φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



ทำความรู้จักกับภาษาไต้หวัน (ฮกเกี้ยน)
เขียนเมื่อ 2017/08/24 21:08
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
"คนไต้หวันใช้ภาษาอะไร" เป็นคำถามที่คนที่ยังไม่เคยไปไต้หวันมักจะถามบ่อยๆ

คำถามนี้อาจตอบได้ ๒ แบบ

ถ้าพูดถึงภาษาที่ใช้เป็นหลักในชีวิตประจำวันก็คือ ภาษาจีนกลาง

แต่ถ้าพูดถึงภาษาท้องถิ่นซึ่งคนใช้เป็นภาษาแม่เป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่ก่อนก็คือภาษาที่เรียกว่า "ภาษาไต้หวัน"

ภาษาไต้หวันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจีนกลางแบบไต้หวัน แต่เป็นสำเนียงหนึ่งของฮกเกี้ยน อาจเรียกว่าเป็น "ฮกเกี้ยนแบบไต้หวัน"



ภาษาไต้หวันคืออะไร
"ภาษาไต้หวัน" นั้น หากเรียกให้ถูกต้องจริงๆก็อาจเรียกว่า "ภาษาหมิ่นหนานแบบไต้หวัน" (台湾闽南语)

ภาษาหมิ่นหนาน (หมิ่นหนานหยวี่ 閩南語 闽南语 หรือ หมิ่นหนานฮว่า 閩南話, 闽南话) เป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาตระกูลหมิ่น (閩語, 闽语) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในกลุ่มภาษาจีน มีไวยากรณ์และรากศัพท์เหมือนจีนกลาง แต่การออกเสียงและศัพท์ทั่วไปใช้ต่างกันมาก ไม่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่องได้

คำว่า "หมิ่น" (閩, 闽) เป็นชื่อเรียกอีกชื่อของมณฑลฝูเจี้ยน (福建省) ดังนั้นภาษาหมิ่นก็คือภาษาที่ใช้ในมณฑลฝูเจี้ยนเป็นหลัก ส่วนคำว่า "หนาน" (南) หมายถึงทิศใต้ ดังนั้น "ภาษาหมิ่นหนาน" จึงมีความหมายว่าภาษาที่ใช้ในตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน ดังนั้นบางทีก็ถูกแปลในภาษาไทยเป็น "หมิ่นใต้"

ในทำนองเดียวกัน ทางตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยนมีภาษาหมิ่นตง (閩東語, 闽东语) ทางเหนือมีภาษาหมินเป่ย์ (閩北語, 闽北语) เป็นต้น อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ใช้ภาษาเหล่านี้น้อยกว่าหมิ่นหนานมาก จึงไม่เป็นที่รู้จัก

ภาษาหมิ่นหนานบางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ฮกเกี้ยน" หรือในจีนกลางเรียกว่า "ฝูเจี้ยนฮว่า" (福建话)

คำว่า "ฮกเกี้ยน" กับ "ฝูเจี้ยน" คือคำเดียวกัน เพียงแต่ฝูเจี้ยนคืออ่านแบบจีนกลาง ฮกเกี้ยนคืออ่านแบบฮกเกี้ยนเอง

เพียงแต่จริงๆแล้วคำว่า "สำเนียงฮกเกี้ยน" หรือ "ฝูเจี้ยนฮว่า" นั้นใช้ในหมู่คนต่างชาติมากกว่า เช่นในภาษาไทย เวลาเราพูดว่า "สำเนียงฮกเกี้ยน" จะหมายถึงภาษาหมิ่นหนาน

ที่สิงคโปร์เองก็ใช้คำว่า "ฝูเจี้ยนฮว่า" เรียกภาษาหมิ่นหนาน แม้ว่าสิงคโปร์จะมีคนที่อพยพมาจากฝูโจวหรือผูเถียนซึ่งก็อยู่ในมณฑลฝูเจี้ยนเหมือนกัน แต่ภาษาฝูโจวกับผูเถียนไม่ถูกเรียกว่าฝูเจี้ยนฮว่าด้วย แต่จะเรียกว่า "ฝูโจวฮว่า" (福州话) กับ "ผูเซียนฮว่า" (莆仙话) สองภาษานี้อยู่ในตระกูลภาษาหมิ่นเหมือนกัน แต่มีความต่างจากภาษาหมิ่นหนาน ไม่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่องได้

แต่ในจีน คำว่า "ฝูเจี้ยนฮว่า" ถือเป็นคำที่มีความคลุมเครือ บางครั้งอาจหมายถึงภาษาในตระกูลหมิ่นทุกสำเนียง หรือบางทีอาจหมายถึงทุกภาษาที่ใช้ในมณฑลฝูเจี้ยน ดังนั้นโดยทั่วไปจึงใช้คำว่า "ภาษาหมิ่นหนาน" (หมิ่นหนานหยวี่ หรือ หมิ่นหนานฮว่า) มากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากพูดในความหมายโดยกว้างแล้ว "หมิ่นหนาน" ไม่ได้หมายถึงแค่สำเนียงที่ถูกเรียกว่า "สำเนียงฮกเกี้ยน" เท่านั้น แต่ภาษาหมิ่นหนานมีความหลากหลาย มีหลายสำเนียง

สำเนียงแต้จิ๋วที่คนไทยคุ้นเคยเองก็จัดเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาหมิ่นหนาน แต่จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นสำเนียงฮกเกี้ยนไปด้วย

ภาษาหมิ่นหนานประกอบไปด้วยสำเนียงย่อยมากมาย เช่น
- สำเนียงเฉวียนจาง (泉漳)
- สำเนียงเฉาซ่าน (潮汕)
- สำเนียงต้าเถียน (大田)
- สำเนียงเจ๋อหนาน (浙南)
- สำเนียงจงซาน (中山)

ที่เรียกกันว่าสำเนียงฮกเกี้ยนนั้น ชื่อเรียกเป็นทางการจริงๆคือ "สำเนียงเฉวียนจาง" ซึ่งเป็นสำเนียงของหมิ่นหนานที่ใช้แพร่หลายที่สุด จึงถือว่าเป็นตัวแทนของภาษาหมิ่นหนานนี้

ชื่อ "เฉวียนจาง" มาจากชื่อ ๒ เมืองหลักที่ใช้สำเนียงนี้คือ เฉวียนโจว (泉州) และ จางโจว (漳州) ซึ่งอยู่ตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน

ส่วนสำเนียงสำเนียงเฉาซ่านก็คือสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง เฉาซ่านเป็นชื่อเรียกรวมระหว่างเฉาโจว (แต้จิ๋ว) และซ่านโถว (ซัวเถา)

เรื่องของแต้จิ๋วเคยเขียนถึงไปแล้วก่อนหน้า >>https://phyblas.hinaboshi.com/20120629

สำเนียงแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนเป็นภาษาเดียวกันจึงสื่อสารกันรู้เรื่อง แต่เนื่องจากการออกเสียงและคำศัพท์ที่ใช้ยังมีความต่างกันอยู่พอสมควรจึงมีความยากลำบากในการเข้าใจกัน

คนแต้จิ๋วกับคนฮกเกี้ยนจะคุยกันได้เข้าใจกันได้มากแค่ไหนนั้นก็ขึ้นกับคน แต่ละคนมีความเห็นไม่เหมือนกันเรื่องนี้ บางคนบอกว่ารู้เรื่องแค่นิดเดียว แต่บางคนบอกว่ารู้เรื่องได้เกินครึ่ง

ส่วนสำเนียงอื่นๆที่เหลือของภาษาหมิ่นหนานก็ใช้ในมณฑลฝูเจี้ยนและกวางตุ้งแถบนั้น แต่เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆซึ่งคนไทยไม่ค่อยรู้จัก ที่สำคัญจริงๆจึงมีแค่ ๒ กลุ่ม

นอกจากนี้ สำเนียงไหหลำที่ใช้ในเกาะไหหลำเองก็เคยถูกจัดว่าเป็นภาษาหมิ่นหนานเช่นกัน เพราะชาวไหหลำเดิมทีอพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง

เพียงแต่ว่าสำเนียงไหหลำนั้นเนื่องจากอยู่ไกลและตัดขาดจากบริเวณอื่นที่พูดภาษาหมิ่นหนาน จึงมีความแตกต่างที่มาก สื่อสารกันรู้เรื่องได้ลำบาก ปัจจุบันจึงไม่จัดเป็นภาษาหมิ่นหนาน แต่จัดเป็นอีกภาษาในตระกูลหมิ่น



ที่มาของสำเนียงฮกเกี้ยนในไต้หวัน
แต่เดิมแล้วสำเนียงฮกเกี้ยนถูกใช้ในเฉวียนโจว, จางโจว, เซี่ยเหมิน และเมืองอื่นๆในตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน

ในขณะที่เดิมทีเกาะไต้หวันไม่มีชาวจีนอาศัยอยู่ มีแต่ชนเผ่าพื้นเมืองเดิมซึ่งพูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (南島語系, 南岛语系) กลุ่มเดียวกับภาษามลายูและฟิลิปปินส์ ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆกับภาษาจีน

แต่ในช่วงศตวรรษที่ 17 ชาวจีนจำนวนมากได้เริ่มอพยพมายังเกาะไต้หวัน ประชากรส่วนใหญ่มาจากมณฑลฝูเจี้ยน โดยเฉพาะจางโจวและเฉวียนโจว ดังนั้นในไม่ช้าสำเนียงฮกเกี้ยนจึงกลายเป็นภาษาหลักของไต้หวัน

ความจริงแล้วประชากรที่อพยพมายังไต้หวันไม่ได้มีแค่คนที่พูดฮกเกี้ยน แต่ยังมีกลุ่มที่พูดภาษาจีนฮากกาอยู่ด้วย แต่มีจำนวนน้อยกว่ามาก และแพร่กระจายอยู่แค่บางจุด

อีกทั้งประชากรที่พูดฮากกาส่วนหนึ่งได้ถูกฮกเกี้ยนกลืนไป เปลี่ยนมาพูดฮกเกี้ยนแทน

ด้วยความที่สำเนียงฮกเกี้ยนเป็นภาษาหลักของไต้หวัน ทำให้ถูกเรียกว่า "ไถหยวี่" (台語, 台语) หรือ "ภาษาไต้หวัน" คำนี้ใช้เรียกสำเนียงฮกเกี้ยนที่พูดในไต้หวันเท่านั้น ชาวไต้หวันชอบเรียกภาษาของพวกเขาเองแบบนี้มากกว่าที่จะใช้คำว่า "หมิ่นหนานฮว่า" หรือ "ฝูเจี้ยนฮว่า"

อาจต้องระวังอย่าสับสนคำว่า "ไถหยวี่" กับ "ไท่หยวี่" (泰語, 泰语) ที่หมายถึงภาษาไทย แม้จะฟังดูคล้ายกันแต่ก็คนละวรรณยุกต์กัน

นี่คือสัดส่วนของประชากรที่พูดภาษาไต้หวันในไต้หวันแบ่งตามพื้นที่






ความแตกต่างระหว่างภาษาไต้หวันกับสำเนียงฮกเกี้ยนในจีนแผ่นดินใหญ่
เนื่องจากชาวจีนที่ย้ายมาไต้หวันเป็นคนเฉวียนโจวกับจางโจวซะมาก ดังนั้นสำเนียงฮกเกี้ยนในไต้หวันจึงมีความใกล้เคียงกับสองสำเนียงนี้เป็นหลัก

และความหลากหลายภายในเกาะไต้หวันเองก็ยังมี เพราะสำเนียงฮกเกี้ยนในเฉวียนโจวกับจางโจวเองก็มีความต่างกันอยู่แล้ว พอมาอยู่ด้วยกันก็เกิดการผสม ภาษาไต้หวันจึงมีความแตกต่างโดยขึ้นกับว่าพื้นที่ไหนได้รับอิทธิพลจากจางโจวหรือเฉวียนโจวมากแค่ไหน

นี่คือแผนที่แสดงการกระจายตัวของสำเนียง จะเห็นว่าปนกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ดังนั้นการจะบอกว่าแถบไหนใช้สำเนียงไหนจึงเป็นคำถามที่ตอบยาก



ส่วนสำเนียงฮกเกี้ยนในจีนแผ่นดินใหญ่มณฑลฝูเจี้ยนนั้นจะมีความหลากหลายยิ่งกว่า เนื่องจากพื้นที่การกระจายตัวค่อนข้างมากกว่า แต่สำเนียงที่ยึดเป็นมาตรฐานคือสำเนียงเซี่ยเหมิน

เซี่ยเหมินเป็นเมืองที่เพิ่งมาพัฒนาในช่วงศตวรรษที่ 19 จากการเปิดประเทศหลังสงครามฝิ่น โดยประชากรส่วนใหญ่ก็อพยพมาจากจางโจวและเฉวียนโจวเช่นเดียวกับไต้หวัน

ภาษาไต้หวันมีความใกล้เคียงกับฮกเกี้ยนมาตรฐานในเซี่ยเหมินมาก

อย่างไรก็ตามเนื่องจากความที่ภูมิประเทศปิดกั้น มีช่องแคบขวางอยู่ จึงมีความแปลกแยกเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นร้อยปี อีกทั้งช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันก็มีการรับอิทธิพลจากภาษาญี่ปุ่นมาอีกด้วย

ความแตกต่างนี้เป็นในเรื่องของคำศัพท์ซะมาก ส่วนการออกเสียงจะแทบไม่มีความแตกต่าง

ภาษาฮกเกี้ยนที่ใช้ในหมู่คนจีนโพ้นทะเลเช่นที่สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงในไทย ก็จะมีความต่างกันออกไปอีกเช่นกัน แต่โดยรวมแล้วก็ใช้คุยกันได้ แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง



จะไปไต้หวันต้องรู้ภาษาไต้หวันมั้ย?
นี่เป็นคำถามสำคัญ อาจตอบได้ในหลายแง่มุม แต่ถ้าให้ตอบสั้นๆสำหรับคนทั่วไปแล้วก็อาจจะตอบได้ว่าไม่

เหมือนถามว่าไปกวางตุ้งต้องรู้ภาษากวางตุ้งมั้ย ไปแต้จิ๋วต้องรู้สำเนียงแต้จิ๋วมั้ย ก็ตอบได้ว่าไม่เช่นกัน

ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และในไต้หวันปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะไปไหนขอแค่พูดจีนกลางได้ก็ไปได้ทุกที่ ทำได้ทุกอย่าง คนไทยที่อยู่ไต้หวันเท่าที่รู้จักก็ไม่มีใครพูดภาษาไต้หวันเป็นเลย ส่วนใหญ่ไม่คิดแม้แต่จะเรียนด้วยซ้ำ

คนไต้หวันเอง พวกเด็กๆรุ่นใหม่เริ่มจะพูดภาษาไต้หวันกันไม่ค่อยได้แล้ว ส่วนใหญ่จะฟังได้แต่ถ้าให้พูดก็พูดไม่ชัด เพราะไม่มีโอกาสพูด แม้แต่ที่บ้านก็พูดจีนกลาง

เพียงแต่ว่า จะบอกว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เวลาเดินไปตามท้องถนนจะเห็นคนแก่ๆคุยกันด้วยภาษาไต้หวันอยู่ประปราย บางคนก็คุยกันแบบสลับภาษาไปมากับจีนกลางก็มี ถ้าอยากรู้ว่าเขาคุยอะไรกันก็ต้องรู้ภาษาไต้หวัน

รายการโทรทัศน์บางส่วนพูดภาษาไต้หวัน การแสดงเชิงวัฒนธรรมเช่นงิ้วหรือหุ่นเชิดก็ใช้ภาษาไต้หวัน ถ้าฟังรู้เรื่องก็ช่วยเพิ่มอรรถรสได้ รวมถึงเพลงภาษาไต้หวันก็มีอยู่ไม่น้อย

เวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้า ตอนที่ประกาศชื่อสถานีถัดไป จะพูดสามภาษา เร่ิมจากจีนกลาง ตามด้วยไต้หวัน แล้วก็ปิดท้ายด้วยฮากกา

อีกทั้งมีคำศัพท์ภาษาไต้หวันบางคำปนอยู่ในจีนกลางที่คนไต้หวันใช้ ซึ่งคำพวกนี้คนจีนที่ไม่พูดฮกเกี้ยนอาจฟังไม่รู้เรื่อง เช่น "อาม่า" 阿嬤

ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องรู้ไว้บ้างว่าภาษาจีนกลางที่คนไต้หวันใช้มีคำไหนที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาไต้หวัน จะได้ไม่เผลอเอาไปใช้ที่อื่น

สรุปโดยรวมก็ถือว่าไม่มีความจำเป็นต้องเรียนจนถึงขั้นพูดได้ แต่ถ้าใครมีความสนใจ ชอบเรียนภาษาอยู่แล้ว ก็รู้ไว้บ้างสักหน่อยให้พอใช้ประโยชน์ได้ รู้ไว้ใช่ว่า

มีประโยชน์แน่นอน สำหรับการทำความเข้าใจเรื่องของไต้หวันอย่างลึกซึ้งจริงๆ

แต่ยังไงก็ตามที่สำคัญสุดก็คือจีนกลาง อย่างน้อยต้องให้คล่องก่อน เพราะง่ายกว่า ใช้ได้กว้างขวางกว่า และใช้เป็นพื้นฐานได้ หากมีเวลาเหลือค่อยมาเรียนภาษาไต้หวันจะดีกว่า



สถานะปัจจุบันของภาษาไต้หวันในไต้หวัน
ตั้งแต่คนจีนจากมณฑลฝูเจี้ยนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในไต้หวัน ภาษาไต้หวัน (ฮกเกี้ยน) ก็เป็นภาษาหลักของคนไต้หวันมาตลอดจนถึงศตวรรษที่ 19

แต่แนวคิดเรื่องการรวมภาษาให้แต่ละชาติใช้แต่ภาษากลางของชาตินั้นๆเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านั้นไม่ว่าท้องถิ่นไหนก็ใช้สำเนียงของตัวเองเป็นหลัก คนที่จะพูดภาษากลางได้เป็นแค่ส่วนน้อยที่ต้องไปๆมาๆตลอด

จีนเองก็เริ่มสนับสนุนให้ทุกคนใช้แต่ภาษาจีนกลางกันในช่วงนั้น เพื่อให้คนทั้งแผ่นดินสื่อสารกันรู้เรื่อง ภาษาจีนกลางใช้สำเนียงปักกิ่งเป็นมาตรฐานโดยปรับปรุงเพิ่มเติมให้ง่ายขึ้นและเป็นมาตรฐาน

แต่สำหรับเกาะไต้หวันนั้นเป็นกรณีพิเศษกว่า เพราะตั้งแต่ปี 1895 ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ทำให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษากลางแทน

ภาษาไต้หวันยังเป็นที่ใช้ทั่วไปในหมู่คนที่มีเชื้อสายฮกเกี้ยน แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยจะใช้ภาษาของตัวเอง ภาษาที่ใช้เป็นตัวเชื่อมจึงเป็นภาษาญี่ปุ่น

พอถึงปี 1945 ญี่ปุ่นแพ้สงครามและคืนเกาะไต้หวันให้จีน ตอนนั้นแรกๆคนไต้หวันใช้ภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไต้หวันกันเป็นหลัก แต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนภาษาจีนกลางในไต้หวันทันที

แม้ในปี 1949 ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนสูญเสียแผ่นดินใหญ่ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แล้วเหลือพื้นที่ปกครองอยู่แค่ไต้หวัน รัฐบาลก็ยังคงสนับสนุนภาษาจีนกลางต่อไป

แม้ประชากรส่วนใหญ่เดิมทีจะใช้ภาษาไต้หวัน แต่มีประชากรจำนวนมากอพยพหนีตายมาจากแผ่นดินใหญ่ รวมถึงตัวรัฐบาลเองก็ด้วย จำนวนรวมแล้วมากถึง ๒ ล้านกว่าคน พวกเขาพูดภาษาไต้หวันไม่ได้ ดังนั้นยังไงก็ต้องใช้จีนกลางเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

รัฐบาลมีนโยบายจำกัดการใช้ภาษาอื่นนอกจากจีนกลางในหลายสถานการณ์ ในโรงเรียนต้องใช้จีนกลาง เวลาประกาศอะไรต่างๆหรือรายการโทรทัศน์ สื่อต่างๆด้วย

ผ่านไปหลายสิบปี จีนกลางกลายเป็นภาษาที่แพร่หลายที่สุดในไต้หวัน ภาษาไต้หวัน รวมถึงภาษาฮากกาและภาษาของชนเผ่าดั้งเดิมก็ค่อยๆสูญหายไป

หลังๆมานี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูภาษาถิ่น แต่สิ่งที่สูญไปแล้วนั้นยากจะกลับคืนมา ความเคลื่อนไหวนี้แทบไม่เป็นผล

เด็กไต้หวันรุ่นนี้ส่วนใหญ่ยังฟังภาษาไต้หวันรู้เรื่องได้ แต่ให้พูดเองก็ไม่อาจพูดได้ชัด เพราะไม่ได้พูดเองตั้งแต่เด็ก ได้แต่ฟังคนอื่นพูดมากกว่า จึงไม่ถือว่าเป็นเจ้าของภาษา ใช้แต่จีนกลางเป็นหลัก

มีคนคาดการณ์ว่าภาษาไต้หวันอาจจะสูญหายไปในศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกับสำเนียงหรือภาษาท้องถิ่นอื่นๆในจีน อย่างช้าก็ต้นศตวรรษที่ 22 เหลือไว้เพียงภาษาจีนกลาง

เพียงแต่ว่าถ้าเทียบกับสำเนียงถิ่นอื่นๆในไต้หวันแล้ว ถือว่ามีอัตราการเหลือรอดเยอะกว่ามาก



ระบบการเขียน
ภาษาไต้หวันโดยทั่วไปใช้อักษรจีนในการเขียนเช่นเดียวกับจีนกลาง แต่ว่าเสียงอ่านของแต่ละตัวอักษรจะต่างกัน

แต่คำศัพท์ที่ใช้จะต่างไปจากจีนกลางมาก ศัพท์พื้นฐานหลายคำใช้ไม่เหมือนกันเลย แต่ศัพท์ทางการหรือศัพท์เทคนิคจึงจะค่อนข้างเหมือน

เพียงแต่ว่าภาษาไต้หวันมักไม่ถูกเขียนเป็นอักษรจริงๆ ใช้เป็นแค่ภาษาพูดมากกว่า บ่อยครั้งเวลาที่เขียนจะเป็นการเขียนด้วยคำที่เทียบเคียงกันได้ในจีนกลาง

อีกทั้งยังมีคำศัพท์หลายคำที่ไม่มีอักษรใช้อย่างเป็นทางการเพราะเป็นคำที่ไม่รู้รากศัพท์แน่นอน ใช้แค่ในท้องถิ่น

ยกตัวอย่าง

你佇遐咧創啥貨?
ลี้ตี่เฮียเละช่องเซี้ยห่วย?
แปลว่า "คุณกำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้น"

ประโยคนี้ใช้คำศัพท์ที่ต่างจากจีนกลางโดยสิ้นเชิง ต่อให้รู้จีนกลางก็อ่านไม่รู้เรื่องว่าหมายความว่ายังไง ต้องรู้ภาษาไต้หวันจึงจะอ่านเข้าใจได้

หากแปลเป็นจีนกลางจะเป็น 你在那裡做什麼? แบบนี้จึงจะเป็นที่เข้าใจทั่วกัน

กรณีแบบนี้บ่อยครั้งจึงพบว่าเวลาเขียนเขาก็จะเขียนโดยใช้ศัพท์ของจีนกลางกัน แต่เวลาพูดจะเปลี่ยนไปใช้คำของภาษาไต้หวันที่เทียบเคียงกันแทน ทำให้เกิดการที่คำพูดกับสิ่งที่เขียนไม่ตรงกัน

แต่ต่อให้พยายามเขียนด้วยคำตามที่ใช้พูดจริงๆก็ยังมีมาตรฐานการเขียนที่ไม่แน่นอน ยังแล้วแต่คน ทำให้อาจต้องจำรูปแบบการเขียนหลายแบบ ไม่ได้ถูกตั้งมาตรฐานตายตัวอย่างจีนกลาง

อีกทั้งยังมีความยากตรงที่ว่าอักษรตัวหนึ่งอาจอ่านออกเสียงได้หลากหลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับคำ ซึ่งต่างจากจีนกลางที่อักษรแทบทั้งหมดอ่านได้แค่แบบเดียว มีบ้างแค่บางส่วนที่อ่านสองแบบขึ้นไป

ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่จะเขียนแสดงออกถึงเสียงอ่าน นี่เป็นเรื่องที่ไม่อาจใช้อักษรจีนทำได้ ต้องใช้อักษรอื่น อักษรที่แพร่หลายที่สุดก็คืออักษรโรมันซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป

ปัจจุบันถ้าเป็นจีนกลางจะใช้พินอิน (拼音) ในการเขียนเสียงอ่าน ส่วนฮกเกี้ยนเองก็มีอักษรที่ใช้แทนเสียงอ่านในลักษณะทำนองเดียวกัน

ระบบที่ใช้แพร่หลายที่สุดเรียกว่า ไป๋ฮว่าจื้อ (白話字, 白话字, อ่านตามแบบฮกเกี้ยนว่า "เป่อ่วยยี") มักถูกเขียนด้วยชื่อ Pe̍h-ōe-jī ซึ่งเป็นการเขียนคำว่า "เป่อ่วยยี" ตามระบบนี้

แต่ในไต้หวันมีการคิดระบบขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ไถหลัวพินอิน (台羅拼音, 台罗拼音) หรือเรียกย่อๆว่า ไถหลัว (台羅, 台罗)

ไป๋ฮว่าจื้อถูกคิดโดยหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกที่อยู่ในเซี่ยเหมิน ถูกใช้โดยทั่วไปมานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว

ส่วนไถหลัวเพิ่งถูกคิดมาเมื่อไม่นานในไต้หวัน เป็นฉบับปรับปรุงของไป๋ฮว่าจื้ออีกที ปัจจุบันใช้เป็นทางการแทนในไต้หวัน

ข้อดีของไป๋ฮว่าจื้อก็คือถูกใช้มานาน มีคนรู้จักมากกว่า แต่ข้อดีของไถหลัวก็คือ เขียนแล้วดูตรงกับเสียงในสำเนียงไต้หวันและสำเนียงมาตรฐานเซี่ยเหมินมากกว่า

ไม่ว่าจะระบบไหนก็ต่างกันไม่มาก แต่มีปัญหาอย่างหนึ่งที่พบได้ก็คือ ไม่มีความสอดคล้องกับพินอินที่ใช้ในจีนกลาง จึงชวนให้สับสนได้ สำหรับคนไม่ชิน

ในพินอินจีนกลางใช้อักษร b d g ในการออกเสียง ป ด ก ในขณะที่ p t k ใช้แทนเสียง พ ท ค นี่เป็นการออกเสียงที่ไม่ตรงกับความเคยชินของพวกเราแต่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ระบบถูกกำหนดให้ใช้แบบนี้กันเป็นปกติ

ในขณะที่ไถหลัวพินอินและไป๋ฮว่าจื้อล้วนใช้ p t k แทนเสียง ป ต ก และใช้ ph th kh แทน พ ท ค ซึ่งแบบนี้จะเหมือนที่ใช้ในภาษาไทย ในขณะเดียวกันภาษาไต้หวันมีเสียง บ อยู่ด้วย ดังนั้นตัว b จะใช้แทนเสียง บ จริงๆ ไม่ใช่ ป

นอกจากนี้มีการใช้อักษรจู้อิน (注音) ในการเขียนด้วย จู้อินเป็นระบบที่ใช้เขียนบอกเสียงอ่านในจีนกลาง ในไต้หวันใช้กันทั่วไป จึงได้มีการพัฒนามาใช้กับภาษาไต้หวันด้วย โดยเพิ่มอักษรเพื่อแทนเสียงที่ไม่มีในจีนกลางเข้าไป

อย่างไรก็ตาม วิธีการเขียนนี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากอักษรที่เพิ่มเข้ามาหลายตัวไม่ได้อยู่ในแป้นพิมพ์จึงพิมพ์ในคอมลำบาก



เรื่องของวรรณยุกต์
เช่นเดียวกับภาษาจีนถิ่นอื่นๆ ภาษาหมิ่นหนานก็มีวรรณยุกต์ แถมมีความซับซ้อนพอสมควร อีกทั้งหากนำหน้าคำอื่นเสียงวรรณยุกต์ก็ต้องมีการเปลี่ยน

เสียงวรรณยุกต์ในภาษาหมิ่นหนานมี ๘ เสียง เวลาเขียนพินอินจะแทนด้วยสัญลักษณ์บนสระ หรือจะใช้ตัวเลขก็ได้

ตารางนี้เทียบเสียงในสำเนียงเซี่ยเหมินและไต้หวันเป็นวรรณยุกต์ภาษาไทยคร่าวๆ

ใช้ตัวเลข ใช้สัญลักษณ์ เสียงอ่านพื้นฐาน เสียงอ่านเมื่อนำหน้า
a1 a อ๊า (เสียงเรียบ) อา
a2 á อ้า อ๊า (เสียงเรียบ)
a3 à อ่า อ้า
ak4 ak อัก (เสียงสามัญ) อั๊ก (เสียงเรียบ)
a5 â อ๋า อา
a6 ǎ อ้า อ๊า (เสียงเรียบ)
a7 ā อา อ่า
ak8 a̍k อั๊ก (เสียงเรียบ) อัก (เสียงสามัญ)

เสียงวรรณยุกต์อ่านได้ ๒ แบบ คือเมื่อเป็นคำโดดหรืออยู่พยางค์สุดท้ายจะอ่านแบบหนึ่ง แต่เมื่อนำหน้าขยายคำอื่นจะอ่านอีกแบบ แต่เครื่องหมายหรือเลขกำกับวรรณยุกต์จะไม่ได้เปลี่ยนตาม ดังนั้นจะเห็นว่าสัญลักษณ์เหมือนกันก็อ่านต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ตรงไหนของคำ

ในสำเนียงส่วนใหญ่ รวมทั้งสำเนียงเซี่ยเหมิน วรรณยุกต์ 2 กับ 6 โดนควบรวม ออกเสียงเหมือนกันโดยสมบูรณ์ ดังนั้นเรามักจะไม่เห็นเสียง 6 แล้ว

เกี่ยวกับเรื่องการอ่านออกเสียงนี้มีรายละเอียดเยอะทีเดียว จึงแยกเขียนไว้ให้อ่านต่อได้ในบทความนี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20170825

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ วิกิพีเดียมีภาษาหมิ่นหนานซึ่งใช้ไป๋ฮว่าจื้อในการเขียนอยู่ด้วยลองอ่านดูได้ https://zh-min-nan.wikipedia.org/wiki/Pe̍h-oē-jī



ชื่อสถานที่ที่เป็นภาษาไต้หวัน
ปัจจุบันชื่อสถานที่ส่วนใหญ่ในไต้หวันเวลาแปลเป็นภาษาต่างชาติจะใช้ทับศัพท์จากเสียงอ่านจีนกลางแทบทั้งหมด แต่ก็ยังมีบางชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาไต้หวันอยู่ ในที่นี้จะยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

ชื่อทับศัพท์ อักษรจีน เสียงอ่านจีนกลาง (พินอิน) เสียงอ่านไต้หวัน (ไถหลัว)
Keelung 基隆/雞籠(鸡笼) จีหลง jīlóng เกหลัง Ke-lâng
Kinmen 金門(金门) จินเหมิน jīnmén กิมหมึง Kim-mn̂g
Tamsui 淡水 ต้านสุ่ย dànshuǐ ตั่มจุ้ย Tām-tsuí
Tamkang 淡江 ต้านเจียง dànjiāng ตั่มกั๊ง Tām-kang

ชื่อเมืองจีหลงนั้นเดิมทีเขียนว่า 雞籠 (鸡笼) แต่เปลี่ยนมาใช้เป็น 基隆 ในตอนหลัง ซึ่งเสียงอ่านในจีนกลางจะเป็นจีหลงเหมือนกัน แต่ในภาษาไต้หวันจะอ่านไม่เหมือนกัน เวลาพูดภาษาไต้หวันจะยังยึดเสียงอ่านตาม 雞籠 อยู่



ตัวอย่างสำเนียงฮกเกี้ยน
ขอปิดท้ายด้วยตัวอย่างเล็กๆน้อยเพื่อให้ดูว่าภาษานี้เป็นยังไง

เมื่อครั้งที่ยานวอยเอเจอร์ 1 ของ NASA ได้ออกไปสำรวจอวกาศในปี 1977 ได้มีการบันทึกเสียงทักทายภาษาต่างๆไปด้วย มี ๕๕ ภาษา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีภาษาฮกเกี้ยน

ฟังกันได้ที่นี่ https://zh.wikipedia.org/wiki/File:Greetings_to_the_Universe_in_Amoy_(Min_dialect).oga

(อักษรจีน) 太空朋友,恁好!恁食飽未?有閒,就來阮遮坐喔。
(ไป๋ฮว่าจื้อ) Thài-khong pêng-iú, lín hó! Lín chia̍h-pá--boē? Ū-êng, tō-lâi gún-chia chē--o·h.
(ไถหลัว) Thài-khong pîng-iú, lín hó! Lín tsia̍h-pá--buē?Ū-îng, tō-lâi gún-tsia tsē--ooh.
(เสียงอ่าน) ไท่-คง ปิง-อิ้ว, ลิ้น-โฮ่! ลิ้น เจี่ย-ป้า บวย? อู่-อิ๋ง, โต่-ไล งุ้น-เจี๊ย เจ--เอาะ.
(แปลเป็นไทย) สหายธรณีโพ้น สวัสดี! พวกคุณกินอิ่มยัง? ว่างๆก็มาหาพวกเราที่นี่มานั่งกันนะ
(แปลเป็นจีนกลาง) 太空朋友,你們好!你們吃飽了嗎?有空時,就到我們這兒來坐一坐。



แยกเป็นตัวๆได้ดังนี้

อักษร ไถหลัว วรรณยุกต์ เสียงเดิม ผันเป็น ความหมาย
thài 3 ไถ่ ไท่   ฟัง
khong 1 ค้ง คง   ฟัง
 太空   thài-khong ไท่ค้ง อวกาศ ฟัง
pîng 5 ปิ๋ง ปิง   ฟัง
2 อิ้ว -   ฟัง
 朋友   pîng-iú เปียงอิ้ว เพื่อน ฟัง
lín 2 ลิ่น ลิ้น พวกคุณ ฟัง
2 โฮ่(เฮ่อ) - สบายดี ฟัง
tsia̍h 8 เจี๊ยะ เจี่ย กิน ฟัง
2 ป้า - อิ่ม ฟัง
buē 7 บวย - ยัง ฟัง
ū 7 อู อู่ มี ฟัง
îng 5 อิ๋ง - ว่าง ฟัง
7 โต โต่ ก็ ฟัง
lâi 5 ไหล ไล มา ฟัง
gún 2 งุ่น งุ้น พวกเรา
tsia 1 เจี๊ย - ที่นี่ ฟัง
tsē 7 เจ - นั่ง ฟัง
ooh 4 เอาะ - นะ

คำว่า 好 นั้นมีการออกเสียงทั้ง "โฮ่" หรือ "เฮ่อ" แล้วแต่สำเนียง คนไต้หวันส่วนใหญ่อ่าน "เฮ่อ" เยอะกว่า แต่ในแผ่นเสียงนี้อ่านเป็น "โฮ่"



ตัวอย่างประโยคพื้นฐานในชีวิตประจำวันลองอ่านดูที่นี่ https://phyblas.hinaboshi.com/20170826



อ้างอิง
https://www.moedict.tw
http://uegu.blogspot.tw/2015/01/blog-post_16.html
http://twblg.dict.edu.tw/holodict_new/compile1_3_9_3.jsp
https://www.zhihu.com/question/20845756
https://zh.wikipedia.org/wiki/台灣話
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽语
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语
https://zh.wikipedia.org/wiki/泉漳片
https://zh.wikipedia.org/wiki/潮州语
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语连续变调
https://zh.wikipedia.org/wiki/国语运动
https://zh.wikipedia.org/wiki/白话字
https://zh.wikipedia.org/wiki/台湾闽南语罗马字拼音方案
https://zh.wikipedia.org/wiki/台湾方音符号
https://zh.wikipedia.org/wiki/闽南语拼音对照表


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ภาษาศาสตร์ >> เรียนภาษา
-- ภาษาศาสตร์ >> ภาษาจีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文