φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ภาษา python เบื้องต้น บทที่ ๔: พื้นฐานเรื่องฟังก์ชัน
เขียนเมื่อ 2016/03/03 22:50
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 10:59
 



ความหมายของฟังก์ชัน

คำว่าฟังก์ชัน (function) เป็นคำที่น่าจะเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่คำนี้จริงๆมีความหมายอยู่หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุยกันเรื่องอะไร

หลายคนอาจเคยได้ยินคำนี้ครั้งแรกกันตอนเรียนคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษา

คำว่าฟังก์ชันในทางคณิตศาสตร์หมายถึงสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน โดยใส่ค่าตัวเลขลงไปจำนวนหนึ่ง แล้วจะได้ค่าตัวเลขอีกจำนวนหนึ่งคืนกลับมา เช่น


ในที่นี้ เป็นฟังก์ชัน และ x คืออาร์กิวเมนต์ของฟังก์ชัน

อาร์กิวเมนต์ คือค่าที่อยู่ในวงเล็บหลังฟังก์ชัน เป็นค่าที่ป้อนให้กับฟังก์ชัน เพื่อให้ฟังก์ชันนำค่านั้นไปดำเนินการทำอะไรบางอย่าง

ในที่นี้หากป้อนค่า x เป็น 0.5 ค่านี้ก็จะถูกนำไปคำนวณ


ผลที่ได้คือฟังก์ชันนี้คืน 0.1 ออกมา ค่า 0.1 นี้จะเรียกว่าค่าคืนกลับ (return)

ฟังก์ชันในทางภาษาคอมพิวเตอร์ก็มีลักษณะคล้ายกันนี้ คือใส่ค่าอะไรบางอย่าง (อาร์กิวเมนต์) ลงไปแล้วก็จะมีค่าคืนกลับออกมา

ในบทที่แล้วได้พูดถึงคำสั่ง int float str bool ซึ่งใช้แปลงชนิดของข้อมูลเพื่อให้เป็นชนิดตามนั้น โดยใส่ข้อมูลชนิดเก่าลงไปแล้วได้ค่าคืนกลับเป็นข้อมูลชนิดใหม่ เช่น
a = 1.111
b = int(a)
print(b) # ได้ 1

ในตัวอย่างนี้ a เป็นจำนวนจริงซึ่งมีเลขทศนิยม แต่ใช้คำสั่ง int เพื่อแปลงเป็นจำนวนเต็มแล้วคืนค่ากลับมาแล้วเก็บค่าไว้ใน b ผลก็คือ b ได้ค่าเป็น 1 โดยเศษถูกปัดทิ้งหมด

คำสั่งที่ใช้แปลงชนิดข้อมูลเหล่านี้ถือว่าเป็นฟังก์ชันชนิดหนึ่งในภาษาไพธอน

***ที่จริงหากว่ากันในรายละเอียดจริงๆแล้ว int float str bool เป็นชื่อคลาส (ชื่อชนิดข้อมูล) อย่างไรก็ตามชื่อคลาสสามารถใช้ทำหน้าที่เหมือนเป็นฟังก์ชันเพื่อสร้างออบเจกต์ในคลาสนั้นอยู่แล้ว จึงถือว่าเป็นฟังก์ชันด้วย

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือฟังก์ชันที่ชือว่า len ซึ่งมีไว้สำหรับหาความยาวของสายอักขระ
len('sawatdi') # ได้ 7

ในที่นี้ 'sawatdi' เป็นอาร์กิวเมนต์ของฟังก์ชัน len แล้ว 7 เป็นค่าคืนกลับที่ได้มา

อย่างไรก็ตามฟังก์ชันในภาษาคอมพิวเตอร์นั้นนอกจากจะมีหน้าที่คืนค่ากลับมาแล้วก็ยัง มีอีกหน้าที่ที่สำคัญ นั่นคือดำเนินการบางอย่างให้เกิดผลอะไรบางอย่างขึ้น โดยอาจจะไม่มีการคืนค่ากลับมาเลยก็ได้

เช่นคำสั่ง print ซึ่งใช้มาตั้งแต่บทที่ ๒ แล้ว ก็ถือเป็นฟังก์ชันชนิดหนึ่ง ซึ่งกรณีของ print นั้น อาร์กิวเมนต์ที่ใส่เข้าไปคือสิ่งที่เราต้องการให้แสดงผลออกมา เช่น
print('sawatdi')

ในที่นี้ 'sawatdi' คืออาร์กิวเมนต์ เมื่อใส่ลงไปในฟังก์ชัน print ฟังก์ชันก็จะทำข้อความไปแสดงผลออกมาทางหน้าจอ

จะเห็นว่าไม่ว่าฟังก์ชันไหนก็ตาม จะมีรูปแบบเหมือนกันก็คือ ชื่อฟังก์ชัน ตามด้วยวงเล็บเปิดและปิด ( ) ซึ่งภายในวงเล็บจะใส่อาร์กิวเมนต์ที่ฟังก์ชันต้องการ

และฟังก์ชันก็จะนำค่าอาร์กิวเมนต์ไปทำอะไรบางอย่างและอาจมีการคืนค่ากลับมาหรือไม่ก็ได้

อีกอย่างที่ต้องเน้นสักหน่อยก็คืออาร์กิวเมนต์อาจเป็นค่าข้อมูลหรือตัวแปรที่เก็บข้อมูลอยู่ก็ได้

ตัวแปรที่ถูกใช้เป็นอาร์กิวเมนต์ในฟังก์ชันมักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แค่ถูกนำค่าไปใช้เท่านั้น เช่น
c = 2.222
d = str(c)
print(d) # ได้ '2.222'
print(c) # ได้ 2.222

จะเห็นว่า c ถูกใช้ในฟังก์ชัน str เพื่อให้ได้ค่า d เป็นสายอักขระ แต่ว่า c ก็ยังเป็นตัวเลขอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ฟังก์ชันที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอาร์กิวเมนต์ที่ใส่เข้าไปก็มีอยู่เช่นกัน



อาร์กิวเมนต์หลายตัว

อาร์กิวเมนต์ไม่จำเป็นที่จะต้องมีแค่ตัวเดียว อาจมีหลายตัวก็ได้ หากมีหลายตัวก็ต้องคั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค , เช่น
print('a =', 1, ', b =', 2) # ได้ a = 1 , b = 2

จะเห็นกว่าในนี้มีการใส่อาร์กิวเมนต์ถึง ๔ ตัว โดยแต่ละตัวก็คือสิ่งที่ต้องการให้แสดงผลออกมา โดยทั่วไปแล้วฟังก์ชัน print สามารถนำออกข้อมูลได้กี่อันก็ได้ จึงถือว่ามีอาร์กิวเมนต์แบบไม่จำกัดจำนวน

จำนวนอาร์กิวเมนต์ที่แต่ละฟังก์ชันต้องการนั้นอาจไม่เท่ากัน บางฟังก์ชันอาจต้องการหลายตัว หรือบางฟังก์ชันอาจไม่ต้องใช้อาร์กิวเมนต์เลย ซึ่งในกรณีนั้นจะใส่เป็นวงเล็บเปิดแล้วก็ปิดทันที () เช่นฟังก์ชัน input ซึ่งจะยกตัวอย่างให้เห็นต่อไป



คีย์เวิร์ดของฟังก์ชัน

นอกจากอาร์กิวเมนต์แล้ว ฟังก์ชันยังอาจประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่าคีย์เวิร์ด (keyword) ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถป้อนให้กับฟังก์ชันได้ แต่ต่างจากอาร์กิวเมนต์ตรงที่ว่าการป้อนคีย์เวิร์ดจะต้องใส่ชื่อของ คีย์เวิร์ดนั้น

ยกตัวอย่างการใช้คีย์เวิร์ดในฟังก์ชัน print
print('ฉันมีความสุข','555','๕๕๕','อยากหัวเราะดังๆ',sep='(^_^)')

ผลลัพธ์
ฉันมีความสุข(^_^)555(^_^)๕๕๕(^_^)อยากหัวเราะดังๆ

ตัวอย่าง นี้จะเห็นว่าประกอบไปด้วยอาร์กิวเมนต์ ๔ ตัว และด้านหลังอาร์กิวเมนต์ หลังจุลภาคตัวสุดท้ายจะเห็น sep='(^_^)' ซึ่ง sep นี้ก็คือคีย์เวิร์ดที่ใส่เพิ่มลงไปนั่นเอง

ความหมายของ sep ในฟังก์ชัน print ก็คือคำที่ใช้แยกระหว่างอาร์กิวเมนต์แต่ละตัวที่ใส่ลงไป ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามี (^_^) ปรากฏขึ้นมาแทรก

โดยปกติแล้วถ้าหาก ไม่พิมพ์ sep ลงไปฟังก์ชันก็ยังทำงานได้ปกติ เพียงแต่ตัวคั่นระหว่างแต่ละอาร์กิวเมนต์จะกลายเป็นการเว้นวรรค ดังที่เห็นในตัวอย่างที่แล้ว การเพิ่มคีย์เวิร์ดเข้ามาจึงเป็นแค่การแต่งเสริมเพิ่มเติม

นอกจาก sep แล้วก็ยังมีคีย์เวิร์ดสำคัญอีกตัวคือ end ซึ่งเป็นตัวกำหนดการสิ้นสุดประโยค
print('การฝึกฝนที่ไม่มีความเจ็บปวดมันไม่มีความหมาย',end=' ')
print('เพราะคนเราไม่สามารถได้อะไรมาโดยที่ไม่ต้องเสียสละอะไร',end=' ')
print('แต่ว่าเมื่อทนความเจ็บปวดนั้นและก้าวผ่านมันไปได้',end='')
print('ถึงตอนนั้นคนเราก็จะมีจิตใจที่แกร่งกล้าไม่แพ้ใครๆ',end='!')
(ที่มาของประโยค)

ผลลัพธ์
การฝึกฝนที่ไม่มีความเจ็บปวดมันไม่มีความหมาย เพราะคนเราไม่สามารถได้อะไรมาโดยที่ไม่ต้องเสียสละอะไร แต่ว่าเมื่อทนความเจ็บปวดนั้นและก้าวผ่านมันไปได้ถึงตอนนั้นคนเราก็จะมี จิตใจที่แกร่งกล้าไม่แพ้ใครๆ!

โดยปกติแล้วถ้าไม่ใส่คีย์เวิร์ด end ลงไปพอจบฟังก์ชัน print จะมีการขึ้นบรรทัดใหม่นั่นเพราะโดยปกติถูกกำหนดให้สิ้นสุดด้วย \n ซึ่งหมายถึงขึ้นบรรทัดใหม่ แต่ถ้าใส่ end ลงไปเราจะสามารถเปลี่ยนเป็นจบด้วยอะไรก็ได้ ถ้าต้องการให้ติดกันเลยก็พิมพ์ ''
***ทั้ง sep และ end ใช้ได้เฉพาะไพธอน 3 ส่วนไพธอน 2 จะใช้วิธีที่ต่างกันออกไป
>>> รายละเอียด



การคืนกลับและการส่งออก

มีอีกเรื่องที่พูดถึงไปแล้วเล็กน้อยในบทที่ ๒ แต่ก็ควรต้องนำมากล่าวย้ำตรงนี้ด้วย นั่นคือความแตกต่างระหว่างระหว่างการคืนกลับ (return) และการส่งออก (output) ซึ่งอาจสร้างความสับสนได้

การคืนกลับหมายถึงการที่ได้ค่าอะไรออกมา จากฟังก์ชันหรือการคำนวณต่างๆ โดยค่าที่ได้มานั้นจะยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็นแต่เก็บอยู่ภายในหน่วยความจำของเครื่อง

ส่วนการส่งออกนั้นหมายถึงการที่ค่านั้นถูกนำออกมาแสดงผล ให้เราได้เห็น โดยทั่วไปคือออกมาบนหน้าจอ เป็นข้อความ ซึ่งการส่งออกที่พื้นฐานที่สุดก็คือการใช้ฟังก์ชัน print

ฟังก์ชัน print นั้นไม่ได้ทำให้เกิดค่าอะไรคืนกลับมาแต่แค่ทำหน้าที่ส่งออกค่าที่เราป้อนเข้าไปให้

ที่อาจทำให้สับสนได้คือ เวลาที่คำนวณหรือใช้ฟังก์ชันอะไรที่มีค่าคืนกลับมาแล้วไม่มีตัวแปรอะไรมารับ หากทำผ่านเชลมันจะส่งค่าที่คืนกลับมาให้เห็นด้วย ในขณะที่ถ้าทำผ่านอีดิเตอร์จะไม่มีการส่งออกมาแสดงผล

เช่นหากพิมพ์ float('129.3') ในเชลก็จะได้ค่า 129.3 ออกมาพร้อมแสดงออกมาทันทีโดยไม่ต้องใช้ print

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วการแสดงผลค่าคืนกลับผ่านทางเชลนั้นไม่ได้เหมือนฟังก์ชัน print เสมอไป และฟังก์ชันที่สามารถส่งออกข้อมูลมาแสดงผลได้ก็ไม่ได้มีแต่ print ซึ่งตรงนี้จะค่อยมาพูดกันต่อไป



ฟังก์ชัน input

สิ่งที่ตรงข้ามกับการส่งออกข้อมูลก็คือการป้อนเข้า (input)

ในภาษาไพธอนฟังก์ชันที่ใช้ในการป้อนเข้าข้อมูลชื่อฟังก์ชัน input

ตัวอย่างการใช้ ลองพิมพ์ตามนี้ลงในเชล
a = input()

เสร็จแล้วโปรแกรมก็จะให้เราพิมพ์ข้อความอะไรบางอย่างใส่เพิ่มลงไป ก็ให้พิมพ์อะไรก็ได้ลงไปแล้วกด enter

เสร็จแล้วข้อความที่ใส่ลงไปนั้นก็จะถูกเก็บอยู่ในตัวแปร a

จากนั้นลองใช้คำสั่ง print เพื่อพิมพ์สิ่งที่เก็บอยู่ในตัวแปร a ออกมา
print('a คือ',a)

ก็จะได้ข้อความที่เราพิมพ์ลงไปนั้นออกมา

นี่เป็นวิธีการใช้ฟังก์ชัน input เพื่อรับค่ามาเก็บไว้ในตัวแปร ในที่นี้จะเห็นว่า input เป็นฟังก์ชันที่ทำหน้าที่ทั้งดำเนินการอะไรบางอย่างซึ่งในที่นี้คือสั่งให้ รับค่าจากคีย์บอร์ด และสุดท้ายก็ยังคืนค่ากลับออกมาด้วย

อย่างไรก็ตามฟังก์ชัน input นั้นที่จริงแล้วไม่ได้ทำหน้าที่แค่รับค่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถทำหน้าที่แสดงผลข้อความไปด้วยในเวลาเดียวกันด้วย

ในตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าในวงเล็บหลัง input นั้นว่างเปล่า ไม่ได้ใส่อะไรลงไป แต่ที่จริงแล้วฟังก์ชัน input เองก็สามารถใส่อาร์กิวเมนต์ลงไปได้ ซึ่งพอใส่ลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะกลายเป็น ข้อความที่เราต้องการให้แสดงผลออกมาก่อนที่จะให้ป้อนข้อความ

โดยทั่วไปเหมือนเป็นข้อความที่ใช้บอกให้ผู้ใช้รู้ว่าจะต้องป้อนอะไร ขอยกตัวอย่างการใช้ เช่น ลองพิมพ์
a = input('จงป้อนค่าอะไรสักอย่าง: ')

จากนั้นก็จะมีข้อความขึ้นว่า
จงป้อนค่าอะไรสักอย่าง:

แล้วจึงตามด้วยส่วนที่ให้พิมพ์ข้อความอยู่ทางขวาของข้อความ

การทำงานของ input ก็เป็นอย่างที่เห็นนี้ อาจชวนให้สับสนได้ง่าย ต้องจำไว้ว่าข้อความในอาร์กิวเมนต์ของ input เป็นเพียงแค่ข้อความที่สื่อสารกับผู้ใช้ว่าควรจะกรอกข้อมูลอะไร แต่ไม่ได้มีผลอะไรกับข้อมูลที่ป้อนเข้าไป

สิ่งที่ต้องเน้นอีกอย่างคือ ข้อมูลที่ป้อนเข้าไปด้วยฟังก์ชัน input นี้จะเป็นสายอักขระ หากต้องการจะได้ค่าเป็นจำนวนจริงหรือจำนวนเต็มก็จะต้องแปลงอีกที เช่น
a = float(input('จงป้อนตัวเลขลงไป: '))

จากนั้นก็ลองป้อนค่าตัวเลขอะไรบางอย่างเข้าไป

แต่ถ้าป้อนค่าที่ไม่ใช่ตัวเลขลงไปเช่นใส่ตัวหนังสือปนลงไปด้วยก็จะขัดข้องทันที

***ทั้งหมดที่ว่ามานี้ในไพธอน 2 จะมีความแตกต่างออกไปพอสมควร
>>> รายละเอียด



เมธอด

ในภาษาไพธอนและอีกหลายภาษาที่เน้นการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุนั้นนอกจากฟังก์ชันแล้วยังมีคำสั่งอีกอีกชนิดหนึ่งซึ่งซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะ เรียกว่าเมธอด (method) ซึ่งก็อาจถือเป็นฟังก์ชันชนิดหนึ่ง เพียงแต่จะมีความจำเพาะต่อออบเจ็กต์

เมธอดจะถูกนิยามควบคู่ไปกับออบเจ็กต์แต่ละชนิด โดยออบเจ็กต์แต่ละชนิดจะมีเมธอดไม่เหมือนกัน เมธอดจะไม่ปรากฏขึ้นเดี่ยวๆเหมือนอย่างฟังก์ชันทั่วไป

เวลาเขียนเมธอดจะเขียนตามหลังวัตถุที่ต้องการใช้เมธอดนั้น โดยใช้จุด . คั่น

ขอยกตัวอย่างเช่น ออบเจ็กต์ชนิดจำนวนจริงมีเมธอดที่ชื่อว่า is_integer() คือเมธอดสำหรับตรวจว่าค่าของจำนวนจริงนั้นเป็นจำนวนเต็มในทางคณิตศาสตร์หรือ ไม่ (คือมีค่าเลขทศนิยมเป็น 0 หรือไม่) ถ้าเป็นก็คืนค่า True ถ้าไม่ใช่ก็คืนค่า False
x = 3.0
x.is_integer() # ได้ผลเป็น True

แต่
(3.1).is_integer() # ได้ผลเป็น False

แต่ถ้าใช้เมธอดกับวัตถุผิดชนิด
(3).is_integer() # จะได้ AttributeError: 'int' object has no attribute 'is_integer'

เพราะข้อมูลชนิดจำนวนเต็มไม่มีเมธอด is_integer ต้องเป็นข้อมูลชนิดจำนวนจริงเท่านั้นถึงจะมี

วงเล็บที่อยู่ด้านหลังนั้นสามารถใส่อาร์กิวเมนต์หรือคีย์เวิร์ดลงไปได้เช่นกันหากเมธอดนั้นเป็นเมธอดที่ต้องการหรือสามารถใส่เพิ่มอาร์กิวเมนต์หรือคีย์เวิร์ดได้



สรุปเนื้อหา
  • ฟังก์ชันคือสิ่งที่ทำให้เกิดการดำเนินการทำอะไรบางอย่าง หรืออาจคืนค่าอะไรบางอย่างกลับออกมา
  • คลาสหรือชนิดของข้อมูล เช่น int float str bool นั้นไม่ใช่ฟังก์ชันโดยตรงแต่ก็สามารถทำหน้าที่เหมือนฟังก์ชัน โดยมีหน้าที่แปลงชนิดข้อมูลให้กลายเป็นคลาสนั้น
  • ฟังก์ชันจะต้องลงท้ายด้วยวงเล็บ () และอาจมีอาร์กิวเมนต์หรือคีย์อยู่ภายใน
  • ส่วนเมธอดคือฟังก์ชันที่จำเพาะต่อออบเจ็กต์แต่ละชนิด เวลาใช้จะต้องเขียนตามหลังวัตถุโดยคั่นด้วยจุด . และต้องมีวงเล็บ () ต่อท้ายเช่นกัน

ยังมีฟังก์ชันและเมธอดอีกมากมาย ในบทนี้แค่ยกมาให้เห็นตัวอย่างบางส่วนให้พอเริ่มเห็นภาพ เมื่อผ่านไปถึงบทต่อๆไปก็จะได้รู้จักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและจะเริ่มคุ้นชินกับการใช้



อ้างอิง




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文