φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ชมส่วนจัดแสดงภายในวิทยาเขตซางามิฮาระของ JAXA
เขียนเมื่อ 2014/01/31 09:28
แก้ไขล่าสุด 2023/07/01 20:22
#อังคาร 12 พ.ย. 2013

หลังจากที่ไปเดินเล่นออกกำลังกายยามเช้าที่เมืองซามะมา https://phyblas.hinaboshi.com/20140126

ก็กลับมาถึงวิทยาเขตซางามิฮาระทันก่อนที่การบรรยายช่วงเช้าจะเริ่มขึ้นตอนสิบโมงแบบเฉียดฉิว

เล็กเชอร์แรกของวันนี้บรรยายโดย ผ.ศ. ยามาซากิ อัตสึชิ (山﨑 敦) ผู้วิจัยด้านฟิสิกส์พลาสมาและบรรยากาศดาวเคราะห์ ซึ่งเดิมทีต้องมาบรรยายตั้งแต่เมื่อวาน แต่เนื่องจากติดธุระจึงสลับมาวันนี้



เขามีส่วนในการวิจัยดาวเทียมสังเกตการณ์วิเคราะห์แสงดาวเคราะห์ ฮิซากิ (ひさき) ซึ่งถูกส่งออกไปโคจรรอบโลกเมื่อ 14 ก.ย. 2013 เป็นดาวเทียมลำแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อสังเกตการณ์ดาวเคราะห์โดยเฉพาะ

การส่งฮิซากิยังถือเป็นการทดสอบการใช้งานครั้งแรกของจรวดเอ็ปซิลอน (イプシロンロケット) ซึ่งเป็นจรวดล่าสุดที่เพิ่งถูกคิดค้นใหม่ล่าสุดของ JAXA ตอนท้ายของการบรรยายเขามีให้ดูคลิปวีดีโอการปล่อยจรวดด้วย



หลังจากฟังบรรยายนี้เสร็จแล้วต่อไปเขาก็พาไปชมห้องควบคุมดาวเทียมเรย์เมย์ (れいめい) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำหรับสังเกตการณ์ออโรราซึ่งถูกส่งออกไปเมื่อ 24 ส.ค. 2005 จนถึงตอนนี้ก็ยังใช้งานอยู่

เรย์เมย์จะทำการสังเกตการณ์การกระจายของการเปล่งออโรราและอนุภาคพลาสมาในบริเวณหนึ่งเพื่อวิเคราะห์จุดกำเนิดและโครงสร้างของออโรรา ภายในประกอบไปด้วยกล้องถ่ายออโรราในหลากหลายความยาวคลื่น และอุปกรณ์วิเคราะห์สเป็กตรัม ทำให้สามารถสังเกตการณ์โครงสร้างการเปล่งออราและอนุภาคพลาสมาไปพร้อมๆกันได้

ระหว่างทางเดินภายในอาคารศูนย์วิจัย



นี่คือห้องควบคุมดาวเทียมเรย์เมย์ คนที่ยืนอยู่หลังสุดคือนักวิจัยที่ทำงานที่นี่



เขาให้พวกเราดูจอที่ใช้ควบคุมดาวเทียมและอธิบายการทำงานให้ฟัง



ที่ผนังห้องมีอะไรๆติดอยู่มากมายเลย ตรงกลางนี้คือรูปดาวเทียมเรย์เมย์



เห็นมีติดแผ่นพับของสถาบันเทคโนโลยีอวกาศของเวียดนาม (viện công nghệ vũ trụ) ด้วย เลยลองชวนเพื่อนคนเวียดนามคุยถามถึงก็เห็นบอกว่าที่เวียดนามมีความร่วมมือกับที่นี่อยู่ ไม่นานนี้มีการส่งดาวเทียมออกไป



ดูเสร็จก็ได้เวลาทานข้าว ก็ทานที่โรงอาหารอีกเช่นเคย มื้อนี้ลองสปาเก็ตตี ราคา ๕๐๐ เยน อร่อยดี





หลังจากทานมื้อเที่ยงเสร็จก็กลับมาฟังเล็กเชอร์ต่อ ซึ่งบรรยายโดย ศ. อิชิกาวะ ทาเกฮิโกะ (石川 毅彦) ผู้ทำงานวิจัยด้านวิศวกรรมเครื่องกล

เขามาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ และสถานีอวกาศนานาชาติ

สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หรือสภาวะไร้น้ำหนัก ก็คือสภาวะเมื่ออยู่ในอวกาศซึ่งแรงโน้มถ่วงจากโลกมีอิทธิพลต่ำมาก ทำให้วัตถุล้วนลอยอิสระ ไม่มีด้านบนด้านล่าง ไม่มีการตกสู่พื้น การจะวิจัยผลของสภาวะนี้ต้องไปทำกันในอวกาศ ซึ่งสถานทดลองเรื่องนี้ที่ดีที่สุดในปัจจุบันก็คือที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งโคจรอยู่รอบโลกโดยอยู่สูงจากพื้นโลก ๔๐๐ กิโลเมตร



หลังจากการบรรยายจบ รายการต่อไปก็คือการไปชมส่วนจัดแสดงซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้



ระหว่างทางเดินผ่านตรงที่มีจรวด Μ-V และแบบจำลองจรวด Μ-3SII ตั้งแสดงอยู่ จรวดทั้งสองชนิดนี้เป็นจรวดในกลุ่มจรวดมิว ซึ่งเป็นจรวดรุ่นเก่าที่พัฒนาขึ้นมาโดย ISAS ก่อนที่จะมารวมเป็น JAXA ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว โดย Μ-3SII ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1985 ถึง 1995 ส่วน Μ-V ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1997 ถึง 2006


รายละเอียดอ่านได้ที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20140120

อ. โซเนะ กำลังบรรยายเกี่ยวกับจรวดให้ฟัง



เข้ามาด้านในส่วนจัดแสดง จะเห็นว่าไม่ได้กว้างอะไรมาก แต่ของตั้งแสดงอยู่เต็มไปหมด



ที่เห็นตั้งอยู่ตรงกลางเด่นสุดคือแบบจำลองยานฮายาบุสะ (やはぶさ) ขนาดเท่าของจริง



ฮายาบุสะเป็นยานสำรวจอวกาศที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น มันถูกส่งออกไปเมื่อปี 2006 เพื่อไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ (イトカワ) โดยถ่ายภาพระยะใกล้ และทำการลงจอดเพื่อเก็บชิ้นส่วนจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มา ระหว่างการทำงานของมันมีปัญหามากมาย เช่นเครื่องยนต์ไอออนทำงานไม่ปกติ ลงจอดล้มเหลวไปครั้งหนึ่ง ระเบิด สัญญาณขาดหายไประหว่างเดินทาง จนเกือบจะกลับมาไม่ได้ ทำให้นักวิจัยทุกคนต้องปวดหัวคิดหาทางแก้เฉพาะทางกันแบบไม่ว่างเว้น แต่สุดท้ายก็พามันกลับมาได้ในปี 2010 ซึ่งช้ากว่าแผนเดิมไปที่ตั้งใจจะกลับมาตั้งแต่ปี 2007 แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ฮายาบุสะเป็นยานลำแรกของโลกที่นำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยกลับสู่โลกได้สำเร็จ เป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น การสำรวจดาวเคราะห์น้อยนั้นมีความสำคัญเนื่องจากหินบนดาวเคราะห์น้อยมีอายุเก่าแก่มากกว่าหินบนดาวเคราะห์เนื่องจากไม่ถูกหลอมและเปลี่ยนรูปเนื่องจากความร้อนภายในดาวเคราะห์

นี่คือแบบจำลองขนาดเท่าของจริงของแค็ปซูลที่ใส่ชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นส่วนของฮายาบุสะที่กลับมายังโลก มันตกลงบนพื้นโลกที่ออสเตรเลีย และก็มีทีมงานไปค้นหาเพื่อเก็บมันขึ้นมา ตรงนี้เขาให้เราลองยกมันขึ้นมาดูได้ น้ำหนักถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าของจริง ซึ่งก็หนักกว่าที่คิด แต่คนเดียวสามารถยกขึ้นมาได้ไม่ยาก



โปสเตอร์บรรยายเรื่องของยานฮายาบุสะและดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ



ในรูปนี้คือทีมงานที่ทำงานกับฮายาบุสะ



ภายในตู้แสดงชิ้นส่วนภายในของยานฮายาบุสะ และรูปที่ติดผนังอยู่ก็เป็นคนที่ออกมาแสดงความยินดีกับความสำเร็จ



นี่คือฮายาบุสะ 2 (はやぶさ2) เป็นโครงการที่สานต่อจากยานฮายาบุสะ คราวนี้โดยจะไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งเพื่อเก็บตัวอย่างมาเช่นเดิม ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการ มีกำหนดจะปล่อยในปี 2014 ด้วยจรวด H-IIA ดาวเคราะห์เป้าหมายครั้งนี้มีชื่อว่า (162173) 1999 JU3 โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยวงโคจรใกล้เคียงกับโลก ระห่างเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1.2 AU ตามกำหนด ยานจะไปถึงมันในปี 2018



หน้าประตูทางเข้ามีแบบจำลองขนาดเล็กของยานอากัตสึกิ (あかつき) ซึ่งส่งไปสำรวจดาวศุกร์ ขณะนี้ยานนี้กำลังอยู่ในระหว่างรอเพื่อที่จะเข้าสู่วงโคจรของดาวศุกร์ใหม่ในปี 2015 หลังจากที่ล้มเหลวในการเข้าสู่วงโคจรดาวศุกร์ตามแผนเดิมในปี 2010



แผ่นนี้อธิบายเกี่ยวกับโครงการเบปีโคลอมโบ (BepiColombo) ที่วางแผนจะไปสำรวจดาวพุธโดยมีกำหนดจะปล่อยในปี 2015 และไปถึงดาวพุธในปี 2022



ภาพถ่ายวีดีโอของนักบินอวกาศ วากาตะ โควอิจิ (若田 光一) ที่ถ่ายจากอวกาศตอนที่เขาขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2009 เป็นข้อความทักทายคนที่เข้ามาชมส่วนจัดแสดงที่วิทยาเขตซางามิฮาระนี้



ตู้นี้จัดแสดงแบบจำลองขนาดเล็กของดาวเทียมต่างๆที่เคยถูกส่งไปตั้งแต่เมื่อก่อน



แบบจำลองดาวเทียมโอสึมิ (おおすみ) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของญี่ปุ่น ถูกส่งออกไปเมื่อปี 1970



แบบจำลองจรวด อันขวาคือจรวด Μ-3S และอันซ้ายคือจรวด Μ-3SII ซึ่งเป็นจรวดในกลุ่มจรวดมิว จรวด Μ-3SII นั้นเป็นรุ่นเดียวกับที่ตั้งแบบจำลองขนาดเท่าของจริงอยู่ด้นานอก ส่วนจรวด Μ-3S เป็นรุ่นเก่ากว่า ถูกใช้ในช่วงปี 1980 ถึง 1984



วิวัฒนาการของจรวดญี่ปุ่น จะเห็นว่าแบ่งออกเป็นสองสาย ด้านบนคือตระกูลจรวดมิว (ミューロケット) ที่พัฒนาโดย ISAS  และด้านล่างคือจรวดที่พัฒนาโดย NASDA ก่อนที่ปี 2003 จะมารวมกันเป็น JAXA และในที่สุดทั้งสองสายก็มารวมกันกลายเป็นจรวด H-IIB และจรวดเอ็ปซิลอน (イプシロンロケット)



แบบจำลองยานกล้องโทรทรรศน์วิทยุฮารุกะ (はるか) ซึ่งถูกส่งออกไปเมื่อปี 1997 ด้วยจรวด Μ-V และใช้งานอยู่จนถึงปี 2005 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Very Long Baseline Interferometry (VLBI) ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากดาวเทียมที่โคจรรอบโลกอยู่หลายๆตัวเพื่อทำหน้าที่เหมือนกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่กว่าโลก ซึ่งมีประโยชน์ในการสำรวจอวกาศไกลๆ



ทรงสี่เหลี่ยมด้านขวาเป็นแบบจำลองขนาดเท่าของจริงของส่วนตัวยานของฮารุกะ ขนาด 1.5 × 1.5 × 1.1 m ตั้งอยู่คู่กับทรงกระบอกด้านซ้าย คือแบบจำลองเท่าของจริงของดาวเทียมฮิเตง (ひてん) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.4m × ความสูง 0.79m



ฮิเตงเป็นดาวเทียมสำหรับทดสอบทางวิศวกรรมที่ถูกส่งไปเมื่อปี 1990 วัตถุประสงค์คือเพื่อทดสอบการสวิงบาย โดยได้สวิงบายที่ดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สังเกตการณ์ฝุ่นในอวกาศไปด้วย

การสวิงบายคือการใช้แรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์เพื่อช่วยเร่งหรือหน่วงความเร็วของยานอวกาศโดยการเฉียดเข้าใกล้ดวงดาวและแย่งพลังงานจากมันมา เป็นเทคนิกที่มีประโยชน์มากในการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์


แบบจำลองขนาดเล็กของดาวเทียมอาเกโบโนะ (あけぼの) เป็นดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1989 โดย ISAS เพื่อศึกษาแม็กเนโตสเฟียร์ของโลก ปัจจุบันผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ยังคงทำงานอยู่ ด้านขวาของรูปเป็นแบบจำลองแถบสนามแม่เหล็กของโลก



แบบจำลองหุ่นยนต์สำหรับไปเดินบนดวงจันทร์หรือผิวดาวเคราะห์ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา



หัวเจาะสำหรับใช้เจาะลงไปในดวงจันทร์ ซึ่งมีความพยายามที่จะพัฒนาขึ้นตั้งนานแล้วโดยเดิมทีมีแผนจะส่งยานสำรวจดวงจันทร์ชื่อ LUNAR-A ออกไปตั้งแต่ปี 1995 เพื่อจะเจาะสำรวจพื้นผิว แต่ว่าเพราะการพัฒนาหัวเจาะที่ล่าช้าทำให้สุดท้ายต้องล้มเลิกแผน ส่วนหัวเจาะนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงกำลังพยายามพัฒนาอยู่



ที่เห็นนี้คือแบบจำลองบัลลูนขนาดใหญ่สำหรับใช้ทำการทดลองต่างๆบนบรรยากาศชั้นสูง การใช้บัลลูนสามารถทำให้ลอยสูงได้มากกว่าการใช้เครื่องบิน แต่ไม่ได้ไปสูงเท่าจรวด สามารถไปถึงความสูงหลายสิบกิโลเมตรได้ ไปได้ถึงบรรยากาศชั้นสตาโตสเฟียร์ และชั้นมีโซสเฟียร์



ที่จัดแสดงอยู่นี้คือบัลลูนรุ่น B50-50 ในแบบจำลองที่เห็นนี้เล็กนิดเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วบัลลูนนี้สร้างให้มีขนาดใหญ่ถึง ๕๐ เมตร พื้นที่ผิว ๕ หมื่น ตร.ม. น้ำหนัก ๑๒๗ กก.

การส่งบัลลูนขึ้นไปสูงขนาดนั้นมีความสำคัญในงานวิจัยหลายอย่าง เช่นการสังเกตการณ์ชั้นโอโซนและก๊าซเรือนกระจก, ค้นหาจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในชั้นบรรยากาศ, สังเกตการณ์รังสีคอสมิก และยังใช้ทดสอบทางวิศวกรรมอวกาศเช่นการตกอิสระภายใต้แรงโน้มถ่วงต่ำ, ทดสอบการกางออกของโครงสร้างเยื่อขนาดใหญ่, ทดสอบสภาพแวดล้อมของเซลล์เชื้อเพลิง และทดสอบการกางออกของร่มชูชีพสำหรับยานที่กลับสู่โลก

เขามีให้ลองจับดูวัสดุที่ใช้ทำบัลลูนด้วย วัสดุใช้โพลีเอทิลีนชนิดบางเป็นพิเศษ ความหนาเพียง ๓.๔ ไมครอน หรือก็คือ ๐.๐๐๓๔ ม.ม. เท่านั้น เพื่อให้ตัวบัลลูนเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้



การใช้บัลลูนทดลองนั้นเป็นงานวิจัยอย่างหนึ่งที่ทำอยู่ในวิทยาเขตซางามิฮาระนี้ แต่เวลาทดลองปล่อยบัลลูนต้องไปปล่อยในสถานที่ห่างไกลตัวเมือง เมื่อก่อนการปล่อยบัลลูนจะทำที่ฐานสังเกตการณ์บัลลูนขนาดใหญ่ซันริกุ (三陸大気球観測所) ที่เมืองโอฟุนาโตะ (大船渡市) จังหวัดอิวาเตะ แต่ตั้งแต่ปี 2008 ได้ย้ายไปทำที่สนามทดลองการบินและอวกาศไทกิ (大樹航空宇宙実験場) ที่เมืองไทกิ (大樹町) จังหวัดฮกไกโด

หนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด อาการิ (あかり) ซึ่งถูกวาดเป็นตัวละครโมเอะอาการิจัง คนญี่ปุ่นชอบทำแบบนี้



รูปกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรด อาการิ



ที่นี่มีตราประทับให้ประทับตราเป็นที่ระลึกด้วย ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆรอบๆสถานที่จัดแสดง สามารถไปขอกระดาษสำหรับประทับตราได้ อย่างอันนี้เป็นตราประทับรูปจรวดเอ็ปซิลอน



แผ่นกระดาษที่ประทับตราหยิบเอาได้จากตรงนี้





ส่วนจัดแสดงก็ดูจบเท่านี้ ที่จริงมีอะไรน่าสนใจมากกว่านี้ แต่เนื่องจากเขาให้เวลาจำกัดไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด

แต่ความจริงแล้วสำหรับผู้ร่วมอบรมคนอื่นนอกจากเราอาจจะใช้เวลาเดินไม่นานนักก็ได้เพราะข้อมูลต่างๆเกือบทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่น นอกจากเราแล้วคนอื่นไม่มีใครรู้ภาษาญี่ปุ่น ถ้าเดินดูเฉยๆโดยไม่ได้อ่านอะไรมากก็คงไม่ได้ใช้เวลานานมาก

เนื่องจากกลุ่มที่เข้าชมครั้งนี้เป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น การเดินชมครั้งนี้โดยหลักแล้ว อ.โซเนะ พานำและช่วยบรรยายประกอบเป็นภาษาอังกฤษตลอด



ใครสนใจเรื่องอวกาศสามารถแวะมาเที่ยวชมได้ ที่นี่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้

คนญี่ปุ่นที่เคยมาเที่ยวชมที่นี่แล้วเขียนบล็อกเอาไว้ มีอยู่ไม่น้อย ขอยกมาส่วนหนึ่งที่ได้อ่านผ่านๆมา
http://kanaisocho.blog77.fc2.com/blog-entry-711.html
http://kahy.info/?p=930
http://linka100.cocolog-nifty.com/blog/2011/01/jaxa-ad68.html
http://blog.okumura.com/article/158094950.html



ระหว่างที่เขาปล่อยให้เดินอิสระก็มีออกไปเดินดูตรงร้านขายของ ซึ่งมีของที่ระลึกเกี่ยวกับดาราศาสตร์ขายอยู่ด้วย




พวกขนมอวกาศต่างๆ มีไอศกรีมอวกาศ ช็อคโกแลตอวกาศ ทาโกยากิอวกาศ ฯลฯ ไม่รู้ว่าเป็นยังไงเหมือนกัน ไม่ได้ลองซื้อมาทาน



มีพวกพวงกุญแจ




ปากการูปจรวด



แบบจำลองตัวต่อโลหะ



แล้วก็แบบจำลองพลาสติก เราซื้อันนี้ไปทั้งสีฟ้าและสีส้ม ราคาอันละ ๖๓๐ เยน รวมเป็น ๑๒๖๐



ต่อเสร็จแล้วก็จะออกมาเป็นแบบนี้ แต่สังเกตดีๆจะเห็นว่าอันสีฟ้าต่อผิดอยู่



มีขายพวกหนังสือด้วย มีทั้งที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์และไม่เกี่ยว แม้แต่มังงะก็มี



มากิก็มี มังงะตอนนั้นไปถึงเล่ม ๑๙ แล้ว





หลังจากนั้นก็ได้กลับขึ้นไปบนห้องเล็กเชอร์เพื่อกล่าวอะไรปิดท้ายสำหรับวันนี้ เนื่องจากวันรุ่งขึ้นจะต้องย้ายไปที่วิทยาเขตมิตากะต่อ ดังนั้นจึงต้องเก็บโปสเตอร์ที่เตรียมมาเพื่อไปติดที่นั่นต่อ


ตอนท้ายเขาให้พวกเราผู้ร่วมอบรมมาช่วยกันขนแผ่นกระดานที่เอาไว้ติดโปสเตอร์ด้วย

หลังจากช่วยงานออกแรงเสร็จเหนื่อยๆก็ได้เวลาไปหาอะไรทาน เห็นเพื่อนกลุ่มหนึ่งเขาคุยกันว่าจะไปหาอะไรกินกันก็เลยขอตามไปด้วย

ทุกคนพากันเดินไปขึ้นรถไฟที่สถานีฟุจิโนเบะ เพื่อจะไปหาอะไรทานที่แถวๆสถานีมาจิดะ ซึ่งก็บังเอิญว่าเราเพิ่งไปมาเมื่อเช้านี้เอง แต่ตอนนั้นแค่ไปเปลี่ยนรถเฉยๆไม่ได้เดินละเอียด

เมื่อไปถึงก็ประมาณทุ่มยี่สิบ บรรยากาศสถานีมาจิดะยามนี้เบียดเสียดยิ่งกว่าเมื่อเช้าเสียอีก



เพื่อนคนญี่ปุ่นเป็นคนแนะนำร้าน เราก็เข้าร้านนี้กัน ชื่อร้านโบจิโบจิ (ぼちぼち) เป็นร้านโอโคโนมิยากิและเทปปันยากิ



ร้านนี้จะสั่งอาหารแล้วมาวางบนกระทะให้ย่างกันเอาเองแบบนี้




รูปสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มาทานด้วยกัน ที่จริงมาทานกันสิบคนแต่ว่าโต๊ะไม่กว้างพอเลยแบ่งกันนั่งเป็น ๖ กับ ๔



ค่าใช้จ่ายมื้อนี้หมดไป ๑๕๐๐ เยน หลังจากทานเสร็จก็ดึกแล้ว ทุกคนก็นั่งรถไฟกลับ พวกเราคนไทย เวียดนาม จีน ไต้หวัน ซึ่งพักอยู่ในวิทยาเขตอยู่แล้วก็กลับมาที่สถานีฟุจิโนเบะเหมือนเดิม แต่เพื่อนคนเกาหลีกับคนฟิลิปปินส์พักอยู่ที่โรงแรม ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีโคบุจิ (古淵駅) ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ระหว่างสถานีฟุจิโนเบะกับสถานีมาจิดะ เขาก็ลงก่อนที่สถานีนี้

หลังจากกลับถึงทุกคนก็แยกย้ายกันกลับห้อง ตอนนั้นก็เกิดนึกขึ้นได้ว่าลืมซื้อน้ำและของกินไว้ทานเป็นมื้อเช่าพรุ่งนี้ ก็เลยต้องออกไปหาร้านสะดวกซื้อ โดยถามยามที่อยู่ตรงป้อม เขาก็บอกว่าตอนนี้มีแต่ 7-11 ที่ยังเปิดอยู่ แต่ว่าเดินออกไปไกลสักหน่อยสักสิบนาที ระหว่างทางก็ทั้งมืดทั้งเปลี่ยวและก็หนาวเหน็บมากทีเดียว เส้นทางก็ค่อนข้างงงๆเพราะถนนแถวนั้นตีตารางไม่ค่อยเป็นมุมฉาก แบ่งช่องกันยุ่ง กว่าจะถึงร้านก็แทบแย่เหมือนกัน โชคดีที่ยามเขาให้แผนที่ติดมาด้วย ช่วยได้มากเลย ยามที่นี่เท่าที่คุยแล้วเขาดูใจดีมากจริงๆ

ชาเขียว ๙๘ เยน, ชาแดง ๑๒๕ เยน, กาแฟนม ๘๘ เยน, ข้าวห่อสาหร่ายรสกุ้งมายองเนส ๑๐๕ เยน



หลังจากซื้อเสร็จก็กลับมานอนอย่างสบาย เป็นอันจบวันลงเท่านี้

วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันสุดท้ายในวิทยาเขตซางามิฮาระ โดยจะอยู่แค่ตอนช่วงเช้า และตอนบ่ายจะย้ายไปที่วิทยาเขตมิตากะ (三鷹キャンパス) ของหอดูดาวแห่งชาติ (国立天文台)
https://phyblas.hinaboshi.com/20140204
 



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> คานางาวะ
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文