φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ภาษา python เบื้องต้น บทที่ ๑๙: การสร้างฟังก์ชัน
เขียนเมื่อ 2016/03/06 09:20
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 11:04
 

หลังจากที่ได้เห็นฟังก์ชันต่างๆมากมายที่เป็นพื้นฐานที่ใช้กันทั่วไปแล้ว ได้เวลาที่จะมาลองสร้างฟังก์ชันขึ้นมาใช้เอง

ปกติเราจะสร้างฟังก์ชันขึ้นมาใช้ก็ต่อเมื่อพบว่ามีคำสั่งอะไรบางส่วนที่มีความเป็นระบบและต้องการนำมาใช้บ่อยๆ

เช่นถ้ามีชุดคำสั่งหนึ่งที่ยาวๆแล้วต้องถูกใช้บ่อยหลายครั้งภายในโปรแกรมของเรา หากเราเอาโค้ดตรงส่วนนั้นมาทำเป็นฟังก์ชันอันหนึ่งเราก็จะเขียนมันแค่ครั้งเดียว จากนั้นพอต้องใช้ชุดคำสั่งตรงนั้นเมื่อไหร่เราก็เรียกใช้ฟังก์ชันขึ้นมา

พอทำแบบนี้ก็จะประหยัดแรงในการเขียน โค้ดโดยรวมจะดูสั้นลงมาก และเข้าใจง่ายขึ้น

การสร้างฟังก์ชันจะทำให้การเขียนโปรแกรมของเราดูมีระบบระเบียบขึ้นมามาก



การสร้างและเรียกใช้ฟังก์ชัน

ฟังก์ชันในทางภาษาคอมพิวเตอร์ก็คล้ายกับฟังก์ชันในทางคณิตศาสตร์ คือใส่อาร์กิวเมนต์เข้าไปแล้วได้ผลลัพธ์เป็นค่าอะไรบางอย่างคืนกลับออกมา

ตัวอย่างการสร้างฟังก์ชันและใช้งาน
def f(x): # นิยามฟังก์ชัน f ที่มีพารามิเตอร์เป็น x
    return x**3+3*x**2+3*x+1 # ค่าคืนกลับของฟังก์ชัน

print(f(7)) # เรียกใช้ฟังก์ชัน ได้ 512
print(f(13)) # เรียกใช้ฟังก์ชัน ได้ 2744 

คำสั่งที่ใช้ในการสร้างฟังก์ชันก็คือ def ซึ่งก็ย่อมาจาก definition ซึ่งแปลว่าการนิยามนั่นเอง คำสั่งนี้มีไว้นิยามฟังก์ชันขึ้นมา จากนั้นหลังคำว่า def ก็ใส่ชื่อของฟังก์ชันที่ต้องการ ในที่นี้ตั้งชื่อง่ายๆว่า f จากนั้นก็ตามด้วยวงเล็บซึ่งภายในบรรจุสิ่งที่เรียกว่า พารามิเตอร์ (parameter) ซึ่งก็คือตัวแปรที่จะรับเข้ามาและเป็นตัวกำหนดอะไรต่างๆภายในฟังก์ชัน

การตั้งชื่อฟังก์ชันเป็นไปตามกฏการตั้งชื่อตัวแปรทั่วไป

หลังชื่อฟังก์ชันและพารามิเตอร์แล้วก็จะตามด้วยโคลอน : จากนั้นก็ขึ้นบรรทัดใหม่โดยมีการร่น และภายในส่วนนั้นจะเป็นรายละเอียดของฟังก์ชัน

สำหรับฟังก์ชันที่มี การคืนค่าคืนกลับนั้น ค่าคืนกลับกำหนดโดยคำสั่ง return โดยพิมพ์คำว่า return แล้วเว้นวรรคตามด้วยค่าที่ต้องการให้คืนกลับ

ในตัวอย่างนี้ค่าคืนกลับคือผลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ตามที่เราต้องการ

การนิยามฟังก์ชันก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ การประกาศสร้างฟังก์ชันจะใส่ไว้ตรงไหนก็ได้ภายในตัวโปรแกรม คำสั่งที่อยู่ภายในฟังก์ชันจะไม่มีการทำงานจนกว่าจะถูกเรียกใช้

การเรียกใช้ฟังก์ชันทำได้โดยพิมพ์ชื่อของฟังก์ชันตามด้วยวงเล็บที่ใส่ อาร์กิวเมนต์ที่สอดคล้องกับพารามิเตอร์ที่ของฟังก์ชันนั้นไว้ข้างใน

คำว่าพารามิเตอร์นั้นมีความหมายใกล้เคียงกับอาร์กิวเมนต์ แต่พารามิเตอร์คือตัวแปรที่ใช้ตอนสร้างฟังก์ชัน แต่เวลาที่เรียกใช้ฟังก์ชันค่าที่ป้อนเข้าไปจะเรียกว่าอาร์กิวเมนต์

ในตัวอย่างนี้ใส่ค่าอาร์กิวเมนต์เป็น 7 จากนั้นค่านี้จะถูกนำไปแทนพารามิเตอร์ x ภายในฟังก์ชัน แล้วก็ถูกนำไปคำนวณแล้วได้ค่า 7**3+3*7**2+3*7+1 ซึ่งเท่ากับ 512 กลับออกมา หลังจากนั้นพอใส่อาร์กิวเมนต์เป็น 13 ก็ทำในลักษณะเดียวกัน แต่จะได้ผลลัพธ์ต่างกัน

พารามิเตอร์อาจไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ได้ ถ้าไม่ต้องการรับค่าอะไรมาใช้ในฟังก์ชัน แบบนั้นวงเล็บหลังชื่อฟังก์ชันก็เว้นว่างเป็น f()

หรืออาจมีหลายตัว ซึ่งก็จะคั่นด้วยจุลภาค โดยที่เวลาเรียกใช้จะต้องใส่ลำดับของอาร์กิวเมนต์ให้ตรงกับพารามิเตอร์ที่สอดคล้องกันด้วย

ตัวอย่าง สมการในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอนสไตน์ พลังงานเท่ากับมวลคูณความเร็วแสงกำลังสอง
def E(m,c):
    return m*c**2

m = 9.10938356e-31 # มวลอิเล็กตรอน
c = 2.99792458e8 # ความเร็วแสง
print(E(m,c)) # พลังงานจากมวลของอิเล็กตรอน

ในการป้อนค่าให้พารามิเตอร์นั้นนอกจากใส่ในรูปแบบของอาร์กิวเมนต์แล้วก็ยังสามารถใส่ในรูปแบบคีย์เวิร์ดได้ด้วย
print(E(m=9.10938356e-31,c=2.99792458e8))

กรณีใช้คีย์เวิร์ดจะมีข้อดีคือสามารถสลับลำดับยังไงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียง

ดังนั้นจะเขียนแบบนี้ก็ได้ผลเหมือนเดิม
print(E(c=2.99792458e8,m=9.10938356e-31))

หรือจะใส่ปนกันทั้งคีย์และอาร์กิวเมนต์ก็ได้ แต่ว่าอาร์กิวเมนต์ต้องขึ้นก่อนเสมอ
print(E(m,c=2.99792458e8)) 

แต่จะไม่สามารถใส่ตัวแรกเป็นคีย์เวิร์ดและตัวที่สองเป็นอาร์กิวเมนต์ได้ เพราะถ้ามีอาร์กิวเมนต์อยู่สักตัวจะถูกตีความว่าเป็นพารามิเตอร์ตัวแรกสุดก่อนแล้วไล่ลำดับมา
print(E(2.99792458e8,m=9.10938356e-31))
# ได้ TypeError: E() got multiple values for argument 'm'

กรณีนี้ 2.99792458e8 ถูกตีความเป็นค่า m ซึ่งเป็นพารามิเตอร์ตัวแรก พอมีการใส่คีย์เวิร์ด m= ลงไปอีกจึงกลายเป็นว่าได้ค่าซ้อนกัน จึงขัดข้องทันที

ฟังก์ชันอาจไม่จำเป็นต้องมีการคืนค่าเสมอไป หากไม่มีการคืนค่าก็ไม่ต้องใส่คำสั่ง return

ตัวอย่าง ฟังก์ชันที่จะพิมพ์ดอกจันตามจำนวนที่ป้อนเข้าไป
def daodaodao(x,y): # นิยามฟังก์ชัน พารามิเตอร์คือจำนวนดาวในแนวนอนและแนวตั้งตามลำดับ
    for i in range(y):
        for j in range(x):
            print('*',end='') # พิมพ์ดอกจัน
        print('') # ขึ้นบรรทัดใหม่

daodaodao(30,10) # เรียกใช้ สร้างดอกจันแถวละ ๓๐ ดอก จำนวน ๑๐ แถว 



การแตกลิสต์มาใช้เป็นอาร์กิวเมนต์ของฟังก์ชัน

บางครั้งเราอาจเก็บข้อมูลที่จะนำมาใช้เป็นอาร์กิวเมนต์ของฟังก์ชันไว้ในรูปแบบของลิสต์ ซึ่งบางครั้งก็สะดวกกว่า

กรณีแบบนี้แทนที่จะต้องมาไล่เขียนแจกแจงสมาชิกในลิสต์ สามารถแตกสมาชิกทั้งหมดของลิสต์มาใช้เป็นอาร์กิวเมนต์ได้โดยเติมดอกจัน หน้าตัวแปรลิสต์ *
def f(x,y,z):
    print((x**2+y**2+z**2)**0.5)

xyz = [3,4,12]
f(*xyz) # แทนที่จะต้องมาเขียน f(xyz[0],xyz[1],xyz[2])
# ได้ 13.0

จะใส่ลิสต์ปนกับข้อมูลเดี่ยวแบบนี้ก็ได้เช่นกัน
def f(x,y,z,t):
    print((x**2+y**2+z**2+t**2)**0.5)

xyz = [3,4,12]
t = 20
f(*xyz,t)

วิธีการนี้จะใช้กับฟังก์ชันอะไรก็ได้ ไม่เพียงแต่ฟังก์ชันที่เราสร้างขึ้นเอง เช่นฟังก์ชัน print เองก็สามารถใช้ตัวแปรลิสต์ที่มีดอกจัน



การใช้ดิกชันนารีเป็นคีย์เวิร์ด

ในขณะที่ลิสต์สามารถใช้เป็นอาร์กิวเมนต์ได้ ดิกชันนารีก็สามารถใช้เป็นคีย์เวิร์ดได้ ซึ่งการใช้นั้นทำได้โดยใส่ดอกจันสองอันนำหน้าตัวแปรดิกชันนารี
def f(x,y,z):
    print((x**2+y**2+z**2)**0.5)

xyz = {'x':3,'y':4,'z':12}
f(**xyz) # แทนที่จะใส่ f(xyz['x'],xyz['y'],xyz['z'])
# ได้ 13.0

ในที่นี้ดิกชันนารี xyz มีคีย์เป็น x, y และ z คีย์แต่ละอันจะกลายมาเป็นคีย์เวิร์ดในฟังก์ชัน



พารามิเตอร์แบบมีกี่ตัวก็ได้

ถ้านิยามฟังก์ชันโดยกำหนดพารามิเตอร์โดยทั่วไปแล้วจำนวนอาร์กิวเมนต์หรือคีย์เวิร์ดที่ใช้ในฟังก์ชันจะตายตัวอยู่แล้ว

แต่ในบางสถานการณ์ก็อาจจะต้องการส่งค่าจำนวนมากเข้าฟังก์ชันโดยที่ไม่รู้ว่าจะ มีกี่ตัว ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ * หรือ ** กับพารามิเตอร์

กรณีใช้ดอกจันอันเดียว * ตัวแปรนั้นจะเก็บค่าอาร์กิวเมนต์ในรูปของลิสต์

ตัวอย่าง ผลบวกกำลังสองของอาร์กิวเมนต์ทุกตัวที่ใส่ลงไป
def f(*arg):
    a = 0
    for x in arg:
        a += x**2
    a **= 0.5
    print(a)

f(3,4,12) # ได้ 13.0
f(7,24,60) # ได้ 65.0

กรณีใช้ดอกจันสองอัน ** ตัวแปรนั้นจะเก็บค่าคีย์เวิร์ดในรูปของดิกชันนารี
def f(**kw):
    print((kw['x']**2+kw['y']**2+kw['z']**2)**0.5)

f(x=3,y=4,z=12) # ได้ 13.0

พารามิเตอร์ที่มี * และ ** สามารถใช้ปนกันกับพารามิเตอร์ธรรมดาได้ แต่ต้องวางไว้ข้างหลัง
def f(t,**kw):
    print((kw['x']**2+kw['y']**2+kw['z']**2+t**2)**0.5)

f(x=7,y=24,z=60,t=156) # ได้ 169.0

โดยในกรณีนี้เฉพาะ t เท่านั้นที่มีกำหนดพารามิเตอร์แยกไว้ต่างหาก ดังนั้นจะไม่ถูกนำมารวมใน kw ด้วย

หากใช้ปนกันทั้งพารามิเตอร์ธรรมดาและที่มี * และ ** ก็จะต้องเรียงเอาพารามิเตอร์ธรรมดาไว้ก่อน แล้วค่อยตามด้วย * แล้วค่อย **
def f(t,*arg,**kw):
    a = 0
    for x in arg:
        a += x**2
    a **= 0.5
    print((a**2+kw['x']**2+kw['y']**2+t**2)**0.5)

f(12,15,16,x=36,y=48) # ได้ 65.0

กรณีนี้ t จะเป็น 12 ส่วน arg จะเป็น [15,16] และ kw เป็น {'x':36,'y':48}



ค่าตั้งต้นของตัวแปรในฟังก์ชัน

บางครั้งฟังก์ชันก็ไม่จำเป็นจะต้องรับค่าอาร์กิวเมนต์หรือคีย์เวิร์ดให้ ครอบคลุมทุกพารามิเตอร์ที่กำหนดไว้ หากฟังก์ชันมีการกำหนดค่าตั้งต้นของพารามิเตอร์ไว้

ให้ลองนึกถึงฟังก์ชันบางตัวที่โปรแกรมมีอยู่แล้ว เช่น open สำหรับเปิดไฟล์ (บทที่ ๑๗) โดยปกติแล้วจะต้องเลือกโหมดว่าจะอ่านหรือเขียน คือเป็น r, w, a หรืออื่นๆ แต่หากไม่ใส่เลยก็จะเป็น r ไปโดยอัตโนมัติ

หรืออย่างฟังก์ชัน print ที่กำหนดตัวปิดท้ายเป็นการขึ้นบรรทัดใหม่ "\n" ไปโดยอัตโนมัติ ยกเว้นว่าเราจะใส่คีย์เวิร์ด end= เพิ่มเข้าไป

การกำหนดค่าตั้งต้นให้พารามิเตอร์ทำได้โดยใส่ค่าไปตอนที่ประกาศพารามิเตอร์ คือในวงเล็บหลังฟังก์ชัน

ค่าตั้งต้นนี้จะถูกใช้เฉพาะในกรณีที่ไม่มีการป้อนค่าให้พารามิเตอร์

ตัวอย่าง พ่อค้าคนหนึ่งมีสินค้าอยู่ ๔ ชนิด แต่ละชนิดราคาไม่เท่ากัน บางวันบางอันก็ขายดีบ้างไม่ดีบ้าง จะหารายได้ที่ได้ในแต่ละวัน
def raidai(a=0,b=0,c=0,d=0):
    print(a*200+b*300+c*400+d*500)

raidai(b=15,c=20) # มี b และ c ได้ 12500
raidai(15,20,10) # มี a, b และ c ได้ 13000
raidai(15,20,d=10) # มี a, b และ d ได้ 14000
raidai() # ไม่มีอะไรเลย ได้ 0

ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่าใส่ค่าให้ตัวแปร a b c d ไม่ครบแต่ฟังก์ชันก็ทำงานได้ตามปกติ โดยตัวแปรไหนที่ไม่ได้รับค่าก็จะเป็น 0 ซึ่งเป็นไปตามค่าที่กำหนดตั้งต้นไว้

กรณีที่ใส่เป็นอาร์กิวเมนต์ พารามิเตอร์ตัวแรกๆจะได้ค่าไปก่อน ถ้าอยากให้ตัวหลังๆมีค่าในขณะที่ตัวแรกๆไม่มีก็ต้องใช้คีย์เวิร์ดเท่านั้น



การคืนกลับข้อมูลเป็นกลุ่ม

โดยปกติแล้วฟังก์ชันที่มีค่าคืนกลับจะคืนค่าได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น เพราะพอเจอคำสั่ง return แล้วการทำงานของฟังก์ชันจะสิ้นสุดลงทันที ไม่สามารถ return หลายครั้งได้

แต่หากต้องการให้คืนกลับหลายตัวก็ทำได้ด้วยการให้คืนกลับเป็นข้อมูลชนิดกลุ่ม เช่นลำดับ, ทูเพิล, ดิกชันนารี

ตัวอย่าง ฟังก์ชันที่คืนค่า x ยกกำลังตั้งแต่ 1 ไปจนถึงยกกำลัง n
def yok(x,n):
    return [x**i for i in range(1,n+1)]

print(yok(2,12)) # ได้ [2, 4, 8, 16, 32, 64, 128, 256, 512, 1024, 2048, 4096]
print(yok(3,7)) # ได้ [3, 9, 27, 81, 243, 729, 2187] 



ขอบเขตของตัวแปร

ปกติแล้วหากในฟังก์ชันมีการสร้างตัวแปรขึ้นมา ตัวแปรนั้นจะหายไปทันทีที่จบการใช้งานฟังก์ชันนั้น หากเรียกใช้ตัวแปรนั้นหลังจากนั้นก็จะพบว่ามันไม่มีตัวตนอยู่แล้ว ไม่สามารถใช้งานได้
def baba():
    c = 1

baba()
print(c) # ได้ NameError: name 'c' is not defined

หากต้องการให้ตัวแปรที่ถูกนิยามภายในฟังก์ชันั้นคงอยู่ต่อไปแม้ฟังก์ชันจะทำงาน จบลงแล้ว แบบนี้จะต้องใช้คำสั่ง global เพื่อประกาศว่าตัวแปรนั้นเป็นตัวแปรสากล สามารถใช้ได้ทั้งโปรแกรม การประกาศนั้นต้องทำการที่จะป้อนค่าให้ตัวแปร
def baba():
    global c
    c = 1

baba()
print(c) # ได้ 1

นอกจากนี้ global ยังใช้ในกรณีที่ต้องการให้ตัวแปรที่นิยามจากนอกฟังก์ชันสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าภายในฟังก์ชันได้

โดยปกติแล้วกรณีที่ตัวแปรภายในฟังก์ชันชื่อซ้ำกับนอกฟังก์ชันจะถือว่าเป็น ตัวแปรคนละตัวเดียวกัน และการกระทำภายในฟังก์ชันนั้นจะเป็นการทำกับตัวแปรภายในฟังก์ชัน ไม่ส่งผลต่อตัวแปรนอกฟังก์ชัน
def baba():
    a = 3 # กำหนดค่าตัวแปร a ขึ้นมาใหม่ ไม่เกี่ยวกับนอกฟังก์ชัน
    print(a) # ได้ 3

a = 2
baba()
print(a) # ได้ 2 เพราะไม่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงค่าที่เกิดในฟังก์ชัน

แต่ในกรณีที่ภายในฟังก์ชันไม่ได้กำหนดตัวแปรชื่อเดียวกันอยู่ ตัวแปรภายในฟังก์ชันนั้นจึงเป็นตัวแปรที่ถูกนิยามจากภายนอก
def baba():
    print(a) # แสดงผลค่า a ซึ่งกำหนดจากนอกฟังก์ชัน

a = 2
baba()

สรุปคือเวลาที่มีการเรียกใช้ตัวแปรภายในฟังก์ชัน โปรแกรมจะทำการหาว่ามีตัวแปรชื่อนั้นอยู่ภายในฟังก์ชันหรือเปล่าก่อน ถ้ามีก็ใช้ตัวแปรนั้น แต่ถ้าไม่มีจึงไปหานอกฟังก์ชัน

ข้อควรระวังคือ หากมีการป้อนค่าให้กับตัวแปรภายในฟังก์ชัน โปรแกรมจะถือว่าตัวแปรนั้นเป็นตัวแปรในฟังก์ชัน หากมีการเรียกใช้ก่อนส่วนที่ให้ค่าจะขัดข้องทันที
def baba():
    print(a) # ถูกเรียกใช้ก่อนป้อนค่า
    a = 3

a = 2
baba()
# ได้ UnboundLocalError: cannot access local variable 'a' where it is not associated with a value

หากต้องการให้ตัวแปรสามารถทั้งใช้และเปลี่ยนแปลงค่าได้ภายในฟังก์ชันจำเป็นต้องใช้คำสั่ง global

ตัวอย่าง
def baba():
    global b
    a=1
    b=1

a=2
b=2
baba()
print(a) # ได้ 2
print(b) # ได้ 1
ในนี้จะเห็นว่ามีการกำหนดค่าให้ทั้ง a และ b ๒ ที่คือทั้งในและนอกฟังก์ชัน ที่ต่างกันคือ b มีการกระกาศ global แต่ a ไม่มี ซึ่งทำให้ค่า b ภายในฟังก์ชันกลายเป็นตัวเดียวกับ b นอกฟังก์ชัน



ความเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปรที่ถูกใช้เป็นอาร์กิวเมนต์

โดยปกติแล้วค่าของตัวแปรที่ถูกใช้เป็นอาร์กิวเมนต์ของฟังก์ชันจะไม่มีการ เปลี่ยนค่า เพราะฟังก์ชันแค่ดึงค่าของตัวแปรไปใช้เพื่อทำอะไรบางอย่าง หากต้องการใช้ฟังก์ชันเพื่อให้ตัวแปรมีการเปลี่ยนแปลงค่าจะไม่สามารถทำได้ โดยตรงแต่ต้องใช้ = กับฟังก์ชันอีกที เช่น
def f(x):
    return x+1

x = f(x)

แบบนี้ x จะมีค่าเพิ่มขึ้นมา 1

อย่างไรก็ตาม หากตัวแปรที่เป็นอาร์กิวเมนต์คือลิสต์ ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นกับสมาชิกในลิสต์ได้ ในกรณีที่มีการป้อนค่าใหม่ให้สมาชิกนั้นโดยตรงในฟังก์ชัน
def plian(s):
    s[0] = 'k'
    s[3] = 'ng'

listA = ['ก','ข','ค','ง']
plian(listA)
print(listA) # ได้ ['k', 'ข', 'ค', 'ng'] 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะตัวแปรลิสต์นั้นมีหน้าที่ชี้ตำแหน่งของตัวแปร แม้ว่าตัวแปรลิสต์ภายในกับภายนอกฟังก์ชันจะเป็นคนละตัวกัน แต่การที่ฟังก์ชันรับค่าลิสต์นั้นมาก็เท่ากับว่ารับเอาตำแหน่งที่ถูกชี้นั้นมา ดังนั้นลิสต์ภายในและนอกฟังก์ชันจะชี้ไปที่ตัวแปรตัวเดียวกัน เมื่อมีการแก้ไขค่าตัวแปรนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

แต่ว่าถ้าหากเป็นการป้อนค่าให้กับลิสต์นั้นเท่ากับเป็นการแก้ตัวลิสต์ทั้งลิสต์ ไม่ได้เป็นการแก้ตัวแปรที่ถูกลิสต์ชี้อยู่ ดังนั้นค่าในลิสต์เดิมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป
def plian2(s):
    s = ['a','b','c','d']
    return s

listA = ['ก','ข','ค','ง']
plian2(listA)
print(listA) # ได้ ['ก', 'ข', 'ค', 'ง']



อ้างอิง




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文