่ถูกอนุรักษ์ไว้มักจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ให้คนมาชมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่นั้น สำหรับเซียนหนงถานเองก็ได้ใช้อาคารส่วนหนึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวของเซียนหนงถานเองเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันอาคารส่วนหนึ่งกลับถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่กลับเป็นหัวข้อที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

มีสถานที่โบราณอีกหลายแห่งที่ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นป้อมประตูเก่าเต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门) ซึ่งได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับสถานที่เลย https://phyblas.hinaboshi.com/20150411

เช่นเดียวกัน ที่นี่เองก็ใช้ระบบที่ว่าซื้อตั๋วอันเดียวเพื่อเข้าชม ๒ ส่วนด้วยกัน คือส่วนของเซียนหนงถาน และส่วนของพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณ

ขอแบ่งเล่าเป็น ๒ ส่วน สำหรับในหน้านี้จะพูดถึงส่วนของเซียนหนงถาน แล้วตอนต่อไปค่อยพูดถึงส่วนของพิพิธภัณฑ์



เซียนหนงถานถูกสร้างขึ้นพร้อมกับเทียนถานเมื่อปี 1420 สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐, ปี 1403 - 1424) แห่งราชวงศ์หมิง เพื่อใช้บูชาเทพเสินหนง (神农) เทพแห่งการเกษตรในตำนานของจีน

เซียนหนงถานนั้นเป็นชื่อเรียกรวมๆของบริเวณนี้ แต่ที่จริงแล้วนอกจากส่วนของแท่นบูชาเทพแห่งการเกษตรและอาคารที่เกี่ยวข้องแล้ว ในบริเวณยังประกอบไปด้วยส่วนที่ใช้ทำพิธีอื่นๆ ได้แก่อาคารไท่ซุ่ยเตี้ยน (太岁殿) ซึ่งใช้บูชาเทพไท่ซุ่ย (太岁神) ซึ่งเป็นเทพแห่งดาวในจินตนาการดวงหนึ่งที่สมมุติว่าอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับดาวพฤหัสบนท้องฟ้า มีความสำคัญในการกำหนดปีในสมัยก่อน ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1420 พร้อมกับแท่นบูชาเทพแห่งการเกษตร เป็นหมู่อาคารที่มีทั้งหมด ๔ หลัง

เซียนหนงถานตอนที่เริ่มถูกสร้างขึ้นนั้นมีชื่อว่าซานชวานถาน (山川坛) ซึ่งแปลว่าแท่นบูชาแห่งภูเขาและแม่น้ำ แต่ว่าต่อมาในปี 1530 แท่นบูชาเทพแห่งท้องฟ้า เทียนเสินถาน (天神坛) และแท่นบูชาเทพแห่งผืนดิน ตี้ฉีถาน (地祇坛) ได้ถูกสร้างขึ้นในส่วนใต้ของบริเวณนี้ ที่นี่จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเสินฉีถาน (神祇坛)

ต่อมาในปี 1576 จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเซียนหนงถาน หลังจากนั้นในช่วงปี 1753 - 1754 สมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆, 1736 - 1795) แห่งราชวงศ์ชิงได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอาคารอีกจำนวนหนึ่งทำให้ที่นี่กลายเป็นหมู่อาคารขนาดใหญ่ แต่พอหมดยุคราชวงศ์ชิง เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐจีน (ปี 1911 - 1949) ที่นี่ก็หมดความสำคัญไป สิ่งก่อสร้างหลายอย่างในนี้ถูกรื้อทิ้ง ปี 1916 ที่นี่ถูกทำเป็นสวนสาธารณะ ปี 1936 มีการสร้างสนามกีฬาขึ้นทับในส่วนตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่าสนามกีฬาเซียนหนงถาน (先农坛体育场)

จนถึงปัจจุบันแม้ว่าจะมีอาคารหลายส่วนถูกรื้อออกไปแล้ว แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกจำนวนมาก ในปี 2001 เซียนหนงถานได้ขึ้นทะเบียนปกป้องโดยหน่วยงานอนุรักษณ์สมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจีน

สำหรับอาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนนั้นได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี และตั้งแต่ปี 1991 ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง



การเดินทางมาที่นี่เนื่องจากว่าปัจจุบันยังไม่มีรถไฟฟ้ามาถึงจึงต้องนั่งรถเมล์มาเท่านั้น โดยลงที่ป้ายหนานเหว่ย์ลู่ (南纬路) จะใกล้ที่สุดหรือถ้าใครเที่ยวเทียนถานแล้วจะเดินเลยมาเที่ยวที่นี่ต่อก็ได้ ปกติแล้วคนมาเที่ยวเทียนถานจะนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่ประตูตะวันออก ถ้าเดินเที่ยวเสร็จก็ออกทางประตูตะวันตกแล้วเดินเลยมาเที่ยวเซียนหนงถานได้

หน้าประตูทางเข้าทิศเหนือ เมื่อเดินผ่านประตูไปแล้วจะเห็นที่ขายตั๋วอยู่ให้ซื้อก่อนค่อยเดินต่อไป ราคาตั๋วคือ ๑๕ หยวน แต่เราเป็นนักศึกษาก็ลดเหลือ ๘ หยวน ยังไงก็ถือว่าถูกและคุ้มดีมาก



ซื้อตั๋วเสร็จก็เดินเข้ามาอีกหน่อยจึงจะเห็นประตูทางเข้าส่วนบริเวณด้านในของเซียนหนงถาน ยื่นบัตรที่ซื้อมาเพื่อผ่านประตูตรงนี้ แต่ถ้าใครไม่ได้ซื้อบัตรมาจากประตูทางเข้าด้านนอกแต่แรกก็ต้องเดินย้อนกลับไปซื้อ



เมื่อเดินเข้ามาแล้วก็จะเจออาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนซึ่งเป็นส่วนที่ทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมจีน แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่เข้าไปแต่จะดูส่วนอื่นก่อนให้ครบค่อยกลับมาดู



ด้านหน้าไท่ซุ่ยเตี้ยนมีเตาที่ใช้สำหรับเผาผ้าที่เป็นของไหว้บูชาเทพ เตานี้ถูกสร้างในปี 1420 พร้อมกับส่วนของแท่นบูชา



เดินถัดเข้าไปอีกก็จึงเจอแท่นบูชาเทพเจ้าแห่งการเกษตร แท่นบูชาอันนี้เองที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของสถานที่แห่งนี้ แม้ว่ารูปร่างภายนอกจะเห็นว่าเป็นแค่พื้นยกระดับเล็กๆที่มีอยู่ถมถื่นไป



ใกล้กับแท่นบูชาเป็นทางเข้าสู่หมู่อาคารครัวและคลังศักดิ์สิทธิ์ (神厨神库院) เป็นหมู่อาคารที่เอาไว้ใช้สำหรับเก็บจัดเตรียมของสำหรับทำพิธี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1420 เช่นกัน ปัจจุบันถูกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเซียนหนงถานและเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง



อาคารจัดแสดงมีทั้งหมด ๓ หลังด้วยกัน เริ่มจากหลังแรกอาคารฝั่งตะวันตกนี้จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของที่นี่ บอกเล่าประวัติศาสตร์ในช่วงต่างๆ ข้อมูลที่เล่าไปในช่วงต้นส่วนใหญ่อ่านมาจากที่นี่




นี่คือแผนที่ของที่นี่สมัยที่มันยังสมบูรณ์แบบอยู่ ส่วนที่เหลือในปัจจุบันโดยหลักเหลือแค่ส่วนทางตะวันตกเฉียงเหนือ (ซ้ายบนของภาพ) เท่านั้น แท่นบูชา ๒ อันที่เป็นอยู่ทางใต้ (มุมล่าง) คือแท่นบูชาเทพแห่งท้องฟ้าและผืนดินซึ่งปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้ว



อันนี้เป็นแบบจำลอง ๓ มิติ



ส่วนอันนี้เป็นแบบจำลองที่แสดงถึงตำแหน่งของเซียนหนงถานภายในตัวเมืองปักกิ่งสมัยก่อน จากตรงนี้คือมองจากทิศใต้ขึ้นไปยังทิศเหนือ ทางซ้ายเขียวๆนี้คือเซียนหนงถาน ส่วนทางขวาคือเทียนถาน (มองเห็นแค่ครึ่งเดียวเพราะมันใหญ่เกินจุไม่หมด) และมองไปไกลเบื้องหน้าก็คือพระราชวังต้องห้าม กู้กง (故宫)



และก็มีจัดแสดงของโบราณจำนวนหนึ่ง





จากนั้นมาดูต่อที่อาคารฝั่งเหนือ ที่นี่จัดแสดงอธิบายเกี่ยวกับการทำพิธีที่นี่



ตรงนี้เป็นรายชื่อจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิง เขียนบอกว่าแต่ละองค์ครองราชย์กี่ปีและมาทำพิธีบูชาที่นี่กี่ครั้ง



พิธีบูชาที่จัดขึ้นที่นี่นั้นมีขั้นตอนหนึ่งที่เรียกว่าชินเกิง (亲耕) คือจักรพรรดิมาลงมือพรวนดินด้วยตัวเองพอเป็นพิธี ซึ่งแปลงผักสำหรับทำพิธีก็อยู่ข้างๆแท่นบูชาเทพแห่งการเกษตรนี้เอง คือพื้นที่ในรูป พอจักรพรรดิพรวนดินเสร็จแล้ว พวกเจ้านายและขุนนางส่วนหนึ่งก็จะมาทำต่อ



หลังพิธีพรวนดินด้วยตัวเองเสร็จก็จะมาชงชาดื่มพักผ่อนกันอย่างในรูปนี้





สุดท้ายมาดูที่อาคารฝั่งตะวันออก ที่นี่จัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเกษตรของที่ต่างๆทั้งในจีนและต่างประเทศ



แผนที่แสดงวัฒนธรรมการเกษตรสมัยโบราณที่พบเจอตามที่ต่างๆ



แหล่งอารยธรรมการเกษตรที่พบเจอในส่วนต่างๆในแผ่นดินจีน



โบราณสถานเหอหมู่ตู้ (河姆渡遗址) มณฑลเจ้อเจียง เป็นบริเวณที่ขุดพบแหล่งอารยธรรมเก่าแต่ประมาณ ๗๐๐๐ ปี ซึ่งเป็นช่วงยุคหินใหม่ ที่นี่พบร่องรอยว่ามีการปลูกข้าวตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว



ภาพตรงนี้แสดงการเพาะปลูกในฤดูต่างๆแบ่งตามช่วงของปี



การแบ่งช่วงปีของจีนนั้นจะแบ่งออกเป็น ๒๔ ตามสภาพอากาศในฤดูและตำแหน่งของโลก



ภาพแกะสลักที่มณฑลฝูเจี้ยน



เทพของอียิปต์โบราณ เทพโอซีริส เทพรา และเสาหินโอเบลิสก์



และเทพในตำนานของวัฒนธรรมต่างๆ อินเดีย กรีก และ และชนพื้นเมืองอเมริกา





หลังเดินส่วนในอาคารที่จัดแสดงเสร็จก็ออกมาแล้วเดินไปทางใต้จะเจอแท่งหิน ๙ อันที่จัดเรียงอยู่อย่างเป็นระเบียบ นี่เป็นหินที่แทนเทพต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนเคยจัดเรียงอยู่ข้างๆแท่นบูชาเทพแห่งผืนดิน แต่ว่าตอนนี้แท่นบูชานั้นไม่อยู่แล้ว เหลือแต่แท่งหินเหล่านี้ก็เลยเอามาจัดวางไว้ในลักษณะใกล้เคียงเดิมในตำแหน่งปัจจุบัน



ข้างๆถัดมาเป็นแท่นที่เรียกว่ากวานเกิงไถ (观耕台) ไม่ใช่แท่นบูชาอะไรแต่เป็นแท่นที่เอาไว้สำหรับจักรพรรดิยืนอยู่เพื่อดูพวกเจ้านายและขุนนายขณะกำลังพรวนดินหลังจากที่ตัวเองพรวนดินตามพิธีเสร็จแล้ว



และข้างๆกันเป็นอาคารจวี้ฝูเตี้ยน (具服殿) ซึ่งเอาไว้สำหรับเปลี่ยนชุดเพื่อเข้าทำพิธี



ปัจจุบันนี้ภายในเอาไว้ใช้จัดแสดงเกี่ยวกับการวาดลวดลายต่างๆบนสิ่งก่อสร้าง



มีตัวอย่างการลงสี สีสันสดใสสวยงาม





นี่เป็นสีต่างๆที่ใช้





หลังจากดูตรงส่วนนี้จบแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ก็มีแค่กลุ่มอาคารไท่ซุ่ยเตี้ยนซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณ เนื่องจากเนื้อหาไม่เกี่ยวกันและค่อนข้างจะยาวจึงจะขอเล่าถึงต่อในตอนหน้า https://phyblas.hinaboshi.com/20151028



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文