φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



สวนที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ ร่องรอยที่หลงเหลือจากสงครามโลกครั้งที่สอง
เขียนเมื่อ 2013/05/19 02:22
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#ศุกร์ 25 ม.ค. 2013

เข้าสู่เช้าวันที่ ๙ ของการเที่ยวญี่ปุ่น และเป็นวันที่ ๓ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเที่ยวในฮิโรชิมะ


หลังจากที่เมื่อคืนไปเที่ยวที่สะพานคินไตและเกาะมิยาจิมะแล้ว เราก็กลับมาค้างคืนที่เรียวกังในฮิโรชิมะ https://phyblas.hinaboshi.com/20130515

สองวันแรกเป็นการเที่ยวภายในจังหวัด แต่ไม่ได้เที่ยวในตัวเมืองฮิโรชิมะเลย จนกระทั่งเมื่อคืนถึงมีโอกาสได้ไปเดินมานิดหน่อย แต่วันนี้จะเป็นการเที่ยวภายในตัวเมืองจริงๆ

วันนี้เป้าหมายแรกที่จะไปก็คือโดมระเบิดปรมาณู และสวนที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ

ก่อนจะไปชมภาพสถานที่คงขาดไม่ได้ที่จะต้องเล่าถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะเมืองฮิโรชิมะนี้เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะเมืองแรกของโลกที่โดนระเบิดปรมาณู และสถานที่ที่จะไปในครั้งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณูโดยตรง





ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากที่ญี่ปุ่นถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่ภาวะสงครามกับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด

จนปี 1945 ช่วงท้ายของสงคราม ญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะเสียเปรียบอย่างมาก โดนไล่ต้อนมาเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อเยอรมันยอมแพ้ไปตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ทำให้การโจมตีของสหรัฐฯมุ่งเปามาที่ญี่ปุ่นอย่างเดียว จึงยิ่งเสียเปรียบหนักแต่ญี่ปุ่นก็ยังสู้ต่อไป และมีทีท่าว่าสงครามจะยืดเยื้อออกไป

ในช่วงนั้นห้องวิจัยในสหรัฐฯได้มีการวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นอย่างลับๆในชื่อโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งได้วิจัยจนสามารถผลิตระเบิดปรมาณูได้สำเร็จในปี 1945

ในช่วงที่สงครามยืดเยื้อ ทางสหรัฐฯได้ตัดสินใจว่าจะนำระเบิดปรมาณูทิ้งที่ญี่ปุ่น จึงได้มีการทดสอบทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ที่ทะเลทรายบริเวณใกล้กับเมืองแอลาโมกอร์โด (Alamogordo) รัฐนิวเม็กซิโก เป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก

เมื่อการทดลองระเบิดประสบความสำเร็จ ทางสหรัฐฯจึงได้เตรียมที่จะนำมาใช้จริงในการโจมตีญี่ปุ่น โดยในเบื้องต้นได้มีการเลือกเป้าหมายไว้หลายเป้าหมาย แต่สุดท้ายก็ตัดเหลืออยู่ ๓ ที่คือ ฮิโรชิมะ โคกุระ และนางาซากิ

ดังนั้นในวันที่ 6 สิงหาคม ระเบิดปรมาณูลูกแรก ลิตเติลบอย (Little Boy) ซึ่งหนัก ๔.๔ ตัน กำลังระเบิด ๑๖ กิโลตัน ก็ได้ถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมะ และระเบิดในตอนเช้าเวลา 8:15 บริเวณใจกลางเมืองที่จุดสูงจากพื้นดิน ๖๐๐ เมตร



แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งตายทันทีและตายในเวลาต่อมารวมประมาณ ๙ - ๑๒ หมื่นคน คนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางระเบิดในระยะ ๕๐๐ เมตร 90% ตายทันทีหรือตายภายในวันนั้น ส่วนในระยะ ๕๐๐-๑๐๐๐ เมตร ตายทันทีหรือตายในวันนั้น 60-70% แต่คนที่รอดมาได้ก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานและต้องตายในเวลาสัปดาห์หรือเดือนต่อมาเกือบทั้งหมด

หลังจากนั้น ๓ วัน ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง แฟตแมน (Fat Man) ซึ่งมีอานุภาพสูงกว่าลูกแรกก็ได้ถูกทิ้งที่นางาซากิ แต่มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่ดีทำให้ศูนย์กลางของระเบิดห่างจากใจกลางเมือง ไม่เหมือนกับฮิโรชิมะที่ละเบิดลงตรงกลางเมือง

สุดท้ายญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 เป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒

บริเวณใกล้ศูนย์กลางของการระเบิดนั้นเรียบเป็นหน้ากลองเหลือเพียงแต่ซาก มีเพียงไม่กี่อาคารที่ยังพอเหลือเค้าโครง หนึ่งในนั้นคืออาคารที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าโดมระเบิดปรมาณู (原爆ドーム, เกมบากุโดมุ) ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางการระเบิดเพียง ๑๕๐ เมตร ปัจจุบันถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี

พื้นที่บริเวณศูนย์กลางของระเบิดได้กลายเป็นสวนที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ (広島平和記念公園, ฮิโรชิมะเฮย์วะคิเนงโควเอง) ซึ่งเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์ต่างๆเพื่อรำลึกเหตุการณ์ และยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ (広島平和記念資料館, ฮิโรชิมะเฮย์วะคิเนงชิเรียวกัง) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูและสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความน่ากลัว

ปัจจุบันที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่ดึงดูนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาชม เป็นสถานที่ที่ใครมาฮิโรชิมะยังไงก็ต้องแวะมา





หลังจากเท้าความถึงประวัติศาสตร์เสร็จ ก็ขอกลับมาเล่าเรื่องการเที่ยวต่อ

เช้านี้เป็นอะไรที่เริ่มต้นขึ้นอย่างช้า เนื่องจากเพื่อนเราปกติเป็นคนนอนตื่นสายอยู่แล้ว ให้ตื่นเช้าเพื่อเที่ยวมาสองวันก็เต็มที่แล้ว วันนี้เลยขอนอนหลับสบายๆตื่นสายๆสักเช้า ไปๆมาๆเราออกจากเรียวกังประมาณเก้าโมงครึ่ง

แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะแผนการเที่ยววันนี้ค่อนข้างหลวมๆอยู่ เพราะเที่ยวแค่ในเมือง ไม่ได้ไปไหนไกล ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และเรามีเวลาถึงตอนเย็นเพราะต้องรอรถเที่ยวกลางคืนขากลับ ถ้าแผนมันรัดตัวจริงๆละก็ยังไงเราก็ต้องปลุกเพื่อนให้ตื่นแล้วออกตอน ๗ โมงให้ได้

เราเช็กเอาต์แล้วก็ฝากของไว้กับเรียวกัง ไว้ตอนเย็นเที่ยวเสร็จค่อยกลับมาเอาก่อนจะกลับ

ภาพจิซึรุเรียวกังแบบเต็มๆ เมื่อคืนมาถึงก็มืดแล้วเลยไม่มีโอกาสได้ถ่าย เห็นแบบนี้แล้วเล็กนิดเดียว ดูไม่ออกว่าจะเป็นโรงแรมเลยนะ



มื้อเช้าซื้อแม็กโดนัลด์แถวใกล้ๆเรียวกังทาน มื้อนี้ราคาแค่ ๑๐๐ เยนเท่านั้นเอง ถูกกว่าซื้อขนมปังตามร้านสะดวกซื้อซะอีก แม็กที่นี่ถือเป็นอาหารแบบถูกๆติดดิน ตรงกันข้ามกับที่ไทยหรือที่จีนเลย แถมอร่อยไม่แพ้กันด้วย อยากประหยัดเงินต้องมากินแม็ก



กินเสร็จก็ไปเดินเล่นในย่านฮนโดริต่อ วันนี้เราดูใจเย็นมากจริงๆ ตอนกลางวันที่นี่ให้บรรยากาศต่างจากเมื่อคืนไปอีกแบบ




แล้วก็เจอร้านเกม เพื่อนเราเข้าไปเล่นยูโฟแคทเชอร์ (ตู้หนีบตุ๊กตา) สักเกม... บอกแล้วว่าวันนี้ใจเย็นกันมาก



หลังจากนั้นก็ไปขึ้นรถรางเพื่อจะไปยังโดมระเบิดปรมาณูกันเหมือนเมื่อคืน ความจริงแล้วระยะทางมันใกล้พอที่จะเดินไปได้ แต่ทุ่นแรงได้ก็ทุ่นไว้ก่อนดีกว่าเพราะยังต้องเที่ยวทั้งวัน





แล้วก็มาถึงโดมระเบิดปรมาณู




ภาพทิวทัศน์ริมฝั่งน้ำที่มีโดมระเบิดปรมาณูอยู่ริมฝั่ง ดูแล้วก็สวยงาม



เข้ามาใกล้ๆ ดูโดมระเบิดปรมาณูในมุมต่างๆ





พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับที่นี่สักหน่อย โดมระเบิดปรมาณูแห่งนี้เมื่อก่อนเป็นหอจัดแสดงผลิตภัณฑ์จังหวัดฮิโรชิมะ (広島県物産陳列館, ฮิโรชิมะเกงบุซซังจินเรตสึกัง) เริ่มสร้างและเปิดใช้งานเปิดเมื่อปี 1915 ออกแบบโดยยาน เล็ตเซล (Jan Letzel) สถาปนิกชาวเชก ซึ่งได้สร้างผลงานสิ่งก่อสร้างไว้หลายแห่งในญี่ปุ่น

ปี 1933 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นหอส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดฮิโรชิมะ (広島県産業奨励館, ฮิโรชิมะเกงซังเงียวโชวริกัง) แล้วเปิดเป็นหอจัดแสดงงานศิลปะซึ่งส่งเสริมวัฒนธรรมของจังหวัดฮิโรชิมะ แต่ว่าตั้งแต่ 31 มีนาคม 1944 ที่นี่ก็ได้ปิดตัวลงเนื่องจากภาวะสงครามยืดเยื้อ

จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เมื่อระเบิดปรมาณูได้ถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมะ ที่นี่อยู่ห่างจากศูนย์กลางระเบิดเพียง ๑๕๐ เมตร จึงโดนระเบิดไปเต็มๆ และหลงเหลือเพียงแค่ซากเค้าโครงของตึกอย่างที่เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

สาเหตุที่ตึกไม่ได้ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ก็เพราะว่าศูนย์กลางการระเบิดนั้นอยู่เกือบค่อนไปทางด้านบนของตึกพอดี และจากการที่ตึกนี้มีหน้าต่างเยอะทำให้แรงระเบิดระบายผ่านหน้าต่างไป และเนื่องจากส่วนยอดโดมของตึกนั้นทำจากทองแดงซึ่งต่างจากตัวตึกที่ทำด้วยอิฐเสริมเหล็ก ทองแดงหลอมเหลวง่าย ทำให้หลอมเหลวไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ตัวอาคารโปร่ง แรงระเบิดผ่านทะลุไปได้ง่ายขึ้นอีก

เมื่อสงครามสิ้นสุดลงผู้คนก็ถกกันว่าจะทำยังไงกับตัวอาคารนี้ดี ชาวบ้านทั่วไปเห็นว่าควรจะรื้อทิ้ง แต่สุดท้ายทางการก็ตัดสินใจที่จะหลงเหลือไว้เพื่อเป็นที่ระลึกให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู

ตั้งแต่นั้นมาที่นี่จึงได้เป็นที่รู้จักในฐานะโดมระเบิดปรมาณู ในปี 1996 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก



หลังจากดูโดมระเบิดปรมาณูเสร็จก็ข้ามฝั่งแม่น้ำมา ก็จะเป็นบริเวณสวนที่ระลึกสันติภาพ บริเวณนี้คือส่วนที่เป็นศูนย์กลางของระเบิดปรมาณู ตั้งอยู่บริเวณฝั่งใต้สามเหลี่ยมปากทางแยกของแม่น้ำ





อนุสาวรีย์ที่อยู่กลางน้ำนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ตายจากระเบิดปรมาณู



ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกสันติภาพฮิโรชิมะ





การเข้าชมจ่ายค่าเข้าเพียงแค่ ๕๐ เยนเท่านั้น เทียบราคากับสถานที่เที่ยวแห่งอื่นแล้วแทบจะเรียกว่าฟรีเลยก็ว่าได้




ในนี้จัดแสดงประวัติเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู และผลกระทบที่เกิดขึ้น



นี่คือบริเวณศูนย์กลางการระเบิด ก่อนเกิดการระเบิด



และนี่คือสภาพหลังระเบิด จะเห็นว่าเรียบเป็นหน้ากลอง เหลือโครงอยู่ไม่กี่หลัง



พวกคนที่ใส่ชุดสีเขียวๆจะเห็นว่ามีแต่คนแก่ๆทั้งนั้น พวกเขาคือคนที่ผ่านเหตุการณ์สมัยนั้นมาและยังมีชีวิตอยู่จนมาเล่าประสบการณ์ได้ ฟังเขาเล่าแล้วก็ได้อารมณ์ตามจริงๆ แต่น่าเสียดายว่ายุคสมัยผ่านไปเรื่อยๆ ถ้ามาที่นี่อีกทีสักสิบปีให้หลังจะยังเหลือแค่กี่คนที่สามารถมาเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังแบบนี้ได้บ้างนะ



ตรงนี้อธิบายความเป็นมาว่าทำไมฮิโรชิมะถึงถูกเลือกเป็นเป้าหมายของระเบิดปรมาณู มีเมืองไหนถูกเล็งเอาไว้บ้าง



นาฬิกาข้อมือที่เหลือรอดจากตอนนั้น มันหยุดเดินเวลา 8:15 ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดระเบิดพอดี



อันนี้เป็นแบบจำลองเหมือนกับโดมระเบิดปรมาณูขนาดย่อ ตั้งอยู่ภายในนี้



หน้าจอนี้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพ มีเป็นภาษาต่างๆมากมาย ภาษาไทยก็มีด้วย แต่เนื้อหาไม่ยาวเท่าไหร่



ลูกโลกที่แสดงจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าอยู่ที่ประเทศไหนกี่ลูก จะเห็นว่าที่เยอะสุดก็คือสหรัฐอเมริกา



บริเวณนี้จำลองสภาพให้เหมือนอยู่ภายในซากตึกที่ถูกทำลาย ให้บรรยากาศน่ากลัวขึ้นไปอีก



นี่คือเมฆรูปเห็ด เป็นเมฆชนิดพิเศษที่เป็นผลจากระเบิดปรมาณู



หุ่นจำลองสภาพของผู้ที่ถูกระเบิดปรมาณู จากสภาพที่เห็นคืออยู่ได้อีกไม่นานก็ต้องตายลงอย่างทรมาน



แบบจำลองแสดงตำแหน่งที่ลูกระเบิดลง โดยห้อยเป็นลูกบอลสีแดงอยู่เหนือศูนย์กลางระเบิด ให้เห็นว่ามันระเบิดจากกลางอากาศ ระเบิดปรมาณูไม่เหมือนระเบิดทั่วไปตรงที่มันต้องจุดให้ระเบิดกลางอากาศ



พวกชุดที่เหลือสภาพจากตอนนั้น




ซากของอะไรต่างๆที่หลงเหลืออยู่ก็เอามาจัดแสดง








นี่เป็นพวกโลหะที่ถูกหลอมในตอนที่เกิดระเบิด เนื่องจากความร้อนสูงมากทำให้ทุกอย่างหลอมมารวมกัน



เขามีติดป้ายเชิญชวนให้จับกันดูด้วย



ขยายดูใกล้ๆ หน้าตาอย่างที่เห็น อย่างกับก้อนหินเลย




และยังมีอีกมากมายตรงนี้



เครื่องวัดปริมาณรังสี มีให้เลื่อนสารกัมมันตรังสีเข้าๆออกๆได้เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของเครื่อง



หน้าจออธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ มีภาษาต่างๆมากมาย รวมทั้งภาษาไทย



แผนที่แสดงจำนวนผู้ที่เสียชีวิตในจังหวัดต่างๆของญี่ปุ่น สีน้ำตาลคือตายมากกว่า ๕ หมื่นคน ซึ่งก็มีเพียงแค่ ๒ จังหวัดเท่านั้น คือฮิโรชิมะ กับนางาซากิ ส่วนสีชมพูคือตาย ๕ พันถึง ๑ หมื่นคน ก็มีแค่สี่จังหวัดคือโตเกียว คานางาวะ โอซากะ ฟุกุโอกะ



จะเห็นว่าจังหวัดที่โดนระเบิดปรมาณูคนตายมากกว่า ๕ หมื่นคน ในขณะที่จังหวัดอื่นมีคนตายอย่างมากก็ไม่ถึงหมื่นคน ความเสียหายต่างกันมากลิบลับ ถ้าสงครามจบลงโดยที่ไม่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูความเสียหายของญี่ปุ่นคงน้อยกว่านี้มาก



แล้วก็เดินภายในนี้เสร็จ หลังจากนั้นเดินไปไม่ไกลนักจะเจออีกอาคารหนึ่ง คือหออธิษฐานสันติภาพไว้อาลัยผู้ตายจากระเบิดปรมาณูฮิโรชิมะแห่งชาติ (国立広島原爆死没者追悼平和祈念館)



อาคารเป็นโดมซึ่งขุดลึกลงไปใต้ดิน



ลงไปข้างล่างจะเป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งเอาไว้รำลึกถึงผู้ที่ตายไปในเหตุการณ์ ภาพที่เห็นที่ผนังเป็นสภาพเมืองขณะเพิ่งถูกระเบิดไป



นี่เป็นรายชื่อผู้คนที่ตายในเหตุการณ์ทั้งหมดที่มีการบันทึกชื่อไว้ พร้อมรูปประกอบมากมาย



นอกจากนี้ยังมีเครื่องคอมที่บรรจุรายชื่อของผู้คนที่เสียชีวิตทั้งหมดไว้ สามารถไปกดค้นได้ด้วย



แล้วก็ออกมา ไม่ไกลจากตรงนั้นมีอนุสาวรีย์ของซาดาโกะ นี่เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงซาซากิ ซาดาโกะ (佐々木禎子) เด็กสาวที่ได้รับผลกระทบจากผลของระเบิดปรมาณู



ปี 1945 ขณะซาดาโกะอายุ ๒ ปี เธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู และมีชีวิตอยู่ต่อมาจนกระทั่งปลายปี 1954 เธอเริ่มล้มป่วยลงและตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นผลมาจากระเบิดปรมาณู แต่เพิ่งจะมาแสดงอาการ

ซาดาโกะได้ยินเรื่องราวว่าถ้าพับนกกระเรียนได้พันตัวแล้วจะหายดี เธอเลยพยายามพับนกกระเรียนทั้งที่อาการป่วยก็ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนพับได้ครบพันตัวแล้วแต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เธอก็ยังคงพับต่อไป จนในที่สุดก็เสียชีวิตลงในวันที่ 25 ตุลาคม 1955 ในวัย ๑๒ ปี หลังจากเริ่มตรวจพบอาการเพียงประมาณปีเดียว

เรื่องราวของซาดาโกะแพร่หลายออกไป ผู้คนได้ยินเรื่องราวแล้วรู้สึกเห็นใจอย่างมาก จึงสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อระลึกถึงเธอที่สวนสันติภาพแห่งนี้ด้วย



หลังจากดูอนุสาวรีย์ซาดาโกะเสร็จการเดินเที่ยวในสวนสันติภาพนี้ก็จบลง เราใช้เวลาในนี้ประมาณ ๒ ชั่วโมง ค่อยๆดูข้อมูลต่างๆไป เราเดินจากที่นี่ไปด้วยอารมณ์หดหู่ตามบรรยากาศสถานที่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยได้ยินเรื่องราวของระเบิดปรมาณูมาแล้วตั้งไม่รู้กี่ครั้ง แต่พอได้มาเห็นสถานที่เกิดเหตุจริงแล้วก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ได้ความรู้อะไรมากขึ้นเยอะ จึงหลงเหลือความประทับใจไม่น้อยกับที่นี่



ที่หมายต่อไปที่จะไปต่อก็คือปราสาทฮิโรชิมะ ปราสาทโบราณที่ฟื้นฟูขึ้นมาหลังถูกทำลายโดยระเบิดปรมาณู ติดตามอ่านกันต่อได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130604





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฮิโรชิมะ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> ที่ระลึกภัยพิบัติ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文