φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



หมู่บ้านจิ้งจอกมิยางิซาโอว เดินเล่นในสวนที่มีจิ้งจอกอยู่เป็นร้อยตัว
เขียนเมื่อ 2022/11/21 06:24
แก้ไขล่าสุด 2023/03/30 12:10
#เสาร์ 19 พ.ย. 2022

บันทึกหน้านี้จะเล่าถึง หมู่บ้านจิ้งจอกมิยางิซาโอว (宮城蔵王みやぎざおうキツネむら) ซึ่งเราได้ไปเที่ยวมาหลังจากที่มาเที่ยวเมืองชิโรอิชิ (白石市しろいしし) ทางใต้ของจังหวัดมิยางิ ได้เที่ยวที่ปราสาทชิโรอิชิ (白石城しろいしじょう) เสร็จแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20221120

หมู่บ้านจิ้งจอกมิยางิซาโอวนั้นเป็นสถานที่เที่ยวขึ้นชื่ออีกแห่งในเมืองชิโรอิชิ ที่นี่เป็นสถานที่ที่เลี้ยงจิ้งจอกไว้เป็นร้อยตัวซึ่งมากที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นที่เดียวในญี่ปุ่นที่สามารถให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแล้วสัมผัสกับจิ้งจอกอย่างใกล้ชิดได้

ในภาษาญี่ปุ่นเรียกจิ้งจอกว่า "คิตสึเนะ" (キツネ) หรือเขียนเป็นคันจิว่า

จิ้งจอกที่เลี้ยงไว้ที่นี่ส่วนใหญ่แล้วเป็นสายพันธุ์จิ้งจอกแดง ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "อากางิตสึเนะ" (アカギツネ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vulpes vulpes ปกติแล้วเวลาพูดถึงสุนัขจิ้งจอกก็จะหมายถึงจิ้งจอกแดงเป็นหลัก เป็นจิ้งจอกที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ส่วนใหญ่บนโลก

จิ้งจอกแดงนั้นประกอบด้วยพันธุ์ย่อยมากมาย ที่ญี่ปุ่นมีจิ้งจอกแดงอยู่ ๒ สายพันธุ์หลักคือ

- จิ้งจอกแดงญี่ปุ่น (Vulpes vulpes japonica) ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "ฮนโดะงิตสึเนะ" (ホンドギツネ) พบในเกาะหลักของญี่ปุ่น ยกเว้นฮกไกโดว
- จิ้งจอกแดงเอโซะ (Vulpes vulpes schrencki) ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "คิตะกิตสึเนะ" (キタキツネ) พบในเกาะฮกไกโดว และยังพบได้ในเกาะซาฮาลินและหมู่เกาะคูริลของรัสเซียด้วย

แม้ว่าหมู่บ้านจิ้งจอกแห่งนี้จะไม่ได้อยู่ในฮกไกโดว แต่จิ้งจอกที่เลี้ยงไว้ที่นี่ส่วนใหญ่พามาจากฮกไกโดว จึงเป็นพันธุ์จิ้งจอกแดงเอโซะเป็นหลัก ไม่ใช่จิ้งจอกแดงญี่ปุ่นที่เป็นพันธุ์ท้องถิ่นบริเวณนี้ แต่ก็มีจิ้งจอกแดงญี่ปุ่นอยู่ด้วยเป็นส่วนน้อย

จิ้งจอกแดงเอโซะนั้นโดยทั่วไปจะเป็นสีน้ำตาลแดง แต่ก็ยังมีพันธุ์ทางที่มีสีต่างออกไปด้วย เช่นสีดำ เรียกว่า "จิ้งจอกเงิน" (ギンギツネ) สีขาวปนเทา เรียกว่า "จิ้งจอกทองคำขาว" (プラチナキツネ)

นอกจากนี้แล้วที่นี่ยังเลี้ยงจิ้งจอกอาร์กติก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Vulpes lagopus, ชื่อญี่ปุ่น ホッキョクギツネ) ไว้ด้วย ซึ่งจริงๆเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ในแถบขั้วโลกเหนือ ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่นของญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่จะมีสีขาวโพลน แต่ก็มีสีเทาอยู่ด้วย

ค่าเช้าชมหมู่บ้านจิ้งจอกคือ ๑๐๐๐ เยน ภายในประกอบไปด้วยบริเวณที่เปิดเป็นพื้นที่สวนให้เข้าสัมผัสกับจิ้งจอกได้อย่างใกล้ชิด เพียงแต่ว่าห้ามสัมผัส เพราะอาจถูกกัดได้ และยังมีบางส่วนที่เลี้ยงไว้เพื่อเพาะพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในกรง

นอกจากนี้ก็มีส่วนที่ให้ลองอุ้มและลูบจิ้งจอกได้ แต่ต้องเสียค่าบริการเพิ่มอีก ๖๐๐ เยน และต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด

จิ้งจอกมีการเปลี่ยนขนต่างกันไปในฤดูร้อนกับฤดูหนาว โดยฤดูหนาวขนจะปกปุยฟูฟ่องดูน่ารักน่าลูบกว่า ดังนั้นถ้าจะมาเที่ยวที่นี่มาตอนฤดูหนาวจะดีกว่า

ปกติแล้วจิ้งจอกเป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคยกับมนุษย์เหมือนอย่างหมาหรือแมว จึงมีอันตราย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิ Echinococcosis ซึ่งทำให้เกิดโรค แต่ว่าจิ้งจอกที่เลี้ยงอยู่ที่นี่ได้รับการดูแลอย่างดีให้ปราศจากเชื้อและคุ้นเคยกับมนุษย์ จึงไม่ต้องเป็นห่วง

โดยธรรมชาติแล้วจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่หากินตอนกลางคืน ดังนั้นตอนช่วงกลางวันที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมที่นี่ได้นั้นมักจะเห็นจิ้งจอกนอนกันอยู่ซะมาก แต่ก็มีจำนวนมากที่เดินเล่นไปมาอยู่ในสวน

และที่นี่นอกจากจะมีจิ้งจอกแล้ว ก็ยังมีเลี้ยงสัตว์เล็กชนิดอื่นๆไว้ด้วยนิดหน่อย ได้แก่ กระต่าย แพะ ม้าตัวเล็ก สามาถเข้าชมได้เช่นกัน

ข้อมูลอื่นๆอ่านได้ที่เว็บหลักของที่นี่ http://zao-fox-village.com/



การเดินทางไปยังหมู่บ้านจิ้งจอกแห่งนี้ทำได้โดยนั่งรถเมล์สายมิยางิซาโอวซันโรกุแอ็กเซส (みやぎ蔵王山麓ざおうさんろくアクセス) โดยในวันนึงมีเที่ยวรถแค่ ๒ รอบเท่านั้น รายละเอียดเที่ยวรถเมล์นี้มีเขียนไว้ในเว็บ http://takeyakoutu.jp/miyagizao_sanroku_access.html

รถเมล์สายนี้เชื่อมต่อระหว่างสถานีชิโรอิชิซาโอว (白石蔵王駅しろいしざおうえき) กับอาโอเนะอนเซง (青根温泉あおねおんせん) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแช่อนเซงแห่งหนึ่งที่อยู่ในเมืองคาวาซากิ (川崎町かわさきまち) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ตอนตะวันตกของจังหวัดมิยางิ โดยระหว่างทางผ่านสถานีชิโรอิชิ (白石駅しろいしえき) และหมู่บ้านจิ้งจอกซาโอว ดังนั้นการเดินทางไปจะขึ้นจากสถานีชิโรอิชิซาโอวซึ่งเป็นต้นทางก็ได้ หรือจะขึ้นจากสถานีชิโรอิชิก็ได้ แล้วแต่สะดวก

ค่าโดยสารจากสถานีชิโรอิชิไปยังหมู่บ้านจิ้งจอกคือ ๗๐๐ เยน แต่ถ้าขึ้นจากสถานีชิโรอิชิซาโอวค่าโดยสารจะเป็น ๘๐๐ เยน

แม้ว่าสายนี้จะเดินทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่ว่าคนเกือบทั้งหมดที่ขึ้นรถเมล์นี้ก็เพื่อเดินทางไปหมู่บ้านจิ้งจอกกันทั้งนั้น ส่วนที่อื่นนั้นมีแต่พวกอนเซง ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น

ที่จริงรถเมล์สายนี้ยังผ่านโทงัตตะอนเซง (遠刈田温泉とおがったおんせん) ในเมืองซาโอว (蔵王町ざおうまち) ซึ่งเป็นที่ที่มีรถเมล์เดินทางมาจากเซนไดด้วย ดังนั้นหมายความว่าหากมาจากเซนไดเราอาจเดินทางมาหมู่บ้านจิ้งจอกโดยเปลี่ยนรถที่โทงัตตะอนเซงได้ด้วย แต่ยังไงก็ไม่สะดวกเท่าเดินทางจากชิโรอิชิ ดังนั้นจึงไม่ได้ใช้เส้นทางนี้



ครั้งนี้เราเดินทางจากสถานีชิโรอิชิขึ้นรถรอบเวลา 10:14 จุดขึ้นรถเมล์อยู่ทางตะวันออกของสถานี ตัวรถมีวาดรูปจิ้งจอกน่ารักดี



เมื่อขึ้นรถเมล์มาก็พบว่ามีคนอยู่ในรถแล้วเต็มไปหมด แสดงว่าส่วนใหญ่นั่งมาจากสถานีชิโรอิชิซาโอวทั้งนั้น มีแค่ ๕ คนเท่านั้นที่ขึ้นจากสถานีชิโรอิชิ



ระหว่างทางผ่านคามาซากิอนเซง (鎌先温泉かまさきおんせん) ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวอนเซงอีกแห่งที่อยู่บนเส้นทางนี้ แต่ก็ดูแล้วเงียบเหงา ไม่มีใครลงตรงนี้ และก็ไม่เห็นมีใครขึ้น




แล้วในที่สุดก็มาถึงหมู่บ้านจิ้งจอกเวลา 10:42 แล้วทุกคนก็ลงที่นี่หมดเลย



จากนั้นก็เดินขึ้นมาทางนี้



ตรงนี้เป็นที่จอดรถ ถ้าใครขับรถมาก็มาจอดตรงนี้เพื่อเข้าชมได้



ที่หน้าทางเข้ามาลิงกอริลลาตัวใหญ่ เป็นเขียนบอกว่าเป็นเทพพิทักษ์ (まもがみ) ของที่นี่



ทางเข้าอยู่ตรงนี้



เมื่อเข้ามาก็เป็นที่ขายตั๋วเข้าชม พร้อมกันนั้นเขาก็อธิบายกฎระเบียบการปฏิบัติตัวระหว่างที่เข้าชมด้านในนั้นด้วย



ตั๋วเข้าชมราคา ๑๐๐๐ เยน



ด้านหลังตั๋ววาดแสดงแผนที่ภายในบริเวณนี้ แต่ไม่ได้แสดงรายละเอียดสักเท่าไหร่



เมื่อเข้ามาด้านในก็จะเจอจิ้งจอกแดงตัวแรกรอต้อนรับอยู่




ข้างๆมีจิ้งจอกอาร์กติกอยู่ด้วย แต่อยู่ในกรง เห็นมีเขียนบอกว่าตัวนี้มีตา ๒ สี แต่มันหลับอยู่ก็เลยไม่ได้เห็นว่าตาเป็นยังไง



ตรงนี้เห็นคนเข้าแถวรออะไรกันอยู่



พอมาดูก็รู้ว่าเป็นกิจกรรมให้ลองกอดจิ้งจอกได้ เริ่มตอน 11:00 ต้องจ่าย ๖๐๐ เยน มีคนสนใจอยากกอดจิ้งจอกมากมาย เราเองก็เข้ามาต่อแถวคิวรอเข้าร่วมด้วย



เมื่อถึงเวลา เขาก็ให้ทุกคนใส่ชุดคลุมป้องกัน ท่อนบนเป็นสีเหลือง ท่องล่างเป็นสีส้ม แล้วพนักงานก็อธิบายเกี่ยวกับวิธีกอดและข้อควรระวัง



จากนั้นเขาก็เริ่มแจกจิ้งจอกให้ทุกคนได้กอด โดยให้นั่งอยู่กับที่แล้วเขาจะเอาจิ้งจอกมาวาง สามารถใช้มือลูบได้ตามสบาย ระหว่างนั้นสามารถให้คนอื่นช่วยถ่ายรูประหว่างกอดไว้เป็นที่ระลึกให้ได้



ตัวนี้คือตัวที่เราได้กอด เป็นจิ้งจอกแดงตัวเมีย ขนนุ่มปกปุยหางฟูน่ารักดี



เวลากอดผ่านไปอย่างรวดเร็ว แค่แป๊บเดียวก็ต้องจากกันแล้ว พอเสร็จแล้วก็คืนชุดให้เขา แล้วก็เปลี่ยนเป็นให้คนอื่นมากอดต่อๆไปตามคิว



หลังจากนั้นก็ได้เวลาเข้าชมส่วนหลักของที่นี่ นั่นคือส่วนที่เป็นสวนเปิดให้จิ้งจอกอยู่อย่างอิสระไม่ได้ถูกล่ามหรือขังในกรงเล็กๆ และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเดินเล่นชมจิ้งจอกอย่างใกล้ชิดได้ ทางเข้าอยู่ที่ประตูนี้ มีพนักงานคุมอย่างแน่นหน้าคอยเปิดปิดประตู



เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามา ด้านในเป็นสวนกว้างพอสมควรเลยทีเดียว





นักท่องเที่ยวจะเดินได้แค่ตามทางเดินเท่านั้น ห้ามล้ำเส้นเข้าไปตรงพื้นหญ้า




แต่จิ้งจอกก็มีเดินแวะเข้ามาบนทางเดินเช่นกัน



จิ้งจอกที่มาเดินเล่นตรงทางเดินนี้นักท่องเที่ยวสามารถชมได้อย่างใกล้ชิด





แต่ยังไงก็ห้ามเข้าใกล้มากเกินไป และห้ามจับอย่างเด็ดขาดเพราะอาจถูกกัดได้ ทำได้แค่ดูเฉยๆเท่านั้น ตามทางจะมีป้ายเตือนแบบนี้อยู่เต็มไปหมด เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าฝ่าฝืนนอกจากจะได้รับบาดเจ็บแล้วยังอาจถูกไล่ออกจากสถานที่ทันทีด้วย



จิ้งจอกส่วนใหญ่นอนเล่นสบายๆอยู่




ส่วนใหญ่แล้วจะนอนขดเป็นก้อนกลมแบบนี้ ช่างน่ารักจริงๆ









นอกจากจิ้งจอกจริงๆแล้วก็ยังมีรูปสลักไม้เป็นจิ้งจอกอยู่ด้วย



บริเวณสวนทั้งหมดนี้เป็นอาณาเขตที่ถูกล้อมไปด้วยรั้วสีเขียว



เห็นจิ้งจอกสีขาวมาเดินเล่นที่ถนนริมรั้วด้วย



ตรงนี้เป็นทางเดินที่เต็มไปด้วยเสาโทริอิ เป็นทางไปสู่ศาลเจ้าโอกง (御金神社おこんじんじゃ) ที่อยู่ด้านบน




จิ้งจอกที่เจอระหว่างเดินผ่านเสาโทริอิขึ้นไป





เมื่อขึ้นมาถึงด้านบนสุดก็เจอศาลเจ้าเล็กๆที่บูชาจิ้งจอก




ตรงนี้มีจิ้งจอกสีดำนอนเอาหางแหย่ท่อ



ข้างๆศาลเจ้าเป็นกรงเพาะจิ้งจอก



จิ้งจอกที่อยู่ในนี้ได้แต่มองผ่านกรงเข้าไป



ส่วนตรงนี้เป็นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ให้อาหารจิ้งจอก



คนที่จะให้อาหารจิ้งจอกให้เข้าไปในนี้



แล้วก็ยืนหย่อนอาหารจากในนั้น แล้วก็จะมีจิ้งจอกจำนวนมากมายแห่กันมากิน






ส่วนตรงริมรั้วทางนี้มีกรงเพาะเลี้ยงจิ้งจอกอีกส่วนหนึ่ง พวกนี้ก็ได้แต่มองผ่านกรงเข้าไป




จิ้งจอกกินน้ำอยู่ข้างรั้ว




ตารางเขียนแสดงเปรียบเทียบอายุของจิ้งจอกเทียบกับมนุษย์ จิ้งจอกนั้นโตเร็วกว่ามนุษย์มาก อายุแค่ ๑ ปีก็เทียบเท่ากับมนุษย์อายุ ๑๗ ปีแล้ว





หลังจากเดินเล่นในสวนที่เต็มไปด้วยจิ้งจอกจนพอและใกล้เวลาแล้ว เราก็ออกมาเพื่อเดินชมส่วนที่เหลือ ซึ่งก็ยังมีอยู่อีกเพียงเล็กน้อย

ตรงนีคือส่วนที่เลี้ยงพวกสัตว์อื่นๆนอกจากจิ้งจอก เช่นกระต่าย



เดินเข้ามาเจอกระต่าย



ถัดมาเป็นกรงที่เลี้ยงจิ้งจอกอาร์กติก มีสีขาวและสีเทาอยู่ด้วยกัน




ส่วนตรงนี้เป็นที่เข้าชมแพะและม้าเล็ก




แพะ




ม้าเล็ก



การชมภายในก็หมดลงเท่านี้ ตอนนี้ก็ใกล้เวลารถเมล์แล้ว เราเดินออกไป ทางออกอยู่ตรงนี้



ที่ทางออกมีร้านขายของที่ระลึกอยู่ด้วย แต่ว่าเขาห้ามถ่ายรูปข้างใน จึงไม่ได้เก็บรูปในร้านมา เราได้ซื้อโดนัตราคา ๗๐๐ เยน กลับไปเป็นที่ระลึก



โดนัตนี้ทำเป็นรูปร่างเหมือนอึจิ้งจอก แต่รสชาติก็เหมือนกับโดนัตทั่วไปนั่นแหละ



การเที่ยวภายในนี้ก็เสร็จเพียงเท่านี้ เดินออกมาข้างนอก



เดินกลับลงมายังป้ายรถเมล์เพื่อนั่งรถเมล์กลับ



ที่ป้ายรถเมล์มีคนไม่น้อยกำลังรอรถเมล์อยู่เช่นกัน



แล้วรถเมล์ก็มาถึงในเวลา 12:03 ซึ่งก่อนเวลาที่กำหนดคือ 12:05 ไปเล็กน้อย



แล้วรถก็กลับมาส่งถึงสถานีชิโรอิชิเวลา 12:33 ซึ่งถึงก่อนเวลาตามกำหนดจริงๆคือ 12:35 คนที่ลงที่สถานีนี้ก็มี ๕ คนเหมือนตอนขาที่ขึ้นมา ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ก็ไปลงที่สถานีชิโรอิชิซาโอวเพื่อขึ้นชิงกันเซงกัน



ตอนที่กลับมาถึงนั้นเป็นเวลาอาหารเที่ยงแล้ว เลยแวะหาอะไรกินสักหน่อย ไหนๆก็มาเที่ยวชิโรอิชิแล้ว ก็ต้องลองชิมอูเมง (温麺うーめん) ของขึ้นชื่อของที่นี่สักหน่อย



เมนูของร้านนี้ หน้านี้แสดงอูเมงแบบต่างๆ



เราสั่งอูเมงใส่เห็ดนาเมโกะ (なめこうーめん) ราคา ๗๗๐ เยน



เมื่อกินเสร็จก็กลับมายังสถานีชิโรอิชิ



ขึ้นรถไฟกลับเซนไดรอบ 13:16 ค่าโดยสาร ๗๗๐ เยน



ลาก่อนชิโรอิชิ



ระหว่างทางรถไฟยังผ่านสถานีฮิงาชิชิโรอิชิ (東白石駅ひがししろいしえき) ซึ่งเป็นอีกสถานีในเมืองชิโรอิชิ



แล้วก็ตามด้วยสถานีคิตะชิรากาวะ (北白川駅きたしらかわえき) ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของเมืองชิโรอิชิ



จากนั้นรถไฟก็เข้าสู่เขตเมืองโองาวาระ (大河原町おおがわらまち) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ทางเหนือของเมืองชิโรอิชิ ผ่านสถานีโองาวาระ (大河原駅おおがわらえき)



แล้วก็เข้าสู่เมืองเมืองชิบาตะ (柴田町しばたまち) ผ่านสถานีฟุนาโอกะ (船岡駅ふなおかえき) และสถานีทสึกิโนกิ (槻木駅つきのきえき) ซึ่งเราได้เคยแวะมาเที่ยวแล้ว เล่าถึงไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20221022




หลังจากนั้นรถไฟก็กลับถึงสถานีเซนไดเวลา 14:04 เป็นอันจบการเที่ยวชิโรอิชิในวันนี้



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> มิยางิ
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ท่องเที่ยว >> ศาสนสถาน >> ศาลเจ้า

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文