# อาทิตย์ 9 ก.ค. 2017
หลังจากที่ชมเรื่องวิทยาการของชาวจีนกันมาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20170809
จากนี้ไปจะเป็นส่วนสุดท้ายสำหรับการเข้าชมในวันนี้ นั่นคือเรื่องของชนเผ่าออสโตรนีเซียในไต้หวัน
เกาะใต้หวันนั้นชนพื้นเดิมไม่ใช่ชาวจีนฮั่น แต่เป็นชนเผ่าที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับที่อยู่ในอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์และหมู่เกาะบางส่วนในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ประชากรมีจำนวนแค่เล็กน้อย หลังจากที่ชาวจีนเริ่มอพยพมาไต้หวันก็ได้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ ส่วนชนเผ่าดั้งเดิมก็เหลืออาศัยอยู่ตามหุบเขา
บ่อยครั้งที่วัฒนธรรมของชนเผ่าดั้งเดิมถูกหยิบยกมาในฐานะเอกลักษณ์ของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ชนเผ่าเหล่านี้มีแค่ 2% ของประชากรเท่านั้น ที่เหลือ 97% เป็นชาวฮั่น ดังนั้นจริงๆแล้วสัดส่วนชาวฮั่นบนไต้หวันสูงกว่าจีนแผ่นดินใหญ่เสียอีก
การกระจายของชนเผ่าต่างๆในไต้หวัน จะเห็นว่ากระจุกอยู่ยนเขาซะมาก มีอยู่มากมายจนไม่อาจจะพูดถึงได้หมด ในส่วนจัดแสดงตรงนี้เองก็ยกมาแค่ชนเผ่าหลักๆที่สำคัญเท่านั้น
ชนเผ่าอาจแบ่งใหญ่ๆออกเป็น ๒ กลุ่มคือ เกาซาน (高山族) กับ ผิงผู่ (平埔族) โดยมากเกาซานจะอยู่บนเขา ส่วนผิงผู่จะอยู่จะอยู่บนที่ราบ
แต่ว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้จะเรียกชนพื้นเมืองในไต้หวันทั้งหมดรวมๆว่าเผ่าเกาซาน
ที่ตั้งเด่นอยู่ตรงนี้คือเรือที่เรียกว่า พินป่านโจว (拼板舟) เรือประมงของชาวหยาเหม่ย์ (雅美族, Yami) หรือเรียกอีกชื่อว่าชาวต๋าอู้ (達悟族, 达悟族, Tao) ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะหลานหยวี่ (蘭嶼, 兰屿) เล็กๆทางตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน เป็นชนเผ่าเดียวในไต้หวันที่เน้นอาชีพประมง ดังนั้นเรือจึงมีความสำคัญ
รายละเอียดเกี่ยวกับเรือนี้ได้เขียนไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170810
แบบจำลองพื้นที่อาศัยของเผ่าโจว (鄒族, 邹族, Tsou) อาศัยอยู่ในแถบเขาอาหลี่ซานกลางเกาะไต้หวัน
ส่วนตรงนี้เป็นแบบจำลองบ้านซึ่งสามารถดูภายในได้
โดยจะมีปุ่มให้กดเพื่อเปิดหลังคา เพียงแต่ว่าปุ่มนี้ถ้ากดไปทีนึงแล้วต้องรออีก ๓ นาทีจึงจะกดครั้งต่อไปได้ คงเพื่อป้องกันไม่ให้ใครมากดเล่น เพราะตอนที่มาก็มีเด็กมาด้วย เด็กก็กดปุ่มรัวๆ
ต่อมาเป็นชุมชนของเผ่าหลูไข่ (魯凱族, 鲁凯族, Rukai) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ๆของเกาะไต้หวัน
บ้านที่พักอาศัย
สามารถเปิดดูข้างในได้เช่นกัน
จากนั้นก็เป็นชุมชนของเผ่าหยาเหม่ย์ (ต๋าอู้)
บ้าน
ตรงนี้จำลองสภาพบ้านขนาดเท่าของจริง
ของต่างๆตามประเพณีและความเชื่อของชนเผ่า
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
เดินจบตรงนี้ก็พอแค่นี้ ยังเหลือบริเวณอีกมากมายที่ยังไม่ได้เดิน แต่ไว้คราวหน้าหากมีโอกาสคงมาอีก ที่นี่มีอะไรน่าสนใจมากมายเกินกว่าที่จะดูหมดได้ในวันเดียวจริงๆ
## 2022/06/05 หลังจากผ่านไป ๕ ปี ในที่สุดก็ได้แวะกลับมาเที่ยวที่นี่อีก เขียนบันทึกไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20220605
ที่จริงด้านตรงข้ามถนนยังมีส่วนของสวนพฤกษศาสตร์และเรือนกระจกอีกด้วย ซึ่งก็ไม่มีเวลาแวะไปเช่นกัน
จากนั้นก็มาขึ้นรถเมล์เพื่อกลับ
เรากลับไปที่สถานีรถไฟ แต่พอจะซื้อตั๋วก็พบว่าไม่มีที่นั่งในรอบใกล้ๆเลย หากอยากนั่งต้องรอถึงดึก
ดังนั้นจึงตัดสินใจนั่งรถบัสกลับแทน สถานีขนส่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ เดินไปนิดเดียวก็ถึง
ซื้อตั๋วตรงนี้ จากไถจงไปเจียอี้ราคา ๑๙๐
เหลือเวลาเล็กน้อยให้รอ ก็แวะเดินดูของด้านใน ที่นี่กว้างพอดูเหมือนกัน
มีโรงอาหารด้วย แต่เราไม่มีเวลากิน ตั้งใจจะกลับไปถึงเจียอี้ค่อยกิน
ร้านสะดวกซื้อ
ได้ซื้อขนมพระอาทิตย์ ไท่หยางปิ่ง (太陽餅, 太阳饼) ขนมขึ้นชื่อของไถจงติดไม้ติดมือไปเป็นของฝาก
จากนั้นก็ขึ้นรถ
ตั๋วรถ พอขึ้นรถเขาก็ฉีกมุมออกไปเป็นแบบนี้ ไม่น่าดูเท่าไหร่
รถออก 18:20 ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงกว่าจึงถึง ถือว่าใช้กว่ารถไฟพอสมควร ที่ช้าเพราะมีแวะรับคนตามจุดต่างๆในเมืองอีกหลายจุดมาก กว่าจะออกจากตัวเมืองก็เกือบชั่วโมงไปแล้ว
กลับมาถึงก็สองทุ่มกว่าจะสามทุ่มแล้ว แวะกินข้าวเย็นที่ร้านข้างๆโรงแรม
จบการเที่ยวไถจงในวันนี้แต่เพียงเท่านี้ หลังจากหมดเวลาไปกับพิพิธภัณฑ์ทั้งวัน เขียนเล่ายาวถึง ๕ ตอน
ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ