φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน
เขียนเมื่อ 2016/11/30 19:29
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พฤหัส 2 เม.ย. 2015

ปักกิ่งมีพิพิธภัณฑ์อยู่มากมายหลายแห่ง แต่ละแห่งก็มีหัวข้อมีสิ่งที่อยากบอกเล่าต่างกันออกไป ที่ผ่านมามีโอกาสได้แวะเวียนไปชมพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่งก็ได้ความรู้ต่างๆมากมาย

แต่หากพูดถึงพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากที่สุด ก็คงจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน (中国国家博物馆)

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจตุรัสเทียนอันเหมิน (天安门广场) โดยมีถนนกว๋างฉ่างตงเช่อ (广场东侧路) คั่นอยู่ และทางเหนือเป็นถนนฉางอานตะวันออก (东长安路) โดยฝั่งตรงข้ามเป็นพระราชวังต้องห้าม (紫禁城)

พื้นที่รวมภายในอาคารทั้งหมดสองแสนตารางเมตร เก็บสมบัติเอาไว้หลายล้านชิ้น มีห้องจัดแสดง ๔๘ ห้อง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีคนเข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ภายในส่วนจัดแสดงหลักได้นำของโบราณต่างๆที่ขุดได้ตามที่ต่างๆทั่วประเทศมาจัดแสดงโดยเรียงตามยุคสมัย ทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานและวิวัฒนาการของชนชาติจีน และนอกจากส่วนนี้แล้วก็ยังมีส่วนจัดแสดงหัวข้อเฉพาะอีกมากมาย



วันหนึ่งเพื่อนเก่าซึ่งเป็นคนจีนที่โตในไทยมาเยี่ยมที่ปักกิ่ง เขาทำงานที่ต้องเดินทางไปประเทศต่างๆ มีโอกาสแวะปักกิ่งปีละหลายครั้ง ครั้งนี้มีโอกาสได้มาเจอและมีเวลาเที่ยววันนึงก็เลยชวนไปเที่ยวกันสักหน่อย เขามีความชอบประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกันก็เลยชวนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

การมาที่นี่นั่งรถไฟฟ้าสาย 1 มาลงที่สถานีเทียนอานเหมินตง (天安门东站) แล้วก็ออกประตูทางใต้มา

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์



ที่นี่เปิดให้เข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงแต่ต้องไปหยิบตั๋วเพื่อเข้าชม ซึ่งเอาได้ฟรีจากตรงนี้ ต้องพกพาสปอร์ตไปด้วย แต่ถ้าเป็นคนจีนก็ใช้บัตรประชาชน



เข้ามาด้านในห้องแรกที่เจอก็คือห้องโถงกลางซึ่งกว้างมาก



ภายในมีงานศิลปะประดับอยู่ประปรายทั้งของจีนและต่างชาติ



คอม้าหัวเราะ (微笑的马首) ผลงานของซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí, 1904-1989) ศิลปินชื่อดังชาวสเปน



ส่วนอันนี้คือ Ama de llaves ผลงานอีกอันของดาลี



ห้องที่เป็นส่วนจัดแสดงซึ่งอยู่ชั้นแรกเชื่อมกับโถงกลางโดยตรงก็คือส่วนจัดแสดงงานศิลปะแบบสมัยใหม่และดั้งเดิมที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ (馆藏现代经典美术作品)



ภายในกว้างมาก ดูโอ่โถง




จากนั้นลงมาชั้นใต้ดินชั้นหนึ่ง



ในส่วนนี้เป็นบริเวณของส่วนจัดแสดงหลัก จีนสมัยโบราณ (古代中国) นี่เป็นส่วนหลักที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุด กินพื้นที่ชั้นใต้ดินชั้นหนึ่งทั้งชั้น เราใช้เวลาอยู่ในส่วนจัดแสดงนี้กันมากกว่าส่วนอื่นรวมกันทั้งหมด



ป้ายด้านหน้าทางเข้าได้เขียนไล่เรียงยุคสมัยต่างๆของจีนไว้คร่าวๆให้เห็นก่อนเริ่มเข้าชม


ประวัติศาสตร์จีนแบ่งออกเป็นยุคต่างๆมากมาย ไม่ใช่แค่ใช้ชื่อราชวงศ์ที่ปกครองประเทศเป็นชื่อยุคเท่านั้น บางช่วงประเทศก็แตกเป็นเสี่ยงๆจึงมีชื่อเรียกต่างกันออกไป สามารถไล่เรียงได้ดังนี้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (远古时代, ก่อนถึง 21 ศตวรรษก่อน ค.ศ.)
ยุคราชวงศ์เซี่ย (夏朝, 21 - 17 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) ราชวงศ์แรกของจีน
ยุคราชวงศ์ซาง ( 商朝, 17 - 11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.)
ยุคราชวงศ์โจว ( 周朝, 1046 - 256 ปีก่อน ค.ศ.) แบ่งเป็นโจวตะวันตก (西周, 1046 - 771 ปีก่อน ค.ศ.) และ โจวตะวันออก (东周, 770 - 256 ปีก่อน ค.ศ.)
ภายในยุคโจวตะวันออกยังแบ่งเป็นยุคชุนชิว (春秋, 770 - 476 ปีก่อน ค.ศ.) และ ยุคจ้านกั๋ว (战国, 476 - 221 ปีก่อน ค.ศ.)
ยุคราชวงศ์ฉิน (秦朝, 221 - 207 ปีก่อน ค.ศ.)
ยุคราชวงศ์ฮั่น (汉朝, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี 220) แบ่งเป็นฮั่นตะวันตก (西汉, 202  ปีก่อน ค.ศ.– ปี ค.ศ. 8) และฮั่นตะวันออก (东汉, ปี 25 - 220) โดยตรงกลางคั่นโดยราชวงศ์ซิน (新朝, ปี 8–23)
ยุคสามก๊ก (三国, ปี 220 - 280)
ยุคราชวงศ์จิ้น (晋朝, ปี 265 - 420) แบ่งเป็นจิ้นตะวันตก (西晋, ปี 265 - 316) และจิ้นตะวันออก (东晋, ปี 317 - 420)
ยุคราชวงศ์ใต้เหนือ (南北朝, ปี 420 - 589)
ยุคราชวงศ์สุย (隋朝, ปี 581 - 619)
ยุคราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907)
ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (五代十国, ปี 907 - 979)
ราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 907 - 1125)
ยุคราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) แบ่งเป็นซ่งเหนือ (北宋, ปี 960 - 1172) และซ่งใต้ (南宋, ปี 1172 - 1279)
ราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234)
ยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368)
ยุคราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644)
ยุคราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1636 - 1912)

เริ่มแรกเข้าห้องมาก็เป็นส่วนที่จัดแสดงจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์



จีนมีการค้นพบร่องรอยอารยธรรมโบราณของมนุษย์โบราณ



ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือมนุษย์ปักกิ่งซึ่งพบที่โจวโข่วเตี้ยน (周口店) ซึ่งเคยได้เล่าถึงไปแล้ว อ่านรายละเอียดได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20150326

ของโบราณที่ขุดพบมีทั้งหลักฐานการใช้ไฟและการล่าสัตว์ ไปจนถึงอุปกรณ์อย่างง่ายๆเช่นธนู



แล้วก็พัฒนามาเป็นการเกษตร มีการขุดพบเครื่องมือต่างๆ



แผนที่ตรงนี้แสดงจุดสำคัญที่มีการขุดพบแหล่งอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์



มีการพบภาชนะเครื่องปั้นต่างๆมากมาย



ตัวอย่างวัฒนธรรมโบราณที่สำคัญที่พบเช่นวัฒนธรรมหย่างเสา (仰韶文化) เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ช่วง 5000 - 3000 ปีก่อน ค.ศ. กินพื้นที่ในมณฑลเหอหนานและส่านซี

เช่นสุสานที่มีการฝังเปลือกหอยที่เอามาก่อเป็นรูปมังกรและเสือ ขุดพบที่ซีสุ่ยพัว (西水坡) เมืองผูหยาง (濮阳) มณฑลเหอหนาน



และอันนี้เป็นภาชนะรูปคล้ายเรือที่มีการระบายสีตกแต่ง พบที่เป่ย์โสวหลิ่ง (北首岭) เมืองเป่าจี (宝鸡) มณฑลส่านซี เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหย่างเสาเช่นกัน



หวีที่ทำจากงาช้างซึ่งมีลายแกะสลักเป็นเกลียว ขุดพบที่ต้าเวิ่นโข่ว (大汶口) เมืองไท่อาน (泰安) มณฑลซานตง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต้าเวิ่นโข่ว (大汶口文化) ซึ่งเก่าแก่ตั้งแต่ช่วง 4200 - 2500 ปีก่อน ค.ศ. กินพื้นที่บริเวณมณฑลซานตงและเจียงซู



ส่วนอันนี้เป็นเครื่องหยกที่ขุดพบที่ฉางมิ่ง (长命) เขตหยวีหาง (余杭) ของเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลงจู่ (良渚文化) ซึ่งเก่าแก่ 3300-2200 ปีก่อน ค.ศ. อยู่ในพื้นที่แถวเมืองหางโจวมณฑลเจ้อเจียง



แล้วยุคนั้นก็ยังมีการพบภาชนะสำริดที่มีสลักอักษรโบราณอีกด้วย





จากตรงนี้จะเริ่มเข้าสู่ส่วนยุคประวัติศาสตร์แล้ว โดยเริ่มจากราชวงศ์เซี่ย (
21-17 ศตวรรษก่อน ค.ศ.), ซาง (17-11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) และโจว (1046-256 ปีก่อน ค.ศ.) ๓ ราชวงศ์แรกที่ปกครองแผ่นดินจีน



นี่คือภาชนะ ๓ ชนิดในสมัยโบราณ ชื่อว่า "เจวี๋ย" (爵), "กู" (觚) และ "เจี่ย" (斝) ขุดเจอที่ไป๋เจียจวาง (白家庄) เมืองเจิ้งโจว (郑州) มณฑลเหอหนาน เก่าแก่ช่วงยุคราชวงศ์ซาง



ภาชนะที่เรียกว่า "กง" (觥) เป็นของยุคจักรพรรดิคางแห่งราชวงศ์โจว (周康王, โจวคางหวาง) พบที่ยานตุนซาน (烟墩山) เขตตานถู (丹徒) เมืองเจิ้นเจียง (镇江) มณฑลเจียงซู



นี่คือภาชนะโบราณอีกชนิดที่เรียกว่า "หย่าน" (甗) พบที่สุสานของฟู่เห่า (妇好墓) ภรรยาของจักรพรรดิอู่ติง (武丁, 1250-1192 ก่อน ค.ศ.) แห่งราชวงศ์ซาง ในอินซวี (殷墟) เมืองอานหยาง (安阳) มณฑลเหอหนาน



เกี่ยวกับอินซวีเคยเล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120915

ของสำคัญอีกอย่างที่พบที่อินซวีก็คือ "เจี๋ยกู่เหวิน" (甲骨文) ซึ่งถือเป็นแผ่นกระดูกสัตว์ที่สลักอักษรจีนโบราณ ภายในนั้นมีที่เขียนเกี่ยวกับความรู้ด้านดาราศาสตร์และการพยากรอากาศไว้ด้วย



รูปหล่อสำริดที่ทำเป็นหน้าคนในยุคราชวงศ์ซาง พบที่ซานซิงตุย (三星堆) เมืองกว่างฮ่าน (广汉) มณฑลเสฉวน



นี่คือเครื่องดนตรีเคาะที่ทำจากสำริดในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก



สำหรับพวกเครื่องดนตรีโบราณหากใครสนใจมีจัดแสดงอยู่ที่วัดต้าจง (大钟寺) จำนวนมาก อ่านได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20150318

พวกสมบัติยุคราชวงศ์โจวหากสนใจมีเขียนถึงไว้ในหน้าที่เขียนถึงโบราณสถานหลิวหลีเหอ (琉璃河) https://phyblas.hinaboshi.com/20150622

ต่อมาเริ่มเข้าสู่ส่วนของยุคชุนชิว (
770-476 ปีก่อน ค.ศ.) และยุคจ้านกั๋ว (476-221 ปีก่อน ค.ศ.) ยุคนี้ราชวงศ์โจวได้เสื่อมอำนาจลง แผ่นดินจีนก็แตกแยกเป็นแคว้นต่างๆ ราชวงศ์โจวก็กลายเป็นเพียงหนึ่งในแคว้นเหล่านั้น เรียกว่าราชวงศ์โจวตะวันออก

ภาชนะที่เรียกว่า "โหย่ว" (卣) ในยุคชุนชิว ขุดพบที่เมืองเซียงถาน (湘潭) มณฑลหูหนาน



เครื่องดนตรีโบราณที่เรียกว่า "ปั๋ว" (镈) ในยุคชุนชิว ซึ่งมีด้ามจับเป็นรูปสัตว์ พบที่หลี่เจียโหลว (李家楼) เมืองซินเจิ้ง (新郑) มณฑลเหอหนาน



นี่คือ "โฝ่ว" (缶) ในยุคจ้านกั๋ว หนัก ๓๒๗.๕ กก. เป็นภาชนะโบราณที่ใหญ่ที่สุดก่อนยุคราชวงศ์ฉินเท่าที่เคยขุดพบมา



เครื่องดนตรีสำหรับตีที่เรียกว่า "ชิ่ง" (磬) ทำด้วยหิน เป็นของแคว้นเว่ย์ (魏) ในยุคจ้านกั๋ว





ต่อมาเข้าสู่ส่วนของราชวงศ์ฉิน (
221-207 ปีก่อน ค.ศ.) และฮั่น (202 ปีก่อน ค.ศ. - ยุคสามก๊ก ปี 220)

ราชวงศ์ฉินเริ่มต้นปกครองโดยจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇, ฉินสื่อหวง) ซึ่งได้ทำการรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นโดยทำสงครามบุกยึดและควบรวม ๖ แคว้นที่แตกแยกกันจากยุคจ้านกั๋วให้เป็นหนึ่งเดียว เมืองหลวงคือเมืองฉางอาน (长安) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองซีอาน (西安)

แผ่นศิลาจารึกนี้ได้ถูกสลักไว้ในปี 219 ก่อน ค.ศ. ที่จังหวัดหลางหยา (琅邪) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เมืองเจียวหนาน (胶南) มณฑลซานตง



หากพูดถึงผลงานที่โดดเด่นของราชวงศ์ฉินผู้คนน่าจะนึกถึงรูปปั้นทหารและม้า (兵马俑) ที่พบที่สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ นี่เป็นทหารและม้าส่วนหนึ่งที่นำมาจากสถานที่ขุดพบที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี



ราชวงศ์ฉินแม้ว่าจะสั้นมาก คงอยู่เพียงแค่ ๑๕ ปีเท่านั้นแต่ก็ได้สร้างสรรค์อะไรไว้มากมายเหลือไว้ในประวัติศาสตร์จีน

หลังจิ๋นซีฮ่องเต้เสียชีวิตไปและจักรพรรดิองค์ต่อไปขึ้นปกครองแทนราชวงศ์ก็เสื่อมอำนาจแล้วหลิวปาง (刘邦) ก็เข้ายึดอำนาจ ตั้งเป็นราชวงศ์ฮั่นขึ้น ราชวงศ์ฮั่นช่วงแรกถูกเรียกว่าฮั่นตะวันตก ใช้ฉางอานเป็นเมืองหลวง

นี่เป็นรูปปั้นทหารและม้าของต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก พบที่หยางเจียวาน (杨家湾) เมือนเสียนหยาง (咸阳) ซึ่งอยู่ข้างๆซีอาน



นี่คือชุดสำหรับใส่ให้ชนชั้นสูงที่เสียชีวิต เรียกว่า "ยวี่เสีย" (玉柙) ประกอบขึ้นจากแผ่นหยก สานเข้าด้วยกันโดยเส้นด้าย อันนี้เป็นของหลิวซิว (刘修) ผู้ครองแคว้นจงซาน (中山) เสียชีวิตเมื่อ 55 ปีก่อน ค.ศ. ช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ขุดพบที่หมู่บ้านปาเจี่ยวหลาง (八角廊) เมืองติ้งเซี่ยน (定县) มณฑลเหอเป่ย์



นี่คือกระปุกเกิบเงินหอยเบี้ย ที่ฝาด้านบนประดับเป็นรูปพิธีบูชายัญในสมัยนั้น ขุดพบที่สือไจ้ซาน (石寨山) เขตจิ้นหนิง (晋宁) เมืองคุนหมิง (昆明) มณฑลยุนนาน



หลังจากราชวงศ์ฮั่นปกครองจีนมาถึงปี ค.ศ. 9 ก็ถูกยึดอำนาจโดยหวางหม่าง (王莽) ตั้งเป็นราชวงศ์ซิน (新朝) แต่ก็อยู่ได้ไม่นานในที่สุดก็ล่มสลายในปี ค.ศ. 23 และราชวงศ์ฮั่นก็กลับมาอีกในปี ค.ศ. 25 แล้วย้ายเมืองหลวงไปเมืองลั่วหยาง (洛阳) ซึ่งอยู่ทางวันออกของเมืองฉางอานเมืองหลวงเดิม ราชวงศ์ฮั่นช่วงนี้จึงถูกเรียกว่าฮั่นตะวันออก

นี่คือรูปแกะสลักปลายยอดหลังคา เรียกว่า "หว่าตาง" (瓦当) มีการสลักอักษรโบราณเขียนว่า "สวรรค์ลิขิตให้ฉานหยวีพ่าย" (单于天降, ฉานหยวีเทียนเสียง) ฉานหยวีเป็นผู้นำเผ่าซยงหนู (匈奴) ซึ่งเป็นชนเผ่าศัตรูตัวฉกาจของชาวจีนในสมัยนั้น ขุดพบที่เจ้าวาน (召湾) เมืองเปาโถว (包头) มองโกเลียใน เป็นของยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก



รูปดินปั้นเป็นรูปอาคารที่มีป้อมอยู่ที่สี่มุม พบที่หมาอิงก่าง (麻鹰岗) ชานเมืองกว่างโจว (广州) มณฑลกวางตุ้ง ทำในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก




แล้วยังมีดินปั้นเป็นรูปเรือ ขุดพบที่เดียวกัน



นี่คือเส้นทางคมนาคมในยุคราชวงศ์ฮั่น มีลากยาวไปถึงเอเชียฝั่งตะวันตก





จากนั้นเข้าสู่ส่วนของยุคสามก๊ก (220-280) ต่อด้วยยุคราชวงศ์จิ้น (265-420) แล้วก็ยุคใต้เหนือ (420-589)



การเริ่มต้นของยุคสามก๊กนั้นมาจากการเสื่อมของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จักรพรรดิองค์สุดท้าย ฮั่นเซี่ยนตี้ (汉献帝) ถูกครอบงำโดยอำนาจของขุนนางเฉาเชา (曹操)

ทำให้หลิวเป้ย์ (刘备) ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์ฮั่น แยกตัวไปตั้งตัวเป็นใหญ่ทางตะวันตกตั้งแคว้นสู่ (蜀) ในขณะเดียวกันซุนเฉวียน (孙权) ผู้ครองแคว้นทางตะวันออกก็ฉวยโอกาสนี้ตั้งตัวเป็นใหญ่แยกประเทศออกเกิดเป็นแคว้นอู๋ (吴) และสุดท้ายพอเฉาเชาตาย ลูกของเฉาเชาชื่อเฉาผี (曹丕) ก็ยึดอำนาจจากจักรพรรดิฮั่นเซี่ยนตี้แล้วตั้งตัวเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ในปี 220 ตั้งเป็นราชวงศ์เว่ย์ (魏) แผ่นดินจีนจึงได้แตกเป็นสามก๊กตั้งแต่นั้น

นี่คือแท่นวางเทียนรูปแพะที่พบในแคว้นอู๋ ขุดเจอพบที่เมืองชิงเหลียงซาน (清凉山) เมืองหนานจิง (南京) มณฑลเจียงซู



หลังจากที่ความขัดแย้งในยุคสามก๊กดำเนินมาหลายสิบปี ราชวงศ์เว่ย์ก็สามารถเอาชนะยึดแคว้นสู่ได้สำเร็จ แต่ราชวงศ์เว่ย์ก็โดนชิงอำนาจไปโดยซือหม่าหยาน (司马炎) และตั้งเป็นราชวงศ์จิ้นขึ้นในปี 265 เข้าสู่ยุคราชวงศ์จิ้น ราชวงศ์จิ้นได้ตีแคว้นอู๋แตกในปี 280 และรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ

ราชวงศ์จิ้นยังแบ่งเป็นจิ้นตะวันตก (256-316) และจิ้นตะวันออก (316-420)

นี่คือหุนผิง (魂瓶) จอกวิญญาณ ในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก ขุดพบที่อำเภออู๋เซี่ยน (吴县) ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองซูโจว (苏州) มณฑลเจียงซู



ราชวงศ์จิ้นปกครองประเทศอยู่ได้ร้อยกว่าปีก็เริ่มเสื่อมอำนาจ แผ่นดินจีนเริ่มแตกแยกอีกครั้ง คราวนี้แบ่งเป็นสองส่วนคือฝั่งเหนือซึ่งปกครองด้วยชนเผ่าต่างๆซึ่งเดินเป็นพวกเร่ร่อน ส่วนทางใต้ยังเป็นของชนชาติจีนอยู่ แต่ก็มีราชวงศ์หลายราชวงศ์ผลัดกันยึดอำนาจและเข้าปกครอง ทำให้เรียกช่วงนี้ว่ายุคราชวงศ์ใต้เหนือ

โลงศพหินโบราณสมัยราชวงศ์ใต้เหนือ





ต่อมาเข้าสู่ส่วนของยุคราชวงศ์สุย (581-619) และถัง (618-907)

ราชวงศ์สุยสามารถทำการรวบรวมประเทศที่แตกแยกจากสมัยราชวงศ์ใต้เหนือให้เป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งในปี 589 แต่ราชวงศ์สุยก็คงอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดก็ถูกยึดอำนาจโดยหลี่ยวน (李渊) ตั้งเป็นราชวงศ์ถังขึ้นมา เป็นราชวงศ์ที่มีความรุ่งเรืองที่สุดราชวงศ์หนึ่ง

นี่คือแผ่นกั้นหิน (石栏板) ราวสะพานอานจี้ (安济桥) ที่อำเภอเจ้าเซี่ยน (赵县) มณฑลเหอเป่ย์ เป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นอันหนึ่งในยุคราชวงศ์สุย สร้างโดยช่างฝีมือชื่อหลี่ชุน (李春)



เครื่องเคลือบที่ทำเป็นรูปนักดนตรีบนหลังอูฐ ปี 723 สมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง (唐玄宗, 712-756) พบที่สุสานของเซียนหยวีเหลียน (鲜于廉墓) ในเมืองซีอาน



เครื่องเคลือบรูปสัตว์พิทักษ์สุสาน ขุดพบที่เดียวกัน



ผลงานที่แสดงถึงทรงผมของผู้หญิงในยุคราชวงศ์ถัง





ต่อมาเข้าสู่ส่วนของยุคราชวงศ์เหลียว (907-1125) ซ่ง (960-1279) จิน (1115-1234) และหยวน (1271-1368)

หลังจากราชวงศ์ถังปกครองจีนมานานกว่าสองร้อยปี ในที่สุดก็เข้าสู่ยุคเสื่อม ปี 907 ราชวงศ์ถังได้ถูกยึดอำนาจ แล้วแผ่นดินจีนก็แตกเป็นหลายแผ่นดินอีก โดยครั้งนี้เรียกว่าช่วงห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร ซึ่ง ๕ ราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันปกครองแผ่นดินจีนตอนกลางต่อจากราชวงศ์ถัง แล้วทางใต้ก็เกิด ๑๐ อาณาจักรผลัดกันเกิดและดับไป จนในที่สุดราชวงศ์ซ่งก็ขึ้นสู่อำนาจและตียึดอาณาจักรต่างๆรวมจีนเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

แต่ราชวงศ์ซ่งก็ไม่อาจรวมแผ่นดินจีนได้ทั้งหมดทีเดียว แผ่นดินจีนทางตอนเหนือราชวงศ์เหลียวได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยชนเผ่าชี่ตาน (契丹) ซึ่งเป็นชนเผ่าทางเหนือ

ช่วงที่ราชวงศ์เหลียวปกครองจีนตอนเหนืออยู่นั้นก็ได้สร้างผลงานวัฒนธรรมอะไรต่างๆไว้ไม่น้อย ที่โดดเด่นที่สุดก็คือเจดีย์ศากยมุนีวัดฝัวกง (佛公寺释迦塔, ฝังกงซื่อซื่อเจียถ่า) ที่อำเภออิ้งเซี่ยน (应县) มณฑลซานซี มีความสูง ๖๗.๓๑ เมตร เป็นเจดีย์ไม้โบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในจีน มีชื่อเสียงมากจนมีแบบจำลองตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในจีน



หลังจากราชวงศ์เหลียวปกครองจีนอยู่ได้ไม่นาน ชนเผ่าหนวี่เจิน (女真) ชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนืออีกกลุ่มก็ได้ก่อตั้งราชวงศ์จิน และไม่นานก็ตียึดอาณาจักรของเหลียวและเข้าครองดินแดนทางตอนเหนือของจีน

ปักกิ่งเคยถูกใช้เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จินจึงมีร่องรอยเหลือให้เห็น ปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์กำแพงเมืองเหลียวจิน (辽金城垣博物馆) หากสนใจรู้เรื่องราวและชมสมบัติสมัยนั้นเพิ่มเติมสามารถไปเที่ยวที่นั่นได้ เรื่องของที่นั่นได้เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150501

ในขณะเดียวกันราชวงศ์ซ่งซึ่งเป็นอาณาจักรของคนจีนโดยแท้ แม้ว่าจะปกครองแผ่นดินจีนแค่ส่วนทางใต้แต่ก็เจริญรุ่งเรืองมากเช่นกัน


ทางซ้ายนี้เป็นแบบจำลองขนาด 1:20 ของเรือพาณิชย์สมัยราชวงศ์ซ่งซึ่ง ขุดเจอที่เขตโฮ่วจู๋ก่าง (后渚港) เมืองเฉวียนโจว (泉州) มณฑลฝูเจี้ยน ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การคมนาคมระหว่างประเทศเฉวียนโจว (泉州海外交通市博物馆)



ราชวงศ์ซ่งมีการพัฒนาทางด้านวิทยาการ มีนักดาราศาสตร์คนสำคัญอย่างซูซ่ง (苏颂) ซึ่งได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่าสุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถ (水运仪象台) เป็นหอลูกทรงกลมท้องฟ้าซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำ ใช้ทั้งบอกเวลาและวัดตำแหน่งดาว ที่แสดงในนี้เป็นแบบจำลองขนาด 1:5 ที่จำลองขึ้นมา ส่วนของจริงสูง ๑๒ เมตร ในปัจจุบันไม่เหลืออยู่แล้ว



แต่สุดท้ายแล้วทั้งราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์จินก็ได้ถูกตีแตกโดยชาวมองโกลซึ่งได้ยึดครองจีนทั้งแผ่นดินและก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นมา

ในปี 1279 เมื่อราชวงศ์หยวนตีราชวงศ์ซ่งแตกแผ่นดินจีนก็รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และคงอยู่โดยไม่มีการแตกแยกอีกแล้วตราบจนถึงปัจจุบัน

นี่คือนาฬิกาน้ำที่ทำขึ้นในช่วงยุคราชวงศ์หยวน ปี 1316





ต่อมาเข้าสู่ส่วนสุดท้าย คือส่วนของ ๒ ราชวงศ์สุดท้าย ราชวงศ์หมิง (1368-1644) และชิง (1636-1912)



ราชวงศ์หมิงก่อตั้งโดยจูหยวนจาง (朱元璋) ซึ่งได้เข้ายึดอำนาจจากราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลซึ่งกำลังอ่อนแอลง

ยุครุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์หมิงคือสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐) ปี 1403 ถึง 1424 ซึ่งได้ส่งขบวนเรือที่นำโดยเจิ้งเหอ (郑和) ออกไปท่องโลก ภาพนี้คือแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ



ราชวงศ์หมิงล่มสลายจากการโจมตีของชนเผ่าแมนจูในปี 1644 ซึ่งได้ก่อตั้งราชวงศ์ชิงขึ้น แล้วจีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคสมัยสุดท้ายที่ปกครองโดยกษัตริย์

ส่วนจัดแสดงสิ้นสุดลงที่ราชวงศ์ชิง จากนั้นก็เจอทางออก และเป็นที่ขายของฝาก



มีของน่าสนใจขายมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ราคาค่อนข้างแพง





จบจากส่วนแสดงส่วนหลักแล้วที่เหลือก็จะเป็นส่วนจัดแสดงหัวข้อเฉพาะต่างๆซึ่งแต่ละส่วนไม่ใหญ่มาก อยู่ชั้นสอง

พื้นที่ชั้นสองก็ดูโอ่โถง




เริ่มจากชมห้องตรงนี้เป็นส่วนจัดแสดงการออกแบบสถาปัตยกรรม (建筑设计)




ถัดมาตรงนี้เป็นส่วนจัดแสดงผลงานศิลปะแกะสลักอาฟริกา (非洲雕刻艺术精品)




ตรงนี้ทางซ้ายเป็นส่วนจัดแสดงศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาโบราณจีน (中国古代瓷器艺术)




ส่วนทางขวาเป็นที่จัดแสดงชิ้นงานที่ได้เป็นของขวัญจากการคบหาเป็นมิตรกันของระหว่างจีนประเทศต่างๆ





นี่เป็นแบบจำลองเรือเจิ้งเหอ ได้รับจากเจมส์ อลิกซ์ มิเชล (James Alix Michel) ประธานาธิบดีของประเทศเซเชลส์ ในปี 2007



ต่อมาเป็นที่จัดแสดงศิลปะพุทธประติมากรรมโบราณจีน (中国古代佛造像艺术)




แล้วก็ที่จัดแสดงศิลปะเครื่องสำริดโบราณจีน (中国古代青铜器艺术)



ส่วนนี้จัดแสดงเงินตราโบราณจีน (中国古代钱币)



พูดถึงเรื่องเงินตราจีนแล้ว ในปักกิ่งมีพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน (中国钱币博物馆) ซึ่งได้เล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150409

และส่วนนี้จัดแสดงศิลปะเครื่องหยกโบราณจีน (中国古代玉器艺术)



ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์มีขนาดใหญ่และมีสิ่งจัดแสดงมากมายจึงไม่น่าพลาดที่จะเข้ามาชม ยิ่งใครที่สนใจของโบราณอยู่แล้วก็อาจติดใจสามารถเดินชมได้ทั้งวัน

พิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่แนะนำเป็นอย่างมากสำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์และของโบราณคือพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง (北京古代建筑博物馆) https://phyblas.hinaboshi.com/20151028

นอกจากได้เห็นของโบราณแล้วก็ยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และยาวนานของจีนไปด้วย ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นจีน ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างๆสรรค์สิ่งต่างๆสั่งสมมาจนถึงทุกวันนี้



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文