φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



พิพิธภัณฑ์เมืองหลวง
เขียนเมื่อ 2016/12/11 21:45
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อังคาร 9 มิ.ย. 2015

พิพิธภัณฑ์เมืองหลวง (首都博物馆) เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่อีกแห่งในปักกิ่ง ภายในจัดแสดงสมบัติทางวัฒนธรรมต่างๆของปักกิ่ง ส่วนหลักจัดแสดงประวัติศาสตร์ของปักกิ่งตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

หากเปรียบเทียบแล้วอาจคล้ายกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน (中国国家博物馆) ซึ่งเคยเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161130

แต่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนจะจัดแสดงประวัติศาสตร์ของจีนทั้งชาติ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงจะเน้นเฉพาะปักกิ่ง (ซึ่งเป็นเมืองหลวง)

พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงเปิดขึ้นครั้งแรกในปี 1981 โดยเดิมทีสถานที่ตั้งอยู่ที่วัดขงจื๊อซึ่งเคยเล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150610

แต่ว่าต่อมาในปี 2006 ได้ถูกย้ายมาอยู่ในที่ปัจจุบัน เป็นอาคารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนฉางอาน (长安街) ทางตะวันตกของถนนไป๋หยวิน (白云路)



บันทึกนี้เป็นเรื่องของการไปเที่ยวในช่วงกลางปี 2015 ซึ่งพยายามเที่ยวเก็บตกสถานที่เที่ยวมากมายก่อนจะลาจากปักกิ่งกลับบ้าน

ตอนนั้นไปกับเพื่อนคนอีกคนซึ่งเป็นคนที่เคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนมาด้วยกัน เขามาเยี่ยมปักกิ่งอีกครั้งหลังจากเว้นไป ๒ เดือน

ที่นี่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าในสาย 1 สถานีมู่ซีตี้ (木樨地站) นั่งมาลงได้ทันทีแล้วก็จะเจออาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่นี้ตั้งตระหง่านอยู่



ที่นี่ไม่มีค่าเข้าชม แต่จำกัดจำนวนเข้าชมต่อวัน การเข้าชมที่นี่ควรจะจองเอาไว้ก่อนผ่านเว็บ http://www.capitalmuseum.org.cn/zjsb/pwfw.htm

แต่หากวันไหนที่คนจองไม่เยอะต่อให้ไม่จองเอาไว้ก็สามารถเข้าได้เลยเหมือนกัน

รอบๆอาคารล้อมด้วยต้นไม้ ดูร่มรื่น



เข้ามาด้านในเจอห้องโถงใหญ่ตรงกลาง



ดูกว้างใหญ่โอ่โถงมาก และที่เห็นเป็นเสานั่นเป็นหอคอยที่ถูกสร้างอยู่ภายในอาคาร ในนั้นมีห้องจัดแสดงอยู่ด้วยตั้งแต่ส่วนชั้น ๒ ขึ้นไป



ส่วนภายในหอคอยชั้นแรกเป็นห้องชมสื่อหลายแบบ (多媒体视听室) ข้างในมีอะไรฉายให้ดูเป็นเวลา



ภายใน



อันนี้ฉายวีดิทัศน์แนะนำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สั้นๆ





ขึ้นมาที่ชั้น ๒ จะเจอกับส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมปักกิ่งเมืองหลวงเก่าแก่ (古都北京·历史文化篇)



ห้องนี้เปรียบได้กับห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์จีนของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงจะเน้นแค่ประวัติศาสตร์ของปักกิ่งเท่านั้น

เรื่องราวเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการขุดพบพวกเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเก่าแก่หลายพันปี แสดงให้เห็นร่องรอยว่ามีคนอาศัยอยู่แถวปักกิ่งมานานแล้ว อันนี้ขุดเจอในเขตผิงกู่ (平谷) ทางตะวันออกของปักกิ่ง



ส่วนตรงนี้เป็นของที่ใหม่ขึ้นมาหน่อย เป็นในช่วงประมาณ 16-14 ศตวรรษก่อน ค.ศ. ซึ่งอยู่ในยุคราชวงศ์ซาง ขุดเจอในเขตผิงกู่



ของแต่ละชิ้นจะมีป้ายอธิบายพร้อมรูปประกอบ ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย



ในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก บริเวณปักกิ่งได้เป็นเมืองหลวงของแคว้นจี้ (蓟国, จี้กั๋ว) และแคว้นยาน (燕国, ยานกั๋ว) ซึ่งเป็นแคว้นที่ตั้งอยู่ติดกัน


รายละเอียดกว่านั้นได้เขียนไว้ในบันทึกการเที่ยวโบราณสถานหลิวหลีเหอ (琉璃河遗址) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของปักกิ่ง https://phyblas.hinaboshi.com/20150622

วัตถุโบราณจำนวนหนึ่งในสมัยนั้นได้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์โบราณสถานกรุงยานยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (西周燕都遗址博物馆) ซึ่งตั้งอยู่ตรงโบราณสถานหลิวหลีเหอตรงนั้น แต่ส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงแห่งนี้



พวกนี้เป็นอุปกรณ์สำหรับรถม้า



ภาชนะสองอันนี้ก็ขุดเจอจากที่นั่น มีจารึกข้อความไว้ด้วย เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงเรื่องราวในยุคนั้นของแคว้นยาน



อันนี้เป็นภาชนะขนาดใหญ่ที่ขุดเจอจากที่เดียวกันนั้น



ต่อมาเข้าสู่ยุคจ้านกั๋ว แคว้นต่างๆแตกแยกกันยานตีแคว้นจี้แตกแล้วผนวกรวมเข้าด้วยกัน


ภาชนะโบราณช่วงยุคจ้านกั๋วที่ขุดพบในบริเวณปักกิ่ง




พอเข้ายุคราชวงศ์ฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้ได้ทำการรวมประเทศและแบ่งเขตการปกครองใหม่ซึ่งใช้ต่อมาจนถึงยุคราชวงศ์ฮั่น การปกครองแบ่งเป็นมณฑล บริเวณปักกิ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลโยวโจว (幽州) แคว้นยานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโยวโจว โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแคว้นกว่างหยาง (广阳郡)

รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ในบันทึกที่เขียนถึงสุสานยุคราชวงศ์ฮั่นต้าเป่าไถ (大葆台汉墓) สุสานของหลิวเจี้ยน (刘建) ผู้ครองแคว้นกว่างหยาง ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150628

นี่เป็นของส่วนหนึ่งที่ขุดพบที่สุสานต้าเป่าไถ



รูปปั้นดินเผาที่ทำเป็นรูปอาคารบ้าน เป็นของที่ฝังคู่กับหลุมศพในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก



รูปปั้นดินเผารูปวัวลากเกวียนสมัยราชวงศ์จิ้นที่พบในปักกิ่ง



มังกรและวัวสำริดในยุคราชวงศ์ถัง




ภาชนะระบายสามสีในยุคราชวงศ์ถัง



ต่อมาพอสิ้นสุดยุคราชวงศ์เหลียว ปักกิ่งได้ถูกตั้งเป็น ๑ ใน ๕ เมืองหลวงของราชวงศ์เหลียว ใช้ชื่อว่าหนานจิง (南京) และได้เริ่มมีความสำคัญขึ้นมาอย่างแท้จริง

รายละเอียดได้เล่าไว้ในบันทึกที่ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์กำแพงเมืองเหลียวจิน (辽金城垣博物馆) https://phyblas.hinaboshi.com/20150501

เครื่องสำริดและเครื่องแก้วยุคราชวงศ์เหลียว



เก้าอี้ไม้ยุคราชวงศ์เหลียว



ต่อมาราชวงศ์จินโค่นล้มราชวงศ์เหลียวและปกครองตอนเหนือของจีนแทน ปักกิ่งก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงหลักของราชวงศ์จิน

ศิลาจารึกที่หลุมศพในยุคราชวงศ์จิน



เงินตราที่ใช้ในยุคราชวงศ์จิน



ต่อมาถึงยุคราชวงศ์หยวนปักกิ่งก็ยังคงถูกใช้เป็นเมืองหลวงตลอดทั้งยุค

ในส่วนนี้เป็นห้องเล็กๆห้องหนึ่งที่มีการจำลองย่านค้าขายริมน้ำโดยมีแบบจำลองเรือและมีภาพวาดเป็นฉากหลัง ในยุคราชวงศ์หยวนได้มีการปรับปรุงคลองใหญ่ต้ายวิ่นเหอ (大运河) เพื่อเชื่อมหางโจวและปักกิ่ง สินค้าถูกส่งตามคลองจากทางใต้มาทำให้การค้าขายทางน้ำรุ่งเรือง



แผ่นศิลาจารึกบนหลังเต่าที่ขุดพบภายในบริเวณตัวเมืองปักกิ่ง



พอเข้ายุคราชวงศ์หมิงในปี 1368 เมืองหลวงก็ได้ถูกย้ายไปหนานจิงอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนกลับมาใช้ปักกิ่งเป็นเมืองหลวงอีกครั้งในปี 1421 มีการสร้างพระราชวังขึ้นใหญ่โตในปักกิ่ง ซึ่งรู้จักกันทุกวันนี้ในชื่อว่าพระราชวังต้องห้าม (紫禁城)

นอกจากนี้ยังไม่ได้สร้างกำแพงเมืองและป้อมประตูเมืองโดยปรับปรุงจากของเดิมที่สร้างในสมัยราชวงศ์หยวนขึ้น ปัจจุบันป้อมบางส่วนก็ยังคงหลงเหลืออยู่เช่น เต๋อเซิ่งเหมิน (德胜门) ดังที่เล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150411

ในนี้มีการทำแบบจำลองเสมือนว่าเรายืนอยู่บนกำแพงเมืองปักกิ่งแล้วมองออกไปเห็นหอธนูป้อมเต๋อเซิิ่งเหมินที่ยื่นออกมาเพื่อใช้รับศึกศัตรู และฉากหลังเป็นภาพการบุกของทหารมองโกลจากนอกกำแพงเมือง



เหตุการณ์ที่จำลองในภาพคือศึกในปี 1449 รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ในบันทึกเรื่องสุสานจิ่งไท่ (景泰陵) ที่เขียนใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150419

ในนั้นยังมีแสดงอาวุธและกระสุนเหล็กที่ใช้ที่ป้อมประตูด้วย



ส่วนผนังในห้องนี้ มีการนำเหตุการณ์สำคัญของฝั่งยุโรปมาเทียบเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการตามเวลาด้วย เส้นเวลาจะสัมพันธ์กัน เช่นปลายยุคราชวงศ์หมิงจะตรงกับช่วงที่ชาวยุโรปเริ่มออกสำรวจทะเล เช่น วัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) เฟร์ดินานด์ มาเจลลัน (Ferdinand Magellan)



จากนั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งในยุคนี้เมืองหลวงอยู่ที่ปักกิ่งตลอดไม่มีการย้ายไปไหน




พระสูตรและมงกุฎที่พบที่วัดเมี่ยวอิ้ง (妙应寺) วัดเจดีย์ขาวซึ่งเล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161122




ปลายยุคราชวงศ์ชิงเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่



แล้วก็เริ่มเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐจีน ช่วง 1912 หลังจากโค่นล้มราชวงศ์ชิงได้ ปักกิ่งยังคงเป็นเมืองหลวงไปจนถึงปี 1928 จึงถูกย้ายไปที่หนานจิง และอยู่ไปจนถึงปี 1937 เจอสงครามกับญี่ปุ่นจึงย้ายเมืองหลวงไปที่ฉงชิ่ง จบศึกในปี 1945 ย้ายกลับมาหนานจิงอีก



แต่พอถึงปี 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจเข้าปกครองจีนได้สำเร็จ เมืองหลวงก็ถูกย้ายกลับมาอยู่ปักกิ่งอีกครั้ง และอยู่มาถึงปัจจุบัน

ในช่วงปี 1928-1949 ซึ่งปักกิ่งไม่ได้เป็นเมืองหลวงอยู่นั่นปักกิ่งได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเป่ย์ผิง (北平) ก่อนที่จะเปลี่ยนกลับมาอีกที

เรื่องราวช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จีนรบกับญี่ปุ่นในปี 1937-1945 ปักกิ่งเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญซึ่งถูกญี่ปุ่นยึดได้แต่ก็ได้คืนตอนญี่ปุ่นแพ้สงคราม



ตามมาด้วยการเข้ายึดเมืองปักกิ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมืองในปี 1949 ทางรัฐบาลจีนเรียกว่าเป็นการปลดปล่อยปักกิ่ง เพราะเป็นการปล่อยจากอำนาจการปกครองของรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเชก หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นจีนก็เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน



ส่วนจัดแสดงของห้องนี้ก็สิ้นสุดลงที่ตรงนี้

ส่วนตรงนี้เป็นที่ขายของฝาก





จบแล้วขึ้นมาที่ชั้น ๓ ก็พบว่าวันนั้นชั้นนี้ปิดอยู่ จึงต่อไปยังชั้น ๔



ในชั้น ๔ ประกอบไปด้วย ๓ ห้อง



ห้องแรกเป็นห้องจัดแสดงงานศิลปะพระพุทธรูปโบราณ




ถัดมาเป็นห้องจัดแสดงงานศิลปะเครื่องกระเบื้องเคลือบโบราณ





แบบจำลองแสดงการทำเครื่องกระเบื้อง



สุดท้ายเป็นห้องแสดงสมบัติทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับอุปรากรจีน



ต่อมาขึ้นมายังชั้น ๕ ตรงส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวพื้นบ้านของปักกิ่งในสมัยโบราณ








ดูจบชั้น ๕ แล้ว ในอาคารส่วนหลักมีอยู่แค่นี้



แต่ว่ายังเหลือในส่วนของหอคอยที่ยังไม่ได้ดู



ส่วนของหอคอยก็มีอยู่หลายชั้น แต่วันที่ไปดูเหมือนว่าชั้น ๒ และ ๓ จะปิดอยู่จึงขึ้นไปเริ่มดูจากชั้น ๕



ชั้น ๕ เป็นส่วนจัดแสดงงานศิลปะเครื่องหยก







ส่วนของ
หอคอยมี ๖ ชั้น สามารถเดินขึ้นไปชั้น ๖ ได้โดยผ่านชั้น ๕ ชั้นนี้ไม่มีในส่วนเชื่อมกับอาคารส่วนหลักโดยตรง



ชั้น ๖ เป็นส่วนแสดงหอคอยโบราณ



แนะนำหอคอยต่างๆในปักกิ่ง



ตำแหน่งหอคอยต่างๆในบริเวณปักกิ่ง



บรรยากาศภายในนี้ทำเป็นสวนร่มรื่น



ภายในมีป้ายแนะนำหอคอยแห่งต่างๆหายในปักกิ่ง พร้อมกับสมบัติบางส่วนที่พบจากในนั้น


เช่นอันนี้เป็นเจดีย์ขาวของวัดเมี่ยวอิ้ง (妙应寺) ซึ่งเคยเขียนถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161122



นี่เป็นสมบัติที่เจอภายในเจดีย์ขาว ถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่ เป็นของที่ใส่เข้าไปตอนที่ซ่อมแซมเจดีย์ในปี 1753 สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง



จากนั้นลงมาดูในส่วนชั้น ๔ เป็นส่วนแสดงงานศิลปะเครื่องสำริด







การเดินเที่ยวที่นี่จบลงเพียงเท่านี้ คิดว่าคุ้มค่าทีเดียวที่ได้มา มีของโบราณให้ดูมากมาย แม้ว่าจะไม่มากเท่าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนก็ตาม เพราะของจากทั้งประเทศกับของจากแค่ปักกิ่งขอบเขตมันก็แตกต่างกันมาก แต่ถึงอย่างนั้นปักกิ่งก็ถือว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีสมบัติทางวัฒนธรรมเยอะมาก

เที่ยวเสร็จก็พากันเดินไปกินข้าวที่ร้านเนื้อย่างเกาหลีที่ตั้งอยู่ใกล้ๆพิพิธภัณฑ์ ชื่อร้านเกาหลีอู (高丽屋) อยู่บนฝั่งตรงข้ามของถนนไป๋หยวินข้ามจากฝั่งพิพิธภัณฑ์ไปทางตะวันออก




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ