φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



วัดต้าจง พิพิธภัณฑ์ระฆังโบราณ
เขียนเมื่อ 2015/03/18 09:57
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 17 มี.ค. 2015

ช่วงนี้กำลังปั่นวิทยานิพนธ์ ตอนนี้ถือว่าใกล้จะเสร็จแล้วก็เลยสบายใจขึ้นมาหน่อย ออกไปเที่ยวที่ใกล้ๆเป็นการผ่อนคลายสักหน่อย

ครั้งนี้แวะมาที่วัดต้าจง (大钟寺) ซึ่งเป็นวัดชื่อดังแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ที่นี่อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในปักกิ่งจึงเดินทางมาได้ง่าย

ความจริงแล้วที่นี่แม้จะเรียกว่าเป็นวัดแต่ว่าปัจจุบันนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นวัดในความหมายจริงๆ แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ระฆังโบราณ (古钟博物馆) ภายในจัดแสดงระฆังมากมาย แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือระฆังใหญ่หย่งเล่อ (永乐大钟)

ระฆังใหญ่หย่งเล่อ  ขนาด ๖.๗๕ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๓.๓ เมตร หนัก ๔๖.๕ ตัน
ตัวระฆังทำจากสำริด มีขนาดเล็กกว่าระฆังที่แท่นบูชาศตวรรษแห่งจีน (中华世纪坛) ที่เคยไปมาอยู่เล็กน้อย https://phyblas.hinaboshi.com/20111111

คำว่าต้าจงซึ่งเป็นชื่อของวัดนี้ก็แปลว่า "ระฆังใหญ่" เป็นชื่อที่คนนิยมเรียกเนื่องจากวัดนี้มีระฆังขนาดใหญ่ แต่ว่าแรกเริ่มวัดนี้มีชื่อเดิมว่าวัดเจวี๋ยเซิง (觉生寺)

วัดเจวี๋ยเซิงสร้างขึ้นเมื่อปี 1733 ซึ่งเป็นสมัยของจักรพรรดิยงเจิ้ง (ปี 1723 - 1735) แห่งราชวงศ์ชิง อย่างไรก็ตามตัวระฆังถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1420 - 1424 ซึ่งเป็นสมัยของจักรพรรดหย่งเล่อ (ปี 1403 - 1424) แห่งราชวงศ์หมิง ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าระฆังหย่งเล่อ เดิมที
ตั้งแต่ปี 1607 ระฆังนี้ถูกตั้งอยู่ที่วัดว่านโซ่ว (万寿寺) ต่อมาหลังจากที่วัดเจวี๋ยเซิงสร้างเสร็จระฆังจึงถูกย้ายมาไว้ที่วัดเจวี๋ยเซิงในปี 1751



การเดินทางมาวัดต้าจงสามารถมาได้โดยนั่งรถเมล์มาลงที่ป้ายต้าจงซื่อ (大钟寺) หากจะนั่งรถไฟฟ้ามาก็ทำได้ แต่ว่าวัดนี้ไม่ได้อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าต้าจงซื่อ (城铁大钟寺站) แม้มันจะชื่อว่าสถานีต้าจงซื่อแต่จริงๆมันอยู่ห่างออกไปจากตัววัดอีกหน่อยนึง หากนั่งรถไฟฟ้ามาลงเพื่อมาที่นี่ก็ต้องเดินอีกไปอีกระยะนึง ถ้าไม่ขยันเดินก็สามารถนั่งรถเมล์มาได้จากสถานี ระยะห่าง ๑ ป้ายรถเมล์

หากนั่งรถเมล์มาจากทางฝั่งสถานีรถไฟฟ้าก็จะมาลงตรงใกล้หน้าประตูทางเข้าวัด ก่อนเข้าต้องซื้อตั๋วซึ่งอยู่ตรงหน้าก่อน ค่าเข้าชมสถานที่คือ ๒๐ หยวน แต่เรามีบัตรนักเรียนจึงลดครึ่งราคาเหลือ ๑๐ หยวน ถือว่าถูกดีและคุ้มทีเดียว



อาคารป้อมประตูด้านหน้าสุดซึ่งเรียกว่าซานเหมิน (山门) เป็นทางเข้าด้านในวัด แต่ว่าประตูตรงนี้ปิดไว้ ทางเข้าที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าจริงๆอยู่ด้านข้าง



เมื่อเข้ามาด้านในจะเห็นตัวอาคารอยู่มากมาย มีทั้งอาคารย่อยที่อยู่ตรงกลางบริเวณ แวะอาคารด้านข้างซึ่งวางตัวเรียงยาวด้านซ้ายขวา (ตะวันตกกับตะวันออก) นี่คืออาคารเล็กที่เจอเป็นหลังแรก



ภายในโล่งๆ แค่ที่ผนังด้านหนึ่งมีติดคำอธิบายเกริ่นนำสั้นๆเกี่ยวกับระฆังจีน และมีเสียงบรรยาย เหมือนเป็นห้องให้นั่งเล่นๆก่อนจะเริ่มไปชมอะไรๆในห้องต่อๆไป



ส่วนที่พื้นมีแผนที่แสดงว่าถ้าเอาวัดต้าจงแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง สถานที่สำคัญต่างๆของปักกิ่งมีอะไรอยู่รอบๆบ้าง จะเห็นว่าที่นี่ห่างจากพระราชวังต้องห้าม (故宫) ไป ๗.๕ กม.





มาดูที่อาคารด้านตะวันตก ตรงนี้เป็นที่ขัดแสดงประวัติของวัดแห่งนี้ มีแบบจำลองขนาดเล็กๆให้ดู ในภาพนี้เป็นแบบจำลองขณะที่จักรพรรดิเฉียนหลงเข้ามาทำพิธีขอฝน



วัตถุโบราณบางส่วนภายในวัด




หน้าต่างหินแกะสลักลายสวยงาม



ภาพวาดฝาผนัง



เสมาของวัดนี้



หน้าจอตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับการหล่อระฆังหย่งเล่อ






เสร็จจากตรงนี้แล้วออกมา ข้ามไปอาคารฝั่งตะวันออก ที่นี่อธิบายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของระฆัง บรรยายส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน มีภาษาอังกฤษเขียนแปลไว้ด้วยแต่ว่าแปลไม่หมด เนื้อหาค่อนข้างรวบรัดไม่ละเอียด ถ้าอยากรู้ละเอียดจริงๆยังไงก็ต้องอ่านเป็นภาษาจีน



ภาพระฆังหรือกระดิ่งดินเผาโบราณเก่าแก่มาก ประมาณ 2000-5000 ปีก่อน ค.ศ. ที่เก่าแก่ที่สุดในนี้คือกระดิ่งดินเผาวัฒนธรรมหย่างเสา (仰韶文化陶玲) ปัจจุบันเก็บอยู่พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน



แบบจำลองขนาดเท่าของจริง อันซ้ายเป็นระฆังดินเผาโต่วเหมินเจิ้น (斗门镇陶钟) สูง ๑๒.๕ ซม. อันขวาคือระฆังดินเผาเมี่ยวตี่โกว (庙底沟陶钟) ขนาด ๙.๓ ซม.



กระดิ่งสำริดเอ้อร์หลี่โถว (二里头铜铃) เป็นตัวอย่างของระฆังสมัยราชวงศ์เซี่ย (夏朝, 2100 - 1700 ปีก่อน ค.ศ.)



ปั๋วจง (镈钟) เป็นระฆังขนาดใหญ่ที่ส่วนยอดมีลักษณะแบน นิยมใช้ในช่วงยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (西周1046 - 771 ปีก่อน ค.ศ.) ตอนปลายถึงยุคจ้านกั๋ว (战国, 476 - 221 ปีก่อน ค.ศ.)



นี่คือระฆังที่เรียกว่าหนิ่วจง (钮钟) เป็นระฆังชุดที่ประกอบด้วยหลายขนาดซึ่งให้เสียงต่างกัน เป็นที่นิยมในยุคชุนชิว (春秋, 770 - 476 ปีก่อน ค.ศ.) และยุคจ้านกั๋ว เอาไว้ใช้ในงานพิธีสำคัญหรือเป็นเครื่องดนตรี



ข้ามมาตรงนี้จะเจอกับระฆังในสมัยหลังจากที่ศาสนาพุทธและลัทธิเต๋าเริ่มเข้ามามีบทบาทในจีน



เบื้องหน้าเต็มไปด้วยระฆังโบราณสวยๆมากมายเรียงรายอยู่ เริ่มจากอันแรกทางซ้ายคือระฆังวัดเป่าซื่อ (宝室寺钟) สร้างในยุคราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ความสูง ๑๕๖ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๑๓๖ ซม.



บนตัวระฆังมีอักษรสลักอยู่เต็ม



ระฆังวัดเก๋อย่วน (阁院寺钟) สร้างในยุคราชวงศ์เหลียว (辽朝, 916 - 1125) สูง ๑๖๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๑๖๐ ซม.



ระฆังเหล็กยวี่เซี่ยน (蔚县铁钟) สร้างในยุคราชวงศ์หยวน (元朝, 1271 - 1368) สูง ๗๖ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๖๔.๘ ซม.



ท่ามกลางหมู่ระฆังขนาดใหญ่จำนวนมากมายมีระฆังเล็กอยู่แค่อันเดียววางอยู่ ระฆังสำริดดอกบัวแปดหน้าขนาดเล็ก (八方莲花小铜钟) สร้างในยุคราชวงศ์หยวน สูง ๑๖.๖ ซม. เส้นผ่านศุนย์กลางที่ฐาน ๑๒.๑



ระฆังที่สลักตัวอักษรเต็มแน่นไปหมดนี่คือระฆังเต๋าหงจื้อ (弘治道钟) สร้างในปี 1492 สมัยจักรพรรดิหงจื้อ (弘治, ปี 1488 - 1505) แห่งราชวงศ์หมิง สูง ๑๒๔.๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๘๙.๕ ซม. ส่วนหลักของระฆังเป็นอักษรจีนปัจจุบัน แต่ด้านล่างเป็นอักษรแบบโบราณ



ระฆังหมีเล่ออาน (弥勒庵钟) สร้างในปี 1618 สมัยจักรพรรดิว่านลี่ (万历, ปี 1572 - 1620) แห่งราชวงศ์หมิง สูง ๑๖๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๑๐๔ ซม.



ระฆังวัดว่านซ่าน (万善寺钟) สร้างในปี 1702 สมัยจักรพรรดิคางซี (康熙, 1661 - 1722) แห่งราชวงศ์ชิง สูง ๑๑๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๗๘.๗ ซม.



ระฆังหอสมาคมฉินจิ้น (秦晋会馆铜钟) สร้างในปี 1828 สูง ๑๑๐.๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๙๔ ซม.



ระฆังสลักอักษรทิเบต (藏文铜钟) สร้างในช่วงยุคราชวงศืชิง สูง ๗๘.๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๕๔.๖ ซม.





จากนั้นไปอาคารเล็กตรงกลางซึ่งอยู่เป็นหลังถัดมา เป็นที่จัดแสดงระฆังที่ใช้ตามพิธีต่างๆ นี่คือแบบจำลองของระฆังชุดของอี่ (乙) เจ้าครองแคว้นเจิง (曾) ในสมัยก่อน ของจริงขุดเจอที่มณฑลหูเป่ย์



อาคารเล็กตรงกลางหลังถัดมาจัดแสดงระฆังประเภทที่เรียกว่าฝานจง (梵钟) หมายถึงระฆังขนาดใหญ่สลักลายสวยงามที่มักวางไว้ตามวัดหรือสถานที่สำคัญเอาไว้คอยเคาะบอกเวลา กล่าวกันว่าทุกวันต้องมีระฆัง





ต่อมาอาคารฝั่งตะวันตกส่วนที่อยู่ถัดจากอาคารที่แสดงประวัติศาสตร์ของวัดซึ่งเข้าไปตอนแรก ตรงนี้จะอธิบายเกี่ยวกับการหล่อระฆังโลหะ



ขั้นตอนการหล่อระฆังนั้นต้องปั้นดินนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ต้องเอาดินมาปั้นเป็นแบบทั้งส่วนนอกและใน จากนั้นจึงเทโลหะเหลวลงไปในแบบแล้วรอให้แข็งตัวจากนั้นก็เอาดินที่เป็นแบบออกไป



นอกจากวิธีการใช้ดินเหนียวแล้ว อาจใช้วิธีเอาขี้ผึ้งมาปั้นเป็นรูปเหมือนระฆังที่ต้องการทำ จากนั้นเอาดินเลนมาคลุม แล้วใช้ความร้อนละลายขี้ผึ้งออกไป เท่านี้ก็จะได้แบบหล่อสำหรับมาใช้ใส่โลหะเหลวเพื่อหล่อระฆังโลหะต่อไป



วัตถุดิบที่ใช้ในการหล่อระฆัง โลหะผสมชนิดต่างๆ



เบ้าหลอมระฆังโบราณที่ขุดเจอแถวเมืองเจิ้งโจว (郑州) มณฑลหูหนาน



ผนังตรงนี้แสดงเกี่ยวกับเทคนิกการหลอมโลหะสมัยโบราณ



เครื่องมือทางดาราศาสตร์โบราณที่อยู่ในหอสังเกตการณ์โบราณของปักกิ่ง



หัวพระพุทธรูปทำจากสำริด



ฐานดอกบัว



ตรงสุดทางมีพระพุทธรูปพระไวโรจนพุทธะ





ตัดกลับมาทางอาคารฝั่งตะวันออกส่วนถัดไป ตรงนี้เป็นส่วนที่จัดแสดงระฆังของต่างประเทศ


นี่คือระฆังชุดที่เรียกว่าการียง (carillon) เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส เอาไว้ใช้ดีดเหมือนพวกเปียโนหรือคีย์บอร์ดเพื่อเล่นเป็นดนตรี ในภาษาจีนเรียกมันว่าจงฉิน (钟琴) แปลตรงๆว่าพิณระฆัง บนตัวระฆังแต่ละอันในนี้มีสลักข้อความเป็นภาษาละตินอยู่ด้วย



ระฆังมิตรภาพจีน-นอร์เวย์ (中挪友谊钟)



ระฆังโบสถ์ฟินแลนด์



ระฆังสำริดรัสเซีย



ระฆังมิตรภาพจากอิตาลี (意大利友谊钟)



ส่วนนี่เป็นแบบจำลองขนาดย่อของระฆังญี่ปุ่น มาจากวัดเมียวชินจิ (妙心寺) ในเกียวโต เป็นระฆังพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น สร้างในปี 698 สูง ๑๕๐.๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๘๖ ซม.



และนี่เป็นแบบจำลองขนาดย่อของระฆังเกาหลี ระฆังพระเจ้าซ็องด็อกมหาราช (성덕대왕신종, 圣德大王神钟) สร้างขึ้นเสร็จในปี 771 ผู้สั่งให้สร้างคือพระเจ้าคย็องด็อก (경덕왕, ปี 742 - 765) แห่งอาณาจักรซิลลา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อของเขา คือพระเจ้าซ้องด็อกมหาราช (ปี 702 - 737) ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง





จากนั้นมาดูต่อที่อาคารเล็กส่วนตรงกลางอีกหลัง นี่เป็นอาคารที่จัดแสดงระฆังของวัดต่างๆ



ระฆังวัดถานเจ้อ (潭柘寺) ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของปักกิ่ง ระฆังสร้างเมื่อปี 1679 สูง ๑๔๐.๙ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางที่ฐาน ๙๓ ซม. หนัก ๔๒๔ กก.



วัดถานเจ้อ



และนอกจากนี้ก็ยังมีระฆังของวัดอื่นอีกหลายแห่ง




อาคารสุดท้ายปลายทาง เป็นอาคารที่บรรจุระฆังหย่งเล่อซึ่งเป็นระฆังสำคัญอันหลักของที่นี่นั่นเอง กว่าจะได้เห็นของที่สำคัญที่สุดก็ต้องเข้ามาถึงด้านในสุดเลย อดใจรออยู่นาน



ระฆังหย่งเล่อ มีขนาดใหญ่อลังการแต่รูปแบบเรียบๆไม่สะดุดตา



หากสังเกตดีๆจะเห็นว่ามีตัวอักษรสลักไว้มากมายบนตัวระฆัง มีทั้งภาษาจีนและภาษาสันสกฤต รวมแล้วอักษรมากกว่าสองแสนตัว มีอยู่ทั้งด้านนอกและด้านในตัวระฆัง



ดูระฆังหย่งเล่อเสร็จก็ยังไม่จบแค่นี้ เดินถัดมาทางตะวันออกอีกก็จะเจอสวนที่มีหอระฆังอยู่เต็มไปหมด สวนนี้ถูกสร้างขึ้นมาในปี 1994 แต่ระฆังที่ประดับอยู่ตรงนี้เป็นระฆังโบราณ



ระฆังที่ใหญ่และเด่นที่สุดอยู่ตรงกลางนี้คือระฆังที่เคยอยู่ในหอระฆังปักกิ่ง สร้างขึ้นสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ



หมดแค่นี้ ใช้เวลาอยู่ในนั้นราวๆ ๒ ชั่วโมงกว่าเลย ที่จริงบริเวณข้างในไม่ได้กว้างอะไรมากมายแต่ครั้งนี้เดินแบบค่อนข้างเก็บรายละเอียดพอสมควรเพราะมาคนเดียวแล้วก็เพราะเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้มาง่ายเลยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา หากเป็นการเที่ยวต่างแดนหรือแม้แต่ต่างเมืองเองก็ตาม เวลาเที่ยวสถานที่ที่เป็นพวกพิพิธภัณฑ์คนเรามักจะไม่มีเวลาได้เก็บรายละเอียดอะไรมาก ดังนั้นการมีโอกาสได้มาอยู่และมีเวลาดูเรื่อยเปื่อยแบบนี้ถือเป็นเรื่องดีจริงๆ

หลังจากนี้ปักกิ่งก็จะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิแล้ว หวังว่าจะมีเวลาไปเที่ยวไหนเพื่อมาเล่าอีก ยังมีอีกหลายที่ที่ยังไม่ได้ไป ไม่เคยนำมากล่าวถึงในนี้



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ท่องเที่ยว >> ศาสนสถาน >> วัด
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ