φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



นั่งชิงกันเซงข้ามมาเที่ยวปราสาทโอกายามะ
เขียนเมื่อ 2013/02/03 00:12
แก้ไขล่าสุด 2024/03/09 05:51
#ศุกร์ 18 ม.ค. 2013

เข้าสู่วันที่สองของการเดินทางเที่ยวในญี่ปุ่น จากที่เล่าถึงไปว่าเมื่อคืนเดินทางมาถึงเกียวโตและเข้าพักที่หอเพื่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20130201

แล้วเมื่อคืนหิมะก็โปรยปรายตกลงมา พอตื่นมาตอนเช้าก็พบว่ามีหิมะกองอยู่ตามทางเต็มไปหมด น่าเสียดายที่ฟ้ายังไม่สว่างจึงเห็นไม่ชัด

เช้าตรู่หกโมงเช้า เราได้เดินออกมาที่ป้ายรถเมล์ซึ่งอยู่ใกล้กับหอพักมากที่สุด นั่นคือป้ายคิตะชิรากาวะเบตโตวโจว (北白川別当町) เพื่อนั่งไปยังสถานีรถไฟเกียวโต ที่นี่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟมากพอสมควร แม้เป็นตอนเช้าซึ่งรถไม่ติดก็ต้องใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จึงต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปขึ้นรถเมล์

ระหว่างทางเดินไปป้ายรถเมล์ เห็นหิมะปกคลุมอยู่ประปรายตามทาง



ที่ป้ายรถเมล์พบว่าหิมะกองทับถมบนเก้าอี้เต็มไปหมด



หลังจากรอสักพักรถเมล์รอบแรกก็มาเวลา 6:13 ตามเวลา แล้วรถเมล์ก็ไปถึงสถานีรถไฟเกียวโตเวลา 6:45 ตอนที่ไปถึงฟ้าเริ่มสว่างแล้ว



เรารีบเดินเข้าไปยังช่องตรวจตั๋ว และยื่นกระดาษใบหนึ่งให้คนตรวจตั๋วดู พอเขาเห็นกระดาษแผ่นนั้นเขาก็ให้เราผ่านเข้าไปยังชานชลาที่รอรถไฟได้ทันทีโดยไม่ต้องซื้อตั๋วใดๆ

กระดาษที่ว่านั่นคือ Kansai WIDE area pass ซึ่งเคยพูดถึงไปตอนที่เล่าถึงวันที่มาถึงสนามบิน https://phyblas.hinaboshi.com/20130118



บัตรนี้ราคา ๗๐๐๐ เยน มีอายุการใช้งาน ๔ วัน ระหว่าง ๔ วันนี้จะสามารถนั่งรถไฟของ JR ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้อย่างไม่จำกัดเที่ยวในอาณาเขตที่กำหนด ซึ่งก็คือบริเวณภูมิภาคคันไซ และยังรวมถึงส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกายามะ และจังหวัดฟุกุอิด้วย

สำหรับขอบเขตของบัตรนี้ ดูได้ที่ http://www.westjr.co.jp/global/en/travel-information/pass/kansai_wide

Kansai WIDE area pass นั้นต่างจาก Kaisai Thru pass ตรงที่ว่าเป็นแค่แผ่นกระดาษธรรมดา ไม่ได้เป็นบัตรที่มีแถบแม่เหล็กเอาไว้หยอดเครื่อง เวลาจะใช้ก็คือยื่นให้เจ้าหน้าที่ดูเขาก็จะให้เราผ่านเข้าสถานีไปได้โดยไม่ต้องหยอดตั๋วอะไรเข้าเครื่องเลย

ข้อดีเป็นอย่างยิ่งของบัตรนี้คือสามารถนั่งรถด่วนชนิดต่างๆรวมถึงรถไฟชิงกันเซงได้ด้วย เพียงแต่ว่าชิงกันเซงจำกัดให้นั่งได้แค่ในช่วงโอซากะถึงโอกายามะเท่านั้น

ดังนั้นแผนวันแรกที่ได้ใช้บัตรนี้ของเราก็คือ จะขอนั่งชิงกันเซงตั้งแต่แรกเลย โดยการนั่งไปเที่ยวเมืองโอกายามะ (岡山市)

แต่เนื่องจากแม้ว่าเกียวโตจะมีชิงกันเซงผ่านแต่บัตรนี้ไม่สามารถนั่งชิงกันเซงจากเกียวโตได้ จึงต้องได้แต่นั่งรถไฟธรรมดาไปเริ่มที่สถานีชินโอซากะ (新大阪) อย่างช่วยไม่ได้

ค่าโดยสารโดยชิงกันเซงจากชินโอซากะไปโอกายามะนั้นแพงถึง ๕๓๕๐ เยน! ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ Kansai WIDE area pass ซึ่งราคาเพียง ๗๐๐๐ เยน เดินทางไปกลับแค่นี้วันเดียวก็คุ้มสุดๆแล้ว

แต่พอจะขึ้นรถไฟไปชินโอซากะเรากลับทำผิดพลาดอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากเพิ่งมาญี่ปุ่นเป็นวันที่สองนั่งรถไฟครั้งแรกเมื่อวาน ยังไม่คุ้นเคยกับระบบดีพอ ก็เลยขึ้นรถไฟผิด เห็นมันเขียนว่าไปโอซากะเลยรีบวิ่งเข้าไปเลย มารู้เอาตอนหลังว่ารถไฟที่ขึ้นนั้นเป็นรถไฟธรรมดาไม่ใช่รถเร็ว

ปกติรถไฟที่นี่แบ่งออกเป็นรถธรรมดา (普通) กับรถเร็ว (快速) โดยรถธรรมดาคือรถที่จอดทุกสถานี ส่วนรถเร็วจะจอดเฉพาะสถานีหลักๆ ทำให้ความเร็วต่างกันมาก นอกจากนี้แล้วยังมีรถด่วนพิเศษ (特急) ซึ่งจะแทบไม่มีการจอดเลยนอกจากสถานีหลักสำคัญจริงๆ แต่มักจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มเป็นพิเศษ

การขึ้นผิดไปขึ้นรถธรรมดาทำให้จากที่ควรจะถึงชินโอซากะอย่างรวดเร็วยี่สิบกว่านาที กลายเป็นต้องนั่งยาวสี่สิบกว่านาที นี่คือความต่างระหว่างรถเร็วกับรถธรรมดา ดังนั้นไม่ควรขึ้นผิด


แม้จะเสียเวลาไปหน่อย แต่ก็มาถึงสถานีชินโอซากะจนได้ ขณะนั้นเวลาประมาณ 7:40



สถานีชินโอซากะนี้เป็นสถานีที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1964 พร้อมกับรถไฟชิงกันเซงสายแรกซึ่งเชื่อมโอซากะกับโตเกียว เพื่อเป็นสถานีชิงกันเซงของเมืองโอซากะโดยคำว่า ชิง* (新) แปลว่าใหม่ มักจะอยู่หน้าชื่อเมืองเพื่อหมายถึงเป็นสถานีของชิงกันเซงของเมืองนั้น เช่น ชินโควเบะ (新神戸) ก็คือสถานีชิงกันเซงของเมืองโควเบะ
(*คำว่า อาจอ่านว่า ชิง หรือ ชิน หรือ ชิม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านำหน้าชื่อเมืองอะไร รายละเอียดอ่านที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20130109)

แต่บางเมืองก็ใช้สถานีหลักของเมืองเป็นสถานีชิงกันเซงไปในตัว เช่นสถานีเกียวโต สถานีโอกายามะ (ไม่มีสถานีชิงเกียวโต ชินโอกายามะ)

สถานีชินโอซากะนี้ไม่ได้อยู่ย่านใจกลางเมือง แต่ห่างออกมาจากย่านอุเมดะซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโอซากะ (大阪駅) ซึ่งเป็นสถานีใจกลางเมืองมาประมาณ ๓ กิโลเมตร แต่ก็เป็นสถานีสำคัญมากเพราะเป็นสถานีของชิงกันเซง

จากนั้นเราก็รีบไปที่ท่าขึ้นรถไฟชิงกันเซง แล้วก็พบเรื่องที่ไม่คิดว่าจะได้มาเจอตั้งแต่แรก นั่นคือรถไฟแต่ละคันมาช้ากว่าเวลากำหนดเนื่องจากหิมะตก พอตรวจดูพยากรณ์ก็พบว่าตอนนั้นมีหิมะตกอยู่ในหลายบริเวณ แต่บริเวณโอซากะกลับไม่ตก แอบเสียดายอยู่ไม่น้อย

แม้โอซากะจะไม่มีหิมะตก แต่ผลกระทบก็ตามมาถึงเพราะระบบรถไฟนั้นเชื่อมต่อกันทั้งประเทศ ทำให้ตารางรถไฟวันนั้นทั้งวันรวนไปหมดอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของเราตลอดทั้งวัน

ซึ่งก็เลยทำให้รถไฟที่เราได้ขึ้นตอนนั้นกลับเป็นชิงกันเซงฮิการิ (新幹線ひかり) ซึ่งควรจะออกตอน 07:35 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เราจะมาถึงสถานีเสียอีก เพราะเรามาถึงชานชลาตอน 7:46 แต่เนื่องจากเวลาล่าช้าไปสิบกว่านาทีเลยเพิ่งมาถึงตอนที่เรามาที่ชานชลาพอดี

รถไฟชิงกันเซงที่วิ่งผ่านสถานีโอซากะนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ทั้งหมดเป็นชื่อที่เขียนด้วยฮิรากานะ ๓ ตัว ได้แค่ ฮิการิ (ひかり) โคดามะ (こだま) มิซึโฮะ (みずほ) ซากุระ (さくら) โนโซมิ (のぞみ)

โดยแต่ละชนิดก็ต่างกันตรงที่ความยาวของขบวนรถ พื้นที่ที่วิ่งผ่าน และจำนวนสถานีที่จอด ชนิดที่จอดน้อยสุดคือโนโซมิ จะไม่จอดที่ไหนเลยนอกจากสถานีสำคัญ ส่วนโคดามะจะจอดทุกสถานีที่ผ่านโดยไม่เว้นเลย ซึ่งจะค่อนข้างช้า

ยกตัวอย่างเช่นการเดินทางจากชินโอซากะไปโอกายามะ ถ้านั่งโนโซมิจะใช้เวลาแค่ ๔๕ นาทีก็ถึงแล้ว แต่ถ้านั่งโคดามะต้องใช้เวลาถึง ๗๑ นาที แม้ว่าค่าโดยสารจะเท่ากัน ดังนั้นไม่ว่ายังไงก็ควรเลือกขึ้นรถไฟให้เหมาะสมกับเป้าหมาย

เส้นทางของชิงกันเซงจากโอซากะไปโอกายามะนั้นต้องผ่าน จังหวัดเฮียวโงะ (兵庫県) ซึ่ง มีทั้งหมด ๔ สถานี คือสถานีชินโควเบะ (新神戸駅) สถานีนิชิอากาชิ (西明石駅) สถานีฮิเมจิ (姫路駅)
และสถานีไอโอย (相生駅)

ชิงกันเซงฮิการิที่เรานั่งคราวนี้จะไปจอดแค่ที่สถานีชินโควเบะและสถานีฮิเมจิ ก่อนที่จะถึงสถานีโอกายามะ แต่หากเป็นโนโซมิจะไม่จอดที่สถานีฮิเมจิ แต่ข้ามจากชินโควเบะไปโอกายามะเลย ซึ่งจะประหยัดเวลาได้มาก (แต่ก็มีโนโซมิบางคันจอดที่ฮิเมจิเหมือนกัน ซึ่งก็แล้วแต่เที่ยว)

แล้วฮิการิของเราก็ออกเดินทางไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นภาพทิวทัศน์เมืองระหว่างสถานีชิงโอซากะถึงสถานีชินโควเบะ




หลังจากผ่านสถานีชินโควเบะไปก็มาถึงสถานีฮิเมจิ เมืองฮิเมจิ (姫路市) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของจังหวัดเฮียวโงะ เพราะมีปราสาทฮิเมจิ (姫路城) ซึ่งเป็นปราสาทที่สวยงามที่สุดและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้แวะไปเลยตลอดเที่ยวนี้ ได้แค่จอดที่สถานีแล้วก็ผ่านไป



ตำแหน่งเมืองฮิเมจิแสดงเป็นสีชมพูเข้มในแผนที่ ส่วนสีม่วงทางขวาคือเมืองโควเบะ






แล้วก็มาถึงสถานีโอกายามะ




เมืองโอกายามะ (岡山市) เป็นเมืองหลักของจังหวัดโอกายามะ (岡山県) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของภูมิภาคจูโงกุ (中国地方) รองจากเมืองฮิโรชิมะ (広島市)

ตำแหน่งเมืองโอกายามะ สีม่วงเข้มในแผนที่




ที่เมืองโอกายามะนี้มีระบบรถรางซึ่งวิ่งผ่านบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งเราจำเป็นต้องนั่งเพื่อจะไปยังสถานที่เที่ยวเป้าหมายในวันนี้



รถรางโอกายามะ หรือเรียกย่อๆว่าโอกาเดง (岡電) ซึ่งย่อมาจากคำว่าโอกายามะเดงกิกิโดว (岡山電気軌道) แปลว่ารถรางไฟฟ้าโอกายามะ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1912 ปัจจุบันมีทั้งหมด ๑๖ สถานี

ในการเที่ยวครั้งนี้เราได้ซื้อบัตร ๑ วันไว้ใช้ด้วย ซึ่งราคา ๔๐๐ เยน สามารถขึ้นรถรางกี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดในวันนั้น เวลาขึ้นรถรางก็แค่ยื่นใบนี้ให้เขาดูตอนลงจากรถเท่านั้น



ด้านหลังบัตร มีแผนที่บอกด้วย



ที่จริงแล้วบัตรนี้ใช้ยังไงก็คุ้มยาก เพราะนั่งครั้งหนึ่งค่าโดยสารขั้นต่ำคือ ๑๐๐ เยนเท่านั้น ถ้าไม่ใช้นั่งถึง ๔ ครั้งก็จะไม่คุ้ม ซึ่งที่จริงเราใช้แค่สองครั้งไปกลับเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่ที่ซื้อเพราะอยากได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย

เป้าหมายที่มาเมืองโอกายามะในครั้งนี้มีอยู่อย่างเดียวคือไปชมปราสาทโอกายามะ (岡山城) ปราสาทโบราณชื่อดัง

บรรยากาศบนรถไฟ



ตอนลงจากรถเขาจะให้หยอดค่าโดยสารลงในตู้นี้ แต่ว่าเรามีบัตรอยู่ก็แค่แสดงให้เขาดูก็ลงจากรถได้เลย



เนื่องจากไหนๆก็ซื้อบัตรผ่านมาแล้ว ก็เลยลองนั่งเล่นไปลงสถานีที่ไม่ใช้เป้าหมายก่อนสักหน่อย จะได้ชมเมืองไปด้วย ตรงนี้เรามาลงที่สถานียูบิงเกียวกุมาเอะ (郵便局前駅) ซึ่งแปลว่าสถานีหน้าที่ทำการไปรษณีย์



แล้วก็เดินไปยังสถานีที่อยู่ใกล้ๆกันแต่อยู่คนละสาย คือสถานีเคนโจวโดริ (県庁通り駅) ระหว่างทางก็เดินชมบ้านเมืองไป




แล้วก็เดินถึงสถานีเคนโจวโดริ เรานั่งรถรางจากสถานีนี้เพื่อย้อนไปยังสถานีเป้าหมายจริงๆคือ สถานีชิโระชิตะ (城下駅) ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับปราสาทโอกายามะที่สุด



ถึงสถานีชิโระชิตะแล้ว ที่นี่ก็เป็นย่านใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงๆ



เดินต่อมาทางตะวันออกก็จะเจอแม่น้ำซึ่งทิวทัศน์สวยงามไม่น้อย




สะพานนี้หากข้ามไปจะไปถึงสวนโควรากุ (後楽園) เป็นสวนแบบญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้ จัดเป็นหนึ่งในสามสวนมีชื่อของญี่ปุ่น แต่ว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายในวันนี้จึงไม่ได้แวะไป



พอเดินเลียบริมน้ำมาเรื่อยๆก็เริ่มเห็นตัวปราสาทจากด้านนอก



ปราสาทโอกายามะ สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1346–1369 แต่ตัวหอหลักนั้นถูกสร้างในปี 1597

ในวันที่ 29 มิถุนายน 1945 โอกายามะได้ถูกโจมตีอย่างหนักทางอากาศจากกองทัพสหรัฐฯ ทำให้หอหลักและอีกหลายๆส่วนของปรสาทถูกทำลายลง

หอหลักของปราสาทโอกายามะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1966 พร้อมทั้งประตูและสิ่งก่อสร้างส่วนอื่นๆด้วย ตัวหอหลักที่ถูกสร้างใหม่นี้ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กโดยให้ภายนอกมีรูปร่างเหมือนเดิม

ปราสาทโอกายามะยังมีชื่อเรียกอื่นๆเช่น ปราสาทอีกา (烏城, อุโจว) เนื่องจากมีสีดำ ซึ่งตรงข้ามกับปราสาทฮิเมจิซึ่งมีสีขาวซึ่งถูกเรียกว่าเป็นปราสาทนกกระสาขาว

ประตูทางเข้าด้านข้างนี้มีชื่อว่าโรวกะมง (廊下門) ก็เป็นประตูที่ถูกทำลายแล้วสร้างขึ้นใหม่พร้อมกับหอหลัก



เมื่อเข้ามาแล้วปีนขึ้นบันไดเพียงเล็กน้อยก็จะมาโผล่ที่ด้านข้างของหอหลักปราสาทโอกายามะ



ภาพตรงๆจากด้านหน้าหอหลัก



เห็นกลุ่มเด็กๆเขามาทำอะไรกันอยู่หน้าปราสาทด้วย



แล้วเราก็เข้าไปในปราสาท โดยต้องเสียค่าเข้าคือ ๓๐๐ เยน ด้านในเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่สามารถถ่ายรูปได้ก็เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ชม



แต่ว่าชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิว สามารถถ่ายรูปภายนอกได้ ซึ่งก็ได้เห็นทิวทัศน์ตัวเมืองรอบๆสวยทีเดียว




และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของปราสาทนี้ก็คือปลาชาจิสีทองซึ่งติดอยู่ที่ยอดหลังคาปราสาทแต่ละชั้น



ปลาชาจิ (鯱) เป็นสัตว์ในตำนานของญี่ปุ่น มีรูปร่างเป็นปลาคาร์ฟที่มีหัวเป็นเสือ มักจะถูกใช้ประดับตามหลังคาสิ่งก่อสร้างเพราะเชื่อว่าจะช่วยพ่นน้ำมาดับไฟให้เวลาเกิดอัคคีภัย

ปราสาทโบราณของญี่ปุ่นหลายแห่งก็มีการประดับปลาชาจิไว้ ส่วนปราสาทที่ใช้ปลาชาจิสีทองและมีชื่อเสียงยังมีอีกแห่งคือที่ปราสาทนาโงยะ (名古屋城)

การที่ปราสาทนี้ประดับไปด้วยปลาชาจิสีทองหลายตัวก็ทำให้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปราสาทอีกาทอง (金烏城, คินอุโจว)

ขากลับออกทางประตู อากาซึโนะมง (不明門) ซึ่งเป็นประตูด้านหน้าปราสาท ประตูนี้ก็เป็นประตูที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่พร้อมกับตัวหอหลักเช่นกัน



แต่สุดท้ายก็ต้องอ้อมไปกลับทางฝั่งริมแม่น้ำซึ่งอยู่ด้านหลังปราสาทอยู่ดี

แล้วเราก็นั่งรถรางกลับมาที่สถานีรถไฟ



หน้าสถานีมีนกพิราบอยู่เต็มไปหมดเลย เห็นสองคนนี้เขานั่งถ่ายรูปกัน พอฟังที่เขาพูดจึงรู้ว่าเขาเป็นคนจีน คงจะมาเที่ยวเช่นกัน



ก่อนกลับแวะกินข้าวที่ร้านข้างๆสถานีรถไฟ ข้าวหน้าปลาแซลมอนราคา ๓๖๐ เยน ถ้าเทียบกับที่ไทยแล้วถือว่าราคาต่างกันไม่มากเลย แถมอร่อยมากด้วย มากินแบบนี้คุ้มทีเดียว (ผิดกับมื้อเมื่อคืนที่ทานทงคัตสึราคา ๑๑๓๐ เยน)



เมื่อกินเสร็จก็กลับเข้าสถานีรถไฟเพื่อออกเดินทางกลับไปเที่ยวในจังหวัดเฮียวโงะ ซึ่งเราต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิดด้วย ติดตามอ่านต่อกันได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130205



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> โอกายามะ
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ