φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ภาษา python เบื้องต้น บทที่ ๑๔: ดิกชันนารี
เขียนเมื่อ 2016/03/05 19:50
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 11:03
 

ดิกชันนารีเป็นวัตถุที่เก็บค่าข้อมูลหลายๆตัวเช่นเดียวกับลิสต์และทูเพิล แต่จะต่างกันตรงที่ต้องประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ คีย์ (key) กับ ค่า (value) อยู่ด้วยกันเหมือนเป็นคู่อันดับ

ลิสต์และทูเพิลจะใช้เลขดัชนีเป็นตัวชี้ถึงค่าภายในลำดับ แต่ว่าในดิกชันนารีจะใช้คีย์แทน

คีย์นั้นเหมือนเป็นสิ่งที่มาใช้แทนเลขดัชนีในลิสต์หรือทูเพิล คือแทนที่จะใช้ตัวเลขเพื่อชี้สมาชิกก็เปลี่ยนมาใช้คีย์ซึ่งเป็นอะไรก็ได้ที่กำหนดขึ้นเอง



การสร้างและเข้าถึงข้อมูลในดิกชันนารี

ดิกชันนารีสามารถสร้างได้โดยใช้วงเล็บปีกกาเช่นเดียวกับเซ็ต แต่ภายในใส่สมาชิกเป็นคู่ๆโดยแต่ละคู่ใส่คีย์ทางซ้ายแล้วคั่นด้วยโคลอน : แล้วตามด้วยค่า จากนั้นก็คั่นด้วยจุลภาค , แล้วตามด้วยคู่ถัดไป

ตัวอย่าง ดิกชันนารีที่เก็บข้อมูลตึกสูงในไทย
tueksung = {'มหานคร': 313, 'ใบหยก 2': 304, 'อมันตา ลุมพินี': 212,
'อื้อจือเหลียง': 160, 'จัตุรัสจามจุรี': 157, 'ใบหยก 1': 151} 

เวลาต้องการเข้าถึงข้อมูลก็ใช้ชื่อดิกชันนารีตามด้วย [ ] ซึ่งใส่ชื่อคีย์
print(tueksung['จัตุรัสจามจุรี']) # ได้ 157
print(tueksung['ใบหยก 2']) # ได้ 304

ดิกชันนารีไม่สามารถใช้ตัวเลขเพื่อระบุสมาชิกโดยอาศัยลำดับได้อย่างในลิสต์ ต้องใช้คีย์ตามที่ใส่เข้าไปเท่านั้น
print(tueksung[1]) # ได้ KeyError: 1

ทั้งคีย์และค่าจะเป็นข้อมูลชนิดไหนก็ได้ อาจเป็นตัวเลขก็ได้ เช่น ดิกชันนารีที่เก็บชื่อของโปเกมอน
pokemon = {151: 'mew',
152: 'chicorita', 153: 'bayleaf',154: 'meganium',
155: 'hinoarashi', 156: 'magmarashi',157: 'bakphoon',
158: 'waninoko',159: 'alligates', 160: 'ordile'}
print(pokemon[151]) # ได้ mew 

กรณีที่ใช้คีย์เป็นตัวเลขจำนวนเต็มแบบนี้ดูเผินๆอาจดูคล้ายกับลิสต์หรือทูเพิล แต่ต่างกันตรงที่ตัวเลขที่ใส่ต้องเป็นเลขที่มีอยู่ในคีย์เท่านั้นและไม่จำเป็นต้องไล่จาก 0



การซ้ำกันของคีย์และค่า

ภายในดิกชันนารีหนึ่งๆ ค่าอาจจะซ้ำกันได้ แต่คีย์จะซ้ำกันไม่ได้
khanaen = {'ฟิสิกส์':97,'ฟิสิกส์':91,'เคมี':96,'คณิตศาสตร์':87}
print(khanaen) # ได้ {'ฟิสิกส์': 91, 'เคมี': 96, 'คณิตศาสตร์': 87}

จะเห็นว่าใส่ค่าซ้ำลงไปแต่สุดท้ายก็เหลือแค่ตัวเดียว

ทั้งนี้เพราะว่าคีย์เป็นสิ่งที่ต้องใช้อ้างอิงเพื่อชี้ถึงค่าในดิกชันนารี จึงไม่สามารถซ้ำกันได้ เช่นเดียวกับฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ที่โดเมนต้องไม่ซ้ำ ถ้าซ้ำกันละก็พอจะเรียกหาค่าก็จะเกิดความคลุมเครือไม่รู้จะเรียกตัวไหน

ในขณะที่ค่านั้นต่อให้ใส่ซ้ำกันจะไม่มีปัญหาอะไร
khanaen = {'ฟิสิกส์ 1':97,'ฟิสิกส์ 2':91,'เคมี 1':91,'เคมี 2':97}
print(khanaen) # ได้ {'ฟิสิกส์ 1': 97, 'ฟิสิกส์ 2': 91, 'เคมี 1': 91, 'เคมี 2': 97}

ในที่นี้ค่าของ ฟิสิกส์ 1 ซ้ำกับ เคมี 2 และ เคมี 1 ซ้ำกับ ฟิสิกส์ 2 จะเห็นว่าสามารถซ้ำกันได้



keys, values และ items

รายการคีย์ทั้งหมดสามารถแสดงได้โดยเมธอด .keys

ตัวอย่าง ดิกชันนารีแสดงรายชื่อเมืองเอก (เรียกว่าเสิ่งฮุ่ย (shěnghuì, 省会) ในภาษาจีน) ของมณฑลในจีน
shenghui = {'กวางตุ้ง': 'กว่างโจว','เจ้อเจียง': 'หางโจว',
'เหลียวหนิง': 'เสิ่นหยาง','เหอเป่ย์': 'สือเจียจวาง',
'เหอหนาน': 'เจิ้งโจว','ฝูเจี้ยน': 'ฝูโจว',
'ทิเบต': 'ลาซ่า','ซินเจียง': 'อูหลู่มู่ฉี'}
print(shenghui.keys()) 

ผลที่ได้
dict_keys(['กวางตุ้ง', 'เจ้อเจียง', 'เหลียวหนิง', 'เหอเป่ย์', 'เหอหนาน', 'ฝูเจี้ยน', 'ทิเบต', 'ซินเจียง'])

ข้อมูลที่ได้นี้เป็นชนิด dict_keys ซึ่งถือเป็นคลาสเฉพาะคลาสนึง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขค่าในนี้ได้เช่นเดียวกับทูเพิล

ไม่สามารถใช้ตัวเลขชี้ถึงค่าข้างในได้ แต่สามารถใช้ in เพื่อตรวจดูสมาชิกข้างในได้ สามารถแปลงเป็นลิสต์หรือทูเพิล หรือใช้ .join เพื่อเชื่อมกันได้
'ไต้หวัน' in shenghui.keys() # ได้ False
'ทิเบต' in shenghui.keys() # ได้ True
{'เหอหนาน','เหอเป่ย์'}.issubset(shenghui.keys()) # ได้ True
{'เหอหนาน','เหอเป่ย์','หูหนาน','หูเป่ย์'}.intersection( shenghui.keys()) # ได้ {'เหอหนาน', 'เหอเป่ย์'}
print(tuple(shenghui.keys())) # ได้ ('กวางตุ้ง', 'เจ้อเจียง', 'เหลียวหนิง', 'เหอเป่ย์', 'เหอหนาน', 'ฝูเจี้ยน', 'ทิเบต', 'ซินเจียง')
print('|'.join(shenghui.keys())) # ได้ กวางตุ้ง|เจ้อเจียง|เหลียวหนิง|เหอเป่ย์|เหอหนาน|ฝูเจี้ยน|ทิเบต|ซินเจียง

ส่วนค่าในดิกชันนารีสามารถแสดงทั้งหมดโดยเมธอด .values
print(shenghui.values())

จะได้ออกมาเป็นข้อมูลชนิด dict_values ซึ่งก็มีคุณสมบัติเหมือนกับ dict_keys
dict_values(['กว่างโจว', 'หางโจว', 'เสิ่นหยาง', 'สือเจียจวาง', 'เจิ้งโจว', 'ฝูโจว', 'ลาซ่า', 'อูหลู่มู่ฉี'])

และถ้าต้องการให้แสดงคีย์กับค่าคู่กันในรูปของทูเพิลให้ใช้เมธอด .items
print(shenghui.items())

จะได้ข้อมูลชนิด dict_items
dict_items([('กวางตุ้ง', 'กว่างโจว'), ('เจ้อเจียง', 'หางโจว'), ('เหลียวหนิง', 'เสิ่นหยาง'), ('เหอเป่ย์', 'สือเจียจวาง'), ('เหอหนาน', 'เจิ้งโจว'), ('ฝูเจี้ยน', 'ฝูโจว'), ('ทิเบต', 'ลาซ่า'), ('ซินเจียง', 'อูหลู่มู่ฉี')])

***ในไพธอน 2 เมธอด .keys, .values และ .items จะได้ผลเป็นลิสต์ แทนที่จะได้เป็นคลาสเฉพาะ
>>> รายละเอียด



การใช้ for คู่กับดิกชันนารี

เมื่อใช้ for กับดิกชันนารี ตัวแปรจะไล่ตามคีย์ ไม่ใช่ค่า
for s in shenghui:
    print(s,end=' ') # ได้ กวางตุ้ง เจ้อเจียง เหลียวหนิง เหอเป่ย์ เหอหนาน ฝูเจี้ยน ทิเบต ซินเจียง

แต่ก็สามารถเข้าถึงค่าได้ทันทีโดยใส่คีย์ใน [ ]
for s in shenghui:
    print(shenghui[s],end=' ') # ได้ กว่างโจว หางโจว เสิ่นหยาง สือเจียจวาง เจิ้งโจว ฝูโจว ลาซ่า อูหลู่มู่ฉี

หรือใช้เมธอด .values ก็สามารถไล่ตามค่าได้
for v in shenghui.values():
    print(v,end=' ') # ได้ กว่างโจว หางโจว เสิ่นหยาง สือเจียจวาง เจิ้งโจว ฝูโจว ลาซ่า อูหลู่มู่ฉี 

หากจะใช้ทั้งคีย์และค่าก็อาจใช้เมธอด .items
for v in shenghui.items():
    print(v[0],v[1],sep='>',end=' ') # กวางตุ้ง>กว่างโจว เจ้อเจียง>หางโจว เหลียวหนิง>เสิ่นหยาง เหอเป่ย์>สือเจียจวาง เหอหนาน>เจิ้งโจว ฝูเจี้ยน>ฝูโจว ทิเบต>ลาซ่า ซินเจียง>อูหลู่มู่ฉี 



การเพิ่มข้อมูลและแก้ไขดิกชันนารี

การเพิ่มเติมข้อมูลสามารถทำได้โดยใช้ = เพื่อป้อนค่าใหม่ลงไปได้เลย

ตัวอย่าง พื้นที่ของจังหวัดในไทย
phuenthi = {'นครราชสีมา': 20494, 'เชียงใหม่': 20107,
'กาญจนบุรี': 19483, 'ตาก': 16407,
'อุบลราชธานี': 15774, 'สุราษฎร์ธานี': 12891}
phuenthi['ชัยภูมิ'] = 12778
phuenthi['แม่ฮ่องสอน'] = 12681
print(phuenthi)  # ได้ {'นครราชสีมา': 20494, 'เชียงใหม่': 20107, 'กาญจนบุรี': 19483, 'ตาก': 16407, 'อุบลราชธานี': 15774, 'สุราษฎร์ธานี': 12891, 'ชัยภูมิ': 12778, 'แม่ฮ่องสอน': 12681} 

หรืออาจใช้เมธอด .update เพื่อรับเอาข้อมูลจากดิกชันนารีอื่นมาก็ได้
phuenthi.update({'เพชรบูรณ์': 12668, 'ลำปาง': 12534})
print(phuenthi) # ได้ {'นครราชสีมา': 20494, 'เชียงใหม่': 20107, 'กาญจนบุรี': 19483, 'ตาก': 16407, 'อุบลราชธานี': 15774, 'สุราษฎร์ธานี': 12891, 'ชัยภูมิ': 12778, 'แม่ฮ่องสอน': 12681, 'เพชรบูรณ์': 12668, 'ลำปาง': 12534}

ในการใช้ = นั้นจะเป็นการเพิ่มข้อมูลก็ต่อเมื่อคีย์ที่ใส่ไปนั้นไม่มีอยู่เดิม แต่หากคีย์ที่ใส่ไปนั้นมีอยู่ก่อนแล้วจะเป็นการแก้ค่าเขียนทับลงไปใหม่แทน

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ ลองเขียนโปรแกรมสำหรับนับจำนวนตัวอักษรแต่ละตัวที่มีอยู่ในสายอักขระ
r = "Si schiudono i boccioli color di rosa. L'ostinato inverno ha annunciato la propria fine." # สายอักขระที่ต้องการวิเคราะห์
nap = {} # สร้างดิกชันนารีสำหรับเก็บค่าจำนวนของแต่ละตัวอักษร
for s in r.lower(): #เปลี่ยนให้เป็นตัวพิมพ์เล็กเพื่อจะนับรวมพิมพ์ใหญ่พิมพ์เล็กด้วยกัน
    if(s<'a' or s>'z'): continue # เอาเฉพาะที่เป็นอักษรโรมัน a ถึง z ถ้าเจอสัญลักษณ์หรือช่องว่างให้ข้าม
    if(s not in nap): # ถ้ายังไม่มีอยู่ในดิกชันนารี ให้ป้อนค่าใหม่โดยเริ่มนับ 1
        nap[s] = 1
    else: # ถ้ามีอยู่ในดิกชันนารีแล้ว ให้แก้ค่าโดยบวกเพิ่มอีก 1
        nap[s] += 1
print(nap) 

(ที่มามาจากเนื้อเพลง)

ผลที่ได้
{'s': 4, 'i': 11, 'c': 5, 'h': 2, 'u': 2, 'd': 2, 'o': 12, 'n': 8, 'b': 1, 'l': 4, 'r': 5, 'a': 7, 't': 3, 'v': 1, 'e': 2, 'p': 2, 'f': 1}

หากต้องการให้แสดงผลโดยเรียงตามลำดับอักษรก็ใช้ sorted
for q in sorted(nap):
    print('%s: %d'%(q,nap[q]))

หรือถ้าจะให้เรียงตามลำดับที่ปรากฏก็
for q in sorted(nap, key=r.lower().index):
    print('%s: %d'%(q,nap[q])) 



การใช้ for สร้างดิกชันนารี

เช่นเดียวกับลิสต์ ดิกชันนารีก็สามารถสร้างขึ้นจาก for ได้

ตัวอย่าง ลองใช้ดิกชันนารีเพื่อสร้างฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ขึ้นมา
f = {x:3*x+2 for x in range(100)} # สร้างฟังก์ชัน 3x+2 ที่มีโดเมนเป็นจำนวนเต็ม 0 ถึง 99
print('f(3)=%d'%f[3]) # ได้ f(3)=11
print('f(23)=%d'%f[23]) # ได้ f(23)=71
print('f(99)=%d'%f[99]) # ได้ f(99)=299

ซึ่งการเขียนแบบนี้จะมีค่าเท่ากับการใช้ for เพื่อวนเพิ่มค่าไปทีละค่า
f = {} # สร้างดิกชันนารีเปล่าขึ้นมาก่อน
for x in range(100):
    f[x] = 3*x+2 # ใส่เพิ่มไปทีละค่า



การลบข้อมูลในดิกชันนารี

สามารถลบทีละตัวได้โดยใช้เมธอด .pop แล้วระบุคีย์ที่ต้องการลบ

ตัวอย่าง ดิกชันนารีที่เก็บรหัสนักศึกษาและคะแนนวิชาภาษาไพธอนเบื้องต้น 1
python1 = {5966208114: 54, 5966100309: 59, 5966117558: 49,
5966209223: 62, 5966195674: 48, 5966119902: 43}

สมมุติว่ามีนักศึกษาถอนวิชานี้ไปคนนึงเลยต้องลบข้อมูลออก
python1.pop(5966119902)
print(python1) # ได้ {5966208114: 54, 5966100309: 59, 5966117558: 49, 5966209223: 62, 5966195674: 48}

หรืออาจลบโดยใช้คำสั่ง del ก็ได้
del ชื่อดิกชันนารี[คีย์ที่ต้องการลบ]

เช่น สมมุติว่านักศึกษาอีกคนก็ถอนวิชานี้
del python1[5966195674]
print(python1) # ได้ {5966208114: 54, 5966100309: 59, 5966117558: 49, 5966209223: 62} 

หากต้องการลบทั้งหมดให้ใช้เมธอด .clear สมมุติว่านักศึกษาคนอื่นๆก็พากันถอนวิชานี้ออกหมด
python1.clear()
print(python1) # ได้ {}

ถ้าจะลบทั้งดิกชันนารีออกก็ใช้คำสั่ง del ตามด้วยชื่อดิกชันนารีโดยไม่ต้องใส่คีย์

สมมุติว่าพอคนถอนไปหมด อาจารย์ก็ลบข้อมูลของวิชานี้ทิ้งเสียเลย
del python1
print(python1) # NameError: name 'python1' is not defined



คีย์หรือค่ามากกว่าหนึ่งตัว

บางครั้งค่าที่ต้องการอาจไม่ได้มีแค่ค่าเดียวแต่ต้องการเก็บสองค่าขึ้นไป กรณีแบบนี้สามารถใช้ค่าเป็นลิสต์หรือทูเพิลได้

ตัวอย่างเช่น บันทึกการเดินหมากในเกมโกะซึ่งตารางมีขนาด 19×19 แต่ละช่องแทนด้วยพิกัดในแกน x และ y
goban = {} # สร้างดิกเปล่า แทนตารางโกะเปล่า
goban['ดำ1'] = [16,4] # ฝ่ายดำลงหมากตาที่ 1
goban['ขาว1'] = [4,4]
goban['ดำ2'] = [16,16]
goban['ขาว2'] = [4,17]
goban['ดำ3'] = [3,15]
print(goban)

ผลหลังเดินไป ๕ ตา
{'ดำ1': [16, 4], 'ขาว1': [4, 4], 'ดำ2': [16, 16], 'ขาว2': [4, 17], 'ดำ3': [3, 15]}



ที่มาของหมากกระดานนี้ ศึก Google AlphaGo ปะทะ ฝานฮุย (樊麾)
https://www.youtube.com/watch?v=d9bXaLUPe9I

กรณีที่ต้องการคีย์สองตัวขึ้นไปก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่คีย์ไม่สามารถใช้ลิสต์ได้ ต้องใช้ทูเพิลเท่านั้น

เช่น ตัวอย่างที่แล้ว คราวนี้ใช้ตำแหน่งบนตารางเป็นคีย์
goban = {} # สร้างดิกเปล่า แทนตารางโกะเปล่า
goban[(16,4)] = 'ดำ1' # ฝ่ายดำลงหมากตาที่ 1
goban[(4,4)] = 'ขาว1'
goban[(16,16)] = 'ดำ2'
goban[(4,17)] = 'ขาว2'
goban[(3,15)] = 'ดำ3'
print(goban)

ผลหลังเดินไป ๕ ตา
{(16, 4): 'ดำ1', (4, 4): 'ขาว1', (16, 16): 'ดำ2', (4, 17): 'ขาว2', (3, 15): 'ดำ3'}

กรณีนี้จะสะดวกเวลาที่จะค้นว่าตำแหน่งไหนมีการลงหมากไปหรือยังและเป็นหมากอะไรที่ลงไว้ เช่น
x,y = int(input()),int(input()) # ป้อนค่าตำแหน่ง
if((x,y) in goban.keys()):
    print(goban[(x,y)]) # ถ้ามีหมากอยู่ก็จะบอกว่าเป็นหมากอะไร
else:
    print('ว่างเปล่า') # ถ้าไม่มีก็จะบอกว่าว่างเปล่า



ดิกชันนารีซ้อนดิกชันนารี

ค่าภายในดิกชันนารีนอกจากจะใช้ทูเพิลหรือลิสต์ได้แล้วก็ยังสามารถใช้เป็นดิกชัน นารีย่อยข้างในได้อีกด้วย พอซ้อนกันหลายชั้นพอเรียกใช้ก็ต้องใส่ [ ] ซึ่งมีคีย์ใส่อยู่ซ้อนกัน

ตัวอย่าง ลองสร้างดิกชันนารีเก็บข้อมูลของโปเกมอนจำนวน ๔ ตัว แต่ละตัวใช้ชื่อเป็นคีย์ พอค้นแล้วจะได้ค่าซึ่งเป็นดิกชันนารีที่ประกอบด้วย หมายเลข, ส่วนสูง, น้ำหนัก, และ ชนิด
khomun = {'ฟุชิงิดาเนะ': {'หมายเลข': '001','ส่วนสูง': 0.7,'น้ำหนัก': 6.9,'ชนิด':['พืช','พิษ']},
'ฮิโตคาเงะ': {'หมายเลข': '004','ส่วนสูง': 0.6,'น้ำหนัก': 8.5,'ชนิด':['ไฟ']},
'เซนิงาเมะ': {'หมายเลข': '007','ส่วนสูง': 0.5,'น้ำหนัก': 9.0,'ชนิด':['น้ำ']},
'พีคาชู': {'หมายเลข': '025','ส่วนสูง': 0.4,'น้ำหนัก': 6.0,'ชนิด':['ไฟฟ้า']}}

เวลาเข้าถึงค่าภายในก็ เช่น
print(khomun['พีคาชู']['น้ำหนัก']) # ได้ 6.0
print(khomun['ฟุชิงิดาเนะ']['ชนิด']) # ได้ ['พืช', 'พิษ']
print(khomun['ฮิโตคาเงะ']['หมายเลข']) # ได้ 004

สามารถใช้ for เพื่อแสดงค่าทั้งหมด
for pk in sorted(khomun):
    print('===='+pk+'====') # แสดงชื่อ
    for s in khomun[pk]:
        if(s!='ชนิด'): print(s+': %s'%khomun[pk][s]) # แสดงหมายเลข, น้ำหนัก, ส่วนสูง
        else: print(s+': '+' + '.join(khomun[pk][s])) # แสดงชนิด

ผลลัพธ์
====พีคาชู====
หมายเลข: 025
ส่วนสูง: 0.4
น้ำหนัก: 6.0
ชนิด: ไฟฟ้า
====ฟุชิงิดาเนะ====
หมายเลข: 001
ส่วนสูง: 0.7
น้ำหนัก: 6.9
ชนิด: พืช + พิษ
====ฮิโตคาเงะ====
หมายเลข: 004
ส่วนสูง: 0.6
น้ำหนัก: 8.5
ชนิด: ไฟ
====เซนิงาเมะ====
หมายเลข: 007
ส่วนสูง: 0.5
น้ำหนัก: 9.0
ชนิด: น้ำ



สรุปเนื้อหา

ดิกชันนารีเป็นข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้มากเช่น เดียวกับลิสต์, ทูเพิล และเซ็ต หากแยกใช้ข้อมูลแต่ละอย่างตามความเหมาะสมของงานแล้วก็จะสามารถทำงานอะไร ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ



อ้างอิง




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文