พาโทโทริไปเที่ยวปราสาทเขมรท่ามกลางสายฝน
เขียนเมื่อ 2014/08/04 16:41
แก้ไขล่าสุด 2022/07/18 16:15
ช่วงวันหยุดวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา 10 - 13 กรกฎาคมที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองเสียมราฐของกัมพูชามา
ผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ก็เป็นผู้ชื่นชอบการเขียนบล็อกเช่นกันนั่นคือหนุ่มแทจ็อน และพี่โคค่อน แต่ละคนมีความสนใจในโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก
ลองมาคิดดูแล้วกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับไทยมาก แถมเมืองเสียมราฐนี้ก็อยู่ไม่ได้ห่างจากกรุงเทพฯมากนัก ใกล้ยิ่งกว่าเชียงใหม่เสียอีก แต่เรากลับเพิ่งจะมีโอกาสได้ไป ทั้งๆประเทศอื่นที่อยู่ไกลกว่าก็มีโอกาสได้ไปมาหลายแห่งแล้ว
เนื่องจากว่าภาระการเขียนเล่าอย่างละเอียดคงจะตกเป็นของหนุ่มแทจ็อนซึ่งเป็นผู้วางแผนทริปนี้ทั้งหมดและเป็นคนที่เก็บรายละเอียดมากที่สุด ดังนั้นทางนี้จึงตัดสินใจไม่เขียนอย่างละเอียด อย่างไรก็ตามจะเล่าในภาพรวมและเน้นเฉพาะตรงส่วนที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษ ส่วนที่ไม่มีอะไรก็คงจะข้ามๆ
เช่นเคยว่าเวลาไปประเทศไหนเราจะพยายามศึกษาภาษาของประเทศนั้นไว้บ้าง สำหรับภาษาเขมรนั้นเราได้มีโอกาสศึกษามาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี เพราะทีแรกเพื่อนชวนไปตั้งแต่ตอนนั้นแต่ก็ยกเลิกไป พอมาคราวนี้กลับได้รื้อฟื้นแผนการใหม่ด้วยเพื่อนกลุ่มใหม่ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีเพราะแผนคราวนี้ดูสมบูรณ์กว่าครั้งก่อนมากทีเดียว และได้ไปเที่ยวในหลายที่รวมถึงที่ไม่ค่อยมีคนไปด้วย
ภาษาเขมรใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก หลายคำใช้เหมือนกันมีรากศัพท์เดียวกันเลย ที่สำคัญคือระบบการเขียน อักษรเขมรก็ดัดแปลงมาจากทางอินเดียเช่นเดียวกับไทย ดังนั้นจึงสามารถเทียบเคียงกันได้โดยตรง เพียงแต่ไทยมีการเพิ่มเติมพยัญชนะเข้ามาเองเยอะพอสมควรจึงทำให้อักษรเยอะกว่า ส่วนอักษรเขมรนั้นมีอยู่ ๓๓ ตัว แต่จำนวนสระภาษาเขมรมีเยอะหลากหลายกว่า
การไปเที่ยวนี้ได้เห็นอักษรเขมรมากมายจนจำได้เกือบหมดแล้ว รวมทั้งได้ฟังการออกเสียงจากคนท้องถิ่นด้วย การฝึกภาษาที่ดีที่สุดยังไงก็คือการไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม หากตั้งใจจะเรียนภาษานี้จริงๆน่าจะไม่ยากที่จะพูดได้ เสียดายที่ไม่มีเวลาขนาดนั้น
ที่จริงหากลองพยายามฟังภาษาเขมรดูจะพบว่าหลายคำเหมือนจะฟังออก อย่างเช่นคำว่า "ปราสาท" เนี่ยเหมือนกันเลย เรียนรู้พวกคำที่เหมือนกันไว้บ้างก็ไม่เลวเหมือนกัน
สำหรับหน้านี้จะมีการพูดถึงชื่อสถานที่ต่างๆมากมายซึ่งเป็นภาษาเขมร โดยจะเรียกชื่อเป็นชื่อไทยเป็นหลัก แต่จะวงเล็บชื่อภาษาเขมรไว้ด้วย โดยเขียนเป็นตัวอักษรเขมรและตามด้วยเสียงอ่าน
ในนี้คงจะไม่อธิบายถึงภาษาเขมรโดยละเอียดเพราะมันคงจะไม่ใช่ประเด็น แต่ก็ขอกล่าวถึงข้อสังเกตไว้เล็กน้อย
- ชื่อภาษาไทยของสถานที่ต่างๆในภาษาเขมรมักจะได้มาจากการถอดคำแบบเทียบเคียงตัวอักษรตรงๆ แต่เสียงอ่านมักจะไม่ตรงกันเสียทีเดียวจึงต่างกันไป เช่น "วัดพระพรหมรัตน์" ถอดตรงตัวจากอักษรเขมรว่า វត្តព្រះព្រហ្មរ័ត្ន แต่ในภาษาเขมรจะอ่านว่า "วัดเปรียห์ปรมรวด"
- ตัวสะกด "ร" (រ) ในภาษาเขมรจะไม่ออกเสียงเลย เวลาทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษมักจะเห็นชื่อที่ r ต่อท้าย เช่น Angkor (អង្គរ) แต่ในภาษาเขมรมาตรฐานเสียง "ร" ที่เป็นตัวสะกดจะไม่มีการออกเสียงดังนั้นจึงขอเขียนเป็น "อ็องโก" เฉยๆแทนที่จะเป็น "อ็องโกร์" เพราะถ้ายังใส่ "ร์" อยู่คนทั่วไปก็จะนึกว่าต้องอ่านออกเสียงด้วยเหมือนในภาษาต่างประเทศอื่นๆ
- สระ "ะ" (ះ) มักเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็น h โดยออกเสียงเป็น "ห์" เหมือนกัน คือเป็นการปล่อยลมแรงๆท้ายพยางค์ เช่นพระ (ព្រះ) อ่านว่า "เปรียห์" คำว่า เกาะ (កោះ) อ่านว่า "เกาะห์"
- ตัวสะกด "ส" (ស) ก็อ่านออกเสียงเป็น "ห์" เช่นเดียวกันกับ "ะ" (ះ) แม้ว่าเวลาเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษจะยังเขียนเป็น s ก็ตาม เช่นคำว่า อากาศ (អាកាស) อ่านว่า "อากาห์"
เป้าหมายการเที่ยวของพวกเราครั้งนี้คือเสียมราฐและปราสาทขอมโบราณที่กระจายอยู่ในบริเวณรอบๆเมือง ไม่ได้ไปเมืองอื่นเลย เพราะแค่เสียมราฐที่เดียวก็มีที่เที่ยวมากมายจนแทบเวลาไม่พอแล้ว
เมืองเสียมราฐ หรือที่เรียกในภาษาเขมรว่าเสียมเรียบ (សៀមរាប) เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชา เนื่องจากมีปราสาทหินโบราณอยู่มากมายกระจายอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งสมัยก่อนเป็นเมืองซึ่งเรียกว่าพระนคร หรือเรียกในภาษาเขมรว่า อังกอร์ (អង្គរ, อ็องโก) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
เนื่องจากเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมากทำให้ค่าครองชีพในเมืองนี้สูงลิ่ว แพงกว่ากรุงเทพฯเสียด้วยซ้ำ รายได้หลักของคนเมืองนี้ก็มาจากการท่องเที่ยว
การเดินทางเที่ยวชมปราสาทต่างๆนั้นต้องอาศัยรถรับจ้าง อาจเป็นรถแท็กซีหรือรถสามล้อก็ได้ ซึ่งราคาก็แล้วแต่จะต่อรอง นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าบัตรเข้าชมปราสาทในย่านพระนครซึ่งก็มีแบบ ๑ วัน, ๓ วัน และ ๗ วัน สำหรับเราซึ่งไป ๔ วันนั้นซื้อบัตร ๓ วันกำลังดี โดยที่วันแรกเราก็เที่ยวในตัวเมืองไปก่อนแล้ว ๓ วันหลังเที่ยวปราสาทให้เต็มที่
การไปเที่ยวนี้สถานที่เที่ยวเกือบทั้งหมดเป็นปราสาทล้วนๆ มีแค่วันแรกที่แวะวัดและพิพิธภัณฑ์และเดินตามย่านร้านค้าและตลาดในเมือง ปราสาทแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ต่างกันออกไปดังนั้นแม้จะเที่ยวแต่ปราสาทตลอด ๓ วันก็ไม่ได้เบื่ออะไร ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นหรือสวีเดนก็แวะเที่ยวปราสาทเป็นสิบแห่งเหมือนกัน ปราสาทแต่ละที่ไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ควรรู้อย่างหนึ่งในการเที่ยวกัมพูชาก็คือหน่วยเงินที่เขาใช้นั้นมีอยู่หลากหลาย นอกจากจะใช้เงินเรียล (រៀល) ซึ่งเป็นสกุลเงินประจำชาติแล้ว เขาก็ยังใช้ดอลลาร์สหรัฐฯด้วย โดยถือว่า ๔๐๐๐ เรียล = ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระบบที่แปลกและค่อนข้างวุ่นวายทีเดียว นอกจากนี้แล้วเงินบาทไทยเขาก็รับเช่นกัน โดยบางร้านใช้บาทไทยแล้วอัตราแลกเปลี่ยนยังคุ้มกว่าจ่ายเป็นดอลลาร์สหรัฐฯหรือเรียลด้วย ต้องลองถามที่ร้านก่อนว่ารับเงินไหนอัตราดีก็ใช้เงินนั้น
ด้วยเหตุนี้การไปครั้งนี้จึงเตรียมเงินไปเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินบาท ไม่ได้เตรียมเงินเรียลไปเลยเพราะหาแลกค่อนข้างยากและไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดเที่ยวนี้รวมแล้วประมาณหมื่นกว่าบาท รวมค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก, ค่าจ้างรถ, ค่าอาหาร และค่าเค่าชมสถานที่เที่ยว ดูแล้วถูกกว่าไปเที่ยวกับทัวร์ แถมยังมีอิสระในการไปไหนมาไหนเองไม่ร้องรอคนเยอะ
ผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากการไปเที่ยวนี้ก็คือไปเอาแผ่นเกม ps vita อาเตอลีเยของโทโทริ ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งอาร์แลนด์ 2~(トトリのアトリエ 〜アーランドの錬金術士2〜, totori no atelier ~Arland no renkinjutsushi 2~) เนื่องจากว่าหนุ่มแทจ็อนเดินทางมาจากเชียงใหม่ เลยถือโอกาสขอยืมแผ่นเกมนี้จากเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่มา
ตลอดเที่ยวนี้ ๔ วันจึงใช้เวลาไปกับการเล่นเกมนี้ตอนช่วงพักหรือช่วงนั่งรถ เลยทำให้มีอะไรทำตลอดไม่ว่างเว้น ความทรงจำของเที่ยวนี้ก็เลยซ้อนทับกับเกมนี้ไปเลย
สถานที่หลายแห่งที่ได้ไปในเที่ยวนี้บรรยากาศก็เหมือนหลุดไปอยู่ในโลกแฟนตาซีจริงๆ เหมือนที่เจอได้ในเกม RPG เพราะฉะนั้นก็เลยดูเข้าบรรยากาศไม่น้อยเลย การที่ได้เล่น RPG ไปด้วยเที่ยวไปด้วยแบบนี้ไม่เลว
และเนื่องจากช่วงที่ไปเป็นฤดูฝน และบังเอิญว่าในช่วง ๔ วันที่เที่ยวอยู่นี้มีฝนตกหนัก ๓ วัน ทำให้ต้องหาที่หลบฝนระหว่างเที่ยว บ้างก็ในปราสาทบ้างก็จุดพักใกล้ๆ ดูเป็นการผจญภัยพอสมควรเหมือนกัน ระหว่างพักก็หยิบเกมขึ้นมาเล่นฆ่าเวลาได้ดี
วันแรก วันพฤหัสที่ 10 ก.ค. เราเดินทางโดยการบินไทยจากสนามบินดอนเมืองไปถึงสนามบินเสียมราฐตอนสิบเอ็ดโมงกว่า อาคารสนามบินที่นี่ดูแล้วคล้ายเรือนไทยสวยดีทีเดียว
ออกมารอสักพักคนขับรถสามล้อของทางโรงแรมก็มาหาเพื่อรับเราไปยังโรงแรม เราเข้าโรงแรมไปจัดของแล้วก็นั่งพักสักครู่ ระหว่างนั้นก็ลองเปิดเกมโทโทริขั้นมาเริ่มเล่น แต่ก็ได้แค่ดูฉากเริ่มต้นแล้วก็เพลงเปิด
บันทึกการเล่นมีเขียนลงไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140729
สักพักก็ออกมาเดินเที่ยวในเมือง สภาพในตัวเมืองเสียมราฐเป็นแบบนี้
ย่านตลาดและร้านค้า
ร้านหนังสือภาษาต่างประเทศ มีหนังสือภาษาต่างๆมากมาย
ทางเดินเลียบริมน้ำในเสียมราฐเต็มไปด้วยต้นไทรดูร่มรื่น
แวะวัดพระพรหมรัตน์ (វត្តព្រះព្រហ្មរ័ត្ន, วัดเปรียห์ปรมรวด) เป็นวัดที่สวยดี จะเห็นว่าวัดเขมรดูเผินๆอาจคล้ายวัดไทยแต่ดูดีๆจะเห็นว่าต่างกันพอสมควรเลย โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าถ้าแวะมาเสียมราฐละก็แวะมาชมวัดนี้ก็ไม่เลว อยู่ไม่ห่างจากย่านตลาดและร้านค้ามากนักเดินมาง่าย
จากนั้นเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์ (សារមន្ទីរជាតិអង្គរ, ซาระมวนตีเจียดอ็องโก) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมพวกวัตถุโบราณต่างๆ และอธิบายถึงประวัติศาสตร์ด้วย น่าเสียดายที่เขาห้ามถ่ายรูปด้านในก็เลยไม่มีรูปกลับมาฝาก
เดินในนั้นอยู่นานจนถึงห้าโมงเย็นก็เรียกรถสามล้อจากตรงนั้นเพื่อไปซื้อบัตรสำหรับเข้าชมพระนคร ๓ วันราคา ๔๐ ดอลลาร์ โดยที่ถ้าซื้อในช่วงนี้แล้วจะทำให้ตอนนี้สามารถเข้าไปชมดวงอาทิตย์ตกดินที่ปราสาทพนมบาแคง (ប្រាសាទភ្នំបាខែង, ปราสาทพนุมบาแคง) ซึ่งตั้งอยู่บนเขาได้โดยยังไม่นับเป็นวันแรก
คำว่าพนม (ភ្នំ, พนุม) แปลว่าภูเขา ความหมายนี้ในภาษาไทยก็ใช้เหมือนกันแต่ใช้น้อย ใช้แค่ในชื่อเฉพาะบางส่วนเช่นชื่อจังหวัดนครพนม ไม่ใช่คำที่ใช้โดยทั่วไปเท่าไหร่ แต่ในภาษาเขมรคำนี้เป็นคำที่ใช้โดยทั่วไป
ที่นี่เราได้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม แลกกับการต้องเบียดฝูงชนจำนวนมหาศาล
จากบนนี้สามารถมองเห็นปราสาทนครวัดได้จากมุมสูง
หลังพระอาทิตย์ตกดินเขาก็กลับเข้ามายังเมืองมาเดินในพับสตรีต (ផាប់ ស្ទ្រីត) ยามค่ำคืน
มื้อเย็นทานที่ร้าน temple balcony ซึ่งมีการแสดงนางอัปสรร่ายรำให้ชมฟรี การแสดงมีตั้งแต่สองทุ่มจนถึงสามทุ่มครึ่ง เราอยู่ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
กลับมายังมีเวลาเล่นโทโทริต่ออีกหน่อยเลยเล่นไปถึงตรงที่เริ่มออกผจญภัยรอบๆเมืองแล้ว
วันต่อมา วันศุกร์ที่ 11 ก.ค. เป็นการออกไปเที่ยวที่ไกล มื้อเช้าเริ่มต้นด้วยบะหมี่ง่ายๆ
วันนี้เราต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลเป็นชั่วโมง เนื่องจากระยะทางไกลมากเราจึงตัดสินใจใช้รถแท็กซีแทนที่จะใช้รถสามล้อ เพราะว่าสบายกว่า และเร็วกว่า แม้ว่าจะแพงกว่าก็ตาม
เนื่องจากเส้นทางไกลระหว่างอยู่บนรถเลยเล่นโทโทริต่อฆ่าเวลา ตรงนี้ไปถึงตอนที่โทโทริทะเลาะกับพี่สาวแล้วออกไปนอกเมืองแล้วเจอแมร์เวีย
การเที่ยวในวันนี้เริ่มจากเกาะแกร์ (កោះកេរ្ដិ៍ , เกาะห์เก) เป็นสถานที่เที่ยวแห่งเดียวที่อยู่ไกลออกไปนอกจังหวัดเสียมราฐ อยู่ในจังหวัดพระวิหาร หากเลยไปอีกหน่อยก็จะถึงปราสาทพระวิหาร แต่เราไม่ได้ไปถึงตรงนั้นเพราะไกลเกินไป
เกาะแกร์เคยเป็นเมืองหลวงอยู่ช่วงหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ได้สร้างสถาปัตยกรรมเอาไว้มากมาย เป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดแวะมาเที่ยวแม้จะค่อนข้างไกลก็ตาม
ภายในเกาะแกร์มีปราสาทอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญที่สุดก็คือปราสาทธม (ប្រាសាទធំ, ปราสาททม) ซึ่งมีลักษณะเป็นพีรามิด จะเห็นว่าไม่ต้องไปไกลถึงอียิปต์หรืออเมริกากลางก็สามารถเห็นพีรามิดได้แล้ว มันอยู่ใกล้เราแค่นี้เอง นี่แหละพีรามิดเขมร สามารถปีนขึ้นไปด้านบนได้ เขาทำบันไดไว้อย่างดี จากด้านบนทิวทัศน์สวย
คำว่า "ธม" (ធំ) นี้แปลว่า "ยิ่งใหญ่" ดูแล้วก็ยิ่งใหญ่สมชื่อจริงๆ
นอกจากส่วนพีรามิดแล้วซากปรักหักพังด้านหน้าพีรามิดก็ใหญ่พอสมควร และอาจเป็นเพราะที่นี่อยู่ไกลจากเสียมราฐมากและนี่ก็ยังเช้าอยู่ด้วยก็เลยไม่เจอนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นนอกจากเราเลย
นอกจากปราสาทธมแล้วที่นี่ยังประกอบไปด้วยปราสาทย่อยๆอีกหลายแห่งซึ่งเว้นระยะห่างกันในระยะที่สามารถเดินถึงกันได้ แต่เราให้รถมารับแล้วลงเป็นจุดๆดีกว่าเพื่อประหยัดแรงและจะได้ให้เขานำทาง
ปราสาทที่ไปมาได้แก่ปราสาทลึงค์ (ប្រាសាទលិង្គ, ปราสาทเลิง) คำว่า"ลึงค์" (លិង្គ) นั้นหมายถึงศิวลึงค์นั่นเอง คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตและใช้ทั้งในภาษาไทยและเขมรเหมือนกัน ภายในปราสาทนี้มีศิวลึงค์ขนาดใหญ่อยู่จึงเป็นที่มาของชื่อ
ปราสาทกระจับ (ប្រាសាទក្រចាប់, ปราสาทเกราะจับ) ปราสาทนี้มีจุดเด่นที่อาคารทรงจั่วและมีประตูที่วางเรียงต่อๆกันยาวจากด้านหน้าปราสาทไปจนด้านหลังสุด น่าเสียดายว่าตรงกลางปราสาทเป็นเนินสูงขึ้นมา ไม่เช่นนั้นจะสามารถมองทะลุจากประตูด้านหน้าสุดไปถึงหลังสุดได้ คำว่า "กระจับ" (ក្រចាប់, เกราะจับ) เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง ในภาษาเขมรก็เรียกไม่ต่างจากภาษาไทยแต่การออกเสียงต่างกันเล็กน้อย
ปราสาทบันทายปีจวน (ប្រាសាទបន្ទាយពីរជាន់, ปราสาทบ็อนเตียยปีจวน) จุดเด่นของที่นี่คือมีอาคารสองชั้น แต่สภาพมันดูไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่อยู่ในสภาพที่ใช้โครงสร้างไม้ค้ำยันอยู่ คำว่า "บันทาย" หรือ "บ็อนเตียย" (បន្ទាយ) แปลว่า"ป้อม" คำว่า "ปี" (ពីរ) แปลว่า "สอง" คำว่า "จวน" (ជាន់) แปลว่า "ชั้น" ชื่อปราสาทนี้จึงหมายถึงป้อมสองชั้นนั่นเอง
ปราสาทนางเขม่า (ប្រាសាទនាងខ្មៅ, ปราสาทเนียงคเมา) เป็นปราสาทที่มีเอกลักษณ์ตรงที่มีสีดำ คำว่า "เขม่า" หรือ "คเมา" (ខ្មៅ) ในภาษาเขมรมีความหมายว่า "ดำ" นั่นเอง ส่วนคำว่า "นาง" ในภาษาเขมรออกเสียงว่า "เนียง"
ปราสาทปรำ (ប្រាសាទប្រាំ, ปราสาทปราม) เป็นปราสาทที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ให้บรรยากาศเมืองโบราณที่อารยธรรมสูญหาย คำว่า "ปรำ" ในภาษาเขมรแปลว่า "ห้า" นั่นเพราะว่าปราสาทที่นี่มีอยู่ห้าปรางค์
ที่นี่เราได้เจอไกด์คนหนึ่งกำลังพูดภาษาฝรั่งเศสกับนักท่องเที่ยวอย่างคล่องแคล่ว ดูเหมือนว่าคนเขมรเองมีไม่น้อยที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้เนื่องจากเมื่อสมัยก่อนเขาเรียนบังคับเรียนในโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้หันมาเรียนภาษาอังกฤษกันแทนมากกว่า
นอกจากปราสาทที่เราได้ไปมาทั้งหมดนี้แล้วก็ยังมีปราสาทเล็กๆอีกหลายแห่งกระจายอยู่ในบริเวณ แต่ไม่ได้สำคัญมากเราเก็บเฉพาะที่หลักๆเท่านั้นพอแล้ว
ต่อมาเราไปที่บึงมาลา (បឹងមាលា, เบิงเมียเลีย) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเสียมราฐ แต่ว่าอยู่ไกลจากตัวเมืองไปพอสมควร เป็นปราสาทใหญ่ที่คาดว่าน่าจะเก่าแก่พอๆกับปราสาทนครวัด แต่ที่มาของปราสาทนี้ยังเป็นปริศนาเพราะไม่มีจารึกบันทึกไว้เลย
ทางเข้าด้านหน้าตัวปราสาท อยู่ในสภาพยับเยินจนไม่สามารถเข้าไปตรงๆได้ ต้องเดินอ้อม
ที่นี่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่เสียหายย่อยยับและไม่ได้รับการบูรณะให้ดีนัก ดูบรรยากาศแล้วให้ความรู้สึกเหมือนกับตอนที่ตะลุยด่านซากโบราณในเกม RPG
แอบคิดในใจว่าถ้าเป็นในเกมเราอาจต้องใช้ระเบิดเพื่อทำลายซากกำแพงหรือเสาบางส่วนเพื่อเปิดทางด้วย แต่ถ้าทำแบบนั้นที่นี่สงสัยคงโดนจับแน่เลย
ทางเดินภายในปราสาทไม่มีป้ายบอกชัดเจนเราจึงเดินไปเรื่อยๆตามสัญชาติญาณเหมือนมาผจญภัยจริงๆ เดินไปเดินมาสักพักทะลุออกมาด้านหลังปราสาทโดยไม่รู้ตัว แถวนั้นไม่เห็นนักท่องเที่ยวคนอื่นเลยดูวังเวงไม่น้อย
ที่เห็นเหมือนกิ่งไม้นี่ที่จริงมันคือหนอนซึ่งพลางตัวเก่งมาก เราเห็นมันขยับตัวเล็กน้อยจึงรู้ตัวพอลองเตะดูก็พบว่านิ่มๆ ดีที่ไม่เผลอเหยียบเข้าไม่งั้นคงแย่ พลางตัวเก่งเกินไปก็เป็นภัยแก่ตัวเหมือนกัน
หลังจากชมบึงมาลาเสร็จก็เดินทางต่อไปยังปราสาทกลุ่มโรลัวะ (រលួស, โรลัวห์) แถวนี้เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อนในยุคต้นๆของอาณาจักรเขมร ชื่อว่าเมืองหริหราลัย (ហរិហរាល័យ, หะริหะราลัย) ปราสาทในกลุ่มนี้จึงเรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในบรรดาปราสาทที่ได้ไปมาทั้งหมด
ประกอบไปด้วยปราสาทสามแห่งหลักๆคือปราสาทโลเลย (ប្រាសាទលលៃ, ปราสาทโลไล), ปราสาทบากอง (ប្រាសាទបាគង, ปราสาทบากง) และปราสาทพระโค (ប្រាសាទព្រះគោ, ปราสาทเปรียห์โก)
ปราสาทกลุ่มโรลัวะนั้นอยู่ไม่ไกลจากเมืองเสียมราฐมากนักหากเทียบกับเกาะแกร์และบึงมาลา วันนี้เราเที่ยวไล่จากที่ไกลมาใกล้
เริ่มจากปราสาทโลเลยตอนที่ไปกำลังซ่อมอยู่ก็เลยไม่ได้เห็นภาพสวยเท่าที่ควร และมองดูท้องฟ้าจะเห็นว่าฝนเริ่มตั้งเค้าเตรียมจะตกลงมาแล้ว
หลังจากจากนั้นรถก็พาเราไปส่งที่ปราสาทบากอง ตอนที่อยู่บนรถฝนก็เริ่มตกลงมาแล้ว พอลงจากรถจึงกางร่มเดิน แต่พอลงไปถึงหน้าปราสาทยังไม่ทันเข้าไปฝนก็เทกระหน่ำลงมาแบบหนักจนถึงขั้นกางร่มก็เอาไม่อยู่จึงรีบหาที่หลบฝนโดยด่วน
นี่คือที่กำลังที่ให้เราหลบฝนกันอยู่ตั้งนาน เป็นศาลาเล็กๆที่ดูร้างๆ ตั้งอยู่หน้าปราสาทพอดี ข้างในไม่มีที่นั่งอะไรเลยจึงต้องยืนหลบฝน ระหว่างนั้นเมฆคิวมูโลนิมบัสก็ปล่อยเสียงฟ้าผ่ามาเป็นระยะๆช่วยสร้างบรรยากาศที่น่ากลัวเป็นอย่างดี
ระหว่างหลบฝนจึงถือโอกาสหยิบโทโทริมาเล่นต่อ ช่วงนี้ไปถึงตรงที่ออกเดินทางสู่อาร์แลนด์แล้วสแตร์คมาช่วยไว้ตอนที่ถูกมอนสเตอร์โจมตี
ในขณะเดียวกันก็ลองทดสอบกล้องของ ps vita ดูสักหน่อย ก็พบว่าได้ภาพไม่ค่อยชัด น่าจะห่วยกว่ากล้องมือถืออีก ภาพนี้ถ่ายจากใต้ศาลาที่หลบฝนมองไปยังทางเข้าลานด้านหน้าปราสาทจากภาพนี้จะเห็นบรรยากาศ จะเห็นว่ามีรถจอดอยู่เหมือนจะรอให้ฝนหยุดตกแล้วถึงจะลงมากัน
ว่าไปแล้วถ้านี่เป็นเกม RPG ละก็ไม่เคยเห็นเกมไหนที่มีฉากติดฝนเลย ดังนั้นที่หลบฝนคงเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับโลกแห่งเกม RPG บางเกมฝนตกก็ออกไปตากฝนสบายๆไม่สะทกสะท้าน แต่นี่เป็นโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าออกไปตากคงเป็นหวัด และที่สำคัญกว่าก็คือกลัวกล้องพัง
สักพักฝนก็เบาลง พวกเราก็เลยตัดสินใจเดินออกจากที่หลบฝนเพื่อเข้าไปในปราสาท แต่แล้วขณะที่เดินผ่านทางเดินหน้าปราสาทไปจนถึงหน้าตัวปราสาทแล้วฝนก็กระหน่ำแรงขึ้นมาอีก จนต้องหาที่หลบฝนต่อ คราวนี้ไปหลบที่วัดเล็กๆซึ่งอยู่ข้างๆปราสาท ที่นี่สามารถนั่งลงกับพื้นเพื่อพักได้
ตรงนี้เลยเล่นต่อจนเจอฉากที่คูเดเรียทะเลาะกับมิมิ หลังจากนั้นพวกโทโทริก็ได้ใบอนุญาตนักผจญภัยแล้วกลับหมู่บ้านไป
พักอยู่ตรงนี้สักพักจนถึงประมาณสี่โมงเย็นฝนก็ยังไม่หยุดตกแต่ก็เริ่มซาลงแล้วจึงตัดสินใจเดินออกไป ปราสาทบากองที่ชุ่มไปด้วยสายฝนกลับดูแล้วสวยงามกว่าปกติ
ได้เห็นผู้คนที่เดินกางร่มเที่ยวแบบนี้ก็ได้บรรยากาศที่รู้สึกดีไปอีกแบบ
ด้านบนปราสาทบากองมีกล่องรับบริจาคซึ่งบนกล่องเขียนเป็นอักษรเขมรว่า ពុទ្ធបូជា ซึ่งเทียบเป็นอักษรไทยว่า "พุทธบูชา" แต่อ่านว่า "ปุตทะบูเจีย" ดูไปก็คล้ายๆกันจริงๆ
เสร็จจากปราสาทบากองเราก็มาต่อกันที่ปราสาทพระโค ปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่ม สายฝนยังคงไม่หยุดโปรยปรายลงมาแต่ก็เบาลงบ้าง ผู้คนต่างกางร่มเดินกัน
ที่ขอบประตูของปราสาทพระโคมีศิลาจารึกเป็นอักษรเขมรโบราณอยู่ด้วย ดูแล้วสวยดี
เมื่อเดินเที่ยวปราสาทพระโคจบก็จบการเที่ยวในวันนี้ รถแท็กซีพาเรากลับมาส่งที่โรงแรมโดยสวัสดิภาพ
ตอนกลางคือเล่นโทโทริต่อจนถึงตอนที่ได้เลื่อนขั้นเป็นครั้งแรก https://phyblas.hinaboshi.com/20140731
วันต่อมา วันเสาร์ที่ 12 ก.ค. เป็นการเที่ยวปราสาทที่อยู่ใกล้ๆ หลังจากที่เมื่อวานไปที่ไกลๆมาหมดแล้ว โดยพาหนะที่ใช้ในวันนี้เราใช้รถสามล้อเนื่องจากไม่ไกล รถสามล้อที่นั่งนี้เป็นคนที่ทำงานกับโรงแรม ทางโรงแรมช่วยติดต่อให้ และเขาก็เป็นคนเดียวกับที่ไปรับเราจากสนามบินด้วย
ยามเช้าเราเดินเล่นเรื่อยเปื่อยในเมืองก่อนออกเดินทาง ฟ้ายามเช้าสวยแต่ก็ส่อเค้าว่าจะมีฝนตกตอนบ่ายอีกแล้ว
เช้านี้เราเริ่มกันที่ปราสาทบันทายสรี (ប្រាសាទបន្ទាយស្រី, ปราสาทบ็อนเตียย-สเรย) ซึ่งเป็นปราสาทที่อยู่นอกเขตพระนคร มีขนาดไม่ใหญ่โตแต่มีจุดเด่นตรงที่สีของหินที่ใช้ซึ่งเป็นหินทรายสีชมพูจากเขาพนมกุเลน และลวดลายของตัวปราสาทก็ดูสวยงามอ่อนช้อย คำว่า "สรี" หรือ "สเรย" นั้นแปลว่า "ผู้หญิง" ดังนั้นชื่อของปราสาทนี้จึงหมายถึงป้อมสตรี ฝนเมื่อวานทำให้บรรยากาศยังดูเฉอะแฉะ
หลังจากเที่ยวปราสาทบันทายสรีเสร็จที่เหลือก็เป็นปราสาทที่อยู่ในเขตพระนคร ซึ่งมีอยู่หลายแห่งมาก
เริ่มจากปราสาทแม่บุญตะวันออก (ប្រាសាទមេបុណ្យខាងកើត, ปราสาทเมบนคางเกิด) เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นภายในบารายตะวันออก (បារាយណ៍ខាងកើត, บารายคางเกิด) ซึ่งปัจจุบันแห้งเหือดไปแล้ว ต่างจากบารายตะวันตกซึ่งปัจจุบันยังมีน้ำอยู่เต็มที่ และปราสาทแม่บุญตะวันตกก็เป็นเกาะลอยอยู่กลางน้ำ
อนึ่ง จะเห็นว่าคำว่า "ตะวันออก" ในภาษาเขมรใช้คำว่า "คางเกิด" ก็คือ "ข้างเกิด" นั่นเอง เพียงแต่ภาษาเขาไม่มีวรรณยุกต์ คงเพราะตะวันออกเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น
เราได้แวะหาอะไรง่ายๆทานก่อนที่จะเข้าไปในปราสาท ที่นี่เราได้เจอกับคนเขมรที่มีเชื้อสายไทยและพูดไทยได้คล่องอยู่ด้วย
ทิวทัศน์ที่เห็นระหว่างนั่งบนรถสามล้อ ท้องฟ้าขณะนั้นเห็นทั้งเมฆคิวมูลัสและเมฆอัลโตคิวมูลัสเต็มไปหมด ส่อเค้าว่าบ่ายนี้อาจจะต้องเจอฝนตกอีก
ต่อมาไปที่ปราสาทแปรรูป (ប្រាសាទប្រែរូប, ปราสาทปรายรูบ) ซึ่งอยู่ข้างๆกัน เป็นปราสาททรงพีรามิด มีฐานเป็นขั้นบันไดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ที่ยอดบนสุดสามารถเห็นทิวทัศน์ได้สวยมาก เหมาะแก่การมาดูอาทิตย์ตกดิน
ถัดมาเรามาต่อกันที่สระสรง (ស្រះស្រង់, สระห์สร็อง) เป็นอ่างเก็บน้ำที่ขุดขึ้น เป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงาม และเนื่องจากตำแหน่งที่ติดกับถนนอยู่ทางตะวันตก จึงเห็นสระสรงอยู่ทางตะวันออก เหมาะแก่การมาดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า เดิมที่พวกเราวางแผนว่าวันนี้จะมาชมดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า แต่เนื่องจากเที่ยวเหนื่อยกันเมื่อวานแล้วขี้เกียจตื่นเช้ากันก็เลยตัดสินใจออกสายๆไปเลย
ข้างๆสระสงค์มีปราสาทอยู่แห่งหนึ่ง นั่นคือปราสาทบันทายกเดย (ប្រាសាទបន្ទាយក្តី, ปราสาทบ็อนเตียย-กเดย) เป็นปราสาทที่มีรูปแกะสลักตามผนังที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่มากมาย
ใกล้ๆกันนั้นคือปราสาทตาพรหม (ប្រាសាទតាព្រហ្ម, ปราสาทตาปรม) ซึ่งเป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่มีจุดเด่นตรงที่ตัวอาคารเต็มไปด้วยต้นไม้ขึ้นปกคลุมทำให้เห็นสภาพตัวปราสาทที่ถูกต้นไม้กลืนกิน ดูกลมกลืนกับธรรมชาติสวยงามมากกว่าที่ไหนๆ จึงเป็นปราสาทที่พลาดไม่ได้แห่งหนึ่ง
จังหวะที่เดินเข้าไปในปราสาทตาพรหมก็พบว่าฝนเริ่มเทกระหน่ำลงมา นั่นทำให้พวกเราต้องรีบวิ่งเข้าไปยังใต้ตัวปราสาทเพื่อหลบฝน
เราต้องเสียเวลาหลบฝนอยู่ในปราสาทนานพอสมควร ระหว่างนั้นก็ถือโอกาสหยิบโทโทริมาเล่นสักหน่อย ตรงนี้ถึงช่วงที่เรื่อยเปื่อยผสมไอเท็มส่งเควสไปเรื่อยๆ
หลังจากรอสักพักฝนก็หยดตก เราก็เดินเที่ยวในบริเวณปราสาทต่อ บรรยากาศในนี้สวยงามมาก รากไม้และปราสาทดูเข้ากันได้เป็นอย่างดี
ต่อมาไปที่ปราสาทตาแก้ว (ប្រាសាទតាកែវ, ปราสาทตากาวย์) เป็นปราสาททรงพีรามิดอีกแห่ง แต่เป็นปราสาทที่สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์โดยไม่ทราบสาเหตุ บางส่วนจึงดูไม่สมบูรณ์
บันไดทางขึ้นปราสาทนี้สูงชันค่อนข้างอันตรายทีเดียว การทำบันไดให้สูงชันแบบนี้ทำให้คนต้องก้มหน้าขณะเดินขึ้น เหมือนเป็นอุบายทำให้คนต้องสำรวมก้มคารวะเทพเจ้าไปในตัว เราเดินขึ้นบนยอดด้วยความเหนื่อยล้าอ่อนแรงเต็มที่เพราะเที่ยวมาหลายปราสาทแล้ว อันนี้เป็นอันท้ายๆแล้ว
ข้างๆปราสาทตาแก้วจะเห็นมุมเล็กๆที่ดูเงียบๆไม่เตะตานักท่องเที่ยว ตรงนี้เป็นที่ตั้งของอโรคยศาลา หมายถึงโรงพยาบาลที่อยู่ตามข้างทาง ดูแล้วคล้ายกับจุดแวะพักกลางป่าที่มักเจอในเกม RPG
ระหว่างทางนั่งรถผ่านสเปียนทมอ (ស្ពានថ្ម, สเปียนทมอ) ซึ่งเป็นสะพานหินโบราณที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านที่สำคัญในสมัยก่อน คำว่า "สเปียน" (ស្ពាន) แปลว่า "สะพาน" ส่วน "ทมอ" (ថ្ម) แปลว่า "หิน"
ถัดมาเราไปที่ปราสาทเจ้าสายเทวดา (ប្រាសាទចៅសាយទេវតា, ปราสาทเจาสายเตเวียะตา) ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ระเบียงทางเดินยาวซึ่งอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างจะดูสมบูรณ์
แล้วก็เดินไปฝั่งตรงข้ามกันจะเป็นปราสาทธมมานนท์ (ប្រាសាទធម្មនន្ទ, ปราสาททมเมียะนน) เป็นปราสาทเล็กๆอีกแห่ง ชื่อภาษาไทยบางทีก็เรียกว่า "ธรรมานนท์" เพราะคำว่า "ธมมะ" ในภาษาเขมรก็ตรงกับคำว่า "ธรรมะ" นั่นเอง
จบแล้ว เดินทางกลับ ระหว่างทางทะลุผ่านนครธมด้วย ทำให้ได้เห็นคร่าวๆก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมาเดินชมจริง
ทานข้าวมื้อเย็นที่โรงแรม เป็นอันจบวันที่เหนื่อยสุดๆลงเท่านี้
ช่วงกลางคืนเล่นโทโทริไปถึงตรงที่ได้มาร์คมาเป็นพวกแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20140802
วันต่อมา วันอาทิตย์ที 13 ก.ค. เป็นการเที่ยววันสุดท้าย
ตอนเช้าเราออกมาเพื่อเที่ยวปราสาทนครวัดหรือที่เรียกในภาษาเขมรว่าอังกอร์วัด (អង្គរវត្ត, อ็องโกวัด) ซึ่งเป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดภายในพระนครแห่งนี้ และถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
พอเดินข้ามคูที่ล้อมปราสาทอยู่และผ่านตัวอาคารชั้นนอกสุดมาแล้วก็จะเจอกับอาคารล้อมชั้นในอีกชั้นซึ่งมีระเบียงทางเดินยาว ตลอดทางเดินเต็มไปด้วยภาพวาดสลักอยู่อย่างสวยงาม ภาพสลักแต่ละส่วนบรรยายเรื่องราวต่างๆไม่ซ้ำกัน พวกเราเดินวนดูภาพสลักจนครบรอบใช้เวลาไปพอสมควร
เนื่องจากกว้างมากทำให้ต้องเดินไปพักไป ระหว่างนั้นก็มีหยิบโทโทริขึ้นมาเล่นขณะพักบ้าง กำลังใช้เวลาทำเควสไปเรื่อยๆ
เมื่อเดินวนครบรอบเสร็จเราก็เดินต่อเข้าไปด้านใน ผ่านอาคารที่ปิดล้อมอีกชั้นจนมาถึงตัวอาคารด้านในสุด ซึ่งมีความสูงมากที่สุดและมีการควบคุมนักท่องเที่ยวให้แต่งกายสุภาพก่อนที่จะเดินขึ้นไป มีฝรั่งผู้หญิงคนหนึ่งสวมกระโปรงสั้นกว่าเข่าถูกห้ามไม่ให้ขึ้นไป
ขึ้นมาถึงด้านบนแล้วเดินจนทั่วเสร็จก็ขอนั่งพักสักหน่อย หยิบโทโทริขึ้นมาเล่นอีก วันนี้เราดูจะนั่งพักบ่อยเป็นพิเศษ ไม่แปลกเพราะเหนื่อยค้างมาจากวันก่อนๆอยู่แล้ว และสถานที่เที่ยววันนี้เป็นปราสาทขนาดใหญ่ซึ่งต้องเดินต่อเนื่องที่ละหลายชั่วโมง ไม่ใช่ปราสาทย่อยๆที่เดินแค่ที่ละชั่วโมงกว่าหรือไม่ถึงชั่วโมงแบบวันก่อนๆ
ตอนที่กำลังจะออกจากนครวัดปรากฏว่าฝนตกหนักลงมา แต่ก็เป็นแค่ฝนไล่ช้างซึ่งเกิดจากเมฆคิวมูลัสก่อนใหญ่ที่เคลื่อนผ่านมาเท่านั้น ไม่นานก็หายไป แต่นี่เป็นแค่โหมโรงเท่านั้น
หลังจากนั้นไปต่อกันที่นครธมหรือที่เรียกในภาษาเขมรว่าอังกอร์ธม (អង្គរធំ, อ็องโกทม) ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรเขมร เป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยคูน้ำรวมพื้นที่ ๙ ตร.กม. ที่ส่วนใจกลางของนครธมมีปราสาทที่น่าสนใจอยู่มากมาย
เริ่มจากปราสาทบายน (ប្រាសាទបាយ័ន, ปราสาทบายวน) ซึ่งมีชื่อเสียงจากรูปสลักหน้าคนขนาดใหญ่ที่กำลังยิ้มอยู่บนยอดปราสาท เป็นที่มาของคำว่า "ยิ้มแบบบายน" คือยิ้มแบบดูมีเมตตาแต่เต็มไปด้วยความรู้สึกลึกลับ เป็นต้นแบบของศิลปะแบบบายนซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของอาณาจักรเขมร
เราเริ่มเดินจากรอบๆปราสาทซึ่งก็มีอะไรให้ดูมากมายเหมือนที่นครวัด ผนังของตัวปราสาทเต็มไปด้วยภาพสลักซึ่งหากดูโดยละเอียดจะต้องใช้เวลามาก
เดินเหนื่อยก็มีหยุดพัก ก็หาที่ร่มๆนั่ง ระหว่างนั้นก็หยิบโทโทริขึ้นมาเล่นต่ออีกหน่อย
จากนั้นเราขึ้นด้านบนซึ่งจะเห็นใบหน้าขนาดใหญ่นี่ได้อย่างชัดเจน นี่ล่ะรอยยิ้มแบบบายน
ตรงนี้ก็พอหาที่นั่งพักได้อีกหน่อยขอเอาโทโทริมาถ่ายคู่กับใบหน้าเหล่านี้
เมื่อเดินในปราสาทบายนเสร็จก็ต่อด้วยปราสาทบาปวน (ប្រាសាទបាពួន, ปราสาทบา-ปวน) เป็นปราสาททรงพีระมิด ฐานเป็นขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นแบบอย่างของศิลปะแบบบาปวน
แล้วต่อด้วยปราสาทพิมานอากาศ (ប្រាសាទភិមានអាកាស, ปราสาทพิเมียนอากาห์) เป็นปราสาทอีกแห่งที่มีฐานเป็นพีรามิดสูงชันแต่ขนาดเล็กกว่า
เดินต่อมาก็ถึงลานช้าง (ព្រះលានជល់ដំរី, เปรียห์เลียนจลดำเรย) เป็นระเบียงยาวที่มีรูปสลักช้างอยู่ที่ฐาน ขณะเดินอยู่แถวนั้นเมฆฝนฟ้าคะนองก็เริ่มตั้งเค้ามาอีกแล้ว
คนขับรถสามล้อมารับเราตรงนี้เพื่อนัดเดินทางไปต่อที่ปราสาทพระขรรค์ (ប្រាសាទព្រះខ័ន, ปราสาทเปรียห์คัน) ซึ่งเป็นปราสาทที่มีขนาดพอสมควรอีกแห่งซึ่งอยู่นอกเขตนครธมแต่ไม่ไกลกันมากนัก
ในขณะที่เดินอยู่มองฟ้าก็รู้ว่าฝนเตรียมจะเทกระหน่ำลงมาในไม่ช้าเราจึงเดินในนี้กันอย่างรีบๆ แล้วในไม่ช้าฝนก็ตกลงมาจริงๆ และหนักขึ้นเรื่อยๆ พวกเราต้องกางร่มเดินแต่ก็ยังคงพยายามเดินต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของปราสาทพระขรรค์ก็คืออาคารสองชั้นที่มีเสาซึ่งดูคล้ายศิลปะแบบกรีก นี่เป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนต้องมาเยี่ยมชมปราสาทแห่งนี้ ที่มาของชื่อปราสาทพระขรรค์ก็เพราะคนเข้าใจว่าตรงนี้เป็นสถานที่เก็บพระขรรค์ (ดาบ) นั่นเอง ขณะที่เราหาตรงนี้เจอก็เปียกชุ่มไปด้วยฝนแล้ว
หลังจากนั้นฝนก็ตกหนักขึ้นเรื่อยๆจนเราต้องรีบเดินออกจากปราสาทเพื่อจะไปขึ้นรถสามล้อ คนขับสามล้อรอเราอยู่ที่ประตูทางออกอีกทางของปราสาทพระขรรค์
ความจริงเรามีเป้าหมายอีกแห่งที่อยากไปชมคือปราสาทนาคพัน (ប្រាសាទនាគព័ន្ធ, ปราสาทเนียกปวน) ซึ่งเป็นปราสาทเล็กที่ลอยอยู่กลางน้ำไม่ห่างไปจากปราสาทพระขรรค์นัก แต่เนื่องจากฝนที่กระหน่ำลงมาทำให้ต้องตัดใจเดินทางกลับทันที ภายในสามล้อที่เรานั่งนั้นมีม่านปิดสำหรับกันฝนได้ แต่ตรงที่นั่งคนขับไม่มีมี่กันฝนทำให้เขาต้องเปียกไปทั้งตัวขณะขับจนเป็นห่วงว่าเขาอาจเป็นหวัดได้ พวกเราเห็นความตั้งใจของเขาตรงนี้จึงตัดสินใจให้เงินเพิ่มพิเศษกับเขาไปด้วย
แต่ก็พบว่าขณะที่เรากำลังเดินทางกลับอยู่ระหว่างทางนั้นฝนก็ได้หยุดตกลง แต่ช้าไปแล้วเพราะตัดสินใจจะกลับไปแล้วคงไม่ย้อนกลับไปอีก ถือว่าไม่เป็นไรได้มาเห็นเท่านี้ก็คุ้มค่าแล้ว
ขากลับเดินทะลุผ่านนครธมอีกครั้ง จึงได้ถือโอกาสถ่ายภาพประตูทิศใต้ของนครธมในขณะที่รถกำลังวิ่งผ่าน
หลังจากกลับไปถึงโรงแรมที่พักแล้วก็ทานมื้อเย็นและอาบน้ำแล้วก็เก็บข้าวของเพื่อเดินทางกลับ เที่ยวสี่วันนี้สนุกและคุ้มค่ามาก
ขณะที่เราเที่ยวในเสียมราฐ ๔ วัน เวลาของโทโทริในเกมก็เดินไปเกือบ ๒ ปี โทโทริเกือบจะได้เลื่อนขั้นถึงขั้นที่ ๕ แล้ว เวลาที่สนุกมักจะผ่านไปเร็วเสมอ
เครื่องบินมาส่งถึงสนามบินดอนเมืองตอนเกือบห้าทุ่ม ขณะนั้นฝนยังคงกระหน่ำโปรยปรายก็เลยนั่งแท็กซีกลับบ้าน เที่ยวนี้เรียกได้ว่ามากับสายฝนจริงๆเกือบจะตลอดเลย แต่โชคดีที่รอดกลับมาได้โดยไม่เป็นวัดเลยสักนิด
จบการเขียนเล่าเรื่องแต่เพียงเท่านี้ ความจริงมีรายละเอียดมากมายแต่ขอเล่าแค่เพียงคร่าวๆเพื่อให้จบได้ภายในตอนเดียว ใครอยากอ่านรายละเอียดกว่านี้สามารถรออ่านที่เขียนเล่าโดยหนุ่มแทจ็อน
ท้ายสุดนี้ขอสรุปรวบยอดรายชื่อของสถานที่ที่ได้ไปมาทั้งหมด
เสียมราฐ (សៀមរាប, เสียมเรียบ)
- วัดพระพรหมรัตน์ (វត្តព្រះព្រហ្មរ័ត្ន, วัดเปรียห์ปรมรวด)
- พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์ (សារមន្ទីរជាតិអង្គរ, ซาระมวนตีเจียดอ็องโก)
- พับสตรีต (ផាប់ ស្ទ្រីត, พับสตรีต)
ปราสาทพนมบาแคง (ប្រាសាទភ្នំបាខែង, ปราสาทพนุมบาแคง)
เกาะแกร์ (កោះកេរ្ដិ៍ , เกาะห์เก)
- ปราสาทธม (ប្រាសាទធំ, ปราสาททม)
- ปราสาทลึงค์ (ប្រាសាទលិង្គ, ปราสาทเลิง)
- ปราสาทกระจับ (ប្រាសាទក្រចាប់, ปราสาทเกราะจับ)
- ปราสาทบันทายปีจวน (ប្រាសាទបន្ទាយពីរជាន់, ปราสาทบ็อนเตียยปีจวน)
- ปราสาทนางเขม่า (ប្រាសាទនាងខ្មៅ, ปราสาทเนียงคเมา)
- ปราสาทปรำ (ប្រាសាទប្រាំ, ปราสาทปรำ)
บึงมาลา (បឹងមាលា, เบิงเมียเลีย)
โรลัวะ (រលួស, โรลัวะห์)
- ปราสาทโลเลย (ប្រាសាទលលៃ, ปราสาทโลไล)
- ปราสาทบากอง (ប្រាសាទបាគង, ปราสาทบากง)
- ปราสาทพระโค (ប្រាសាទព្រះគោ, ปราสาทเปรียห์โก)
ปราสาทบันทายสรี (ប្រាសាទបន្ទាយស្រី, ปราสาทบ็อนเตียย-สเรย)
ปราสาทแม่บุญตะวันออก (ប្រាសាទមេបុណ្យខាងកើត, ปราสาทเมบนคางเกิด)
ปราสาทแปรรูป (ប្រាសាទប្រែរូប, ปราสาทปรายรูบ)
สระสรง (ស្រះស្រង់, สระห์สร็อง)
ปราสาทบันทายกเดย (ប្រាសាទបន្ទាយក្តី, ปราสาทบ็อนเตียย-กเดย)
ปราสาทตาพรหม (ប្រាសាទតាព្រហ្ម, ปราสาทตาปรม)
ปราสาทตาแก้ว (ប្រាសាទតាកែវ, ปราสาทตากาวย์)
อโรคยศาลา
สเปียนทมอ (ស្ពានថ្ម, สเปียนทมอ)
ปราสาทเจ้าสายเทวดา (ប្រាសាទចៅសាយទេវតា, ปราสาทเจาซายเตเวียะตา)
ปราสาทธมมานนท์ (ប្រាសាទធម្មនន្ទ, ปราสาททมเมียะนน)
นครวัด (អង្គរវត្ត, อ็องโกวัด)
นครธม (អង្គរធំ, อ็องโกทม)
- ปราสาทบายน (ប្រាសាទបាយ័ន, ปราสาทบายวน)
- ปราสาทบาปวน (ប្រាសាទបាពួន, ปราสาทบา-ปวน)
- ปราสาทพิมานอากาศ (ប្រាសាទភិមានអាកាស, ปราสาทพิเมียนอากาห์)
- ลานช้าง (ព្រះលានជល់ដំរី, เปรียห์เลียนจลดำเรย)
ปราสาทพระขรรค์ (ប្រាសាទព្រះខ័ន, ปราสาทเปรียห์คัน)
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ