พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง
เขียนเมื่อ 2017/07/18 20:36
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
# จันทร์ 3 ก.ค. 2017ช่วงวันที่ 3-7 มีงานประชุมดาราศาสตร์ APRIM ดังที่ได้กล่าวถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170716งานเริ่มวันที่ 3 ในตอนเย็น แต่เพื่อนที่มาจากไทยมาตั้งแต่คืนวันที่ 2 แล้ว ดังนั้นจึงพาไปเที่ยวก่อนในช่วงเช้าสถานที่เที่ยวที่ตัดสินใจพาเพื่อนมาแนะนำเป็นที่แรกก็คือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง (國立故宮博物院, 国立故宫博物院, กั๋วลี่กู้กงปั๋วอู้ย่วน) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เป็นเป้าหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยวมักจะแวะไปเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ วันก่อนได้เล่าถึงแล้วเล็กน้อยในนี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20170102เพียงแต่ว่าครั้งนั้นได้เที่ยวแค่นิดเดียว ไม่ได้มีรายละเอียดอะไร จึงไม่ได้ลงรายละเอียด
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กงตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำไว่ซวางซี (外雙溪, 外双溪) เขตซื่อหลิน (士林) ในเมืองไทเปที่นี่ยังมีอีกชื่อเรียกว่าพิพิธภัณฑ์จงซาน (中山博物院) แต่ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมเรียกกันทั่วไปบางครั้งคนจีนก็เรียกที่นี่ว่ากู้กงไต้หวัน (台灣故宮, 台湾故宫, ไถวันกู้กง)เดิมทีพิพิธภัณฑ์กู้กงถูกตั้งขึ้นที่กู้กง (พระราชวังต้องห้าม) ซึ่งอยู่ในปักกิ่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้อ่านรายละเอียดได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170102สำหรับสมบัติที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้น จำนวนมากเป็นของที่เดิมที่เก็บอยู่ในพระราชวังกู้กงมาก่อนเพียงแต่ว่าไม่ใช่ว่าถูกขนจากปักกิ่งมายังไต้หวันโดยตรง เดิมทีสมบัติเหล่านั้นถูกเริ่มขนย้ายไปยังหนานจิงตั้งแต่ปี 1933 เพื่อป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น เพราะสถานการณ์ตอนนั้นกำลังตึงเครียดและต่อมาเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วก็ยังต่อด้วยสงครามภายในระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งต่อเนื่องตามมาติดๆ สมบัติก็เลยถูกย้ายหนีไปเรื่อยๆอีกหลายที่ จนสุดท้ายเมื่อรัฐบาลก๊กมินตั๋งตัดสินใจที่จะถอยหนีมาตั้งหลักที่ไต้หวัน จึงได้ทำการย้ายสมบัติมายังไต้หวันด้วยการขนย้ายเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1948 สมบัติถูกขนย้ายผ่านทางเรือจากท่าเรือที่หนานจิงไปยังท่าเรือจีหลง (基隆港) ที่เมืองจีหลงทางเหนือของเกาะไต้หวันในช่วงแรกสมบัติถูกเก็บไว้ที่โรงงานน้ำตาลไถจง (台中糖廠, 台中糖厂) ที่เมืองไถจง และไม่นานก็ย้ายไปยังตีนเขาเป่ย์โกว (北溝, 北沟) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอู้เฟิง (霧峰, 雾峰) เมืองไถจง และได้ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงขึ้นที่นั่นต่อมาในปี 1965 พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมายังสถานที่ปัจจุบัน นั่นคือริมแม่น้ำไว่ซวางซี ซึ่งอยู่นอกเมือง ล้อมรอบไปด้วยภูเขา แต่ก็ไม่ไกลจากเขตตัวเมือง สามารถเดินทางแวะมาได้ง่ายนี่เป็นรายการที่แนะนำประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ https://www.youtube.com/watch?v=FJL4_Gpyh6Mในการเดินทางไปนั้นทำได้โดยนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงไปลงที่สถานีซื่อหลิน (士林站) นั่งรถเมล์สาย 304 ต่อไปเพียงแต่ว่าสาย 304 นี้วิ่งผ่านแถวซีเหมิน ซึ่งใกล้กับโรงแรมที่พักอยู่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงนั่งจากตรงนั้นมาได้โดยตรง ไม่ต้องเปลี่ยนรถให้ลำบาก เพราะถ้านั่งรถไฟฟ้าจากสถานีซีเหมินไปยังสถานีซื่อหลินจะต้องต่อรถจากสายสีเขียวหรือสีน้ำเงินไปยังสายสีแดง แล้วยังต้องมาขึ้นรถเมล์อีกที กลายเป็น ๓ ต่อใช้เวลา ๕๐ นาทีจากสถานีซีเหมิน ในที่สุดรถเมล์ก็เดินทางก็มาถึง บันไดทางขึ้นไปสู่พิพิธภัณฑ์อยู่ตรงหน้าเมื่อเดินขึ้นมา อาคารใหญ่ที่เห็นอยู่ตรงหน้าก็คือหอจัดแสดงหลักเดินขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงทางเข้า ยิ่งเข้ามาใกล้ก็จะยิ่งเห็นถึงความใหญ่โตและหากมองไปยังด้านซ้ายจะเห็นอาคารบริหาร และมองออกไปไกลๆต่อทางซ้ายจะเห็นอาคารจัดแสดงที่ ๒อาคารจัดแสดงที่ ๒ นี้ใช้ในการจัดแสดงพิเศษ และมีหอสมุดอยู่ข้างในด้วย แต่ครั้งนี้เราไม่ได้แวะเข้าไป เนื่องจากแค่อาคารหลักก็แทบจะเดินไม่ทั่วแล้วข้างๆกันนั้นยังมีร้านอาหาร กู้กงจิงหัว (故宮晶華, 故宫晶华) อันที่จริงตอนที่เราไปถึงนั้นตั้งใจจะไปหาอะไรทานในนี้แล้วค่อยเริ่มเข้าชม แต่เนื่องจากร้านนี้เปิด 11 โมงครึ่ง จึงต้องไปเข้าชมก่อนแต่พอถึงเวลา 11 โมงครึ่งจริงๆก็พบว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ก็เลยไม่กล้าออกจากอาคารเพื่อข้ามไปทาน แต่ยังดีว่าภายในอาคารจัดแสดงหลักก็มีร้านอาหารง่ายๆอยู่ก็เลยแวะอันนี้เป็นแฮมเบอร์เกอร์ข้าวไส้หมู ราคา ๘๐ บาทพอเข้ามายังอาคารจัดแสดงหลักแล้วก็ซื้อบัตรเข้าชม ค่าเข้าชมที่นี่ราคา ๒๕๐ บาท แต่ว่าสำหรับนักศึกษาแล้วจะเข้าได้ฟรี ดังนั้นเราจึงไม่ต้องเสียค่าเข้า แค่ต้องยื่นบัตรนักเรียนให้เขาดูเท่านั้น จะเสียค่าเข้าชมแค่เพื่อนที่มาด้วยเท่านั้นต่อจากตรงนี้จะเล่าถึงส่วนจัดแสดงภายใน ซึ่งประกอบไปด้วย ๓ ชั้น แต่ละชั้นก็แบ่งเป็นห้องต่างๆ เราเริ่มชมไล่ไปตั้งแต่ชั้น ๑ ไปจนถึงชั้น ๓พวกเราไม่ได้ชมสิ่งต่างๆภายในนี้อย่างละเอียดเนื่องจากเวลาจำกัด แค่เดินทางมาถึงก็ 10 โมงเช้าแล้ว และมีเวลาจนถึงบ่าย 2 โมง รวมแล้ว ๔ ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับการดูแบบผ่านๆ แต่หากจะดูละเอียดจริงๆแล้วต่อให้มีเวลาทั้งวันก็ไม่พอชั้น ๑ เริ่มจากห้อง 101 เป็นห้องเมตตาและปัญญา (悲傷與智慧, 悲伤与智慧) และ ประติมากรรมทางศาสนา (宗教雕塑藝術, 宗教雕塑艺术)ห้อง 103 และ 104 เป็นห้องจัดแสดงหนังสือและเอกสารพิเศษ (圖書文獻特展室, 图书文献特展室)ภายในมีพวกเอกสารโบราณต่างๆมากมายซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ส่วนห้อง 105 และ 107 เป็นห้องจัดแสดงพิเศษ (特展室)ภายในอธิบายประวัติศาสตร์ไล่ตามยุคต่างๆ และมีสิ่งของจากยุคสมัยนั้นให้ดูประกอบตรงนี้เป็นเส้นเวลาในประวัติศาสตร์จีนโดยมีดเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆไปด้วยส่วนห้อง 108 จัดแสดงเครื่องเรือนและการจัดห้องในสมัยราชวงศ์ชิงต่อมาขึ้นมาดูที่ชั้น ๒ ห้อง 202, 204, 206, 208, 210 และ 212 เป็นห้องจัดแสดงภาพวาดและภาพเขียน (書畫展覽區, 书画展览区)เข้ามาลึกด้านในส่วนลึกของห้อง 210 เป็นส่วนที่จัดแสดงงานศิลปะของจูเซปเป กัสติญโญเน (Giuseppe Castiglione, 1688-1766) จิตรกรชาวอิตาลีที่ทำงานในจีนช่วงต้นยุคราชวงศ์ชิง มีชื่อจีนว่าหลางซื่อหนิง (郎世寧, 郎世宁)ส่วนห้อง 201, 203, 205 และ 207 เป็นส่วนที่จัดแสดงพวกเครื่องลายครามแล้วก็เครื่องใช้พิเศษตรงนี้เป็นเส้นเวลาของเครื่องลายครามแต่ละอันส่วนตรงนี้เป็นส่วนที่ให้ลองสัมผัสของจริงดูได้แล้วก็มีร้านขายของที่ระลึกอยู่ด้วยต่อมาชั้น ๓ เมื่อขึ้นมาถึงจะเห็นห้อง 300 ซึ่งมีกระโจมมองโกลจัดแสดงอยู่มาที่ห้อง 301 เป็นที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติอักษรจีนและพวกเครื่องโลหะศิลาจารึก นี่คือเหมากงติ่ง (毛公鼎) เป็นภาชนะเครื่องสำริดซึ่งมีสลักอักษรจีนโบราณอยู่อักษรที่สลักอยู่บนเหมากงติ่งนี้เรียกว่าจินเหวิน (金文) อักษรที่ใช้ในช่วงยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (西周, 1046-771 ปีก่อน ค.ศ.) เหมากงติ่งถูกสร้างในสมัยของกษัตริย์โจวเซวียนหวาง (周宣王, 828-782 ปีก่อน ค.ศ.)ถัดมาดูที่ห้อง 303 ซึ่งจัดแสดงพวกภาชนะเครื่องใช้ถัดมาเป็นห้อง 305 ซึ่งจัดแสดงเครื่องโลหะเครื่องดนตรีซึ่งมีสลักอักษรโบราณไว้ส่วนแผนผังนี้แสดงภาชนะหรือเครื่องมือชนิดต่างๆ มีเยอะแยะมากมาย
ภาชนะใส่อาหาร |
ติ่ง |
鼎 |
|
dǐng |
ลี่ |
鬲 |
|
lì |
หย่าน |
甗 |
|
yǎn |
กุ่ย |
簋 |
|
guǐ |
สวี่ |
盨 |
|
xǔ |
ฝู่ |
簠 |
|
fǔ |
โต้ว |
豆 |
|
dòu |
ภาชนะใส่เหล้า |
เจวี๋ย |
爵 |
|
jué |
เจี่ย |
斝 |
|
jiǎ |
กง |
觥 |
|
gōng |
โหย่ว |
卣 |
|
yǒu |
เหอ |
盉 |
|
hé |
เหล่ย์ |
罍 |
|
lěi |
ภาชนะใส่น้ำ |
จุน |
尊 |
|
zūn |
หู |
壺 |
壶 |
hú |
อี๋ |
彝 |
|
yí |
ผาน |
盤 |
盘 |
pán |
หยวี |
盂 |
|
yú |
อี |
匜 |
|
yí |
เจี้ยน |
鑑 |
鉴 |
jiàn |
เครื่องดนตรี |
เหนา |
鐃 |
铙 |
náo |
จง |
鐘 |
钟 |
zhōng |
ปั๋ว |
鎛 |
镈 |
bó |
อาวุธ |
เหมา |
矛 |
|
máo |
เกอ |
戈 |
|
gē |
จี่ |
戟 |
|
jǐ |
เจี้ยน |
劍 |
剑 |
jiǎn |
หนู่จี |
弩機 |
弩机 |
nǔjī |
ห้อง 306 และ 308 จัดแสดงพวกเครื่องหยกและห้องที่เราดูเป็นห้องสุดท้ายก็คือห้อง 304 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการจัดแสดงพวกภาชนะเครื่องใช้เช่นเดียวกับห้อง 303นี่คือกล้องส่องทางไกลสมัยราชวงศ์ชิง กล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์นั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวตะวันตก และได้นำเข้ามายังจีนตอนช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิง สมัยก่อนถูกเรียกว่า "เชียนหลี่จิ้ง" (千里鏡, 千里镜) แปลว่า "กล้องพันลี้" แต่ปัจจุบันใช้คำว่า "ว่างหย่วนจิ้ง" (望远镜, 望遠鏡) แปลว่า "กล้องมองไกล"แล้วการเข้าชมในครั้งนี้ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้การได้เข้าชมที่นี่ก็ทำให้นึกถึงตอนที่อยู่ปักกิ่งแล้วได้ชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน (中國國家博物館, 中国国家博物馆) ซึ่งเขียนบันทึกไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161130ที่นั่นกับที่นี่มีความคล้ายคลึงกันมาก ถ้าให้เทียบกันแล้ว ในความเห็นส่วนตัวรู้สึกว่าของปักกิ่งทำได้ดีกว่า ทั้งดูแล้วใหญ่กว่า มีรายละเอียดมากกว่า บรรยากาศน่าเดินมากกว่าหลังชมห้อง 304 เสร็จเราก็เดินออกจากที่นี่ไปยังป้ายรถเมล์สำหรับรอรถเมล์สาย 304ว่าไปแล้วเลข 304 นั้นบังเอิญตรงกับสายรถเมล์ที่เรานั่งมาและต้องนั่งกลับพอดีเลยรอสักพักรถเมล์สาย 304 ก็มาขากลับสังเกตเห็นว่ารถเมล์สายนี้มีเขียนชื่อพิพิธภัณฑ์กู้กงเป็นคำอ่านภาษาญี่ปุ่นกับเกาหลีไว้ด้วย พอดีว่าได้นั่งตรงที่มีติดชื่อไว้พอดีเลยเห็นได้ชัดภาษาญี่ปุ่น อักษรฮิรางานะ こきゅうはくぶついん โคกิว ฮากุบุตสึอิงภาษาเกาหลี อักษรฮันกึล 고궁 박물원 โคกุง พังมูรวอนพวกเรานั่งรถเมล์กลับไปยังโรงแรมที่ซีเหมิน จากนั้นจึงนั่งรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางไปเข้าร่วมพิธีเปิดงาน APRIM ซึ่งเริ่มขึ้นตอน 4 โมงเย็นกันต่อไป
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ