φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ปราสาทฮิโรชิมะ ปราสาทโบราณที่ถูกทำลายโดยระเบิดปรมาณู
เขียนเมื่อ 2013/06/04 02:22
แก้ไขล่าสุด 2023/09/14 04:32


#ศุกร์ 25 ม.ค. 2013

หลังจากที่ไปชมสวนที่ระลึกสันติภาพและโดมระเบิดปรมาณูเสร็จ https://phyblas.hinaboshi.com/20130519

เป้าหมายต่อไปก็คือปราสาทฮิโรชิมะ (広島城)



ปราสาทฮิโรชิมะถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1589 โดยโมวริ เทรุโมโตะ (毛利輝元) โดยสร้างเลียนแบบจากจุรากุได (聚楽第) ในเกียวโตซึ่งเป็นปราสาทของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ซึ่งถูกทำลายในเวลาต่อมา

เดิมทีศูนย์กลางการปกครองของแถบนั้นตั้งอยู่ที่ปราสาทโยชิดะโคริยามะ (吉田郡山城) ซึ่งตั้งอยู่บนเขาในเขตเมืองอากิตากาตะ (安芸高田市) ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมืองฮิโรชิมะปัจจุบันมาก

แต่ต่อมาตระกูลโมวริต้องการย้ายศูนย์การกลางปกครองไปยังบริเวณฮิโรชิมะปัจจุบันซึ่งทำเลดีตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ จึงได้ย้ายมาและสร้างปราสาทฮิโรชิมะขึ้นที่นี่

ปราสาทฮิโรชิมะคงอยู่เรื่อยมาจนถึงปี 1871 เข้าสู่ยุคเมย์จิหอหลักของตัวปราสาทได้ถูกใช้เป็นที่ว่าการจังหวัดฮิโรชิมะชั่วคราว

หลังจากนั้นในปี 1894 ช่วงที่เกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (日清戦争, นิชชินเซนโซว) ฐานบัญชาการทหารได้ย้ายมาตั้งที่ฮิโรชิมะ เรียกว่าศูนย์บัญชาการหลวงฮิโรชิมะ (広島大本営, ฮิโรชิมะไดฮนเอย์)

หอหลักของปราสาทได้ถูกตั้งให้เป็นสมบัติของชาติ (国宝) ในปี 1931

ต่อมาในปี 1945 เมืองฮิโรชิมะถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู ปราสาทฮิโรชิมะซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางการระเบิดเพียงประมาณ ๙๐๐ เมตรได้ถูกทำลายทั้งหมด

สภาพบริเวณปราสาทก่อนและหลังโดนระเบิดปรมาณู






ในปี 1958 ได้มีการสร้างหอหลักของปราสาทขึ้นมาใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้เหมือนกับของเดิม พร้อมทั้งยังย้ายศาลเจ้าโกโกกุ (護国神社, โกโกกุจินจะ) มาสร้างใหม่ที่นี่ โดยศาลเจ้าแห่งนี้เดิมทีอยู่ใกล้ศูนย์กลางระเบิดมากกว่า ถูกทำลายไปเกือบหมดเหลือแค่เสาโทริอิ นอกจากส่วนเสาโทริอิแล้วส่วนที่เหลือเป็นการสร้างใหม่ทั้งหมด

ในจังหวัดฮิโรชิมะยังมีปราสาทอีกแห่งที่ถูกทำลายไปในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยถูกทำลายไปหลังจากปราสาทฮิโรชิมะเพียง ๒ วัน นั่นคือปราสาทฟุกุยามะ (福山城) ในเมืองฟุกุยามะ (福山市) ซึ่งได้เล่าถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20130324

ปราสาทฮิโรชิมะมีอีกชื่อหนึ่งว่าปราสาทปลาคาร์ป (鯉城, ริโจว) แต่ไม่ใช่เพราะว่าบริเวรนี้มีปลาคาร์ปหรือเพราะปราสาทหน้าตาเหมือนปลาคาร์ป แต่เชื่อกันว่าเป็นเพราะบริเวณย่านแถบที่ตั้งปราสาทนี้ถูกเรียกว่าโคย (己斐, โคย) ซึ่งไปพ้องเสียงกับคำว่าปลาคาร์ป (鯉, โคย) ก็เลยถูกเรียกแบบนั้น



ก่อนจะแวะไปเที่ยวปราสาทต้องหาอะไรกินก่อน เพราะเที่ยงแล้ว เรากลับมาแถวฮนโดริ (本通) เพื่อหาอะไรทาน ที่ต้องอุตส่าห์กลับมาตรงนี้เพราะเพื่อนบอกว่าตอนเดินออกจากเรียวกังเมื่อเช้าเดินผ่านแล้วสังเกตเห็นร้านน่าสนใจ

เราทานข้าวปลาซาบะนึ่งมิโสะ ราคา ๕๙๐ เยน



ที่ฮนโดรินี้นอกจากจะมีโถงทางเดินบนดินแล้ว ยังมีย่านร้านค้าซึ่งอยู่ใต้ดิน ที่นี่เป็นเมืองใต้ดินที่มีชื่อเรียกว่า คามิยะโจวชาเรโอ (紙屋町シャレオ)



เมืองใต้ดินนี้กินบริเวณกว้างตั้งแต่บริเวณสถานีฮนโดริ (本通駅) จนถึงสถานีคามิยะโจวฮิงาชิ (紙屋町東駅) และสถานีคามิยะโจวนิชิ (紙屋町西駅) และยังเชื่อมไปถึงสถานีรถไฟใต้ดินเคนโจวมาเอะ (県庁前駅)



รถไฟใต้ดินในเมืองฮิโรชิมะมีอยู่แค่ช่วงสั้นๆและไม่เด่นมากเท่ารถราง ถึงจะเรียกว่ารถไฟใต้ดิน แต่ที่จริงคือรถไฟสายหนึ่งที่มีส่วนหนึ่งอยู่ใต้ดินเท่านั้น รถไฟสายนี้เรียกว่าสายอาสึโตรามุ (アストラム) ซึ่งชื่อมาจากคำว่า อาสึ (明日) ที่แปลว่าวันพรุ่งนี้ กับทรัม (tram) ที่แปลว่ารถราง

รถไฟสายนี้เริ่มจากสถานีฮนโดริไปสุดที่สถานีโควอิกิโควเองมาเอะ (広域公園前駅) ตลอดสายยาว ๑๘.๔ กิโลเมตร แต่ส่วนที่อยู่ใต้ดินนั้นยาวแค่ ๑.๙ กิโลเมตร คือตั้งแต่สถานีฮนโดริจนถึงสถานีฮากุชิมะ (白島駅)

แต่เราไม่มีโอกาสได้ลองนั่งดู เพราะไม่สำคัญเท่าไหร่ เส้นทางมันไม่ได้ผ่านสถานที่เที่ยวสำคัญอะไร แม้ว่าปราสาทฮิโรชิมะตั้งอยู่บนเส้นทางนี้คือระหว่างสถานีเคนโจวมาเอะกับสถานีโจวโฮกุ (城北駅) แต่ก็อยู่ใกล้แค่นิดเดียว ไม่จำเป็นจะต้องนั่งรถไฟ

เราเดินอยู่ในเส้นทางใต้ดินคามิยะโจวชาเรโอจากบริเวณสถานีฮนโดริ จนมาโผล่ด้านบนอีกทีที่สถานีเคนโจวมาเอะ



เมื่อออกมาแล้วเดินแค่อีกหน่อยก็จะเห็นตัวปราสาทอยู่ด้านหน้านี้



เราเลี้ยวขวาเพื่อจะไปเข้าประตูด้านตะวันออก



ริมคลองฝั่งตะวันออกมีรูปปั้นของอิเกดะ ฮายาโตะ (池田勇人) อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นช่วงปี 1960-1964 ผู้เป็นชาวจังหวัดฮิโรชิมะ



ทางเข้า ข้ามคูไปก็ถึง



ข้างในก็เป็นสวนธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรเท่าไหร่ ที่จริงมีศาลเจ้าโกโกกุอยู่ด้วย เมื่อคืนตอนที่มาเดินตอนกลางคืนก็เดินผ่านอยู่ แต่ว่ามืดเลยไม่ได้ถ่ายอะไร พอครั้งนี้มาตอนกลางวันก็ไม่ได้แวะไปดูอีกรอบ แต่มุ่งตรงสู่ปราสาทเลย แต่ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นศาลเจ้าเล็กๆ



แล้วก็ถึงตัวปราสาท



ตอนที่มาถึงเห็นมีคนกำลังมาถ่ายรูปกันอยู่พอดี ชายหญิงแต่งชุดญี่ปุ่นสวยทั้งคู่ เข้าใจว่ามาถ่ายรูปแต่งงาน



ภาพปราสาทที่เราได้ในระยะใกล้ในครั้งนี้ก็เลยเป็นภาพที่มีสองคนนี้ประดับอยู่ด้วย เราแอบถ่ายเขาไปด้วย (แต่เขาคงเห็นแล้วล่ะ) ก็สวยไปอีกแบบ



จากด้านหน้าปราสาทมองออกไปยังคูที่ล้อมรอบ



หลังจากได้มาเห็นปราสาทในระยะใกล้แล้ว ก็ได้เวลาเดินออกไป ปราสาทนี้เป็นปราสาทแห่งแรกที่เราตัดสินใจไม่เข้าไปชมด้านใน เนื่องจากค่าเข้าค่อนข้างแพง คือ ๓๖๐ เยน เทียบกับปราสาทอื่นแล้วถือว่าแพงกว่า และเราก็เข้ามาแล้วหลายปราสาท ดังนั้นไม่ได้เข้าที่นี่สักแห่งก็ไม่เป็นไร

เมื่อเดินออกมาเราก็เริ่มเดินอ้อมไปยังฝั่งเหนือของปราสาทเพื่อเก็บภาพปราสาทจากด้านนอก

ภาพจากมุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ไกลจากตัวยอดปราสาท



จากมุมตะวันตกเฉียงเหนือ




มองจากฝั่งตะวันตก
 
 

ในคูเห็นเป็ดกำลังว่ายน้ำอยู่มากมาย



ภาพยอดปราสาทภาพสุดท้าย ถ่ายจากมุมตะวันตกเฉียงใต้



ที่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้มีทางเข้าบริเวณปราสาทอยู่ เป็นคนละจุดกับที่เข้าตอนแรก แต่เมื่อคืนตอนที่มาเดินก็เข้าจากตรงนี้



ทางเข้าตรงนี้จะต้องผ่านป้อมนิโนะมารุ (二の丸) ซึ่งเป็นป้อมที่ลอยอยู่กลางน้ำ แยกต่างหากกับส่วนกลางของปราสาท





การเที่ยวปราสาทก็จบแค่นี้ เป้าหมายต่อไปของเราก็คือจะไปเที่ยวมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะ (広島大学) ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้วิทยาเขตหลักไม่ได้อยู่ในตัวเมืองฮิโรชิมะ แต่อยู่ในเมืองฮิงาชิฮิโรชิมะ (東広島市) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของฮิโรชิมะอีกที ถ้าจะไปต้องนั่งรถไปไกลเป็นชั่วโมง

แผนที่จังหวัดฮิโรชิมะ สีชมพูเข้มคือเมืองฮิงาชิฮิโรชิมะ สีม่วงคือเมืองฮิโรชิมะ




มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะก่อตั้งเมื่อปี 1949 โดยในตอนแรกวิทยาเขตหลักก็อยู่ภายในตัวเมืองฮิโรชิมะ แต่วิทยาเขตใหม่ที่เมืองฮิงาชิฮิโรชิมะถูกสร้างภายหลังและค่อยๆมีการย้ายส่วนต่างๆของมหาวิทยาลัยไปตั้งแต่ช่วงปี 1982 - 1995

ตอนแรกสงสัยว่าที่มหาวิทยาลัยไปตั้งอยู่ซะไกลนี่เพราะจะหนีระเบิดปรมาณูหรือเปล่า แต่พอดูปีที่ย้ายแล้ว ยังไงก็ไม่เกี่ยว และอีกอย่างมหาวิทยาลัยนี้ก่อตั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองซะอีก

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะมี ๓ วิทยาเขต คือวิทยาเขตฮิงาชิฮิโรชิมะ (東広島) วิทยาเขตคาสึมิ (霞) วิทยาเขตฮิงาชิเซนดะ (東千田)

บริเวณที่ตั้งของวิทยาเขตฮิงาชิฮิโรชิมะนั้นเมื่อก่อนเป็นชุมชนเกษตรกรรมไร่องุ่น ล้อมรอบไปด้วยป่าเขา เนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลเมือง ทำให้มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะวิทยาเขตฮิงาชิฮิโรชิมะนี้ขยายใหญ่ได้มาก ปัจจุบันขนาด ๒.๕ ตร.กม. ถือว่าใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่นรองจากมหาวิทยาลัยทสึกุบะ (筑波大学) วิทยาเขตทสึกุบะ

การไปมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะนั้นมีรถที่ไปส่งโดยตรงถึงที่อยู่ ต้องไปขึ้นที่ศูนย์รถบัสฮิโรชิมะ (広島バスセンター) ตั้งอยู่ตรงสี่แยกคามิยะโจวซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองใต้ดินชาเรโอ มีทางทะลุจากใต้ดินด้วย

ศูนย์รถบัสใช้ตึกเดียวกับห้าง SOGO เดินเข้าไปข้างในก็เป็นห้างเป็นหลัก แต่จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นศูนย์รถบัส



บริเวณขายตั๋วของศูนย์รถบัส ความจริงรถบัสกลางคืนที่เราจะใช้นั่งกลับเกียวโตคืนนี้จะขึ้นจากตรงนี้ก็ได้ แต่ตอนที่จองเราเลือกที่จะไปขึ้นที่สถานีรถไฟ เพราะคิดสะดวกกว่า แต่ไปๆมาๆดูเหมือนจะกลายเป็นว่าที่นี่สะดวกกว่าเพราะอยู่ใกล้โรงแรม แต่ก็เปลี่ยนไม่ทันแล้ว



แล้วก็พบเรื่องผิดพลาดขึ้น คือพอเราจะซื้อตั๋วรถไปมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะก็พบว่ารถเที่ยวล่าสุดเพิ่งจะออกไป ต้องรออีกชั่วโมงกว่าสำหรับรอบถัดไปเพราะรถที่จะไปนั้นมีไม่บ่อย



เป็นสิ่งที่ไม่น่าพลาดเลย ที่จริงเราควรจะหาข้อมูลเรื่องตารางเวลารถมาให้ดีก่อน แต่เราไม่ได้ทำเพราะแผนที่จะไปเที่ยวมหาวิทยาลัยนี้เพิ่งผุดขึ้นมาตอนหลัง ไม่ได้วางแผนให้รอบคอบนัก

ที่จริงมีอีกวิธีคือไปนั่งรถไฟไปยังสถานีไซโจว (西条駅) ซึ่งอยู่ในเมืองฮิงาชิฮิโรชิมะ แต่ว่าไปถึงแล้วก็ต้องต่อรถเมล์ไปอีก และตอนนั้นก็ไม่ได้หาข้อมูลเรื่องตารางเดินรถเอาไว้เลย ก็เลยไม่เอาดีกว่า

ถ้าต้องรออีกตั้งชั่วโมงกว่าก็ไม่ไหวเพราะว่าตอนนั้นก็บ่ายโมงแล้ว ถ้าต้องรอรถเที่ยวบ่ายขนาดนั้นเพื่อไปละก็ ไปถึงก็เย็นมาก จะมีเวลาทำอะไรไม่เท่าไหร่ และค่ารถก็แพงมากด้วย กลัวว่าจะเที่ยวไม่คุ้ม สุดท้ายก็เลยตัดสินใจไม่ไป

เมื่อตัดสินใจไม่ไปก็เท่ากับว่าต้องมาเรื่อยเปื่อยในเมืองต่อ เราก็รีบเปิดหาข้อมูลว่าจะไปเที่ยวที่ไหนต่อดี ที่จริงที่เที่ยวหลักๆของเมืองฮิโรชิมะก็มีอยู่แค่สองที่คือสวนที่ระลึกสันติภาพกับปราสาทฮิโรชิมะซึ่งก็ไปมาหมดแล้ว ถ้าจะมีที่ไหนให้ไปอีกก็อาจไม่สำคัญมาก แต่จะลองไปดูก็ไม่เสียหาย

เท่าที่รู้เห็นมีอีกที่ซึ่งคนนิยมไปกันก็คือสวนชุกเกย์เอง (縮景園) ซึ่งเป็นสวนเล็กๆกลางเมืองซึ่งย่อส่วนมากจากทะเลสาบซีหู (西湖) ในหางโจว (杭州) ประเทศจีน
 
เห็นเขาว่าสวยอยู่เหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าเราไปตอนหน้าหนาวเลยคิดว่าถ้าไปอาจไม่ได้เห็นอะไรสวยมากมาย เพราะไม่มีดอกไม้อะไรเลย และยังต้องเสียค่าเข้าซึ่งแพงไม่น้อย จึงตัดสินใจไม่ไป
 
 
 
สุดท้ายแล้วที่ที่เราตัดสินใจไปก็คือมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะวิทยาเขตฮิงาชิเซนดะซึ่งเป็นวิทยาเขตเล็กๆที่อยู่ภายในตัวเมืองฮิโรชิมะ เนื่องจากพลาดที่จะได้ไปวิทยาเขตหลักแล้ว ก็ขอแค่ได้ไปดูวิทยาเขตย่อยก็ยังดี
 
วิทยาเขตนี้มีความสำคัญตรงที่เมื่อก่อนนี้เป็นวิทยาเขตหลัก แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปยังวิทยาเขตฮิงาชิฮิโรชิมะเกือบหมดแล้วเหลือเพียงส่วนเล็กๆ อาคารต่างๆของคณะที่ถูกย้ายก็รื้อถอนไปหมดแล้วพื้นที่เก่าส่วนหนึ่งก็ถูกทำเป็นสวนสาธารณะฮิงาชิเซนดะ (東千田公園)
 
แม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ของวิทยาเขตนี้จะถูกรื้อถอนออกไปหมด แต่มีอาคารหลังหนึ่งที่ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี นั่นคืออาคารหนึ่งคณะวิทยาศาสตร์เก่า (旧理学部1号館)
 
อาคารนี้เป็นอาคารเดียวในบริเวณนี้ที่เหลือรอดจากระเบิดปรมาณู ซึ่งในสมัยที่เกิดระเบิดขึ้นนั้นอาคารนี้เป็นของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ฮิโรชิมะ (広島文理科大学)
 
ตำแหน่งอาคารนี้อยู่ห่างจากศูนย์กลางการระเบิดไป ๑๔๒๐ เมตร ตอนที่ระเบิดนั้นภายในอาคารถูกเผาทำลายจนหมด แต่ตัวตึกกลับยังคงยืนหยัดอยู่ได้ สุดท้ายก็ไม่ได้รื้อถอนทิ้งและนำกลับมาใช้งานได้ต่อ
 
หลังจากนั้นในปี 1949 มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะได้ก่อตั้งขึ้น และอาคารนี้ก็ถูกใช้เป็นอาคารคณะวิทยาศาสตร์ และก็ใช้ต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงที่มหาวิทยาลัยฮิโรชิมะเริ่มย้ายไปอยู่ที่วิทยาเขตฮิงาชิฮิโรชิมะ อาคารนี้เป็นอาคารเดียวที่ถูกอนุรักษ์ไว้เนื่องจากเป็นอาคารเก่าที่เหลือรอดจากระเบิดปรมาณู
 
ปัจจุบันอาคารนี้ถูกตั้งทิ้งไว้เฉยๆไม่มีการใช้งาน และมีรั้วล้อมไม่ให้เข้าไป กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ให้คนที่ผ่านมาได้มาชม
 
 
 
เราเดินทางไปด้วยรถรางเช่นเคย



แล้วก็เดินทางด้วยรถสาย 7 มาไม่ไกลนัก ถึงสถานีนิซเซกิเบียวอิงมาเอะ (日赤病院前駅)



ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ด้านหน้าโรงพยาบาลสภากาชาดและระเบิดปรมาณูฮิโรชิมะ (広島赤十字・原爆病院, ฮิโรชิมะเซกิจูจิเกมบากุเบียวอิง) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือของสภากาชาดญี่ปุ่น (日本赤十字社) เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู
 


ความจริงแล้วสถานีนี้เคยมีชื่อว่าสถานีมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะ (広間大学駅) แต่เนื่องจากวิทยาเขตถูกย้ายไปแล้ว ที่นี่เป็นแค่วิทยาเขตย่อยไป เพื่อไม่ให้สับสนเลยเปลี่ยนชื่อใหม่โดยใช้ชื่อโรงพยาบาลเป็นชื่อสถานีแทน
 
สวนสาธารณะฮิงาชิเซนดะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลนี้เอง



ทันทีที่เดินเข้ามา อาคารที่อยู่ตรงหน้านี้ก็คืออาคารหนึ่งคณะวิทยาศาสตร์เก่านั่นเอง



เข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่ามีรั้วล้อมอยู่เช่นเดียวกับโดมระเบิดปรมาณู ไม่สามารถเข้าไปได้
 



มองไปอีกด้านเป็นทุ่งโล่งว่างเปล่า




เดินเข้าไปถ่ายตัวอาคารจากทางฝั่งทุ่งโล่ง




จากตรงนี้มองเห็นตัวอาคารของมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะส่วนที่ยังเหลืออยู่ด้วย แต่มีรั้วกั้นอยู่ ต้องไปเข้าจากอีกทาง
 


เราเดินออกจากบริเวณสวนสาธารณะไปแล้วเดินต่อไปอีกหน่อยก็เจอทางเข้ามหาวิทยาลัยฮิโรชิมะวิทยาเขตฮิงาชิเซนดะ
 



แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเดินดูข้างใน เพราะเล็กนิดเดียวไม่ได้มีอะไร ส่วนสำคัญก็ได้ดูไปแล้ว ดังนั้นการเที่ยวชมมหาวิทยาลัยฮิโรชิมะก็จบลงเท่านี้ เราเดินกลับไปยังสถานีรถรางเพื่อเดินทางไปเที่ยวยังที่ต่อไปต่อ





ตอนต่อไปจะเป็นการเที่ยวไปตามสถานที่ที่เหลือในเมืองตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงตอนดึกขึ้นรถบัสกลับเกียวโต ติดตามกันต่อได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130617

 



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฮิโรชิมะ
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทญี่ปุ่น
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

月別記事

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

もっと前の記事

ไทย

日本語

中文