φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



พิพิธภัณฑ์เงินตราจีน
เขียนเมื่อ 2015/04/09 01:18
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 31 มี.ค. 2015

หลังจากที่ก่อนนี้ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์โบราณสถานวัฒนธรรมมนุษย์โบราณหวางฝูจิ่ง (王府井古人类文化遗址博物馆) ที่หวางฝูจิ่งเพื่อดูประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคโบราณมาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20150407

เราก็ได้เดินทางมาขมพิพิธภัณฑ์อีกแห่งซึ่งอาจจะไม่ค่อยเกี่ยวกันนัก แต่อยู่ไม่ไกลจากกันมาก นั่นคือพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน (中国钱币博物馆)

โดยส่วนตัวแล้วเราไม่ได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆเท่าไหร่นัก คิดว่าแค่เงินอย่างเดียวมันซื้อความสุขไม่ได้หรอก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันจำเป็น อย่างน้อยถ้าไม่มีเงินเราก็ไปเที่ยวไหนไม่ได้น่ะสิ อย่างไรก็ตามที่มาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพราะสนใจเรื่องของประวัติศาสตร์มากกว่า

เงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมก็ต้องมีการใช้เงินเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ การศึกษาประวัติศาสตร์ของเงินนั้นจึงเป็นการศึกษาอารยธรรมมนุษย์ไปด้วยส่วนหนึ่ง

แต่ละยุคสมัยลักษณะเงินตราก็แตกต่างกันออกไป เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ที่จะพูดถึงต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของเงินจีนซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เรามาลองมองประวัติศาสตร์จีนผ่านมุมมองของเงิน



พิพิธภัณฑ์เงินตราจีนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1992 โดยใช้อาคารเก่าที่เคยใช้เป็นธนาคารเมื่อสมัยก่อน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจตุรัสเทียนอันเหมิน ไม่ไกลจากเฉียนเหมิน ไม่ห่างจากพิพิธภัณฑ์รถไฟจีน (中国铁道博物馆) ที่แวะมาวันก่อนมากนัก https://phyblas.hinaboshi.com/20150330

แถวจตุรัสเทียนอันเหมินนี้เป็นย่านที่เต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ต่างๆมากมาย หากใครมาเที่ยวแถวนี้ลองแวะไปเข้าชมดูแต่ละที่ก็ไม่เลว จะได้ความรู้ต่างๆมากมาย

จากหวางฝูจิ่งไปยังเฉียนเหมินมีรถเมล์หลายสายไปได้ แต่บังเอิญวันนี้ระหว่างรออยู่นั้นรถเมล์ที่มาถึงป้ายก่อนก็คือรถเมล์ท่องเที่ยวสาย ๒ (观光二线)



เราอยู่มานานแต่ก็ไม่เคยขึ้นรถเมล์สายท่องเที่ยวเลยก็เลยลองดูสักหน่อย ข้อแตกต่างจากสายธรรมดาก็คือบนรถไฟมีคนคอยบรรยายสถานที่ระหว่างทางที่ผ่าน โดยรถนี้วิ่งวนอยู่แค่ในย่านท่องเที่ยวเท่านั้นเอง ทั้งหวางฝูจิ่งและเฉียนเหมินแน่นอนว่าเป็นสถานที่เที่ยวที่สำคัญจีงมีสายนี้ผ่าน เราเลยสามารถนั่งสายนี้ไปได้ ปัญหามีอยู่เพียงว่าสายนี้คิดเงินแพงว่าสายธรรมดามาก ขึ้นครั้งนึงก็จ่าย ๑๐ หยวน ทั้งที่สายปกติแค่ ๑ หยวน



ยังไงก็ตาม เราก็นั่งมาจนลงที่ป้ายเฉียนเหมิน ป้ายที่ลงนี้ไม่ได้อยู่หน้าป้อมประตูเฉียนเหมินแต่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ต้องเดินย้อนไปอีกหน่อย



พิพิธภัณฑ์เงินตราจีนอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของป้อมประตูเฉียนเหมิน ดังนั้นจากตรงนี้เราแค่เดินไปทางเหนือเรื่อยๆก็ถึง

มองจากฝั่งตรงข้ามถนนตรงนี้เห็นตึกที่เด่นมาแต่ไกล นั่นคือตึกเก่าแก่แห่งหนึ่งในย่านนี้ สร้างเมื่อปี 1924 เดิมเป็นอาคารของธนาคารต้าลู่ (大陆银行, ต้าลู่อิ๋นหาง) สาขาปักกิ่ง แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารของธนาคารจีน (中国银行, จงกั๋วอิ๋นหาง) ไปแล้ว พิพิธภัณฑ์เงินตราจีนตั้งอยู่ข้างๆตึกนี้เอง แต่ไม่ได้สูงเด่นเท่าจึงถูกบังอยู่เห็นไม่ชัด



ชมดอกยวี่หลานที่กำลังบานไประหว่างทาง



เดินผ่านแล้วเลี้ยวตรงซอยที่มีอาคารเก่าของธนาคารแผ่นดินใหญ่อยู่ก็จะเห็นอาคารพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน อาคารไม่ใหญ่เด่นเท่าเพราะมีแค่ ๓ ชั้น แต่ก็สวยเหมือนกัน



ส่วนจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ชั้นแรกจัดแสดงเกี่ยวกับการตรวจจับเงินปลอม ชั้น ๒ จัดแสดงเงินสมัยโบราณ ชั้น ๓ จัดแสดงเงินสมัยปัจจุบัน แต่ละชั้นก็ไม่ค่อยใหญ่เท่าไหร่ ที่นี่ถือเป็นแค่พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก



มีความรู้สีกว่าเขาเรียงแปลกๆ เอาเรื่องการตรวจจับเงินปลอมมาให้คนเริ่มดูก่อนในชั้นแรก ตามหลักแล้วมันควรจะเริ่มจากประวัติศาสตร์ก่อนมากกว่า แต่ว่าไปแล้วเรื่องนี้มันก็เป็นอะไรที่มีความสำคัญจริงๆและใกล้ตัวมากด้วย เราอาจต้องเผชิญกับเงินปลอมได้ทุกเมื่อในชีวิตประจำวัน

เพื่อให้ไม่สับสนขอเริ่มเล่าจากชั้น ๒ ก่อนจะได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ก่อน



เมื่อเข้ามาในห้องจัดแสดงชั้น ๒ ด้านหน้าทางเข้าจะเห็นภาพสลักที่ฝาผนังแสดงถึงการสร้างเงินในสมัยโบราณ



เรื่องราวเริ่มขึ้นจากเงินในสมัยก่อน ช่วงยุคก่อนจิ๋นซีฮ่องเต้จะรวมประเทศนั้นประเทศจีนยังแตกกันเป็นแคว้นต่างๆ ในช่วงยุคนั้นพบว่ามีการนำเปลือกหอยหรือสำริดมาใช้เป็นเงินกันแล้ว ในยุคชุนชิว (春秋, ก่อน ค.ศ. 770 - 476 ปี) มีการใช้เหรียญเพื่อเป็นเงิน



รูปแบบหนึ่งของเงินที่มีการใช้กันเรียกว่าปู้ปี้ (布币) หรือบางทีก็เรียกว่าฉ่านปี้ (铲币) แปลว่าเงินพลั่ว รูปร่างหน้าตามันดูเหมือนกับพลั่วหรือใบพัด เริ่มพบตั้งแต่ยุคชุนชิว มีการใช้อยู่ในหลายแคว้นในยุคชุนชิวไปจนถึงยุคจ้านกั๋ว (战国, ก่อน ค.ศ. 476 - 221 ปี)



อีกแบบหนึ่งก็คือเงินที่เรียกว่าเตาปี้ (刀币) หรือแปลว่าเงินใบมีด รูปร่างมีลักษณะเหมือนกับมีดเล็กๆ ถูกใช้กระจายอยู่ในหลายแคว้นในช่วงยุคชุนชิวและจ้านกั๋วเช่นกัน



ส่วนนี่คือเงินที่เรียกว่าหวนเฉียน (圜钱) หรือหมายถึงเหรียญกลมๆ ถูกใช้ในช่วงยุคจ้านกั๋วในแคว้นทางตอนกลางของจีน โดยเฉพาะแคว้นฉินตอนช่วงท้ายยุคก่อนที่จะรวมประเทศ



นอกจากนี้ก็ยังมีบางแคว้นที่นำแผ่นทองหรือเปลือกหอยโลหะมาใช้เป็นเงิน



จากนั้นจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ทำการรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียว เข้าสู่ยุคราชวงศ์ฉิน (秦朝, ก่อน ค.ศ. 221 - 207 ปี) เงินที่ใช้ในจีนตอนนั้นคือเงินเหรียญที่เรียกว่าป้านเหลียง (半两) ใช้มาจนถึงช่วงต้นราชวงศ์ฮั่น



จากนั้นในปีก่อน ค.ศ. 118 ปี สมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (汉武帝, ก่อน ค.ศ. 141 - 87 ปี) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (西汉, ก่อน ค.ศ. 202 ปี - ปี ค.ศ. 8) ได้เริ่มใช้เงินที่เรียกว่าอู่จู (五铢) และประกาศว่าเหรียญนี้ต้องหล่อขึ้นโดยรัฐบาลกลางเท่านั้น



หลังจากนั้นพอหวางหม่าง (王莽) ตั้งตัวเป็นกษัตริย์แทนราชวงศ์ฮั่น ตั้งเป็นราชวงศ์ซิน (新朝, ปี 8 - 23) ก็ได้มีการปฏิรูปเงินตราอีกหลายครั้ง เปลี่ยนหน่วยเงินหลายครั้งจนทำให้กลลาหลไปทั่ว มีการปลอมแปลงเงินเกิดขึ้นบ่อยๆ กลายเป็นยุคที่มีความวุ่นวายทางการเงิน จนหวางหม่างถูกล้มก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉, ปี 25 - 220)

นี่คือเงินที่ถูกใช้ในบริเวณเส้นทางสายไหมตั้งแต่ช่วงยุคราชวงศ์ฮั่นจนถึงราชวงศ์จิ้น (晋朝, ปี 265 - 420)



พอถึงยุคราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) ได้เริ่มใช้เงินที่เรียกว่าไคหยวนทงเป่า (开元通宝) โดยสลักอักษร ๔ ตัวเอาไว้ที่เหรียญ เป็นอักษรจีนตัวเต็มที่ใกล้เคียงอักษรยุคปัจจุบัน 開元通寶 (ยุคราชวงศ์ถังนี้เป็นช่วงที่อักษรจีนกลายมาเป็นแบบปัจจุบันแล้ว) นอกจากนี้ในยุคราชวงศ์ถังยังได้เริ่มมีการใช้เงินกระดาษด้วย ถือเป็นการใช้เงินกระดาษเป็นครั้งแรกของโลก



จากนั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ได้มีการใช้เงินกระดาษเป็นหลัก แต่ก็มีการใช้เงินเหรียญทองแดงควบคู่ไปด้วย



ถึงราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) ก็ยังใช้เงินเหรียญกับเงินกระดาษ



พอช่วงปลายใกล้สิ้นราชวงศ์หมิง ก่อนที่ราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1636 - 1912) จะรวบรวมอำนาจทั้งประเทศมาได้ทั้งหมดนั้น ประเทศจีนได้แบ่งออกเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆซึ่งก็ใช้เงินต่างกันออกไป



แล้วก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง เงินกระดาษและเงินเหรียญก็ใช้กันโดยทั่วไป



ตรงนี้แสดงเหรียญเงินที่ถูกสลักเป็นภาษาต่างๆนอกจากภาษาจีน เช่นภาษาแมนจู, ทิเบต, ซีเซี่ย, อาหรับ, ฯลฯ



เหยาเฉียนซู่ (摇钱树) เครื่องประดับที่ทำเป็นรูปต้นไม้ที่มีเงินอยู่ตามกิ่ง ใช้ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เอาไว้ฝังไปกับศพผู้ตาย อันนี้ขุดมาจากมณฑลเสฉวน





เรื่องราวของประวัติศาสตร์เงินตราจีนที่เล่าในชั้น ๒ ก็มาถึงเท่านี้ เรื่องราวต่อจากนี้ไปต้องไปต่อที่ชั้น ๓ ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงเงินปัจจุบัน

แต่... ข่าวร้าย เราไม่มีโอกาสได้ไปชมชั้น ๓

เหตุมาจากว่า พอขึ้นมาถึงชั้น ๒ ได้แค่ไม่นาน อยู่ๆก็มีพนักงานมาบอกว่าที่นี่กำลังจะมีกิจกรรมอะไรบางอย่าง จะต้องรีบปิดพิพิธภัณฑ์แล้ว ให้รีบดูให้เสร็จแล้วออกไป เราก็งงว่าทำไมตอนเข้ามาไม่เห็นมีใครบอกอะไรเลย ปกติพนักงานที่ขายตั๋วจะต้องเตือนถ้ามีเหตุอะไรพิเศษ พอถามไปเขาก็บอกว่านี่เป็นเหตุด่วนกะทันหันเพิ่งได้รับแจ้งมา เราไม่ได้ถามต่อว่ามันเรื่องอะไรเพราะเขาดูมีท่าทีรีบๆ แต่ก็ได้แต่ขอเขาบอกว่าขอเวลาเดินผ่านๆถ่ายรูปสักพักแล้วจะรีบออก เขาก็อนุญาต แต่ไม่ยอมให้ขึ้นไปชั้น ๓ ต่อ ดังนั้นจึงได้ดูอยู่แค่นี้

ดังนั้นจึงได้แต่รีบๆถ่ายภาพของในตู้จัดแสดงพร้อมกับป้ายที่ให้ข้อมูลต่างๆในชั้น ๒ เพื่อกลับมาดูและอ่านที่หลัง แทบไม่มีเวลาได้ชื่นชมด้วยสายตาในขณะนั้นเลย ความจริงเราไม่ค่อยชอบทำแบบนี้เท่าไหร่ เพราะเวลาเที่ยวนั้นไม่ได้มาเพื่อถ่ายภาพ เก็บรายละเอียดในขณะนั้นให้มากที่สุด แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็ช่วยไม่ได้



คราวนี้มาดูที่ชั้น ๑ ซึ่งเราเดินดูก่อนขึ้นไปชั้น ๒ ตอนนั้นไม่มีใครมาเร่งจึงมีเวลาค่อยๆดูอย่างช้าๆสบายใจ ตรงนี้เป็นเรื่องของการตรวจจับเงินปลอม



การจะป้องกันเงินปลอมได้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีทำให้เงินปลอมได้ยากขึ้น



ต้องกระจายความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้สู่ประชาชน



หนังสือรับรองและคู่มือสำหรับบุคคลต่างๆที่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน



แล้วก็พยายามจับกุมพวกที่ผลิตเงินปลอมขึ้น อันนี้ตัวอย่างธนบัตรปลอมที่เจอ



นี่คือเครื่องผลิตเหรียญปลอมที่ยึดมาได้ จับได้ที่เมืองอู่ฮั่น (武汉) มณฑลหูเป่ย์



ส่วนนี่เป็นเครื่องที่ใช้สำหรับทำเลียนแบบส่วนลายน้ำบนธนบัตร ๑๐๐ หยวน ยึดได้ที่เมืองเจียหยาง (揭阳, จีนแต้จิ๋วเรียกว่า กิ๊กเอี๊ย) มณฑลกวางตุ้ง



เครื่องตรวจจับเงินปลอมอัตโนมัติเครื่องแรกของจีน วิจัยเสร็จปี 1989 แล้วนำไปใช้ในปี 1990



ต่อมาเป็นเรื่องของการตรวจจับเงินปลอมในสมัยโบราณ ในรูปนี้เป็นการจับกุมผู้ผลิตเหรียญปลอมในสมัยก่อน บันทึกเก่าแก่ที่สุดที่ว่ามีการจับคนทำเงินปลอมมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินแล้ว



เหรียญป้านเหลียง (半两) ที่ใช้ในสมัยราชวงศ์ฉิน



ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เงินอู่จู (五铢) ที่ออกโดยฮั่นอู่ตี้นั้นเป็นเงินที่ออกแบบอย่างดี ค่าผลิตค่อนข้างสูงจนปลอมไปก็ไม่คุ้มทุนจึงเป็นการควบคุมไม่ให้มีเงินปลอมได้ดี อีกทั้งกำหนดบทลงโทษของคนที่ลักลอบทำเหรียญปลอมไว้ถึงขั้นประหาร



รูปจำลองการลักลอบผลิตเงินปลอมบนเรือ



นี่เป็นธนบัตรปลอมในยุคสาธารณรัฐจีนซึ่งยึดมาได้ เงินปลอมที่จับได้จะประทับตราไว้ว่าเจี่ยเพี่ยว (假票) แปลว่าธนบัตรปลอม



สัดส่วนวัตถุดิบโลหะที่ถูกใช้ทำเป็นเงินชนิดต่างๆ ที่เยอะสุดก็คือทองแดง รองลงมาเป็นตะกั่ว แล้วก็ดีบุก





จบแล้ว ที่จริงชั้น ๑ มีเยอะกว่านี้ แต่ว่าตอนที่ดูชั้น ๑ อยู่นั้นเราไม่ได้ดูอย่างละเอียดมากเพราะอยากรีบไปชั้น ๒ เพื่อดูประวัติศาสตร์เร็วๆ พอลองคิดดูแล้วก็คิดถูกแล้วที่รีบ เพราะถ้ายังเรื่อยเปื่อยชั้น ๑ นานเกินไปก็จะโดนไล่ตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นชั้น ๒ จะได้ดูแค่ชั้นเดียวแบบนั้นก็จะยิ่งไม่คุ้ม

สุดท้ายแล้วที่เหลือก็แค่ชั้น ๓ น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปชมต่อ ขนาดตอนดูชั้น ๒ อยู่ยังต้องเร่งแทบแย่เลย แต่ไม่เป็นไรเพราะชั้น ๓ เป็นเงินสมัยใหม่ คือตั้งแต่ปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐจีน ปี 1911 ซึ่งเงินสมัยนั้นก็เป็นเงินธนบัตรแหละเหรียญอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

ลองคิดดูว่าดูชั้น ๒ ได้เห็นประวัติศาสตร์เป็นพันๆปี ในขณะที่ชั้น ๓ แสดงประวัติศาสตร์แค่ร้อยปีเอง ต่างกันตั้งเยอะ ดังนั้นแค่ได้ชมชั้น ๒ ก็คุ้มกว่าเยอะแล้ว

แต่ที่จริงก็อยากดูอยู่หรอกแต่ในเมื่อไม่ม๊โอกาสได้ดูก็มีแต่ต้องปลอบใจตัวเองแบบนั้นเท่านั้นเอง

เดินออกมาจากพิพิธภัณฑ์ไปแบบผิดหวังนิดๆ แอบคิดอยู่ว่าวันหลังจะมาดูต่อดีหรือเปล่า แต่คิดว่ายังไงก็คงไม่เพราะว่าในปักกิ่งมีสถานที่เที่ยวอีกมากคงไม่มีเวลากลับมาที่นี่ซ้ำอีก

โดยรวมแล้วก็ยังคิดว่าที่มาชมที่นี่คราวนี้ก็ยังถือว่าคุ้มอยู่ แม้ว่าสถานที่จะเล็กไปสักหน่อย มีเงินเก่าจัดแสดงอยู่ไม่มากนัก แต่ก็จัดแสดงข้อมูลที่ทำให้รู้ประวัติศาสตร์ที่มาของเงินซึ่งวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน

หากใครสนใจเรื่องเงินๆทองๆก็ลองแวะมาที่นี่ได้ อยู่ใกล้เทียนอันเหมินและเฉียนเหมิน เดินมาสะดวก



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ