φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



โจวโข่วเตี้ยน สถานที่ขุดพบมนุษย์ปักกิ่ง
เขียนเมื่อ 2015/03/26 07:16
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 24 มี.ค. 2015

ตั้งแต่มาอยู่ปักกิ่งตั้งนานก็มีสถานที่ที่ตั้งใจไว้นานแล้วว่าวันหนึ่งจะต้องไปให้ได้ แต่ก็ไม่มีโอกาสไปสักที นั่นก็คือโจวโข่วเตี้ยน (周口店) เดิมทีอยากจะหาเพื่อนไปด้วยเพราะว่ามันไกล แต่สุดท้ายก็หาใครไปด้วยไม่ได้จึงไปคนเดียวเลย

โจวโข่วเตี้ยนเป็นสถานที่ที่น่าสนใจมีความสำคัญตรงที่เป็นสถานที่ขุดพบซากของมนุษย์โบราณที่เรียกว่ามนุษย์ปักกิ่ง ดังนั้นจึงเป็นสถานที่ซึ่งถูกตั้งให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเป็นกลุ่มแรกของจีน โดยถูกตั้งเมื่อปี 1987

อนึ่ง ในปี 1987 มีการตั้งสถานที่ในจีนเป็นมรดกโลกทั้งหมด ๖ แห่ง อีก ๕ แห่งที่เหลือคือกำแพงเมืองจีน (万里长城), พระราชวังต้องห้าม (故宫), เขาไท่ซาน (泰山) ในมณฑลซานตง, ถ้ำมั่วเกา (莫高窟) ในเมืองตุนหวงมณฑลกานซู่ และสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦始皇兵马俑) ในเมืองซีอานมณฑลส่านซี

ที่นี่เป็น ๑ ใน ๖ มรดกโลกที่มีอยู่ในปักกิ่ง สถานที่ตั้งอยู่ในเขตฝางซาน (房山区) ของปักกิ่ง การเดินทางไปจากใจกลางเมืองปักกิ่งนั้นต้องใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง

มนุษย์ปักกิ่งเป็นสายพันธ์ย่อยของมนุษย์โบราณ Homo erectus มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Homo erectus pekinensis ถูกขุดพบครั้งแรกในปี 1918

โฮโมเอเร็กทุส (Homo erectus) เป็นมนุษย์โบราณที่มีต้นกำเนิดตั้งแต่ช่วงล้านกว่าปีก่อน กระจายอยู่ทั่วทั้งในแอฟริกาและเอเชีย คำว่าเอเร็กทุส (erectus) หรือที่เรียกเพี้ยนไปเป็นอีเร็กทัสในภาษาอังกฤษ เป็นคำภาษาละติน โดย
erectus เป็นรูปคุณศัพท์ของคำกริยา ērigere มีความหมายว่าตั้งตรง

ในภาษาจีนมักเรียกมนุษย์ปักกิ่งว่าเป่ย์จิงเหริน (北京人) แต่ว่าพอเรียกแบบนั้นจะไปซ้ำกับคำว่าคนปักกิ่งซึ่งหมายถึงชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในปักกิ่ง ดังนั้นเพื่อแยกให้ชัดบางทีก็เรียกว่าเป่ย์จิงหยวนเหริน (北京猿人) โดยคำว่าหยวนเหริน (猿人) แปลว่ามนุษย์ลิง เป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมๆมนุษย์สายพันธุ์ Homo erectus แต่ชื่อที่เป็นทางการกว่าคือเป่ย์จิงจื๋อลี่เหริน (北京直立人) โดยคำว่าจื๋อลี่ (直立) แปลว่ายืนหรือตั้งตรง แปลตรงตัวจากคำว่า erectus



บริเวณย่านที่ขุดนี้ส่วนหนึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้ เรียกว่าโบราณสถานโจวโข่วเตี้ยน (周口店遗址, โจวโข่วเตี้ยนอี๋จื่อ) นอกจากนี้ใกล้ๆกันยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณสถานโจวโข่วเตี้ยน (周口店遗址博物馆) ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บซากต่างๆที่ขุดได้และอธิบายให้ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง

โจวโข่วเตี้ยนเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะธรณีวิทยาโลกฝางซาน (房山世界地质公园) ซึ่งเป็นชื่อเรียกบริเวณซึ่งมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่โดดเด่นซึ่งอยู่ในเขตฝางซานของปักกิ่ง และกินพื้นที่ไปถึงอำเภอไหลหยวน (涞源县) ในมณฑลเหอเป่ย์ด้วย

นอกจากโจวโข่วเตี้ยนแล้วก็ยังมีสถานที่เที่ยวอื่นๆอีกอย่างเช่นถ้ำสือฮวา (石花洞) ซึ่งเป็นถ้ำหินปูนที่มีความสวยงามโดดเด่น ก็เป็นอีกที่ที่น่าไป นอกจากนี้ก็มีอีกหลายที่ซึ่งก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาก



การเดินทางสามารถขึ้นรถไฟฟ้าไปต่อสายฝางซาน (房山线) ไปลงที่สถานีสุดปลายสาย คือสถานีซูจวาง (苏庄站) หรือสถานีก่อนสุดปลายสาย คือสถานีเลียงเซียงหนานกวาน (良乡南关站) จากนั้นนั่งรถเมล์ต่อไปถึงได้



แต่ในการเดินทางเที่ยวนี้นอกจากจะมีเป้าหมายที่โจวโข่วเตี้ยนแล้วยังตั้งใจจะแวะไปสถานที่เที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งคือวัดหยวินจวี (云居寺) ซึ่งอยู่ไกลออกไปอีกหน่อย ไหนๆก็เดินทางไกลมาถึงนี่แล้วจึงตั้งใจว่าต้องแวะทั้ง ๒ ที่ไปพร้อมกัน โจวโข่วเตี้ยนนั้นอยู่ตรงทางผ่านของเส้นทางไปวัดหยวินจวีอยู่แล้วถ้าจะเลยต่อไปเพื่อไปวัดหยวินจวีต่อก็ทำได้ไม่ยาก

เราเดินทางมาลงที่สถานีซูจวางซึ่งเป็นปลายทาง จากที่นี่มีรถเมล์สาย 房31 สามารถเดินทางไปยังวัดหยวินจวีได้ และสายนี้ก็ผ่านโจวโข่วเตี้ยนด้วยสามารถนั่งไปลงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีรถเมล์อีกหลายสายที่สามารถไปโจวโข่วเตี้ยนได้



แผนที่ตั้งใจไว้ก็คือหากเจอรถสาย 房31 ก่อนก็จะไปให้ถึงวัดหยวินจวีก่อน แต่ถ้าสายอื่นที่ไปโจวโข่วเตี้ยนได้มาก่อนก็จะไปโจวโข่วเตี้ยนก่อน



ระหว่างที่รออยู่นั้นก็ได้ลองคุยกับคนขับรถรับจ้างซึ่งวนเวียนอยู่แถวนั้น เขาก็บอกว่าสาย 房31 นั้นมีน้อยมาก ถ้าจะรอละก็เดี๋ยวเขาไปส่งให้ดีกว่า แน่นอนที่เขามาเตือนก็เพราะอยากให้เราเป็นลูกค้าเขา พวกคนขับรถรับจ้างมักจะมาจอดรถรอตามสถานที่ที่น่าจะมีนักท่องเที่ยว รอว่าถ้าคนรอรถเมล์ไม่ไหวก็จะยอมเสียงตังค์จ้างเขาแทนเพื่อประหยัดเวลา

ซึ่งก็จริงที่ว่าเที่ยวรถมันน้อย เรารออยู่สักพักก็พบว่า 房31 นั้นไม่มาสักที เรื่องที่เที่ยวรถน้อยนั้นเป็นอะไรที่ทำใจไว้อยู่แล้ว แต่ก็ตามแผนที่วางไว้คือถ้ามีสายไหนที่ไปโจวโข่วเตี้ยนได้มาถึงก็จะไปสายนั้น รอไปรอมาก็พบว่าสาย 房37 มาถึง สายนี้มีปลายทางที่โจวโข่วเตี้ยน เราจึงรีบขึ้นทันที สรุปแล้วก็คือเที่ยวนี้ไปโจวโข่วเตี้ยนก่อน ส่วนวัดหยวินจวีซื่อแวะไปทีหลัง





ระหว่างทางก็เห็นบ้านเมืองอยู่ประปรายตามริมถนน อยู่กันอย่างไม่หนาตามาก



รถใช้เวลาประมาณไม่ถึงชั่วโมงเดินทางมาจอดที่ท่ารถโจวโข่วเตี้ยน (周口店客运站) บรรยากาศแถวนี้ดูเคว้งๆ เงียบๆ มีบ้านเรือนอยู่บางตา




จากตรงนี้ยังต้องเดินไปอีกสักระยะหนึ่งจึงจะถึงที่หมาย ระหว่างทางรอบๆยิ่งเดินยิ่งดูโล่ง



แล้วก็มาถึงพิพิธภัณฑ์โบราณสถานโจวโข่วเตี้ยน ถ้ามาจากท่ารถก็จะต้องผ่านตรงนี้ก่อนที่จะไปที่ย่านบริเวณที่มีการขุด ซึ่งแบบนี้ก็ดีแล้ว เราเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพื่อดูข้อมูลของที่นี่ก่อนค่อยไปยังย่านที่ขุดจริงๆจะได้เข้าใจอะไรมากขึ้นตอนที่เดินตรงนั้น




ค่าบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์คือ ๓๐ หยวน แต่มีบัตรนักเรียนก็ลดเหลือ ๑๕ หยวน



เข้ามาด้านใน ที่นี่ทางเดินค่อนข้างจะแน่นอนเขาจัดลำดับเอาไว้ให้แล้วเดินเป็นเส้นทางเดียว


นี่เป็นแบบจำลองสถานที่ที่มีการขุดหาซาก



บรรยายเกี่ยวกับการสำรวจที่นี่ การขุดที่นี่ในยุคแรกสุดนำโดยชาวต่างชาติจำนวนมาก ที่เด่นสุดคือคนที่อยู่ในรูปด้านบน นักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีชาวสวีเดน ยูฮัน กุนนาร์ อันแดร์ซอน (Johan Gunnar Andersson, 1874 - 1960) เขาเป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่วางรากฐานของโบราณคดีในจีน ส่วนรูปด้านล่างคืออ็อตโต ซดานสกี (Otto Zdansky) ชาวออสเตรีย ผู้ช่วยเขา



บุคคลอื่นๆที่มีความสำคัญในการขุดที่นี่



ภาพการขุดค้น



แบบจำลองสถานที่ขุด



อุปกรณ์ที่ใช้ขุดในระยะแรกๆ



สถานที่ขุดถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ บริเวณขุดที่ ๑ เป็นส่วนที่เรียกว่าถ้ำมนุษย์ลิง (猿人洞) เป็นถ้ำที่มนุษย์ปักกิ่งอาศัยอยู่เมื่อประมาณช่วง ๗ ถึง ๓ แสนปีก่อน โดยได้ทิ้งร่องรอยไว้เป็นจำนวนมาก ชิ้นส่วนต่างๆของมนุษย์ปักกิ่งที่ค่อนข้างสมบูรณ์จำนวนไม่น้อยก็ถูกขุดพบที่นี่ตั้งแต่ปี 1921 ในภาพนี้คือแบบจำลองชิ้นส่วนต่างๆที่ขุดพบที่นี่



แบบจำลองกะโหลกมนุษย์ปักกิ่ง



สัตว์ต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ปักกิ่งซึ่งขุดพบใกล้ๆกัน



นี่คือโครงกระดูกไฮยีน่าจีน (Pachycrocuta sinensis, 中国鬣狗, จงกั๋วเลี่ยโก่ว)



ภาพอธิบายวิวัฒนาการของถ้ำมนุษย์ลิงที่มนุษย์ปักกิ่งอาศัยอยู่ เริ่มจากประมาณ ๕ ล้านปีก่อน ถ้ำเริ่มก่อตัวขึ้นมาจากน้ำบาดาล จากนั้นประมาณ ๓ ล้านปีก่อนแม่น้ำได้ย้ายตำแหน่งเข้ามาใกล้ถ้ำและเกิดรูให้น้ำไหลเข้าไปถ้ำจึงขยายตัวขึ้น ต่อมาประมาณ ๕.๘ แสนปีก่อนมนุษย์ปักกิ่งก็เข้าไปอยู่ จากนั้นประมาณ ๓ แสนปีก่อนหลังคาถ้ำเริ่มถล่ม และมนุษย์ปักกิ่งก็อพย้ายออกจากที่ไปเมื่อประมาณ ๒.๓ แสนปีก่อน หลังจากนั้นถ้ำก็โดนฝังกลบไป ร่องรอยที่ว่าเคยมีมนุษย์ปักกิ่งอาศัยอยู่จึงถูกเก็บรักษาไว้ภายในนี้



ถ้ำจำลอง ข้างในโพรงมีหน้าจอฉายภาพการใช้ชีวิตในถ้ำให้เหมือนกับจะให้เรามองลงไปแล้วเห็นคนใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำจริงๆ



ภาพมนุษย์ปักกิ่งกำลังใช้ไฟ มนุษย์ปักกิ่งตั้งแต่ยุคนั้นก็รู้จักการใช้ไฟแล้ว



หลักฐานว่ามีการใช้ไฟในสมัยนั้นก็คือหินที่มีและกระดูกที่มีร่องรอยการเผาไฟซึ่งขุดพบในบริเวณนั้น



วิธีการจุดไฟ



ไปที่ห้องถัดมาจะเจอส่วนที่แสดงเกี่ยวกับมนุษย์ถ้ำส่วนใกล้ยอดเขา (山顶洞) ถ้ำส่วนนี้อยู่ด้านบนของบริเวณขุดที่ ๑ ถูกขุดตั้งแต่ปี 1930 ถ้ำส่วนนี้พบหลักฐานของการใช้ชีวิตอยู่ของมนุษย์โบราณเช่นกัน แต่เป็นมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการสูงขึ้นมามากกว่ามนุษย์ปักกิ่งที่พบด้านล่าง โดยแบ่งเป็นห้องต่างๆ ๔ ห้อง



กะโหลกที่ขุดจากถ้ำส่วนใกล้ยอดเขา และแบบจำลองภาพจินตนาการมนุษย์โบราณในส่วนนั้น



กระดูกเสือในยุคเดียวกัน ขุดเจอที่ถ้ำส่วนใกล้ยอดเขา



ส่วนตรงนี้พูดถึงเกี่ยวกับบริเวณขุดที่ ๒๗ บริเวณนั้นเรียกว่าถ้ำเถียนหยวน (田园洞) อยู่ห่างจากใจกลางโจวโข่วเตี้ยนไป ๖ กม. เพิ่งถูกพบเมื่อปี 2001 จุดสำคัญของที่นี่คือการค้นพบร่องรอยการใช้รองเท้าของมนุษย์บริเวณนั้น นี่เป็นหลักฐานการใช้รองเท้าที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์



รูปจำลองการล่าสัตว์



ล่ากระต่าย



จากนั้นก็มาถึงส่วนท้ายสุด เป็นส่วนสรุป อธิบายถึงความสำคัญของการขุดค้นที่นี่และการอนุรักษ์ซากโบราณ



นี่เป็นส่วนของหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงการหายสาบสูญไปของซากมนุษย์ปักกิ่งจำนวนมากในปี 1941 จากภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ญี่ปุ่นบุกจีน



ซากที่สูญหายไปนั้นถูกบรรจุแยู่ในกล่องไม้ ๒ กล่อง ในภาพนี้เป็นแบบจำลองกล่องที่ว่า ส่วนป้ายใสๆนี้บอกถึงจำนวนของชิ้นส่วนซากต่างๆที่หายไป



นอกจากนี้ในบริเวณนี้ก็มีซากกระดูกสัตว์ที่ถูกขุดแถวนี้วางปนอยู่ด้วย ภาพนี้คือกวางสายพันธุ์ Sinomegaceros pachyosteus ขุดพบที่บริเวณขุดที่ ๑๓



กะโหลกของแรดสองนอสายพันธ์โจวโข่วเตี้ยน (Stephanorhinus choukoutienensis, 周口店双角犀, โจวโข่วเตี้ยนซวางเจี่ยวซี) ขุดพบที่บริเวณขุดที่ ๒๐



แบบจำลองเต็มตัว



ซากฟอสซิลปลาที่ขุดจากบริเวณขุดที่ ๑๔



ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์จบแค่นี้ ที่เหลือตรงนี้เป็นร้านขายของที่ระลึก





หลังจากชมพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วก็เดินออกมาไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตรเพื่อไปถึงบริเวณที่มีการขุด ใช้เวลาเดินสักพัก



ระหว่างทางก็ผ่านแม่น้ำ



แล้วก็มาถึงลานกว้างด้านหน้าทางเข้าบริเวณขุด มีป้ายโจวโข่วเตี้ยนตัวใหญ่อยู่ตรงกลาง



ความจริงแล้วตรงนี้มีป้ายรถเมล์อยู่ซึ่งรถเมล์ที่ผ่านมาถึงนี่ก็คือสาย 房38 ถ้านั่งสายนี้มาตั้งแต่แรกก็สามารถมาลงตรงนี้ได้ไม่ต้องเดินไกลให้เหนื่อย แต่ว่าสายนี้ไม่ได้มาจากสถานีซูจวางที่เราลงตอนแรกแต่ก็สามารถไปลงที่สถานีอื่น อันที่จริงตอนแรกวางแผนกะว่าถ้าหากเราแวะวัดหยวินจวีก่อนแล้วก็ปิดท้ายที่โจวโข่วเตี้ยนเราสามารถนั่งรถ 房38 นี้กลับได้เลย แต่พอสลับกันแล้วก็เลยทำแบบนั้นไม่ได้ หลังจากเสร็จตรงนี้ยังต้องไปวัดหยวินจวีต่อ



ลานกว้างหน้าทางเข้าตรงนี้มีแผนที่ของบริเวณที่เรียกว่าสวนสาธารณะธรณีวิทยาโลกฝางซานทั้งหมด แต่ไม่รู้ใครทำกระจกแตกจึงมัวไปหมดมองข้างในไม่ชัด แม้จะดูแล้วสวยดีก็ตาม



แผนที่ของย่านบริเวณขุดโจวโข่วเตี้ยน นี่ก็กระจกแตกละเอียดแทบดูไม่ออกเหมือนกัน



เดินข้ามรางรถไฟไปก็จะถึง



ถึงแล้ว หน้าทางเข้ามีรูปปั้นมนุษย์ปักกิ่งขนาดใหญ่



ทางเข้า ตรงนี้ก็ต้องซื้อตั๋วเพื่อเข้าอีก ราคา ๓๐ หยวน แต่ก็ใช้บัตรนักเรียนลดได้เหลือ ๑๕ หยวนอีกเช่นกัน



สถานที่อยู่ด้านบนเขา ต้องค่อยๆปีนขึ้นไป เหนื่อยอยู่เหมือนกัน แต่ว่าอากาศกำลังเย็นสบายจึงไม่ลำบากมาก แต่เพราะว่าใส่เสื้อขนเป็ดตัวหนาๆอยู่แบบนี้ก็เลยทำให้เหงื่อตกเหมือนกัน



เดินขึ้นมาถึงตรงนี้จะเจออาคารหนึ่งเล็กๆที่เปิดให้เข้าได้



ในนี้ไม่มีอะไรมากมาย แค่เห็นมีแผ่นป้ายบรรยายอยู่นิดหน่อย มีขายของที่ระลึก แล้วก็มีเกมให้เล่นปาบอลใส่หน้าจอที่มีรูปสัตว์กำลังวิ่งอยู่ เห็นคนกำลังเล่นอยู่พอดี



สวนหิน



ตรงนี้คือส่วนที่เรียกว่าสวนที่ระลึกนักวิทยาศาสตร์ (科学家纪念园) เป็นที่ฝังศพของนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่มีส่วนในการวิจัยที่นี่




ถัดมาจะเห็นบริเวณขุดที่ ๒ ซึ่งทางขึ้นไปเป็นทางลาดชัน ลองพยายามเดินขึ้นไปแล้วก็รู้สึกว่าเดินไม่ไหวดินมันลื่น ก็เลยไม่ได้ขึ้นไป แต่ถึงแม้จะขึ้นไปก็ไม่มีอะไรมาก



จากนั้นก็เปิดทางเดินริมเขา มีจุดชมทิวทัศน์สวย ช่วงนี้ดอกไม้เริ่มเบ่งบานแล้วจึงดูแล้วสวยงามดี แต่มันก็ทำให้รู้สึกเสียดายว่าน่าจะมาช้ากว่านี้สักหน่อยดอกไม้จะได้บางมากกว่านี้ นี่เพิ่งแค่เริ่มเท่านั้นเอง





ทิวทัศน์ที่มีดอกไม้สีชมพูปะปนไปกับสีน้ำตาลของต้นไม้ที่ใบยังไม่ขึ้น ดูแล้วสวยงามจริงๆ



เดินมาพอสมควร จุดพักเหนื่อย



มองลงไปเห็นบ้านข้างล่าง



เดินถัดมาเจอส่วนที่มีการจำลองการขุด เห็นคนกำลังขุดพื้นให้นักท่องเที่ยวดู



เดินต่อมาเรื่อยๆอ้อมเขาไกลพอสมควร จากนั้นก็มาเจอส่วนถัดไปคือบริเวณขุดถ้ำส่วนใกล้ยอดเขา เป็นถ้ำที่มนุษย์ปักกิ่งเคยอาศัยอยู่



ถ้ำนี้ได้แต่มองแต่ไม่เปิดให้เข้า ลองมองเข้าไปด้านในก็ยังเห็นร่องรอยอารยธรรมบางอย่างด้วย นั่นคืออุปกรณ์ใส่น้ำชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์สายพันธุ์ Homo sapiens เรียกว่า "ขวดพลาสติก"



ข้างๆถ้ำมีแรดขนดก



เดินต่อมาเจอบริเวณขุดที่ ๑๕ ที่นี่ถูกขุดตั้งแต่ปี 1932 มีการขุดเจอฟอสซิลนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด และยังมีพวกอุปกรณ์เครื่องใช้ของมนุษย์ปักกิ่ง




บริเวณขุดที่ ๔ ที่นี่ถูกขุดตั้งแต่ปี 1927 มีการขุดพบพวกเครื่องใช้ของมนุษย์ปักกิ่งและฟอสซิลสัตว์อีกหลายชนิด



สิ่งทับถมส่วนยอด



ตรงนี้คือถ้ำที่เรียกว่าหอนกพิราบ (鸽子堂) ที่เรียกแบบนี้ก็เพราะมีนกพิราบมาพักพิงเป็นจำนวนมาก ถ้ำตรงนี้สามารถเข้าไปได้ มันจะทะลุไปยังส่วนถ้ำมนุษย์ลิง หรือก็คือบริเวณขุดที่ ๑



เมื่อทะลุไปก็เจอบริเวณขุดที่ ๑ บริเวณนี้เป็นที่ที่กะโหลกของมนุษย์ปักกิ่งถูกค้นพบเป็นครั้งแรก ตรงนี้ปิดกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป แต่สามารถเดินอ้อมไปออกอีกทางได้





เมื่อเดินดูตรงนี้เสร็จก็หมดแค่นี้ ได้เวลาออกไปเพื่อหารถสำหรับไปยังวัดหยวินจวีต่อ

เราใช้เวลาภายในพิพิธภัณฑ์และในบริเวณย่านขุดอย่างละไม่ถึงชั่วโมง แต่โดยรวมแล้วบวกเวลาเดินอีกก็เป็นเกือบสองชั่วโมง ขณะนั้นเวลาบ่ายโมงครึ่งกว่าไปแล้ว

กลับมาที่ป้ายรถเมล์ที่มีรถเมล์สาย 房38 ผ่าน รอดูอยู่สักพักก็ไม่เห็นมีรถเมล์ผ่านจึงตัดสินใจหารถรับจ้างเพื่อจะไปยังวัดหยวินจวี  ไม่อยากจะช้าเกินไปเพราะต้องเผื่อเวลากลับด้วย



แถวนั้นเงียบเหงาดูไม่ค่อยมีใครเลย แค่จะหารถรับจ้างก็ไม่ใช่ง่ายๆ แต่สุดท้ายลองถามชาวบ้านที่มานั่งเล่นแถวนั้นแล้วก็เจอรถรับจ้างคันนึง เขายอมไปส่งในราคา ๘๐ หยวน ซึ่งถือว่าแพงมาก แต่พยายามต่อราคาก็ไม่ยอม เราก็ไม่อยากเสียเวลามากไปกว่านี้แล้วก็เลยช่วยไม่ได้ จะหารถคันอื่นแถวนี้ก็คงไม่ใช่หาง่ายนักด้วย

ดังนั้นจึงตัดสินใจนั่งรถเพื่อไปยังวัดหยวินจวีซื่อต่อไป แต่... พอตกลงกับเขาเสร็จกำลังจะขึ้นไปนั่งก็พบว่ารถเมล์ 房38 ผ่านมาพอดี! ดูเหมือนเราจะพลาดไปแล้ว แต่ที่จริงก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะต่อให้นั่ง 房38 ไปก็ไม่สามารถถึงที่ทันทียังต้องไปต่อรถอีกต่อด้วยยังไงก็เสียเวลาอยู่ ยังไงการนั่งรถรับจ้างไปก็เร็วกว่ามาก

ตอนต่อไปจะเล่าถึงวัดหยวินจวี https://phyblas.hinaboshi.com/20150328



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน
-- ท่องเที่ยว >> มรดกโลก

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文