φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ภาษามองโกลเบื้องต้น บทที่ ๑: เริ่มต้นกันที่เรื่องการอ่านออกเสียง
เขียนเมื่อ 2022/03/08 12:13
แก้ไขล่าสุด 2022/09/07 15:33
นี่เป็นบทเรียนสอนภาษามองโกลพื้นฐาน สำหรับผู้ที่สนใจ

ก่อนที่จะเริ่มบทเรียนนี้ ขอแนะนำให้อ่านบทความเรื่องทำความรู้จักกับภาพรวมของภาษามองโกลก่อน เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นภาษาอย่างไร

ในบทแรกนี้จะเริ่มจากอธิบายเรื่องวิธีการออกเสียงก่อน โดยจะแนะนำอักษรต่างๆไปทีละส่วน แยกเป็นสระ พยัญชนะ และเครื่องหมายพิเศษ เน้นให้เข้าใจหลักการอ่านออกเสียง

ในที่นี้จะใช้อักษรซีริลลิกซึ่งใช้เป็นหลัก เนื่องจากอ่านง่ายและสอดคล้องกับเสียงอ่านในปัจจุบันมากกว่า แต่อาจมีการพูดถึงอักษรมองโกลแบบดั้งเดิมไปด้วยบ้าง แต่ไม่เน้น เนื่องจากเป็นอักษรแนวตั้ง มีความลำบากในการแสดงผลในคอม ในเบื้องต้นใช้อักษรซีริลลิกเป็นหลักสะดวกกว่า

อย่างไรก็ตาม ลำดับอักษรที่จะแนะนำในหน้านี้จะเรียงตามลำดับกลุ่มเสียง ไม่ใช่ลำดับอักษรตามพจนานุกรม ส่วนการเรื่องตัวอักษรโดยภาพรวมและการจัดเรียงในพจนานุกรมจะเขียนสรุปไว้ในบทถัดไป



เสียงสระพื้นฐาน ๗ เสียง

ภาษามองโกลนั้นโดยพื้นฐานแล้วมีสระอยู่ ๗ สระด้วยกัน ซึ่งระบบการเขียนด้วยอักษรซีริลลิกก็ได้ใช้อักษรสระ ๗ ตัวแทน ๗ เสียงนี้ต่างกันไปแบ่งกันอย่างชัดเจน นั่นคือ а э и о у ү ө

อักษร เสียงอ่าน IPA ตัวอย่าง
а อะ / อา [a] амอัม = ปาก нарนาร์ = ดวงอาทิตย์
э เอะ / เอ [e] эмเอ็ม = ยา нэрเนร์ = ชื่อ
и อิ / อี [i] ихอิฮ์ = ใหญ่ бидบิด = พวกเรา
о เอาะ / ออ [ɔ] одอ็อด = ดาว голก็อล = แม่น้ำ
у โอะ / โอ [o] усอส = น้ำ зунซง = ฤดูร้อน
ү อุ / อู [u] үдอุด = ตอนเที่ยง хүнฮุง = คน
ө โอะ* / โอ* [ɵ] өдอด = ปีก хөхโฮฮ์ = สีฟ้า

สำหรับ а กับ о นั้นเข้าใจได้ง่ายๆว่าเป็นสระ "อา" กับ "ออ" เพราะตรงกับในอักษรโรมันที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง ส่วน э คือสระ "เอ" ส่วน и นั้นแม้จะดูเหมือนอักษร N ใหญ่กลับหัวก็จริง แต่ที่จริง и คือสระ เทียบเท่ากับ i ของอักษรโรมันนั่นเอง และเสียงอ่านก็คือสระ "อี"

ที่อาจจะสับสนได้ง่ายก็คือตัว у กับ ү เพราะหน้าตาคล้ายกันมาก ตัวนึงคล้ายอักษร y เล็กของอักษรโรมัน แต่อีกตัวกลับคล้าย Y ใหญ่ แต่ ๒ ตัวนี้ถือเป็นอักษรคนละตัวกันต้องแยกให้ดี

สำหรับ у นั้นแทนเสียงสระ "โอ" ในขณะที่ ү จะแทนสระ "อู"

๖ สระข้างต้นนั้นโดยพื้นฐานแล้วก็ใกล้เคียงกับภาษาไทย สามารถเทียบเสียงไปตามนั้นได้เลย แต่สระที่จะมีปัญหาที่สุดก็คือ ө เพราะไม่มีในภาษาไทย

อักษรตัวนี้ดูเผินๆก็คล้ายกับตัวอักษรกรีก θ (เธตา) ที่ถูกย่อให้เตี้ยจนกลม แต่จริงๆแล้วเป็นสระในอักษรซีริลลิก เสียง ө นั้นแสดงเป็นภาษาไทยได้ยาก โดยเสียงนี้จะอยู่ระหว่างสระ "โอ" กับสระ "เออ" หรืออาจฟังดูคล้ายกับสระ "อู" ด้วย แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าใกล้เคียง "โอ" มากที่สุด ดังนั้นเวลาเขียนแสดงเสียงอ่านก็จะเขียนเป็น "โอ" ไปด้วย ซึ่งจะไปซ้ำกับ у แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าจริงๆแล้วเสียงตัว ө เป็นเสียง "โอ" ที่ค่อนไปทาง "เออ"

เสียงนี้หาเทียบเคียงในภาษาอื่นได้ยาก แต่ถ้าใครรู้ภาษากวางตุ้งละจะมีตัวเทียบได้ เสียงนี้ที่จริงก็คือเสียงสระของตัว 出 (/t͡ʃʰɵt̚/, ชด) หรือ 信 (/sɵn/, ซน) นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ๗ สระที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นแค่พื้นฐาน เพราะในภาษามองโกลยังมีการแบ่งสระเป็นเสียงสั้นเสียงยาว และมีสระประสมด้วย ซึ่งจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป



การแยกสระเสียงสั้นและยาว

สระเสียงยาวนั้นแสดงด้วยการเขียนสระสองตัวติดกัน นั่นคือเขียนเป็น аа ээ оо уу үү өө ยกเว้นเสียง и จะเขียนเป็น ий ไม่ใช่ ии

อักษร เสียงอ่าน IPA ตัวอย่าง
аа อา [aː] аавอาว = พ่อ лааลา = เทียน
ээ เอ [eː] ээжเอจ = แม่ нээхเนฮ์ = เปิด
ий อี [iː] тиймทีม =ใช่ хийхฮีฮ์ = ทำ
оо ออ [ɔː] хоолฮอล = อาหาร ноосนอส = ขนสัตว์
уу โอ [oː] уулโอล = ภูเขา лууโล = มังกร
үү อู [uː] үүлอูล = เมฆ нүүрนูร์ = ใบหน้า
өө โอ* [ɵː] өөрโอร์ = นอกจาก өглөөอกโล = ตอนเช้า

เพียงแต่ในบางกรณี ต่อให้เขียนแค่ตัวเดียวก็ออกเป็นเสียงยาวด้วยเหมือนกัน เช่นในกรณีคำพยางค์เดียวที่ไม่มีตัวสะกด เช่น

биบี = ฉัน
таทา = คุณ

ดังนั้นอักษรตัวเดียวอาจแทนเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ได้ แต่ถ้าเขียนสองตัวจะแทนเสียงยาวเสมอ

สำหรับการเขียนแสดงเสียงในที่นี้จะยึดตามความเคยชินในการเขียนทับศัพท์ภาษาไทย โดยจะแยกเสียงสั้นกับยาวเฉพาะกรณีที่มีตัวสะกด ถ้าไม่มีตัวสะกดหรือตัวสะกดเป็น хฮ์ หรือ р ร์ จะใช้รูปเสียงยาวเสมอแม้จริงๆจะเป็นเสียงสั้น ยกเว้นสระ "อิ/อี" กับ "อุ/อู" จะเขียนแยกเสียงสั้นและยาวให้เห็นชัดในทุกกรณี



สระเพิ่มเติม

นอกจากสระพื้นฐาน ๗ ตัวแล้ว ยังมีอักษรแทนสระอีก ๕ ตัว ซึ่งมักจะมีเสียง "ย" ติดมาด้วย หรือบางตัวอาจอ่านเป็นสระ "อี" ไปในบางกรณี ถือว่ามีเสียงอ่านหลายแบบโดยอาจแล้วแต่คำ ซึ่งอาจต้องจำแยกไป แต่ตัวเหล่านี้ถือว่าเจอค่อนข้างน้อย ถูกใช้อยู่จำกัดในบางกรณีเท่านั้น

อักษร เสียงอ่าน IPA ตัวอย่าง
я ยา [ja] ямарยามาร์ = อย่างไร хямдฮยัมด์ = ราคาถูก
อี [iː] наяนาอี = แปดสิบ саяханซาอีฮัง = หมู่นี้
е เย [je] үерอุเยร์ = น้ำท่วม үеэлอุเยล = ญาติพี่น้อง
โย [jɵ] ерโยร์ = เก้าสิบ ерөнхийлөгчโยรงฮีลกช์ = ประธานาธิบดี
ยู [ju] есยุส = เก้า
ертөнцยุร์ทนช์ = อวกาศ
อี [iː] үеอุอี = สมัย биеบี = ร่างกาย
เอ [e] ресторанเร็สทอรัง = ภัตตาคาร кофеคอเฟ = กาแฟ
ё ยอ [jɔ] ёсย็อส = ธรรมเนียม ёроолยอรอพ = ก้นบึ้ง
อี [iː] гоёกออี = สวย ноёнนออิง = ชนชั้นสูง
ю โย [jo] юуโย = อะไร юмยม = สิ่งของ
ยู [ju] юүยู? = หรือ?
ы อี [ʲi] таныทานี = ของคุณ улсынอลซีง = ของชาติ

ตัว е มักใช้ออกเสียงสระเอในคำทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศ เช่นคำว่า ресторанเร็สทอรัง และ кофеคอเฟ นี้รับมาจากภาษารัสเซีย (ซึ่งเดิมก็มาจากภาษาอื่นอีกที)

ตัว ы นั้นดูเผินๆคล้ายจะเป็นอักษร ๒ ตัวต่อกัน แต่จริงๆแล้วคืออักษรตัวเดียว ออกเสียงสระ "อี" เหมือนกับ ий แต่จะใช้แค่ในบางกรณีจำกัด เช่นในรูปแสดงความเป็นเจ้าของซึ่งจะค่อยเขียนถึงต่อไป

นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมาย ь และ ъ ซึ่งไม่ใช่สระ ไม่ได้มีเสียงในตัวเอง แต่ทำหน้าที่บางอย่างเมื่ออยู่ในคำ

ь จะทำให้เกิดเสียงควบ "ย" เล็กๆสั้นๆหลังตัวอักษรที่ไปตาม ทำให้ฟังดูคล้ายมีเสียง "อิ" หรือ "ย" ต่อคล้ายกับ и แต่จะสั้นกว่า มักจะถูกละ

морь มอร์ = ม้า хонь ฮ็อน = แกะ
хуульโฮล = กฎหมาย сургуульโซร์โกล = โรงเรียน

ส่วน ъ (ต่างจาก ь เล็กน้อยตรงที่ปลายบนมีขีดไปทางซ้าย) นั้นใช้ในคำที่ต้องการแยกเสียง ถูกใช้ค่อนข้างน้อยและจำกัด เช่นใช้ในกริยาที่ผันเป็นรูปชักชวน เช่น

явъяเยาอี = ไปกันเถอะ
гаръяการ์อี = ออกไปเถอะ



เสียงสระประสม

เมื่อนำสระสองตัวมาวางต่อกันก็จะได้เสียงสระประสมขึ้นมา โดยเสียงประสมที่เจอได้ในภาษามองโกลนั้นทั้งหมดจะมี й เป็นส่วนประกอบ มีดังนี้

อักษร เสียงอ่าน IPA ตัวอย่าง
ай ไอ~แอ [ai]~[ae]~[æː] цайไช = ชา сайнไซง์ = ดี
эй เอย์ [ei]~[eː] хэрэгтэйเฮเร็กเทย์ = มีประโยชน์ эмэгтэйเอเม็กเทย์ = ผู้หญิง
ой ออย~เออ [ɔi]~[ɔe]~[œː] ойрออยร์ = ใกล้ толгойท็อลกอย = หัว
уй โอย [oi]~[ʊe] гаруйกาโรย = ประมาณกว่าๆ уйлахโอยลาฮ์ = ร้องไห้
үй อุย [ui]~[ue] үйлอุยล์ = โชค, การกระทำ,งาน зүйซุย = กฎ

โดยพื้นฐานแล้วเสียงจะเป็นไปตามตัวสระที่เป็นส่วนประกอบ แต่ก็มักจะเสียงเพี้ยนไปได้

เช่นเสียง ай นั้นจริงๆตามรูปแล้วควรเป็นสระประสมออกเสียง "ไอ" แต่มักจะออกเป็น "แอ" มากกว่า ในที่จะเขียนทับศัพท์แทนเสียงเป็น "ไอ" เป็นหลัก แต่เวลาอ่านจะอ่านว่า "แอ" ก็ได้

ส่วน ой นั้นตามรูปแล้วควรอ่าน "ออย" แต่มักจะถูกอ่านเป็นเสียง [œː] ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีในภาษาไทยแต่จะคล้ายเสียง 藥 ([jœːk̚], เหยิก) หรือ 強 ([kʰœːŋ], เขิ่ง) ในภาษากวางตุ้ง คือฟังดูคล้ายจะอยู่ระหว่าง "เออ" กับ "แอ" แต่อย่างไรก็ตามในที่นี้ก็จะเขียนแทน ой ด้วย "ออย" ทั้งหมด

เสียง эй นั้นปกติแล้วจะกลายเป็นแค่ "เอ" เสียงยาว โดยเสียงสระ "อิ" ข้างหลังหายไป เช่นเดียวกับในภาษาญี่ปุ่น แต่ในที่นี้ก็จะเขียนเป็น "เอย์" ไว้



เสียงสระคลุมเครือที่เกิดขึ้นในพยางค์ท้ายและสระที่อ่านไม่ตรงรูป

เรื่องสระในภาษามองโกลนั้นมีความยุ่งยากอีกอย่างที่ต้องระวังให้ดี นั่นก็คือเสียงสระในพยางค์ท้ายถ้าหากเป็นเสียงสั้นมักจะออกเสียงไม่ชัดเจน ไม่ว่าจริงๆคำนั้นจะเขียนด้วยอักษรไหนก็ตาม จะฟังดูเป็นเสียงประมาณสระอือหรือสระเออ (IPA: [ə] หรือ [ɘ])

เช่น

оюутанออโยทัง = นักเรียน

คำนี้ถ้าดูตามตัวสะกดแล้วควรจะเป็น "ออโยทัง" แต่เสียงอ่านจริงๆจะได้ยินเป็น "ออโยทึง"

хүрэхฮุเรฮ์ = ไปถึง

ตามรูปแล้วควรจะเป็น "ฮุเรฮ์" แต่จริงๆมักจะได้ยินเป็น "ฮุรึฮ์"

เรื่องนี้มีข้อยกเว้นในรายะเอียดปลีกย่อยที่อาจต้องจำแยกไป อย่างไรก็ตาม เวลาเขียนแสดงเสียงอ่านในบทเรียนนี้จะแสดงเสียงตามตัวสะกดเป็นหลัก แทนที่จะแสดงเสียงคลุมเครืออย่างที่ออกเสียงจริง ดังนั้น оюутан และ хүрэх จะเขียนเป็น "ออโยทัง" และ "ฮุเรฮ์" แบบนี้ แต่ให้เข้าใจว่าเวลาอ่านออกเสียงจริงๆพยางค์หลังมักจะกลายเป็นสระคลุมเครือดังที่กล่าวมา

อนึ่ง เรื่องของสระนั้นจริงๆควรจะต้องกล่าวถึงเรื่องหลักการกลมกลืนกันของเสียงสระด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไวยากรณ์ ดังนั้นจะขอยกไปอธิบายพร้อมกับไวยากรณ์ที่เกี่ยวข้อง



เสียงพยัญชนะ

ต่อมาเป็นเรื่องของเสียงพยัญชนะต้น

ภาษามองโกลมีเสียงพยัญชนะต้นทั้งหมด ๒๐ หน่วยเสียง ดังนี้

อักษร เสียงอ่าน IPA หมายเหตุ
б บ~ป [b]~[p] เสียงอยู่ระหว่าง "บ" หรือ "ป"
п [pʰ]  
м [m]  
ф [f]  
д ด~ต [d]~[t] เสียงอยู่ระหว่าง "ด" หรือ "ต"
т [tʰ]  
н [n]  
р [r]  
л ล* [ɮ] เป็นเสียง "ล" แบบเสียดแทรก ฟังดูคล้าย "ซ"
ใกล้เคียงกับเสียง ལྷ (lh) ในภาษาทิเบต
г [g]~[k] เสียงอยู่ระหว่าง g ในภาษาอังกฤษกับ "ก" ในภาษาไทย
к [kʰ]  
х ฮ* [x]~[χ] ใกล้เคียงกับเสียง h ในภาษาจีนกลาง
หรือ х ในภาษารัสเซีย
หรือ j ในภาษาสเปน
ж [ʤ]~[ʧ]  
ч [ʧʰ]  
ш ช* [ʃ] ใกล้เคียงกับเสียง sh ในภาษาอังกฤษ
з จ*~ซ* [ʣ]~[ʦ] ใกล้เคียงกับเสียง z ในภาษาจีนกลาง, เยอรมัน, อิตาลี
หรือ ts ในภาษาญี่ปุ่น
ц ช*~ซ* [ʦʰ] ใกล้เคียงกับเสียง c ในภาษาจีนกลาง
с [s]  
в [w̜]  
й [j] เสียงนี้ยังอาจเกิดจาก я е ё ю ด้วย

ตรงที่แสดงเสียงเป็นภาษาไทยนั้น ที่ใส่ * อยู่คือที่เสียงไม่ได้ตรงกับในภาษามองโกลจริงๆ แค่พอใกล้เคียงเลยจะใช้ตัวนี้เขียนแทนเวลาเขียนทับศัพท์แสดงเสียงอ่าน

ในที่นี้จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย

เสียง ш นั้นตรงกับ sh ในภาษาอังกฤษ ฟังดูแล้วก็คล้าย "ช" แต่ว่าต่างกัน เวลาออกเสียงต้องแยกจาก ч ให้ชัดเจน

♫ เสียงตัวอย่าง >> เสียงเสียดแทรกหลังปุ่มเหงือกไม่ก้อง [ʃ]

ส่วนเสียง х นั้นก็คือเสียงหมือน h ในภาษาจีนกลาง คือเป็น "ฮ" ที่มีการเสียดแทรกในลำคอ ถ้าออกเสียงนี้ไม่ได้ก็ออกเป็น "ฮ" ไปได้ เพราะภาษามองโกลไม่มีเสียง "ฮ" จริงๆ เช่นเดียวกับในจีนกลาง เพียงแต่ว่าเสียงนี้อาจถูกใช้เป็นตัวสะกดได้ด้วย ในกรณีนั้นจะเขียนแทนด้วย "ฮ์" ให้ออกเสียงคล้ายๆตัวสะกด "ค" แต่มีการเสียดแทรกในลำคอ

♫ เสียงตัวอย่าง >> เสียงเสียดแทรกเพดานอ่อนไม่ก้อง [x]

เสียง л นั้นหาภาษาอื่นที่มีเสียงนี้มาเทียบได้ยาก อธิบายโดยคร่าวๆแล้วก็คือใกล้เคียงกับ "ล" ในภาษาไทย แต่ต้องออกเป็นเสียงเสียดแทรกระหว่างแตะข้างลิ้น ฟังดูออกจะคล้าย "ซ" มากกว่า

♫ เสียงตัวอย่าง >> เสียงเสียดแทรกข้างลิ้นปุ่มเหงือกก้อง [ɮ]

เสียง з ไม่มีในภาษาไทย แต่มีเสียงที่เทียบเคียงได้ในหลายภาษา อาจได้ยินเป็นใกล้เคียงกับ "จ" หรือ "ซ" แต่ในที่นี้จะแทนด้วย "ซ"

♫ เสียงตัวอย่าง >> เสียงกักเสียดแทรกอุสุมปุ่มเหงือกไม่ก้อง [ʦ]

ส่วนเสียง ц ก็คือ c ในจีนกลาง คืออยู่ระหว่าง "ช" กับ "ซ" ในที่นี้เวลาเขียนแทนเสียงอ่านก็จะขอแทนด้วย "ช" เช่นเดียวกับในภาษาจีน



นอกจากนี้แล้วที่น่าจะต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกคือเสียง б กับ д

เสียง б นั้นอาจแทนเสียงที่ตรงกับ "บ" หรือ "ป" ในภาษาไทย ถือเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน โดยทั่วไปจะออกเป็น "ป" มากกว่า แต่ก็ฟังดูใกล้เคียง "บ"

ในที่นี้จะเขียนทับศัพท์เป็น "บ" อย่างเดียว ไม่ใช้ "ป" เพราะอาจทำให้สับสนกับเสียง п "พ" ได้ง่าย แต่ขอให้เข้าใจว่า б เสียงจริงๆจะออกไปทาง "ป" มากกว่า

และในทำนองเดียวกัน เสียง д อาจเป็นเสียง "ด" หรือ "ต" แต่ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "ด" ตลอด เพื่อไม่ให้ไปสับสนกับเสียง т "ท" แม้ว่าจริงๆเสียงตัว д นี้จะออกไปทาง "ต" มากกว่าก็ตาม

อนึ่ง เสียง п ф к นั้นจะไม่พบในคำมองโกลแท้ แต่จะเจอได้ในคำทับศัพท์จากภาษาอื่น ดังนั้นจึงเจอค่อนข้างน้อย



เสียงตัวสะกด н

เสียง н นั้นจะค่อนข้างพิเศษหน่อยตรงที่จะอ่านออกเสียงต่างกันไปเมื่อเป็นตัวสะกด อาจเป็น "ง" "น" "ม" ได้

  เสียงอ่าน IPA เมื่อ ตัวอย่าง
н [m] เมื่อตามด้วย б п м ф улаанбаатарโอลาบาทาร์ (ชื่อเมืองหลวง)
таван мянгаทาวั มยังก์ = ห้าร้อย
[ŋ] เมื่ออยู่ท้ายคำหรือตามด้วย г к х япон ยาพ็อ = ญี่ปุ่น
солонгосซอล็อก็อส = เกาหลี
[n] อื่นๆ сонсохซ็อซอฮ์ = ฟัง
үнэндээอุเน็เด = ที่จริงแล้ว

ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับในภาษาญี่ปุ่น



สระเสียงสั้นท้ายพยางค์ไม่ออกเสียง

ในภาษามองโกลนั้นปกติแล้วถ้าท้ายคำเป็นรูปสระเสียงสั้น ปกติจะไม่ออกเสียง กลายเป็นออกเสียงพยัญชนะที่อยู่หน้าสระนั้นเป็นตัวสะกดแทน

เช่น

бага บั = เล็ก, น้อย
пиво พิ = เบียร์
хими ฮิ = เคมี
барилга บาริลก์ = ตึก
мөнгө มงก์ = เงิน

เพียงถ้าเป็น н ในกรณีนี้จะออกเสียงเป็นตัวสะกด "น" ชัดเจนต่างจากเมื่อ н อยู่ท้ายคำ

ханаฮั = กำแพง
шөнө = กลางคืน
чоноช็อ = หมาป่า
үнэอุ = ราคา

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นอยู่ด้วย เช่นในคำทับศัพท์จากภาษาอื่น สระพยางค์ตรงท้ายมักออกเสียงชัดเจน

киноคินอ = ภาพยนตร์
таксиทัคซี = แท็กซี



หลักการออกเสียงโดยเบื้องต้นเป็นดังที่อธิบายมาข้างต้น อย่างไรก็ตามมีรายละเอียดและข้อยกเว้นอยู่อีกไม่น้อยซึ่งอาจต้องจำเพิ่มเติมไป

ในบทต่อๆไปก็จะยกตัวอย่างพร้อมแสดงเสียงอ่านเป็นภาษาไทยกำกับ สามารถดูกำกับเพื่อใช้อ้างอิงเสียงอ่านได้ แต่เวลาออกเสียงจริงๆขอให้รู้ว่าเสียงนั้นต่างจากที่เขียนในภาษาไทยอย่างไร



อ่านต่อ บทที่ ๒





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> เรียนภาษา
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษามองโกล

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文