φυβλαςのβλογ
phyblas的博客
ทวีต
สุสานสิบสามจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง
เขียนเมื่อ 2015/07/06 18:08
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 23 มิ.ย. 2015
ก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสได้ไปเยี่ยมสุสานแห่งโน้นแห่งนี้มาหลายที่ในปักกิ่ง แต่ว่าหากพูดถึงสุสานในปักกิ่งที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญที่สุดแล้วยังไงทุกคนก็คงจะนึกถึง
สุสานสิบสามจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง (明十三陵)
ซึ่งเป็นที่ฝังศพของจักรพรรดิราชวงศ์หมิง ๑๓ องค์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์กร UNESCO
ราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ที่ปกครองจีนอยู่ในช่วงปี 1368 - 1644 ก่อตั้งโดยจักรพรรดิองค์แรก จูหยวนจาง (朱元璋) ซึ่งได้นำกองกบฏเพื่อต่อต้านราชวงศ์หยวนซึ่งปกครองโดยชาวมองโกล เขาได้โค่นล้มราชวงศ์หยวนแล้วตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นมาปกครองประเทศแทน
ราชวงศ์หมิงมีจักรพรรดิอยู่ ๑๖ องค์ แต่ที่ถูกฝังอยู่ที่นี่มีอยู่ ๑๓ องค์ จักรพรรดิที่ไม่ได้ฝังอยู่ที่นี่คือจักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจาง) จักรพรรดิเจี้ยนเหวิน และจักรพรรดิจิ่งไท่
ในช่วงแรกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งราชวงศ์หมิงนั้นจูหยวนจางได้ใช้เมืองหนานจิง (南京) เป็นเมืองหลวง ดังนั้นสุสานของจูหยวนจางจึงอยู่ที่เมืองหนานจิง ส่วนจักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ ๒ นั้นเนื่องจากถูกจักรพรรดิหย่งเล่อยึดอำนาจและหนีหายสาบสูญไปจึงไม่มีศพให้นำมาฝังก็เลยไม่มีสุสาน
ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ ๓ นั้นได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ปักกิ่ง สุสานราชวงศ์หมิงที่ปักกิ่งจึงมีจุดเริ่มต้นขึ้นจากตรงนี้
จักรพรรดิหย่งเล่อได้เริ่มสร้างสุสานของตัวเองขึ้นในปี 1409 และเมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี 1424 สุสานนี้ก็ได้เริ่มใช้งาน สุสานแรกของจักรพรรดิหย่งเล่อมีชื่อว่าฉางหลิง (长陵) เป็นสุสานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
หลังจากนั้นจักรพรรดิในยุคต่อๆมาก็ได้สร้างสุสานขึ้นในบริเวณเดียวกันนี้หมด พอเวลาผ่านไปจนถึงสิ้นราชวงศ์หมิงจึงมีสุสานจักรพรรดิถูกสร้างขึ้นที่นี่ทั้งหมด ๑๓ แห่ง
แต่มีข้อยกเว้นคือจักรพรรดิจิ่งไท่ (景泰) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ ๗ สุสานได้ถูกสร้างใกล้ตัวเมืองปักกิ่ง เรียกว่าจิ่งไท่หลิง (景泰陵) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยแวะไปชมมาแล้ว และได้พูดถึงเหตุผลที่สุสานถูกสร้างแยกเอาไว้แล้ว เล่าไว้ใน
https://phyblas.hinaboshi.com/20150419
ราชวงศ์หมิงล่มสลายลงในปี 1644 โดยกบฏชาวนาของหลี่จื้อเฉิง (李自成) จักรพรรดิฉงเจิน (崇祯) ได้ฆ่าตัวตายหลังจากที่หลี่จื้อเฉิงบุกเข้ายึดเมืองปักกิ่งแล้วรู้ว่าสู้ไม่ไหว หลังจากนั้นหลี่จื้อเฉิงได้นำเอาศพของฉงเจินมาจัดพิธีและช่วยฝัง แต่เนื่องจากจักรพรรดิฉงเจินไม่ได้มีการสร้างหลุมศพเตรียมไว้ก่อนดังนั้นหลี่จื้อเฉิงเลยให้เอาศพของจักรพรรดิฉงเจินไปฝังไว้ในสุสานของเถียนกุ้ยเฟย์ (田贵妃) สนมของจักรพรรดิฉงเจินซึ่งตายไปตั้งแต่ปี 1642 และเปลี่ยนปรับปรุงให้ที่นั่นกลายเป็นสุสานกษัตริย์และเปลี่ยนชื่อเป็นซือหลิง (思陵)
โครงสร้างของสุสานสิบสามจักรพรรดินี้ประกอบด้วยสุสาน ๑๓ แห่งที่กระจายอยู่ภายในหุบเขาเดียวกันโดยเว้นระยะห่างพอสมควรไม่อยู่ติดกันจนเกินไป ทางเข้าของหุบเขานั้นเรียกว่าเสินเต้า (神道) แปลว่าเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ เอาไว้ใช้ขนศพของจักรพรรดิเวลาที่จะนำไปฝัง และจากเสินเต้าก็มีทางเดินแยกต่อไปยังสุสานแห่งต่างๆ ดูแล้วจึงเป็นเหมือนรูปพัด มีเพียงซือหลิงของจักรพรรดิฉงเจินที่อยู่ค่อนข้างจะไกลออกไปสักหน่อย
รายชื่อสุสานทั้ง ๑๓ เรียงลำดับตามลำดับของจักรพรรดิ
จักรพรรดิองค์หนึ่งมักจะมีชื่อเรียกที่หลากหลาย โดยมีชื่อเดิม คือชื่อจริงที่ใช้ก่อนครองราชย์ และมีชื่อศักราช และยังมีชื่อแต่งตั้ง โดยทั่วไปแล้วชื่อที่นิยมใช้เรียกและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือชื่อศักราช ดังนั้นในที่นี้ของเรียงตามนี้
ชื่อสุสาน / ชื่อเดิม / ชื่อศักราช / ชื่อแต่งตั้ง
1.*
ฉางหลิง (长陵)
จูตี้ (朱棣) จักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐) หมิงเฉิงจู่ (明成祖) ครองราชย์ 1402-1424
2.
เซี่ยนหลิง (献陵)
จูเกาชื่อ (朱高炽) จักรพรรดิหงซี (洪熙) หมิงเหรินจง (明仁宗) ครองราชย์ 1424-1425
3.
จิ่งหลิง (景陵)
จูจานจี (朱瞻基) จักรพรรดิเซวียนเต๋อ (宣宗) หมิงเซวียนจง (明宣宗) ครองราชย์ 1425-1435
4.
ยวี่หลิง (裕陵)
จูฉีเจิ้น (朱祁镇) จักรพรรดิเจิ้งถ่ง (正统) หมิงอิงจง (明英宗) ครองราชย์ 1435-1449 และ 1457-1464
5.
เม่าหลิง (茂陵)
จูเจี้ยนเซิน (朱见深) จักรพรรดิเฉิงฮว่า (成化) หมิงเซี่ยนจง (明宪宗) ครองราชย์ 1464-1487
6.
ไท่หลิง (泰陵)
จูโย่วเถิ่ง (朱祐樘) จักรพรรดิหงจื้อ (弘治) หมิงเซี่ยวจง (明孝宗) ครองราชย์ 1487-1505
7.
คางหลิง (康陵)
จูโฮ่วเจ้า (朱厚照) จักรพรรดิเจิ้งเต๋อ (正德) หมิงอู่จง (明武宗) ครองราชย์ 1505-1521
8.
หย่งหลิง (永陵)
จูโฮ่วชง (朱厚熜) จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖) หมิงซื่อจง (明世宗) ครองราชย์ 1521-1566
9.*
เจาหลิง (昭陵)
จูไจ้โฮ่ว (朱载垕) จักรพรรดิหลงชิ่ง (隆庆) หมิงมู่จง (明穆宗) ครองราชย์ 1566-1572
10.*
ติ้งหลิง (定陵)
จูอี้จวิน (朱翊钧) จักรพรรดิว่านลี่ (万历) หมิงเสินจง (明神宗) ครองราชย์ 1572-1620
11.
ชิ่งหลิง (庆陵)
จูฉางลั่ว (朱常洛) จักรพรรดิไท่ชาง (泰昌) หมิงกวางจง (明光宗) ครองราชย์ 1620
12.
เต๋อหลิง (德陵)
จูโหยวเซี่ยว (朱由校) จักรพรรดิเทียนฉี่ (天启) หมิงสี่จง (明熹宗) ครองราชย์ 1620-1627
13.
ซือหลิง (思陵)
จูโหยวเจี่ยน (朱由检) จักรพรรดิฉงเจิน (崇祯) หมิงอี้จง (明毅宗) ครองราชย์ 1627-1644
ทั้งหมดมี ๑๓ แห่ง แต่อย่างไรก็ตามที่เปิดให้เข้าชมได้นั้นมีอยู่แค่ ๓ แห่งเท่านั้น คือฉางหลิง เจาหลิง และติ้งหลิง สำหรับติ้งหลิงนั้นจะพิเศษกว่าอันอื่นเพราะเป็นสุสานที่มีการขุดลงไปสำรวจบริเวณห้องฝังศพใต้ดิน และนอกจากสุสานทั้ง ๓ แห่งแล้วยังมีส่วนของเสินเต้าที่เปิดให้เข้าชม
ราคาเข้าชมทั้ง ๔ ที่เป็นดังนี้
- ฉางหลิง ๕๐ หยวน ครึ่งราคา ๒๗ หยวน
- เจาหลิง ๓๕ หยวน ครึ่งราคา ๒๐ หยวน
- ติ้งหลิง ๖๕ หยวน ครึ่งราคา ๓๕ หยวน
- เสินเต้า ๓๕ หยวน ครึ่งราคา ๒๐ หยวน
ทั้งหมดค่าเข้าชมรวมเป็น ๑๘๕ แต่สามารถซื้อบัตรชุดได้ ราคา ๑๓๕ สามารถประหยัดไปได้ ส่วนครึ่งราคาเหลือ ๗๐
บัตรครึ่งราคานั้นมีไว้สำหรับคนที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา แต่มีข้อยกเว้นคือนักศึกษาต่างชาติไม่สามารถใช้ส่วนลดตรงนี้ได้
สุสานราชวงศ์หมิงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับสุสานราชวงศ์ชิง ในชื่อ
สุสานจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิง (明清皇家陵寝)
สำหรับสุสานราชวงศ์ชิงนั้นแบ่งเป็น ๒ แห่ง ตั้งอยู่ในมณฑลเหอเป่ย์โดยอยู่ทางตะวันตกและตะวันออกของปักกิ่งไกลออกไปและค่อนข้างเดินทางไปลำบากจึงไม่ได้รับความนิยมมากเท่าสุสานราชวงศ์หมิง
การเดินทางมาถึงสุสานราชวงศ์หมิงนั้นมีรถเมล์สาย 872 สามารถมาถึงได้ สายนี้มีจุดเริ่มต้นแถวเต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门) ซึ่งเป็นที่เดียวกับจุดที่ขึ้นรถเพื่อไปกำแพงเมืองจีนด่านปาต๋าหลิ่ง
สาย 872 นี้สามารถไปยังเสินเต้า ติ้งหลิง และฉางหลิงได้ นอกจากนี้ยังมีสาย 879 ซึ่งสามารถไปได้เช่นกันแต่สายนี้มาจากกำแพงเมืองจีนด่านจวียงกวาน ส่วนเจาหลิงนั้นมีแต่สาย 昌67 ที่ไปถึง โดยสายนี้สามารถใช้นั่งไปถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ด้วย
เราไม่ได้ขึ้นจากที่เต๋อเซิ่งเหมินแต่นั่งสาย 快345 ไปถึงสถานีสุ่ยถุน (水屯) ซึ่งก็อยู่ในเขตชางผิง แล้วค่อยต่อสาย 872 ไปอีกที
วันที่ไปนั้นท้องฟ้าครึ้มเต็มไปด้วยเมฆหมอกตลอดทำให้ทัศนวิสัยไม่ค่อยดี แต่ก็บรรยากาศแบบนี้แหละที่เหมาะในการเยี่ยมสุสาน ดูได้บรรยากาศดี
นั่งรถเมล์มาลงที่ป้ายต้ากงเหมิน (大宫门) ก็จะเห็นทางเข้าเสินเต้าอยู่ตรงหน้า
เดินผ่านเสินเต้าตรงช่วงแรก ตรงนี้เป็นส่วนที่เดินผ่านไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านทาง แต่เดินไปได้ไม่ไกลมากก็จะถึงบริเวณส่วนสำคัญซึ่งปิดอยู่ต้องซื้อบัตรผ่านทางเพื่อเข้าไป
ที่ซื้อบัตร บัตรราคาปกติ ๑๓๕ หยวน แต่เราซื้อบัตรแบบครึ่งราคา ราคา ๗๐ หยวนซึ่งมีไว้สำหรับนักเรียนนักศึกษา ความจริงแล้วบัตรนี้มีเงื่อนไขเขียนไว้ชัดเจนว่านักศึกษาต่างชาติไม่สามารถซื้อได้ อย่างไรก็ตามเราไม่ได้ทันมองข้อยกเว้นตรงนี้ คนที่ขายบัตรเองก็ไม่รู้ว่าเราเป็นคนต่างชาติ ดังนั้นเราจึงซื้อบัตรครึ่งราคานี้มาจนได้ ซึ่งเราก็มาพบความจริงเอาตอนหลัง
อย่างไรก็ตามคนที่ตรวจบัตรที่เสินเต้าดูเหมือนจะไม่รู้กฎข้อยกเว้นอันนี้ ดังนั้นจึงยอมให้เราใช้บัตรนี้เข้าชมข้างในได้ เราจึงผ่านเข้ามาชมได้ไม่มีปัญหา
เข้ามาด้านใน ที่เห็นอยู่ตรงหน้าก่อนเลยคือศาลาที่บรรจุแผ่นศิลาบันทึกบนหลังเต่า
เดินผ่านศาลามา ทางเบื้องหน้า
ระหว่างทางก็จะเห็นสัตว์ต่างๆเฝ้าอยู่ตามทาง
แล้วก็เดินมาใกล้สุด ประตูทางออกตรงนี้เรียกว่าหลงเฟิ่งเหมิน (龙凤门)
แล้วก็เดินต่อมาอีกหน่อย
ทางออกจากส่วนตรงนี้
ออกมาแล้วเลี้ยวไปทางขวาก็จะสามารถเจอป้ายรถเมล์อีกป้ายซึ่งเป็นคนละที่กับที่ลงตอนแรก จากตรงนั้นมาถึงตรงนี้เป็นทางเดินที่ไกลพอสมควร แต่เดินเพลินๆไปเรื่อยๆไม่ค่อยรู้สึกว่าเดินมานานสักเท่าไหร่ แต่พอดูนาฬิกาจึงรู้ว่าเราใช้เวลาเดินไปครึ่งชั่วโมง
ป้ายรถเมล์ในส่วนตรงนี้มีชือว่าป้ายหูจวาง (胡庄)
ขึ้นรถเมล์สาย 872 ต่อมายังฉางหลิง ระหว่างทางต้องผ่านติ้งหลิงด้วยแต่ว่าเราตั้งใจจะไปแวะฉางหลิงก่อน เพราะฉางหลิงเป็นของจักรพรรดิหย่งเล่อซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกที่ริเริ่มสร้างสุสานที่นี่
จักรพรรดิหย่งเล่อเป็นจักรพรรดิที่มีความสำคัญที่สุดของราชวงศ์หมิง ขึ้นครองราชย์ปี 1402 - 1424 เขาได้สร้างผลงานเด่นๆเอาไว้มากมาย เช่นพระราชวังต้องห้าม กู้กง (故宫)
ผลงานเด่นอีกอย่างที่ทำให้ดังไปทั่วโลกก็คือการส่งกองเรือขนาดใหญ่ซึ่งนำโดยเจิ้งเหอ (郑和) ให้ออกไปสำรวจโลกภายนอก
ด้านหน้าทางเข้าฉางหลิง ที่นี่เป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดและรักษาไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ตอนที่ตรวจตั๋วเพื่อจะเข้าก็พบปัญหาบัตรครึ่งราคาที่เราซื้อมาซึ่งผ่านคนตรวจตั๋วที่เสินเต้ามาได้แต่พอมาถึงที่นี่เขากลับตรวจเข้มขอดูบัตรประชาชนด้วย เมื่อเราบอกไปว่าเป็นชาวต่างชาติมีแต่พาสปอร์ตเขาก็บอกว่างั้นใช้บัตรครึ่งราคาไม่ได้ เราจึงได้รู้ตอนนั้นเองถึงเงื่อนไขยกเว้นอันนี้ เราพยายามขอเขาว่าให้ยกเว้นให้ผ่านไปหน่อยเถอะเขาก็ไม่ยอม บอกว่ากฎต้องเป็นกฎ
เขาบอกเราว่าให้ไปซื้อบัตรครึ่งราคามาอีกใบ พอใช้บวกกันกับบัตรครึ่งราคาใบเดิมที่มีอยู่แล้วก็สามารถแทนบัตรธรรมดาอันเดียวได้ บัตรครึ่งราคานั้นราคา ๗๐ ถ้า ๒ ใบรวมกันก็เป็น ๑๔๐ หยวน เท่ากับว่าซื้อแบบนี้ขาดทุนนิดหน่อยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามเขาก็เสนอทางเลือกให้เราอีกอย่างว่าจะซื้อบัตรครึ่งราคาชดเชยเฉพาะตรงส่วนของที่นี่ก็ได้ ราคา ๒๗ หยวน พอไปสุสานอื่นถ้าโชคดีเขาไม่ตรวจละก็เราก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หลังจากลองคิดพิจารณาดูแล้วเราจึงตัดสินใจเลือกทางนี้ และมันก็เป็นความคิดที่ถูก เพราะนอกจากฉางหลิงแล้วที่อื่นก็ไม่มีการตรวจเข้มแบบนี้อีกเลย
ผ่านเข้ามาด้านใน ที่เห็นก่อนคือป้อมประตูหลิงเอินเหมิน (祾恩门) เป็นป้อมประตูทางผ่านแรกสุดก่อนถึงด้านในที่ฝังศพ
ข้างๆนั้นมีศาลาแผ่นหินซึ่งตั้งขึ้นในปี 1542
เดินผ่านหลิงเอินเหมินเข้ามาก็เจออาคารที่ใหญ่สุดใจกลาง คือหลิงเอินเตี้ยน (祾恩殿)
ด้านหน้ามีเตาเผาอยู่สองอันที่เอาไว้เผาแผ่นป้ายหรือผ้าที่ใช้ในพิธี
ข้างในนี้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับจักรพรรดิหย่งเล่อ
รูปปั้นจักรพรรดิหย่งเล่อตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง
ภายในนี้เล่าประวัติของจักรพรรดิหย่งเล่อ
พูดถึงผลงานสำคัญต่างๆเช่นการย้ายเหมืองหลวงจากหนานจิงมาอยู่ที่ปักกิ่งและการสร้างพระราชวังต้องห้าม
และที่สำคัญคือการส่งเจิ้งเหอออกเรือไปผจญภัย
เรือที่เจิ้งเหอใช้เพื่อออกไปยังดินแดนต่างๆ สัดส่วน 1:60 ของจริงขนาดยาว ๑๓๘.๑ เมตร กว้าง ๕๖ เมตร
มุมนี้เล่าถึงการสร้างสุสานราชวงศ์หมิงแห่งนี้
แบบจำลองพื้นที่บริเวณสุสานแห่งนี้
แบบจำลองสุสานฉางหลิงแห่งนี้ อาคารใหญ่สุดที่เห็นคือหลิงเอินเตี้ยน และเนินด้านหลังก็คือที่ฝังศพ
แบบจำลองอาคารหลิงเอินเตี้ยน คืออาคารหลังที่เรายืนอยู่ตอนนี้ สัดส่วน 1:50
และนี่คือแบบจำลองของสุสานที่อยู่ข้างๆกัน คือจิ่งหลิงและเซี่ยนหลิง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก
พอชมภายในอาคารเสร็จก็เดินออกมาแล้วอ้อมไปด้านหลังผ่านประตูนี้เพื่อเข้าไปยังส่วนด้านในสุด
ซึ่งก็คือส่วนของเนินที่ฝังศพ เรียกว่าเป่าเฉิง (宝城) ถูกล้อมรอบด้วยกำแพง และบนกำแพงตรงตำแหน่งด้านหน้าหลุมฝังศพมีศาลาที่เรียกว่าหมิงโหลว (明楼)
สามารถขึ้นไปได้
เมื่อขึ้นมาก็จะเห็นว่าส่วนที่เป็นเนินซึ่งปกคลุมไปด้วยต้นไม้นั้นเขาห้ามไม่ให้คนเข้าไป ตรงนี้เป็นส่วนที่มีการฝังศพอยู่ ภายในนี้ยังไม่มีการขุดค้น แต่ถ้าเป็นที่ติ้งหลิงละก็ส่วนเนินนี้ถึงจะเปิดให้เข้าชม สำหรับฉางหลิงนี้สามารถดูได้แค่นี้
ส่วนด้านบนเป็นศาลาที่มีแผ่นป้ายหิน
การเที่ยวฉางหลิงก็หมดแค่นี้ เดินออกมาที่ป้ายรถเมล์เพื่อหารถไปยังสุสานที่เหลือ
ขึ้นรถเมล์สาย 314 เพื่อไปลงที่ป้ายติ้งหลิง แต่เราตัดสินใจจะเดินไปเจาหลิงก่อนค่อยกลับมาติ้งหลิงเพราะว่าหากจะนั่งสาย 872 เพื่อกลับละก็ต้องกลับมายังติ้งหลิงเพื่อขึ้นอยู่ดี อยากเก็บของดีสุดไว้ท้ายสุดเลยวางแผนแบบนั้น
แต่ที่จริงลองมาคิดดูภายหลังแล้วนั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่เพราะจากเจาหลิงมีรถเมล์สาย 昌67 สามารถนั่งสายนี้เพื่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าได้ การกลับทางรถไฟฟ้าก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน
รถเมล์มาลงที่ป้ายรถเมล์ติ้งหลิงซึ่งอยู่ในเขตจอดรถของติ้งหลิง
จากนั้นเดินย้อนออกมาไปตามเส้นทางที่จะไปเจาหลิง ระยะทางสามารถเดินไปได้ไม่ยาก หรือจะเดินออกไปสักระยะหนึ่งถึงป้ายรถเมล์ที่มีสาย 昌67 เพื่อรอนั่งไปต่อก็ได้ แต่ว่ารถเมล์สายนี้มีไม่มากกว่าจะรอจนรถมาก็น่าจะใช้เวลามากกว่าเดินไปแล้ว ดังนั้นถ้าเดินไหวก็เดินดีกว่า
แต่ว่าระหว่างที่เดินอยู่ก็แวะดูร้านขายผลไม้ข้างทางแล้วคนที่ร้านนั้นเขาถามว่ากำลังจะไปไหนก็เลยบอกไปแล้วเขาก็เลยเสนอจะไปส่งให้ เขาคิด ๒๐ หยวน เราเห็นราคาก็ปฏิเสธไปก่อนเลยเพราะระยะใกล้ๆแค่นี้สามารถเดินไปได้ยังไงราคานี้ก็แพงเกิน เลยลองพยายามต่อราคาเขาก็ไม่ยอม
แต่ตอนนั้นก็เกิดอารมณ์ประมาณว่าขี้เกียจเดิน อากาศตอนนั้นแม้ว่าแดดจะไม่ออกแต่ก็อบอ้าว ความขี้เกียจเริ่มเข้ามาครอบงำ อีกทั้งกำลังคิดอยู่ว่าอาจถือโอกาสให้เขาแวะพาไปชมสุสานที่ไม่ได้เปิดให้เข้าชมด้วย แม้ว่าจะดูได้แค่ด้านนอกแต่ก็คิดว่าอยากลองไป ถ้าไปกับเขาน่าจะถามข้อมูลอะไรได้
สุดท้ายก็ยอมขึ้นรถเขามาทั้งที่รู้ว่าแพงจนได้ แล้วก็มาถึงเจาหลิง เขาบอกว่าเขาจะรออยู่แต่ขากลับต้องจ่ายเขา ๓๐ หยวนเพราะบวกค่ารอไปด้วย เราก็เลยบอกว่างั้นไม่ต้องรอ เขาก็เลยบอกว่าไม่คิดเพิ่มก็ได้ คิด ๒๐ หยวนเท่าตอนขามา
เราว่าเขาก็คงคิดไว้แล้วแหละว่ารอคนเที่ยวที่นี่ไปก็ไม่ได้นานอะไร เพราะอันที่จริงแล้วเจาหลิงนั้นไม่ได้มีอะไรมากมาย ดูแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว
ตอนนั้นเรายังไม่ได้ถามถึงเรื่องที่ว่าจะลองแวะสุสานอื่นที่ไม่ได้เปิด กะว่าชมเจาหลิงเสร็จค่อยถามถึง
เจาหลิงเป็นสุสานของจักรพรรดิหลงชิ่งซึ่งเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์เป็นเวลาสั้นแค่ ๖ ปี คือช่วยปี 1566 ถึง 1572 ซึ่งเป็นรอยต่อช่วงคั่นระหว่างจักรพรรดิสององค์ที่ครองราชย์นานที่สุดคือจักรพรรดิเจียจิ้งและจักรพรรดิว่านลี่
สุสานนี้มีขนาดเล็กและไม่ค่อยโดดเด่นหากเทียบกับฉางหลิง อีกทั้งไม่ได้มีการเปิดให้ชมบริเวณที่ฝังศพใต้ดิน ดังนั้นจึงเป็นที่ที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ มักถูกละเลยจากนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีเวลามาก ได้ยินว่ามีหลายคนที่เที่ยวชมแค่ฉางหลิงและติ้งหลิงแต่ไม่ได้ชมเจาหลิงด้วย
ทางเข้าเจาหลิง
เข้ามาด้านใน โครงสร้างทั่วไปนั้นไม่ได้ต่างอะไรกับฉางหลิงมาก แต่จะเล็กกว่าพอสมควร ที่เห็นด้านหน้าคือศาลาแผ่นหิน
ภายในศาลา
และที่มีเพิ่มเข้ามาคือส่วนของอาคารด้านข้าง อยู่ทางขวา คือส่วนของศาลาเชือดเครื่องสังเวย (宰牲亭) ครัวศักดิ์สิทธ์ (神厨) และคลังศักดิ์สิทธิ์ (神库)
ซึ่งอาคารตรงนี้ตอนนี้ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับข้าราชการในยุคราชวงศ์หมิง
เดินออกมาแล้วกลับมาตรงศาลาแผ่นหิน แล้วเดินต่อไปก็จะเห็นป้อมประตูหลิงเอินเหมิน เช่นเดียวกับที่ฉางหลิง
และผ่านหลิงเอินเหมินไปก็เจอหลิงเอินเตี้ยน ซึ่งไม่ได้ใหญ่เท่าของฉางหลิง
ส่วนจัดแสดงภายในมีอยู่เพียงเท่านี้ จัดแสดงเกี่ยวกับพิธีบูชายัญในฤดูใบไม้ร่วง
และเดินถัดต่อไป
ก็จะเจอหมิงโหลว
ซึ่งก็สามารถเข้าไปชมได้เช่นกัน
แผ่นศิลาภายในศาลา
และด้านหลังมองไปก็คือเนินที่ฝังศพ ซึ่งไม่เปิดให้เข้าชมเช่นกัน
เจาหลิงก็มีอยู่เท่านี้ เสร็จแล้วก็เดินออกมา คนขับรถก็รออยู่ข้างหน้าทางเข้า
เราเริ่มลองถามถึงเกี่ยวกับสุสานอื่นที่ไม่ได้เปิดให้เข้า อยากให้เขาพาไปชมสักที่ก่อนที่จะกลับมายังติ้งหลิง เราลองเสนอบอกว่าอยากจะไปซือหลิงเพราะว่าเป็นสุสานของจักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย
ปัญหาคือหากดูตำแหน่งแล้วจะเห็นได้ว่าซือหลิงนั้นอยู่ห่างไกลจากสุสานอื่นไปมากเขาบอกว่าถ้าจะให้ไปละก็คิดเพิ่มอีก ๖๐ หยวน ซึ่งมันแพงเกินไป ถึงจะบอกว่าไกลแต่จริงๆแต่มันก็ไม่กี่กิโลเมตรดูแผนที่ก็รู้ แต่บอกยังไงเขาก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดให้
เราก็เลยถามว่าสุสานที่ใกล้ที่สุดคือหลิงไหน ถ้าไปจะคิดเพิ่มเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าเป็นจิ่งหลิง ถ้าไปก็คิด ๓๐ หยวน เราก็เลยคิดหนัก เราถามเขาว่าจิ่งหลิงเป็นของกษัตริย์อะไรเขาก็บอกว่าจำไม่ได้เหมือนกัน เราเลยยิ่งลังเลเพราะใจจริงอยากไปชมสุสานของกษัตริย์ที่เด่นๆมากกว่า
ระหว่างลังเลเขาก็บอกว่าไปจิ่งหลิงเถอะ ลดให้ ๕ หยวน เหลือ ๒๕ หยวน เราก็ลองมาคิดดูอีกสักพักสุดท้ายก็ตกลง เพราะราคามันต่างกันเยอะพอสมควรเลยนี่ทั้งๆที่ดูจากแผนที่แล้วระยะทางมันก็ไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น
มองดูแล้วเหมือนเขาจะไม่อยากให้เราไปซือหลิงอยากให้ไปจิ่งหลิงมากกว่าก็เลยตั้งราคาให้แพงๆไว้อย่างนั้น อันนี้เราเดาว่าเป็นเหตุผลจริงๆคือเพราะซือหลิงมันอยู่ไกลจากหลุมศพอันอื่นไปมากในขณะที่จิ่งหลิงนั้นใกล้ๆยังมีอยู่อีกหลายหลุมศพ เผื่อเราดูเสร็จแล้วเขาอาจจะชักชวนให้เราไปดูที่อื่นๆต่อเขาจะได้คิดตังค์เพิ่มได้อีก
ระหว่างทางเราลองมาเปิดหาข้อมูลดูจึงรู้ว่าจิ่งหลิงนั้นเป็นของจักรพรรดิเซวียนเต๋อ ซึ่งไม่ใช่จักรพรรดิที่โดดเด่นอะไร เขาครองราชย์ในช่วง 1425 - 1435 ระหว่างนั้นไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรสำคัญเป็นพิเศษ
จิ่งหลิงนั้นตั้งอยู่ทางตะวันออกของฉางหลิง ซึ่งความจริงแล้วตอนที่เราอยู่ฉางหลิงสามารถเดินมายังจิ่งหลิงได้เอง ไม่ได้ไกลอะไรมาก เพียงแต่ตอนที่อยู่ที่ฉางหลิงยังไม่ได้คิดเรื่องที่จะลองแวะ น่าเสียดายเหมือนกัน
ตอนออกจากเจาหลิงคนขับรถแนะนำว่ามีวัดอยู่ใกล้ๆซึ่งต้องผ่าน นี่เป็นวัดข้างๆเจาหลิง พอลองแวะดูแล้วก็พบว่าที่นี่ต้องเสียตังค์เพิ่มในการเข้าชม และดูแล้วในนี้ไม่ได้มีอะไร ดังนั้นจึงไม่ได้แวะเข้าไป
แล้วคนขับรถก็พาเรามาจนถึงจิ่งหลิง จะเห็นได้ว่ามีขนาดเล็กมาก จากตรงนี้ก็สามารถมองเห็นศาลาหมิงโหลวซึ่งเป็นอาคารหน้าเนินฝังศพได้
มองใกล้เข้าไป ได้แต่ซูม ยังไงก็เข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว
ด้านหน้ามีเต่าแบกแผ่นหิน
เนื่องจากเข้าไปไม่ได้เราเลยลองเดินอ้อมไปด้านข้างสุสานเพื่อจะได้ดูรอบๆทิศ มันมีทางให้ไปได้อยู่
ทางดูเงียบเปลี่ยวสักหน่อยแต่ก็เดินไปได้
มองดูกำแพงสุสาน เห็นตัวอะไรอยู่ด้วย
ลองเข้าไปใกล้ๆก็พบแกะ พวกมันถูกขังอยู่ภายในรั้วที่ล้อมสุสาน
ยิ่งเดินก็ยิ่งไกลออกไป
จากเห็นหมิงโหลวอยู่ไกลๆ
เดินต่อมาไม่นานก็เจอทางที่เป็นร่องรอยเหมือนคนเดินผ่านทิ้งไว้
พอเดินมาตามทางก็เจอกำแพงสุสาน
จากตรงนี้รอบๆกำแพงมีเส้นทางที่คนเหลือไว้ เราเดินไปตามทางรอบๆกำแพงนี้เพื่อวนรอบนอกสุสานไปออกอีกด้าน
เดินไปเรื่อยๆก็กลับมาถึงแถวประตูหน้าสุสาน สำหรับการเดินสำรวจรอบๆสุสานแห่งนี้ก็จบลงแค่นี้ ไม่ได้เห็นข้างในก็จริง แต่เดินวนรอบสุสานแบบนี้ก็ไม่เลวเหมือนกัน
พอดูจิ่งหลิงเสร็จเราก็ลองถามเขาขึ้นมาว่าสุสานที่ปิดอยู่นี่ทุกที่ไม่สามารถเข้าไปข้างในได้เลยจริงๆเหรอ เขาก็บอกว่ามีบางที่เขารู้จักกับคนเฝ้าประตู สามารถให้ช่วยเปิดพาเข้าไปได้ พอถามว่าถ้าให้พาไปจะคิดเท่าไหร่เขาก็บอกว่า ๓๐ หยวน เราก็เลยบอกว่าไม่ต้อง เขาก็รีบลดให้เหลือ ๒๐ หยวนทันที
ที่จริงก็ยังถือว่าแพงอยู่เพราะสุสานที่เขาบอกว่าสามารถให้เข้าไปดูได้นั่นคือเซี่ยนหลิง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของฉางหลิง ซึ่งจากตรงนี้ไปมันใกล้มาก สามารถเดินไปได้ด้วยซ้ำ แต่เพราะเขาบอกว่าสามารถเข้าไปได้เราก็เลยคิดว่ายอมสักหน่อยก็ไม่เสียหาย
เซี่ยนหลิงเป็นของจักรพรรดิหงซีซึ่งเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์สั้นแค่ไม่ถึงปีเท่านั้นในปี 1424 - 1425 ต่อจากจักรพรรดิหย่งเล่อ ดังนั้นจึงไม่มีบทบาทอะไรมากนัก
แล้วก็มาจนถึง
พอมาถึงก็ปรากฏว่าไม่เห็นคนเฝ้าประตู คนขับก็บอกว่าสงสัยไปกินข้าว แบบนี้ก็เข้าไม่ได้ เราก็เลยบ่นไปว่าแบบนี้ต่างจากที่ตกลงกันไว้นี่ ถ้าเข้าไม่ได้ละก็คงจะเพิ่มเงินให้ไม่ได้ เขาก็บ่นใหญ่
หลังจากลองเจรจาคุยกันสักพักเขาก็ลองไปเคาะประตูแรงๆเรียกดูว่ามีใครอยู่มั้ย ปรากฏว่ามีคนแก่คนนึงออกมา เขาเป็นคนเฝ้าประตูและดูเหมือนจะรู้จักกัน เลยขอให้เขาผ่านเข้าไปเพื่อถ่ายรูปข้างในได้ในที่สุด
ภาพนี้ถ่ายตอนเพิ่งเข้าไปข้างใน นี่เป็นกระท่อมของคุณลุงคนที่เฝ้าที่นี่ ส่วนคุณลุงทำหน้าดุดุใส่ชุดเสื้อยืดสบายๆดูแล้วไม่เหมือนเป็นยามเลย เหมือนเป็นชาวบ้านธรรมดามากกว่า
สุสานนี้มีขนาดเล็กมาก พอเข้ามาถึงก็เห็นหมิงโหลวอยู่ตรงหน้าแล้ว
เราพยายามจะเดินลึกเข้าไปข้างในแต่ถูกห้ามไว้ไม่ให้เข้าไปลึกเกินกว่าแถวๆประตู ที่จริงก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เป็นแบบนี้ เพราะแค่เขาเปิดประตูให้เข้ามาได้ก็ถือว่าแอบๆแล้ว เพราะที่นี่โดยปกติไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้า เราเองก็ไม่ได้หวังอะไรมากแต่แรกอยู่แล้ว ได้เห็นแค่นี้ก็พอ
เมื่อเสร็จก็กลับมายังติ้งหลิง กลับมายังร้านขายผลไม้ที่คุณลุงคนขับรถขายอยู่ตอนแรก เขาพยายามชักจูงให้ซื้อผลไม้กับเขา แต่เราไม่ได้ซื้อ
ติ้งหลิงเป็นสุสานของจักรพรรดิว่านลี่ จักรพรรดิซึ่งครองราชย์นานที่สุดในราชวงศ์หมิง คือตั้งแต่ปี 1572 ถึง 1620 อย่างไรก็ตามแม้จะอยู่นานแต่ก็ไม่ได้สร้างผลงานโดดเด่นมากมาย คงไม่อาจเทียบกับกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างจูหยวนจางหรือจักรพรรดิหย่งเล่อได้ อีกทั้งจักรพรรดิว่านลี่ช่วงปีท้ายๆค่อนข้างจะอู้งานจนเป็นต้นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสายและนำไปสู่การสิ้นราชวงศ์ในเวลาต่อมาด้วย
สุสานติ้งหลิงนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนอย่างฉางหลิง แถมยังอยู่ในสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่มีจุดเด่นที่ทำให้น่าสนใจว่าตรงที่เป็นสุสานที่มีการเปิดให้ชมใต้ดินส่วนที่มีการฝังศพด้วย จึงมีอะไรให้ชมมากกว่า และค่าเข้าชมก็แพงที่สุดด้วย
ทางเดินเข้าไปยังติ้งหลิง ระหว่างทางผ่านสะพานหินขาว (白石桥)
แล้วก็เต่าแบกแผ่นหิน
พอถึงตรงหน้าทางเข้าติ้งหลิงมีร้านขายของที่ระลึก
แล้วก็พิพิธภัณฑ์เล็กๆที่จัดแสดงเกี่ยวกับสุสานทั้ง ๑๓ แห่งนี้ เข้าชมได้โดยไม่เสียตังค์
ภายในจัดแสดงรายละเอียดคร่าวๆของสุสานแต่ละแห่ง และของที่เกี่ยวข้อง
นี่คือสุสานจิ่งหลิงของจักรพรรดิเซวียนเต๋อซึ่งเราเพิ่งไปมา
ส่วนนี่ก็สุสานเซี่ยนหลิงของจักรพรรดิหงซีซึ่งเพิ่งไปมาเช่นกัน
ดูในนั้นเสร็จก็ได้เวลาเข้าไปยังภายในบริเวณติ้งหลิง
ผ่านที่ตรวจตั๋วเข้ามาก็จะเห็นได้ว่าสุสานแห่งนี้ไม่มีทั้งหลิงเอินเตี้ยนและหลิงเอินเหมินเหมือนอย่างที่ฉางหลิงและเจาหลิงมี นั่นเป็นเพราะพังไปแล้ว สามารถเห็นได้แค่ซากฐาน จากตรงนี้สามารถมองเห็นหมิงโหลวซึ่งอยู่ไกลๆได้โดยไม่มีอะไรมาบัง
ฐานของหลิงเอินเตี้ยน
เดินผ่านเข้ามายังด้านหน้าหมิงโหลวอย่างรวดเร็ว
ก่อนที่จะเข้าไปยังหมิงโหลวนั้น ด้านข้างๆนั้นมีอาคารจัดแสดงซึ่งเล่าเกี่ยวกับจักรพรรดิว่านลี่และจัดแสดงสมบัติจำนวนหนึ่งที่ขุดขึ้นมาได้จากสุสานใต้ดินที่นี่
อีกหลัง
ทองและเงินก้อนจำนวนมากมายถูกขุดขึ้นได้จากที่นี่
ถัดมาก็เข้ามายังบริเวณหมิงโหลว
เดินผ่านหมิงโหลวเข้ามายังบริเวณภายในเป่าเฉิง
ภายในนี้ก็ดูเหมือนเป็นสวนธรรมดา
นี่คืออุโมงค์และประตูที่ลากมาจากกำแพงของเป่าเฉิง ถูกพบเพราะอิฐด้านข้างบางส่วนหลุดออก
มาถึงทางเข้าสู่สุสานใต้ดินซึ่งซ่อนอยู่ข้างใต้
ทางลง
ลงมาถึงข้างล่างแล้ว
เมื่อลงมาถึงห้องที่เจอเป็นห้องแรกคือห้องซ้าย (左室)
แผนที่ภายใน ที่นี่เล็กแค่นี้เอง ไม่ได้ซับซ้อนอย่างสุสานใต้ดินที่พบได้เวลาเล่นเกมเหมือนอย่างที่จินตนาการไว้
เดินถัดเข้ามาจะเป็นห้องกลาง (中室) ซึ่งมีบรรลังก์ของจักรพรรดิว่านลี่และฮองเฮาตั้งอยู่
จากห้องกลางเลี้ยวเข้ามาก็จะเป็นห้องหลัง (后室)
ซึ่งก็คือห้องที่เก็บโลงศพของจักรพรรดินั่นเอง
จากนั้นเส้นทางได้พาต่อไปยังห้องหน้า (前室)
ทางไปสู่ทางออกนั้นกั้นโดยกำแพงเพชร (金刚墙) ประตูนี้เป็นประตูที่ใช้เข้าออกจากที่นี่ หลังจากเอาศพของจักรพรรดิมาฝังเรียบร้อยแล้วก็นำอิฐมาปิดผนึกให้สนิท หลังจากที่มีการขุดเจอที่นี่ เขาก็ได้ทำการรื้อออกเปิดโล่ง
ออกจากกำแพงเพชรก็มาโผล่เพชรบูรณ์ เอ้ยไม่ใช่ ก็จะเจอทางขึ้นไปด้านบน
พอขึ้นมาแล้วออกมาก็จะมาโผล่ที่ศาลาแผ่นหิน
จากนั้นสามารถเดินเล่นบนกำแพงล้อมเป่าเฉิงได้
เดินตรงนี้ก็ไม่ได้เห็นอะไรมากนัก แต่มองไปไกลเห็นเจาหลิงที่เพิ่งไปมาเมื่อครู่นี้ด้วย มันอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก
การเที่ยวภายในติ้งหลิงก็จบลงเท่านี้ นี่เป็นแห่งสุดท้ายแล้ว วันนี้เท่ากับว่าได้ชมสุสานจักรพรรดิทั้งหมด ๕ แห่งจากทั้งหมด ๑๓
เดินออกมาบริเวณป้ายรถเมล์เพื่อจะหารถเมล์สาย 872 เพื่อจะนั่งกลับเมือง ระหว่างรอเห็นคนขับรถรับจ้างมาหาลูกค้าที่ต้องการจะไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ เขาเสนอราคาคนละ ๓๐ ซึ่งไม่มีใครเอาด้วย แต่สักพักเขาก็เปลี่ยนเป็นบอกว่าคนละ ๑๕ แต่ต้องรอให้ครบ ๔ คนก็เลยมีคนตกลง เราก็เลยเข้าร่วมด้วยเพราะขี้เกียจรอรถเมล์เหมือนกัน อยากกลับเร็วๆ การนั่งรถไฟฟ้าก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวในการกลับ
สถานีใกล้ที่สุดนั้นชื่อสถานีหนานเซ่า (南邵站) อยู่ในรถไฟฟ้าสายชางผิง (昌平线) ใช้เวลานั่งรถประมาณ ๑๕ นาทีก็มาถึง
เข้าไปในสถานี ขณะนั้นเวลา 14:26 จากแผนที่จะเห็นว่าสายนี้มีแค่ ๗ สถานีเท่านั้นในตอนนี้ แต่มีโครงการจะขยายเพิ่ม ถ้าขยายแล้วก็จะไปถึงสุสานราชวงศ์หมิงเลย คราวนี้คนขับรถรับจ้างคงจะหางานยากกว่าเดิมไปอีก
เสร็จแล้วก็มาต่อรถไฟฟ้าสาย 13 ที่สถานีซีเอ้อร์ฉี (西二旗站) เพื่อจะกลับเข้าตัวเมืองต่อไป
โดยรวมแล้วเที่ยวนี้ได้เห็นอะไรมากมายคุ้มมากจริงๆ แม้ว่าจะมีเรื่องให้ผิดแผนไปบ้างก็ตาม การได้ไปดูสุสานที่ไม่ได้เปิดให้เข้าแม้จะเห็นแค่ด้านนอกก็ตามก็คิดว่าคุ้มอยู่ดี ยิ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจสักเท่าไหร่นักด้วย
ปัญหาอยู่ที่สภาพอารมณ์ในขณะที่มาเที่ยวที่นี่เหมือนจะไม่ค่อยพร้อมเที่ยวเท่าที่ควร คงเป็นเพราะว่าช่วงก่อนที่จะมาที่นี่เป็นช่วงที่แวะเวียนไปเที่ยวที่โน่นที่นี่มาจนทั่วเลยอยู่ในสภาวะอิ่มตัว พอมาถึงนี่เลยอยากรีบเที่ยวให้เสร็จเร็วๆไม่อยากเสียเวลามาก อีกทั้งสภาพอากาศในวันที่ไปนั้นมีหมอกปกคลุม ถึงจะมีข้อดีทำให้ไม่เจอแดดร้อน แต่มันก็ร้อนอบอ้าวอยู่ดี อีกทั้งเมื่อทัศนียภาพไม่ดีก็ไม่มีกะใจจะเดิน ปกติถ้าฟ้าสวยจะมีความรู้สึกอยากเดินมากเป็นพิเศษต่อให้ร้อนก็ตาม ผลก็เลยทำให้ต้องเสียเงินจ้างรถไปเยอะเลยทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ได้มีความจำเป็น สถานที่ที่ไปล้วนแล้วแต่สามารถเดินไปได้ถ้ายอมเหนื่อยสักหน่อย
เที่ยวมากก็เหนื่อยและทำให้หมดเวลาไปเยอะ แต่ก็ทำให้มีเรื่องมาเล่ามากมายไม่ขาดสาย
ขอปิดท้ายด้วยรูปอาจิเซนราเมง (味千拉面) ที่คาร์ฟูร์ใกล้สถานีต้าจงซื่อ (大钟寺站) ซึ่งแวะทานหลังเที่ยวชมสุสานเสร็จ
{{s.chue}}
〇
✖
ทวีต
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ดูสถิติของหน้านี้
หมวดหมู่
--
ประเทศจีน
>>
จีนแผ่นดินใหญ่
>>
ปักกิ่ง
--
ประวัติศาสตร์
>>
ประวัติศาสตร์จีน
--
ท่องเที่ยว
>>
มรดกโลก
--
ท่องเที่ยว
>>
สุสาน
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ
三
~ 自我介绍 ~
目录
从日本来的名言
python
模块
-- numpy
-- matplotlib
-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志
按类别分日志
==เลือกหมวด==
ดาราศาสตร์
คณิตศาสตร์
-ความน่าจะเป็น
คอมพิวเตอร์
-เขียนโปรแกรม
--python
---numpy
---scipy
---matplotlib
---pandas
---manim
---pyqt
---sklearn
---pytorch
---mayapython
--ruby
--javascript
--dart
--MATLAB
--SQL
--regex
--opencv
-shell
-3D
--maya
--MMD
-microsoft_office
-pdf
-ปัญญาประดิษฐ์
--โครงข่ายประสาทเทียม
--สเตเบิลดิฟฟิวชัน
---comfyui
-การสุ่ม
ภาษาศาสตร์
-ตัวอักษร
-เรียนภาษา
-หลักเกณฑ์การทับศัพท์
-ภาษาจีน
--ภาษาจีนกลาง
-ภาษาญี่ปุ่น
-ภาษามองโกล
-ภาษาลาว
-ภาษาเขมร
ประวัติศาสตร์
-ประวัติศาสตร์จีน
-ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ปรัชญา
ประเทศจีน
-จีนแผ่นดินใหญ่
--ปักกิ่ง
--เทียนจิน
--เหลียวหนิง
--เหอเป่ย์
--เหอหนาน
--ซานตง
--ซานซี
--อานฮุย
--เจ้อเจียง
--หูเป่ย์
--หูหนาน
--ฝูเจี้ยน
--กวางตุ้ง
---แต้จิ๋ว
--ยูนนาน
--ซินเจียง
-ฮ่องกง
-มาเก๊า
-ไต้หวัน
--ไทเป
--จีหลง
--เถาหยวน
--ซินจู๋
--เหมียวลี่
--ไถจง
--จางฮว่า
--หยวินหลิน
--เจียอี้
--ไถหนาน
--เกาสยง
--ผิงตง
--อี๋หลาน
ประเทศญี่ปุ่น
-ฮกไกโด
-อาโอโมริ
-อิวาเตะ
-มิยางิ
-อากิตะ
-ยามางาตะ
-ฟุกุชิมะ
-อิบารากิ
-โทจิงิ
-กุมมะ
-ไซตามะ
-จิบะ
-โตเกียว
-คานางาวะ
-นีงาตะ
-โทยามะ
-อิชิกาวะ
-ฟุกุอิ
-ยามานาชิ
-นางาโนะ
-กิฟุ
-ชิซึโอกะ
-ไอจิ
-มิเอะ
-ชิงะ
-เกียวโต
-โอซากะ
-เฮียวโงะ
-นาระ
-วากายามะ
-โอกายามะ
-ฮิโรชิมะ
-ยามางุจิ
-ฟุกุโอกะ
-ซางะ
-นางาซากิ
-คุมาโมโตะ
-โออิตะ
ต่างแดน
-อุษาคเนย์
--กัมพูชา
--พม่า
--สิงคโปร์
-ยุโรป
--สวีเดน
--เดนมาร์ก
--ฟินแลนด์
-ออสเตรเลีย
ท่องเที่ยว
-มหาวิทยาลัย
-พิพิธภัณฑ์
--พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
--หอศิลป์
-สวนสัตว์
--พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
-ท้องฟ้าจำลอง
-ตึกระฟ้า
-ปราสาท☑
--ปราสาทญี่ปุ่น
--ปราสาทขอม
--ปราสาทยุโรป
-ศาสนสถาน
--วัด
--ศาลเจ้า
--โบสถ์
--มัสยิด
-สุสาน
-มรดกโลก
-ทะเล
-ทะเลสาบ
-ภูเขา
-ภูเขาไฟ
-หิมะ
-ดอกซากุระ
-แมว
-รถไฟ
-เรือ
-ตลาดกลางคืน
-งานเทศกาล
-ที่ระลึกภัยพิบัติ
-ตามรอย
บันเทิง
-เกม
--อาเตอลีเย
--โปเกมอน
--caligula
--vn
-อนิเมะ
-มังงะ
-นิยาย
-เพลง
--เพลงอนิเมะ
--เพลงเกม
เรื่องแต่ง
บันทึก
ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ
查看日志
最近
เดินชมริมฝั่งทะเลโมจิโกวสุดปลายเหนือเกาะคิวชู มองสะพานพาดผ่านช่องแคบคัมมงจากศาลเจ้าเมการิ
เดินเที่ยวในเมืองทาเกโอะ ชมสวนมิฟุเนะยามะรากุเองใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีทั้งตอนกลางวันและค่ำคืน
นั่งรถไฟจากชิมาบาระไปตามชายฝั่งทะเล เปลี่ยนชิงกันเซงที่อิซาฮายะ ไปลงที่สถานีทาเกโอะอนเซงจังหวัดซางะ
เดินย่านบ้านซามุไรและแหล่งน้ำพุในเมืองชิมาบาระ แวะกินอาหารพื้นบ้าน
ปราสาทชิมาบาระ ปราสาทสวยใหญ่ล้อมด้วยคูบัวในเมืองที่อยู่ระหว่างภูเขากับทะเล
推荐日志
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ
各月日志
2024年
1月
2月
3月
4月
5月
6月
7月
8月
9月
10月
11月
12月
2023年
1月
2月
3月
4月
5月
6月
7月
8月
9月
10月
11月
12月
2022年
1月
2月
3月
4月
5月
6月
7月
8月
9月
10月
11月
12月
2021年
1月
2月
3月
4月
5月
6月
7月
8月
9月
10月
11月
12月
2020年
1月
2月
3月
4月
5月
6月
7月
8月
9月
10月
11月
12月
找更早以前的日志
ไทย
日本語
中文