φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



เมืองลุนด์ ชมมหาวิทยาลัยชื่อดังและโบสถ์เก่าแก่
เขียนเมื่อ 2014/05/24 09:33
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 3 พ.ค. 2014

หลังจากที่เมื่อวานเที่ยวภายในเมืองคริครานสตา และชมหมู่บ้านเดเกแบร์ยาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20140522

ต่อมาคราวนี้จะเป็นการเที่ยวในเมืองอื่นที่ต้องนั่งรถไฟไป เป้าหมายแรกคือเมืองลุนด์ (Lund)

เมืองนี้เป็นเมืองเก่าแก่มากเมืองหนึ่งของสวีเดน เชื่อว่าเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 990 แล้ว และมีมหาวิหารเก่าแก่ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 1145 และยังมีโบสถ์ที่เก่าแก่มาก คือ
มหาวิหารลุนด์ (Lunds domkyrka)

นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lunds universitet) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1666 หลังจากที่ดินแดนส่วนนี้ได้เปลี่ยนมือจากเดนมาร์กกลายเป็นของสวีเดน

ลุนด์ตั้งอยู่ข้างๆเมืองมาลเมอ (Malmö) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของสวีเดน โดยจากเมืองคริครานสตาที่เราอยู่นั้นจะต้องผ่านลุนด์ก่อน แล้วจึงจะไปถึงมาลเมอ และจากมาลเมอก็สามารถข้ามฝั่งไปยังประเทศเดนมาร์กได้

สำหรับแผนการเที่ยวของเราวันนี้ช่วงเช้าจะไปเที่ยวลุนด์ก่อน จากนั้นก็นั่งรถไฟข้ามไปเที่ยวในประเทศเดนมาร์กตอนบ่าย ยังไม่แวะมาลเมอ



เราออกเดินทางแต่เช้าเพื่อมายังสถานีรถไฟเมืองคริครานสตาซึ่งเป็นเมืองหลักของอำเภอที่เราพักอยู่



สำหรับการขึ้นรถไฟครั้งนี้ตั๋วที่เราซื้อคือตั๋วไปกลับโคเปนเฮเกนของการรถไฟเออเรซุนด์สโทก (Öresundståg)

คำว่าโทก (tåg) แปลว่ารถไฟ ส่วนเออเรซุนด์ (Öresund) เป็นชื่อของช่องแคบที่กั้นระหว่างเดนมาร์กและสวีเดน รถไฟของเออเรซุนด์สโทกนั้นวิ่งตั้งแต่เมืองเฮลซิงเออร์ (Helsingør) ของเดนมาร์กไปยังเมืองต่างๆหลายเมืองทางภาคใต้ของสวีเดน เช่นเมืองเยอเตบอรี (Göteborg) เมืองคาลมาร์ (Kalmar) เมืองคาร์ลสกรูนา (Karlskrona) สำหรับเมืองคริครานสตาที่เราอยู่นี้อยู่บนเส้นทางที่จะไปเมืองคาร์สกรูนา

การที่เราซื้อตั๋วไปกลับโคเปนเฮเกนแบบนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการประหยัด เพราะแผนเราคือไปเที่ยวลุนด์และไปโคเปนเฮเกนต่อแล้วก็กลับมา และลุนด์เป็นทางผ่านสำหรับไปโคเปนเฮเกน เราสามารถใช้ตั๋วนี้เพื่อแวะลุนด์กลางทางแล้วกลับมาขึ้นรถไฟเพื่อไปจนถึงโคเปนเฮเกนแล้วค่อยกลับมาก็ได้

แต่ขอย้ำว่าที่ทำแบบนี้ได้ก็เพราะเป็นรถไฟของเออเรซุนด์สโทกเท่านั้น ซึ่งตั๋วรถไฟจะไม่มีระบุเวลาชัดเจน ซื้อแล้วจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ รถไฟของบริษัทอื่นบางอันก็อาจทำแบบนี้ได้ แต่สำหรับของ SJ ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟใหญ่ที่สุดของสวีเดนซึ่งบริหารโดยรัฐบาลนั้นไม่สามารถทำแบบนั้นได้เพราะตั๋วจะระบุเวลาชัดเจนซื้อเที่ยวไหนก็ต้องนั่งเที่ยวนั้น

เราเคยเจอปัญหาเพราะพลาดเรื่องนี้มาแล้ว ดังนั้นเลยต้องย้ำตรงนี้สักหน่อย แต่เดี๋ยวจะมาพูดถึงอีกทีตอนที่เล่าถึง

อีกเรื่องที่น่าพูดถึงก็คือสำหรับการเที่ยวในจังหวัดทางภาคใต้ของสวีเดนนั้นมีบัตรหนึ่งที่ควรใช้เพราะว่าคุ้มมากนั่นก็คือบัตรโยโย (Jojo, ไม่ได้อ่านว่า "โจโจ้" นะ) ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินของสโกเนทราฟีเกน (Skånetrafiken) ใช้สำหรับขึ้นรถไฟหรือรถเมล์ภายในจังหวัดสโกเนและจังหวัดรอบๆรวมทั้งบางส่วนในภาคตะวันออกของเดนมาร์กด้วย โดยจะได้รับส่วนลดถึง 20%

บัตรนี้สามารถใช้เพื่อซื้อตั๋วรถไฟของเออเรซุนด์สโทกและรถไฟของโพกาโทก (Pågatåg) แต่สำหรับบริษัทรถไฟอื่นเช่น SJ แม้ว่าจะมีการให้บริการในเขตพื้นที่นี้ก็ไม่สามารถใช้บัตรนี้ซื้อได้


สามารถซื้อบัตรนี้ได้ตามสถานีรถไฟ และเติมเงินได้ในที่เดียวกัน ส่วนการใช้งานก็คือตอนที่ไปซื้อตั๋วรถไฟก็ยื่นบัตรนี้ให้คนขายดูแล้วเขาก็จะ หักเงินจากบัตรนี้ หรือจะซื้อเอาเองจากเครื่องขายตั๋วก็ได้เช่นกัน ส่วนเวลาขึ้นรถเมล์ก็ยื่นบัตรนี้ให้คนขับ เขาจะเอาเข้าเครื่องอ่านและหักเงินออกจากบัตร

บัตรนี้มีข้อจำกัดที่ สามารถใช้ได้แค่บริเวณจำกัด แต่ถ้าไปท้องที่อื่นก็จะมีบัตรของแต่ละท้องที่ต่างกันออกไปอีกซึ่งก็คล้ายๆ กัน สำหรับที่สตอกโฮล์มจะเรียกว่าบัตร SL รายละเอียดจะขอไปพูดถึงอีกทีตอนเล่าถึงสตอกโฮล์ม

รถไฟที่เรานั่งเป็นรถไฟที่มีปลายทางอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก โดยผ่านทางมาลเมอ จากภาพนี้จะเห็นว่าเขาเขียนว่าเชอเปินฮัมน์ (Köpenhamn, ย้ำว่า K ในที่นี้อ่านเสียง "ช" ไม่ใช่ "ค") นี่เป็นชื่อภาษาสวีเดนของเมืองโคเปนเฮเกน ที่เราเรียกกันว่าโคเปนเฮเกนนั้นเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ส่วนเดนมาร์กเองเขาเรียกว่าเคิบม์เฮาน์ (København)



ภายในรถไฟเป็นแบบนี้ น่านั่งมากทีเดียว ตามที่นั่งแต่ละที่มีช่องปลั๊กซึ่งสามารถชาร์จไฟได้ด้วย สะดวกมากเพราะเราต้องคอยชาร์จมือถือให้เต็มอยู่เสมอ ไม่ได้เตรียมแบ็ตสำรองไว้



ใช้เวลาประมาณไม่ถึงชั่วโมงก็มาถึงสถานีลุนด์



ทิวทัศน์รอบๆสถานี เมืองนี้ก็สวยงามไม่แพ้คริครานสตา แต่ถ้าเทียบแล้วมีขนาดใหญ่กว่า




เรามุ่งหน้าไปยังร้านอาหารไทยซึ่งเจ้าของร้านเป็นคนรู้จักของพี่เจ้าของบ้านที่เราอาศัย ร้านนี้อยู่ไม่ไกลจากจตุรัสกลางเมืองนัก



ปรากฏว่าไปถึงพบว่าร้านยังไม่เปิด ปกติร้านเขาเปิดสิบเอ็ดโมง แต่ว่าวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เขาเปิดเที่ยง แต่ไม่เป็นไรเราไปเดินเที่ยวเล่นในเมืองก่อนได้ ถึงตอนนี้ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปเดินโดยนัดว่ากลับมาเจอกันตอนเที่ยง

จากร้านนั้นเดินไปตามทางนี้เรื่อยๆนิดหน่อยก็จะไปถึงจตุรัสกลางเมือง



จตุรัสกลางเมือง น่าเดินเล่นมาก มีแผงขายของตั้งอยู่ประปราย







จากตรงนั้นเดินต่อไปอีกหน่อยก็จะเจอกับมหาวิหารลุนด์ ขนาดใหญ่โตสวยงามมากจริงๆ ที่สำคัญคือเป็นของเก่าแก่มาก



เลยจากมหาวิหารไปก็จะเป็นสวนสาธารณะลุนดาโกร์ด (Lundagård) เป็นสวนเล็กๆที่อยู่ระหว่างมหาวิหารกับอาคารหลักมหาวิทยาลัยลุนด์



ด้านหลังของมหาวิหาร ถ่ายจากสวน



อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลุนด์



อาคารนี้ชื่อว่าคุงสฮูเซต (Kungshuset) แปลว่าบ้านของพระราชา ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1578-1584 ในขณะที่แผ่นดินบริเวณนี้ยังเป็นของเดนมาร์ก ระยะแรกใช้เป็นบ้านของบิช็อปแห่งลุนด์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารของคณะปรัชญา



ถัดมาอาคารขาวๆสวยๆนี้เป็นอาคารหลักของมหาวิทยาลัยลุนด์





บ้านสวยๆแถวรอบๆบริเวณนั้น บรรยากาศดีมาก







จากนั้นเราก็เดินมุ่งหน้าต่อไปทางเหนือเพื่อจะไปให้ถึงส่วนหลักของมหาวิทยาลัยลุนด์ซึ่งต้องเลยไปอีกหน่อย




ตรงหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยจะเจอกับโบสถ์อีกแห่งซึ่งไม่ได้ใหญ่เท่ามหาวิหารลุนด์ โบสถ์นี้ชื่อโบสถ์อัลเฮลโกนา (Allhelgonakyrkan) แปลว่าโบสถ์แห่งนักบุญทุกคน



ข้างๆโบสถ์นี้มีประตูเล็กทางเข้ามหาวิทยาลัยอยู่เราก็เดินเข้าไปจากตรงนั้น ไม่ได้เข้าทางประตูใหญ่


ภาพภายในบริเวณมหาวิทยาลัย














นี่เป็นอาคารของภาควิชาดาราศาสตร์ จะเห็นว่ามีหอดูดาวอยู่ด้วย



ตรงตึกเขียนคำว่าอัสโตรโนมี (astronomi) เป็นภาษาสวีเดนแปลว่าดาราศาสตร์



จังหวะนั้นก็พบว่าเวลาเลยเที่ยงมาเสียแล้ว จึงคิดจะหาทางรีบกลับไปที่ร้านอาหรแล้ว ในตอนนั้นก็พอดีว่าเจอป้ายรถเมล์เลยคิดว่าถ้านั่งรถเมล์ไปน่าจะดีจะได้กลับไปถึงเร็ว แต่ปัญหาคือไม่รู้จะนั่งหมายเลขอะไรดี วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ภายในมหาวิทยาลัยจึงค่อนข้างเปลี่ยวไม่ค่อยมีใคร



แล้วก็เห็นคนแก่คนหนึ่งเหมือนจะมารอรถเมล์ก็เลยลองถามดู แต่ก็ได้คำตอบกลับมาสั้นๆว่า No English ทำเอาเราชะงักไปชั่วขณะ แม้จะได้ยินว่าคนสวีเดนเก่งภาษาอังกฤษพอสมควร แต่สำหรับคนแก่ๆบางคนแล้วอาจพูดไม่ค่อยได้


จังหวะนั้นเห็นอีกคนเดินผ่านมา ดูอายุน้อย น่าจะเป็นนักเรียน ก็เลยถามเขาเรื่องรถเมล์ เขาก็บอกว่าบอกไม่ถูกเหมือนกันแต่ให้ไปดูที่ป้ายหลักหน้ามหาวิทยาลัยดีกว่า ตรงนั้นจะมีรถผ่านเยอะกว่า แล้วเขาก็ชี้ให้เราเดินไป เราก็นึกขึ้นได้ว่าเรายังไม่ได้เห็นเลยว่าด้านหน้ามหาวิทยาลัยเป็นยังไงเพราะตอนเข้ามาเข้าประตูเล็ก เดินไปดูหน่อยก็ดี

ระหว่างทางก็ยังถ่ายภาพมหาวิทยาลัยไปพลางๆเรื่อยๆ








ไม่ช้าก็เดินมาถึงป้ายรถเมล์ ตรงนี้มีคนมารอรถเมล์เยอะเลย แต่พอมาถึงตรงนี้ก็รู้สึกเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา แบบว่าดูแผนที่แล้วเห็นว่าจากที่นี่ถ้าจะกลับไปก็แค่เดินทางไปตามถนนใหญ่ตรงไปเรื่อยๆก็จะกลับทางเดิม ถ้าเราวิ่งไปก็ไม่น่าจะนานเกินไป อาจช้าหน่อยไม่เป็นไร เผลอๆรอรถเมล์ก็อาจจะช้าเหมือนกัน



ว่าแล้วก็รีบวิ่งเพื่อจะกลับไป ไม่ได้เหนื่อยมากนักหรอกเพราะอากาศเย็นสบาย

ไม่นานก็กลับมาถึงลานกว้างกลางเมือง จากนั้นแล้วตรงไปอีกนิดก็กลับถึงร้านอาหารไทยที่นัดกันเอาไว้ เวลานั้นเที่ยงครึ่งแล้ว ช้าไปครึ่งชั่วโมงแต่คนอื่นก็ยังทานกันไม่เสร็จ ไม่เป็นไร



มื้อนี้ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ แต่จำได้ว่าอร่อยมากทีเดียวร้านนี้ แถมดูเหมือนเขาให้เราเยอะเป็นพิเศษด้วยคงเพราะเห็นว่าเป็นคนรู้จักกัน ก็เลยทำให้อิ่มมากเลย

หลังจากนั้นเราก็กลับไปยังสถานีรถไฟเพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังเชอเปินฮัมน์ (โคเปนเฮเกน) ซึ่งจะเล่าถึงในตอนต่อไป เป็นเมืองที่สวยงามมากอีกเมือง https://phyblas.hinaboshi.com/20140526



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> ศาสนสถาน >> โบสถ์
-- ท่องเที่ยว >> มหาวิทยาลัย
-- ต่างแดน >> ยุโรป >> สวีเดน
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ