φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



เรือพินป่านโจว (tatala) ของชาวต๋าอู้ในไต้หวัน
เขียนเมื่อ 2017/08/10 22:18
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
เนื่องจากมีโอกาสได้แวะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (國立自然科學博物館) ในเมืองไถจง ดังที่เล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170803

พอเข้าไปชมในส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับชนเผ่าออสโตรนีเซียในไต้หวัน ก็ได้ไปเจอเรือลำหนึ่งซึ่งเป็นของชนเผ่าต๋าอู้ (達悟) ที่เกาะหลานหยวี่ (蘭嶼) เกาะเล็กๆทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน

เรือชนิดนั้นเรียกว่าพินป่านโจว (拼板舟, pīnbǎnzhōu) หรือที่เรียกในชื่อภาษาต๋าอู้ว่า tatala

นี่คือภาพเรือพินป่านโจวในพิพิธภัณฑ์ซึ่งถ่ายโดยหนุ่มแทจ็อนซึ่งไปชมมาด้วยกัน



เห็นเรือนี้แล้วรู้สึกถูกใจ ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะลองสร้างแบบจำลองสามมิติของเรือลำนี้ขึ้นมาดูสักหน่อย การสร้างทำโดยใช้โค้ดภาษาไพธอน

และนี่คือผลงานที่ทำสำเร็จออกมา



โค้ดไพธอนสำหรับสร้างดูได้ใน >> https://github.com/phyblas/yamimayapython/tree/master/tham_khong_tangtang/tatala

ส่วนไฟล์โมเดลที่ทำออกมาเสร็จก็มีแจกในรูปของ .pmx (สำหรับ mmd) โหลดได้ใน >> http://3d.nicovideo.jp/works/td30494



ชาวต๋าอู้และเกาะหลานหยวี่
ก่อนอื่น มาทำความรู้จักเกี่ยวกับเรื่องของเผ่าต๋าอู้กันสักหน่อย

ไต้หวันนั้นแม้ว่าจะเป็นที่รู้กันว่าประกอบขึ้นจากประชากรชาวจีนเป็นหลัก แต่ว่าในความจริงแล้วคนจีนเพิ่งมาอาศัยอยู่เมื่อช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิงเท่านั้น และได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนในยุคราชวงศ์ชิง

ก่อนหน้านั้นมีชนเผ่าที่อยู่ในไต้หวันมากมาย ทั้งในเกาะไต้หวันและเกาะเล็กๆในบริเวณ เผ่าต๋าอู้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แบบจำลองบ้านที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวต๋าอู้ ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ



เดิมทีเกาะหลานหยวี่นั้นไม่ได้ตกเป็นของจีนพร้อมกับเกาะไต้หวัน ชนเผ่าต๋าอู้จึงอยู่โดยอิสระมานานกว่าชนเผ่าอื่นในไต้หวัน เกาะนี้เป็นอิสระอยู่จนกระทั่งในปี 1877 จึงมีการผนวกรวมเกาะนี้เข้ากับจีน สังกัดอยู่มณฑลไต้หวัน

แผนที่แสดงตำแหน่งเกาะหลานหยวี่ ภาพจากวิกิพีเดีย



พอมาถึงปี 1895 จีนแพ้สงครามกับญี่ปุ่นทำให้ต้องยกเกาะไต้หวันให้ญี่ปุ่นทั้งหมด เกาะหลานหยวี่เองก็อยู่ในขอบเขตของไต้หวัน ดังนั้นก็โดนยึดไปด้วย จึงอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นจนถึงปี 1945 จึงคืนให้จีน

ดังนั้นชาวต๋าอู้รุ่นแก่ๆจะใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นแต่ใช้ภาษาจีนไม่เป็น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก

พูดถึงเรื่องภาษาแล้ว ชาวต๋าอู้มีภาษาเป็นของตัวเองอยู่ ภาษาต๋าอู้ (達悟語) เป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซีย เช่นเดียวกับภาษามลายูและฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีแค่ชาวเกาะหลานหยวี่บางส่วนที่ยังคงใช้อยู่ ประชากรบนเกาะมี ๕ พันกว่าคน แต่คนที่พูดเป็นภาษาแม่มีน้อยกว่านั้นเพราะหันไปใช้ภาษาจีนเป็นหลักหมด และมีแต่จะยิ่งค่อยๆหายไป

เผ่าต๋าอู้มีอีกชื่อเรียกว่าเผ่ายามิ (ヤミ族, yamizoku) ชื่อนี้ถูกเรียกโดยคนญี่ปุ่นในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ตั้งโดยโทริอิ ริวโซว (鳥居 龍藏) นักมานุษย์วิทยา ชื่อนี้ถูกแปลงเป็นภาษาจีนว่า เผ่าหยาเหม่ย์ (雅美族)

ก่อนหน้านี้ในใต้หวันเองก็เรียกเผ่านี้ว่าเผ่าหยาเหม่ย์มาตลอด แต่ปัจจุบันเนื่องจากเสียงเรียกร้องของชาวเผ่าเอง ก็เลยสนับสนุนให้เปลี่ยนมาเรียกว่าเผ่าต๋าอู้ ซึ่งเป็นชื่อที่ชนเผ่านี้ใช้เรียกตัวเองจริงๆ

คำว่าต๋าอู้มาจากคำว่า Tao ในภาษาต๋าอู้ ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า タオ族 (taozoku) ส่วนชื่อเกาะหลานหยวี่เองก็เรียกในภาษาต๋าอู้ว่า Ponso no Tao แปลตรงๆว่า "เกาะของคน"

คำว่าหลานหยวี่นั้นแปลตรงๆว่าเกาะกล้วยไม้ โดยคำว่า "หลาน" 蘭 แปลว่ากล้วยไม้ ส่วน "หยวี่" 嶼 แปลว่าเกาะเล็กๆ

ชื่อนี้เพิ่งถูกใช้เมื่อปี 1947 แต่ก่อนหน้านี้ชื่อที่คนจีนใช้เรียกคือ "หงโถวหยวี่" (紅頭嶼) หรือตามภาษาไต้หวัน (ฮกเกี้ยน) ว่า "อั่งเทาซู" ซึ่งแปลว่าเกาะหัวแดง หรือไม่ก็ "หงโต้วหยวี่" (紅豆嶼) ภาษาไต้หวันเรียกว่า "อั่งเต่าซู"

ชื่อหงโถว (紅頭) ยังเป็นชื่อของเขาที่สูงสุดของเกาะนี้ด้วย เขาหงโถวสูง ๕๕๒ เมตร

เกาะหลานหยวี่เป็นเกาะภูเขาไฟ มีขนาด ๔๘ ตร.กม. จัดเป็นเกาะใหญ่อันดับ ๔ ของสาธารณรัฐจีน แต่ประชากรอยู่กันเบาบางโดยกระจายอยู่ทางแถบตะวันตกของเกาะ

ภาพเกาะจาก google map แสดงให้เห็นว่ากลางเกาะมีแต่ป่าเขา อยู่ได้แค่พื้นที่ราบเล็กๆริมชายฝั่ง



ทางตะวันออกซึ่งไม่มีคนอยู่เป็นสถานที่ทิ้งกากกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไต้หวัน โรงเก็บกากสร้างเสร็จเมื่อปี 1982 แต่พอถึงปี 1996 ก็จุเต็ม ปัจจุบันก็ทิ้งไว้เฉยๆรอให้กัมมันตรังสีค่อยๆสลายไป ที่จริงมีแผนจะสร้างที่เก็บกากแห่งที่สอง แต่ชาวบ้านต่อต้านจนต้องล้มเลิก



เรือพินป่านโจว
ชาวต๋าอู้ดำรงชีวิตโดยการประมงเป็นหลัก ดังนั้นเรือจึงมีความสำคัญมากสำหรับพวกเขา

ซึ่งเรือที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานโดยมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองนี้ก็คือพินป่านโจว

เรือนี้มีลักษณะที่คล้ายกับเรือญี่ปุ่นอยู่จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกัน แต่โดยรายละเอียดแล้วก็ไม่มีใครรู้ที่มาแน่ชัด

ภาษาต๋าอู้ตั้งแต่อดีตมาไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง ดังนันจึงไม่มีการบันทึกอะไรเป็นลายลักอักษรไว้เลย ยากจะสืบค้นอะไรต่างๆในอดีต

ลวดลายบนตัวเรือใช้สีขาวดำแดง โดยสีขาวทำจากหินปูนเปลือกหอย (CaCO3) สีแดงทำจาก Fe2O3 ส่วนสีดำทำจากเถ้าถ่าน

ลายที่วาดมีอยู่หลากหลาย แต่ละหมู่บ้านก็มีรูปแบบของตัวเอง แต่โดยรวมๆสิ่งที่มักจะต้องมีอยู่ก็คือ สัญลักษณ์ตาเรือ กับรูปคน และริ้วลายที่ขอบ

ภาพเปรียบเทียบลายบนเรือที่พบในพิพิธภัณฑ์กับในแบบจำลองซึ่งพยายามทำเลียนแบบ




สัญลักษณ์ตาเรือนี้จะติดอยู่ที่หัวและท้ายเรือ ข้างละ ๒ ดังนั้นเรือทุกลำจะมี ๔ ตา

ส่วนรูปคน มีลักษณะที่หลากหลาย ชาวต๋าอู้เองก็ยังไม่ได้รู้แน่ชัดว่าหมายถึงอะไร แต่มีข้อสันนิษฐาน ๓ ข้อ
๑. เป็นสัญลักษณ์แทนนักรบในตำนาน ชื่อว่า Magamaog ซึ่งเป็นคนริเริ่มให้ชาวต๋าอู้สร้างเรือจับปลา
๒. เป็นเครื่องหมายที่มีความหมายแทนอะไรบางอย่างโดยแต่ละภาพที่ต่างกันก็มีความหมายไม่เหมือนกัน
๓. เป็นสัญลักษณ์แทนวีรบุรุษประจำบ้านของแต่ละบ้าน

แม้จะไม่รู้ว่าข้อไหนถูก ไม่รู้ความหมายแน่ชัด แต่ก็เป็นธรรมเนียมมาช้านานว่าจะต้องวาดอยู่บนเรือ แล้วรูปนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวต๋าอู้ไปแล้ว

ส่วนลายที่ขอบนั้นจะเป็นเส้นหยึกหยักที่เป็นสีขาวสลับดำและมีแถบสีแดงคั่น รูปแบบลายมีอยู่หลากหลายไม่แน่นอนแล้วแต่ลำ

แบบจำลองที่ทำขึ้นมานี้สร้างลวดลายขึ้นด้วย matplotlib โดยเฉพาะคำสั่ง fill_between และ tripcolor แล้วยังมีการใช้ scipy เพื่อช่วยในการคำนวณด้วย

หากแบ่งตามขนาดและวัตถุประสงค์การใช้งานแล้วพินป่านโจวอาจแบ่งได้เป็น ๒ ขนาด คือเรือขนาดเล็กประมาณ ๓ เมตรคนนั่ง ๒-๓ คนใช้เพื่อการประโมง และขนาดใหญ่ประมาณ ๗ เมตร คนนั่งได้ ๑๐ คน เอาไว้ใช้ในการประกอบพิธี เรือใหญ่จะเรียกว่า cinedkeran

ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นแบบขนาดใหญ่



ผังเรือที่วาดโดย matplotlib ขณะสร้างแบบจำลองทั้ง ๒ ขนาด



สำหรับลวดลายที่ใช้ในแบบจำลองที่สร้างขึ้นนั้น ลำใหญ่ยึดตามเรือที่ตั้งจำลองอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ส่วนลำเล็กอ้างอิงภาพที่ค้นเจอจากเว็บหลายแห่ง แต่ไม่ได้ยึดอันไหนเป็นหลัก

โครงสร้างภายในของเรือที่ทำไม่ได้อ้างอิงโครงสร้างของจริง ที่ทำออกมาให้เหมือนคือแค่ภายนอกเท่านั้น

นอกจากนี้ที่บนปลายแหลมขอบเรืออาจมีการติดเครื่องประดับรูปขนนกที่เรียกว่า molon ไว้ด้วย ของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้เองก็มี แต่เนื่องจากทำยากจึงไม่ได้ทำ



ลองเอาแบบจำลองที่ทำได้มาลอยกลางทะเลมายาดู



อันนี้เป็นการลองนำมาใช้ในโปรแกรม mmd ฉากในรูปคือนครแห่งน้ำ เนโอเวเนเซีย (บนดาวอังคาร) เอาเรือนี้มาแล่นแทนกอนโดลา



ใบพายในรูปก็ทำโดยอ้างอิงจากทั้งในพิพิธภัณฑ์และในเว็บ ลายบนพายก็มีหลากหลายแต่ส่วนใหญ่จะตกแต่งให้เข้ากับลายบนเรือ สัญลักษณ์รูปตาก็มักจะถูกวาดไว้ด้วย

แล้วที่จริงในธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมผู้หญิงห้ามนั่งหรือแม้แต่สัมผัสพินป่านโจว เพราะงานประมงเป็นงานของผู้ชายเท่านั้น

เพียงแต่ในปัจจุบันมีเรือส่วนหนึ่งที่แบ่งมาใช้เป็นเรือท่องเที่ยว เรือเหล่านั้นให้นักท่องเที่ยวมานั่งพายเล่นได้โดยไม่มีการกีดกันเรื่องเพศ ดังนั้นใครที่มาเที่ยวเกาะหลานหยวี่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้นั่งเรือ



แหล่งอ้างอิง
http://wawa.pts.org.tw/tribe.php?PAGE=WAWA_C_CONTENT&SEARCH_HTENO=8
http://mysweetchiu.pixnet.net/blog/post/28946017
http://www.nhu.edu.tw/~society/e-j/84/84-21.htm
http://www.aboriginal-power.com.tw/index/index.php/lanyu-culture/2012-01-18-04-40-28.html
https://zh.wikipedia.org/wiki/拼板舟
https://zh.wikipedia.org/wiki/蘭嶼
https://zh.wikipedia.org/wiki/蘭嶼貯存場
https://ja.wikipedia.org/wiki/チヌリクラン
https://ja.wikipedia.org/wiki/タオ族

โมเดลอื่นที่ยืมมาใช้
เนโอเวเนเซีย http://www.nicovideo.jp/watch/sm23336072
ยามิจัง https://onedrive.live.com/?id=4C765810BD215040%21264&cid=4C765810BD215040
ฮัตสึเนะ มิกุ https://bowlroll.net/file/74754
ซินหัว http://seiga.nicovideo.jp/seiga/im4988620
เซี่ยหยวี่เหยา https://home.gamer.com.tw/creationDetail.php?sn=2705955


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> mayapython
-- คอมพิวเตอร์ >> 3D >> maya
-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文