φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการยอมรับและปฏิเสธ (คัดเอาหรือคัดทิ้ง) แบบอย่างง่าย
เขียนเมื่อ 2020/09/15 21:11
แก้ไขล่าสุด 2022/07/10 20:35




การสุ่มค่าตามการแจกแจงที่ต้องการไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

ปรากฏการณ์และสิ่งต่างๆในโลกนี้มีการสุ่มเกิดขึ้นอยู่มากมาย การแจกแจงความน่าจะเป็นของค่าที่ได้นั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติตามเงื่อนๆต่างๆ

แต่เมื่อเราต้องการจำลองการสุ่มโดยแจกแจงแบบต่างๆในคอมพิวเตอร์แล้ว ค่าสุ่มที่คอมพิวเตอร์สามารถสร้างจำลองขึ้นได้ง่ายที่สุดคือการแจกแจงแบบเอกรูป (uniform) คือค่าเท่ากันสม่ำเสมอในช่วงที่กำหนด ซึ่งมักมีฟังก์ชันสำหรับทำการสุ่มค่าแบบนี้ได้ง่ายๆในแต่ละภาษา เช่นไพธอนก็ random.uniform จากมอดูล random หรือ np.random.uniform จากมอดูล numpy

หรือถ้าเป็นการแจกแจงที่มีการใช้อยู่มากโดยทั่วไป ก็อาจใช้มอดูล scipy.stats (อ่านรายละเอียดได้ในบทความ การใช้ scipy.stats เพื่อทำการสุ่มด้วยการแจกแจงแบบต่างๆ)

แต่ลองคิดดูว่าหากเรามีฟังก์ชันการแจกแจงบางอย่างอยู่แล้วต้องการสุ่มให้เป็นไปตามการแจกแจงตามนั้น เราจะสร้างค่าสุ่มนั้นขึ้นได้อย่างไร?

ยกตัวอย่างเช่นต้องการสร้างค่าสุ่มโดยมีฟังก์ชันการแจกแจงเป็นแบบนี้


ถ้าลองเขียนโค้ดแล้ววาดกราฟดูค่าฟังก์ชันก็จะได้แบบนี้
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt

def f(x):
    return np.where(x>=4,
                    np.where(x<8,(x-8)**2,0),
                    np.where(x>0,x**2,0)
                    )*3/128

x = np.linspace(0,8,201)
y = f(x)
plt.xlabel('x')
plt.ylabel(r'$\mathcal{P}(x)$')
plt.plot(x,y,'#a78629')
plt.grid(ls='--')
plt.show()



ที่จริงแล้วการแจกแจงในแบบต่างๆมีวิธีการสร้างอยู่หลากหลาย การแจกแจงแต่ละแบบก็มีอัลกอริธึมในการสร้างที่เหมาะสมที่ต่างกันออกไป

แต่โดยพื้นฐานแล้วการสุ่มแบบเอกรูปจะสร้างขึ้นได้ง่ายที่สุด ดังนั้นโดยมากแล้วการสุ่มแบบต่างๆภายในคอมพิวเตอร์มักถูกสร้างขึ้นโดยมีพื้นฐานจากการแจกแจงแบบเอกรูป แล้วค่อยแปลงเป็นแบบอื่น

ในบทความต่อจากนี้ไปตั้งใจจะอธิบายถึงวิธีการสุ่มแบบต่างๆที่สำคัญ แต่ที่ดูจะเป็นวิธีพื้นฐานที่น่าจะเข้าใจได้ง่ายที่สุดและใช้ได้ทั้่วไปที่สุดก็คือการสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการยอมรับและปฏิเสธ (acceptance-rejection method) ซึ่งจะอธิบายในบทความนี้




การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการยอมรับและปฏิเสธ

หากให้ลองนึกวิธีดู การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการยอมรับและปฏิเสธ น่าจะเป็นวิธีการสุ่มที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะนึกออกได้ทันที

หลักการมีอยู่ง่ายๆคือทำการสุ่มแบบเอกรูปตลอดช่วงค่าที่ต้องการ แล้วก็ทำการทิ้งส่วนหนึ่งด้วยความน่าจะเป็นหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นฟังก์ชันการแจกแจง f ดังที่ยกตัวอย่างมาในสมการตัวอย่างข้างบนนั้น มีขอบเขตอยู่ในช่วง 0 ถึง 8 โดยมีค่าสูงสุดอยู่ที่ 4 คือ 0.375

งั้นเราก็ทำการสุ่มค่าทั้งหมดแบบเอกรูปตลอดตั้งแต่ 0 ถึง 8 แล้วคัดทิ้งออกด้วยความน่าจะเป็นที่ต่างกันออกไป โดยในเมื่อตรงกลางค่าสูงสุดคือ 0.375 งั้นก็ให้ที่ตรงนี้มีความน่าจะเป็นในการยอมรับเอาสูงสุด คือเป็น 1 แล้วตำแหน่งที่เหลือก็ลดหลั่นลงไปตามสัดส่วน

ลองเขียนโค้ดดูได้ดังนี้
n = 50000 # จำนวนค่าที่จะสุ่ม
# สุ่มค่าในช่วง 0 ถึง 8
x = np.random.uniform(0,8,n)
# สุ่มค่าเพื่อเป็นตัวตัดสินว่าจะคัดทิ้งหรือไม่
r = np.random.uniform(0,1,n)
fx = f(x) # f(x) คำนวณค่าฟังก์ชันการแจกแจง (ซึ่งนิยามไปแล้วด้านบน ในที่นี้ขอไม่เขียนซ้ำ)
# เอาผลการสุ่มมาตัดสินว่าตัวไหนจะยอมรับหรือคัดทิ้ง
x_ao = x[r<fx/0.375]
plt.xlabel('x')
# วาดฮิสโทแกรม
plt.hist(x_ao,50,fc='#ee1368',ec='k')
plt.grid(ls='--')
plt.show()



จะเห็นว่าได้การแจกแจงออกมาตามแบบที่ต้องการเลย ซึ่งถ้าเข้าใจวิธีการตามตัวอย่างนี้แล้ว ก็คงจะเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการแจกแจงอะไรต่างๆได้อีกมากมายตามที่ต้องการ ดูแล้วไม่ยากเลย




ปัญหาของวิธีการยอมรับและปฏิเสธ

การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการยอมรับและปฏิเสธซึ่งดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่ายๆนี้ จริงๆแล้วมีปัญหาร้ายแรงที่สุด นั่นคือเรื่องของสมรรถภาพ

นั่นเพราะเราต้องทำการสุ่มค่าขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาย แต่กลับต้องทิ้งส่วนหนึ่งไปโดยที่ไม่ได้ใช้

เพื่อให้เห็นภาพชัน ลองเอาฟังก์ชันเดิมนี้มาทำการสุ่มแล้ววาดแสดงการแจกแจงคู่กับค่า r ที่ใช้เป็นตัวคัด
n = 1000 # จำนวนที่จะสุ่ม
x = np.random.uniform(0,8,n)
r = np.random.uniform(0,1,n) # ตัวตัดสินว่าจะคัดทิ้งหรือไม่
ao_mai = r<f(x)/0.375 # ให้ระบายสีต่างกันระหว่างค่าที่เอากับที่คัดทิ้ง
plt.xlabel('x')
plt.ylabel('r')
plt.scatter(x,r,c=ao_mai,alpha=0.6,ec='k',cmap='winter')
plt.show()
print(ao_mai.sum()) # แสดงจำนวนที่เอา ต่างกันไปแล้วแต่การสุ่มแต่ละครั้ง แต่ส่วนใหญ่ควรจะได้ 3 ร้อยกว่า



ค่า r ในที่นี้เป็นตัวคัดว่าจะเอาหรือไม่เอา โดยขึ้นกับฟังก์ชัน f เป็นตัวกำหนดว่าจะเอาในอัตราแค่ไหน ในภาพนี้สีเขียวแสดงจุดที่ถูกคัดเอา สีน้ำเงินคือที่ถูกคัดทิ้ง

จะเห็นว่าเกินกว่าครึ่ง (600 กว่า จาก 1000) ถูกคัดทิ้งไป ดังนั้นเท่ากับต้องสุ่มค่าขึ้นมาเป็นจำนวนมากเกินกว่าจำเป็นเพื่อจะเอามาทิ้ง

สำหรับในตัวอย่างนี้มีแค่หนึ่งมิติ อาจจะไม่เห็นภาพชัดมาก แต่ถ้ายิ่งมีการสุ่มหลายมิติ ก็ต้องสุ่มค่าในแต่ละมิติเป็นขอบเขตกว้างขวางเผื่อเอาไว้ อัตราการยอมรับเอาจะยิ่งน้อยลงกว่านี้ ในขณะที่ส่วนใหญ่จะถูกโยนทิ้งไปเลย ดังนั้นยิ่งถ้าค่าที่ต้องการสุ่มนั้นเป็นการแจกแจงในหลายมิติ ยิ่งไม่อาจใช้วิธีนี้ได้จริงๆง่ายๆในทางปฏิบัติ

อีกอย่างคือในตัวอย่างนี้การแจกแจงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด (เช่น 0≤x≤8) จึงสามารถทำแบบนี้ได้ แต่ฟังก์ชันการแจกแจงทั่วไปอาจเป็นจำนวนใดๆตั้งแต่ลบอนันต์ถึงอนันต์ การใช้วิธีนี้ก็ยิ่งจะยากขึ้น

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว วิธีการสุ่มแบบนี้อาจใช้ได้ง่ายที่สุด จึงเป็นทางเลือกที่อาจจะใช้เมื่อไม่ได้ต้องการประสิทธิภาพอะไรนัก หรือเป็นการสุ่มในมิติเดียวที่มีขอบเขตแน่นอนและอัตราการทิ้งไม่มากนัก หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีอื่นได้อย่างไรดี

วิธีนี้จึงควรค่าแก่การรู้ไว้เป็นพื้นฐาน เพราะใช้งานได้แน่นอน แต่ถ้ารู้ว่าการแจกแจงในแบบที่เราต้องการนั้นสามารถสร้างได้ด้วยวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่าก็อาจควรใช้วิธีนั้นแทนมากกว่า

หากเป็นรูปแบบการแจกแจงที่ถูกใช้ทั่วไปก็จะมีอยู่ใน scipy.stats การเลือกใช้ scipy.stats จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและนิยมที่สุดเมื่อใช้ไพธอน

ซึ่งการสุ่มการแจกแจงแบบต่างๆในมอดูล scipy.stats เองก็เลือกใช้อัลกอริธึมที่เหมาะที่สุดในการสุ่มการแจกแจงแบบนั้นๆ โดยแต่ละแบบก็จะมีวิธีที่ต่างกันออกไป





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คณิตศาสตร์ >> ความน่าจะเป็น
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib
-- คอมพิวเตอร์ >> การสุ่ม

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文