# พุธ 18 เม.ษ. 2018จากตอนที่แล้วที่มาถึงโรงแรมในคุนหมิง
https://phyblas.hinaboshi.com/20180528เป้าหมายแรกในการเที่ยวคุนหมิงครั้งนี้คือ
หอดูดาวยูนนาน (云南天文台)ในการมาเที่ยวยูนนานครั้งนี้นับว่าโชคดีที่มีโอกาสได้เข้าชมหอดูดาวยูนนาน นี่เป็นสถานที่นึงที่คนทั่วไปน่าจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปชมแต่เรามีคนรู้จักทำงานอยู่ที่นี่เลยมีโอกาสได้เข้าไปเป็นพิเศษ
หอดูดาวยูนนานตั้งอยู่บนเขาเฟิ่งหวง (凤凰山) ชานเมืองตะวันออกของเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๑๔ เมตร
ที่นี่มีประวัติความเป็นมาคือเดิมทีก่อตั้งขึ้นในปี 1938 ช่วงที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีจีน ตอนนั้นจีนได้พยายามอพยพทุกอย่างจากตะวันออกไปทางตะวันตกซึ่งสงบสุขกว่า
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยศูนย์กลางแห่งชาติ (国立中央研究院天文研究所) ซึ่งเดิมตั้งอยู่ที่เขาจื่อจินซาน (紫金山) ที่เมืองหนานจิง (南京) ก็ได้ถูกย้ายมาที่คุนหมิง
แต่ต่อมาเมื่อสงครามสงบแล้วก็ย้ายกลับทันที เหลือไว้เพียงสถานที่ทำงาน ซึ่งต่อมาในปี 1972 จึงได้มีการจัดตั้งเป็น
หอดูดาวยูนนานแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (中国科学院云南天文台) อย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันมีอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อยู่ที่นี่มากกว่า ๒๐ ชิ้น สร้างผลงานวิจัยมากมาย นอกจากนี้ที่นี่ยังมีบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยด้วย โดยมีนักศึกษาที่สามารถมาเรียนปริญญาโทหรือเอกจากที่นี่ และยังมีนักศึกษาและนักวิจัยจากต่างชาติร่วมด้วย
หอดูดาวส่วนที่ตั้งอยู่ที่คุนหมิงนี้เป็นสำนักงานใหญ่ ซึ่งมีกล้องดูดาวใหญ่สุดแค่ ๑ เมตร แต่สถานีสังเกตการณ์ยังมีตั้งอยู่อีก ๒ ที่
ที่หนึ่งคือกล้องดูดาวเกาเหมย์กู่ (高美古) ที่ลี่เจียง (丽江) ซึ่งมีขนาด ๒.๔ เมตร ขนาดเท่ากับกล้องที่หอดูดาวแห่งชาติไทยดอยอินทนนท์ แต่ตั้งอยู่บนความสูง ๓๒๐๐ เมตร ซึ่งสูงกว่า เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2008 และถือเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของจีน รองจากกล้อง LAMOST ที่สถานีฐานสังเกตการณ์ซิงหลง (兴隆观测基地) (เรื่องของซิงหลงเคยเขียนถึงไปใน
https://phyblas.hinaboshi.com/20130529)
และอีกที่คือกล้องโทรทรรศน์ดวงอาทิตย์อินฟราเรด ๑ เมตร (1米红外太阳望远镜) ที่ทะเลสาบฝู่เซียน (抚仙湖) เมืองยวี่ซี (玉溪市) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของคุนหมิง สร้างขึ้นในปี 2015
ที่เราได้เช้าชมในครั้งนี้ก็มีแค่ในส่วนที่อยู่คุนหมิงเท่านั้น ส่วนที่ลี่เจียงนั้นแม้ว่าเราจะได้ไปเที่ยวในเมืองลี่เจียง แต่การจะไปที่หอดูดาวเกาเหมย์กู่ที่นั่นนั้นค่อนข้างไกลไม่สะดวก จึงไม่ได้แวะไป
สำหรับการเดินทางไปหอดูดาวยูนนานนั้น โชคดีว่าตำแหน่งที่โรงแรมอยู่คือที่ต่งเจียวาน (董家湾) นั้นมีรถเมล์ที่สามารถไปถึงหอดูดาวได้โดยตรง คือรถเมล์สาย d27 หรือ 28 นอกจากนั้นหากออกจากที่อื่นก็ยังมีสายอื่นที่ไปได้อยู่อีก
เส้นทางเปิดดูในไป่ตู้เอา
ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึง ชื่อป้ายหอดูดาว (天文台, เทียนเหวินไถ) รถเมล์ส่งลงแค่ถึงตรงทางเข้าปากซอยที่จะเข้าไปยังหอดูดาว แล้วก็ต้องเดินขึ้นเนินไป
ปากทางเข้า
เดินไปแล้วก็ขึ้นเขาไปเรื่อยๆ
ไปถึงเวลาเก้าโมงครึ่งตามที่นัดไว้ นัดเจอกันตรงหน้าทางเข้า จากตรงนี้ไม่สามารถเข้าไปเองได้ เพราะเป็นสถานที่ทำงาน ต้องให้เพื่อนมารับจึงเข้าได้
เขาขับรถออกมารับ แล้วก็ขับพาเข้าไปด้านใน จอดรถด้านใน แล้วก็เริ่มพาเดินชมด้านใน
บรรยากาศภายในระหว่างทางก็ดูร่มรื่นดี สภาพแวดล้อมดี
ตรงนี้เป็นส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับดาราศาสตร์สำหรับคนทั่วไป
ปกติจะเข้าชมที่นี่มักต้องทำเรื่องจองล่วงหน้า แต่นี่เรามาแบบกันเองกับคนที่ทำงานในนี้ ส่วนตรงนี้จึงไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเปิดให้ชมนัก
อย่างไรก็ตามเขาได้ติดต่อคนที่ทำงานในส่วนบรรยายตรงนี้มาช่วยเปิดให้เข้าชมส่วนนึง นั่นคือส่วนที่แสดงหินอุกกาบาต เขาได้บรรยายอะไรต่างๆในนี้ให้ฟัง แต่ก็ให้ดูแค่ตรงนี้เพราะส่วนอื่นเหมือนจะยังไม่พร้อมให้ดู
ที่เห็นอยู่ตรงกลางห้องนั่นคืออุกกาบาตที่ตกมาเมื่อ 4 เม.ษ. 1980 ที่อำเภอปกครองตัวเองชนชาติอี๋ สือหลิน (
石林彝族自治县) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองคุนหมิง ลองจิจูด 103°28′ ละติจูด 24°42′ อุกกาบาตหนักทั้งหมด ๒๕๒๐ กรัม แตกออกเป็น ๔ ก้อน ส่วนก้อนที่ตั้งอยู่นี้เป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด หนัก ๒๑๕๐ กรัม
ส่วนตรงนี้เป็นนาฬิกาแดด (日晷) และลานกว้างรอบๆนี้ก็เรียกว่าลานกว้างนาฬิกาแดด (日晷广场, รื่อกุ่ยกว๋างฉ่าง)
จะเห็นได้ว่ามุมเอียงของนาฬิกาแดดทำมุมประมาณ ๒๔ องศากับแนวตั้ง ซึ่งตรงกับละติจูดของที่นี่
จากนั้นเดินมาดูด้านหลังตึก เป็นบริเวณที่เรียกว่าลานกว้างปฏิทินสุริยคติ (太阳历广场, ไท่หยางลี่กว๋างฉ่าง)
ตรงนี้มีนาฬิกาแดดแบบที่ใช้ทั้งดูเวลาได้แล้วก็ดูวันที่ได้ด้วยในขณะเดียวกัน
โดยดูที่เงาของเสาตรงกลาง ว่าปลายพาดโดนตรงไหน เส้นแนวตั้งจะบอกวันที่ เพราะความยาวของเงาจะต่างไปในแต่ละฤดู ฤดูร้อนดวงอาทิตย์ขึ้นสูงเงาจะสั้นจึงอยู่ทางซ้าย ฤดูหนาวดวงอาทิตย์ขึ้นไม่สูงเงาจะยาวจึงอยู่ทางซ้าย ส่วนเส้นแนวนอนจะบอกเวลา เพราะดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากตะวันออกในตอนเช้า ไปตะวันตกในตอนเย็น
เพียงแต่ต้องระวังว่าเวลาที่บอกโดยการดูเงาจะเป็นเวลาท้องถิ่น ซึ่งต่างจากเวลามาตรฐานจีน (中国标准时间) ซึ่งอ้างอิงตามลองจิจูด 120 องศาตะวันออก ซึ่งตรงกับเมืองทางชายฝั่งตะวันออกของจีน แต่คุนหมิงอยู่ลึกไปทางตะวันตกมาก ลองจิจูด 102°47′18″ ซึ่งห่างจาก 120 มากกว่า 17 องศา ทำให้เวลาในนาฬิกาต่างจากเวลาท้องถิ่นไปชั่วโมงกว่า จากภาพนี้ดูจากเงาแล้วเป็นเวลาประมาณเก้าโมง แต่เวลาในนาฬิกาคือสิบโมงกว่าแล้ว ดังนั้นต้องบวกเวลาเพิ่มด้วย
เสาที่อยู่ทางใต้สุดจะบอกช่วงวันที่โดยที่ตรงพื้นมีขีดบอกอยู่โดยเขียนขีดแบ่งเวลาทั้ง ๒๔ ช่วงตามแบบจีนไว้ โดยต้องรอถึงตอนเที่ยง ให้เงาเสาพาดผ่านตรงกลาง ดูแล้วบอกได้ว่าอยู่ในช่วงไหน
เสร็จแล้วเขาพามาที่อาคารกล้องดูดาวชื่อเวิ่นเทียนโหลว (问天楼) ซึ่งแปลว่าอาคารถามดาว กล้องนี้ปกติใช้ในงานบริการวิชาการ ให้คนทั่วไปเข้ามาลองใช้ส่อง แต่ว่าวันนี้ไม่มีใครมาชม ปกติเขาจะเปิดเมื่อมากันเป็นกลุ่ม ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่ได้เปิดตลอด
ข้างในยังเก็บกล้องไว้จำนวนมากด้วย
ด้านหน้าตึกมีตั้งกล้องส่องดวงอาทิตย์อยู่ แต่จังหวะที่ไปก็ไม่เห็นอะไรเพราะฟ้ากำลังมีเมฆเยอะ
ส่วนตรงนี้เป็นอาคารสถานที่ทำงาน เราไม่ได้เข้าไปดู แค่เดินผ่านเฉยๆ ดูแล้วใหญ่มาก คนนับร้อยชีวิตทำงานอยู่ในนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยดาราศาสตร์
แล้วก็พาไปชมกล้องดูดาวขนาด ๑ เมตรซึ่งใหญ่สุดของที่นี่ กล้องนี้นำเข้าจากเยอรมนีช่วงทศวรรษ 1980
ตัวกล้อง
เดินดูระเบียงด้านนอก
ต่อมาก็ไปชมกล้อง ๖๐ ซ.ม. นำเข้าจากเยอรมนีเหมือนกัน
ขึ้นไปชมด้านบน
ตัวกล้อง
คอมพิวเตอร์ควบคุม และเตียงนอนสำหรับคนที่ทำงานที่นี่
ขึ้นไปดูที่ส่วนยอด
ตรงนี้เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่ดี
จากตรงนี้มองไปเห็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๔๐ เมตร
กล้องนี้สร้างโดยบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกจีน (中国电子科技集团公司) เริ่มสร้างขึ้นปี 2005 และเสร็จในปี 2006 เริ่มใช้งาน หน้าที่หลักๆคือใช้ติดต่อกับดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ (嫦娥) เพื่อให้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์
กล้องนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุจำนวนมากซึ่งประกอบกันเป็นอินเทอร์เฟอโรเมทรี (interferometry, 干涉测量) ซึ่งก็คือการสร้างเครือข่ายกล้องจำนวนมากในหลายพื้นที่ซึ่งแทนการสร้างกล้องขนาดใหญ่ตัวเดียว โดยเส้นผ่านศูนย์กลางของเครือข่ายจะเรียกว่าเส้นฐาน (baseline, 基线) และเนื่องจากเส้นฐานของเครือข่ายนี้มีความกว้างมากจึงถูกเรียกว่า อินเทอร์เฟอโรเมทรีแนวเส้นฐานยาวมาก (Very-long-baseline interferometry, VLBI, 甚长基线干涉测量法)
และยังมีการสร้างระบบสำหรับสังเกตการณ์พัลซาร์โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2011 จึงได้สร้างผลงานด้านการวิจัยพัลซาร์ออกมามากมาย
จากนั้นเราก็เดินลงมาแล้วก็เข้าไปชมตรงอาคารควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
เขาพาเข้าไปดูในห้องทำงานด้านใน ในนี้เห็นมีแบบจำลองดวงจันทร์ซึ่งมีชื่อหลุมต่างๆกำกับ
การชมภายในก็เสร็จเท่านี้ ต่อมาเขาพาเราไปทานข้าวตรงร้านอาหารที่อยู่ตรงหน้าทางขึ้นเนินของหอดูดาว มีรุ่นพี่คนไทยที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่หอดูดาวแห่งนี้ไปกินด้วย
ด้านในร้านที่ไปกิน
อาหารมื้อนี้เขาเลี้ยงเราทั้งหมด ตามธรรมเนียมทั่วไปของคนจีนที่ว่าจะต้องต้อนรับแขกให้ดี ดูแล้วน่าจะราคาไม่น้อยเลยเหมือนกัน
กินเสร็จเป้าหมายต่อไปสำหรับช่วงบ่ายก็คือไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน (云南省博物馆)
https://phyblas.hinaboshi.com/20180623