φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



สุสานจิ่งไท่ จักรพรรดิลำดับที่ ๗ แห่งราชวงศ์หมิง
เขียนเมื่อ 2015/04/19 08:55
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พุธ 8 เม.ย. 2015

หลายคนคงรู้จักสุสาน ๑๓ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง (明十三陵) หรือที่เรียกสั้นๆว่าสือซานหลิง (十三陵) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) ทั้งหมด ๑๓ องค์ เป็นสถานที่เที่ยวขึ้นชื่อของปักกิ่ง

แต่วันนี้ที่จะแนะนำถึงไม่ใช่ที่นั่น เพราะเราเองก็ยังไม่เคยไปชมที่นั่นเหมือนกัน แน่นอนว่าอยากไปเหมือนกันแต่ว่ามันไกลและเดินทางลำบากพอสมควร

ที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือสุสานของจักรพรรดิองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์หมิงที่ไม่ได้ถูกฝังรวมอยู่กับจักรพรรดิองค์อื่น แต่กลับถูกฝังอยู่เงียบๆ ณ ชานเมืองปักกิ่ง และไม่ค่อยจะมีใครรู้จัก

จักรพรรดิที่ว่านี้ก็คือจักรพรรดิจิ่งไท่ (景泰) ซึ่งเป็นจักรพรรดิลำดับที่ ๗ ของราชวงศ์หมิง ครองราชย์ในช่วงปี 1449 - 1457

หากใครศึกษาประวัติศาสตร์จะรู้มาว่าราชวงศ์หมิงนั้นมีกษัตริย์อยู่ ๑๖ องค์ แต่ว่าที่ถูกฝังที่สือซานหลิงนั้นมีอยู่แค่ ๑๓ องค์ ดังนั้นขาดไป ๓

จักรพรรดิองค์แรกคือจักรพรรดิหงอู่ (洪武) หรือชื่อเดิมว่าจูหยวนจาง (朱元璋) ซึ่งครองราชย์ในปี 1368 - 1398 นั้นมีสุสานอยู่ที่เมืองหนานจิง (南京) เนื่องจากสมัยเริ่มราชวงศ์หมิงนั้นเมืองหลวงตั้งอยู่ที่หนานจิงซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่าอิ้งเทียน (应天) หลังจากนั้นในสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐) จักรพรรดิลำดับที่ ๓ ซึ่งครองราชย์ปี 1402 - 1424 จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาที่ปักกิ่งและสร้างสุสานขึ้นที่นี่

ส่วนจักรพรรดิลำดับที่ ๒ คือจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน (建文) ซึ่งครองราชย์ช่วงปี 1398 - 1402 นั้นเนื่องจากโดนรัฐประหารยึดอำนาจโดยจักรพรรดิหย่งเล่อจนต้องหนีลี้ภัยไปจากนั้นก็หายสาบสูญไปดังนั้นจึงไม่มีศพที่จะนำมาฝัง

และสุดท้ายคือจักรพรรดิจิ่งไท่ที่เราไปเยี่ยมหลุมศพมาครั้งนี้ ทำไมถึงไม่ได้ถูกฝังรวมในสุสานเดียวกับกษัตริย์องค์อื่นๆ เรื่องมีที่มายาวนิดหน่อย จากนี้ไปจะขอเล่าโดยย่อ



จักรพรรดิจิ่งไท่นั้นเกิดเมื่อปี 1428 เดิมมีชื่อว่าจูฉียวี่ (朱祁鈺) เป็นน้องชายของจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (正统) ซึ่งเป็นจักรพรรดิลำดับที่ ๖ ของราชวงศ์หมิง

จักรพรรดิเจิ้งถ่งเกิดเมื่อปี 1427 ขึ้นครองราชย์ในปี 1435 ขณะอายุได้เพียง ๘ ขวบเท่านั้น จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนคือขันทีชื่อหวางเจิ้น (王振) ซึ่งจักรพรรดิเจิ้งถ่งก็นับถือเขาเป็นอาจารย์

ช่วงนั้นชาวมองโกลเผ่าหว่าล่า (瓦剌) เป็นรัฐบรรณาการของจีน โดยทางหว่าล่าต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้จีนทุกปี แล้วจีนก็จะส่งข้าวของเงินทองเป็นการตอบแทนกลับให้สมน้ำสมเนื้อกับเครื่องราชบรรณาการที่ได้มา ปริมาณเครื่องราชบรรณาการนั้นนับตามจำนวนผู้แทนในคณะทูตที่นำของมา

แต่ว่าช่วงหลังๆเผ่าหว่าล่าเติบโตเร็วและต้องการของตอบแทนจากทางจีนมากขึ้นจึงได้พยายามส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้เยอะมาก จากที่เดิมกำหนดว่าให้ส่งคณะทูตมา ๕๐ คนก็กลับส่งมาเป็นพันคน ซึ่งเป็นภาระของทางจีนที่จะต้องเตรียมข้าวของตอบแทนให้พอตามจำนวน แต่ตอนนั้นทางจีนกำลังอ่อนแอลงจึงได้แต่ตอบรับคำขอของทางหว่าล่าเพื่อรักษาสัมพันธ์ไว้

พอถึงปี 1449 เผ่าหว่าล่าส่งคณะทูตมาโดยรายงานว่ามี ๓๐๐๐ กว่าคน แต่พอตรวจสอบแล้วกลับพบว่าเป็นการรายงานจำนวนเกินความจริงไปมาก เมื่อเจอแบบนี้ทางจีนจึงส่งข้าวของตอบแทนให้แค่ ๑ ใน ๕ ของที่ทางหว่าล่าต้องการ ทำให้ทางหว่าล่าไม่พอใจและบุกเข้าโจมตีชายแดน กองทหารชายแดนของจีนไม่อาจทานทัพของหว่าล่าได้จึงรุกเข้ามาได้เรื่อยๆ

หวางเจิ้นยุยงให้จักรพรรดิเจิ้งถ่งนำทัพไปปราบเผ่าหว่าล่าด้วยตัวเอง โดยให้จูฉียวี่ (ซึ่งต่อมาเป็นจักรพรรดิจิ่งไท่) อยู่เฝ้าเมืองแทน และเมื่อกองทัพของจักรพรรดิเจิ้งถ่งปะทะกับกองทัพหว่าล่าก็กลับพ่ายแพ้ยับเยินด้วยความที่ทัพถูกบัญชาการอย่างห่วยแตกไม่เป็นระเบียบทั้งที่มีจำนวนมากกว่ามาก ผลก็คือหวางเจิ้นถูกฆ่าตาย ส่วนจักรพรรดิเจิ้งถ่งก็ถูกจับไปเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ เหตุการณืนี้เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ป้อมถู่มู่ (土木堡之变, ถู่มู่เป่าจือเปี้ยน)

ทางพระราชวังซึ่งตอนนั้นนำโดยนายพลหยวีเชียน (于谦) ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของทางหว่าล่าที่ต้องการเรียกค่าไถ่เพื่อแลกกับตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่ง แต่กลับแต่งตั้งให้จูฉียวี่เป็นจักรพรรดิแทน ทำให้จูฉียวี่ได้กลายเป็นจักรพรรดิจิ่งไท่ตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากนั้นทางหว่าล่าได้ส่งกองทัพมาบุกปักกิ่ง แต่หยวีเชียนก็ได้ตั้งรับอย่างดีจนพวกหว่าล่าพ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับไปและตอนหลังจึงได้ยอมปล่อยจักรพรรดิเจิ้งถ่งคืนมา

จักรพรรดิเจิ้งถ่งหลังจากถูกปล่อยตัวกลับมาก็เสียตำแหน่งจักรพรรดิไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงตำแหน่งไท่ซ่างหวง (太上皇) ซึ่งหมายถึงตำแหน่งของจักรพรรดิที่สละราชสมบัติ ไม่ได้มีอำนาจอะไรอีก แถมยังถูกจักรพรรดิจิ่งไท่สั่งขังเพราะกลัวว่าจะแย่งบัลลังก์คืน

หลังจากนั้นพอถึงปี 1457 จักรพรรดิจิ่งไท่ล้มป่วย เหล่าขุนนางและขันทีจึงประชุมหารือกันว่าจะทำยังไงกับตำแหน่งจักรพรรดิองค์ต่อไปดี สุดท้ายก็ได้ตกลงใจกันเชิญจักรพรรดิเจิ้งถ่งกลับคืนสู่บรรลังก์ จักรพรรดิเจิ้งถ่งจึงได้กลับมาครองราชย์ต่ออีกครั้งโดยใช้ชื่อรัชกาลใหม่ว่าเทียนซุ่น (天顺) ส่วนจักรพรรดิจิ่งไท่ซึ่งล้มป่วยอยู่ก็ได้เสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นานในปีเดียวกัน โดยที่ยังเพิ่งอายุเพียง ๒๙ ปีเท่านั้น

จักรพรรดิเจิ้งถ่งเจิ้งถ่งไม่ยอมรับว่าจักรพรรดิจิ่งไท่เคยเป็นจักรพรรดิ แต่ถือว่าเป็นแค่ผู้ที่มารับตำแหน่งแทนชั่วคราวเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้เองเมื่อจักรพรรดิจิ่งไท่เสียชีวิตลงจึงไม่ได้นำศพไปฝังในสุสานแห่งราชวงศ์หมิงเหมือนอย่างจักรพรรดิองค์อื่น แต่กลับนำศพไปฝังไว้ที่ชานเมืองปักกิ่งแทน เป็นสุสานเล็กๆ

แต่หลังจากนั้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖, ปี 1522 - 1566) จึงเริ่มมองเห็นว่าจักรพรรดิจิ่งไท่ควรได้รับการยกย่องเหมือนจักรพรรดิองค์อื่น จึงได้มีการคืนตำแหน่งจักรพรรดิให้จักรพรรดิจิ่งไท่ สุสานของจักรพรรดิจิ่งไท่จึงได้รับการแต่งเติมให้สมกับเป็นสุสานของจักรพรรดิ แม้จะยังคงอยู่ที่เดิมไม่ได้ย้ายไปรวมกับจักรพรรดิองค์อื่น และต่อมาหลังจากนั้นในสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆, ปี 1736 - 1795) แห่งราชวงศ์ชิงก็ยังได้มีการปรับปรุงที่นี่เพิ่มขึ้นอีก

แต่เวลาผ่านไปนานต่อมาสุสานแห่งนี้ก็เสื่อมไปตามเวลา ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ดั้งเดิมนั้นไม่อยู่แล้ว ที่ยังคงเหลืออยู่ตรงนี้มีเพียงแค่ศาลาแผ่นหิน (碑亭) ที่สร้างปรับปรุงสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง และอาคารหลิงเอินเตี้ยน (祾恩殿) ซึ่งเป็นประตูหน้าทางเข้าสู่ที่ฝังศพ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือที่มาของสถานที่ที่ปัจจุบันเรียกว่าสุสานจิ่งไท่ (景泰陵) ซึ่งเราได้ไปเยี่ยมชมมา

ที่นี่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากใจกลางเมืองปักกิ่งมากนัก สามารถเดินทางไปได้ง่าย ต่างจากสุสาน ๑๓ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงซึ่งอยู่ไกลออกไปกว่านั้นจึงเดินทางลำบากกว่ามาก ดังนั้นแล้วการที่จักรพรรดิจิ่งไท่ได้ฝังที่นี่ก็อาจเป็นข้อดีว่าทำให้คนสามารถเข้าไปเยี่ยมหลุมศพได้ง่าย

สุสานจิ่งไท่ตั้งอยู่ในเขตไห่เตี้ยน (海淀区) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่ง โดยตั้งอยู่ในเส้นทางผ่านระหว่างเขาเซียงซาน (香山) และพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน (颐和园)



ครั้งนี้เรากำลังจะเดินทางไปเที่ยวเซียงซาน เส้นทางต้องผ่านแถวนี้จึงถือโอกาสแวะชมสุสานของจักรพรรดิจิ่งไท่สักหน่อย ที่ตั้งของสุสานจิ่งไท่นั้นปัจจุบันกลายเป็นย่านที่เรียกว่าเหนียงเนี่ยงฝู่ (娘娘府) การมาที่นี่ให้นั่งรถเมล์มาลงที่ป้ายเหนียงเนี่ยงฝู่ รถเมล์หลายสายที่จะไปเซียงซานนั้นต้องผ่านแถวนี้

บรรยากาศตรงป้ายรถเมล์หลังลงจากรถมา แถวนี้เป็นชานเมืองจึงดูเงียบๆ



ทางเข้าอยู่ในซอยนี้ อยู่ทางขวาของป้ายรถเมล์



แต่เมื่อเรามาถึงก็ได้มาพบว่าย่านเหนียงเนี่ยงฝู่ที่ว่านี้ตอนนี้ถูกใช้เป็นก้านซิวสั่ว (干休所, ย่อมาจากคำว่าก้านปู้ซิวหยางสั่ว (干部休养所)) ซึ่งหมายถึงที่พักของทหารที่ปลดประจำการเนื่องจากเกษียรหรือทุพพลภาพ ดังนั้นจึงไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปชมได้ แถมมีทหารเฝ้าตลอด เราลองพยายามต่อรองกับทหารยามที่เฝ้าประตูทางเข้าอยู่ว่าอุตส่าห์นั่งรถมาตั้งไกลขอเข้าไปดูแค่แป๊บเดียวเองแล้วจะรีบออก เขาก็ไม่ยอม



หลังจากรู้ว่าเขายังไงก็ไม่ยอมให้ผ่านจึงคิดว่าจะทำยังไงดี มาแล้วมีหรือจะยอมเสียเที่ยวง่ายๆ ในตอนนั้นเห็นทหารยามอีกคนหนึ่งซึ่งนั่งเฝ้าอยู่นอกประตู ดูท่าทางแล้วน่าจะใจดีก็ลองไปคุยถามเขาว่ามีทางเข้าทางอื่นมั้ย เขาก็คุยด้วยอย่างใจดีแล้วบอกว่าถ้าอยากเข้าไปละก็ให้ไปอ้อมเข้าด้านหลังได้ แล้วก็ให้เราเปิดแผนที่ในมือถือขึ้นมาแล้วเขาก็ชี้บอกทาง


เราเดินออกจากซอยแล้วเดินไปตามถนนต่อไปทางตะวันตกอีกเล็กน้อย



จากนั้นเลี้ยวเข้าซอยนี้ซึ่งอยู่ข้างๆ ซอยนี้อยู่ห่างจากซอยที่ถูกกั้นไม่ให้เข้าตอนแรกอยู่หนึ่งป้ายรถเมล์



เดินเข้ามาแล้วจะต้องผ่านโรงพยาบาล ๓๑๖ (三一六医院) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทหาร



เข้าไปในบริเวณโรงพยาบาลแล้วเลี้ยวขวา ตรงนี้มีทางเข้าไปสู่ย่านเหนียงเนี่ยงฝู่อยู่ เป็นประตูเล็กๆแต่สามารถเดินผ่านได้ ไม่มีคนเฝ้า (คนในรูปไม่ใช่คนเฝ้า เขามายืนเฉยๆ)



เมื่อเข้าไปแล้วในนี้เป็นหมู่บ้านที่เงียบๆ บรรยากาศดีใช้ได้





เราเดินไปชมดอกไม้ไปเรื่อยๆ ใช้แผนที่ในมือถือเป็นตัวนำทาง




แล้วก็มาถึงสวนสาธารณะเล็กๆที่อยู่กลางหมู่บ้านนี้



ในนี้บรรยากาศดี



เข้ามาในสวนแล้วเดินไปสักพักในที่สุดก็เริ่มเห็นสิ่งที่ตามหาอยู่ทางโน้น



นี่คือศาลาป้ายหน้าหลุมศพของจักรพรรดิจิ่งไท่ แผ่นหินนี้ถูกตั้งโดยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงในปี 1769 นี่เป็นส่วนของสุสานที่ถูกรักษาไว้ในสภาพดีที่สุด



ที่กำแพงล้อมศาลามีชื่อป้ายเขียนว่าจิ่งไท่หลิง (景泰陵) โดยองค์กรอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของปักกิ่ง ที่นี่ถือเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่ถูกรักษาเอาไว้อย่างดี



ป้ายคำอธิบายสั้นๆถึงสถานที่นี้



ที่กำแพงมีรูด้วย



ภายในเป็นแผ่นหินป้ายหลุมศพ



อีกด้าน



นอกจากศาลาแผ่นหินแล้วแล้วเดินไปด้านหลังยังมีอาคารเก่าอีกแห่ง คืออาคารหลิงเอินเตี้ยน ซึ่งเป็นทางเข้าไปสู่ที่ฝังศพ



ด้านในนั้นตอนนี้กลายเป็นสนามเกตบอล และปิดไม่ให้ใครผ่านไปได้ แต่ถึงจะเข้าไปก็ไม่มีอะไรให้ดูเพราะสิ่งก่อสร้างที่นี่ไม่เหลืออยู่แล้ว ที่ฝังศพจึงเป็นแค่เนินดิน



หมดแค่นี้ ที่นี่ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้แล้ว ที่จริงทหารยามที่กันไม่ให้เราเข้าตอนแรกก็มีบอกเหมือนกันว่าไม่เห็นจะมีอะไรเลย แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่ามีแค่นี้แต่ยังไงก็ยังอยากจะมา


หลังดูของที่อยากดูเสร็จแล้วก็เดินเล่นต่อในบริเวณนั้นอีกหน่อย เท่าที่ดูก็ไม่มีอะไรแล้วจริงๆนอกจากเป็นหมู่บ้านเงียบๆ บรรยากาศร่มรื่นดี




เราเดินหาทางออกเดิมไม่เจอก็เลยลองเดินออกมาทางประตูที่เขากั้นไม่ให้เข้าตอนแรกดู



ระหว่างทางมองเห็นกลุ่มอาคารบนเขายวี่เฉวียนซาน (玉泉山) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปชมด้านใน ภายในมีหอคอยสวยๆอยู่แต่ก็ได้แต่แหงนมองจากรอบนอก หากใครไปเที่ยวพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวนก็สามารถมองเห็นมันได้เช่นกัน



ตอนเดินใกล้ถึงทางออกก็เดินสวนทหารยามคนที่กันไม่ให้เราตั้งแต่ตอนแรก เราก็ตกใจ เขาถามเราว่าเข้ามาได้ไงเราก็ตอบไปว่าอ้อมเข้าจากทางโน้น เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่แค่เตือนว่าอย่าทำตัวน่าสงสัยเดี๋ยวจะโดนจับ แล้วก็เดินจากไป

สุดท้ายเราก็ออกตรงประตูที่ถูกกั้นทีแรกไปได้อย่างง่ายดาย ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร

หมดเรื่องแล้วเราก็เดินออกมายังป้ายรถเมล์เพื่อจะนั่งรถเมล์ต่อไปยังเขาเซียงซานซึ่งเป็นเป้าหมายหลักจริงๆของเที่ยวนี้ หลังจากที่เสียเวลาไปกับการเดินอ้อมและเจรจากับทหารยามไปพอสมควรทำให้ตอนนี้ใกล้เที่ยงแล้ว

จากตรงนี้มีรถเมล์สาย 331 และ 563 ที่สามารถไปถึงเซียงซานได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20150421





ที่นี่อาจไม่ใช่สถานที่เที่ยวที่คนทั่วไปจะมากันสักเท่าไหร่นัก แต่มันก็ยังถือว่าเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่ หากอ่านประวัติศาสตร์มามากจะทำให้รู้สึกว่าสถานที่เที่ยวที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรให้ดูก็กลับเป็นที่ที่น่าสนขึ้นมาได้ บางทีแม้แต่ก้อนหินก้อนเดียวคนก็อาจแห่กันมาชมได้ คุณค่าของสิ่งต่างๆบางทีก็อยู่ตรงที่ประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังมัน

เมื่อก่อนเคยมีไปเที่ยวที่ที่คล้ายๆกัน คือสุสานพระเจ้าตากสินที่เถ่งไฮ่ (澄海, เฉิงไห่) ที่ซัวเถา บ้านเกิดบรรพบุรุษ ซึ่งที่นั่นก็ไม่เป็นที่รู้จักและก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ดูมากเช่นกัน https://phyblas.hinaboshi.com/20120704

สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์แล้วสุสานจิ่งไท่นี้ก็อาจจะถือว่าน่าลองมาเยี่ยมชมดูเหมือนกัน ยิ่งอยู่ระหว่างทางไปเขาเซียงซานด้วย หากใครจะไปเที่ยวเซียงซานละก็เสียเวลาแวะที่นี่ดูสักหน่อยก็อาจเป็นความคิดที่ไม่เลวก็เป็นได้



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน
-- ท่องเที่ยว >> สุสาน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ