φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



หลักการเขียนทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่น (ฉบับเก่า เลิกใช้แล้ว)
เขียนเมื่อ 2013/01/09 16:11
แก้ไขล่าสุด 2023/03/31 09:15
[2023/3/30] หน้านี้เป็นบทความเก่า ล้าสมัย เลิกใช้แล้ว สำหรับหลักการเขียนทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในตอนนี้ให้อ่านที่หน้า https://phyblas.hinaboshi.com/lakthapsap_nihongo









------------------------

หลักการเขียนทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เขียนในหน้านี้เป็นหลักที่คิดขึ้นมาเอง และใช้เองมาตลอดเวลาจะเขียนคำภาษาญี่ปุ่นเป็นการเรียบเรียงหลักการการเขียนไว้ใช้เอง แต่ก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจภาษาญี่ปุ่นด้วยก็เลยเอามาลงไว้ในนี้

หลักนี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวในการเขียนเท่านั้น ดังนั้นคนอื่นอาจจะไม่ได้เขียนแบบนี้ก็เป็นได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นหลักการเขียนที่ดูจะลงตัวที่สุดเท่าที่จะคิดได้ในตอนนี้

อนึ่งต้องเท้าความก่อนว่าที่จริงแล้วหลักการเขียนทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตนั้นมีอยู่แล้ว ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535

แต่ว่าในการเขียนโดยทั่วไปแทบไม่มีใครใช้หลักการนี้เลย เพราะค่อนข้างขัดต่อความนิยมที่คนส่วนใหญ่ใช้กันพอสมควร เมื่อเขียนแล้วจึงดูขัดๆ กลายเป็นหลักที่ตั้งขึ้นมาแล้วไม่ถูกใช้จริง ยกเว้นบางที่เช่นในวิกิพีเดีย

ดังนั้นจึงต้องคิดหลักของตัวเองขึ้นมา เป็นหลักที่เขียนตามความนิยมในขณะที่ทำให้มีมาตรฐานที่แน่นอนด้วย

*** แก้ไขเพิ่มเติม 16 ต.ค. 2018
ราชบัณฑิตเพิ่งกำหนดหลักการทับศัพท์แบบใหม่ซึ่งตรงกับความนิยมของผู้คนมากขึ้น และมีความคล้ายกับหลักการที่เขียนในนี้มาก อย่างไรก็ตามยังมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายส่วน

รายละเอียดดูในวิกิพีเดีย >> http://th.wikipedia.org/wiki/การเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่น

ที่จริงแล้วไม่มีหลักการเขียนไหนที่ดีที่สุดไปทั้งหมด มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป และแต่ละคนคิดก็คงจะต่างกันออกไปด้วย

หลักนี้เขียนมาก็เพื่อให้ตัวเองใช้เวลาเขียนอะไรต่างๆเท่านั้น แต่ถ้าจะมีใครนำหลักที่เขียนในหน้านี้ไปใช้ก็จะยินดีมาก ต่อให้ไม่นำไปทั้งหมดก็ตาม

ที่ต้องคิดหลักขึ้นมาเพราะเวลาเขียนจะได้เขียนเหมือนเดิมตลอด ไม่งั้นคงจะมั่วแย่ คนที่มีโอกาสเขียนอะไรบ่อยๆควรจะกำหนดมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา ข้อความทั้งหมดที่เขียนในบล็อกนี้ส่วนใหญ่ก็ใช้หลักนี้

สำหรับหลักที่ใช้นี้ ตั้งขึ้นมาโดยเน้นว่า
- เขียนให้ใกล้เคียงเสียงจริงๆที่สุด
- ทำให้แยกความแตกต่างระหว่างเสียงคนละเสียงกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ไม่ให้ต่างจากที่คนทั่วไปนิยมเขียนกันมากจนดูแล้วขัด
- ทำให้ความเป็นสองมาตรฐานมีน้อยที่สุด คือคำที่มีลักษณะเดียวกันก็ควรจะเขียนด้วยหลักแบบเดียวกัน
- ไม่ทำลายหลักการเขียนภาษาไทยโดยทั่วไป



หลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่น

เสียงสระ

- สระเดี่ยว
สระเดี่ยวในภาษาญี่ปุ่นมีทั้งหมด ๕ สระ คือ あいうえお (a i u e o)

อักษร โรมาจิ IPA ทับศัพท์เป็นไทย
a /a/ อะ, อา
i /i/ อิ
u /ɯ/ อุ, อึ
e /e/ เอะ, เอ
o /o/ โอะ, โอ


あ (a) = อะ, อา
* เขียนเป็นสระอา ยกเว้นเมื่อเป็นพยางค์สุดท้ายของคำเขียนเป็นสระเอะ นอกจากนี้ถ้าตามด้วยตัวสะกดก็จะเขียนเป็นสระอะ (อั) เช่น あん (an) เขียนว่า "อัง"
# เช่น
かながわ (kanagawa) = คานางาวะ
たかまがはら (takamagahara) = ทากามางาฮาระ

い (i) = อิ
* เขียนเป็นสระอิตลอดไม่มีข้อยกเว้น
# เช่น
にっき (nikki) = นิกกิ
いみ (imi) = อิมิ
ひびき (hibiki) = ฮิบิกิ

う (u) = อุ, อึ
* เขียนเป็นสระอุตลอด ยกเว้น す (su) , ず (zu) , つ (tsu) เขียนเป็นสระอึ เขียนเป็น สึ, ซึ, ทสึ
* สาเหตุเนื่องจากความนิยมในการเขียน ความจริงเสียงแถว う (u) นั้นใกล้เคียงสระอึมากกว่าสระอุ แต่ไม่ค่อยมีใครนิยมเขียนเป็นสระอึ นอกจากจากสามตัวนี้
# เช่น
くず (kuzu) = คุซึ
する (suru) = สึรุ
ぶつ (butsu) = บุตสึ

え (e) = เอะ, เอ
* เขียนเป็นสระเอ ยกเว้นเมื่อเป็นพยางค์สุดท้ายของคำเขียนเป็นสระเอะ
# เช่น
けねん (kenen) = เคเนง
せめ (seme) = เซเมะ
れんげ (renge) = เรงเงะ

お (o) = โอะ, โอ
* เขียน เป็นสระโอ ยกเว้นเมื่อเป็นพยางค์สุดท้ายของคำเขียนเป็นสระโอะ นอกจากนี้ถ้าตามด้วยตัวสะกดก็เขียนเป็นสระโอะ (ไม่มีรูปสระ) เช่นกัน เช่น おん (on) เขียนว่า "อง"
# เช่น
ところ (tokoro) = โทโกโระ
おんど (ondo) = อนโดะ
ろくおん (rokuon) = โรกุอง


- เมื่อสระมาผสมกัน
ภาษาญี่ปุ่นโดยพื้นฐานแล้วไม่มีสระประสม แต่เมื่อนำสระสองตัวมาต่อกันแล้วอาจเกิดเป็นเสียงยาว

อักษร โรมาจิ IPA ทับศัพท์เป็นไทย
ああ aa /aː/ อา
いい ii /iː/ อี, อิอิ
うう uu /ɯː/ อู, อือ
えい ei /eː/ เอย์
ええ ee /eː/ เอ
おう ou /oː/ โอว
おお oo /oː/ โอ

นอกจากนี้ พวกคู่สระที่มี い (i) เป็นตัวหลังเวลาเขียนในภาษาไทยมักนิยมเขียนเป็นสระประสม หรือตัวสะกด "ย" จึงอนุโลมเขียนได้ทั้งแบบสระผสมและแบบแยกสระ แล้วแต่กรณี ได้แก่

อักษร โรมาจิ IPA ทับศัพท์เป็นไทย
あい ai /ai/ ไอ, อาอิ
うい ui /ɯi/ อุย, อึย, อุอิ, อึอิ
おい oi /oi/ โอย, โออิ


ああ (aa) = อา
# เช่น
おかあさん (okaasan) = โอกาซัง
らあめん (raamen) = ราเมง

あい (ai) = ไอ
# เช่น
さいかい (saikai) = ไซไก
あいまい (aimai) = ไอไม
* กรณีมาจากคันจิคนละตัว หรือตามด้วย つ (tsu) อาจเขียนแยกเป็น "อาอิ"
# เช่น
坂井 = さかい (sakai) =  ซากาอิ
狭い = せまい (semai) = เซมาอิ
あいつ (aitsu) = อาอิตสึ

いい (ii) = อี
# เช่น
おいしい (oishii) = โออิชี
にいがた (niigata) = นีงาตะ
* กรณีมาจากคันจิคนละตัว อาจเขียนแยกเป็น "อิอิ"
# เช่น
上井草 = かみいぐさ (kamiigusa) = คามิอิงุสะ
鳥居 = とりい (torii) = โทริอิ

うい (ui) = อุย, อึย
* เขียนเป็นสระอุย ยกเว้น すい (sui)、ずい (zui)、つい (tsui) เขียนเป็น ซึย, ซึย, ทซึย
# เช่น
たぐい (tagui) = ทางุย
ふんすい (funsui) =ฟุนซึย
ずいぶん (zuibun) = ซึยบุง
* กรณีมาจากคันจิคนละตัว หรือตามด้วย つ (tsu) อาจเขียนแยกเป็น "อุอิ"
# เช่น
福井 = ふくい (fukui) = ฟุกุอิ
寒い = さむい (samui) = ซามุอิ

うう (uu) = อู, อือ
* เขียนเป็นสระอู ยกเว้น すう (suu)、ずう (zuu)、つう (tsuu) เขียนเป็น ซือ, ซือ, ทซือ
# เช่น
ゆうずう (yuuzuu) = ยูซือ
くうちゅう (kuuchuu) = คูจู
つうしん (tsuushin) = ทซือชิง

えい (ei) = เอย์
# เช่น
めいれい (meirei) = เมย์เรย์
えいせい (eisei) = เอย์เซย์

ええ (ee) = เอ
* ที่จริง えい กับ ええ อ่านออกเสียงเหมือนกันเป็นเสียงสระเอยาว แต่เนื่องจากความนิยมในการเขียนทำให้การเขียนต่างกัน
# เช่น
おねえさん (oneesan) = โอเนซัง
てめえ (temee) = เทเม

おい (oi)  = โอย
# เช่น
おいら (oira) = โอยระ
こいしい (koishii) = โคยชี
* กรณีมาจากคันจิคนละตัว หรือตามด้วย つ (tsu) อาจเขียนแยกเป็น "โออิ"
# เช่น
青い = あおい (aoi) = อาโออิ
迷い = まよい (mayoi) = มาโยอิ
こいつ (koitsu) = โคอิตสึ

おう (ou) = โอว
# เช่น
ほうおう (houou) = โฮวโอว
こうぼう (koubou) = โควโบว

おお (oo) = โอ
* ที่จริง おう (ou) กับ おお (oo) อ่านออกเสียงเหมือนกันเป็นเสียงสระโอยาว แต่เนื่องจากความนิยมในการเขียนทำให้การเขียนต่างกัน
# เช่น
ほのお (honoo) = โฮโน
おおきい (ookii) = โอกี

คู่สระที่ไม่ได้เขียนในนี้ทั้งหมดคือให้อ่านแยกตลอด เช่น いあ (ia) เขียนว่า "อิอะ", いう (iu) เขียนว่า "อิอุ"
# เช่น
ちあき (chiaki) = จิอากิ
みうら (miura) = มิอุระ
であう (deau) = เดอาอุ
ねおき (neoki) = เนโอกิ
おおあめ (ooame) = โออาเมะ
いおり (iori) = อิโอริ
こえ (koe) = โคเอะ
かお (kao) = คาโอะ


- สระควบ
คือคำในแถว い ที่มี ゃゅょ (ตัวเล็ก) ตามไว้ข้างหลัก

อักษร โรมาจิ IPA ทับศัพท์เป็นไทย
きゃ kya /kʲa/ เคีย
きゅ kyu /kʲɯ/ คิว
きゅう kyuu /kʲɯː/ คิว
きょ kyo /kʲo/ เคียว
きょう kyou /kʲoː/ เคียว

ในตารางนี้ใช้เสียง き (k) เป็นตัวแทน แต่เมื่อใช้กับ ぎにひびぴみり (gi ni hi bi pi mi ri) ก็จะเขียนในลักษณะเดียวกัน

きゃ (kya) = เคีย
# เช่น
みゃく (myaku) = เมียกุ
ひゃくまん (hyakuman) = เฮียกุมัง
しょうりゃく (shouryaku) = โชวเรียกุ

きゅう (kyuu) = คิว
# เช่น
りゅうきゅう (ryuukyuu) = ริวกิว
ぎゅうにゅう (gyuunyuu) = กิวนิว

きょ (kyo) = เคียว
# เช่น
きょく (kyoku) = เคียวกุ
まりょく (maryoku) = มาเรียวกุ
きょん (kyon) = เคียวน์

きょう (kyou) = เคียว
* ที่จริง きょ (kyo) กับ きょう (kyou) ออกเสียงต่างกันที่เสียงสั้นกับเสียงยาว แต่เวลาเขียนในภาษาไทยไม่สามารถเขียนให้ต่างได้จึงต้องยอมให้เหมือนกัน
# เช่น
ひょう (hyou) = เฮียว
きょうりょく (kyouryoku) = เคียวเรียวกุ


สำหรับกรณีที่ ゃゅょ ตามหลัง し,ち,じ จะไม่ได้ทำให้เกิดเสียงควบ แต่จะทำให้กลายเป็นสระใหม่ไป
# เช่น
じょじょ (jojo) = โจโจะ
しょくしゅ (shokushu) = โชกุชุ
ちゃくち (chakuchi) = จากุจิ
しゅんじゅん (shunjun) = ชุนจุง



เสียงพยัญชนะ

ในภาษาญี่ปุ่นมีแถวพยัญชนะทั้งหมด ๑๐ แถว แต่ถ้ารวมตัวที่เติม ゛ และ ゜ ด้วยก็จะเป็น ๑๕ ได้แก่ あかがさざただなはばぱまやらわ (a ka ga sa za ta da na ha ba pa ma ya ra wa)

นอกจากนี้ยังมีเสียงพยัญชนะที่เพิ่มพิเศษมาจากในแถวอีก ๔ เสียง นั่นคือ しじちつふ (shi ji chi tsu fu) รวมทั้งหมดเป็น ๒๐ เสียง

นอกจากนี้ยังมีเสียง ひ (hi) ซึ่งไม่ได้อ่านออกเสียงเป็น "ฮ" เหมือนอย่าง はへほ (ha he ho) แต่ในภาษาไทยไม่สามารถแยกเสียงนี้ได้ จึงเขียนเป็น "ฮ" เหมือนกันหมด

และ เสียง に (ni) ซึ่งก็ไม่ได้อ่านออกเสียงเป็น "น" เหมือนอย่าง なぬねの (na nu ne no) แต่ในภาษาไทยไม่สามารถแยกเสียงนี้ได้จึงเขียนเป็น "น" เหมือนกันหมด

ぢ (ji) นั้นออกเสียงเหมือนกับ じ (ji) และ づ (zu) ออกเสียงเหมือนกับ ず (zu) ดังนั้นไม่ได้แยกเอาไว้ ให้ถือว่าเขียนเหมือนกันหมด

เสียงอ่านพยัญชนะทั้งหมดสรุปเป็นตารางได้ดังนี้

อักษร โรมาจิ IPA ทับศัพท์เป็นไทย
あ い う え お を -  -
か き く け こ k /k/ ค, ก
が ぎ ぐ げ ご g /g/, /ŋ/ ก, ง *
さ す せ そ s /s/ ซ, ส
ざ ず ぜ ぞ づ z /ʣ/, /z/ *
sh /ɕ/ *
じ ぢ j /ʥ/, /ʑ/ *
た て と t /t/ ท, ต
だ で ど d /d/
ch /ʨ/
ts /ʦ/ ทส, ตส, ทซ, ตซ
な ぬ ね の n /n/
n /ɲ/ *
は へ ほ h /h/
ば び ぶ べ ぼ ゔ b /b/
ぱ ぴ ぷ ぺ ぽ p /p/
h /ç/ *
f /ɸ/ *
ま み む め も m /m/
や ゆ よ y /j/
ら り る れ ろ r /ɾ/ *
w /ɰ/

ส่วนที่มีดอกจัน * อยู่ท้ายคือเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย แค่เทียบเคียงเสียงที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น

あ (a) = อ
か (ka) = ค, ก
* เมื่ออยู่พยางค์ต้นคำเขียนเป็น "ค" นอกนั้นเขียนเป็น "ก"
# เช่น
こころ (kokoro) = โคโกโระ

が (ga) = ก, ง
* เมื่ออยู่พยางค์ต้นคำจะออกเสียงคล้าย "ก" จึงเขียนเป็น "ก" ส่วนกรณีนอกนั้นจะออกเป็นเสียง "ง" ให้เขียนเป็น "ง"
* เสียง か (ka) กับ が (ga) นั้นบางคนเขียนแบบสองมาตรฐานจึงทำให้สับสนง่ายมาก บางคนเขียน が (ga) เป็น "ก" แม้จะอยู่พยางค์หลัง ซึ่งจะทำให้สับสนกับ か (ka) ดังนั้นจึงควรเขียนเป็น "ง" ทั้งหมด
# เช่น
ごご (gogo) = โกโงะ
げっこん (gekkon) = เกกกง

รายละเอียดเรื่องนี้เขียนเอาไว้ในบทความนี้ >> g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่

さ (sa) = ซ, ส
* เมื่อเป็นเสียงสระสั้นเขียนเป็น "ส" เช่น สะ, สึ, เสะ, โสะ นอกนั้นเขียนเป็น "ซ"
# เช่น
せんせい (sensei) = เซนเซย์
さんそ (sanso) = ซันโสะ
すそ (suso) = สึโสะ
させつ (sasetsu) = ซาเซตสึ

ざ (za) = ซ
* ที่จริง さ (sa) กับ ざ (za) ออกเสียงต่างกัน แต่ในภาษาไทยไม่มีวิธีแยกจึงเขียนเป็น "ซ" เหมือนกัน ความแตกต่างจะเห็นเฉพาะในกรณีที่เขียนเป็นรูปเสียงสั้น เพราะ さ จะเขียนเป็น "ส"
# เช่น
すず (suzu) = สึซึ
ざせつ (zasetsu) = ซาเซตสึ
きぜつ (kizetsu) = คิเซตสึ

し (shi) = ช

じ (ji) = จ

た (ta) = ท, ต
* เมื่ออยู่พยางค์ต้นคำเขียนเป็น "ท" นอกนั้นเขียนเป็น "ต"
# เช่น
たたみ (tatami) = ทาตามิ

だ (da) = ด

ち (chi) = จ
* ที่จริง ち (chi) กับ じ (ji) ออกเสียงต่างกัน แต่ในภาษาไทยไม่มีวิธีแยกจึงเขียนเป็น "จ" เหมือนกัน
# เช่น
ちじん (chijin) = จิจิง

つ (tsu) = ทส, ตส, ทซ, ตซ
* เมื่ออยู่พยางค์ต้นคำเขียนเป็น "ทส" นอกนั้นเขียนเป็น "ตส" นอกจากนี้อักษรที่อยู่ด้านหน้า つ (tsu) ให้เขียนเป็นลักษณะเหมือนมีตัวสะกด
# เช่น
あつ (atsu) = อัตสึ
こつ (kotsu) = คตสึ

กรณีที่เป็นเสียงยาว (คือตามด้วย う (u)) ทซ, ตซ เช่น ふつう (futsuu) = ฟุตซือ, つうろ (tsuuro) = ทซือโระ

な (na) = น

は (ha) = ฮ

ば (ba) = บ

ぱ (pa) = ป

ふ (fu) = ฟ

ま (ma) = ม

や (ya) = ย

ら (ra) = ร

わ (wa) = ว


ตัวสะกด

- ん (n)
ん (n) เป็นตัวสะกดตัวเดียวในภาษาญี่ปุ่น แต่การออกเสียงนั้นค่อนข้างหลายขึ้นอยู่กับว่าตามหลังด้วยอะไร ดังนั้นการเขียนจึงต้องต่างกันออกไปด้วย

    นำหน้าพยัญชนะแถว あさざただなやら  (a sa za ta da na ya ra) เขียนเป็น "น"
    นำหน้าพยัญชนะแถว かがはわ (ka ga ha wa) เขียนเป็น "ง"
    นำหน้าพยัญชนะแถว ばぱま (ba pa ma) เขียนเป็น "ม"
    อยู่พยางค์ท้าย เขียนเป็น "ง"

# เช่น
しんかんせん (shinkansen) = ชิงกันเซง
けんげん (kengen) = เคงเงง
でんわ (denwa) = เดงวะ
まんねん (mannan) = มันเนง
ほんや (honya) = ฮนยะ
てんもん (tenmon) = เทมมง
ほんばん (honban) = ฮมบัง

- っ
っ เป็นอักษรที่ใช้เป็นเสียงตัวสะกดตามตัวหลัง เวลาเขียนก็เขียนเป็นตัวสะกดให้เหมือนกับอักษรที่อยู่ข้างหลัง
# เช่น
さっき (sakki) = ซักกิ
きっぷ (kippu) = คิปปุ
あっち (acchi) = อัจจิ
あさって (asatte) = อาซัตเตะ
こっせつ (kossetsu) = คสเซตสึ


ข้อควรเน้นเพิ่มเติม

1. ในภาษาญี่ปุ่นมีแค่ ๕ สระเท่านั้น
มีแค่เสียง う (u) ที่อยู่กึ่งระหว่างสระอุกับสระอึทำให้มีการเขียนสองแบบ ส่วนสระแถวอื่นนั้นเขียนได้แบบเดียว

ที่ผิดกันเยอะคือสระแถว お (o) ซึ่งคนมักจะเผลอเขียนเป็นสระออเมื่อมีตัวสะกดต่อท้ายตามความเคยชินจากภาษาอังกฤษ เช่น

おんせん (onsen) มักถูกเขียนเป็น "ออนเซน" ทั้งที่ควรเขียนเป็น "อนเซง"

ชื่อเกาะ ほんしゅう (honshuu) มักถูกเขียนเป็น "ฮอนชู" ทั้งที่ควรเขียนเป็น "ฮนชู"

นามสกุล ほんだ (honda) มักถูกเขียนเป็น "ฮอนดะ" ทั้งๆที่ควรเขียนเป็น "ฮนดะ" (กรณีที่พูดถึงบริษัทฮอนด้าก็ให้เขียนไปตามนี้เพราะเขามาจดทะเบียนใช้ชื่อนี้ในไทย กลายเป็นคำไทยไปแล้ว แต่ถ้าพูดถึงนามสกุลทั่วไปจะยังเขียนว่า "ฮนดะ")

นามสกุล こんどう (kondou) ก็ควรเขียนเป็น "คนโดว" ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ "คอนโด" ซึ่งย่อมาจากคอนโดมีเนียม ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษเลย


2. เวลาทับศัพท์ไม่ควรใส่วรรณยุกต์
เวลาอยู่ท้ายพยางค์บางคำคนนิยมใส่วรรณยุกต์ เช่น

ชื่อเมือง なごや (nagoya) มักถูกเขียนเป็น "นาโงย่า" ความจริงไม่ควรใช้วรรณยุกต์ เขียนแค่ "นาโงยะ" ก็พอแล้ว

ひろしま (hiroshima) ก็เป็น "ฮิโรชิมะ" ไม่ใช่ "ฮิโรชิม่า"

おおさか (oosaka) ก็เป็น "โอซากะ" ไม่ใช่ "โอซาก้า"

อนึ่ง การเขียนแบบนี้มักพบแค่ในชื่อบางชื่อที่ดังๆติดหู นอกนั้นไม่ค่อยพบการใส่วรรณยุกต์ แต่ถ้าใช้หลักนี้คือจะไม่มีการใส่วรรณยุกต์ ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ตาม

นั่นเพราะภาษาญี่ปุ่นไม่มีวรรณยุกต์ และวรรณยุกต์ที่ไปใส่ก็ไม่ใช่เสียงจริงๆที่เขาออกอีกด้วย เพราะภาษาญี่ปุ่นมักจะออกเสียงแบบเรียบๆมากกว่า ไม่ได้ขึ้นเสียงสูงแบบเสียงโทตอนท้ายพยางค์แบบนี้

เหตุผลที่ไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ อ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20121010


3. คำที่มี ん (n)
มักพบว่ามีการใช้กันหลายมาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะทำให้เขียนไม่เหมือนกันแล้วยังทำให้ออกเสียงผิดอีกด้วย ดังนั้นจึงควรเขียนตามเสียงที่ออก


4. การใช้ไม้ไต่คู่
คำในแถวสระ え (e) เวลาตามหลังด้วยตัวสะกด โดยทั่วไปบางคนจะเขียนโดยใส่ไม้ไต่คู่ด้วย ในขณะที่บางคนก็ไม่ใส่ อย่างไรก็ตามถ้ายึดตามหลักนี้แล้วก็คือไม่ว่าคำไหนก็ตามก็จะไม่มีการใส่ไม้ไต่คู้เลย
# เช่น せっけん (sekken) = เซกเกง


5. か (ka) และ が (ga)
เนื่อง จากสองเสียงนี้ต่างสามารถถูกเขียนด้วย "ก" จึงสับสนง่ายว่าเวลาเห็น "ก" จะหมายถึงเสียงไหน ถ้าใช้หลักนี้จะเป็นที่แน่นอนว่าถ้าเห็น "ก" อยู่พยางค์แรกจะเป็นเสียง が (ga) ถ้าอยู่พยางค์หลังจะเป็น か (ka)
# เช่น げっこう (gekkou) = เกกโกว


ข้อยกเว้นเล็กน้อย

ชื่ออะไรต่างๆที่ถูกเรียกกันมาจนเคยชินในภาษาไทยไปแล้วก็ยังคงเขียนแบบเดิม เช่น ชื่อเมือง とうきょう (toukyou) "โตเกียว" กับ きょうと (kyouto) "เกียวโต" ถ้าหากเขียนตามหลักก็ต้องเขียนเป็น "โทวเกียว" กับ "เคียวโตะ" ซึ่งจะดูแปลกๆเกินและไม่ชินจึงเรียกแบบเดิม


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文