φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



เต๋อเซิ่งเหมิน ป้อมประตูเมืองเก่าที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณ
เขียนเมื่อ 2015/04/11 09:03
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 31 มี.ค. 2015

หลังจากที่ออกมาจากพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน (中国钱币博物馆) https://phyblas.hinaboshi.com/20150409

เนื่องจากดูเสร็จไปโดยใช้เวลาน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ก็เลยมีเวลาเหลือ ขณะที่กำลังคิดว่าจะทำไรต่อดีก็เดินไปเรื่อยๆจนถึงป้ายรถเมล์เทียนอันเหมินซี (天安门西) ซึ่งอยู่ใกล้กับตรงนั้นเพื่อเดินทางกลับ พอดีลองมองไปที่ป้ายของรถเมล์สาย 5 เจอสถานที่อีกแห่งที่ตั้งใจว่าจะหาโอกาสไปอยู่แล้วพอดี และสถานที่นั้นก็มีส่วนคล้ายกับพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนด้วย เลยตัดสินใจขึ้นสาย 5 เพื่อไปเที่ยวต่อ

เป้าหมายก็คือเต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门) ป้อมประตูเมืองเก่าที่สำคัญของปักกิ่งเป็นป้อมประตูเมืองทางฝั่งทิศเหนือซึ่งอยู่บนกำแพงเมืองปักกิ่งซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนาน



กำแพงเมืองปักกิ่งนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่กุบไลข่านมาตั้งปักกิ่งเป็นเมืองหลวงเมื่อปี 1267 ก่อนที่จะโค่นล้มราชวงศ์ซ่งแล้วตั้งราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ขึ้นมาในปี 1271

ราชวงศ์หยวนนั้นอยู่ได้ไม่นาน พอถึงปี 1368 ก็ถูกโค่นล้ม เข้าสู่ยุคราชวงศ์หมิงซึ่งได้ใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงต่อมา พอถึงช่วงปี 1436 - 1439 ซึ่งเป็นสมัยของจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (正统, 1435 - 1449) ได้มีการบูรณะปรับปรุงกำแพงเมืองปักกิ่งใหม่ซึ่งตำแหน่งของกำแพงเมืองนั้นก็คือถนนวงแหวนที่สอง (二环) ของปักกิ่งในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากตำแหน่งเมื่อสมัยราชวงศ์หยวนโดยย้ายลงมาทางใต้เล็กน้อย

บนกำแพงเมืองปักกิ่งนั้นได้มีการสร้างป้อมประตูขึ้นมาทั้งหมด ๙ แห่ง ได้แก่เจิ้งหยางเหมิน (正阳门), เซวียนอู่เหมิน (宣武门), ฟู่เฉิงเหมิน (阜成门), ซีจื๋อเหมิน (西直门), เต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门), อันติ้งเหมิน (安定门), ซีจื๋อเหมิน (西直门), เฉาหยางเหมิน (朝阳门) และ ฉงเหวินเหมิน (崇文门)

ชื่อเหล่านี้ถ้าใครอยู่ปักกิ่งละก็จะจำได้หมดโดยอัตโนมัติ เพราะส่วนใหญ่มันคือชื่อสถานีรถไฟฟ้าในสาย ๒ นั่นเอง ยกเว้นเต๋อเซิ่งเหมินเท่านั้นที่ไม่ได้กลายเป็นชื่อสถานีรถไฟฟ้า สถานีที่อยู่ใกล้เต๋อเซิ่งเหมินเรียกว่าสถานีจีสุ่ยถาน (积水潭站)

ป้อมประตูเหล่านี้ถูกสร้างเป็นแบบโครงสร้างที่เรียกว่าเวิ่งเฉิง (瓮城) คือเป็นป้อมที่เป็นลักษณะกำแพงวงล้อม และบนกำแพงนั้นประกอบด้วยหอปราสาท (城楼) และหอธนู (箭楼) หอปราสาทคือหอส่วนที่อยู่ติดกับกำแพงเมือง ส่วนหอธนูคือหอที่อยู่บนกำแพงส่วนที่ทำยื่นออกไปนอกกำแพงเมือง

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบันกำแพงเมืองต่างๆก็เริ่มถูกรื้อถอนออกเพราะขัดขวางการขยายตัวของเมือง ป้อมประตูต่างๆก็ถูกรื้อออกไปด้วย เต๋อเซิ่งเหมินเองก็ถูกรื้อหอปราสาทและกำแพงรอบๆออกไปหมดเหลือเพียงหอธนูเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปัจจุบันที่นี่ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณปักกิ่ง (北京市古代钱币展览馆) โดยได้มีการสร้างวัดเจินอู่ (真武庙) ขึ้นมาใหม่ วัดเจินอู่นั้นเมื่อก่อนเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ถูกสร้างอยู่ภายในวงล้อมของป้อมประตู ตัวอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงเหรียญโบราณ ในขณะที่ตัวหอธนูของเต๋อเซิ่งเหมินจัดแสดงประวัติศาสตร์ของที่นี่



ที่บอกว่าเต๋อเซิ่งเหมินคล้ายกับพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนก็เพราะว่ามีจัดแสดงเหรียญเหมือนกันนั่นเอง ดังนั้นจึงตัดสินใจมาเต๋อเซิ่งเหมินถัดจากพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนแม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ใกล้กันสักเท่าไหร่เลย

อันที่จริงแล้วตัวพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณกับหอธนูเต๋อเซิ่งเหมินไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่ว่าถ้าอยากเข้าไปชมหอธนูก็จำเป็นต้องซื้อบัตรเพื่อเข้าไปในบริเวณพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณ แล้วจากตรงนั้นจึงมีทางให้ขึ้นไปชมหอธนู

ค่าเข้าชม ๒๐ หยวน ใช้บัตรนักเรียนลดได้เหลือ ๑๐ หยวน นี่คือรูปบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณปักกิ่ง แล้วก็บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน ราคาเท่ากันเลย



รถเมล์มาลงที่ฝั่งเหนือของป้อมซึ่งเป็นด้านหลัง



ลานด้านหน้าป้อมประตูบรรยากาศดีมีคนมาเล่นว่าวกันอยู่



ที่นี่เป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีรถเมล์หลายสายผ่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นที่สำคัญคือรถเมล์ที่เดินทางไปกำแพงเมืองจีนด่านปาต๋าหลิ่ง (八达岭长城) เป็นกำแพงเมืองจีนด่านที่มีชื่อเสียงที่สุด คนไปเยอะสุด แต่เรายังไม่เคยมีโอกาสได้ไปสักที



อ้อมมายังด้านหน้าตรงฝั่งทางที่จะเข้าป้อม ตรงนี้ก็เห็นรถเมล์จอดบังทางเข้าอยู่ทำให้ดูไม่ค่อยสวย



ที่ใกล้ทางเข้ามีเขียนแนะนำสถานที่เป็น ๕ ภาษา จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และรัสเซีย



ทางเข้าอยู่ทางขวานี้



ซื้อบัตรและเข้าไปได้เลย ตอนที่ซื้อบัตรคนขายเขาก็บอกว่าส่วนจัดแสดงเหรียญโบราณปิดไปหอนึงจากที่มีอยู่ ๒ หอ ทำให้เหลือบริเวณดูแค่ครึ่งเดียว นี่เป็นปัญหาที่ไม่คาดคิดเหมือนกัน แต่ก็ดีที่เขาบอกล่วงหน้า ไม่เหมือนกับตอนที่ไปพิพิธภัณฑ์เงินตราจีนที่อยู่ดีๆก็มีปัญหาเข้ามากะทันหันจนต้องรีบออก




จากที่มี ๒ หอแต่เหลือดูได้แค่หอเดียวก็เท่ากับว่าสามารถดูเหรียญได้เพียงครึ่งเดียวจากทั้งหมด ก็น่าเสียดายเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไรเพราะนอกจากส่วนจัดแสดงเหรียญแล้วก็ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเต๋อเซิ่งเหมินซึ่งอยู่บนตัวหอธนู ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญกว่าส่วนจัดแสดงเหรียญ

เริ่มชมจากชมส่วนจัดแสดงเหรียญก่อน ส่วนจัดแสดงเหรียญเป็นเพียงแค่อาคารเล็กๆซึ่งมีอยู่ ๒ หลัง หอที่ปิดคือโถงจัดแสดงที่ ๑ (第一展厅)



ส่วนนี่คือโถงจัดแสดงที่ ๒ (第二展厅) ซึ่งเปิดให้เข้าได้



ข้างในจัดแสดงเหรียญโบราณแบบต่างๆ เหรียญที่จัดแสดงที่นี่ไม่เน้นแต่เฉพาะเหรียญเงินที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเหมือนอย่างที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เงินตราจีน ยังมีเหรียญบางประเภทที่ทำเอาไว้ใช้ในความหมายต่างๆ

เริ่มจากเหรียญพวกนี้เป็นเหรียญที่ใช้เทคนิกการเจาะให้เป็นรูซึ่งเป็นลวดลายต่างๆ เรียกว่าหลวี่คง (缕空)



เหรียญเงินสมัยโบราณมักจะสลักค่าของเงินและชื่อจักรพรรดิไว้ด้านหน้า ส่วนด้านหลังก็สลักอักษรที่เกี่ยวข้อง



หรือบางทีก็สลักรูปสวยๆไว้ เช่นอันนี้เหรียญสมัยจักรพรรดิหงอู่ (洪武, 1368 - 1398) แห่งราชวงศ์หมิง



บางทีเหรียญก็สลักข้อความดีๆเช่นขอให้มั่งคั่งมีความสุข



แล้วก็ยังมีเหรียญที่มีข้อความอวยพอขอให้สอบผ่านจอหงวนอะไรแบบนี้ด้วย



แล้วก็มีเหรียญที่เอาไว้โยนให้เจ้าบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน พิธีแบบนี้เรียกว่าซาจ้าง (撒帐) ในเหรียญก็จะมีข้อความดีๆที่อวยพรชีวิตคู่



เหรียญมงคลตามปีเกิดนักษัตร



เหรียญที่สลักอะไรเกี่ยวกับลัทธิหรือศาสนา อย่าง
อันนี้ของพุทธ



และก็ยังมีเหรียญที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เอาไว้ใช้ในการเล่นต่างๆ อย่างเช่นอันนี้เป็นเหรียญที่ใช้ในหมากรุกจีน



นอกจากนี้ก็ยังมีเหรียญที่ทำเป็นรูปร่างแปลกๆอยู่อีกมากมาย



หมดแค่นี้ในส่วนของห้องจัดแสดงเหรียญโบราณ ห้องจัดแสดงเล็กมีอยู่แค่นี้จริงๆ



ส่วนตรงกลางระหว่างโถงจัดแสดงทั้งสองฝั่งมีอาคารเล็กๆอยู่ ตรงนี้เป็นร้านขายเหรียญโบราณ



ด้านใน



วางขายเหรียญและของที่เกี่ยวข้องอยู่มากมาย






จากนั้นเดินเลี้ยวอ้อมด้านหลังหอจัดแสดง ๒ ไปก็จะเจอทางไปสู่หอธนู



บันไดขึ้นสู่หอธนู



เริ่มเห็นยอดหอธนูอยู่ตรงหน้าแล้ว



ยอดหอธนู



ในนี้เปิดให้เข้าชมได้



เมื่อเข้ามาถึงในนี้แบ่งเป็น ๒ ห้อง หอกแรกด้านนอกยังไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่



เริ่มจากเล่าถึงประวัติของเต๋อเซิ่งเหมินไว้คร่าวๆ



แล้วก็พูดถึงป้อมประตูอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คือ ๙ ประตูเมืองเก่าที่สร้างขึ้นแรกสุดสมัยจักรพรรดิเจิ้งถ่ง มีรูปในอดีตให้เห็น



เข้าสู่ห้องด้านใน



เข้าไปถึงจะเห็นแบบจำลองของที่นี่สมัยที่ยังไม่ถูกรื้อ จะเห็นว่าเป็นป้อมที่ล้อมด้วยกำแพงโดยมีหอปราสาทและหอธนู และมีอาคารที่อยู่ด้านในวงล้อม แต่ปัจจุบันทั้งกำแพงและหอปราสาทถูกรื้อไปหมดเหลือแค่หอธนู ส่วนอาคารด้านในก็คือพิพิธภัณฑ์เหรียญโบราณที่เข้าชมมาเมื่อครู่



โครงสร้างของกำแพงเมืองด้านต่างๆโดยหลักๆแล้วคือด้านในเป็นดินอัดแล้วด้านนอกเป็นอิฐ สำหรับกำแพงส่วนตะวันออกกับตะวันตกมีการใช้โครงสร้างเดิมจากกำแพงที่สร้างในราชวงศ์หยวน



ภาพนี้บอกถึงการย้ายตำแหน่งเมืองหลวงของปักกิ่ง



ตั้งแต่รูปแรกมุมซ้ายบนคือสมัยราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 916 - 1125) ได้ตั้งปักกิ่งเป็น ๑ ใน ๕ เมืองหลวง โดยเป็นเมืองหลวงฝั่งใต้เรียกว่าเหลียวหนานจิง (辽南京) ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองในตอนนั้นอยู่ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ปัจจุบัน ต่อมาราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ก็โค่นล้มราชวงศ์เหลียวและได้สร้างเมืองทับบริเวณเดิมและขยายต่อไปอีก หลังจากนั้นพอราชวงศ์หยวนล้มราชวงศ์จินจึงสร้างเมืองขึ้นใหม่ในตำแหน่งใกล้ เคียงปัจจุบันแต่ยังค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย
ต่อมาพอถึงสมัยราชวงศ์หมิงจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐, ปี 1402 - 1424) ก็ได้ใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงต่อโดยตัวเมืองย้ายลงมาทางใต้เล็กน้อยจนเป็น ตำแหน่งกำแพงเมืองในปัจจุบันและสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ หลังจากนั้นในปี 1553 สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖, ปี 1521 - 1567) จึงมีการขยายเมืองออกไปทางใต้โดยสร้างกำแพงล้อมส่วนนั้นเพิ่มขึ้นอีก โดยมีป้อมประตูที่สร้างเพิ่มใหม่อีก ๗ แห่ง

แผนผังกำแพงเมือง มีป้อมประตูทั้งหมด ๑๖ แห่ง เป็นป้อมประตูส่วนในที่สร้างในปี 1439 อยู่ ๙ แห่ง และส่วนนอกที่สร้างเพิ่มในปี 1553 มี ๗ แห่ง



แผนที่ระบบขนส่งน้ำของตัวเมืองในสมัยนั้น



แผ่นหินที่สลักแสดงว่ามีการบำรุงป้อมประตูเต๋อเซิ่งเหมินในปี 1853 สมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸丰, ปี 1850 - 1861) แห่งราชวงศ์ชิง



รูปกำแพง, ป้อมประตู และคลอง



มีเกมเลื่อนแผ่นต่อภาพให้เล่นด้วย เลื่อนแผ่นให้ได้รูปตัวเมืองปักกิ่งสมัยที่มีกำแพงล้อมรอบ



ช่องสำหรับยิงหน้าไม้ ถ้ามีศัตรูอยู่ด้านนอกสามารถแอบยิงจากตรงนี้ได้สบาย



มีปืนใหญ่ด้วย



ดาบและกระสุนปืน



และมีวางแสดงอาวุธไว้อีกหลายอย่าง





ชุดกราะ แต่ว่าหุ่นที่สวมอยู่ดูบอบบางเกินไปหรือเปล่านะ



รูปปืนใหญ่ที่ติดอยู่ตามป้อมประตูต่างๆ



ปักกิ่งมักถูกบุกโดยพวกชนกลุ่มน้อยซึ่งมาจากทางเหนือบ่อยครั้ง เต๋อเซิ่งเหมินเป็นป้อมประตูทางทิศเหนือดังนั้นจึงรับศึกหนักอยู่บ่อยๆ



เส้นทางการเดินทัพของพวกชนกลุ่มน้อยมองโกลทางตะวันตกชื่อเผ่าหว่าล่า (瓦剌) ซึ่งมาบุกปักกิ่งในปี 1449 หลังจากที่
ก่อนหน้านี้ได้รบชนะและจับตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่งเป็นตัวประกันไว้ในวิกฤติการณ์ที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ป้อมถู่มู่ (土木堡之变) ในการรบครั้งนั้นกองกำลังหว่าล่าปะทะกับกองทัพราชวงศ์หมิงที่ตั้งรับอยู่ซึ่งนำโดยนายพลหยวีเชียน (于谦) ด้วยการนำทัพตั้งรับอย่างดีทำให้ทัพหว่าล่าพ่ายถอยกลับไปและยอมปล่อยตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่งคืนมาในภายหลัง หยวีเชียนได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ



ช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง ก่อนที่จะพ่ายแล้วเสียกรุงให้พวกราชวงศ์ชิงในปี 1644 พวกกองทัพราชวงศ์ชิงมาบุกปักกิ่งในปี 1629 และได้ทำการรบครั้งใหญ่หน้าป้อมประตูเต๋อเซิ่งเหมิน แม่ทัพหยวนฉงฮว่าน (袁崇焕) ได้โจมตีจนพวกราชวงศ์ชิงต้องถอยล่นออกไป





ด้านในดูจบแล้ว ออกมาสูดอากาศและชมทิวทัศน์ด้านนอกต่ออีกหน่อย



จากตรงนี้ถ้ามองลงไปก็สวยเหมือนกัน



จะเห็นได้ว่าการจราจรแถวนี้วุ่นวายพอดู รถเมล์เต็มไปหมด



ร้านขายของตรงหัวมุม



รถเมล์ที่ด้านหน้าทางเข้า



ชมบรรยากาศข้างนอกไปสักพักก็เดินกลับลงมา แล้วก็เดินทางกลับหอ วันนี้เท่ากับว่าได้เที่ยวพิพิธภัณฑ์ถึง ๓ แห่ง เรียกได้ว่าคุ้มดี แต่ละแห่งก็ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันออกไป

เรื่องของเต๋อเซิ่งเหมินนั้นที่จริงก่อนหน้านี้เคยเล่าถึงไว้แล้วเมื่อปี 2011 ที่มาเดินเล่นแถวซีไห่ (西海) ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน ตามอ่านในนี้ได้ มีรูปป้อมประตูเต๋อเซิ่งเหมินที่สวยๆที่มองจากริมทะเลสาบอยู่ด้วย https://phyblas.hinaboshi.com/20111126



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน
-- ท่องเที่ยว >> ทะเลสาบ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ