φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



เดินทางไกลจากสนามบินคันไซสู่เกียวโต เดินเล่นที่ถนนย่านร้านค้าซันโจว
เขียนเมื่อ 2013/02/01 23:35
แก้ไขล่าสุด 2023/03/30 14:04
#พฤหัส 17 ม.ค. 2013

หลังจากที่กลับจากเที่ยววากายามะ https://phyblas.hinaboshi.com/20130130

เมื่อกลับมาถึงสนามบินคันไซแล้วก็รีบไปเอากระเป๋าที่ฝากไว้ในตู้ แล้วก็รีบออกเดินทางสู่หอพักของเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเกียวโต (京都大学) ซึ่งอยู่ในเมืองเกียวโตทันที คราวนี้เป็นการเดินทางบนรถไฟที่ยาวไกลและใช้เวลานานทีเดียว

ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในหน้าแรก https://phyblas.hinaboshi.com/20130118

ว่าโดยทั่วไปแล้วเส้นทางรถไฟในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสองชนิดหลักๆ คือรถไฟของ JR กับ ของบริษัทรถไฟเอกชนท้องถิ่น ซึ่งต่างก็สามารถนั่งจากสนามบินคันไซไปเข้าสู่เมืองหลักอย่างโอซากะหรือเกียวโตได้ทั้งนั้น

ซึ่งการเดินทางเที่ยวในวันนี้เราตัดสินใจใช้บัตร Kansai thru pass ซึ่งได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ตอนที่ไปเที่ยววากายามะแล้ว ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามาก

บัตรนี้ราคา ๕๐๐๐ เยน ใช้ได้ ๓ วัน โดยวันที่ใช้ไม่ต้องต่อเนื่องก็ได้ สามารถขึ้นรถไฟเอกชนท้องถิ่นที่ไม่ใช่ JR ในแถบคันไซได้เกือบทั้งหมด และยังนั่งพวกรถไฟฟ้าและรถเมล์บางแห่งได้ด้วย แต่ถ้าจะขึ้นพวกรถด่วนต้องเสียตังเพิ่ม




รายละเอียดของ Kansai thru pass http://www.surutto.com/tickets/kansai_thru_english.html

ข้อเสียของบัตรนี้คือไม่สามารถใช้นั่งรถไฟของ JR ได้ ซึ่งรถไฟของ JR มักจะอยู่ในเส้นทางที่เป็นสายหลักสำคัญกว่า จึงทำให้มีข้อจำกัดมากพอสมควรในการเดินทางข้ามเมืองเป็นระยะทางไกล


แต่ในขณะเดียวกันการใช้รถไฟของบริษัทเอกชนท้องถิ่นจะมีข้อได้เปรียบตรงที่มีจำนวนสถานีเยอะกว่า โดยรวมแล้วครอบคลุมบริเวณมากกว่า มีทางเลือกเยอะกว่า โดยเฉพาะถ้าเที่ยวในตัวเมืองโอซากะ หรือเกียวโต สามารถนั่งรถไฟใต้ดินได้ด้วย

นอกจากนี้บัตรนี้ยังใช้นั่งรถเมล์ได้ด้วย นี่เป็นข้อดีที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะรถเมล์สามารถไปได้ทุกที่ที่ต้องการมากยิ่งกว่ารถไฟ และการเที่ยวในวันนี้ของเราก็ได้นั่งรถเมล์ที่วากายามะไป ๓ ครั้ง และตอนไปถึงเกียวโตก็ยังไปใช้นั่งที่เกียวโตได้ด้วย จึงถือว่าคุ้มค่า

ดังนั้นทำให้วันนั้นเราเลือกที่จะใช้บัตร Kansai thru pass แม้ว่าจะทำให้การเดินทางสู่เกียวโตนั้นค่อนข้างยากกว่าใช้ JR west rail pass

สำหรับหนทางสู่โอซากะนั้นจะนั่ง JR หรือรถไฟเอกชนท้องถิ่น (ในที่นี้หมายถึงนังไก) ก็ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก มีทั้งรถไฟธรรมดาและรถด่วน สามารถถึงตัวเมืองโอกาซากะได้ด้วยเวลาพอๆกันคือราวๆไม่ถึงชั่วโมง

แต่สำหรับการเดินทางไปเกียวโตนั้น JR มีทางรถไฟต่อเนื่องจากสนามบินคันไซไปถึงสถานีเกียวโตโดยตรง หากนั่งรถด่วนพิเศษฮารุกะก็จะเดินทางรวดเดียวถึง ใช้เวลาราวๆ ๘๐ นาที

แต่สำหรับสายรถไฟเอกชนท้องถิ่นนั้น ไม่มีเส้นทางที่ต่อเนื่องยาวจากสนามบินไปถึงเกียวโต เพราะแต่ละท้องถิ่นก็ต้องใช้รถไฟของแต่ละบริษัทซึ่งต่างกันออกไป จึงต้องต่อรถหลายครั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้



เริ่มแรกเรานั่งรถไฟของนังไก (南海) ซึ่งรถไฟนี้มุ่งหน้าสู่ปลายทางที่สถานีนัมบะ (難波駅) ย่านใจกลางเมืองโอซากะ



ก่อนหน้านี้ตอนที่ไปวากายามะเราก็นั่งสายนี้ทีหนึ่งแล้ว แต่นั่งแค่ไปลงสถานีอิซึมิซาโนะ (泉佐野駅) เพื่อต่อรถไฟของนังไกอีกสายเพื่อไปยังเมืองวากายามะ

แต่ว่าครั้งนี้เราจะนั่งต่อยาวเข้าสู่ตัวเมืองโอซากะเลย

รถไฟรอบที่เราขึ้นนี้ออกจากสถานีสนามบินคันไซตอน 13:14 และถึงสถานีเทงงาจายะ (天下茶屋駅) ซึ่งเป็นสถานีที่ต้องไปลงเพื่อเปลี่ยนรถ ใช้เวลา ๔๒ นาที ถึงเวลา 13:56



สถานีเทงงาจายะนี้เป็นสถานีที่อยู่ก่อนนัมบะไป ๒ สถานี หากเลยไปก็จะผ่านสถานีชินอิมามิยะ (新今宮駅) และก็จะไปถึงปลายทางที่สถานีนัมบะ

แต่เราต้องมาเปลี่ยนรถไฟใต้ดินที่สถานีเทงงาจายะนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด ไม่ต้องเดินทางไปถึงนัมบะ

เมื่อมาถึงสถานีนี้แล้วก็ขอออกไปเดินเล่นสูดอากาศข้างนอกสักหน่อย ไหนๆก็ต้องเดินออกมาเพื่อลงไปขึ้นใต้ดินอยู่แล้ว



ทิวทัศน์บริเวณรอบๆสถานี ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากนัมบะซึ่งเป็นย่านใจกลางเมืองมากนักจึงคับคั่งไม่น้อย




แล้วก็กลับมาที่ทางเข้าสู่รถไฟใต้ดิน



ถึงบริเวณชานชลาที่จะขึ้นรถไฟแล้ว



แล้วก็ขึ้นมานั่งรถบนรถไฟ เนื่องจากที่นี่เป็นสถานีต้นทางของรถไฟใต้ดินสายนี้ รถก็เลยมาก่อน ต้องรอสักพักถึงจะออก



แผนผังเครือข่ายรถไฟใต้ดินทั้งหมดในโอซากะ ทั้งเยอะและซับซ้อนมาก (ไม่รวมทางรถไฟของ JR และบริษัทเอกชนท้องถิ่นอื่นๆที่มีส่วนมุดลงมาใต้ดินเมื่ออยู่ใจกลางเมือง ซึ่งแสดงไว้คร่าวๆเป็นเส้นประ ถ้ารวมก็ซับซ้อนขึ้นอีกเยอะ)



สถานีเทงงาจายะอยู่ที่ปลายล่างสุดของสายสีน้ำตาลตรงกลาง

นั่งไปลงสถานีคิตาฮามะ (北浜駅) ซึ่งสถานีนี้เป็นจุดเปลี่ยนรถไฟยังรถไฟของบริษัทรถไฟเอกชนท้องถิ่นอีกแห่งคือเคย์ฮัง (京阪)



เคย์ฮังเป็นทางรถไฟสายที่เชื่อมระหว่างโอซากะกับเกียวโตเป็นหลัก และยังมีสายที่เชื่อมไปยังเมืองโอตสึ (大津市) จังหวัดชิงะ (滋賀県) ด้วย

คำว่าเคย์ฮัง (京阪) นั้นมาจากชื่อของเมืองทั้งสองคืออักษรตัวแรกของชื่อเกียวโต (京都) และอักษรตัวหลังของชื่อโอซากะ (大阪) รวมกันแล้วก็อ่านแบบเสียงเลียนจีน (เสียงองโยมิ) กลายเป็นเคย์ฮัง (ถ้าถามว่าทำไมรวมกันแล้วต่างออกไปคนละเรื่องละก็ เรื่องจะยาวนิดหน่อย เป็นความยุ่งยากอย่างหนึ่งของภาษาญี่ปุ่น)

สายที่นั่งนั้นเป็นเส้นทางเคย์ฮังสายหลัก คือเคย์ฮังฮนเซง (京阪本線) ซึ่งเริ่มจากสถานีโยโดยาบาชิ (淀屋橋駅) แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีเดมาจิยานางิ (出町柳駅)

แต่ถ้าพูดให้ละเอียดจริงๆส่วนปลายในเมืองเกียวโตตั้งแต่สถานีซันโจว (三条駅) ไปจนถึงเดมาจิยานางิจะเรียกว่าเป็นสายโอวโตว (鴨東線)

สถานีที่เราขึ้นนี้คือสถานีคิตาฮามะ เป็นสถานีที่สองจากต้นทางถัดจากสถานีโยโดยาบาชิซึ่งเป็นต้นทาง

เมื่อออกจากรถไฟใต้ดินสถานีคิตาฮามะ ก็จะเป็นทางเดินใต้ดินซึ่งมีพวกร้านค้าอยู่เยอะ เส้นทางนี้เชื่อมไปยังสถานีรถไฟของเคย์ฮังซึ่งอยู่ใต้ดินเช่นกัน แต่ไม่เรียกว่าเป็นรถไฟใต้ดินเพราะพอออกไปนอกเมืองสักพักก็จะกลายเป็นรถไฟบนพื้นดินธรรมดา



ทางเข้าสู่รถไฟเคย์ฮัง



แล้วก็รอรถสักพัก



ป้ายตรงนี้บอกเวลาที่รถไฟจะมาจอดที่สถานี ซึ่งทำให้รู้ว่ารถไฟรอบต่อไปจะออกเวลา 14:31 ขณะที่เราไปถึงเป็นเวลา 14:26 ต้องรออีก ๕ นาที รถไฟที่นี่มาถี่มาก โดยทั่วไปรออย่างมากก็ไม่เกินสิบนาที



แต่ก็ต้องระวังว่ารถที่ขึ้นเป็นรถธรรมดาหรือว่ารถด่วน ถ้าขึ้นรถธรรมดามันจะจอดแทบทุกสถานี ซึ่งจะช้ามาก แต่รถด่วนจะจอดแค่สถานีสำคัญ ซึ่งระยะเวลาผิดกัน สำหรับการเดินทางไกลข้ามเมืองแบบนี้ต้องใช้รถด่วนเท่านั้น ถ้านั่งผิดไปนั่งรถช้าจะเสียเวลามาก

ปลายทางของเราอยู่ที่สถานีเดมาจิยานางิซึ่งใกล้กับมหาวิทยาลัยเกียวโตที่สุด สถานีนี้เป็นสุดสายของรถไฟนี้ เรียกได้ว่านั่งจากเกือบต้นสายไปยังสุดสายเลย



รอสักพักรถไฟก็มา บรรยากาศในรถไฟก็เป็นแบบนี้ คนเยอะพอดู แต่ก็ยังพอมีที่นั่ง



พอรถไฟวิ่งผ่านสถานีเคียวบาชิ (京橋駅) ไปก็เริ่มออกสู่นอกเมือง รถไฟก็เริ่มโผล่มาเหนือพื้นดินจึงเริ่มเห็นทิวทัศน์ขึ้นมา





หลังจากสถานีเคียวบาชิแล้ว รถไฟก็วิ่งแบบไม่หยุดเป็นระยะยาว ข้ามเมืองไปยังเมืองฮิรากาตะ (枚方市) เมืองซึ่งอยู่ตะวันออกเฉียงเหนือสุดของจังหวัดโอซากะ จอดที่สถานีฮิรากาตะชิ (枚方市駅) ที่นี่คนขึ้นลงมากมายเพราะเป็นสถานีใจกลางเมืองฮิรากาตะ และยังเป็นจุดเปลี่ยนรถไฟยังสายคาตาโนะ (交野線)



แล้วรถไฟก็มุ่งหน้าต่อไปเรื่อยๆจนเริ่มเข้าเขตจังหวัดเกียวโต





พอเข้าสู่เมืองเกียวโตทางรถไฟก็มุดไปอยู่ใต้ดินอีก



แล้วรถไฟก็มาจอดที่สถานีเดมาจิยานางิอันเป็นสถานีปลายทางเวลา 15:25 เป็นอันจบการเดินทางด้วยรถไฟอันยาวนานวันนั้นลง ถ้านับจากเวลาที่เริ่มขึ้นรถไฟคือ 13:14 ละก็ เท่ากับใช้เวลาเดินทางสองชั่วโมงกว่าจึงมาถึง



สรุปเส้นทางเดินทางก็เป็นดังนี้
สนามบินคันไซ >(รถไฟของนังไก)> เทงงาจายะ
เทงงาจายะ >(รถไฟใต้ดิน)> คิตาฮามะ
คิตาฮามะ >(รถไฟของเคย์ฮัง)> เดมาจิยานางิ




แผนที่จังหวัดเกียวโต สีม่วงเข้มคือเขตเมืองเกียวโต






เมื่อมาถึงสถานีเพื่อนเราก็มารอรับอยู่ที่ทางออก จากนั้นก็พาเราเดินไปยังมหาวิทยาลัยเกียวโต เส้นทางเดินนั้นไม่ไกลมาก เดินประมาณสิบนาทีก็ถึง




มหาวิทยาลัยเกียวโตนั้นประกอบไปด้วย ๓ วิทยาเขต คือวิทยาเขตโยชิดะ (吉田) อุจิ (宇治) และ คัตสึระ (桂) โดยที่นี่คือวิทยาเขตโยชิดะ เป็นวิทยาเขตหลัก

ที่นี่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองแต่ค่อนไปทางตอนเหนือของตัวเมือง จึงค่อนข้างเงียบสงบอยู่พอสมควร

ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย



แค่เข้าไปเพื่อเอากระเป๋าสัมภาระไปเก็บในอาคารที่เพื่อนทำวิจัยอยู่เท่านั้น หลังจากนั้นก็รีบออกมาขึ้นรถเมล์ทันทีเพื่อไปเดินหาอะไรกินที่ย่านใจกลางเมือง

รถเมล์ของที่นี่ก็ใช้บัตร Kansai thru pass ขึ้นได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นต้องเสียค่าขึ้นรถเมล์รอบละ ๒๒๐ เยน ซึ่งแพงมากผิดกับรถเมล์ไทย ปกติถ้าไม่จำเป็นละก็เดินเอาดีที่สุด

ใช้เวลาประมาณยี่สิบกว่านาทีก็มาถึงย่านซันโจว (三条) ซึ่งเป็นย่านใจกลางเมืองที่ผู้คนคับคั่งมาก




ที่ไปเดินคือถนนย่านร้านค้าซันโจว (三条名店街) เป็นสถานที่ลักษณะโถงทางเดินยาวซึ่งมีเพดานสูง



ข้างในเต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย ทั้งขายของที่ระลึกและของกิน









ฉากโถงทางเดินที่นี่ถูกใช้เป็นฉากในอนิเมะเรื่องเคย์อง (k-on!) ด้วย



อนิเมะเรื่องนี้ใช้ฉากในเมืองเกียวโตเยอะมาก หลังจากวันนี้ไปเราก็ยังมีโอกาสได้ไปชมอีกหลายที่ซึ่งเป็นฉากในเรื่องนี้

ภาพนี้ปรากฏในอนิเมะภาค ๑ ตอนที่ ๑๐ ลองเทียบกับที่ถ่ายไว้ดู สังเกตว่าลักษณะอะไรต่างๆตรงกัน เพราะว่าเป็นโถงทางเดินเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ใช่บริเวณเดียวกันกับภาพที่ปรากฏในอนิเมะ เพราะที่นี่กว้างมากและตอนที่ไปก็ยังไม่รู้เลยว่าที่นี่ก็ถูกใช้เป็นฉากด้วย ก็เลยไม่ได้เอาภาพในอนิเมะมาเทียบ ที่จริงไม่ได้ตั้งใจหรือวางแผนไว้ก่อนเลยด้วยว่าจะมาที่นี่ พอดีเพื่อนชวนก็เลยมาเท่านั้น นับว่าบังเอิญจริงๆ




นี่เป็นร้านที่ยุยมาซื้อกีตาร์ในภาคแรกตอนที่ ๒ แต่เป็นภาพในตอนที่ ๑๐ ซึ่งยุยกลับมาเพื่อซ่อมกีตาร์ ส่วนภาพที่เราถ่ายนั้นเป็นคนละบริเวณกันภายในโถงทางเดิน เสียดายที่ไม่มีถ่ายติดภาพร้านนี้มาด้วยเลย ไม่ได้สังเกตด้วยว่าอยู่ตรงไหน จากภาพถ้าไม่ดูรายละเอียดว่าตำแหน่งร้านต่างๆไม่ตรงกันละก็ องค์ประกอบอะไรโดยรวมก็ใกล้เคียงกันอยู่




นาฬิกาและโคมไฟที่แขวนอยู่บนเพดานนี่ก็เหมือนกับในอนิเมะเลย




เพื่อนแนะนำให้เข้าไปกินร้านนี้ เป็นร้านทงคัตสึชื่อดัง เมื่อเข้าไปก็ต้องตกใจกับราคาของทงคัตสึซึ่งแพงมากถึง ๑๑๓๐ เยน แต่ก็ช่วยไม่ได้ ขอเปิดฉากมื้อแรกในญี่ปุ่นด้วยของแพงสักหน่อยก็ไม่เสียหาย แต่มื้อต่อไปถ้ากินแบบนี้อีกได้หมดตัวอย่างรวดเร็วแน่ ต้องประหยัดกว่านี้อีกมาก



ร้านที่นี่ซอสต้องปรุงเอาเอง โดยเริ่มจากบดงาเอาเอง



ซอสก็มีให้เลือกหลายชนิด มีแบบข้น แบบอ่อน แบบเผ็ดก็มี



แล้วทงคัตสึก็มา อร่อยมากอย่างที่ว่า แต่ถ้าแพงอย่างนี้เรายอมกลับไปกินที่ไทยถูกๆดีกว่า ยังไงก็อร่อยเหมือนกัน


 
เมื่อกินเสร็จเพื่อนก็ชวนไปเล่นยูโฟแคทเชอร์ (UFOキャッチャー) ซึ่งก็คือเกมคีบตุ๊กตานั่นเอง ที่ไทยเองก็มีแบบนี้แต่ว่าที่ญี่ปุ่นคนนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมาก ถึงกับมีร้านที่มีแต่ยูโฟแคทเชอร์อย่างเดียว



เมื่อเข้าไปในร้านก็เจอตู้คีบตุ๊กตาแบบต่างๆมากมาย







ไม่ได้มีอยู่แค่ร้านเดียวด้วย เจออยู่มากมายในบริเวณนั้น




มาที่ตรงนี้จะเจอกับโรงหนังที่อาซึสะกับอุยมาดูหนังกันในภาคตอนที่ ๑๓




ในบริเวณก็มีส่วนที่อยู่นอกโถงทางเดินซึ่งมีที่นั่งให้นั่ง นี่เป็นสถานที่ที่อาซึสะฝันถึงว่าเจอกับมุงิและอุย และเล่นเกมจับสลากได้รางวัลใหญ่ ฉากนี้อยู่ในภาค ๒ ตอนที่ ๑๓ เช่นกัน เทียบภาพอนิเมะกับภาพจริงสังเกตว่าทางขวามีร้านสีน้ำเงินชื่อ BASS แต่ของจริงร้านชื่อ BOSS




เราเดินอยู่ในย่านนั้นจนราวๆห้าโมงครึ่ง ฟ้าเริ่มมืดลงทุกทีเราจึงได้เวลากลับ





หลังจากนั้นก็กลับไปเอาของที่วางไว้ที่ห้องแล็บของเพื่อน แล้วก็ขนไปยังหอพักซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวมหาวิทยาลัยนัก

จากนั้นก็ได้ไปเดินในมหาวิทยาลัยตอนกลางคืน แต่ก็เพราะมืดแล้วเลยไม่ได้เห็นอะไรมากนัก และภาพที่ถ่ายได้ก็ไม่ชัดด้วย




นี่เป็นอาคารหอนาฬิกา และต้นคุสึโนกิที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย



ระหว่างที่เดินอยู่นั้นหิมะก็ได้โปรยปรายตกลงมาด้วย เราปรับกล้องเป็นโหมดจับวัตถุเคลื่อนไหวแล้วถ่ายเอาไว้ ก็สวยดีไปอีกแบบ เป็นภาพที่เห็นได้เฉพาะกลางคืนแบบนี้



การเที่ยวในวันแรกก็จบลงเพียงเท่านี้ หลังจากนั้นเราก็กลับไปพักผ่อนที่หอเพื่อนเพื่อนอนเอาแรงสำหรับตื่นขึ้นมาเที่ยวในวันต่อไป

การเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่งจะแค่เริ่มต้นเท่านั้น ต่อจากนี้ไปยังคงมีเรื่องราวอีกมากมาย https://phyblas.hinaboshi.com/20130203



ขอปิดท้ายหน้านี้ด้วยการลองคำนวณดูว่าในการเดินทางวันนี้ใช้ Kansai thru pass ประหยัดเงินไปได้เท่าไหร่

รถไฟนังไก : สนามบินคันไซ > สถานีอิซึมิซาโนะ > สถานีวากายามะชิ (ไปกลับ) 840x2=1680
รถเมล์ : สถานีวากายามะชิ > เคนโจวมาเอะ 220
ส่วนลดค่าเข้าปราสาทวากายามะ 100
รถเมล์ : เคนโจวมาเอะ > อาเกโบโนบาชิ 360
รถเมล์ : กงเงงมาเอะ > สถานีวากายามะชิ 370
รถไฟนังไก : สนามบินคันไซ > สถานีเทงงาจายะ 890
รถไฟใต้ดิน : สถานีเทงงาจายะ > สถานีคิตาฮามะ 230
รถไฟเคย์ฮัง : สถานีคิตาฮามะ > สถานีเดมาจิยานางิ 460
รถเมล์ : มหาวิทยาลัยเกียวโต > ถนนย่านร้านค้าซันโจว (ไปกลับ) 220x2=440

รวมแล้วเป็น 4750 เยน ในขณะที่ Kansai thru pass ราคา 5000 เยน ใช้ได้ ๓ วัน แต่เราใช้แค่วันเดียวก็เกือบจะเท่าราคาบัตรแล้ว และยังใช้ได้อีก ๒ วันซึ่งยังไงก็ใช้คุ้มแน่นอน จึงเห็นได้ชัดว่าถ้าเที่ยวแบบนี้ใช้ Kansai thru pass เป็นอะไรที่คุ้มค่าสุดๆ



ในบทความนี้มีการนำภาพจากอนิเมะ "k-on!" มาใช้อ้างอิงเพื่อการวิจัยศึกษาภาพเปรียบเทียบ ลิขสิทธิ์ทั้งหมดเป็นของผู้จัดทำ "
k-on!"
この記事では、比較研究を目的としてアニメ「けいおん!」の画像を引用しています。画像の著作権はすべて「けいおん!」の製作者に帰属します。




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> เกียวโต
-- ท่องเที่ยว >> ตามรอย
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文