φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



เต๋อเซิ่งเหมิน ป้อมประตูเมืองเก่าที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณ
เขียนเมื่อ 2015/04/11 09:03
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 31 มี.ค. 2015

หลังจากที่ออกมาจากพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน (中国钱币博物馆) https://phyblas.hinaboshi.com/20150409

เนื่องจากดูเสร็จไปโดยใช้เวลาน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ก็เลยมีเวลาเหลือ ขณะที่กำลังคิดว่าจะทำไรต่อดีก็เดินไปเรื่อยๆจนถึงป้ายรถเมล์เทียนอันเหมินซี (天安门西) ซึ่งอยู่ใกล้กับตรงนั้นเพื่อเดินทางกลับ พอดีลองมองไปที่ป้ายของรถเมล์สาย 5 เจอสถานที่อีกแห่งที่ตั้งใจว่าจะหาโอกาสไปอยู่แล้วพอดี และสถานที่นั้นก็มีส่วนคล้ายกับพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนด้วย เลยตัดสินใจขึ้นสาย 5 เพื่อไปเที่ยวต่อ

เป้าหมายก็คือเต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门) ป้อมประตูเมืองเก่าที่สำคัญของปักกิ่งเป็นป้อมประตูเมืองทางฝั่งทิศเหนือซึ่งอยู่บนกำแพงเมืองปักกิ่งซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน



กำแพงเมืองปักกิ่งนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่กุบไลข่านมาตั้งปักกิ่งเป็นเมืองหลวงเมื่อปี 1267 ก่อนที่จะโค่นล้มราชวงศ์ซ่งแล้วตั้งราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ขึ้นมาในปี 1271

ราชวงศ์หยวนนั้นอยู่ได้ไม่นาน พอถึงปี 1368 ก็ถูกโค่นล้ม เข้าสู่ยุคราชวงศ์หมิงซึ่งได้ใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงต่อมา พอถึงช่วงปี 1436 - 1439 ซึ่งเป็นสมัยของจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (正统, 1435 - 1449) ได้มีการบูรณะปรับปรุงกำแพงเมืองปักกิ่งใหม่ซึ่งตำแหน่งของกำแพงเมืองนั้นก็คือถนนวงแหวนที่สอง (二环) ของปักกิ่งในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากตำแหน่งเมื่อสมัยราชวงศ์หยวนโดยย้ายลงมาทางใต้เล็กน้อย

บนกำแพงเมืองปักกิ่งนั้นได้มีการสร้างป้อมประตูขึ้นมาทั้งหมด ๙ แห่ง ได้แก่เจิ้งหยางเหมิน (正阳门), เซวียนอู่เหมิน (宣武门), ฟู่เฉิงเหมิน (阜成门), ซีจื๋อเหมิน (西直门), เต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门), อันติ้งเหมิน (安定门), ซีจื๋อเหมิน (西直门), เฉาหยางเหมิน (朝阳门) และ ฉงเหวินเหมิน (崇文门)

ชื่อเหล่านี้ถ้าใครอยู่ปักกิ่งละก็จะจำได้หมดโดยอัตโนมัติ เพราะส่วนใหญ่มันคือชื่อสถานีรถไฟฟ้าในสาย ๒ นั่นเอง ยกเว้นเต๋อเซิ่งเหมินเท่านั้นที่ไม่ได้กลายเป็นชื่อสถานีรถไฟฟ้า สถานีที่อยู่ใกล้เต๋อเซิ่งเหมินเรียกว่าสถานีจีสุ่ยถาน (积水潭站)

ป้อมประตูเหล่านี้ถูกสร้างเป็นแบบโครงสร้างที่เรียกว่าเวิ่งเฉิง (瓮城) คือเป็นป้อมที่เป็นลักษณะกำแพงวงล้อม และบนกำแพงนั้นประกอบด้วยหอปราสาท (城楼) และหอธนู (箭楼) หอปราสาทคือหอส่วนที่อยู่ติดกับกำแพงเมือง ส่วนหอธนูคือหอที่อยู่บนกำแพงส่วนที่ทำยื่นออกไปนอกกำแพงเมือง

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบันกำแพงเมืองต่างๆก็เริ่มถูกรื้อถอนออกเพราะขัดขวางการขยายตัวของเมือง ป้อมประตูต่างๆก็ถูกรื้อออกไปด้วย เต๋อเซิ่งเหมินเองก็ถูกรื้อหอปราสาทและกำแพงรอบๆออกไปหมดเหลือเพียงหอธนูเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปัจจุบันที่นี่ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณปักกิ่ง (北京市古代钱币展览馆) โดยได้มีการสร้างวัดเจินอู่ (真武庙) ขึ้นมาใหม่ วัดเจินอู่นั้นเมื่อก่อนเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ถูกสร้างอยู่ภายในวงล้อมของป้อมประตู ตัวอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงเหรียญโบราณ ในขณะที่ตัวหอธนูของเต๋อเซิ่งเหมินจัดแสดงประวัติศาสตร์ของที่นี่



ที่บอกว่าเต๋อเซิ่งเหมินคล้ายกับพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนก็เพราะว่ามีจัดแสดงเหรียญเหมือนกันนั่นเอง ดังนั้นจึงตัดสินใจมาเต๋อเซิ่งเหมินถัดจากพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนแม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ใกล้กันสักเท่าไหร่เลย

อันที่จริงแล้วตัวพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณกับหอธนูเต๋อเซิ่งเหมินไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่ว่าถ้าอยากเข้าไปชมหอธนูก็จำเป็นต้องซื้อบัตรเพื่อเข้าไปในบริเวณพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณ แล้วจากตรงนั้นจึงมีทางให้ขึ้นไปชมหอธนู

ค่าเข้าชม ๒๐ หยวน ใช้บัตรนักเรียนลดได้เหลือ ๑๐ หยวน นี่คือรูปบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณปักกิ่ง แล้วก็บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน ราคาเท่ากันเลย



รถเมล์มาลงที่ฝั่งเหนือของป้อมซึ่งเป็นด้านหลัง



ลานด้านหน้าป้อมประตูบรรยากาศดีมีคนมาเล่นว่าวกันอยู่



ที่นี่เป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีรถเมล์หลายสายผ่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นที่สำคัญคือรถเมล์ที่เดินทางไปกำแพงเมืองจีนด่านปาต๋าหลิ่ง (八达岭长城) เป็นกำแพงเมืองจีนด่านที่มีชื่อเสียงที่สุด คนไปเยอะสุด แต่เรายังไม่เคยมีโอกาสได้ไปสักที



อ้อมมายังด้านหน้าตรงฝั่งทางที่จะเข้าป้อม ตรงนี้ก็เห็นรถเมล์จอดบังทางเข้าอยู่ทำให้ดูไม่ค่อยสวย



ที่ใกล้ทางเข้ามีเขียนแนะนำสถานที่เป็น ๕ ภาษา จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และรัสเซีย



ทางเข้าอยู่ทางขวานี้



ซื้อบัตรและเข้าไปได้เลย ตอนที่ซื้อบัตรคนขายเขาก็บอกว่าส่วนจัดแสดงเหรียญโบราณปิดไปหอนึงจากที่มีอยู่ ๒ หอ ทำให้เหลือบริเวณดูแค่ครึ่งเดียว นี่เป็นปัญหาที่ไม่คาดคิดเหมือนกัน แต่ก็ดีที่เขาบอกล่วงหน้า ไม่เหมือนกับตอนที่ไปพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนที่อยู่ดีๆก็มีปัญหาเข้ามากะทันหันจนต้องรีบออก




จากที่มี ๒ หอแต่เหลือดูได้แค่หอเดียวก็เท่ากับว่าสามารถดูเหรียญได้เพียงครึ่งเดียวจากทั้งหมด ก็น่าเสียดายเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไรเพราะนอกจากส่วนจัดแสดงเหรียญแล้วก็ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเต๋อเซิ่งเหมินซึ่งอยู่บนตัวหอธนู ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญกว่าส่วนจัดแสดงเหรียญ

เริ่มชมจากชมส่วนจัดแสดงเหรียญก่อน ส่วนจัดแสดงเหรียญเป็นเพียงแค่อาคารเล็กๆซึ่งมีอยู่ ๒ หลัง หอที่ปิดคือโถงจัดแสดงที่ ๑ (第一展厅)



ส่วนนี่คือโถงจัดแสดงที่ ๒ (第二展厅) ซึ่งเปิดให้เข้าได้



ข้างในจัดแสดงเหรียญโบราณแบบต่างๆ เหรียญที่จัดแสดงที่นี่ไม่เน้นแต่เฉพาะเหรียญเงินที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเหมือนอย่างที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน ยังมีเหรียญบางประเภทที่ทำเอาไว้ใช้ในความหมายต่างๆ

เริ่มจากเหรียญพวกนี้เป็นเหรียญที่ใช้เทคนิกการเจาะให้เป็นรูซึ่งเป็นลวดลายต่างๆ เรียกว่าหลวี่คง (缕空)



เหรียญเงินสมัยโบราณมักจะสลักค่าของเงินและชื่อจักรพรรดิไว้ด้านหน้า ส่วนด้านหลังก็สลักอักษรที่เกี่ยวข้อง



หรือบางทีก็สลักรูปสวยๆไว้ เช่นอันนี้เหรียญสมัยจักรพรรดิหงอู่ (洪武, 1368 - 1398) แห่งราชวงศ์หมิง



บางทีเหรียญก็สลักข้อความดีๆเช่นขอให้มั่งคั่งมีความสุข



แล้วก็ยังมีเหรียญที่มีข้อความอวยพอขอให้สอบผ่านจอหงวนอะไรแบบนี้ด้วย



แล้วก็มีเหรียญที่เอาไว้โยนให้เจ้าบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน พิธีแบบนี้เรียกว่าซาจ้าง (撒帐) ในเหรียญก็จะมีข้อความดีๆที่อวยพรชีวิตคู่



เหรียญมงคลตามปีเกิดนักษัตร



เหรียญที่สลักอะไรเกี่ยวกับลัทธิหรือศาสนา อย่าง
อันนี้ของพุทธ



และก็ยังมีเหรียญที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เอาไว้ใช้ในการเล่นต่างๆ อย่างเช่นอันนี้เป็นเหรียญที่ใช้ในหมากรุกจีน



นอกจากนี้ก็ยังมีเหรียญที่ทำเป็นรูปร่างแปลกๆอยู่อีกมากมาย



หมดแค่นี้ในส่วนของห้องจัดแสดงเหรียญโบราณ ห้องจัดแสดงเล็กมีอยู่แค่นี้จริงๆ



ส่วนตรงกลางระหว่างโถงจัดแสดงทั้งสองฝั่งมีอาคารเล็กๆอยู่ ตรงนี้เป็นร้านขายเหรียญโบราณ



ด้านใน



วางขายเหรียญและของที่เกี่ยวข้องอยู่มากมาย






จากนั้นเดินเลี้ยวอ้อมด้านหลังหอจัดแสดง ๒ ไปก็จะเจอทางไปสู่หอธนู



บันไดขึ้นสู่หอธนู



เริ่มเห็นยอดหอธนูอยู่ตรงหน้าแล้ว



ยอดหอธนู



ในนี้เปิดให้เข้าชมได้



เมื่อเข้ามาถึงในนี้แบ่งเป็น ๒ ห้อง หอกแรกด้านนอกยังไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่



เริ่มจากเล่าถึงประวัติของเต๋อเซิ่งเหมินไว้คร่าวๆ



แล้วก็พูดถึงป้อมประตูอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คือ ๙ ประตูเมืองเก่าที่สร้างขึ้นแรกสุดสมัยจักรพรรดิเจิ้งถ่ง มีรูปในอดีตให้เห็น



เข้าสู่ห้องด้านใน



เข้าไปถึงจะเห็นแบบจำลองของที่นี่สมัยที่ยังไม่ถูกรื้อ จะเห็นว่าเป็นป้อมที่ล้อมด้วยกำแพงโดยมีหอปราสาทและหอธนู และมีอาคารที่อยู่ด้านในวงล้อม แต่ปัจจุบันทั้งกำแพงและหอปราสาทถูกรื้อไปหมดเหลือแค่หอธนู ส่วนอาคารด้านในก็คือพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณที่เข้าชมมาเมื่อครู่



โครงสร้างของกำแพงเมืองด้านต่างๆโดยหลักๆแล้วคือด้านในเป็นดินอัดแล้วด้านนอกเป็นอิฐ สำหรับกำแพงส่วนตะวันออกกับตะวันตกมีการใช้โครงสร้างเดิมจากกำแพงที่สร้างในราชวงศ์หยวน



ภาพนี้บอกถึงการย้ายตำแหน่งเมืองหลวงของปักกิ่ง



ตั้งแต่รูปแรกมุมซ้ายบนคือสมัยราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 916 - 1125) ได้ตั้งปักกิ่งเป็น ๑ ใน ๕ เมืองหลวง โดยเป็นเมืองหลวงฝั่งใต้เรียกว่าเหลียวหนานจิง (辽南京) ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองในตอนนั้นอยู่ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ปัจจุบัน ต่อมาราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ก็โค่นล้มราชวงศ์เหลียวและได้สร้างเมืองทับบริเวณเดิมและขยายต่อไปอีก หลังจากนั้นพอราชวงศ์หยวนล้มราชวงศ์จินจึงสร้างเมืองขึ้นใหม่ในตำแหน่งใกล้ เคียงปัจจุบันแต่ยังค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย
ต่อมาพอถึงสมัยราชวงศ์หมิงจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐, ปี 1402 - 1424) ก็ได้ใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงต่อโดยตัวเมืองย้ายลงมาทางใต้เล็กน้อยจนเป็น ตำแหน่งกำแพงเมืองในปัจจุบันและสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ หลังจากนั้นในปี 1553 สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖, ปี 1521 - 1567) จึงมีการขยายเมืองออกไปทางใต้โดยสร้างกำแพงล้อมส่วนนั้นเพิ่มขึ้นอีก โดยมีป้อมประตูที่สร้างเพิ่มใหม่อีก ๗ แห่ง

แผนผังกำแพงเมือง มีป้อมประตูทั้งหมด ๑๖ แห่ง เป็นป้อมประตูส่วนในที่สร้างในปี 1439 อยู่ ๙ แห่ง และส่วนนอกที่สร้างเพิ่มในปี 1553 มี ๗ แห่ง



แผนที่ระบบขนส่งน้ำของตัวเมืองในสมัยนั้น



แผ่นหินที่สลักแสดงว่ามีการบำรุงป้อมประตูเต๋อเซิ่งเหมินในปี 1853 สมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸丰, ปี 1850 - 1861) แห่งราชวงศ์ชิง



รูปกำแพง, ป้อมประตู และคลอง



มีเกมเลื่อนแผ่นต่อภาพให้เล่นด้วย เลื่อนแผ่นให้ได้รูปตัวเมืองปักกิ่งสมัยที่มีกำแพงล้อมรอบ



ช่องสำหรับยิงหน้าไม้ ถ้ามีศัตรูอยู่ด้านนอกสามารถแอบยิงจากตรงนี้ได้สบาย



มีปืนใหญ่ด้วย



ดาบและกระสุนปืน



และมีวางแสดงอาวุธไว้อีกหลายอย่าง





ชุดกราะ แต่ว่าหุ่นที่สวมอยู่ดูบอบบางเกินไปหรือเปล่านะ



รูปปืนใหญ่ที่ติดอยู่ตามป้อมประตูต่างๆ



ปักกิ่งมักถูกบุกโดยพวกชนกลุ่มน้อยซึ่งมาจากทางเหนือบ่อยครั้ง เต๋อเซิ่งเหมินเป็นป้อมประตูทางทิศเหนือดังนั้นจึงรับศึกหนักอยู่บ่อยๆ



เส้นทางการเดินทัพของพวกชนกลุ่มน้อยมองโกลทางตะวันตกชื่อเผ่าหว่าล่า (瓦剌) ซึ่งมาบุกปักกิ่งในปี 1449 หลังจากที่
ก่อนหน้านี้ได้รบชนะและจับตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่งเป็นตัวประกันไว้ในวิกฤติการณ์ที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ป้อมถู่มู่ (土木堡之变) ในการรบครั้งนั้นกองกำลังหว่าล่าปะทะกับกองทัพราชวงศ์หมิงที่ตั้งรับอยู่ซึ่งนำโดยนายพลหยวีเชียน (于谦) ด้วยการนำทัพตั้งรับอย่างดีทำให้ทัพหว่าล่าพ่ายถอยกลับไปและยอมปล่อยตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่งคืนมาในภายหลัง หยวีเชียนได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ



ช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง ก่อนที่จะพ่ายแล้วเสียกรุงให้พวกราชวงศ์ชิงในปี 1644 พวกกองทัพราชวงศ์ชิงมาบุกปักกิ่งในปี 1629 และได้ทำการรบครั้งใหญ่หน้าป้อมประตูเต๋อเซิ่งเหมิน แม่ทัพหยวนฉงฮว่าน (袁崇焕) ได้โจมตีจนพวกราชวงศ์ชิงต้องถอยล่นออกไป





ด้านในดูจบแล้ว ออกมาสูดอากาศและชมทิวทัศน์ด้านนอกต่ออีกหน่อย



จากตรงนี้ถ้ามองลงไปก็สวยเหมือนกัน



จะเห็นได้ว่าการจราจรแถวนี้วุ่นวายพอดู รถเมล์เต็มไปหมด



ร้านขายของตรงหัวมุม



รถเมล์ที่ด้านหน้าทางเข้า



ชมบรรยากาศข้างนอกไปสักพักก็เดินกลับลงมา แล้วก็เดินทางกลับหอ วันนี้เท่ากับว่าได้เที่ยวพิพิธภัณฑ์ถึง ๓ แห่ง เรียกได้ว่าคุ้มดี แต่ละแห่งก็ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันออกไป

เรื่องของเต๋อเซิ่งเหมินนั้นที่จริงก่อนหน้านี้เคยเล่าถึงไว้แล้วเมื่อปี 2011 ที่มาเดินเล่นแถวซีไห่ (西海) ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน ตามอ่านในนี้ได้ มีรูปป้อมประตูเต๋อเซิ่งเหมินที่สวยๆที่มองจากริมทะเลสาบอยู่ด้วย https://phyblas.hinaboshi.com/20111126



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน
-- ท่องเที่ยว >> ทะเลสาบ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文