φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ภาษา python เบื้องต้น บทที่ ๒๐: ฟังก์ชันเวียนเกิด
เขียนเมื่อ 2016/03/06 09:59
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 11:04
 

ในบทที่แล้วได้อธิบายถึงการใช้ฟังก์ชันไปแล้ว สำหรับบทนี้จะพูดถึงรูปแบบหนึ่งของฟังก์ชันซึ่งมีลักษณะที่ค่อนข้างพิเศษ เรียกว่าฟังก์ชันเวียนเกิด (recursive function)

ฟังก์ชันเวียนเกิด คือฟังก์ชันที่มีการคืนค่าเป็นตัวฟังก์ชันนั้นเอง ทำให้ต้องมีการเรียกใช้ตัวฟังก์ชันนั้นซ้ำ และในฟังก์ชันที่เรียกซ้ำนั้นก็มีการเรียกฟังก์ชันเดิมซ้ำอีก วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนถึงจุดหนึ่งจะมีเงื่อนไขที่ทำให้ฟังก์ชันนั้นคืน ค่ากลับโดยที่ไม่ต้องเรียกฟังก์ชันซ้ำอีก การวนซ้ำจึงหยุดลง

อธิบายด้วยคำพูดแบบนี้ยังไงก็คงจะยังเข้าใจยากอยู่ มาดูตัวอย่างน่าจะช่วยให้เห็นภาพชัดกว่า



แฟ็กทอเรียล

ฟังก์ชันแฟ็กทอเรียลนั้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ง่ายที่สุดของการใช้ฟังก์ชันเวียนเกิด

ลองดูตัวอย่างการใช้ สร้างฟังก์ชัน
def fac(x):
    if(x>1):
        return fac(x-1)*x
    else:
        return 1

print(fac(6)) # ได้ 720 

จะเห็นว่าฟังก์ชัน fac ในที่นี้มีการเรียกตัวมันเองคือฟังก์ชัน fac ซ้ำอีกภายในนั้น การเรียกซ้ำนี้จะเกิดขึ้นตราบใดที่ยังมากกว่า 1 แต่ถ้าเป็น 1 จะคืนค่า 1 โดยไม่มีการเรียกซ้ำ

ลองนึกตามทีละขั้น สมมุติเราเรียกใช้ฟังก์ชันโดยใส่อาร์กิวเมนต์เป็น 1 คือ fac(1)

แบบนี้ฟังก์ชันจะเข้า else ทันทีเพราะ x เป็น 1 ดังนั้นจึงคืนค่า 1 กลับมา ซึ่งเป็นไปตามที่ควรจะเป็น

ต่อไปลองคิดกรณี fac(2)

กรณี นี้เมื่อเรียกใช้ x=2 จะเข้าเงื่อนไขแรก ซึ่งจะต้อง return fac(x-1)*x ทำให้มีการเรียกใช้ฟังก์ชันนั้นซ้ำ แต่คราวนี้อาร์กิวเมนต์ต่างไปโดยลดลงไป 1 เป็น x-1 ก็คือเหลือ 1

ซึ่งจะคืนค่า 1 กลับมา จากนั้นก็ถูกนำไปคูณกับ x ก็คือ 2 ดังนั้นผลที่ได้ก็คือได้ 2

คิดต่อไป กรณี fac(3)

เมื่อ เรียกใช้ x=3 จะเข้าเงื่อนไขแรก เรียก return fac(x-1)*x เมื่อแทนค่า x จะได้เป็น return fac(2)*3 ซึ่ง fac(2) ก็รู้ค่าแล้วจากกรณี x=2 ว่าเป็น 2 ดังนั้นเอามาคูณกันก็ได้ผลลัพธ์เป็น 6

กรณี x=4 ก็จะ return fac(3)*4 จึงได้ผลเป็น 24
กรณี x=5 ก็จะ return fac(4)*3 จึงได้ผลเป็น 120
กรณี x=6 ก็จะ return fac(5)*4 จึงได้ผลเป็น 720
...

เป็นอย่างนี้ซ้ำไปเรื่อยๆเป็นจำนวนครั้งตามค่าของ x ที่ใส่ลงไป

เพราะเมื่อเรียกใช้ฟังก์ชัน ภายในฟังก์ชันจะมีการเรียกฟังก์ชันเดิมซ้ำด้วย x ที่ต่ำลงไปทีละขั้น พอเรียกซ้ำก็จะเรียก x ที่ต่ำลงไปเรื่อยๆจนในที่สุดก็เป็น 1 และไม่มีการเรียกซ้ำอีก

สุดท้ายผลที่ได้จึงเป็นการคูณสะสมเพิ่มไปเรื่อยๆ กลายเป็นฟังก์ชันแฟ็กทอเรียลตามที่ต้องการ

หากจะลองเขียนเป็นฟังก์ชันธรรมดาที่ไม่ต้องมีการเวียนเกิดก็สามารถทำได้โดยใช้การวนทำซ้ำ ลองเปรียบเทียบกันดู
def fac(x):
    f = 1 # ตั้งต้นที่ 1
    for i in range(2,x+1): # ใช้ for วนซ้ำ ไล่ตั้งแต่ 2
        f = f*i # คูณเพิ่มไปเรื่อยๆ
    return f # คืนผลลัพธ์ที่ได้กลับไป

print(fac(6))



ข้อดีข้อเสียของการใช้ฟังก์ชันแบบเวียนเกิดเมื่อเทียบกับการไม่ใช้

ข้อดี
- หากใช้ได้คล่องแล้วจะมองปัญหาออกได้ง่ายขึ้น เข้าใจง่ายกว่า
- เขียนแล้วดูสั้นกว่า
- ง่ายกว่ามากในกรณีที่มีการทำซ้ำซ้อนกันเป็นวังวนในจำนวนที่ไม่แน่นอน

ข้อเสีย
- เปลืองหน่วยความจำมากกว่า
- ในบางกรณีอาจทำงานช้ากว่า

สรุปก็คือวิธีการนี้ไม่ได้ทำให้โปรแกรมทำงานเร็วขึ้น แถมอาจช้าลงอีก เพียงแต่ในบางปัญหาจะทำให้ดูเรียบง่ายขึ้น เขียนฟังก์ชันสั้นเกินคาดทั้งๆที่น่าจะซับซ้อน

ดังนั้นที่สำคัญคือมองปัญหาให้ออกว่าเวลาไหนควรจะใช้ เลือกใช้ตามความเหมาะสม

เพื่อให้เห็นภาพชัดลองดูตัวอย่างอื่นเปรียบเทียบกันอีก



ฟีโบนัชชี

ลำดับฟีโบนัชชี (Fibonacci) คือลำดับที่มีสมาชิก ๒ ตัวแรกมีค่าเท่ากับ 1 นอกนั้นตัวถัดไปจะมีค่าเท่ากับสองตัวก่อนหน้าบวกกัน
1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55, 89, 144, 233, 377, 610, 987, ...



ลองมาเขียนเป็นฟังก์ชันในไพธอนดู
def fib(x):
    if(x>2):
        return fib(x-1)+fib(x-2)
    else:
        return 1

print(fib(8)) 

จะเห็นว่าฟังก์ชันนี้มีการกำหนดเงื่อนไขตามที่ได้กล่าวข้างต้น คือถ้า x เป็นตัวที่ 1 หรือ 2 จะมีค่าเป็น 1 แต่ถ้าเป็นตัวถัดจากนั้นจะมีค่าเท่ากับสองตัวก่อนหน้าบวกกัน

ฟังก์ชันแบบนี้ถ้าไม่ใช้เป็นแบบเวียนเกิด ใช้การวนซ้ำธรรมดาจะเป็นอย่างไร
def fib(x):
    a = 1
    b = 1
    f = 1
    for i in range(3,x+1):
        f = a+b
        a = b
        b = f
    return f

print(fib(8)) 

คราวนี้จะเห็นว่าใช้ฟังก์ชันแบบเวียนเกิดดูแล้วการเขียนดูเรียบง่ายกว่าพอสมควร

แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเรียบง่ายของมัน ก็แฝงไปด้วยความน่ากลัว

ลองพิจารณาดูจะเห็นว่ากรณีใช้ฟังก์ชันเวียนเกิดนั้นเมื่อเรียกใช้ฟังก์ชันครั้ง หนึ่งจะมีการเรียกตัวมันเองถึง ๒ ครั้ง คือ fib(x) จะมีการเรียก fib(x-1) และ fib(x-2) ขึ้นมา

และภายในนั้น fib(x-1) ก็จะทำการเรียก fib(x-2) และ fib(x-3) ส่วน fib(x-2) ก็ไปเรียก fib(x-3) กับ fib(x-4) แล้วก็วนเรียกซ้ำเพิ่มไปเรื่อยๆ จำนวนครั้งที่เรียกมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็นทวีคูณ

การเรียกในแต่ละครั้งเป็นการคำนวณใหม่ทุกครั้ง แม้ว่า fib(x-2) จะถูกเรียกซ้ำ 2 ครั้ง fib(x-3) ถูกเรียกซ้ำ 3 ครั้ง แต่มันก็ไม่ได้เก็บค่าเดิมเอาไว้ แต่กลับคำนวณใหม่แยกกัน

ผลก็คือเครื่องทำงานหนักและประสิทธิภาพการทำงานต่ำ

ในขณะที่ถ้าใช้ for วนซ้ำธรรมดา ตัวแปรมีการเก็บค่าเสร็จแล้วก็นำมาใช้แล้วล้างใหม่ทุกรอบ พอเป็นแบบนี้แล้วเครื่องจึงทำงานเบากว่ามาก

สรุป กรณีนี้ฟังก์ชันเวียนเกิดเขียนง่ายแต่ประสิทธิภาพแย่ ฟิโบนัชชีจึงเป็นตัวอย่างของกรณีที่ไม่ควรจะใช้

บางครั้งการเขียนสั้นไม่ได้แปลว่าเป็นโปรแกรมที่ดี ต้องพิจารณาด้วยว่าโปรแกรมมีการทำงานอย่างไรอยู่เบื้องหลังคำสั่งนั้น



ฟังก์ชันสำหรับยุบลิสต์

ลองดูตัวอย่างการใช้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์กันบ้าง

ตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นว่าใช้ฟังก์ชันเวียนเกิดแล้วง่ายก็คือการยุบลิสต์

สมมุติว่ามีลิสต์หน้าตาซับซ้อนแบบนี้อยู่ [[['a','b'],['c','d']],[['e','f'],['g',['h','i']]],['j','k'],'l']

จะเห็นว่าเป็นลิสต์ซ้อนกันหลายชั้น สูงสุดคือ h กับ i นี้ซ้อนอยู่ในชั้นที่ ๔ คือเป็นลิสต์ในลิสต์ในลิสต์ในลิสต์

เราจะทำให้ทั้งหมดนี้มาอยู่ในลิสต์อันเดียว คือกลายเป็น ['a', 'b', 'c', 'd', 'e', 'f', 'g', 'h', 'i', 'j', 'k', 'l']

สามารถทำได้ด้วยการสร้างฟังก์ชันเวียนเกิด
def yup(l):
    y = [] # สร้างลิสต์เปล่าขึ้นมาก่อน
    for c in l:
        if(type(c)==list): # ตรวจชนิดของสมาชิกว่าเป็นลิสต์หรือเปล่า
            y += yup(c) # ถ้าเป็นลิสต์ให้เรียกฟังก์ชันซ้ำเพื่อยุบก่อนค่อยเพิ่มเข้าไป
        else:
            y += [c] # ถ้าไม่ใช่ลิสต์ให้เพิ่มเข้าไปในสมาชิก
    return y # คืนค่าลิสต์ที่ได้

lia = [[['a','b'],['c','d']],[['e','f'],['g',['h','i']]],['j','k'],'l']
print(yup(lia))

ในนี้จะเห็นว่าฟังก์ชัน yup มีการเรียกใช้ตัวมันเองในกรณีที่สมาชิกเป็นลิสต์ เพื่อให้ลิสต์นั้นยุบก่อนที่จะบวกเพิ่มเข้าไป ถ้าภายในลิสต์นั้นมีลิสต์อยู่อีกจึงทำการเรียกตัวเองซ้ำอีก

ปัญหานี้ยากที่จะใช้การวนซ้ำด้วย for เฉยๆโดยไม่ทำเป็นฟังก์ชันเวียดเกิด เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องมีวังวนซ้อนอยู่กี่ชั้น



หอคอยฮานอย

ตัวอย่างปัญหาอีกอย่างที่ดูเหมือนจะยากแต่ถ้าใช้ฟังก์ชันเวียนเกิดจะดูแล้วง่ายลงไปทันที



รายละเอียดเขียนไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20160301




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文