φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พิพิธภัณฑ์กำแพงเมืองยุคราชวงศ์เหลียวและจิน
เขียนเมื่อ 2015/05/01 11:59
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#ศุกร์ 17 เม.ย. 2015

ทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของจีน แต่ว่าจีนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานและเคยย้ายเมืองหลวงมาแล้วหลายครั้ง ถ้าถามว่าปักกิ่งเริ่มได้เป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่เมื่อไหร่สมัยไหน คำตอบนี้อาจตอบได้หลายแบบขึ้นอยู่กับว่าจะนับยังไง

บริเวณที่เป็นปักกิ่งในปัจจุบันนั้นมีความเป็นมายาวนาน โดยในระยะแรกตั้งแต่ช่วงก่อนยุคชุนชิว (春秋, 770 - 476 ปีก่อน ค.ศ.) ก็ได้ถูกใช้เป็นเมืองหลวงของแคว้นจี้ (蓟国, จี้กั๋ว)

หลังจากนั้นในยุคจ้านกั๋ว (战国, 476 - 221 ปีก่อน ค.ศ.) ซึ่งแผ่นดินจีนแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่ละแคว้นสู้รบกันเอง ในตอนนั้นแคว้นยาน (燕国, ยานกั๋ว) ก็ตีแคว้นจี้แตกแล้วตั้งปักกิ่งเป็นเมืองหลวงแทน

อย่างไรก็ตามนั่นก็ถือเป็นแค่เมืองหลวงของแคว้นเล็กๆไม่ถือว่าเป็นเมืองหลวงของจีน และตอนหลังแคว้นฉิน (秦国, ฉินกั๋ว) ของจิ๋นซีฮ่องเต้ก็เข้ามาปราบแคว้นยานรวมทั้งแคว้นอื่นๆจนหมดและรวมประเทศจีนเป็นหนึ่ง ปักกิ่งก็กลายเป็นแค่เมืองเล็กๆธรรมดาที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรไป

ปักกิ่งได้เริ่มมามีความสำคัญจริงๆในยุคราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 916 - 1125) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ก่อตั้งโดยชนกลุ่มน้อยชาวชี่ตาน (契丹) ซึ่งมีที่มาจากทางเหนือ ราชวงศ์เหลียวได้ใช้ระบบ ๕ เมืองหลวง (五京制, อู่จิงจื้อ) โดยมีเมืองซ่างจิง (上京) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองพิเศษมองโกเลียใน เป็นเมืองหลวงหลัก และมีอีก ๔ เมืองเป็นเมืองหลวงรอง หนึ่งในนั้นคือเมืองปักกิ่งซึ่งถือเป็นเมืองหลวงทางตอนใต้จึงเรียกว่าหนานจิง (南京) แปลว่าเมืองหลวงทางใต้

อนึ่ง ชื่อนี้เป็นการเรียกที่กลับกันกับในปัจจุบัน ที่จริงแล้วปักกิ่งถือเป็นเมืองที่อยู่ในภาคเหนือของจีน ชื่อปักกิ่งในภาษาจีนคือ เป่ย์จิง (北京) ก็แปลว่าเมืองหลวงทางเหนือ ซึ่งตรงข้ามกับเมืองหนานจิง (南京) ในปัจจุบันซึ่งอยู่ในภาคกลางของจีน แต่สำหรับราชวงศ์เหลียวแล้ว ดินแดนส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของจีนปัจจุบัน ปักกิ่งเลยถือเป็นเมืองที่อยู่เกือบใต้สุด จึงได้เป็นเมืองหลวงทางใต้

หลังจากนั้นราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชนกลุ่มน้อยชาวหนวี่เจิน (女真) ได้ตีราชวงศ์เหลียวแตกพ่ายไปแล้วยึดดินแดนมา ราชวงศ์จินเองก็ใช้ระบบ ๕ เมืองหลวงเช่นกัน ปักกิ่งก็ยังได้เป็นหนึ่งในเมืองหลวงรองโดยชื่อว่าจงจิง (中京) หมายถึงเมืองหลวงตรงกลาง โดยตอนแรกเมืองหลวงหลักอยู่ที่เมืองซ่างจิง (上京) ซึ่งเป็นซ่างจิงคนละแห่งกับของราชวงศ์เหลียว ซ่างจิงของราชวงศ์จินอยู่ที่เมืองฮาร์บิน (哈尔滨) ในปัจจุบัน

แต่หลังจากนั้นในปี 1153 ได้มีการย้ายเมืองหลวงหลักมาอยู่ที่ปักกิ่ง  นี่จึงถือเป็นครั้งแรกที่ปักกิ่งได้กลายมาเป็นเมืองหลวงอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามราชวงศ์จินไม่ถือว่าเป็นราชวงศ์ที่ปกครองทั้งแผ่นดินจีนแต่ปกครองแค่ดินแดนทางตอนเหนือของจีนเท่านั้น ในขณะที่ทางตอนใต้ปกครองโดยราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) และทางตะวันตกปกครองโดยราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏, ปี 1038 - 1227)

ต่อมาราชวงศ์จินถูกโจมตีโดยพวกมองโกลซึ่งนำโดยเจงกิสข่าน ในปี 1215 เมืองปักกิ่งก็ได้ตกเป็นของมองโกล ส่วนราชวงศ์จินซึ่งย้ายเมืองหลวงหนีไปก็อยู่ต่อมาได้ไม่นาน ถูกทัพมองโกลตีจนล่มสลายไปในปี 1234 และหลังจากนั้นในปี 1267 อาณาจักรมองโกลซึ่งสมัยนั้นนำโดยกุบไลข่านได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ปักกิ่งก่อนจะตั้งราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ขึ้นและในปี 1279 ก็ตีราชวงศ์ซ่งทางใต้แตกแล้วรวมประเทศจีนทั้งหมดเป็นแผ่นดินเดียว ปักกิ่งก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของปักกิ่งจึงเริ่มขึ้นอย่างแท้จริงตั้งแต่จุดนั้น



ที่เกริ่นมายืดยาวนั้นก็เพื่อที่จะเล่าถึงสถานที่เที่ยวซึ่งเราได้ไปเยี่ยมชมมาครั้งนี้ พิพิธภัณฑ์กำแพงเมืองเหลียวจิน (辽金城垣博物馆) ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์ของปักกิ่งในช่วงยุคที่ราชวงศ์เหลียวและจินมาครอบครองปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นช่วงยุคที่ปักกิ่งเริ่มถูกใช้เป็นเมืองหลวง

ตัวพิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นทับอยู่บนซากกำแพงเมืองสมัยราชวงศ์จิน ซึ่งเรียกว่าสุ่ยกวาน (水关) แปลว่าด่านน้ำ ตรงนี้คือส่วนของกำแพงเมืองด้านทิศใต้ที่สร้างพาดแม่น้ำโดยให้แม่น้ำไหลอยู่ข้างล่าง

ซากโบราณสถานนี้ถูกขุดพบเจอในปี 1990 โดยอยู่ลึกจากพื้นดินไป ๕.๖ เมตร ถือเป็นร่องรอยที่สำคัญสำหรับศึกษาระบบขนส่งน้ำและการก่อสร้างในสมัยราชวงศ์จิน ในขณะที่ร่องรอยอื่นๆของตัวเมืองสมัยราชวงศ์จินนั้นหายไปเกือบหมดแล้ว

ในปี 1995 จึงได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ทับลงบนซากโบราณสถานแห่งนี้เพื่อที่จะอนุรักษ์และให้คนทั่วไปได้เข้ามาชม โดยตัวซากนี้อยู่ในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ ส่วนชั้นบนพื้นดินเป็นที่จัดแสดงอธิบายประวัติศาสตร์และแสดงโบราณวัตถุบางส่วนที่ขุดพบสมัยราชวงศ์เหลียวและจิน

เมืองปักกิ่งสมัยที่ถูกครอบครองโดยราชวงศ์จินนั้นในปัจจุบันมักเรียกว่าจินจงตู (金中都) หมายถึงเมืองหลวงกลางของราชวงศ์จิน ส่วนตัวเมืองสมัยราชวงศ์เหลียวถูกเรียกว่าเหลียวหนานจิง (辽南京) คือเมืองหลวงทางใต้ของราชวงศ์เหลียว

จินจงตูกับเหลียวหนานจิงนั้นถูกสร้างในตำแหน่งใกล้เคียงกัน โดยหลังจากที่ราชวงศ์จินยึดเหลียวหนานจิงได้นั้น จินจงตูนั้นถูกสร้างทับบนส่วนที่เคยเป็นเหลียวหนานจิงโดยขยายเพิ่มเติมให้ใหญ่ขึ้น สร้างกำแพงที่ค้นพบที่นี้นั้นก็ถือได้ว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงขอบเขตของกำแพงเมืองจินจงตู

ตำแหน่งของจินจงตูนั้นถ้าเทียบกับตำแหน่งเมืองปักกิ่งในปัจจุบันแล้วถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ตอนที่กุบไลข่านเลือกปักกิ่งเป็นเมืองหลวงนั้นเขาไม่ได้สร้างเมืองในตำแหน่งที่เคยเป็นจิงจงตูเดิมแต่ย้ายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตำแหน่งศูนย์กลางเมืองปักกิ่งในปัจจุบันจึงถือว่ากุบไลข่านเป็นคนเริ่ม

เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งเมืองเคยมีอธิบายไปหน่อยนึงแล้วตอนที่เล่าถึงเต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门) อ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150411

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเนื่องจากการขยายตัวอย่างมากของเมืองปักกิ่งทำให้ตำแหน่งของตัวเมืองจินจงตูเก่าถือว่าอยู่ในตัวเมืองปักกิ่งไปแล้ว แม้จะค่อนไปทางชานเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ก็ตาม และพิพิธภัณฑ์นี้ซึ่งตั้งอยู่บนกำแพงทิศใต้จึงถือว่าไกลจากใจกลางเมืองออกไปอีก

สถานที่เที่ยวประเภทพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นอะไรที่จะดูน่าสนใจขึ้นมากหากมันถูกสร้างในตำแหน่งที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มันจัดแสดง ที่นี่ก็เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสถานที่หนึ่งที่น่าลองมาเที่ยวชมแม้ว่าจะต้องเดินทางไกลสักหน่อย



เนื่องจากอยู่ค่อนไปทางชานเมืองทางใต้ของปักกิ่ง การเดินทางมาที่นี่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร รถไฟฟ้าที่มาถึงตรงนี้ยังไม่มี ต้องนั่งรถเมล์มา ป้ายที่ใกล้ที่สุดคือป้ายโย่วอันเหมินไว่ (右安门外) มีรถเมล์หลายสายมาถึงได้ เดินทางไม่ลำบาก และในอนาคตจะมีการสร้างรถไฟฟ้ามาลงตรงนี้ด้วย จะยิ่งมาได้ง่ายขึ้นไปอีก

โย่วอันเหมินไว่คือชื่อถนนบริเวณนี้ เนื่องจากว่าที่นี่อยู่ทางทิศใต้ของป้อมประตูเมืองเก่าส่วนนอกชื่อโย่วอันเหมิน (右安门) ซึ่งเป็นป้อมประตูที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้วแต่ก็ยังคงเหลือชื่อไว้ให้เรียกเป็นชื่อสถานที่อยู่

จากป้ายรถเมล์ยังต้องเดินลงมาทางใต้อีกหน่อยจนเจอแม่น้ำสายเล็กๆ



จากนั้นเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตก เดินไปตามถนนเล็กๆที่เลียบริมน้ำ ชื่อถนนยวี่หลินหนาน (玉林南路)



เดินไปไม่นานก็มาถึงพิพิธภัณฑ์ จะเห็นว่าตัวอาคารถูกสร้างให้เป็นรูปเหมือนกับกำแพงเมืองซึ่งมีรูเจาะให้น้ำผ่าน นี่เป็นรูปร่างของกำแพงเมืองส่วนนี้จริงๆที่เขาจินตนาการไว้ แม้ว่าองค์ประกอบอะไรหลายๆอย่างจะดูเป็นสมัยใหม่ก็ตาม



ยื่นพาสปอร์ตให้เขาดูแล้วเขียนชื่อลงทะเบียนก็สามารถรับบัตรเข้าชมได้ไม่ต้องเสียตังค์



เข้าไปด้านใน ส่วนจัดแสดงนั้นแบ่งเป็นชั้นบนดินกับใต้ดิน เราเริ่มจากส่วนบนดินซึ่งเป็นห้องจัดแสดงของต่างๆและเล่าประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะไปชมซากของจริงด้านล่าง

เริ่มจาก นี่คือรูปของโบราณสถานสุ่ยกวานสมัยที่ถูกขุดพบทีแรกก่อนที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ครอบทับลงไป



ภาพแสดงบริเวณต่างๆตอนที่ขุด และมีภาพที่ผู้นำมาเยี่ยมชม



ภาพร่างคร่าวๆฝังของที่นี่



จำลองส่วนของอุโมงค์หลังคาโค้งสำหรับน้ำผ่านที่เขาจินตนาการขึ้นว่าน่าจะเป็นแบบนั้น



จะเห็นว่าเขาก็ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าร่องน้ำมันสูงแค่ไหน นี่เป็นรูปในจินตนาการสองแบบที่เป็นไปได้ อาจจะเตี้ยนิดเดียวหรือสูงมากก็ได้



รูปเหล่านี้แสดงระบบท่อส่งน้ำสมัยโบราณของที่อื่นๆอีกหลายแห่งในจีน



ท่อที่วางอยู่ข้างล่างนี้ อันซ้ายเป็นท่อระบายน้ำโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นที่ขุดพบในมณฑลส่านซี ส่วนอันขวาเป็นท่อดินเผาสมัยราชวงศ์เหลียว ขุดพบที่แหล่งขุดหลงเฉวียนอู้ (龙泉务) ในปักกิ่ง



ภาพดินที่ตะกอนทับบริเวณซากที่นี่ จากการวิเคราะห์ทำให้รู้ได้ว่าที่นี่ยังถูกใช้อยู่จนถึงช่วงต้นยุคราชวงศ์หยวน แต่ถูกเลิกใช้ตั้งแต่กลางยุคราชวงศ์หยวน



ตรงนี้เป็นแบบจำลองของสุ่ยกวานซึ่งทำเป็นลักษณะของเล่นตัวต่อ



จะเห็นว่าโครงสร้างประกอบขึ้นจากแผ่นหินและตัวเชื่อมจำนวนมาก



ส่วนประกอบบางส่วนของซากที่ขุดเจอก็มีจัดแสดงวางอยู่ด้วย




ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานที่โดยตรงก็หมดเท่านี้ ส่วนจัดแสดงที่เหลือเป็นอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของปักกิ่ง



ตรงนี้แสดงเกี่ยวกับเผ่าหนวี่เจิน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ก่อตั้งราชวงศ์จิน ความจริงพวกหนวี่เจินเป็นบรรพบุรุษของพวกเผ่าแมนจูซึ่งตอนหลังได้ตั้งราชวงศ์ชิงขึ้นนั่นเอง



ศิลาจารึกหน้าหลุมศพที่ขุดพบในจินจงตู



แผนที่แสดงตำแหน่งของจินจงตูกับปักกิ่งสมัยราชวงศ์หยวน จะเห็นว่าตัวเมืองอยู่คนละที่ไม่ซ้อนทับกันเลย โดยจินจงตูอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้



ตำแหน่งเมืองเก่าจินจงตูนั้นอาศัยแหล่งน้ำจากทะเลสาบที่ชื่อซีหู (西湖) หรือที่ในปัจจุบันกลายเป็นเหลียนฮวาฉือ (莲花池) หรือสระบัว ซึ่งน้ำไม่เพียงพอสำหรับที่จะให้เมืองเติบโตขึ้นไปอีก ดังนั้นกุบไลข่านจึงตัดสินใจสร้างเมืองใหม่โดยย้ายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งตรงนั้นมีทะเลสาบไท่เย่ฉือ (太液池) ซึ่งปัจจุบันคือทะเลสาบเป๋ย์ไห่ (北海)

ภาพสะพานหลูโกว (卢沟桥) หรือที่มักเรียกกันว่าสะพานมาร์โคโปโล เป็นสะพานโบราณชื่อดัง นี่เป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอย่างหนึ่งในยุคราชวงศ์จิน สร้างในปี 1189 ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจินจงตู ตัวสะพานประดับไปด้วยรูปปั้นสิงโตตลอดแนว



เหรียญเงินตราที่ใช้ยุคราชวงศ์จิน



ตราประทับที่ใช้ในยุคราชวงศ์จิน



กระจกที่สลักลายปลาคู่ สร้างในยุคราชวงศ์จิน



หัวสิงโตที่ขุดเจอที่วัดไป๋หยวินกวาน (白云观) วัดลัทธิเต๋าในปักกิ่ง นี่ก็เป็นของในยุคราชวงศ์จิน



อันนี้ก็ขุดเจอที่วัดไป๋หยวินกวาน



และอีกหลายอย่างที่เป็นของในยุคราชวงศ์จินจัดแสดงอยู่ที่นี่







หมดแล้ว จบแค่นี้ในส่วนจัดแสดง จากนั้นต่อไปจะไปดูส่วนที่เป็นซากโบราณสถานจริงๆซึ่งซ่อนอยู่ใต้ดิน



สถานที่ก็เป็นอย่างที่เห็น ไม่ได้มีอะไรมากมาย บริเวณที่ขุดเจอมีอยู่เท่านี้




กลับขึ้นมาด้านบนแล้วออกไปนอกอาคาร ด้นหลังยังมีอาคารจัดแสดงอยู่อีกนิดหน่อย ตรงนี้เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับงานแกะสลักหิน



นี่เป็นแผ่นหินแกะสลักรูปเสือและมังกรในสมัยราชวงศ์เหลียว



ตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับศิลาจารึกสมัยราชวงศ์เหลียวแหละจิน



หมดแค่นี้ เป็นแค่ห้องเล็กๆเท่านั้น

ส่วนจัดแสดงทั้งหมดก็มีอยู่แค่นี้ โดยรวมแล้วก็ถือว่าที่นี่เป็นแค่พิพิธภัณฑ์เล็กๆที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ให้ความสนใจนัก แต่ถ้าสนใจประวัติศาสตร์อยู่แล้วละก็น่าจะลองแวะมาดูเหมือนกัน ราชวงศ์เหลียวและจินอาจเป็นแค่ส่วนเล็กๆในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน แต่สำหรับเมืองปักกิ่งแล้วช่วงยุคนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文