พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์เมืองไทเป
เขียนเมื่อ 2017/07/20 01:11
แก้ไขล่าสุด 2023/07/01 20:17
# พุธ 5 ก.ค. 2017ช่วงวันที่ 3-7 มีการประชุมดาราศาสตร์ APRIM ที่ไทเป https://phyblas.hinaboshi.com/20170716สำหรับวันที่ 5 นั้นการประชุมมีแค่ช่วงเช้า พอถึงช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่มีการจัดทัวร์ไปเที่ยวตามสถานที่เที่ยวสำคัญของไทเปแต่เนื่องจากพวกเรามีสถานที่ที่อยากไปเที่ยวเองมากกว่าอยู่ ดังนั้นจึงไม่ได้ไปกับกลุ่ม แต่เลือกที่จะไปกันเองสถานที่ที่เลือกจะไปเที่ยวเข้าชมก็คือ พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์เมืองไทเป (台北市立天文科學教育館, 台北市立天文科学教育馆, ไถเป่ย์ซื่อลี่เทียนเหวินเคอเสวียเจี้ยวยวี่กว่าน)ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 และเริ่มเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่ปี 1997เดิมทีที่นี่มีจุดเริ่มต้นมาจากหอดูดาวมาก่อน โดยอาจย้อนอดีตไปได้ตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันอยู่ หอดูดาวได้ถูกตั้งขึ้นที่หอประชุมสาธารณะไทเป (台北公會堂, 台北公会堂, ไถเป่ย์กงฮุ่ยถาง) ซึ่งปัจจุบันคืออาคารจงซานถาง (中山堂)ที่นี่ถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆจนถึงปี 1960 จึงเริ่มเตรียมการย้ายที่ เนื่องจากจงซานถางอยู่ที่ใจกลางเมือง มีมลภาวะทางแสง อีกทั้งในปี 1957 ยานสปุตนิกของโซเวียตได้ถูกส่งขึ้นอวกาศ ทำให้ความสนใจดาราศาสตร์ของผู้คนสูงขึ้นอย่างมาก จำเป็นต้องมีการขยับขยายหอดูดาวใหม่ถูกตั้งที่เขาหยวนซาน (圓山, 圆山) เรียกว่าหอดูดาวหยวนซาน (圓山天文台, 圆山天文台, หยวนซานเทียนเหวินไถ) ซึ่งตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือของเมือง สร้างเสร็จและใช้ตั้งแต่ปี 1963 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมแต่ต่อมาเมืองไทเปขยายตัวขึ้นมาจนถึงหยวนซาน อีกทั้งประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการจึงต้องทำการขยับขยายย้ายที่ไปอีก จึงมีการสร้างหอดูดาวแห่งใหม่ขึ้นในเขตซื่อหลิน (士林) ซึ่งค่อนไปทางเหนือของเมืองมากกว่าหยวนซานอีกหน่อยต่อมาในปี 1996 จึงเริ่มสร้างศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ขึ้นที่นั่นด้วย แล้วก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนหอดูดาวเดิมที่หยวนซานได้ถูกปิดตัวลงและรื้อทิ้งไปในปี 2000 เหลือไว้เพียงนาฬิกาแดดเป็นอนุสรณ์พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์แห่งนี้ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้- ส่วนจัดแสดง (展示場, 展示场) เป็นส่วนที่ใช้อุปกรณ์สื่อต่างๆเพื่อให้ความรู้ทางดาราศาสตร์- โดมฉายดาว (宇宙劇場, 宇宙剧场) เป็นโดมท้องฟ้าจำลองทรงกลมที่มีเครื่องฉายดาว- โรงหนังสามมิติ (立體劇場, 立体剧场)- สถานที่ผจญภัยอวกาศ (宇宙探險設施, 宇宙探险设施) เป็นส่วนที่มีเครื่องเล่นต่างๆให้เล่นสนุกพร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศไปด้วย- ที่สังเกตการณ์ (觀測區, 观测区) เป็นส่วนที่มีกล้องดูดาวเปิดให้คนทั่วไปเข้าดูตัวกล้อง และเฉพาะคืนวันเสาร์จะเปิดสาธิตการใช้งานจริงนอกจากนี้ก็มีส่วนที่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม เช่นพวกห้องทำงานต่างๆในการไปครั้งนี้พวกเราไม่ได้ไปกันแบบธรรมดา เพราะมีโอกาสได้รู้จักกับนักดาราศาตร์ที่ทำงานอยู่ที่นี่จากงาน APRIM เขาเป็นคนพาเดินเที่ยวชม อีกทั้งสามารถให้เราเข้าชมบางส่วนที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าชมได้ ก็เลยดูเหมือนมาในสถานะแขกพิเศษเพียงแต่ว่าครั้งนี้ส่วนจัดแสดงหลักถูกปิดปรับปรุงอยู่ ทำให้ไม่ได้ชมในส่วนนั้น ก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่างดังนั้นครั้งนี้จะขอไม่เขียนถึงภาพรวมในการเข้ามาชมแบบทั่วไป แต่จะเก็บไว้ครั้งหน้ามาใหม่หลังจากปิดปรับปรุงเสร็จ จะมาใหม่แล้วก็เที่ยวโดยละเอียดสำหรับครั้งนี้จะเล่าเฉพาะส่วนที่เขาพาไปชมก่อนการเดินทางไปสามารถทำได้โดยนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีซื่อหลิน (士林站) จากนั้นก็เดินไปเราลงรถไฟฟ้าที่สถานีซื่อหลินจากนั้นแวะทานข้าวก่อนที่จะไปจากนั้นก็เดินไปทางตะวันตก ไปตามถนนจงซาน (中山路) จนถึงแยกถนนจีเหอ (基河路) ก็เลี้ยวขวาแล้วก็มาถึง สิ่งที่เราเห็นก่อนเลยก็คือสภาพอาคารที่อยู่ในสภาพที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะรู้มาก่อนว่าส่วนจัดแสดงปิดปรับปรุงอยู่หน้าทางเข้าตรงหน้าทางเข้ามีแผนที่ตั้งอยู่จากนั้นเราก็เข้ามาด้านในแล้วเขาก็เริ่มพาเราเข้าชม เริ่มแรกเขาพาพวกเราชมกล้องดูดาวก่อน โดยที่นี่มีกล้องดูดาวอยู่ ๒ ตัว อยู่ที่ชั้น ๔ ของตัวอาคารนี่คือกล้องตัวแรกซึ่งมีขนาดหน้ากล้อง ๔๕ ซม. กล้องตัวนี้ปกติแล้วไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่ใช้ในงานสังเกตการณ์เพื่องานวิจัยเท่านั้น ที่เราได้เข้าชมก็เพราะเขาเป็นคนพาชม หากมาเองจะไม่ได้มาตรงนี้
ที่ใกล้บันไดทางขึ้นไปกล้องดูดาวมีตั้งวางกล้องเก่าที่เลิกใช้ไปแล้วอยู่จากนั้นเขาก็พาเดินออกมาผ่านดาดฟ้าเพื่อไปยังกล้องดูดาวอีกตัวระหว่างทางก็มองเห็นด้านบนของอาคารทรงกลมที่เป็นห้องฉายดาวด้วยแล้วก็เห็นหลังคาหอดูดาวจากด้านนอกแล้วก็เดินมาถึงห้องสังเกตการณ์อีกแห่ง ซึ่งมีกล้องอีกตัว
ตัวนี้มีขนาด ๒๐ ซม. เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ ขณะที่เราเข้าไปถึงก็มีคนอื่นกำลังชมอยู่ ต้องรอสักพักให้เขาเสร็จก่อนต่อมาเขาก็พาไปที่ห้องฉายดาว ปกติที่นี่จะมีรอบฉายวันละหลายรอบ แต่ช่วงที่ไปพอดีเป็นช่วงพักระหว่างการฉาย จึงได้ดูห้องในสภาพโล่งๆสักพักแล้วเขาก็ยังฉายดาวให้ดูนิดหน่อยด้วยแต่อยู่ได้แป๊บเดียวก็ต้องรีบออกเพราะรอบฉายรอบต่อไปกำลังจะมาถึงจากนั้นเขาก็พาลงมาด้านล่างซึ่งมีส่วนจัดแสดงเล็กๆ นี่เป็นส่วนเดียวที่ไม่ได้ปิดซ่อม เขายกของบางส่วนจากห้องจัดแสดงหลักที่ปิดไปมาไว้ตรงนี้เพื่อให้อย่างน้อยคนที่มาก็สามารถชมได้บ้างแต่เราไม่ได้ดูตรงนี้ต่อเพราะเขาพาเราไปแนะนำสถานที่ต่อไปต่อส่วนต่อมาคือห้องสมุด ซึ่งมีอยู่ ๒ ห้องที่เขาพาไป นี่คือห้องแรกซึ่งเป็นห้องที่เปิดให้คนทั่วไปมาอ่านค้นความรู้ได้หนังสือภายในห้องสมุดนี้ห้องนี้อยู่ชั้น ๒ พอมองลงไปก็เห็นบรรยากาศของห้องโถงชั้นล่างได้ดีแต่ที่จัดว่าเป็นจุดเด่นของการมาครั้งนี้จริงๆเห็นทีจะเป็นห้องสมุดอีกห้อง ซึ่งปกติไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่เก็บพวกเอกสารเก่าสำคัญเอาไว้ ใช้สำหรับคนที่ทำงานที่นี่อ่านเท่านั้นหนังสือเก่าจำนวนมากเป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่นซึ่งหลงเหลือจากสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันช่วงปี 1895-1945 แต่หนังสือบางเล่มก็ถูกตีพิมพ์หลังจากช่วงนั้นไป แสดงให้เห็นว่าหลังพ้นช่วงญี่ปุ่นปกครอง นักวิชาการในไต้หวันก็ยังนิยมใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนกันต่อไป เพราะช่วงปลายสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองนั้นไต้หวันใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนการสอนมีลองเปิดบางเล่มขึ้นมาอ่านดู อย่างเล่มนี้เกี่ยวกับสุริยุปราคาเจอเล่มที่มีภาษาเยอรมันด้วย อันนี้เขายกข้อความของอิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมันเราได้เจอหนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า "ฟิสิกส์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร" (物理學はいかに創られたか) ที่เขียนโดยไอน์สไตน์ แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นในปี 1939 โดย อ. อิชิวาระ อัตสึชิ (石原 純) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ที่ไปเรียนต่อเยอรมนีและได้เป็นลูกศิษย์ของไอน์สไตน์เปิดดูด้านในปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ก็ยังมีตีพิมพ์ขายอยู่ ดูได้ใน amazon เพียงแต่ว่านี่เป็นฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 1963 ซึ่งต่างจากเล่มนี้ https://www.amazon.co.jp/ま/dp/4004000149จะเห็นได้ว่าหนังสือภาษาญี่ปุ่นสมัยก่อนนั้นมีลักษณะบางอย่างในการเขียนที่ต่างจากสมัยปัจจุบัน เช่น อักษรคันจิที่ใช้จะใช้เป็นตัวเต็ม ในที่นี้ 学 ใช้เป็น 學 แทนอีกอย่างคือไม่มีการใช้อักษรตัวเล็กที่เรียกว่าสึเตงานะ (捨て仮名) เช่น ちょっと จะเป็น ちよつと เพราะสมัยก่อนการใช้อักษรตัวเล็กยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่มีการประกาศกฎเกณฑ์ให้ใช้อย่างเป็นทางการในปี 1946หนังสือเล่มนี้เป็นของสำนักพิมพ์อิวานามิโชเตง (岩波書店) ของญี่ปุ่น เป็นสำนักพิมพ์เก่าแก่ ก่อตั้งในปี 1913ปัจจุบันหน้าปกหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ก็ยังคงลักษณะเดิมไม่เปลี่ยน เรียกได้ว่าหนังสือปกแบบนี้อยู่คู่สังคมญี่ปุ่นมานานข้ามยุคข้ามสมัยนับว่าเป็นโชคดีจริงๆที่มีโอกาสได้มาดูของเก่าๆแบบนี้ หนังสือพวกนี้นอกจากจะใช้อ่านเอาความรู้ดาราศาสตร์แล้วก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้วยเมื่อดูห้องสมุดเสร็จก็ออกมา เวลานั้นประมาณ ๔ โมง คนกำลังคับคั่งแน่นห้องโถงด้านล่างเป้าหมายต่อมาที่เขาพาเราไปก็คือส่วนสถานที่จำลองการผจญภัยในอวกาศ ซึ่งอยู่ที่ชั้น ๔ตรงนี้จะให้เข้าไปนั่งยานผจญภัยอวกาศ ที่จริงต้องเสียตังค์ด้วย ราคา ๗๐ แต่เนื่องจากเขาพามาจึงให้เราเข้าเล่นฟรีได้ในการผจญภัยเขาจะให้นั่งรถที่หน้าตาเหมือนยานอวกาศ แล้วรถก็จะวิ่งตามรางไปเรื่อยๆความรู้สึกคล้ายๆกับเครื่องเล่นในสวนสนุก ถ้าใครเคยเล่นมาก่อน เพียงแต่ว่าไม่มีความหวาดเสียวอะไร เพราะเป้าหมายของอันนี้คือการให้ความรู้ระหว่างอยู่ข้างในจะมีเสียงบรรยาย และที่หน้าจอจะมีเขียนบอกอะไรต่างๆด้วย ซึ่งเราสามารถเลือกได้ ๓ ภาษา คือภาษาจีน, ภาษาไต้หวัน (จีนฮกเกี้ยน) และภาษาอังกฤษระหว่างทางจะมืดๆและก็ขยับหมุนไปมาบ่อยครั้งทำให้เวียนหัวได้ง่ายเหมือนกันตรงนี้อธิบายถึงเอเลียนจบแล้ว นี่เป็นทางออกนอกจากเครื่องเล่นตรงนั้นแล้วก็ยังมีพวกเกมต่างๆมากมายอยู่ในชั้นเดียวกันนี้ บรรยากาศจะดูคล้ายร้านเกม แต่เกมพวกนี้ทั้งเล่นสนุกได้แล้วก็แฝงความรู้ไปในตัวด้วยอย่างเกมตรงนี้เป็นการจำลองการบินผ่านแถบดาวเคราะห์น้อย การเล่นจะให้ไปยืนตรงสัญลักษณ์รูปรอยเท้าแล้วก็ใช้การเคลื่อนไหวมือเป็นตัวควบคุม
ตรงนี้เป็นส่วนที่ให้ลองควบคุมรถแล่นบนดาวอังคาร ยาน curiosity หรือชื่อจีนว่า "เฮ่าฉีเฮ่า" (好奇號, 好奇号) ** อักษร 好 ในที่นี้ไม่ได้อ่านว่า "เห่า" แต่ต้องเป็น "เฮ่า"หน้าจอควบคุมส่วนตรงนี้จำลองศูนย์ควบคุมรถที่แล่นบนดาวอังคาร ในการควบคุมนั้นเวลาที่กดปุ่มไปแล้วจะมีดีเลย์ กว่าที่รถจะเคลื่อนตามนั้น เพราะสัญญาณที่ส่งจากโลกไปถึงดาวอังคารไม่ได้ถึงทันทีนั่นเองส่วนตรงนี้จำลองฐานทัพบนทางอังคารแบบจำลองรถแล่นบนดาวอังคารแบบมีมนุษย์ขับ นี่ยังเป็นเพียงแค่จินตนาการ เพราะปัจจุบันยังมีแต่ยานไร้คนขับ การส่งมนุษย์ไปจริงยังเป็นเรื่องยาก แต่สักวันต้องทำได้แน่นอนหลังจากชมตรงส่วนนี้เสร็จก็ราวๆ 5 โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาปิด สิ้นสุดการเดินชมในวันนี้ เขาพาเราไปนั่งพักที่ห้องรับรองแขกสักพัก จากนั้นจึงออกมาส่งที่ประตูอีกด้านหนึ่งของอาคาร ซึ่งเป็นคนละฝั่งกับตอนขามาแล้วเขาก็แนะนำให้เราเดินไปขึ้นรถที่หน้าโรงพยาบาลซินกวาง (新光醫院, 新光医院) ซึ่งมีรถฟรีสำหรับบริการรับส่งของโรงพยาบาลเพื่อกลับไปยังสถานี รถไปลงที่สถานีเจี้ยนถาน (劍潭站, 剑潭站) ซึ่งเป็นสถานีที่ถึงหนึ่งสถานีก่อนหน้าสถานีซื่อหลินที่เรามาลงตอนแรกเรานั่งรถคันนี้ไปลงที่สถานีเจี้ยนถานแล้วก็นั่งรถไฟฟ้ากลับสรุปโดยรวมแล้วที่นี่เป็นสถานที่ที่น่าแวะมาเข้าชมแน่นอน สำหรับคนที่สนใจดาราศาสตร์ ลักษณะอาจคล้ายท้องฟ้าจำลองที่เอกมัย แต่ว่าทำออกมาได้ดีกว่า อุปกรณ์ต่างๆดูใหม่ทันสมัยกว่า อีกทั้งมีให้เล่นผจญภัยอวกาศ ซึ่งไม่เคยเจอในท้องฟ้าจำลองที่อื่นๆน่าเสียดายแค่ตรงที่ว่าส่วนจัดแสดงปิดอยู่ แต่ถีงจะเปิดอยู่ก็มีเวลาไม่พอเดินอยู่ดี เพราะมีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาไว้จะต้องแวะมาที่นี่อีกแน่นอนเมื่อส่วนจัดแสดงปรับปรุงเสร็จ เขาบอกว่าถึงตอนนั้นที่นั่นจะดีกว่าเดิมมาก ต้องอดใจรอสักพัก
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ