φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๒: ส่วนจัดแสดงภายในอาคาร
เขียนเมื่อ 2017/02/04 15:13
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พุธ 16 พ.ย. 2016

ต่อจากตอนที่แล้วที่เขียนถึงส่วนของแท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้ของหอดูดาวโบราณปักกิ่งไป https://phyblas.hinaboshi.com/20170203

ในตอนนี้จะมาเขียนต่อถึงส่วนสุดท้ายอีกส่วนที่เปิดให้เข้าชม นั่นคือบริเวณอาคารจัดแสดง ซึ่งเป็นอาคาร ๓ หลังที่เรียงตัวล้อมสวนตรงกลาง





ภายในสวนนี้ยังมีแบบจำลองเจี่ยนอี๋ตั้งอยู่อีกอัน เป็นอันเล็กๆ



แล้วก็มีเยวี่ยกุ่ย (月晷) นาฬิกาแสงจันทร์ เป็นอุปกรณ์ที่วัดเวลาโดยใช้แสงจันทร์แทนที่จะใช้แสงอาทิตย์เหมือนอย่างนาฬิกาแดด



อีกอันคือซิงกุ่ย (星晷) นาฬิกาแสงดาว เอาไว้ใช้วัดเวลาโดยดูจากตำแหน่งของดาวอ้างอิงที่อยู่ใกล้ขั้วฟ้าเหนือ คือดาวเหนือ (北极星) ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าดาวโกวเฉินอี (勾陈一) และดาวเบตาหมีเล็ก ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าดาวตี้ซิง (帝星)



เวลาที่ใช้ก็ให้มองฟ้าผ่านช่องรูยาวซึ่งอยู่บนแผ่นที่หมุนได้ ให้หมุนแผ่นจานเห็นดาวอ้างอิงทั้ง ๒ ดวงอยู่ในรูยาวนี้ทั้งคู่ พอได้แล้วก็ดูว่าหมุนแผ่นจานไปเท่าไหร่ บนแผ่นจานมีขีดบอกวันที่และเวลา การอ่านค่าต้องเทียบวันที่กับเวลา ซึ่งคล้ายกับในแผนที่ดาวแบบหมุนที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

อาคารจัดแสดงหลังแรกเป็นหลังใหญ่สุด ชื่อว่าจื่อเวย์เตี้ยน (紫微殿)



เมื่อเข้าไปสิ่งที่อยู่ตรงกลางตรงหน้าเลยคือข้อความ 觀象授時 ซึ่งเป็นอักษรจีนตัวเต็มอ่านว่า กวานเซี่ยงโซ่วสือ (ตัวย่อเป็น 观象授时) มีความหมายว่า การสังเกตการณ์ท้องฟ้าเพื่อสร้างปฏิทินและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์



ด้านล่างส่วนตรงกลางเป็นภาพแผนที่ดาวจีนโบราณซึ่งทำโดยอ้างอิงแผนที่ดาวสลักหินซูโจว (苏州石刻天文图, ซูโจวสือเค่อเทียนเหวินถู) ซึ่งเก็บอยู่ในวัดขงจื๊อเมืองซูโจว



แผนที่ดาวนี้เป็นตัวอย่างแผนที่ดาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอันหนึ่งที่แสดงถึงกลุ่มดาวจีนโบราณ ถูกสลักขึ้นเมื่อปี 1247 ซึ่งเป็นปลายยุคราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ว่าต้นแบบแผนที่ดาวจริงๆมาจากแผนที่ดาวที่ได้จากการสังเกตการณ์ในช่วงศักราชหยวนเฟิง (元丰) ปี 1078-1085 สมัยจักรพรรดิซ่งเสินจง (宋神宗) ภายในมีสลักดาวไว้ทั้งหมด ๑๔๓๔ ดวง

ปัจจุบันแผนที่ดาวอันนี้ถูกเก็บไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์แผ่นป้ายแกะสลักซูโจว (苏州碑刻博物馆) ซึ่งสร้างขึ้นภายในวัดขงจื๊อซึ่งเป็นสถานที่ที่พบแผนที่ดาว

เนื่องจากแผนที่ดาวนี้มาจากท้องฟ้าเมื่อพันปีที่แล้ว ดังนั้นจึงมีความแตกต่างจากฟ้าในปัจจุบันอยู่บ้าง ที่สำคัญที่สุดคือตำแหน่งขั้วฟ้า ซึ่งเปลี่ยนไปจากการส่ายของแกนโลก (岁差) ทำให้ขั้วฟ้าเหนือไม่ได้อยู่ตรงดาวเหนือเหมือนอย่างในปัจจุบัน



และรอบๆแผนที่ดาวคือข้อความอธิบายแผนที่ดาวซึ่งถูกสลักไว้พร้อมกับแผนที่ดาว ยาว ๒๑๔๐ ตัวอักษร

อ่านข้อความเต็มได้ใน http://web2.nmns.edu.tw/Web-Title/china/A-1-7_text.htm

สำหรับคนที่สนใจแผนที่ดาวโบราณของจีนอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/2671-eastasia-starchart-05

กลุ่มดาวโบราณตามแบบของจีนได้แบ่งฟ้าออกเป็นกำแพงทั้งสาม (三垣, ซานหยวน) และห้องพักทั้ง ๒๘ (二十八宿, เอ้อร์สือปาซิ่ว)

รายละเอียดอ่านได้ใน http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/2249-eastasia-starchart-02

ข้างๆแผนที่ดาวได้มีเขียนบรรยายถึงสัตว์เทพทั้งสี่ซึ่งประกอบกันเป็นกลุ่มดาวดั้งเดิมของจีน ได้แก่



ทางตะวันออกมี มังกรฟ้า (苍龙, ชางหลง)
ทางตะวันตกมี เสือขาว (白虎, ไป๋หู่)
ทางใต้มี หงส์แดง (朱雀, จูเชวี่ย)
ทางเหนือมี เต่าดำ (玄武, เสวียนอู่)

ซึ่งสัตว์เทพแต่ละตัวยังถูกแบ่งออกเป็นห้องพัก ๗ ห้อง รวมทั้ง ๔ ตัวก็เป็น ๒๘ ห้อง
รายละเอียดอ่านได้ใน http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/2255-eastasia-starchart-03

ส่วนตรงนี้เกี่ยวกับการทำปฏิทินจีนตั้งแต่สมัยโบราณ มีบันทึกไว้ในหนังสือปฏิทินชื่อเซี่ยเสี่ยวเจิ้ง (夏小正) ซึ่งคาดกันว่าถูกทำขึ้นในสมัยชุนชิว (春秋, 770 - 476 ปีก่อน ค.ศ.) หรือก่อนหน้านั้น



ในนั้นมีเขียนถึงการใช้ดาวปาริชาติ (Antares, อันทาเรส หรืออัลฟาแมงป่อง) ซึ่งในนั้นใช้ชื่อเรียกว่าดาวต้าหั่ว (大火) โดยดาวปาริชาติถูกใช้เป็นดาวอ้างอิงในการกำหนดวันขึ้นปีใหม่

โดยที่หากวันไหนพบว่าดาวปาริชาติอยู่ที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในยามเย็นหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปทางทิศตะวันตก นั่นเป็นสัญญาณว่าฤดูใบไม้ผลิได้เริ่มขึ้นแล้ว และถูกใช้นับเป็นจุดเริ่มต้นของปี

ทางนี้เขียนถึงการแบ่งฤดูกาลทั้ง ๔ โดยใช้ดาว ๔ ดวงเป็นตัวแทนของกลางฤดู ทำนองเดียวกับวสันตวิษุวัต (春分, ชุนเฟิน), ครีษมายัน (夏至, เซี่ยจื้อ), ศารทวิษุวัต (秋分, ชิวเฟิน) และ เหมายัน (冬至, ตงจื้อ) ที่ใช้ในปัจจุบัน



ดาวที่ใช้เป็นกลางฤดูใบไม้ผลิเรียกว่า เหนี่ยว (鸟) คือดาวอัลฟาร์ด (อัลฟา ไฮดรา) ในปัจจุบัน
ดาวที่ใช้เป็นกลางฤดูร้อนเรียกว่า หั่ว (火) คือดาวปาริชาติ (อัลฟา แมงป่อง) ในปัจจุบัน-
ดาวที่ใช้เป็นกลางฤดูใบไม้ร่วงเรียกว่า ซวี (虚) คือดาวซาดาลซูอุด (เบตา คนแบกหม้อน้ำ) ในปัจจุบัน
ดาวที่ใช้เป็นกลางฤดูหนาวเรียกว่า เหม่า(昴) คือกระจุกดาวลูกไก่ (เอตา วัว) ในปัจจุบัน

ทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในเอกสารโบราณเช่น ซ่างซู เหยาเตี่ยน (尚书•尧典) ซึ่งเขียนมาตั้งแต่ 2000 ปีก่อน ค.ศ.

นี่คือหุนเซี่ยง คือลูกทรงกลมท้องฟ้าเช่นเดียวกับที่วางอยู่ที่แท่นสังเกตการณ์ แต่เป็นแบบโบราณกว่าซึ่งสร้างโดยจางเหิง (张衡, 78-139) นักดาราศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉, ปี 25-220)



นี่คือแบบจำลองของสุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถ (水运仪象台) เป็นหอลูกทรงกลมท้องฟ้าพลังน้ำ ประดิษฐ์ขึ้นในช่วงปี 1086-1092 โดยซูซ่ง (苏颂, 1020-1101) นักดาราศาสตร์ในยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ เป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากการรวมกันของหุนอี๋, หุนเซี่ยง และอุปกรณ์วัดเวลา อาจถือได้ว่านี่เป็นต้นแบบของนาฬิกาดาราศาสตร์ในยุโรปด้วย



สุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถของจริงไม่ได้หลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน เนื่องจากราชวงศ์ซ่งเหนือได้พ่ายแพ้ให้กับราชวงศ์จินในปี 1127 เมืองหลวงไคเฟิงซึ่งเป็นที่ตั้งของสุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถได้ถูกยึด และราชวงศ์ซ่งได้กลับไปตั้งตัวใหม่ทางใต้กลายเป็นราชวงศ์ซ่งใต้ หลังจากนั้นสุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถได้ถูกย้ายไปยังปักกิ่งซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จิน แต่ต่อมาราชวงศ์จินได้ย้ายเมืองหลวงมาที่ไคเฟิง และสุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถก็ได้ถูกรื้อทิ้งในปี 1214 เนื่องจากไม่สะดวกที่จะย้ายตามมาด้วย

ของจริงมีลักษณะเป็นอาคารสูง ๑๒ เมตร กว้าง ๗ เมตร มี ๓ ชั้น ชั้นบนสุดวางหุนอี๋ ชั้นกลางวางหุนเซี่ยง ชั้นล่างใส่เครื่องบอกเวลาอัตโนมัติ ทั้งหมดใช้พลังน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน

แม้จะไม่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ลูกของซูซ่งชื่อซูเสีย (苏携) ได้เก็บตำราต่างๆของซูซ่งไว้ แบบจำลองของของสุ่ยยวิ่นอี๋เซี่ยงไถก็ถูกเก็บไว้และนำติดไปกับราชวงศ์ซ่งใต้จึงไม่สูญหายไปพร้อมกับการล่มสลายของราชวงศ์ซ่งเหนือ เพียงแต่ไม่สามารถสร้างใหม่ได้เนื่องจากมีความซับซ้อนไม่มีใครอ่านเข้าใจ จนถึงปัจจุบันจึงมีการสร้างของจำลองขึ้นมาได้สำเร็จ

ส่วนนี่คืออุปกรณ์ที่เรียกว่า เชิ่งโล่ว (秤漏) เป็นนาฬิกาน้ำซึ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยหลี่หลาน (李兰) พระในลัทธิเต๋าในยุคราชวงศ์เว่ย์เหนือ (北魏, ปี 386-534) ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งในยุคราชวงศ์ใต้เหนือ (南北朝, ปี 439-589)



กลไกการวัดเวลาก็คือใส่น้ำลงในถังใบหนึ่งซึ่งเชื่อมต่อกับถังอีกใบที่ถูกผูกอยู่บนตาชั่งด้วยกาลักน้ำ ยกถังใบแรกให้อยู่สูงน้ำจะไหลผ่านกาลักน้ำลงไปยังถังที่ผูกอยู่บนตาชั่ง ยิ่งเวลาผ่านไปน้ำก็ยิ่งไหลเข้าไปแล้วถังก็หนักขึ้น น้ำหนักที่วัดได้จึงเปลี่ยนไปตามเวลา ดังนั้นจึงสามารถวัดเวลาได้โดยเทียบกับน้ำหนักขณะนั้น

ส่วนทางนี้คือจี้หลีกู่เชอ (记里鼓车) รถวัดระยะทางสมัยโบราณ เป็นสิ่งประดิษฐ์ของจางเหิง รถนี้ถูกวางกลไกให้เมื่อวิ่งไประยะหนึ่งรูปสลักคนตัวเล็กๆด้านบนจะทำการตีกลองทีหนึ่ง เป็นการวัดระยะทาง



ป้ายด้านหลังเขียนเล่าเกี่ยวกับบันทึกปรากฏการณ์ที่ดาราศาสตร์ของจีนสมัยโบราณ โดยในยุคราชวงศ์ซาง (商朝, ช่วง 17 - 11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) ได้มีการบันทึกการเกิดโนวา (新星, ปรากฏการณ์ที่ดาวเกิดสว่างขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เกิดจากกลไกการถ่ายเทมวลของดาวฤกษ์ในระบบดาวคู่) โดยมีเขียนในเจี๋ยกู่เหวิน (甲骨文, แผ่นกระดูกสัตว์ซึ่งแกะสลักข้อความลงไป) นับเป็นบันทึกการเกิดโนวาที่เก่าแก่ที่สุดของจีน



นอกจากนี้ยังมีการบันทึกซูเปอร์โนวา (超新星, ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการที่ดาวมวลมากหมดอายุขัยและระเบิดออกทำให้ดาวสว่างขึ้นมากในช่วงเวลาหนึ่ง) ในปี 1054 ซึ่งเป็นยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, ปี 960-1172)

ตรงนี้เล่าถึงบันทึกการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งแต่สมัยโบราณของจีน บันทึกจุดบนดวงอาทิตย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ในหนังสือฮั่นซู อู่ซิงจื้อ (汉书・五行志) เมื่อปี ค.ศ. 28 ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉, ปี 25-220)



ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นถึงราชวงศ์ชิงจีนมีการบันทึกการเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (黑子) มากกว่าสองร้อยครั้ง บางบันทึกยังบรรยายรูปลักษณ์ของจุดด้วย

และยังมีการบันทึกการเกิดสุริยุปราคา (日食) เกือบพันครั้งตั้งแต่ยุคชุนชิวเป็นต้นมา ถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆในโลก

นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงการเกิดพวยก๊าซของดวงอาทิตย์ (日珥) และโคโรนา (日冕) ระหว่างเกิดสุริยุปราคาด้วยด้วย

ทางนี้กล่าวถึงดาวทั้ง ๗ ซึ่งกลายมาเป็นที่มาของชื่อวันในสัปดาห์ดังที่รู้จักในปัจจุบัน ดาวทั้ง ๗ ถูกเรียกรวมว่า "ชีเจิ้ง" (七政) ได้แก่ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ทั้ง ๕ ได้แก่ ดาวอังคาร, ดาวพุธ, ดาวพฤหัส, ดาวศุกร์, ดาวเสาร์



ชาวจีนได้มีการสังเกตดาวทั้ง ๗ และมีการวาดเป็นรูปซึ่งยังหลงเหลือหลักฐานอยู่ตามวัตถุโบราณที่ขุดพบ แสดงถึงความเข้าใจทางดาราศาสตร์ของคนในสมัยนั้น

ในปี 1972 ได้มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีภาพวาดรูปดวงอาทิตย์ที่ต้าเหอโข่ว (大河口) เมืองเจิ้งโจว (郑州) มณฑลเหอหนาน เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหย่างเสา (仰韶文化) ซึ่งเก่าแก่ถึงช่วง 5000 - 3000 ปีก่อน ค.ศ.

ตรงส่วนนี้บรรยายว่าคนโบราณได้สังเกตเห็นการเคลื่อนที่อย่างแปลกประหลาดของดาวเคราะห์ทั้ง ๕ มาช้านานแล้วและได้จดจำและบันทึกรูปแบบการเคลื่อนที่นั้นไว้ แม้พวกเขาจะอธิบายไม่ได้ว่าเกิดจากอะไรแต่ก็ได้มีบรรยายไว้ในบันทึกต่างๆ เสิ่นคั่วได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเมิ่งซีปี่ถาน (梦溪笔谈) ของเขา



และตรงนี้พูดถึงจินตนาการของคนจีนสมัยโบราณที่มีต่อดวงจันทร์ ซึ่งทำให้เกิดตำนานมากมายเช่นกระต่ายดวงจันทร์ ยวี่ทู่ (玉兔) และเทพแห่งดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ (嫦娥) เป็นต้น



สุดท้าย ตรงนี้มีจัดแสดงอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์อีกชิ้น เรียกว่าหย่างอี๋ (仰仪) เป็นสิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นของกัวโส่วจิ้ง เอาไว้ใช้วัดตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้าได้



อุปกรณ์มีลักษณะเป็นชามรูปครึ่งทรงกลมซึ่งมีขีดเส้นตารางที่บอกถึงค่าไรต์แอสเซนชัน (赤经) และเดคลิเนชัน (赤纬) ของดวงอาทิตย์ โดยด้านบนมีแท่งยื่นออกมาแล้วเจาะรูที่ตำแหน่งใจกลางทรงกลม

เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมาแล้วลอดผ่านรูจะเกิดจุดแสงตกลงบนครึ่งทรงกลมทำให้สามารถอ่านค่าตำแหน่งของดวงอาทิตย์ได้โดยตรงโดยดูจากเส้นขีดที่บอกค่าบนนั้น



ต่อมาทางส่วนของอาคารจัดแสดงหลังที่สอง ที่ด้านหน้าอาคารมีรูปปั้นนักดาราศาสตร์สำคัญ ๒ คน ทางซ้ายคือจางเหิง และทางขวาคือสวีกวางฉี่ (徐光启, ปี 1562-1633) นักดาราศาสตร์สมัยปลายยุคราชวงศ์หมิง



ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับประวัตศาสตร์ของดาราศาสตร์ทั้งจีนและสากล




ทางนี้เต็มไปด้วยรูปนักดาราศาสตร์ ทางซ้ายเป็นชาวตะวันตก ส่วนทางขวาเป็นนักดาราศาสตร์จีนรวมถึงหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกที่นำวิทยาการเข้ามาสู่จีนด้วย



ส่วนนี้บรรยายประวัติความเข้าใจทางดาราศาสตร์ของทางตะวันตก ตั้งแต่แนวคิดของเคลาดิออส ปโตเลไมออส (Κλαύδιος Πτολεμαῖος, หรือ ปโตเลมี, ปี 85-168) ที่เชื่อว่าโลกกลมและเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นิโคเลาส์ โคเปร์นิคุส (Nicolaus Copernicus, ปี 1473-1543) ที่บอกว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ไปจนถึงกฎของโยฮันเนส เคพเลอร์ (Johannes Kepler, ปี 1571-1630) ที่อธิบายการโคจรของวัตถุท้องฟ้า และการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei, ปี 1564-1642)



ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 วิทยาการของทางตะวันตกก็เริ่มนำหน้าจีนไปไกลขึ้นเรื่อยๆ เข้าสู่ยุคที่จีนต้องนำเข้าวิทยาการจากทางตะวันตกมาอย่างมากมาย

ตรงนี้เป็นเรื่องของหนังสือปฏิทินสมัยจักรพรรดิฉงเจิน (崇祯, ปี 1628-1644) จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง ชื่อว่าฉงเจินลี่ซู (崇祯历书)



คณะผู้จัดทำนำโดยสวีกวางฉี่ และหลี่เทียนจิง (李天经) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์จีน ร่วมกับนักดาราศาสตร์ต่างชาติ ได้แก่
นิโคลัส ลองโกบาร์ดี (Nicholas Longobardi, ปี 1559-1654) ชื่อจีน หลงหัวหมิน (龙华民) ชาวอิตาลี
โยฮัน ชเร็ก (Johann Schreck, ปี 1576-1630) ชื่อจีน เติ้งยวี่หาน (邓玉函) ชาวสวิสเซอร์แลนด์
โยฮัน อดัม ชัล ฟอน เบล (Johann Adam Schall von Bell, ปี 1591-1666) ชื่อจีน ทางรั่วว่าง (汤若望) ชาวเยอรมัน
จาโกโม โร (Giacomo Rho, ปี 1593-1638) ชื่อจีน หลัวหยากู่ (罗雅谷) ชาวอิตาลี

นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ร่วมมือกับชาวตะวันตกเพื่อทำขึ้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนจีนเริ่มยอมรับในวิทยาการของชาวตะวันตกในช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิง

การจัดทำเริ่มขึ้นในปี 1629 และเสร็จในปี 1634 ใช้เวลา ๕ ปี ระหว่างนั้นสวีกวางฉี่ได้เสียชีวิตลงก่อนในปี 1633

และหลังจากนั้นก็ได้มีอุปกรณ์ดาราศาสตร์จากทางตะวันตกมากมายเริ่มถูกใช้ในจีน เช่น นาฬิกาแดด, อัสโตรลาเบ (星盘), กล้องโทรทรรศน์ และ แบบจำลองวงโคจรดาวเคราะห์ (七政仪)



อัสโตรลาเบ (astrolabe) คืออุปกรณ์ที่ใช้คาดการณ์ตำแหน่งของดาวฤกษ์ รวมทั้งดวงอาทิตย์ คล้ายกับแผนที่ดาวแบบขั้วฟ้าที่นิยมใช้ในปัจจุบันแต่มีความซับซ้อนกว่ามาก มีความเป็นมาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว เชื่อกันว่าเริ่มประดิษฐ์โดยฮิปปาร์คอส (Ἳππαρχος, 190-120 ปีก่อน ค.ศ.)

เจี่ยนผิงอี๋ (简平仪) เป็นอัสโตรลาเบของจีนที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1681 สมัยจักรพรรดิคางซี ขนาด ๓๒.๑ ซม. ปัจจุบันถูกเก็บอยู่ในพระราชวังต้องห้าม

ในปี 1871 นักดาราศาสตร์จีน หลี่ซ่านหลาน (李善兰, ปี 1810-1882) ได้ร่วมกับหมอสอนศาสนาชาวอังกฤษ อเล็กซานเดอร์ ไวลี (Alexander Wylie ชื่อจีน เหว่ย์เลี่ยย่าลี่ (伟烈亚力), ปี 1815-1887) แปลหนังสือดาราศาสตร์ที่แต่งโดยจอห์น เฮอร์เชล (John Herschel, ปี 1792-1871, ลูกของวิลเลียม เฮอร์เชล ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส) ในปี 1849



หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อภาษาจีนว่าถานเทียน (谈天) แปลว่า "คุยเรื่องท้องฟ้า" เขียนถึงความรู้ดาราศาสตร์ที่เพิ่งค้นพบในยุคนั้น เช่น เรื่องของการค้นพบดาวยูเรนัส วงแหวนของดาวเสาร์ เส้นลายซึ่งเป็นแถบเมฆบนดาวพฤหัส รายละเอียดต่างๆที่ผิวดาวเคราะห์ซึ่งต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องจึงจะเห็น



การเปลี่ยนแปลงรูปร่างปรากฏของดาวเสาร์ภายในคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ ๓๐ ปีได้ถูกบรรยายไว้ในนั้น



ในหนังสือยังแสดงรูปของวัตถุท้องฟ้าอย่างเช่น M51 ดาราจักรวังน้ำวน (สมัยนั้นเรียกว่าเนบิวลาวังน้ำวน เนื่องจากคนยังเชื่อว่าดาราจักรเป็นเพียงเนบิวลา) ในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ (猎犬座)





จากนั้นเป็นอาคารจัดแสดงหลังที่สาม หลังนี้ก็มีรูปปั้นนักดาราศาสตร์ตั้งอยู่ด้านหน้า ทางซ้ายคืออีสิง (一行, ปี 683-727) ทางขวาคือจู่ชงจือ (祖冲之, ปี 429-500)



จู่ชงจือ เป็นนักดาราศาสตร์ในยุคราชวงศ์ใต้เหนือ (南北朝, 420-589) มีผลงานทั้งทางด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่นการหาค่าประมาค่าไพ เป็น 355/113 เขาเป็นคนทำปฏิทินต้าหมิง (大明历) ซึ่งเป็นปฏิทินแรกที่มีการปรับแก้ผลจากการส่ายของแกนโลก

อีสิง เป็นพระและนักดาราศาสตร์ยุคราชวงศ์ถัง เขาได้ทำการสังเกตการณ์ดวงดาวและบันทึกข้อมูลเป็นจำนวนมากในสมัยเขา อีกทั้งยังปรับปรุงเครื่องมือดาราศาสตร์บางส่วน เขาได้ประดิษฐ์วงล้อทรงกลมท้องฟ้าในระบบพิกัดสุริยวิถี เรียกว่าหวงเต้าโหยวอี๋ (黄道游仪)

ภายในจัดแสดงเรื่องประวัติของหอดูดาวโบราณแห่งนี้




ตรงส่วนนี้บรรยายถึงที่นี่โดยเปรียบเทียบกับหอดูดาวในยุโรป



ภาพแสดงการจัดเรียงอุปกรณ์บนแท่นสังเกตการณ์ในยุคเริ่มต้นที่เพิ่งถูกสร้างใหม่ๆปี 1442 ช่วงยุคราชวงศ์หมิง



ส่วนนี้เขียนถึงหอดูดาวโบราณ ๒ แห่งของทีโค บรา (Tycho Brahe) นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก แห่งแรก สร้างขึ้นบนเกาะเวน (Ven) ในปี 1580 ชื่ออูรานีบอรี (Uraniborg)* หมายถึงปราสาทของอูราเนีย (Οὐρανία=Ourania, เทพีแห่งท้องฟ้าและดาราศาสตร์ในตำนานกรีก)



และอันใหม่ได้สร้างขึ้นบนเกาะเดียวกันในปี 1584 ชื่อ แควร์เนบอรี (Stjärneborg) * หมายถึงปราสาทดาว

*ชื่อทั้งสองใช้เป็นภาษาสวีเดนเนื่องจากปัจจุบันเกาะนี้ได้กลายเป็นของสวีเดน ชื่อในภาษาเดนมาร์กคืออูราเนียนบอร์ (Uranienborg) และ สเตียร์เนอบอร์ (Stjerneborg)

อนึ่ง คำว่า "ดาว" ในภาษาสวีเดนคือ "แควร์นา" (stjärna) ส่วนภาษาเดนมาร์กคือ "สเตียร์น" (stjerne) รากศัพท์เดียวกับในภาษาเยอรมันซึ่งใช้คำว่า "ชแตร์น" (Stern) และภาษาฮอลันดา "สแตร์" (ster)

หอดูดาวทั้งสองนี้เป็นแบบโบราณเช่นเดียวกับหอดูดาวปักกิ่ง คือใช้สังเกตการณ์เคลื่อนที่ของดวงดาว ไม่มีการติดตั้งกล้องดูดาว

หอดูดาวที่นี่ถูกใช้งานถึงแค่ปี 1597 ก็เลิกใช้ แล้วหลังทีโคตายไปก็ถูกรื้อทิ้ง แต่ก่อนตายทีโคได้นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสังเกตการณ์ในช่วงนี้ติดตัวไปยังกรุงปรากซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้น ที่นั่นเขาได้ร่วมงานกับเคพเลอร์ และข้อมูลเหล่านั้นได้มีส่วนช่วยในการค้นพบกฎของเคพเลอร์ในเวลาต่อมา

ในนี้ยังแสดงหอดูดาวอื่นๆในยุคต่อมา เช่น หอดูดาวแบร์ลิน (Berliner Sternwarte) ของเยอรมัน ซึ่งสร้างในปี 1711 และหอดูดาวพูลโคโว (Пулковская астрономическая обсерватория) ในเมืองซังกต์ เปเตร์บูร์ก (Са́нкт-Петербу́рг, Saint-Petersberg) ของรัสเซีย ซึ่งสร้างในปี 1839



ตรงนี้เล่าถึงประวัติของหอดูดาวโบราณปักกิ่ง เนื้อหาส่วนนี้เหมือนกับที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นของบทความตอนแรก




แผ่นป้ายที่เพิ่มมาด้านหน้าตรงนี้ถูกเขียนเป็น ๓ ภาษาคือสโลเวเนีย อังกฤษ และจีน เล่าถึงหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกที่สำคัญอีกคนในช่วงต้นยุคราชวงศ์ชิง เป็นชาวสโลเวเนีย (สมัยนั้นอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ชื่อแฟร์ดินันด์ เอากุสติน ฮัลเลอร์สไตน์ (Ferdinand Augustin Hallerstein หรือ Ferdinand Avguštin Hallerstein ชื่อจีนว่าหลิวซงหลิง (刘松龄), ปี 1703-1774)



เขามาปักกิ่งตั้งแต่ปี 1739 และได้เข้าทำงานในสำนักหอดูดาวหลวงของจีน ได้รับตำแหน่งรองผู้กำกับในปี 1743 เขามีส่วนในการสร้างจีเหิงฝู่เฉินอี๋ (วงล้อทรงกลมท้องฟ้าของเฉียนหลง)



ส่วนนี้บรรยายถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับหอดูดาวแห่งนี้ในช่วงที่เกิดกบฏนักมวย (义和团, อี้เหอถวาน) ในปี 1900 ซึ่งทำให้กองกำลังพันธมิตรแปดชาติ ได้แก่ อังกฤษ, อเมริกา, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, เยอรมัน, อิตาลี, ออสเตรีย, ญี่ปุ่น ได้ร่วมกันบุกโจมตีปักกิ่ง



เนื่องจากหอดูดาวแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตที่ฝรั่งเศสและเยอรมันยึดได้ ดังนั้นอุปกรณ์ดาราศาสตร์ต่างๆจึงถูกสองประเทศนี้แบ่งกันยึดเอาไป

ที่ฝรั่งเศสได้ไปคือ เจี่ยนอี๋ที่สร้างสมัยราชวงศ์หมิง และอุปกรณ์สมัยราชวงศ์ชิง ๔ อัน ได้แก่ ชื่อเต้าจิงเหว่ย์อี๋, หวงเต้าจิงเหว่ย์อี๋, ตี้ผิงจิงเหว่ย์อี๋ และเซี่ยงเซี่ยนอี๋

ที่เยอรมันได้ไปคือ หุนอี๋ที่สร้างสมัยราชวงศ์หมิง และอุปกรณ์สมัยราชวงศ์ชิง ๔ อัน ได้แก่ เทียนถี่อี๋, จีเหิงฝู่เฉินอี๋, ตี้ผิงจิงอี๋ และ จี้เซี่ยนอี๋

แต่ในปี 1902 ฝรั่งเศสได้นำอุปกรณ์ทั้งหมดมาคืนเนื่องจากโดนวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ แต่เยอรมันไม่ยอมคืนแถมยังนำกลับประเทศไปเป็นของจัดแสดง ต้องรอถึงปี 1921 จึงยอมนำมาคืน

ภาพเทียนถี่อี๋ที่ถูกนำไปตั้งแสดงที่เยอรมันในปี 1902





ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของหอดูดาวโบราณปักกิ่งซึ่งเป็นหอดูดาวเก่าแก่ที่ใช้งานมายาวนานที่สุดในโลก สามารถสัมผัสถึงกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งเรียนรู้ว่าคนสมัยก่อนเขาเริ่มศึกษาธรรมชาติของสิ่งต่างๆรอบตัวกันมาอย่างไร ได้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของดาราศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ที่นี่เป็นสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจซึ่งคนที่ชอบดาราศาสตร์และชอบประวัติศาสตร์ไม่น่าพลาดที่จะมาเยี่ยมชม



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ดาราศาสตร์
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文