φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



นั่งชิงกันเซงข้ามมาเที่ยวปราสาทโอกายามะ
เขียนเมื่อ 2013/02/03 00:12
แก้ไขล่าสุด 2024/03/09 05:51
#ศุกร์ 18 ม.ค. 2013

เข้าสู่วันที่สองของการเดินทางเที่ยวในญี่ปุ่น จากที่เล่าถึงไปว่าเมื่อคืนเดินทางมาถึงเกียวโตและเข้าพักที่หอเพื่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20130201

แล้วเมื่อคืนหิมะก็โปรยปรายตกลงมา พอตื่นมาตอนเช้าก็พบว่ามีหิมะกองอยู่ตามทางเต็มไปหมด น่าเสียดายที่ฟ้ายังไม่สว่างจึงเห็นไม่ชัด

เช้าตรู่หกโมงเช้า เราได้เดินออกมาที่ป้ายรถเมล์ซึ่งอยู่ใกล้กับหอพักมากที่สุด นั่นคือป้ายคิตะชิรากาวะเบตโตวโจว (北白川別当町) เพื่อนั่งไปยังสถานีรถไฟเกียวโต ที่นี่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟมากพอสมควร แม้เป็นตอนเช้าซึ่งรถไม่ติดก็ต้องใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จึงต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปขึ้นรถเมล์

ระหว่างทางเดินไปป้ายรถเมล์ เห็นหิมะปกคลุมอยู่ประปรายตามทาง



ที่ป้ายรถเมล์พบว่าหิมะกองทับถมบนเก้าอี้เต็มไปหมด



หลังจากรอสักพักรถเมล์รอบแรกก็มาเวลา 6:13 ตามเวลา แล้วรถเมล์ก็ไปถึงสถานีรถไฟเกียวโตเวลา 6:45 ตอนที่ไปถึงฟ้าเริ่มสว่างแล้ว



เรารีบเดินเข้าไปยังช่องตรวจตั๋ว และยื่นกระดาษใบหนึ่งให้คนตรวจตั๋วดู พอเขาเห็นกระดาษแผ่นนั้นเขาก็ให้เราผ่านเข้าไปยังชานชลาที่รอรถไฟได้ทันทีโดยไม่ต้องซื้อตั๋วใดๆ

กระดาษที่ว่านั่นคือ Kansai WIDE area pass ซึ่งเคยพูดถึงไปตอนที่เล่าถึงวันที่มาถึงสนามบิน https://phyblas.hinaboshi.com/20130118



บัตรนี้ราคา ๗๐๐๐ เยน มีอายุการใช้งาน ๔ วัน ระหว่าง ๔ วันนี้จะสามารถนั่งรถไฟของ JR ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้อย่างไม่จำกัดเที่ยวในอาณาเขตที่กำหนด ซึ่งก็คือบริเวณภูมิภาคคันไซ และยังรวมถึงส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกายามะ และจังหวัดฟุกุอิด้วย

สำหรับขอบเขตของบัตรนี้ ดูได้ที่ http://www.westjr.co.jp/global/en/travel-information/pass/kansai_wide

Kansai WIDE area pass นั้นต่างจาก Kaisai Thru pass ตรงที่ว่าเป็นแค่แผ่นกระดาษธรรมดา ไม่ได้เป็นบัตรที่มีแถบแม่เหล็กเอาไว้หยอดเครื่อง เวลาจะใช้ก็คือยื่นให้เจ้าหน้าที่ดูเขาก็จะให้เราผ่านเข้าสถานีไปได้โดยไม่ต้องหยอดตั๋วอะไรเข้าเครื่องเลย

ข้อดีเป็นอย่างยิ่งของบัตรนี้คือสามารถนั่งรถด่วนชนิดต่างๆรวมถึงรถไฟชิงกันเซงได้ด้วย เพียงแต่ว่าชิงกันเซงจำกัดให้นั่งได้แค่ในช่วงโอซากะถึงโอกายามะเท่านั้น

ดังนั้นแผนวันแรกที่ได้ใช้บัตรนี้ของเราก็คือ จะขอนั่งชิงกันเซงตั้งแต่แรกเลย โดยการนั่งไปเที่ยวเมืองโอกายามะ (岡山市)

แต่เนื่องจากแม้ว่าเกียวโตจะมีชิงกันเซงผ่านแต่บัตรนี้ไม่สามารถนั่งชิงกันเซงจากเกียวโตได้ จึงต้องได้แต่นั่งรถไฟธรรมดาไปเริ่มที่สถานีชินโอซากะ (新大阪) อย่างช่วยไม่ได้

ค่าโดยสารโดยชิงกันเซงจากชินโอซากะไปโอกายามะนั้นแพงถึง ๕๓๕๐ เยน! ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ Kansai WIDE area pass ซึ่งราคาเพียง ๗๐๐๐ เยน เดินทางไปกลับแค่นี้วันเดียวก็คุ้มสุดๆแล้ว

แต่พอจะขึ้นรถไฟไปชินโอซากะเรากลับทำผิดพลาดอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากเพิ่งมาญี่ปุ่นเป็นวันที่สองนั่งรถไฟครั้งแรกเมื่อวาน ยังไม่คุ้นเคยกับระบบดีพอ ก็เลยขึ้นรถไฟผิด เห็นมันเขียนว่าไปโอซากะเลยรีบวิ่งเข้าไปเลย มารู้เอาตอนหลังว่ารถไฟที่ขึ้นนั้นเป็นรถไฟธรรมดาไม่ใช่รถเร็ว

ปกติรถไฟที่นี่แบ่งออกเป็นรถธรรมดา (普通) กับรถเร็ว (快速) โดยรถธรรมดาคือรถที่จอดทุกสถานี ส่วนรถเร็วจะจอดเฉพาะสถานีหลักๆ ทำให้ความเร็วต่างกันมาก นอกจากนี้แล้วยังมีรถด่วนพิเศษ (特急) ซึ่งจะแทบไม่มีการจอดเลยนอกจากสถานีหลักสำคัญจริงๆ แต่มักจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มเป็นพิเศษ

การขึ้นผิดไปขึ้นรถธรรมดาทำให้จากที่ควรจะถึงชินโอซากะอย่างรวดเร็วยี่สิบกว่านาที กลายเป็นต้องนั่งยาวสี่สิบกว่านาที นี่คือความต่างระหว่างรถเร็วกับรถธรรมดา ดังนั้นไม่ควรขึ้นผิด


แม้จะเสียเวลาไปหน่อย แต่ก็มาถึงสถานีชินโอซากะจนได้ ขณะนั้นเวลาประมาณ 7:40



สถานีชินโอซากะนี้เป็นสถานีที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1964 พร้อมกับรถไฟชิงกันเซงสายแรกซึ่งเชื่อมโอซากะกับโตเกียว เพื่อเป็นสถานีชิงกันเซงของเมืองโอซากะโดยคำว่า ชิง* (新) แปลว่าใหม่ มักจะอยู่หน้าชื่อเมืองเพื่อหมายถึงเป็นสถานีของชิงกันเซงของเมืองนั้น เช่น ชินโควเบะ (新神戸) ก็คือสถานีชิงกันเซงของเมืองโควเบะ
(*คำว่า อาจอ่านว่า ชิง หรือ ชิน หรือ ชิม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่านำหน้าชื่อเมืองอะไร รายละเอียดอ่านที่ https://phyblas.hinaboshi.com/20130109)

แต่บางเมืองก็ใช้สถานีหลักของเมืองเป็นสถานีชิงกันเซงไปในตัว เช่นสถานีเกียวโต สถานีโอกายามะ (ไม่มีสถานีชิงเกียวโต ชินโอกายามะ)

สถานีชินโอซากะนี้ไม่ได้อยู่ย่านใจกลางเมือง แต่ห่างออกมาจากย่านอุเมดะซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโอซากะ (大阪駅) ซึ่งเป็นสถานีใจกลางเมืองมาประมาณ ๓ กิโลเมตร แต่ก็เป็นสถานีสำคัญมากเพราะเป็นสถานีของชิงกันเซง

จากนั้นเราก็รีบไปที่ท่าขึ้นรถไฟชิงกันเซง แล้วก็พบเรื่องที่ไม่คิดว่าจะได้มาเจอตั้งแต่แรก นั่นคือรถไฟแต่ละคันมาช้ากว่าเวลากำหนดเนื่องจากหิมะตก พอตรวจดูพยากรณ์ก็พบว่าตอนนั้นมีหิมะตกอยู่ในหลายบริเวณ แต่บริเวณโอซากะกลับไม่ตก แอบเสียดายอยู่ไม่น้อย

แม้โอซากะจะไม่มีหิมะตก แต่ผลกระทบก็ตามมาถึงเพราะระบบรถไฟนั้นเชื่อมต่อกันทั้งประเทศ ทำให้ตารางรถไฟวันนั้นทั้งวันรวนไปหมดอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของเราตลอดทั้งวัน

ซึ่งก็เลยทำให้รถไฟที่เราได้ขึ้นตอนนั้นกลับเป็นชิงกันเซงฮิการิ (新幹線ひかり) ซึ่งควรจะออกตอน 07:35 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เราจะมาถึงสถานีเสียอีก เพราะเรามาถึงชานชลาตอน 7:46 แต่เนื่องจากเวลาล่าช้าไปสิบกว่านาทีเลยเพิ่งมาถึงตอนที่เรามาที่ชานชลาพอดี

รถไฟชิงกันเซงที่วิ่งผ่านสถานีโอซากะนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ทั้งหมดเป็นชื่อที่เขียนด้วยฮิรากานะ ๓ ตัว ได้แค่ ฮิการิ (ひかり) โคดามะ (こだま) มิซึโฮะ (みずほ) ซากุระ (さくら) โนโซมิ (のぞみ)

โดยแต่ละชนิดก็ต่างกันตรงที่ความยาวของขบวนรถ พื้นที่ที่วิ่งผ่าน และจำนวนสถานีที่จอด ชนิดที่จอดน้อยสุดคือโนโซมิ จะไม่จอดที่ไหนเลยนอกจากสถานีสำคัญ ส่วนโคดามะจะจอดทุกสถานีที่ผ่านโดยไม่เว้นเลย ซึ่งจะค่อนข้างช้า

ยกตัวอย่างเช่นการเดินทางจากชินโอซากะไปโอกายามะ ถ้านั่งโนโซมิจะใช้เวลาแค่ ๔๕ นาทีก็ถึงแล้ว แต่ถ้านั่งโคดามะต้องใช้เวลาถึง ๗๑ นาที แม้ว่าค่าโดยสารจะเท่ากัน ดังนั้นไม่ว่ายังไงก็ควรเลือกขึ้นรถไฟให้เหมาะสมกับเป้าหมาย

เส้นทางของชิงกันเซงจากโอซากะไปโอกายามะนั้นต้องผ่าน จังหวัดเฮียวโงะ (兵庫県) ซึ่ง มีทั้งหมด ๔ สถานี คือสถานีชินโควเบะ (新神戸駅) สถานีนิชิอากาชิ (西明石駅) สถานีฮิเมจิ (姫路駅)
และสถานีไอโอย (相生駅)

ชิงกันเซงฮิการิที่เรานั่งคราวนี้จะไปจอดแค่ที่สถานีชินโควเบะและสถานีฮิเมจิ ก่อนที่จะถึงสถานีโอกายามะ แต่หากเป็นโนโซมิจะไม่จอดที่สถานีฮิเมจิ แต่ข้ามจากชินโควเบะไปโอกายามะเลย ซึ่งจะประหยัดเวลาได้มาก (แต่ก็มีโนโซมิบางคันจอดที่ฮิเมจิเหมือนกัน ซึ่งก็แล้วแต่เที่ยว)

แล้วฮิการิของเราก็ออกเดินทางไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นภาพทิวทัศน์เมืองระหว่างสถานีชิงโอซากะถึงสถานีชินโควเบะ




หลังจากผ่านสถานีชินโควเบะไปก็มาถึงสถานีฮิเมจิ เมืองฮิเมจิ (姫路市) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของจังหวัดเฮียวโงะ เพราะมีปราสาทฮิเมจิ (姫路城) ซึ่งเป็นปราสาทที่สวยงามที่สุดและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้แวะไปเลยตลอดเที่ยวนี้ ได้แค่จอดที่สถานีแล้วก็ผ่านไป



ตำแหน่งเมืองฮิเมจิแสดงเป็นสีชมพูเข้มในแผนที่ ส่วนสีม่วงทางขวาคือเมืองโควเบะ






แล้วก็มาถึงสถานีโอกายามะ




เมืองโอกายามะ (岡山市) เป็นเมืองหลักของจังหวัดโอกายามะ (岡山県) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของภูมิภาคจูโงกุ (中国地方) รองจากเมืองฮิโรชิมะ (広島市)

ตำแหน่งเมืองโอกายามะ สีม่วงเข้มในแผนที่




ที่เมืองโอกายามะนี้มีระบบรถรางซึ่งวิ่งผ่านบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งเราจำเป็นต้องนั่งเพื่อจะไปยังสถานที่เที่ยวเป้าหมายในวันนี้



รถรางโอกายามะ หรือเรียกย่อๆว่าโอกาเดง (岡電) ซึ่งย่อมาจากคำว่าโอกายามะเดงกิกิโดว (岡山電気軌道) แปลว่ารถรางไฟฟ้าโอกายามะ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1912 ปัจจุบันมีทั้งหมด ๑๖ สถานี

ในการเที่ยวครั้งนี้เราได้ซื้อบัตร ๑ วันไว้ใช้ด้วย ซึ่งราคา ๔๐๐ เยน สามารถขึ้นรถรางกี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดในวันนั้น เวลาขึ้นรถรางก็แค่ยื่นใบนี้ให้เขาดูตอนลงจากรถเท่านั้น



ด้านหลังบัตร มีแผนที่บอกด้วย



ที่จริงแล้วบัตรนี้ใช้ยังไงก็คุ้มยาก เพราะนั่งครั้งหนึ่งค่าโดยสารขั้นต่ำคือ ๑๐๐ เยนเท่านั้น ถ้าไม่ใช้นั่งถึง ๔ ครั้งก็จะไม่คุ้ม ซึ่งที่จริงเราใช้แค่สองครั้งไปกลับเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่ที่ซื้อเพราะอยากได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย

เป้าหมายที่มาเมืองโอกายามะในครั้งนี้มีอยู่อย่างเดียวคือไปชมปราสาทโอกายามะ (岡山城) ปราสาทโบราณชื่อดัง

บรรยากาศบนรถไฟ



ตอนลงจากรถเขาจะให้หยอดค่าโดยสารลงในตู้นี้ แต่ว่าเรามีบัตรอยู่ก็แค่แสดงให้เขาดูก็ลงจากรถได้เลย



เนื่องจากไหนๆก็ซื้อบัตรผ่านมาแล้ว ก็เลยลองนั่งเล่นไปลงสถานีที่ไม่ใช้เป้าหมายก่อนสักหน่อย จะได้ชมเมืองไปด้วย ตรงนี้เรามาลงที่สถานียูบิงเกียวกุมาเอะ (郵便局前駅) ซึ่งแปลว่าสถานีหน้าที่ทำการไปรษณีย์



แล้วก็เดินไปยังสถานีที่อยู่ใกล้ๆกันแต่อยู่คนละสาย คือสถานีเคนโจวโดริ (県庁通り駅) ระหว่างทางก็เดินชมบ้านเมืองไป




แล้วก็เดินถึงสถานีเคนโจวโดริ เรานั่งรถรางจากสถานีนี้เพื่อย้อนไปยังสถานีเป้าหมายจริงๆคือ สถานีชิโระชิตะ (城下駅) ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับปราสาทโอกายามะที่สุด



ถึงสถานีชิโระชิตะแล้ว ที่นี่ก็เป็นย่านใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงๆ



เดินต่อมาทางตะวันออกก็จะเจอแม่น้ำซึ่งทิวทัศน์สวยงามไม่น้อย




สะพานนี้หากข้ามไปจะไปถึงสวนโควรากุ (後楽園) เป็นสวนแบบญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองนี้ จัดเป็นหนึ่งในสามสวนมีชื่อของญี่ปุ่น แต่ว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายในวันนี้จึงไม่ได้แวะไป



พอเดินเลียบริมน้ำมาเรื่อยๆก็เริ่มเห็นตัวปราสาทจากด้านนอก



ปราสาทโอกายามะ สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1346–1369 แต่ตัวหอหลักนั้นถูกสร้างในปี 1597

ในวันที่ 29 มิถุนายน 1945 โอกายามะได้ถูกโจมตีอย่างหนักทางอากาศจากกองทัพสหรัฐฯ ทำให้หอหลักและอีกหลายๆส่วนของปรสาทถูกทำลายลง

หอหลักของปราสาทโอกายามะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1966 พร้อมทั้งประตูและสิ่งก่อสร้างส่วนอื่นๆด้วย ตัวหอหลักที่ถูกสร้างใหม่นี้ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กโดยให้ภายนอกมีรูปร่างเหมือนเดิม

ปราสาทโอกายามะยังมีชื่อเรียกอื่นๆเช่น ปราสาทอีกา (烏城, อุโจว) เนื่องจากมีสีดำ ซึ่งตรงข้ามกับปราสาทฮิเมจิซึ่งมีสีขาวซึ่งถูกเรียกว่าเป็นปราสาทนกกระสาขาว

ประตูทางเข้าด้านข้างนี้มีชื่อว่าโรวกะมง (廊下門) ก็เป็นประตูที่ถูกทำลายแล้วสร้างขึ้นใหม่พร้อมกับหอหลัก



เมื่อเข้ามาแล้วปีนขึ้นบันไดเพียงเล็กน้อยก็จะมาโผล่ที่ด้านข้างของหอหลักปราสาทโอกายามะ



ภาพตรงๆจากด้านหน้าหอหลัก



เห็นกลุ่มเด็กๆเขามาทำอะไรกันอยู่หน้าปราสาทด้วย



แล้วเราก็เข้าไปในปราสาท โดยต้องเสียค่าเข้าคือ ๓๐๐ เยน ด้านในเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่สามารถถ่ายรูปได้ก็เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ชม



แต่ว่าชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิว สามารถถ่ายรูปภายนอกได้ ซึ่งก็ได้เห็นทิวทัศน์ตัวเมืองรอบๆสวยทีเดียว




และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของปราสาทนี้ก็คือปลาชาจิสีทองซึ่งติดอยู่ที่ยอดหลังคาปราสาทแต่ละชั้น



ปลาชาจิ (鯱) เป็นสัตว์ในตำนานของญี่ปุ่น มีรูปร่างเป็นปลาคาร์ฟที่มีหัวเป็นเสือ มักจะถูกใช้ประดับตามหลังคาสิ่งก่อสร้างเพราะเชื่อว่าจะช่วยพ่นน้ำมาดับไฟให้เวลาเกิดอัคคีภัย

ปราสาทโบราณของญี่ปุ่นหลายแห่งก็มีการประดับปลาชาจิไว้ ส่วนปราสาทที่ใช้ปลาชาจิสีทองและมีชื่อเสียงยังมีอีกแห่งคือที่ปราสาทนาโงยะ (名古屋城)

การที่ปราสาทนี้ประดับไปด้วยปลาชาจิสีทองหลายตัวก็ทำให้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปราสาทอีกาทอง (金烏城, คินอุโจว)

ขากลับออกทางประตู อากาซึโนะมง (不明門) ซึ่งเป็นประตูด้านหน้าปราสาท ประตูนี้ก็เป็นประตูที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่พร้อมกับตัวหอหลักเช่นกัน



แต่สุดท้ายก็ต้องอ้อมไปกลับทางฝั่งริมแม่น้ำซึ่งอยู่ด้านหลังปราสาทอยู่ดี

แล้วเราก็นั่งรถรางกลับมาที่สถานีรถไฟ



หน้าสถานีมีนกพิราบอยู่เต็มไปหมดเลย เห็นสองคนนี้เขานั่งถ่ายรูปกัน พอฟังที่เขาพูดจึงรู้ว่าเขาเป็นคนจีน คงจะมาเที่ยวเช่นกัน



ก่อนกลับแวะกินข้าวที่ร้านข้างๆสถานีรถไฟ ข้าวหน้าปลาแซลมอนราคา ๓๖๐ เยน ถ้าเทียบกับที่ไทยแล้วถือว่าราคาต่างกันไม่มากเลย แถมอร่อยมากด้วย มากินแบบนี้คุ้มทีเดียว (ผิดกับมื้อเมื่อคืนที่ทานทงคัตสึราคา ๑๑๓๐ เยน)



เมื่อกินเสร็จก็กลับเข้าสถานีรถไฟเพื่อออกเดินทางกลับไปเที่ยวในจังหวัดเฮียวโงะ ซึ่งเราต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิดด้วย ติดตามอ่านต่อกันได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130205



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> โอกายามะ
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文