φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ปราสาทชิมาบาระ ปราสาทสวยใหญ่ล้อมด้วยคูบัวในเมืองที่อยู่ระหว่างภูเขากับทะเล
เขียนเมื่อ 2024/12/01 21:35
แก้ไขล่าสุด 2024/12/03 22:02
# อังคาร 12 พ.ย. 2024

บันทึกการเที่ยวต่อจากที่ตอนที่แล้วนั่งเรือมาถึงเมืองชิมาบาระ จังหวัดนางาซากิ https://phyblas.hinaboshi.com/20241130

สำหรับตอนนี้จะเป็นการเที่ยวปราสาทชิมาบาระ (島原城しまばらじょう) ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวหลักของเมืองนี้ และเป็นสถานที่เที่ยวที่ประทับใจมากที่สุดในการเที่ยวคิวชูตอนเหนือครั้งนี้เลย ปราสาทนี้ยังถือเป็นปราสาทญี่ปุ่นที่สวยที่สุดเท่าที่เราเคยไปเที่ยวชมมาจนถึงตอนนี้ด้วย

เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างประทับใจ ก็เลยอยากเขียนถึงละเอียดหน่อย โดยขอเร่ิมเขียนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วย

ปราสาทชิมาบาระเป็นปราสาทญี่ปุ่นที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองชิมาบาระฮัง (島原藩しまばらはん) ในยุคเอโดะ ซึ่งปกครองบริเวณคาบสมุทรชิมาบาระ (島原半島しまばらはんとう) ซึ่งเป็นส่วนทางตอนใต้ของจังหวัดนางาซากิในปัจจุบัน

พูดถึงชิมาบาระแล้ว ที่นี่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในฐานะสถานที่เกิดกบฏชิมาบาระ (島原しまばららん) ในปี 1637-1638 ช่วงต้นยุคเอโดะ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อต้านชาวคริสต์ในญี่ปุ่นอย่างรุนแรง นำไปสู่การปิดประเทศในปี 1639 ยาวนานไปจนเกือบตลอดยุคเอโดะยาว ๒๐๐ กว่าปี

ชาวตะวันตกได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาและทำการค้ากับญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 แล้ว และมีบทบาทไม่น้อยในช่วงยุคเซงโงกุด้วย ทำให้ช่วงนั้นชาวญี่ปุ่นจำนวนมากซึ่งคาดกันว่าเป็นแสนคนหันมานับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะคิวชูซึ่งเป็นประตูสู่ญี่ปุ่นในสมัยนั้น

บริเวณคาบสมุทรชิมาบาระได้มีผู้นับถือศาสนาคริสต์จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผู้ครองชิมาบาระยุคแรก อาริมะ ฮารุโนบุ (有馬 晴信ありま はるのぶ, ปี 1567-1612) และลูกชาย อาริมะ นาโอสึมิ (有馬 直純ありま なおずみ, ปี 1586-1641) ที่เป็นรุ่นต่อมาด้วย

โดยในช่วงต้นยุคเอโดะนั้นศูนย์กลางการปกครองชิมาบาระอยู่ที่ปราสาทฮิโนเอะ (日野江城) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นเมืองมินามิชิมาบาระ (南島原市みなみしまばらし) ในปัจจุบัน และตอนนั้นเขตปกครองพื้นที่นี้เคยเรียกว่า ฮิโนเอะฮัง (日野江藩ひのえはん)

แต่ว่าในปี 1614 นาโอสึมิ ผู้ครองซึ่งเป็นชาวคริสต์ได้โดนย้ายให้ไปครองโนเบโอกะฮัง (延岡藩のべおかはん) ซึ่งเป็นเขตปกครองที่อยู่บริเวณจังหวัดมิยาซากิตอนเหนือในปัจจุบันแทน หลังจากนั้นในปี 1616 มัตสึกุระ ชิเงมาสะ (松倉 重政まつくら しげまさ, ปี 1574-1630) ได้ถูกส่งมาปกครองแทน และเขาได้สั่งให้สร้างปราสาทชิมาบาระขึ้นในปี 1618 แล้วย้ายฐานปกครองไปอยู่ที่นั่น

ชิเงมาสะได้ทำการปกครองอย่างโหดเหี้ยมกดขี่ และยิ่งช่วงนั้นรัฐบาลโชกุนมีนโยบายเข้มงวดกับชาวคริสต์ทำให้เขาใช้เป็นข้ออ้างในการขูดรีดชาวคริสต์ในพื้นที่อย่างเต็มที่ไม่มีปรานี นั่นทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างมาก และเป็นชนวนไปสู่เหตุการณ์กบฏในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ปราสาทชิมาบาระเองก็ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตหรูหรา เพื่อที่จะสร้างปราสาทนี้ขึ้นมาได้มีการรีดภาษีประชาชนในพื้นที่และเกณฑ์แรงงานคนอย่างเข้มงวดกดขี่ ว่ากันว่านี่ก็เป็นสิ่งที่มีส่วนในการเกิดกบฏครั้งนี้ด้วย


ปราสาทชิมาบาระได้สร้างเสร็จในปี 1624 และปีนี้คือ 2024 ที่เราไปมานี้เขาก็กำลังฉลองครบรอบ ๔๐๐ ปีปราสาทชิมาบาระกันอยู่ด้วย ถือว่ามาได้จังหวะพอดี

ชิเงมาสะได้เสียชีวิตในปี 1630 จากนั้นลูกชายคือ มัตสึกุระ คัตสึอิเอะ (松倉 勝家まつくら かついえ, ปี 1597-1638) ก็ได้มาปกครองต่อ ซึ่งก็ยังคงสืบทอดระบบที่กดขี่ประชาชน ไม่มีอะไรต่างไปจากเดิม

นอกจากนี้แล้ว ในบริเวณหมู่เกาะอามากุสะ (天草諸島あまくさしょとう) ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ปราสาทโทมิโอกะ (富岡城とみおかじょう) อยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นเมืองเรย์โฮกุ (苓北町れいほくちょう) จังหวัดคุมาโมโตะ ก็มีการปกครองกดขี่แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นด้วย โทมิโอกะฮังตั้งอยู่บนเกาะ แต่ว่าใกล้ชายฝั่ง อยู่ใกล้กับคาบสมุทรชิมาบาระ จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน นั่งเรือไปมาหากันได้สะดวก

หลังจากที่การปกครองกดขี่ดำเนินต่อมายาวนานกว่า ๒๐ ปี ในที่สุดประชาชนของชิมาบาระฮังและโทมิโอกะฮังก็หมดความอดทน เกิดกบฏขึ้นในปี 1937 โดยมีประชาชนชาวคริสต์เป็นศูนย์กลาง ผู้นำกบฏคือเด็กหนุ่มชื่อ อามากุสะ ชิโรว (天草 四郎あまくさ しろう, ปี ?-1638) ซึ่งปีเกิดไม่แน่ชัดแต่ว่ากันว่าขณะนั้นอายุไม่ถึง ๒๐ ปี มีเรื่องว่าเขาได้สร้างปาฏิหาริย์ขึ้นมามากมายจนกลายเป็นที่เลื่อมใส เป็นที่ยึดเหนี่ยวใจของชาวบ้านในพื้นที่แถบนั้น

ฝ่ายกบฏได้เข้าโจมตีปราสาทชิมาบาระ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนต้องถอยร่นมาตั้งหลักที่ ปราสาทฮาระ (原城はらじょう) ซึ่งเป็นปราสาทเก่าที่อยู่ใกล้กับปราสาทฮิโนเอะซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองเดิม

ปราสาทฮาระนั้นเดิมถูกสร้างเพื่อช่วยเสริมปราสาทฮิโนเอะอีกที แต่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปพร้อมกับปราสาทฮิโนเอะหลังจากย้ายการปกครองมาอยู่ที่ปราสาทชิมาบาระ แต่ฝ่ายกบฏได้นำปราสาทนี้กลับมาปรับปรุงใหม่แล้วใช้เพื่อเป็นฐานของศึกครั้งนี้

ฝ่ายโชกุนโทกุงาวะจากเอโดะได้ส่งกองทัพมาช่วยเสริมเพื่อจะปรากบฏที่ปราสาทฮาระ แม้ว่าฝ่ายกบฏจะแข็งแกร่งกว่าที่คิดทำให้ต้องทำการปิดล้อมอยู่นาน แต่สุดท้ายด้วยกำลังที่น้อยกว่าและโดนปิดล้อมจนเสบียงหมดก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด แล้วปราสาทฮาระก็ถูกทำลายลง ฝ่ายกบฏที่เป็นชาวคริสต์ถูกฆ่าตายแทบทั้งหมด

แม้ว่าการลุกฮือของประชาชนจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ศูนย์เปล่า เพราะทำให้เรื่องแดงว่าตระกูลมัตสึกุระได้ปกครองชิมาบาระอย่างกดขี่และคัตสึอิเอะต้องรับโทษตัดหัวประหารในฐานะต้นเหตุของเหตุการณ์ จากนั้นผู้นำคนใหม่ได้ถูกส่งมาปกครองปราสาทมัตสึบาระแทน ทำการฟื้นฟูเมืองที่เสียหายไปจากเหตุการณ์นี้ ได้มีการอพยพชาวบ้านจากพื้นที่อื่นเข้ามาเพื่อชดเชยประชาชนที่ได้ล้มหายตายจากไปมาก

แต่ผลพวงที่สำคัญของเหตุการณ์นี้จริงๆก็คือการทำให้รัฐบาลโชกุนยิ่งเข้มงวดกับชาวคริสต์มากขึ้น ได้ทำการตัดสัมพันธ์กับโปรตุเกส และนำไปสู่การปิดประเทศในที่สุด เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ส่วนซากปราสาทฮาระก็ได้ถูกปล่อยร้างมาเป็นเวลานาน แต่แล้วในที่สุดก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในชื่อ "แหล่งคริสเตียนลับในภูมิภาคนางาซากิ" ร่วมกันกับโบราณสถานอีกหลายแห่งในเมืองนางาซากิและหมู่เกาะอามากุสะ

ปราสาทฮาระนี้ก็เป็นสถานที่เที่ยวที่สักวันกะว่าถ้ามีโอกาสก็อยากแวะไปเหมือนกัน แต่ไว้โอกาสหน้า ปราสาทฮาระนั้นอยู่ไกลเดินทางลำบากยิ่งกว่าปราสาทชิมาบาระ และก็เหลือแต่ซากฐานปราสาท ไม่ได้มีตัวปราสาทสวยๆให้ชม ทำให้คนไปเที่ยวกันน้อย แต่สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์แล้วก็ถือว่าน่าสนใจ

ส่วนปราสาทชิมาบาระนั้นก็อยู่เป็นศูนย์กลางการปกครองของพื้นที่แถบนี้มาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคเอโดะ และในปี 1871 ก็ได้ถูกรื้อทิ้งตามคำสั่งรื้อปราสาทต้นยุคเมย์จิ เช่นเดียวกับปราสาทอื่นส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น

จากนั้นในปี 1964 จึงได้มีการสร้างใหม่แทนของเก่า โดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก ดังนั้นปราสาทชิมาบาระที่เหลือให้ชมกันถึงทุกวันนี้ก็เป็นของใหม่ ไม่ใช่ของดั้งเดิมที่ปรากฏในประวัติศาสตร์



เล่าประวัติศาสตร์จบแล้ว ต่อไปก็มาเข้าเรื่องบันทึกการไปเที่ยว โดยหลังจากที่นั่งรถเมล์จากท่าเรือชิมาบาระมา ก็มาลงที่ป้ายโอเตะ (大手おおて) ซึ่งตั้งอยู่หน้าที่ว่าการเมืองชิมาบาระ



ตรงจุดที่ลงป้ายมายังเป็นที่ต้งของอาร์เคด ซันไชน์จูโอวไง (サンシャイン中央街ちゅうおうがい) นี่ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกัน ไว้เดี๋ยวก็มีแวะมาเดิน แต่ว่านี่เป็นคนละทางกับปราสาท ไว้เที่ยวปราสาทเสร็จค่อยมาเดินอีกที



จากนั้นมองไปทางเหนือฝั่งตรงข้ามถนนก็เห็นปราสาทชิมาบาระแล้ว



เดินมายังปราสาท ระหว่างทางยิ่งเข้าใกล้ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความใหญ่โตสวยงามของปราสาทนี้




แล้วก็มาถึงคูที่ล้อมบริเวณตัวปราสาท ในคูนี้เต็มไปด้วยดอกบัว ทำให้ทิวทัศน์สวยงามมาก ตรงนี้เป็นมุมเด็ดที่สุดในการถ่ายภาพปราสาทแห่งนี้เลย




จากนั้นก็เดินเลียบริมคลองไปเพื่อหาทางเข้า





มาถึงหน้าทางเข้า



เดินตามทางเข้าไป



แล้วปราสาทชิมาบาระก็อยู่ตรงหน้าแล้ว



ที่นั่นเรายังเจอตู้โทรศัพท์ด้วย ซึ่งน่าจะถือเป็นของหายากในสมัยนี้ ไม่คิดว่าจะยังได้เห็นหลงเหลืออยู่ในที่แบบนี้



ก่อนเข้าไปชมในปราสาท เราลองเดินดูรอบๆก่อน ซึ่งมีศูนย์บริการท่องเที่ยวและร้านขายของฝาก รวมทั้งร้านอาหารอยู่



ในนี้มีขายคันซาราชิ (かんざらし) ขนมขึ้นชื่อของเมืองชิมาบาระด้วย ตอนแรกก็คิดว่าอยากแวะกินอยู่ แต่ว่าไว้เที่ยวเสร็จก่อนดีกว่า



ส่วนอาคารปราสาทเล็กๆ ๓ ชั้นตรงนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ของใช้พื้นบ้าน (民具資料館みんぐしりょうかん)



ภายในเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้มากมายจัดแสดงอยู่



เดินขึ้นไปดูชั้นบน





ชั้น ๓



และข้างๆนั้นก็เป็นจุดที่มองออกไปเห็นทิวทัศน์บ้านเมืองริมฝั่งทะเลได้สวย




จากมุมนี้มองกลับมายังอาคารหอหลักของปราสาท



ข้างๆนั้นยังมีอาคารอนอุมะมิโชะ (御馬見所おんうまみしょ) ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่เดิมถูกสร้างขึ้นเพื่อดูการฝึกม้า เดิมตั้งอยู่ไกลจากปราสาทมากกว่านี้ แต่ได้ถูกย้ายมาสร้างไว้ตรงนี้หลังจากการฟื้นฟูปราสาทใหม่



จากนั้นเราก็กลับมาที่หน้าปราสาท ได้เวลาเข้าเข้าไปชมด้านใน



ก่อนอื่นต้องมาซื้อตั๋วเข้าชมก่อน ราคา ๗๐๐ เยน



แล้วก็เข้ามาชมด้านใน ซึ่งก็มีอะไรจัดแสดงอยู่มากมายให้ชมไปเรื่อยๆระหว่างเดินขึ้นไปเรื่อยๆสู่ชั้นบน












แล้วก็ขึ้นมาจนถึงชั้นบนสุด ซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์ได้ดี



จากตรงนี้มองไปทางทิศเหนือ เห็นบ้านเมืองกับทะเล



ทางตะวันออกเป็นทะเล



ส่วนอาคารปราสาทเล็กๆตรงนี้เป็นส่วนหอย่อย ซึ่งปัจจุบันถูกทำเป็น หอที่ระลึกเซย์โบว (西望記念館せいぼうきねんかん) จัดแสดงผลงาของ คิตามุระ เซย์โบว (北村 西望きたむら せいぼう, ปี 1884-1987) ช่างแกะสลักชื่อดังชาวเมืองมินามิชิมาบาระ



มองไปทางใต้



ส่วนทางตะวันตกเห็นภูเขาตั้งเด่น ตรงนี้เป็นภูเขาอุนเซง (雲仙岳うんぜんだけ) โดยตรงลูกที่อยู่หน้าสุดนี้เรียกว่าเป็นภูเขามายุ (眉山まゆやま) ทิวทัศน์เมืองที่มีภูเขาเป็นฉากหลังดูแล้วสวยงามมาก




มองลงไปด้านล่างก็เป็นลานด้านหน้าปราสาท



หลังจากชมทิวทัศน์จากด้านบนจนพอใจแล้วก็กลับลงมาด้านล่าง ออกจากอาคารหลักของปราสาทไป



จากนั้นก็ไปชมตรงส่วนหอที่ระลึกเซย์โบว ซึ่งมีพวกรูปแกะสลักอยู่ด้านหน้าอาคาร



อันนี้ถ่ายมุมนี้แล้วเหมือนกำลังชี้ทางเข้าปราสาทอยู่แล้ว



นอกนั้นก็มีรูปแกะสลักสวยๆอีกมากมาย



เข้ามาชมด้านในอาคารหอที่ระลึก ในนี้ก็จัดแสดงพวกผลงานอีกมาก




จากนั้นเดินมาดูทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทก็เจออาคารนิชิโนะยางุระ (西にしやぐら) เป็นอาคารเล็กที่เห็นจากตอนที่มองข้ามคูมาตอนแรก



ภายในนี้ก็สามารถเข้าชมได้



ด้านบนขึ้นได้ แต่เสียค่าเข้าชม ๑๐ เยน โดยหยอดเอาเองตรงนี้



ด้านบน




ส่วนที่เข้าชมได้ในนี้ก็หมดแค่นี้



จากนั้นก็เดินออกจากบริเวณปราสาทไป





ก็จบลงแล้วกับการเที่ยวปราสาทชิมาบาระ นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้วก็ยังมีความสวยงามน่ามาชมด้วย แค่ได้ชมหอหลักก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว แต่ว่าหอรอบๆก็มีอะไรให้ชมด้วย โดยรวมแล้วมาเที่ยวที่นี่ได้เห็นอะไรสวยๆน่าสนใจมากมายจริงๆ

แต่ว่านอกจากในบริเวณปราสาทแล้ว แถวใกล้ๆนี้ก็ยังมีสถานที่เที่ยวอยู่อีกหลายแห่ง ซึ่งเราก็ได้แวะไปเดินดู ตอนต่อไปจะพาไปแนะนำสถานที่เที่ยวเหล่านั้น https://phyblas.hinaboshi.com/20241202



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> นางาซากิ
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> ทะเล
-- ประวัติศาสตร์
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文