φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



เยี่ยมครอบครัวคนดังที่เมืองฮิรากาตะ
เขียนเมื่อ 2013/03/17 01:27
แก้ไขล่าสุด 2022/11/20 13:43
#อังคาร 22 ม.ค. 2013

เป้าหมายการเที่ยวญี่ปุ่นของเรานั้น นอกจากการเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว และการชมฉากในอนิเมะแล้ว ยังมีอีกอย่างนั่นก็คือการไปเยี่ยมเพื่อนหรือคนรู้จักต่างๆด้วย

เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมพี่ hayashikisara ซึ่งแต่งงานกับคนญี่ปุ่นแล้วใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองฮิรากาตะ (枚方市) ในจังหวัดโอซากะ เป็นคนเขียนบล็อกใน exteen ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เมื่อก่อนเคยเขียนอยู่เป็นประจำ แต่ตอนนี้ไม่ได้เขียนอะไรลง exteen แล้ว แต่เขียนอยู่ใน facebook ของตัวเองแทน คิดว่าใครที่เล่นบล็อก exteen อยู่นานแล้วคงมีไม่น้อยที่รู้จัก เพราะบล็อกของพี่เขามีคนตามอ่านมากและได้ขึ้น hot post เป็นประจำ

เมื่อก่อนมีโอกาสอ่านบล็อกพี่เขาตลอด จากการติดตามอ่านบล็อกมาตลอดก็ทำให้รู้สึกอยากเจอสักครั้ง ครั้งนี้มีโอกาสได้เที่ยวแถวนี้จึงถือโอกาสขอไปเยี่ยมด้วย

เรานัดเจอกันผ่านเฟสบุ๊ก พี่เขาก็ตกลงต้อนรับอย่างดี และบอกว่าจะไปรับที่สถานีเมืองฮิรากาตะ จะพาไปทานข้าวด้วยกันที่บ้าน


หลังจากที่วางแผนการเที่ยวเรียบร้อยก็ตกลงว่านัดกันวันที่ 22 มกราคม เวลาหนึ่งทุ่ม เป็นเวลาที่ค่อนข้างเย็นค่ำแล้ว ซึ่งก็เหมาะสมดีเพราะตอนกลางวันเราต้องไปเที่ยวตลอด พอกลางคืนก็แวะมาแบบนี้ ดูลงตัว



เมืองฮิรากาตะนี้เป็นฉากของอนิเมะเรื่องนานัตสึอิโระดร้อปส์ (ななついろ★ドロップス)



ซึ่งในเรื่องใช้ชื่อว่าเมืองไมกาตะ (舞方市) ซึ่งใกล้เคียงกันเพราะชื่อเมืองฮิรากาตะสามารถถูกออกเสียงผิดเป็นไมกาตะได้เหมือนกัน และที่นี่ยังมีสถานที่ที่ชื่อเหมือนกับที่ปรากฏในเรื่อง นั่นคือโฮชิงาโอกะ (星ケ丘) ซึ่งแปลว่าเนินแห่งดวงดาว ในเรื่องที่นี่เป็นที่ที่ว่ากันว่าอยู่ใกล้กับดวงดาวมากที่สุด มีดาวตกตกลงมามากเป็นพิเศษ

ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนว่าเป็นแค่การนำชื่อสถานที่มาใช้ หาข้อมูลไม่เจอว่ามีใครไปตระเวณเจอสถานที่ที่เป็นฉากในอนิเมะจริงๆ ดังนั้นการมาที่ฮิรากาตะในครั้งนี้จึงไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะไปตามรอยอะไร




แผนที่จังหวัดโอซากะ แสดงตำแหน่งเมืองฮิรากาตะ สีชมพูเข้มทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ติดกับจังหวัดเกียวโต






วันที่ 22 ม.ค. ทั้งวันเราเที่ยวอยู่ในเกียวโตตลอด จนเที่ยวที่สุดท้ายคืออาราชิยามะ (嵐山) เสร็จตอนห้าโมงเย็น https://phyblas.hinaboshi.com/20130315

หลังจากที่ไปเที่ยวอาราชิยามะเสร็จแล้วก็ไปขึ้นรถไฟกลับที่สถานีอาราชิยามะ (嵐山駅) ขึ้นรถไฟของรถไฟเอกชนท้องถิ่นฮังกิว (阪急) สายฮังกิวอาราชิยามะ (阪急嵐山線) ซึ่งเป็นสายสั้นๆที่ต้องขึ้นเพื่อไปเปลี่ยนรถไปยังสายหลัก



รถที่ขึ้นนี้เป็นรอบเวลา 17:14 และใช้เวลาเดินทาง ๘ นาทีไปถึงสถานีคัตสึระ (桂駅) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนรถเวลา 17:22



แล้วเราก็รอเพื่อต่อรถไปยังสายหลักของฮังกิว ซึ่งคือสายฮังกิวเกียวโต (阪急京都線) เป็นสายที่ลากจากสถานีอุเมดะ (梅田駅) ในโอซากะ ไปยังสถานีคาวารามาจิ (河原町駅) ในเกียวโต

รถที่จะขึ้นนั้นมาเวลา 17:28 และเราก็ขึ้นไปนั่งเพื่อไปยังสถานีอุเมดะ



แล้วก็ใช้เวลา ๓๖ นาที ถึงสถานีอุเมดะเวลา 18:04 จากนั้นเราก็รีบไปต่อรถไฟใต้ดินทันทีเพื่อไปยังสถานีโยโดยาบาชิ (淀屋橋駅) ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของรถไฟเอกชนท้องถิ่นเคย์ฮัง (京阪)

ดูเหมือนเราจะใช้เวลาอยู่ในบริเวณใต้ดินของสถานีอุเมดะนานพอสมควร เพราะสถานีที่ซับซ้อนพอสมควร กว่าจะมาถึงตัวสถานีรถไฟใต้ดินก็เวลา 18:22 จากนั้นก็รีบขึ้นรถไฟใต้ดินเพื่อข้ามไปยังสถานีโยโดยาบาชิ



บรรยากาศในใต้ดินของสถานีโยโดยาบาชิ



การเดินทางครั้งนี้คล้ายกับที่เดินทางไปเกียวโตตอนวันแรก คือนั่งรถไฟของเคย์ฮังผ่านเส้นทางนี้เหมือนกัน

แต่ครั้งนั้นเราขึ้นจากสถานีคิตาฮามะ (北浜駅) ซึ่งอยู่ถัดไปอีกสถานี ครั้งนี้เราขึ้นจากสถานีโยโดยาบาชิที่เป็นต้นสาย แต่เพราะคนแน่นมากแม้จะเป็นต้นสายก็ไม่มีที่นั่งเหลือแล้ว ได้แต่ยืนไปตลอดทาง



รถที่นั่งนี้เป็นรถด่วนซึ่งจอดจำกัดแค่สถานีสำคัญไม่กี่สถานี ซึ่งสถานีที่เราต้องการไปนั้นคือสถานีฮิรากาตะชิ (枚方市駅) ก็เป็นสถานีหลักอยู่แล้ว รถออกจากโยโดยาบาชิเวลา 18:30 ใช้เวลา ๒๒ นาที ในที่สุดก็มาถึงสถานีฮิรากาตะชิเวลา 18:52 ซึ่งก็ทันเวลาที่นัดไว้คือหนึ่งทุ่มพอดี




ที่จริงแล้วมีวิธีที่ใช้เวลาเดินทางสั้นกว่านี้มาก ไม่ต้องอ้อมไปถึงโอซากะแบบนี้ นั่นคือจากตอนที่เราไปต่อรถไฟที่สถานัคัตสึระ เราแค่นั่งย้อนกลับไปยังสถานีคาวารามาจิ แล้วไปเปลี่ยนรถไปยังสถานีกิองชิโจวเพื่อขึ้นเคย์ฮัง จากนั้นก็นั่งรถด่วนตรงมายังฮิรากาตะได้ง่ายๆ ซึ่งจะถึง 18:17 เร็วกว่ากันตั้ง ๓๕ นาที

แต่ที่เราลองเส้นทางนี้เนื่องจากนัดเอาไว้หนึ่งทุ่ม ต่อให้ไปเส้นทางเร็วแล้วถึงก่อนก็ต้องรอนาน เอาเวลาไปนั่งรถไฟเล่นดีกว่า

แต่ดูเหมือนเราจะคิดผิด เพราะการขึ้นรถไฟตลอดเที่ยวนี้ไม่ได้ "นั่ง" ได้แต่ "ยืน" ตลอด ทำให้ไม่มีโอกาสได้พักเท้าซึ่งเจ็บจากการเที่ยวอย่างหนักมาหลายวัน เป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างแรง



เมื่อมาถึงสถานีฮิรากาตะชิ พี่ hayashikisara ก็มารออยู่แล้ว จึงได้เจอกันทันที พอเจอกันเขาก็พาเราเดินไปที่บ้าน บ้านเขาอยู่ใกล้สถานีรถไฟมาก เป็นตำแหน่งบ้านพักที่สะดวกจริงๆ อยู่ใกล้สถานีรถไฟแบบนี้จะไปไหนก็สะดวก แล้วยิ่งสถานีนี้เป็นสถานีหลักที่สำคัญด้วย ถ้าเกิดเราได้หาบ้านที่ญี่ปุ่นบ้างก็หวังว่าจะได้อยู่ในที่ตำแหน่งดีแบบนี้เหมือนกัน

บ้านที่นี่เป็นลักษณะคอนโดสูงหลายชั้น พอขึ้นไปแล้วเข้าไปในห้องก็พบว่ากว้างไม่น้อยเลย อาศัยอยู่กัน ๔ คน พ่อแม่ลูก วันนี้ได้เจออยู่กันพร้อมหน้า ทั้งคุณสามีและลูกเล้กๆ ๒ คน ลูกชายชื่ออากิมาสะกับลูกสาวชื่อคุเรฮะ

เมื่อเราไปถึงสามีของพี่ hayashikisara  คุณฮายาชิ โควเฮย์ ก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วก็เริ่มทำทาโกยากิทานกัน

ตั้งแต่ตอนที่เจอกันจนเดินเข้าบ้านไม่ได้ถ่ายรูปอะไรเลย พอดีเกรงใจไม่กล้าถ่ายรูปในบ้านคนอื่นเท่าไหร่ แต่พอเขาเอาทาโกยากิขึ้นมาเริ่มทำก็อดใจไม่ได้ที่จะขอหยิบขึ้นมาถ่ายสักหน่อย คือตลอดช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นไม่มีมื้อไหนที่เรากินไปโดยไม่ได้ถ่าย




เห็นเขาบอกว่าคนแถบนี้มักจะทำทาโกยากิทานกันเองในบ้านเป็นอาหารมื้อเย็น พวกเขาก็มักจะทำแบบนี้กินกันบ่อยๆ

แล้วเขาก็รินชาให้ด้วย แก้วที่ใส่ชานี้เป็นลายเคย์อง เพราะคุณฮายาชิเองก็บ้าอนิเมะอยู่ไม่น้อยพอๆกันกับเราเลย



แล้วเขาก็พาเราไปดูในห้องเขา ให้ดูพวกฟิกเกอร์ต่างๆที่เก็บไว้ทั้งหมด เต็มตู้เลย เขาเป็นคนที่คลั่งอนิเมะมากจริงๆ



อยากบอกว่ารู้จักเกือบหมดเลย แสดงว่าเราก็บ้าพอๆกันเลย ฮาๆ แต่ไม่เคยซื้อฟิกเกอร์เลยเพราะสนใจแค่ดูอย่างเดียวมากกว่า อีกอย่างฟิกเกอร์แต่ละตัวนี่แพงมาก ถ้าไม่มีตังมากจริงๆไม่มีทางซื้อมาเก็บได้เต้มห้องขนาดนี้




ทาโกยากิทำเสร็จก็ได้เวลาทาน อิตาดากิมาสึ (いただきます = ทานละนะ)




ระหว่างทานไปก็ได้คุยอะไรมากมายเลย ส่วนใหญ่จะคุยกับคุณฮายาชิเรื่องเกี่ยวกับอนิเมะ เราเล่าว่าเราได้ไปเที่ยวชมฉากในอนิเมะมาแล้วหลายที่ มีเอารูปให้เขาดูด้วย เขาก็บอกว่าแต่ละที่เนี่ยเขาไปมาแล้วเหมือนกัน อย่างเช่นโรงเรียนประถมโทโยซาโตะ (豊郷小学校) ในจังหวัดชิงะ https://phyblas.hinaboshi.com/20130223

แล้วก็อีกหลายแห่งในเมืองเกียวโตซึ่งเป็นฉากของเรื่องเคย์องเขาก็ไปมาเกือบหมดแล้ว เพราะเขาบ้าเรื่องเคย์องมากกว่าเราเสียอีก และบ้านเขาก็อยู่ใกล้เกียวโตมากอยู่แล้ว นั่งรถไฟแป๊บเดียวถึง

แล้วเขาก็ยังพูดถึงเกี่ยวกับอนิเมะอีกหลายเรื่อง เขามีความรู้เกี่ยวกับอนิเมะแบบลึกซึ้งมากจริงๆนะ ทำให้เรารู้อะไรมากขึ้นเยอะ

แล้วก็ทานจนเสร็จ โกจิโซวซามะ (ご馳走様 = ขอบคุณสำหรับอาหาร)



กินเสร็จก็นั่งคุยกันต่อสักพักก็ดึกมากสามทุ่มแล้ว จึงได้เวลาบอกลา ถ้ามีโอกาสก็อยากแวะมาอีกนะ ชอบบ้านหลังนี้ ดูสวยงาม ดูอบอุ่นดี

ทิวทัศน์ที่ถ่ายจากคอนโดที่พักอยู่ ออกไปเดินถ่ายจากบริเวณระเบียง บ้านนี้นอกจากห้องจะกว้างแล้วระเบียงก็กว้างไม่น้อย สามารถเห็นทิวทัศน์ได้เป็นมุมกว้าง เสียดายเป็นตอนกลางคืนไม่อาจถ่ายได้ชัดเท่าไหร่





ตอนออกมาพี่ hayashikisara  ก็เดินออกมาส่งถึงสถานี



ขึ้นรถรอบ 21:24 เพื่อกลับไปยังสถานีเดมาจิยานางิ ใช้เวลา ๓๔ นาที ไปถึงเวลา 21:48





สถานีเดมาจิยานางิยามค่ำคืน



จากสถานีต้องเดินไปทางตะวันออกไกลพอสมควรจึงจะถึงหอพักซึ่งอยู่เลยมหาวิทยาลัยเกียวโตไปทางเหนือ บริเวณแถวนั้นเรียกว่าย่านคิตะชิรากาวะ (北白川)

ระหว่างทางเดินจากสถานีกลับไปยังหอพัก แม้จะดึกแต่ก็ดูไม่เงียบเหงาอย่างที่คิด นี่เป็นการเดินผ่านเส้นทางนี้เป็นครั้งที่สอง (เพราะวันอื่นขึ้นรถเมล์จากสถานีเกียวโตกลับถึงหอพักโดยตรง) ครั้งแรกคือเมื่อวันที่มาถึง ตอนนั้นเพื่อนเป็นคนนำทาง เส้นทางไม่ยากเท่าไหร่เดินครั้งเดียวก็จำได้แล้ว



ระหว่างทางเจอร้านปาจิงโกะร้านใหญ่





เส้นทางเดินระหว่างเดินผ่านด้านข้างมหาวิทยาลัยเกียวโต



ย่านใกล้หอพักยามค่ำคืนอันเงียบเหงาและหนาวเหน็บ



ในที่สุดก็กลับมาถึงหอพักของเพื่อนซึ่งเรามาอาศัย เวลาขณะนั้นสี่ทุ่มครึ่ง เป็นคืนที่กลับดึกที่สุด หน้าต่างชั้นสองด้านขวาที่เปิดไฟอยู่นั่นคือห้องเพื่อนเราเอง ปกติเขาก็เป็นคนนอนดึกเกินเที่ยงคืนประจำอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไรแม้เราจะกลับมาถึงดึกขนาดนี้



ที่นี่เป็นบ้านพักเล็กๆสองชั้น หลังหนึ่งอยู่กันแค่ไม่กี่คน ทั้งหมดเป็นห้องเดี่ยวเล็กๆ เราไปขออาศัยก็คือไปนอนเบียดในห้องเล็กๆของเพื่อน แต่ก็แค่ชั่วคราวไม่ได้ลำบากมาก

พอลองมาเปรียบเทียบกับบ้านคุณฮายาชิแล้วก็จะเห็นได้ชัดว่าที่ญี่ปุ่นเองก็มีที่พักอยู่หลายระดับ พวกนักศึกษาที่อยากประหยัดตังก็ต้องมาพักอยู่หอถูกๆเล็กๆแบบนี้ ความเป็นอยู่ก็อาจจะไม่ดีแต่ก็ประหยัดตังได้มาก ประหยัดได้มากก็มีตังเที่ยวมาก

หอพักแห่งนี้เราอาศัยอยู่มาเป็นคืนที่หกแล้วเพิ่งมีโอกาสได้เล่าถึงโดยละเอียด พอดีว่าไม่มีโอกาสเหมาะแล้วก็เพิ่งได้มาถ่ายรูปเอาตอนคืนนี้

และตั้งแต่คืนวันรุ่งขึ้นจะเป็นการเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ซึ่งห่างไกลจากเกียวโต ได้เวลาจากหอพักหลังนี้ไปชั่วคราว


จบการเที่ยวของวันที่ ๖ ลง เท่ากับการเที่ยวญี่ปุ่นของเราผ่านไปแล้วครึ่งทาง ตั้งแต่วันพรุ่งนี้จะเข้าสู่ครึ่งหลังของการเดินทาง



สรุปค่าเดินทางในวันนี้ ซึ่งเราประหยัดไปได้จากการใช้ Kansai thru pass

รถเมล์ : คิตะชิรากาวะเบตโตวโจว > กิงกากุจิ > ศาลเจ้าคิตาโนะเทมมังงู 220x2=440
รถเมล์ : ศาลเจ้าคิตาโนะเทมมังงู > เดมาจิยานางิ 220
รถไฟเอย์ซัง : สถานีเดมาจิยานางิ > สถานีชูงากุอิง (ไปกลับ) 200x2=400
รถไฟเคย์ฮัง : สถานีเดมาจิยานางิ > สถานีกิองชิโจว 210
รถเมล์ : ศาลเจ้ายาซากะ > สถานีคาวารามาจิ 220
รถไฟฮังกิว+เคย์ฟุกุ : สถานีคาวารามาจิ > สถานีโอมิยะ > สถานีอาราชิยามะ 150+200
รถไฟฮังกิว : สถานีอาราชิยามะ > สถานีคัตสึระ > สถานีอุเมดะ 290
รถไฟใต้ดิน : สถานีอุเมดะ > สถานีโยโดยาบาชิ 200
รถไฟเคย์ฮัง : สถานีโยโดยาบาชิ > สถานีฮิรากาตะชิ 320
รถไฟเคย์ฮัง : สถานีฮิรากาตะ > สถานีเดมาจิยานางิ 420

รวมทั้งหมดเป็น 3070 เยน จะเห็นว่าคุ้มมากเพราะบัตร Kansai thru pass ชนิด ๓ วันราคา 5000 เยน ดังนั้นใช้แค่วันละ 1667 เยนก็คุ้มแล้ว
ถ้าเอาของวันนี้รวมกับของวันแรก 4750 เยน ก็จะเป็น 7820 เยน เกินราคา Kansai thru pass ไปเยอะแล้ว ต่อให้ไม่ใช้วันที่สามอีกวันก็ไม่ต้องเสียดายอะไรแล้ว ใช้คุ้มแล้วจริงๆ



ปิดท้ายด้วยแผนที่เส้นทางเดินทางเที่ยวในเกียวโตของวันนี้ ในแผนที่แสดงตำแหน่งสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในวันนี้และวันก่อนๆด้วย รวมแล้วทั้งหมดนี้คือสถานที่ในเกียวโตที่เราได้ไปมาทั้งหมด ได้เที่ยวอย่างคุ้มค่าจริงๆ แต่ก็เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของสถานที่เที่ยวในเกียวโตซึ่งมีอยู่มากมายจนไม่อาจเที่ยวหมดได้ในคราวเดียว ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายที่ซึ่งยังไม่มีโอกาสได้ไป ไว้โอกาสหน้ามีโอกาสได้กลับมาอีกจะตามเก็บให้ได้



Ⓐ สถานีเกียวโต (京都駅) สถานีหลักของเมืองเกียวโต
Ⓑ สถานีเดมาจิยานางิ (出町柳駅) สถานีที่ใกล้หอพักที่สุด
Ⓒ มหาวิทยาลัยเกียวโต (京都大学) มหาวิทยาลัยที่เพื่อนเรียนอยู่
Ⓓ คิตะชิรากาวะเบตโตวโจว (北白川別当町) ย่านที่พักอยู่
Ⓔ ถนนย่านร้านค้าซันโจว (三条名店街) ไปเที่ยวมาเมื่อวันที่ 17 https://phyblas.hinaboshi.com/20130201
Ⓕ สถานีนิโจว (二条駅) แวะไปมาเมื่อวันที่ 19
https://phyblas.hinaboshi.com/20130215
Ⓖ ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ (伏見稲荷大社) ไปเที่ยวมาเมื่อวันที่ 21
https://phyblas.hinaboshi.com/20130305
Ⓗ ศาลเจ้าคิตาโนะเทมมังงู (北野天満宮) ศาลเจ้าที่ไปตามรอยเคย์อง
https://phyblas.hinaboshi.com/20130309
Ⓘ สถานีชูงากุอิง (修学院駅) สถานที่ที่ไปตามรอยเคย์อง
https://phyblas.hinaboshi.com/20130311
Ⓙ สถานีกิองชิโจว (祇園四条駅) สถานีของเคย์ฮัง อยู่ในย่านกิอง
https://phyblas.hinaboshi.com/20130313
Ⓚ ศาลเจ้ายาซากะ (八坂神社) ศาลเจ้าในย่านกิอง
Ⓛ สถานีคาวารามาจิ (河原町駅) สถานีของฮังกิว อยู่ใกล้สถานีกิองชิโจว
Ⓜ สถานีโอมิยะ (大宮駅) จุดเปลี่ยนรถไฟของฮังกิวกับเคย์ฟุกุ
Ⓝ อาราชิยามะ (嵐山) ย่านท่องเที่ยวสำคัญ จุดบนเป็นสถานีของเคย์ฟุกุ จุดล่างเป็นสถานีของฮังกิว
https://phyblas.hinaboshi.com/20130315
Ⓞ สถานีคัตสึระ (桂駅) จุดเปลี่ยนรถไฟของฮังกิว

เส้นทางเดินทางไล่ตามลำดับคือ
Ⓓ > Ⓗ > Ⓑ > Ⓘ > Ⓑ > Ⓙ > Ⓚ > Ⓛ > Ⓜ > Ⓝ > Ⓞ > โอซากะ > ฮิรากาตะ > > >

สีม่วง = รถเมล์
สีน้ำเงินม่วง = รถไฟเคย์ฟุกุ
สีฟ้า = รถไฟเคย์ฮัง
สีแดงเลือดหมู = รถไฟฮังกิว
สีส้ม = เดิน



อ่านเรื่องราวการเที่ยวในช่วงครึ่งหลังต่อได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130324





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> โอซากะ
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文