φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



พาชมโรงพิมพ์จีนแบบยุคเก่าแห่งสุดท้ายในไต้หวัน รื่อซิงจู้จื้อหาง
เขียนเมื่อ 2017/05/05 23:50
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
วันนี้คาบเรียนวิชาภาษาจีนซึ่งเราเรียนอยู่นั้นได้พานักเรียนไปทัศนศึกษาทั้งวัน หัวข้อวัตถุประสงค์ของการไปเที่ยวนั้นคือการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของตัวอักษรจีน

สถานที่ไปมี ๒ ที่ ที่แรกคือ ตอนเช้าไป พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กง (國立故宮博物院, กั๋วลี่กู้กงปั๋วอู้ย่วน)

อีกที่ซึ่งไปตอนบ่ายคือโรงพิมพ์อักษรจีนแบบเก่า รื่อซิงจู้จื้อหาง (日星鑄字行) พาไปเรียนรู้ว่าผู้คนในยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เขาพิมพ์อักษรกันยังไง

สำหรับพิพิธภัณฑ์กู้กงนั้นจะเขียนถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะเป็นที่เที่ยวที่มีชื่อเสียง คนเขียนถึงเยอะอยู่แล้ว ในที่นี้จะเน้นที่โรงพิมพ์เป็นหลัก



รื่อซิงจู้จื้อหาง เป็นโรงงานสำหรับพิมพ์อักษรโดยใช้วิธีการแบบสมัยเก่า นั่นคือใช้แท่นพิมพ์ ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่ากลางเมืองไทเป

ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้แท่นพิมพ์ในการพิมพ์อักษรแล้ว ตั้งแต่ยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายขึ้นมา ดังนั้นโรงพิมพ์แบบนี้ก็ค่อยๆสูญหายไปจนหมด เหลือเพียงแห่งนี้เป็นแห่งเดียวในไต้หวัน เป็นเหมือนของโบราณที่ถูกอนุรักษ์ไว้ ไม่หายไปตามกระแสของเวลา

ปัจจุบันโรงพิมพ์นี้นอกจากจะทำการพิมพ์อักษรแล้วก็ยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วย โดยจะมีการให้ชมภายในเพื่อให้รู้ถึงวิธีการพิมพ์อักษรที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกทีหลังจากเล่าเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นช่วงเช้าเสร็จ



เราออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยชิงหัวตอน 9 โมงเช้า นั่งรถเมล์จากซินจู๋ไปไทเป แล้วก็ถึงตอน 10 โมง

รถเมล์ลงที่สถานีต้าเฉียวโถว (大橋頭站) จากนั้นก็นั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีซื่อหลิน (士林站) เพื่อนั่งรถเมล์ต่อไปจนถึงพิพิธภัณฑ์กู้กง ที่หมายแรก



พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกู้กงนี้ที่จริงแล้วเดิมที่ตั้งอยู่ที่กู้กง (พระราชวังต้องห้าม) ในปักกิ่ง ดังที่เคยเล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170102

แต่หลังจากปี ​1949 สมบัติส่วนใหญ่จากกู้กงได้ถูกนำย้ายมาอยู่ไต้หวัน และในปี 1965 จึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมาแล้วเอาสมบัติมาจัดแสดง

แม้จะมีชื่อว่ากู้กงแต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นลักษณะอาคารสมัยใหม่ ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับกู้กงของจริงที่ปักกิ่ง เพียงแต่ของที่จัดแสดงอยู่เป็นของจริง มีอยู่มากกว่าที่แสดงอยู่ในกู้กงปักกิ่งจริงๆเสียอีก

ที่นี่มีจัดแสดงของอะไรเยอะมากจนดูทั้งวันก็ไม่มีทางดูหมด แต่ว่าที่เขาจะพาเรามาดูวันนี้เป็นส่วนเล็กๆที่จัดแสดงเกี่ยวกับตัวอักษรจีนโบราณเท่านั้น

คนนี้คืออาจารย์ที่เป็นคนคอยอธิบายและพาเดินชม



นี่เป็นอักษรจีนโบราณซึ่งเป็นอักษรภาพซึ่งต่างจากอักษรปัจจุบันมาก




ส่วนนี่คืออักษรจว้านซู (篆書) ทางขวา เขียนคู่กับลี่ซู (隸書) ทางซ้าย สามารถดูเปรียบเทียบกันได้



ลี่ซูเป็นอักษรที่เริ่มจะใกล้เคียงอักษรปัจจุบันมากแล้ว คนจีนส่วนใหญ่อ่านได้ ส่วนจว้านซูจะเก่าแก่กว่าหน่อยมีความแตกต่างจากอักษรปัจจุบันพอสมควร แต่ก็ยังพอจะอ่านได้อยู่บ้าง

น่าเสียดายที่ตอนที่อยู่ในนี้ไม่ค่อยได้ถ่ายรูปเพราะไปเป็นกลุ่มใหญ่และฟังตลอด เลยมีรูปมาให้ดูแค่นี้

ครั้งนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องประสบการณ์การเที่ยวมากกว่าเลยไม่ได้ใส่รายละเอียดเนื้อหาลงไปเท่าไหร่เพราะถ้าให้เล่าจริงๆจะยาวมากแน่ๆ ที่จริงเรื่องของประวัติอักษรจีนเป็นอะไรที่น่าสนใจ ไว้มีโอกาสก็อยากเขียนถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่ไว้โอกาสหน้า

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เท่าที่ดูแล้วมีอะไรให้เดินมากกว่านี้เยอะ ไว้อาจหาโอกาสแวะมาอีกเพื่อเดินให้รอบๆ แต่คงต้องหาเวลาสักวันเต็มๆวัน ถึงตอนนั้นก็คงจะได้มาเขียนแนะนำอย่างละเอียดกว่านี้



เดินในพิพิธภัณฑ์เสร็จก็ออกมาเดินเล่นในสวนข้างๆพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นสวนที่ดูร่มรื่นสวยงามดี



ได้เวลาเที่ยงแล้ว เขามีเตรียมข้าวกล่องให้ด้วย



หลังจากนั้นก็นั่งรถเมล์กลับมาที่สถานีซื่อหลิน แวะซื้อเครื่องดื่มกันเล็กน้อย



ก่อนจะขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อต่อรถไฟยังสถานีจงซาน (中山站) ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้กับโรงพิมพ์อักษรโบราณมากที่สุด



โรงพิมพ์นั้นอยู่ในซอยนี้ ซอย 97 ถนนไท่หยวน (太原路97巷) เป็นซอยเล็กๆที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร



เดินเข้ามาก็จะเจอโรงพิมพ์เล็กๆ ดูจากหน้าทางเข้าแล้วก็ไม่ได้โดดเด่น ไม่ได้มีป้ายใหญ่อะไรให้สังเกต




เข้ามาด้านในก็พบแม่พิมพ์ของอักษรจำนวนมากมายวางเรียงรายเต็มไปหมด




อักษรจีนมีมากเป็นหมื่นตัวดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแม่พิมพ์จำนวนมาก ในการจัดเรียงอักษรนั้นที่นี่จะจัดเรียงตามปู้โส่ว (部首) ซึ่งเป็นหลักในการเรียงอักษรในพจนานุกรมจีนโดยค้นตามส่วนประกอบ

เพียงแต่ว่าจะมีการแยกอักษรที่ใช้บ่อยกับใช้น้อยออกจากกัน โดยอักษรที่ใช้บ่อยจะมีอยู่ ๒๐๐๐ ตัว นี่เป็นอักษรที่คนจีนส่วนใหญ่เห็นปุ๊บก็รู้จักทั้งหมดเพราะต้องเจออยู่ตลอด

ส่วนอักษรที่ใช้น้อยก็จะถูกเก็บไว้ลึกหน่อยและจะเห็นได้ว่ามีร่องรอยการใช้งานน้อยกว่าด้วย

แล้วอักษรแต่ละตัวยังต้องทำหลายขนาดและหลายฟอนต์ด้วย แน่นอนว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนฟอนต์และขนาดได้อิสระเหมือนในคอม ดังนั้นแม่พิมพ์จึงต้องเตรียมให้พร้อมทั้งหมด

อักษรที่มีที่นี่ไม่ได้มีแค่อักษรจีน ยังมีอักษรโรมันและอักษรฮิรางานะกับคาตาคานะของญี่ปุ่นด้วย

อันนี้เป็นอักษรแบบขนาดเล็กมาก ดูตาเปล่าแทบมองไม่เห็นว่าเป็นอักษรอะไร แต่เวลาพิมพ์ออกมาจึงจะเห็นชัด ขนาดเท่านี้เหมาะสำหรับพิมพ์นามบัตร



อักษรที่เห็นแยกเป็นตัวๆนี้พอเวลาจะพิมพ์ก็จะเอามาประกอบกันที่แท่นพิมพ์แล้วก็จิ้มหมึกแล้วประทับลงบนกระดาษ

ในบริเวณที่ทำงานก็จะเห็นว่ามีการใช้คอมด้วย ไม่ได้มีแต่อุปกรณ์สมัยเก่า



คนนี้คือจางเจี้ยกว้าน (張介冠) เป็นเถ้าแก่ของที่นี่ เขาทำงานนี้มาเป็นเวลานานมากโดยสืบทอดตำแหน่งจากพ่อของเขาซึ่งเป็นเถ้าแก่รุ่นก่อน



มีเพื่อนที่มาด้วยถามเถ้าแก่ว่าทำไมเขาถึงยังต้องใช้วิธีการพิมพ์แบบเก่านี้อยู่ เขาตอบว่าหากใช้คอมไม่อาจพิมพ์ออกมาได้สวยเท่า

แม่พิมพ์แต่ละอักษรที่เห็นนี้ไม่ได้แค่เอาไว้ใช้งานที่นี่แต่ยังขายให้คนที่ต้องการซื้อด้วย


เพียงแต่ว่าในการเข้าชมที่นี่มีกฎอยู่อย่างว่าหากใครหยิบอักษรอันไหนออกมาจากที่แล้วจะบังคับให้ต้องซื้อ เขาบอกเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเหมือนเป็นข้อตกลง ดังนั้นจะหยิบขึ้นมาเล่นมั่วๆไม่ได้

นี่คือที่ทำงานชั้นล่างซึ่งอยู่ใต้ดิน



ซึ่งก็มีแม่พิมพ์อักษรอยู่ไม่น้อยเช่นกัน



อันนี้เป็นแบบขนาดใหญ่หน่อย



รูปนี้ทางซ้ายเป็นเครื่องมือสำหรับพิมพ์ และทางขวาที่เห็นเก้าอี้เยอะๆนั่นเป็นที่สำหรับทำการเล็กเชอร์ โดยมีสไลด์มาบรรยายให้แขกที่เข้าชม



เขาทำการบรรยายสั้นๆเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีการพิมพ์


สมัยยุคแรกเริ่มนั้นคนทำเครื่องพิมพ์ด้วยการเอาตัวหนังสือทั้งหมดทั้งแผ่นมาสลักเป็นแป้นพิมพ์ การทำแบบนี้ยุ่งยากเพราะหากต้องการแก้แค่อักษรเดียวก็ต้องมาแกะใหม่ทั้งหมด ไม่สะดวกเป็นอย่างมาก

ต่อมาจึงมีการคิดค้นวิธีการแยกอักษรเป็นตัวๆแล้วค่อยเอามาประกอบรวมกันเป็นแม่พิมพ์ เรียกอักษรแบบนี้ว่า "หัวจื้อ" (活字) เริ่มคิดโดยนักประดิษฐ์ชื่อปี้เซิง (畢昇) ในยุคราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) คำว่า "หัว" (
) ในที่นี้หมายถึงขยับไปมาได้



แต่ว่าในตอนแรกวิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในจีนเนื่องจากอักษรจีนเยอะทำให้ต้องเตรียมแม่พิมพ์อักษรจำนวนมากๆจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับในสมัยนั้น

แต่วิธีนี้กลับเริ่มเป็นที่นิยมในยุโรปโดยที่มีโยฮันเนส กูเทินแบร์ก (Johannes Gutenberg, 1398 - 1468) เป็นคนริเริ่ม เพราะยุโรปใช้อักษรโรมันซึ่งมีอักษรแค่หลักสิบตัวเท่านั้น ใช้วิธีนี้ง่ายกว่าเยอะ



แต่ต่อมาวิธีนี้ก็เริ่มแพร่หลายในจีนแล้วก็ใช้แพร่หลายต่อมาเรื่อยๆจนถึงยุคที่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่

บรรยายเสร็จเขาก็ให้พวกเราไปลองค้นอักษรส่วนหนึ่งจากหิ้งเพื่อลองมาพิมพ์จริงๆดู

พวกเราในที่นี้ส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนหลักการเรียงอักษรปู้โส่วดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆนัก ใช้เวลาพอสมควร

พอหาอักษรที่จะประกอบเป็นคำที่ต้องการได้ครบแล้วเขาจึงสาธิตการเอาอักษรมาประกอบเป็นแท่นพิมพ์แล้วก็พิมพ์เป็นตัวอย่างให้ดู





และทั้งหมดนี้ก็คือการพิมพ์ด้วยวิธีการสมัยก่อน กว่าจะพิมพ์ได้ต้องมาหยิบเลือกอักษรที่ต้องการจากหิ้งซึ่งเต็มไปด้วยอักษรมากขนาดนั้น หยิบทีละตัวแล้วเอามาประกอบกัน จากนั้นจึงนำหมึกมาป้ายแล้วจึงพิมพ์ลงบนกระดาษ

ซึ่งมันต่างจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่แค่ใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์ตัวอักษรก็ออกมาแล้ว ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดนี้จึงทำให้ไม่แปลกที่วิธีการพิมพ์แบบโบราณนี้จะเลือนหายไปตามยุคสมัย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นเรื่องดีที่เขายังอนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม เพราะมันทำให้เราได้รู้ว่าคนสมัยก่อนเขาลำบากกันแค่ไหน ในยุคที่เทคโนโลยีไม่ได้สะดวกสบายเหมือนดั่งตอนนี้

ยุคสมัยเปลี่ยนแปรไป เทคโนโลยีต่างๆของมนุษย์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ การได้ศึกษาได้เห็นถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นอะไรที่สนุกไม่น้อยเลยเหมือนกัน



มีคนญี่ปุ่นที่เคยไปเที่ยวมาได้เขียนเล่าอธิบายอย่างละเอียดกว่านี้มาก ไปเจอมา หากสนใจสามารถลองไปอ่านดูในนี้ได้ http://www.taipeinavi.com/shop/479
ส่วนอันนี้เป้น facebook ของที่นี่ https://www.facebook.com/rixingtypefoundry



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน >> ไทเป
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文