เชื่อว่าคนไทยคงจะรู้จักและคุ้นเคยชื่อ "ชาวมองโกล" หรือ "ประเทศมองโกเลีย" กันอยู่แล้ว แต่คงจะมีน้อยคนที่จะรู้ว่าภาษาที่พวกเขาใช้นั่นคือ "ภาษามองโกล" นั้นเป็นภาษาแบบไหนกัน
บทความนี้จะพาไปแนะนำให้รู้จักถึงภาพรวมของภาษามองโกล ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งที่น่าสนใจทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์, ตัวอักษร และไวยากรณ์
ที่มาและพื้นที่ที่พูดภาษามองโกลภาษามองโกล (монгол хэл) เป็นภาษาของชาวมองโกล ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน พวกมองโกลเคยเป็นแค่ชนเผ่าเร่ร่อน แต่ในช่วง ศตวรรษที่ 13 ก็ได้สร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียขึ้นมา จึงเป็นภาษาหนึ่งที่เคยมีอิทธิพลมากในแถบนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์หมิงของจีนเรืองอำนาจขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 ก็ทำให้มองโกลก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นแค่ชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของจีนและไม่ได้กลับมามีบทบาทอะไรอีกเป็นระยะเวลานาน
แต่ในปี 1911 อาณาเขตส่วนหนึ่งของมองโกลได้แยกออกมาจากจีนและก่อตั้งเป็นประเทศขึ้นได้สำเร็จ นั่นก็คือ
ประเทศมองโกเลีย (монгол улс) ในปัจจุบันนั่นเอง
แต่นั่นก็ทำให้ชาวมองโกลถูกแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือในประเทศมองโกเลีย เรียกว่ามองโกเลียนอก และในมองโกลส่วนที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจีน เรียกว่า
มองโกเลียใน (өвөр монгол)
ภาพแสดงการกระจายของผู้พูดภาษามองโกล คือทั้งประเทศมองโกเลีย และตอนเหนือของจีน (รวมภาษาอื่นในตระกูลมองโกล ซึ่งบางครั้งถูกจัดเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามองโกลไปด้วย เช่นภาษาออยรัด, ภาษาบุร์ยัด)
ประเทศมองโกเลียมีพื้นที่มากกว่ามองโกเลียใน แต่ก็ค่อนข้างแห้งแล้งเต็มไปด้วยทะเลทราย มีที่อยู่อาศัยได้น้อย ประชากรเบาบางกว่ามาก โดยรวมแล้วประชากรน้อยกว่ามองโกเลียในเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในมองโกเลียในเต็มไปด้วยคนเชื้อสายจีนมากยิ่งกว่าคนมองโกล และพูดภาษาจีนเป็นหลัก ดังนั้นโดยรวมแล้วประชากรที่พูดภาษามองโกลในมองโกเลียในนั้นคาดว่ามีจำนวนน้อยกว่าในประเทศมองโกเลีย
และการที่มองโกลได้ตั้งเป็นประเทศของตัวเองขึ้นจึงทำให้ภาษามองโกเลียได้กลายเป็นภาษาราชการ มีการกำหนดสำเนียง
ฮัลฮ์ (халх) ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองหลวง
โอลามบาทาร์ (улаанбаатар, ในไทยมักเขียนเป็น "อูลานบาตอร์"
) เป็นสำเนียงมาตรฐาน เป็นภาษาแม่ของประชาชนกว่า ๓ ล้านคนในประเทศมองโกเลีย
ทุกวันนี้เวลาพูดถึงภาษามองโกล โดยทั่วไปก็จะหมายถึงภาษามองโกลสำเนียงฮัลฮ์ที่ใช้ในประเทศมองโกเลียนี้เอง
จำนวนผู้พูดภาษามองโกลทั้งหมดนั้นประมาณว่าอยู่ที่ ๕ ล้านคน คือประชาชนประเทศมองโกเลียทั้ง ๓ ล้านกว่าคน และชาวในมองโกเลียในอีกราวๆ ๒ ล้านคน
แต่ภาษามองโกลที่ใช้ในมองโกเลียในนั้นเป็นคนละสำเนียงกับที่ใช้ในประเทศมองโกเลีย อีกทั้งยังมีความหลากหลายมากกว่า แบ่งเป็นหลายสำเนียง เช่น
- สำเนียงชาฮาร์ (цахар)
- สำเนียงฮอร์ชิง (хорчин)
- สำเนียงฮาร์ชิง (харчин)
- สำเนียงบาริง (баарин)
- สำเนียงดอร์ฮ็อด (дорнод)
- สำเนียงอัลชา (альшаа)
ภาษามองโกลในมองโกเลียในไม่ได้มีการทำเป็นมาตรฐานเหมือนอย่างในประเทศมองโกเลีย แต่โดยทั่วไปแล้วถือว่ายึดสำเนียงชาฮาร์ ซึ่งใช้ที่เมือง
ชิลีน (шилийн) และเมือง
โอลานเชา (улаанцав) ที่อยู่ตอนกลางของมองโกเลียในเป็นหลัก
บริเวณสีส้มแสดงเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน สีแดงคือตำแหน่งเมืองโอลานเชา ในภาษาจีนเรียกว่า "อูหลานฉาปู้" (乌兰察布)
ภาษามองโกลในมองโกเลียในจะได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนมาก จึงมีส่วนต่างไปจากภาษามองโกลในประเทศมองโกเลียซึ่งได้รับอิทธิพลจากรัสเซียมาก
แต่ถึงอย่างนั้นภาษามองโกลทั้ง ๒ ฝั่งก็สื่อสารกันได้รู้เรื่อง เพราะเป็นภาษาเดียวกันแค่ต่างสำเนียง และศัพท์บางคำอาจใช้ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ภาษามองโกลของทั้ง ๒ ฝั่งต่างกันมากที่สุดก็คือเรื่องระบบการเขียน เพราะทุกวันนี้ภาษามองโกลในประเทศมองโกเลียใช้อักษรซีริลลิกซึ่งรับมาจากรัสเซียในการเขียนเป็นหลัก ส่วนที่มองโกเลียในยังคงอนุรักษ์อักษรมองโกลซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่อดีต
ภาพแสดงชื่อประเทศมองโกลและประเทศรอบๆ เขียนด้วยอักษรมองโกล และอักษรซีริลลิก พร้อมภาษาไทย พื้นที่สีเขียวตรงกลางคือประเทศมองโกเลีย
อักษรที่ใช้เขียนภาษามองโกลภาษามองโกลนั้นเริ่มมีอักษรเป็นของตัวเองในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ซึ่งชาวมองโกลได้เริ่มก่อตั้งจักรวรรดิมองโกล (ช่วงปี 1206 - 1368) ขึ้นมา โดยหลังจากที่จักรพรรดิ
เจงกิสข่าน (чингис хаан) พิชิตอุยกูร์ได้ ก็ได้สั่งให้ชาวอุยกูร์ชื่อ
ทาทาทงกา (тататунга) สร้างอักษรมองโกลขึ้นมา ซึ่งเขาก็สร้างโดยการเอา
อักษรอุยกูร์โบราณมาดัดแปลง
ตัวอักษรชนิดนี้เขียนตามแนวตั้งจากบนลงล่างและซ้ายไปขวา และนั่นก็กลายมาเป็นอักษรมองโกลที่ใช้แพร่หลายเป็นระยะเวลานานมาจนถึงปัจจุบัน
ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ เขียนด้วยอักษรมองโกล เริ่มอ่านจากบรรทัดซ้ายสุดแล้วไล่ไปบรรทัดทางขวา
ᠭᠷᠦᠩᠲᠡᠫ ᠮᠠᠾᠠᠨᠠᠺᠣᠨ ᠠᠮᠣᠨ ᠷᠠᠲᠲᠠᠨᠠᠺᠤᠰᠢᠨ ᠮᠠᠾᠢᠨᠲᠠᠷᠠᠶᠦᠲᠲᠠᠶᠠ ᠮᠠᠾᠠᠳᠢᠯᠤᠺᠫᠤᠫ ᠨᠤᠫᠫᠠᠷᠠᠳ ᠷᠠᠲᠴᠠᠲᠠᠨᠢ ᠪᠦᠷᠢᠷᠤᠮ ᠦᠳᠤᠮᠷᠠᠲᠴᠠᠨᠢᠸᠡᠲ ᠮᠠᠾᠠᠰᠠᠲᠠᠨ ᠠᠮᠣᠨᠫᠢᠮᠠᠨ ᠠᠸᠠᠲᠠᠨᠰᠠᠲᠢᠲ ᠰᠠᠭᠭᠠᠲᠠᠳᠳᠢᠶᠠ ᠸᠢᠲᠰᠠᠨᠦᠭᠠᠮ ᠪᠷᠠᠰᠢᠳ
อย่างไรก็ตาม พอถึงยุคสมัยของ
กุบไลข่าน (хубилай хаан) ได้มีการประดิษฐ์อักษรชุดใหม่ขึ้นมาโดยพระทิเบตชื่อ
พักปา (འཕགས་པ་) เรียกว่า
อักษรทรงเหลี่ยม (дөрвөлжин бичиг) แต่ผู้คนนิยมเรียกอักษรนี้ว่า "
อักษรพักปา" ตามชื่อผู้สร้าง โดยอักษรนี้ดัดแปลงจาก
อักษรทิเบต จึงถือเป็นอักษรชนิดหนึ่งใน
ตระกูลอักษรพราหมี แต่เขียนแนวตั้งจากบนลงล่างและซ้ายไปขวาเช่นเดียวกับอักษรมองโกลเดิม จึงถือว่าแปลกกว่าอักษรชนิดอื่นๆในกลุ่ม
คำว่า "กรุงเทพมหานคร" เขียนด้วยอักษรพักปา
อักษรพักปาได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในช่วงปี 1270-1360 แต่ก็เลิกใช้ไปพร้อมกับการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิมองโกล แล้วชาวมองโกลก็ได้กลับมาใช้อักษรมองโกลแบบเดิมกันอีก
เมื่อจีนเข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง (ตั้งแต่ปี 1644) จักรพรรดิและชนชั้นปกครองที่เป็นชนชาติแมนจูก็ได้นำอักษรมองโกลมาใช้เขียน
ภาษาแมนจูด้วย อักษรนี้จึงยังรู้จักในชื่อว่า
อักษรแมนจูด้วย ซึ่งเป็นอักษรชุดเดียวกับอักษรมองโกล แค่มีการเพิ่มบางอักษรเข้ามา ทุกวันนี้ป้ายที่เขียนเป็นภาษาแมนจูอาจพบได้ตามวัดหรือวังเก่าๆในปักกิ่ง
ภาษาแมนจู เขียนชื่อจักรพรรดิทั้ง ๑๐ คนของราชวงศ์ชิง
ในช่วงปี 1680 พระชาวมองโกลชื่อ
ซานาบาซาร์ (занабазар, ชื่อมาจากภาษาสันสกฤต "ชญานวัชระ" (ज्ञानवज्र)
) ได้ประดิษฐ์อักษรชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อเขียนอักษรมองโกล เรียกว่า
อักษรซอย็อมบอ (соёмбо бичиг) ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตคำว่า
"สวยัมภู" (स्वयंभू) โดยดัดแปลงมาจาก
อักษรสิทธัมที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤตในอินเดีย จึงถือเป็นอักษรใน
ตระกูลอักษรพราหมีด้วยเช่นกัน แต่วิธีการเขียนจะเป็นการประกอบอักษรแยกเป็นพยางค์ คล้ายอักษรฮันกึลของเกาหลี
คำว่า "กรุงเทพมหานคร" เขียนด้วยอักษรซอย็อมบอ (สวยัมภู)
ซานาบาซาร์ยังได้ประดิษฐ์อักษรขึ้นอีกชุดด้วย โดยคราวนี้ดัดแปลงมาจากอักษรพักปาเก่าที่เลิกใช้ไปแล้ว แต่ปรับให้เขียนในแนวนอนแทน จึงเรียกว่า
อักษรทรงเหลี่ยมแนวนอน (хэвтээ дөрвөлжин бичиг) แต่มักถูกเรียกว่า
อักษรซานาบาซาร์ทรงเหลี่ยม ตามชื่อผู้สร้าง
คำว่า "กรุงเทพมหานคร" เขียนด้วยอักษรซานาบาซาร์ (ชญานวัชระ) ทรงเหลี่ยม
อักษรทั้ง ๒ ชนิดของซานาบาซาร์นั้นแม้จะได้ถูกใช้อยู่บ้างเช่นในทางศาสนา แต่ก็ไม่ได้แพร่หลายนัก ชาวมองโกลยังคงใช้อักษรมองโกลแบบเก่าที่เขียนในแนวตั้งกันเรื่อยมา
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งชาวมองโกลได้แยกออกจากจีนมาตั้งเป็น
ประเทศมองโกเลียขึ้นมา ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับภาษามองโกลอีกครั้ง เนื่องจากการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) ทำให้ทางรัฐบาลมองโกเลียหันมาใช้
อักษรซีริลลิก เช่นเดียวกับที่ใช้ในภาษารัสเซีย ระบบการเขียนนี้ถูกใช้อย่างเป็นทางการในประเทศมองโกเลียตั้งแต่ปี 1941 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนชาวมองโกลในมองโกเลียในของจีนนั้นก็ยังคงใช้อักษรมองโกลแบบดั้งเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ จึงทำให้มีความแตกต่างในระบบการเขียนของมองโกเลีย ๒ ฝั่งขึ้นมา
แต่แล้วในปี 1991 (ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย) ทางรัฐบาลมองโกเลียก็ได้ประกาศว่าจะกลับมาใช้อักษรมองโกลแบบเดิมอีก เพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรมของตัวเอง หลังจากที่โดนอิทธิพลของรัสเซียกลืนกินไปมาก
ตั้งแต่นั้นมาก็มีการสนับสนุนการสอนอักษรมองโกลในประเทศมองโกเลีย แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความยากลำบากอยู่ไม่น้อย เพราะทุกคนชินกับอักษรซีริลลิกกันหมดแล้ว
อีกทั้งการที่อักษรมองโกเลียต้องเขียนแนวตั้งทำให้ไม่สะดวกเพราะต่างจากภาษาส่วนใหญ่ในโลก และยิ่งเข้าสู่ยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน การแสดงผลในเครื่องก็ใช้แนวนอนเป็นหลัก การจะเขียนอักษรมองโกลที่เขียนแนวตั้งจึงเป็นอะไรที่มีข้อจำกัดมาก
ถึงอย่างนั้นทางรัฐบาลมองโกเลียก็ยังตั้งใจว่าพอถึงปี 2025 จะกลับมาใช้อักษรมองโกลเป็นอักษรทางการอีกครั้ง ควบคู่ไปกับอักษรซีริลลิกด้วย
จะเห็นว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีอักษรหลายชนิดที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อใช้เขียนภาษามองโกล แต่สุดท้ายแล้วผู้คนก็จะกลับไปใช้อักษรมองโกลดั้งเดิม
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการศึกษาภาษามองโกลในยุคนี้ยังคงเป็นการสะดวกที่จะใช้อักษรซีริลลิกอยู่ เพราะเขียนและอ่านง่ายกว่า และสอดคล้องกับเสียงอ่านภาษามองโกลในปัจจุบันมากกว่า
คำว่า "มองโกล" เขียนด้วยอักษรชนิดต่างๆ ตรงกลางสุดคืออักษรมองโกล
ความเกี่ยวพันระหว่างภาษามองโกลกับภาษาอื่นๆภาษามองโกลนั้นเป็นภาษาตระกูลเล็กๆที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว ยังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาษาหลักอื่นๆในโลก
ภาษาออยรัด (ойрад),
ภาษาบุร์ยัด (буриад),
ภาษาฮัมนิกัง (хамниган) ที่ใช้ในหมู่ชนกลุ่มน้อยในจีนและรัสเซียนั้นก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษามองโกล แต่มีผู้พูดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และบางครั้งก็ถูกจัดรวมเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามองโกลไป ดังนั้นอาจถือได้ว่าภาษามองโกลเป็นภาษาโดดเดี่ยว
ถึงอย่างนั้นก็ได้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าภาษามองโกลนั้นมีความใกล้เคียงกับภาษาญี่ปุ่น เกาหลี แมนจู โดยเฉพาะเรื่องของไวยากรณ์ซึ่งใกล้เคียงกันมาก
นอกจากนั้นยังอาจเชื่อมโยงกับภาษาตระกูลตุรกี ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ที่ประกอบไปด้วยภาษาตุรกีและภาษาของประเทศต่างๆทางแถบเอเชียกลาง (เช่นพวกกลุ่ม "สถาน" ทั้งหลาย)
ดังนั้นบางครั้งจึงมีการใช้คำว่า "ตระกูลภาษาอัลไต" (алтай ชื่อเทือกเขาทางตะวันตกของมองโกเลีย) เพื่อเรียกรวมกลุ่มภาษาทั้ง ๕ นี้คือ
กลุ่มภาษาตุรกี |
ภาษาตุรกี, ภาษาอาเซอร์ไบจาน, ภาษาเติร์กเมน, ภาษาอุซเบก, ภาษาคาซัค, ภาษาคีร์กีซ, ภาษาอุยกูร์, ฯลฯ |
กลุ่มภาษามองโกล |
ภาษามองโกล ภาษาออยรัต ภาษาบุร์ยัต ภาษาฮัมนิกัง และภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่นๆในบริเวณใกล้เคียง |
กลุ่มภาษาแมนจู |
ภาษาแมนจู และภาษาของชนกลุ่มน้อยบางส่วนในจีนและรัสเซีย ส่วนใหญ่แทบไม่มีผู้พูดแล้ว |
กลุ่มภาษาเกาหลี |
ภาษาเกาหลี และภาษาเชจู |
กลุ่มภาษาญี่ปุ่น |
ภาษาญี่ปุ่น และกลุ่มภาษาโอกินาวะ |
แผนที่แสดงการกระจายตัวของผู้พูดภาษา ๕ กลุ่มนี้ สีเขียวคือกลุ่มภาษามองโกล, สีน้ำเงินคือกลุ่มภาษาตุรกี, สีแดงคือกลุ่มภาษาแมนจู, สีเหลืองคือกลุ่มภาษาเกาหลี, สีม่วงคือกลุ่มภาษาญี่ปุ่น
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าภาษาเหล่านี้ควรเป็นภาษาตระกูลเดียวกันจริง แค่ความเกี่ยวพันทางภูมิศาสตร์และไวยากรณ์ยังไม่ใช่สิ่งพิสูจน์ได้ถึงความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นอน
ดังนั้นปัจจุบันคำว่า "ตระกูลภาษาอัลไต" ไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป
(เช่นเดียวกับที่แนวคิดว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตไม่ได้รับการยอมรับแล้ว)อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวพันกันจริงหรือแค่บังเอิญ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าไวยากรณ์มีความใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ผู้ที่รู้ภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่นสามารถศึกษาภาษามองโกลได้ง่าย
ลักษณะร่วมกันระหว่างภาษา ๕ กลุ่มนี้ก็คือ
- การเรียงคำแบบ ประธาน-กรรม-กริยา เป็นหลัก
- มีการผันคำกริยาเป็นรูปต่างๆหลากหลาย
- คำนามมีการผันรูปไปตามหน้าที่ในประโยค (เพียงแต่ในภาษาญี่ปุ่นถือว่าเป็นแค่การเติมคำช่วย (助詞) มักไม่ถือว่าเป็นการผัน)
อย่างไรก็ตาม กลุ่มภาษาตุรกีนั้นมีการแบ่งเอกพจน์พหูพจน์ คำกริยามีการผันไปตามประธาน คล้ายภาษาในกลุ่มยุโรปและอินเดีย
ซึ่งลักษณะนี้ต่างจากภาษามองโกล แมนจู เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งผันคำเพื่อแสดงหน้าที่ในประโยคหรือเวลา โดยไม่ต้องไปสนใจว่าประธานเป็นใครและมีจำนวนเท่าไร
ดังนั้นหากเทียบกับกลุ่มภาษาตุรกีที่มีการผันค่อนข้างยากแล้ว ภาษามองโกล แมนจู เกาหลี ญี่ปุ่น จะค่อนข้างง่ายกว่าในแง่เรื่องการผันคำ
ลักษณะไวยากรณ์และเสียงของภาษามองโกลต่อไปมาดูภาพรวมของภาษามองโกลในด้านไวยากรณ์และการออกเสียง โดยจะยกเอาแค่ประเด็นหลักๆหรือเรื่องที่เด่นๆมาพูดถึง พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นด้วย
๑. เรียงคำแบบประธาน-กรรม-กริยา เป็นหลัก
การวางตำแหน่งคำโดยพื้นฐานแล้วจะขึ้นต้นด้วยประธาน และจบด้วยกริยา
เช่น
муур загас иддэг = แมวกินปลา
муур = แมว
загас = ปลา
иддэг = กิน (ผันรูปทำเป็นประจำปกติ)
ลักษณะเช่นนี้จะเหมือนกับในภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต พม่า แต่ต่างจากภาษาจีน ไทย เขมร เวียดนาม ที่จะเรียงเป็น ประธาน-กริยา-กรรม เป็นหลัก
๒. คำที่ขยายอยู่หน้าคำที่ถูกขยาย
โดยปกติแล้วในภาษามองโกลคำที่ทำหน้าที่ขยายความจะวางไว้ด้านหน้าคำที่ถูกขยาย เช่น
япон хүн = คน
ญี่ปุ่น[
япон = ญี่ปุ่น] + [
хүн = คน]
солонгос улс = ประเทศ
เกาหลี [
солонгос = เกาหลี] + [
улс = ประเทศ]
ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับภาษาจีน ทิเบต พม่า เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ตรงกันข้ามกับภาษาไทย เขมร เวียดนาม
นอกจากนี้แล้ว ประโยคขยายประโยคก็เรียงลำดับแบบเดียวกันนี้ ดังนั้นอาจพบว่าเมื่อแปลจะเรียงลำดับตรงกันข้ามกับภาษาไทยเลย เช่น
өтгөн хулгана идсэн том могой=
งูใหญ่ที่กินหนู
อ้วนөтгөн = อ้วน
хулгана = หนู
идсэн = กิน (ผันรูปอดีต)
том = ใหญ่
могой = งู
ใครที่เคยแปลภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลีเป็นภาษาไทย คงจะคุ้นเคยกับการแปลกลับหลังมาหน้าแบบนี้ไม่น้อย
๓. คำนามจะผันรูปไปตามหน้าที่ในประโยค
ภาษามองโกลมีการผันคำนามหลากหลายรูปแบบเพื่อแสดงหน้าที่ต่างๆภายในประโยค ซึ่งเทียบได้กับการเติมคำช่วยในภาษาญี่ปุ่น
ลักษณะคล้ายกันนี้ยังพบในกลุ่มภาษาตุรกี และภาษาทางยุโรปและอินเดียด้วย แต่ง่ายกว่าตรงที่การผันคำนามในภาษามองโกลจะไม่ขึ้นกับเพศและจำนวน
ตัวอย่างเช่น
би танд түүний нууцыг хэлнэ = ฉันจะบอกความลับของเขาให้กับคุณ
(ฉัน + คุณ + เขา + ความลับ + บอก)
ประโยคนี้ประกอบขึ้นมาจาก ๕ คำคือ
คำ |
|
รูปเดิม |
หน้าที่ |
ความหมาย |
би |
← |
би |
ประธาน |
ฉัน |
танд |
← |
та |
กรรมรอง |
คุณ |
түүний |
← |
тэр |
ขยายแสดงความเป็นเจ้าของ |
เขาคนนั้น, สิ่งนั้น |
нууцыг |
← |
нууц |
กรรมตรง |
ความลับ |
хэлнэ |
← |
хэлэх |
กริยา |
บอก |
จะเห็นว่าคำนามทั้ง ๔ ตัวทำหน้าที่ต่างๆกันไปในประโยค และนอกจาก би (ฉัน) ที่ทำหน้าที่เป็นประธานแล้ว ตัวอื่นอยู่ในรูปที่ถูกผันแล้วทั้งนั้น
ลักษณะไวยากรณ์เช่นนี้หากใครเคยเรียนภาษาเกาหลีหรือภาษาญี่ปุ่นมาแล้วคงจะคุ้นเคยดี
๔. กริยาผันได้หลากหลายตามกาลและหน้าที่ในประโยค
นอกจากประธานแล้ว คำกริยาก็มีการผันเช่นกัน ในตัวอย่างที่แล้วเองก็จะเห็นว่ากริยา
хэлэх ก็ได้ถูกผันเป็น
хэлнэ ซึ่งเป็นรูปปัจจุบันหรืออนาคต
หากเปิดดูพจนานุกรมภาษามองโกลก็จะพบว่ากริยาทุกคำอยู่ในรูปที่ลงท้ายด้วย х เช่นเดียวกับที่ในภาษาเกาหลีกริยาต้องลงท้ายด้วย
다 หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นต้องลงท้ายด้วยเสียง u
แต่เวลาใช้จริงๆมักจะไม่ได้ใช้ในรูปนี้ แต่จะต้องผันเป็นรูปต่างๆเพื่อบอกเรื่องที่กำลังทำอยู่หรือกำลังจะทำ
ตัวอย่างเช่นกริยา
байх แปลว่า "เป็น อยู่ มี" เป็นกริยาที่มีความหมายกว้างและใช้บ่อยที่สุดในภาษามองโกล
รูปพจนานุกรม |
байх |
รูปปัจจุบันหรืออนาคต |
байна |
รูปทำประจำเป็นปกติ |
байдаг |
รูปอดีตที่ผ่านมาแล้ว |
байсан |
รูปคำสั่ง |
бай |
นอกจากนี้ยังมีการผันอีกหลายแบบ ในที่นี้ยกมาแค่ส่วนหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ง่าย
การผันคำกริยาเป็นสิ่งที่เจอได้ทั่วไปในหลายๆภาษา แต่ถ้าเป็นกลุ่มภาษาตุรกี หรือภาษาทางยุโรปหรืออินเดียจะค่อนข้างยากกว่านี้อีก เพราะนอกจากกริยาจะผันตามกาลหรือหน้าที่ในประโยคแล้ว การยังผันต่างไปตามประธานด้วย ในขณะที่ภาษามองโกล เกาหลี ญี่ปุ่น นั้นกริยาจะผันโดยไม่ต้องสนใจว่าประธานเป็นอะไร จึงง่ายกว่า และไม่ชวนสับสน
๕. คำคุณศัพท์ปกติจะไม่ถูกผัน แต่ถ้าถูกใช้เป็นคำนามก็ถูกผันได้เหมือนกัน
จากตัวอย่างที่แล้วจะเห็นได้ว่าคำนามและคำกริยาในภาษามองโกลจะมีการผันเปลี่ยนรูปแบบไปหลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ที่มักจะผันก็มีแค่คำนามและกริยาเท่านั้น ส่วนคำคุณศัพท์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะใช้ในกาลไหนหรือด้วยบริบทอย่างไรก็ตาม ดังนั้นก็ใช้ทั้งๆอย่างนั้นได้เลย ปรากฏในรูปเดิมตลอด
ตรงส่วนนี้จึงค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับภาษาเกาหลีหรือญี่ปุ่นหรือภาษาในกลุ่มยุโรปและอินเดียที่มักจะต้องผันแม้แต่คำคุณศัพท์
อย่างไรก็ตาม คำคุณศัพท์บางทีก็ถูกใช้เป็นคำนามได้ด้วย ในกรณีแบบนั้นมันก็จะถูกผันได้เหมือนกับเป็นคำนาม
เช่น คำว่า
улаан = สีแดง เป็นคำคุณศัพท์ แต่ใช้เป็นคำนามได้
энэ улаан цэцэг= ดอกไม้
สีแดงดอกนี้ (คุณศัพท์ขยายคำนาม)
энэ цэцгийг улаан.
= ดอกไม้ดอกนี้
สีแดง (คุณศัพท์ใช้เป็นภาคแสดง)
улаанбаатар= วีรบุรุษ
สีแดง (ชื่อเมืองหลวงประเทศมองโกเลีย มักเขียนติดกันไป)
энэ цэцгийг улаанаар будна.
= ทาดอกไม้ดอกนี้
ด้วยสีแดง (ใช้เป็นคำนาม เลยโดนผันเป็นรูปบอกวิธีการ)
๖. มีความกลมกลืนกันของเสียงในแต่ละพยางค์ของคำ
เสียงสระของแต่ละพยางค์ในคำคำหนึ่งในภาษามองโกลมักจะมีกฎตายตัว เช่นถ้าพยางค์หน้าเป็นสระ
о แล้ว พยางค์ต่อไปก็จะต้องเป็นสระ
о เช่นกัน หรือถ้าพยางค์หน้าเป็นสระ
ү แล้ว พยางค์ต่อไปจะเป็นสระ
эหลักนี้มีผลต่อการผันคำนามหรือคำกริยา หรือการเลือกเติมคำต่อท้ายให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
เช่นเมื่อต้องการผันคำนามเป็นรูปแสดงที่มา จะทำได้โดยการเติมเสียงสระเสียงยาวแล้วตามด้วย с แต่สระที่มาเติมต่อนั้นจะเป็นสระอะไรก็ขึ้นกับสระในพยางค์สุดท้ายของคำนามรูปเดิมนั้น
เช่นตามกฎที่ยกมาข้างต้น คำนามที่ลงท้ายด้วยสระ
о จะผันโดยเติม
оос เช่น
хоол →
хоолоосอาหาร →
จากอาหาร
แต่ถ้าเป็นสระ
ү แล้ว จะเติม
ээс เช่น
цүнх →
цүнхээсกระเป๋า →
จากกระเป๋า
ถ้าทำความเข้าใจหลักความสัมพันธ์ระหว่างเสียงสระแล้วก็จะทำให้จำหลักการผันคำต่างๆในภาษามองโกลได้ง่ายขึ้นมาก
๗. ตัวสะกดในคำหน้าจะถูกลากเสียงไปยังคำถัดไป
ภายในประโยคเดียวกัน ถ้าคำที่ลงท้ายด้วยตัวสะกดไปนำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง "อ" จะเกิดการลากเสียงไป เช่น
тэр = นั้น
ах = พี่ชาย
ирэх = มา
үү = ไหม (ใช้สร้างประโยคคำถาม)
เมื่อรวมกันเป็นประโยคก็จะอ่านแบบนี้
тэр ах ирэх үү? = พี่ชายคนนั้นจะมาไหม?
ลักษณะคล้ายกันนี้ยังพบในภาษาอื่นอีกหลายภาษาด้วย เช่นภาษาเกาหลี ภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น
๘. มีเสียงเสียดแทรกข้างลิ้น [ɮ] แทนเสียง "ล" ธรรมดา
เสียงเปิดข้างลิ้น หรือก็คือ "ล" ในภาษาไทยนั้น เป็นเสียงที่พบได้มากในหลายภาษา แต่ว่าภาษามองโกลไม่มีเสียง "ล" นี้ในแบบที่เหมือนกับภาษาอื่นส่วนใหญ่
แต่ในภาษามองโกลกลับมี
เสียงเสียดแทรกข้างลิ้น (IPA เป็น [ɮ]) ซึ่งเป็นเสียงที่ค่อนข้างหายาก ภาษาที่มีเสียงนี้อยู่มีไม่มากนัก ดังนั้นเสียงนี้จึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษามองโกล แต่ก็ทำให้คนต่างชาติที่เรียนภาษามองโกลยากที่จะออกเสียงได้เหมือนอย่างคนมองโกล เพราะเสียง "ล" ในภาษามองโกลมีความพิเศษนั่นเอง
นั่นหมายความว่าเวลาที่เจอเสียง "ล" (คือตัว л) ในภาษามองโกล เช่นในคำว่า
монгол = มองโกล นี้จริงๆแล้วไม่ใช่เสียง "ล" ธรรมดา แต่เป็นการออกเสียง "ล" แบบให้มีการเสียดแทรกเกิดขึ้นระหว่างที่ลิ้นแตะเพดานปากด้วย ฟังดูแล้วก็คล้าย "ซ"
อธิบายด้วยคำพูดอาจค่อนข้างเข้าใจยาก สามารถลองเปิดฟังได้ในวิกิ
https://ja.wiktionary.org/wiki/ɮ๙. มีการแยกเสียงปล่อยลมกับไม่ปล่อยลม แต่ไม่แยกเสียงก้องกับไม่ก้อง ("ป" = "บ" และ "ต" = "ด")
โดยปกติแล้วภาษาในแถบนี้เช่นภาษาไทย เขมร พม่า เวียดนามจะมีการแยกเสียง "ด, ต, ท" ออกจากกันชัดเจน ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นและกลุ่มภาษาทางยุโรปมักจะไม่แยกเสียง "ต" กับ "ท" ดังนั้น "ต/ท" จึงเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน แล้ว "ด" เป็นอีกหน่วยเสียงแยกกัน
ความสัมพันธ์ระหว่าง ด - ต นี้เรียกว่า "ด" เป็นเสียงก้อง "ต" เป็นเสียงไม่ก้อง ภาษาญี่ปุ่นและภาษาทางยุโรปจะแยกเสียงนี้ออกจากกันชัดเจน
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง ต - ท เรียกว่า "ต" เป็นเสียงไม่ปล่อยลม "ท" เป็นเสียงปล่อยลม
แต่ในภาษามองโกลนั้น ความแตกต่างระหว่างปล่อยลมกับไม่ปล่อยลม ดูจะสำคัญมากกว่าความแตกต่างระหว่างเสียงก้องกับไม่ก้อง
ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วในภาษามองโกล "ด/ต" เป็นหน่วยเสียงเดียวกัน และแยกจาก "ท"
д (d) = ด~ต
т (t) = ท
โดยส่วนใหญ่แล้วเสียง д (d) จะค่อนไปทาง "ต" (ไม่ก้อง) มากกว่า แต่บางครั้งก็อาจได้ยินเป็น "ด" (เสียงก้อง) ได้เช่นกัน ในขณะที่ "ท" ถือเป็นคนละหน่วยเสียง ต้องแยกให้ชัดเจน
ภาษามองโกลไม่แยก "ด" กับ "ต" เช่นเดียวกับที่ภาษาญี่ปุ่นไม่แยก "ต" กับ "ท"
ลักษณะอย่างนี้ไม่ค่อยเจอในภาษาส่วนใหญ่ เพราะโดยทั่วไปแล้วมักจะถือว่า "ต/ท" เป็นเสียงเดียวกันแยกจาก "ด" เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่น หรือไม่ก็มีแค่เสียง "ต" กับ "ท" แยกกันอย่างในภาษาจีน หรือแยก "ด, ต, ท" เป็น ๓ เสียงชัดเจนอย่างภาษาไทย
ตัวอย่างเช่น
гадаад = ต่างประเทศ
ในที่นี้จะเขียนทับศัพท์ด้วย "ด" ตลอดเพื่อไม่ให้สับสนกับเสียง т (t) แต่จริงๆแล้วเสียงจะค่อนไปทาง "ต" มากกว่า
และในทำนองเดียวกัน เสียง "บ, ป, พ" ที่แยกจากกันชัดเจนในภาษาไทยนั้น ในภาษามองโกลแยกเป็น "บ/ป" และ "พ"
б (b) = บ~ป
п (p) = พ
ดังนั้นเวลาเห็นตัว b ในคำภาษามองโกล จะออกเสียง "ป" หรือ "บ" ก็ได้
๑๐. เสียง "น" ที่เป็นตัวสะกดจะเปลี่ยนเสียงไปตามพยางค์ถัดไป
เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่นหรืออีกหลายภาษา เสียง "น" เมื่อเป็นตัวสะกดมักจะไม่ใช่ "น" แต่ออกเสียงเปลี่ยนไปได้ ๓ แบบเนื่องจากอิทธิพลของพยางค์ที่ตามมาเพื่อให้ออกเสียงได้ลื่น
ถ้าอยู่ท้ายสุด หรือตามด้วยเสียง ก, ค, ฮ จะเป็นแม่กง
чингис хаан = เจงกิส ข่าน
ถ้าตามด้วยเสียง บ, พ, ม จะเป็นแม่กม
улаанбаатар = (ชื่อเมืองหลวง)
นอกนั้นจะเป็นแม่กน
үндэс = ชนเผ่า
газрын зураг = แผนที่
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นภาพรวมที่น่าจะทำให้พอให้รู้จักกับภาษานี้กันไม่มากก็น้อย